นารายา – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 28 Jan 2022 08:18:31 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “นารายา” เปิดเชลฟ์ขายใน “โลตัส” เบนเข็มหาลูกค้าไทย ในวันที่ทัวร์จีนยังไม่กลับมา https://positioningmag.com/1372108 Fri, 28 Jan 2022 08:02:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372108 “นารายา” แบรนด์กระเป๋าผ้าขวัญใจชาวต่างชาติ จับมือกับ “โลตัส” เปิดเชลฟ์วางขายสินค้าในไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นครั้งแรกที่สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา หวังจับลูกค้าชาวไทยมากขึ้น หลัง COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาเหมือนเดิม 

เจาะช่องทางไฮเปอร์ครั้งแรก

ใครที่เป็นแฟนกระเป๋าผ้าสัญชาติไทย “นารายา” คงจะทราบดีว่า แบรนด์นี้เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เป็นขวัญใจนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก ยิ่งสาขาที่อยู่ในศูนย์การค้าในเมือง จะเห็นนักท่องเที่ยวเข้าเต็มร้าน ซื้อเป็นของฝากกันอย่างถล่มทลาย

แต่แล้ว COVID-19 ก็เป็นเหมือนฟ้าผ่า ที่ทำให้ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้เหมือนเดิม แบรนด์ไหนที่แต่เดิมจับลูกค้ากลุ่มต่างชาติเป็นหลัก จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อประคองธุรกิจ และหาหมัดเด็ดเพื่อให้เข้าถึงคนในประเทศมากขึ้น

naraya lotus

ก่อนหน้านี้นารายามีการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางช็อปของตัวเองเป็นหลัก โลเคชั่นที่ตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง หรือแหล่งท่องเที่ยว เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, สยามพารากอน, บิ๊กซี ราชดำริ, สุขุมวิท 24, ไอคอนสยาม, เซ็นทรัลวิลเลจ และอื่นๆ อีกหลายที่

เมื่อสถานการณ์ยังไม่เป็นปกติ ทำให้นารายาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้มากขึ้น เพราะแค่หน้าร้าน และออนไลน์คงไม่เพียงพอ ล่าสุดจึงได้ขยายเข้าสู่เชลฟ์ “โลตัส” ถือว่าเป็นการขายบนไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นครั้งแรก ประเดิมสาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทราเป็นแห่งแรก

naraya lotus

วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เล่าว่า

“ความร่วมมือกับโลตัสในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทย ด้วยเป็นครั้งแรกที่สินค้าของนารายาจะวางจำหน่ายผ่านช่องทาง Hypermarket จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้คนไทยรู้จักและหันมาใช้สินค้าของนารายามากขึ้น โดยในช่วงแรกเน้นวางสินค้าที่ใช้ง่ายๆ เช่น กระเป๋าหลากหลายรูปแบบและขนาด ผ้ากันเปื้อน รองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน ส่วนในอนาคตอาจเติบโตต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ชุดนอน เป็นต้น”

ปรับตัวต่อเนื่อง หน้ากากผ้า-ช้อปออนไลน์

ตั้งแต่ปี 2020 ที่ต้องเจอวิกฤต COVID-19 ทำให้นารายาต้องแก้เกม ปรับตัวยกใหญ่ ในช่วงแรกมีการผลิตหน้ากากผ้าที่สามารถซักได้เป็นแบรนด์แรกๆ รวมถึงการดีไซน์สินค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ลวดลายให้เข้ากับจริตคนไทย รวมไปถึงการเข้าสู่ช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพื่อขยายช่องทางการขาย

การจับมือกับพันธมิตรก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่นารายาได้ทำมาตลอดในช่วง 2 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับแบรนด์ต่างๆ ในการทำหน้ากากผ้า หรือกระเป๋าผ้า สำหรับเป็นของสมนาคุณ

“โลตัส” ขอเติมส่วนไลฟ์สไตล์

การจับมือกันของทั้ง 2 แบรนด์ในครั้งนี้ ทางนารายาได้ขยายช่องทางการขายใหม่ๆ ให้เข้าถึงคนไทยมากขึ้น ทางโลตัสเองก็ได้เริ่มรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์ตัวเองมากขึ้น ปรับภาพจากไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นห้างไลฟ์สไตล์ จึงจำเป็นต้องเติมแม็กเน็ตต่างๆ ที่ดึงดูดลูกค้าให้มากขึ้น

การได้แบรนด์นารายาเข้ามาเติมบนเชลฟ์ก็ถือว่าเสริมภาพไลฟ์สไตล์ให้มากขึ้น เพราะเป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จัก มีชื่อเสียง อีกทั้งสินค้าที่จำหน่ายที่โลตัสจะเป็นลายที่ออกแบบพิเศษ จำหน่ายแค่ที่โลตัสที่เดียวเท่านั้นด้วย

(Photo : Shutterstock)
]]>
1372108
ทัวร์จีนหาย! พา “นารายา” ฟุบหนัก ปรับแผนขายหน้ากากผ้า คาดรายได้หาย 50% https://positioningmag.com/1289772 Fri, 31 Jul 2020 14:37:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289772 เปิดกลยุทธ์นารายา” ฝ่าวิกฤต COVID-19 กระหน่ำ ลูกค้าหลักต่างชาติหาย ปิดน่านฟ้า ปิดศูนย์การค้ากระเทือนหน้าร้านปิดหมด มุ่งผลิตหน้ากากผ้า ขายกระเป๋าผ้าผ่านออนไลน์ แต่ได้แค่ประคอง คาดปีนี้รายได้คงหายไป 50% ปีหน้าปรับแผน ขยายช่องทางสินค้าเสื้อผ้ากับสกินแคร์มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง

นักท่องเที่ยวหาย พารายได้หด

พศิน ลาทูรัส ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เปิดเผยว่า

“จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาพรวมอย่างมากและต่อบริษัทฯ ด้วย โดยเฉพาะการที่ศูนย์การค้าและห้างค้าปลีกต่างๆ ต้องปิดบริการอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันของภาครัฐ ซึ่งบริษัทฯ มีสาขาหน้าร้านอยู่ในศูนย์การค้าเป็นหลัก ทำให้บริษัทฯ ต้องมีการปรับกลยุทธ์และปรับแผนการดำเนินงานใหม่ในช่วงดังกล่าว เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

สินค้าของนารายา หลักๆ เป็นพวกกระเป๋าผ้า ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นสินค้าที่สิ้นเปลือง ทำให้ผู้บริโภคนำเงินไปจับจ่ายซื้อสินค้าและสิ่งของจำเป็นมากกว่า และสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ จึงเป็นการลดความเสี่ยงของเราด้วย ประกอบกับฐานลูกค้าหลักของนารายาจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 70% ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องยอมรับว่าหายไปหมดเลย จากการที่ต้องปิดน่านฟ้าไม่มีการเดินทางในช่วงที่ผ่านมา และขณะนี้ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยวกลับมา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของนารายา จึงต้องปรับแผนใหม่

ลุยขายหน้ากากผ้าประคองธุรกิจ

ปีนี้นารายาหันมาเน้นการผลิตและจำหน่ายสินค้า “หน้ากากผ้า” มากขึ้น เพื่อทำตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงทั่วโลก ซึ่งหน้ากากผ้ากลายเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต

บริษัทได้เตรียมแผนการวิจัย และผลิตหน้ากากผ้าไว้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ใหม่ๆ ในจีน และเมื่อสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นในไทยเริ่มมีผู้ติดเชื่อ ก็สามารถที่จะเดินเครื่องผลิตได้ทันทีภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้นเอง ซึ่งพบว่าในช่วงแรกที่เริ่มวางตลาดมียอดขายได้มากถึง 50,000 ชิ้น

ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าของนารายาได้รับการตอบรับดี ทั้งจากลูกค้าคนไทย รวมทั้งยังมีการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งขยายตลาดใหม่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา กรีซ เยอรมนี ตุรกี ตะวันออกกลาง

จนขณะนี้จำหน่ายหน้ากากผ้าไปแล้ว 4 ล้านชิ้นจากโรงงานที่ผลิตได้วันละ 60,000 ชิ้นใน 2 โรงงาน ถือเป็นการส่งออกไปประเทศใหม่ๆ เพิ่มอีก 1 เท่าตัว จากก่อนหน้านี้จำหน่ายใน 36 ประเทศทั่วโลก

ทำใจ รายได้หาย 50%

ส่วนสินค้าหลักเดิมคือ กระเป๋าผ้านารายา มีการปรับกลยุทธ์ช่องทางการขายเพิ่มขึ้น จากหน้าร้านที่ขณะนั้นไม่สามารถเปิดร้านจำหน่ายได้ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับทางช้อปปี้ และเจดีดอทคอม โดยนำสินค้าของนารายาเข้าไปวางจำหน่ายใน 2 แพลตฟอร์มดังกล่าวประมาณ 500 SKU ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งถือว่าได้รับความสำเร็จดีเช่นกัน โดยถึงขณะนี้มีสัดส่วนยอดขายแล้ว 10% ของยอดขายรวมทั้งหมด

แม้ว่าจะมีการปรับกลยุทธ์หันมาเน้นผลิตหน้ากากผ้า แต่ก็เป็นเพียงรายได้เสริม ไม่สามารถทดแทนกับรายได้หลักในการจำหน่ายกระเป๋าผ้าได้ที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 99% รองมาคือ สกินแคร์ และเสื้อผ้า เล็กน้อยเท่านั้น และแม้ว่าจะมีการขายผ่านช่องทางออนไลน์แต่ก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมากอยู่เช่นเดียวกัน จึงทำให้คาดว่าในปี 2563 บริษัทฯ คาดว่ายอดขายรวมยังคงติดลบจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 50% เพราะสถานการณ์ดังกล่าว

พศินกล่าวต่อว่า ในปี 2564 บริษัทฯ วางแผนธุรกิจใหม่ โดยจะหันมาให้ความสำคัญต่อการขายสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสกินแคร์ไปด้วย ทั้งในช่องทางออนไลน์และร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพื่อเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากการขายในร้านของนารายาเพียงอย่างเดียว และเป็นการกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ด้วย

ส่วนแผนการขยายสาขานั้นคงจะต้องชะลอไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย จากปัจจุบันที่มี 28 สาขา อีกทั้งตั้งแต่มีการปลดล็อกมา บริษัทฯ เปิดสาขาบริการได้แล้ว 23 สาขาเท่านั้น ยังมีอีกหลายสาขาที่ยังไม่สามารถเปิดได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านตลาด โดยเฉพาะยังไม่เปิดให้บริการในสถานที่ท่องเที่ยวที่จับตลาดชาวต่างชาติเป็นหลัก เช่น ภูเก็ต 2 สาขา เชียงใหม่ และเอเชียทีค เป็นต้น

Source

]]>
1289772
เมื่อ ‘หน้ากากผ้า’ ทำหน้าที่มากกว่าอุปกรณ์ ‘ป้องกัน’ แต่เป็นสินค้า ‘แฟชั่น’ ในยุคโควิด https://positioningmag.com/1272750 Fri, 10 Apr 2020 11:30:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272750 ในช่วงโควิด-19 ระบาด แน่นอนว่าห้างร้านต่าง ๆ ที่ถูกปิดตัวไป และหนึ่งในสินค้าที่ได้รับผลกระทบก็คือ ‘แฟชั่น’ เพราะไม่ใช่แค่ขายของออฟไลน์ไม่ได้ แต่ทางออนไลน์ก็ไปไม่ไหว โดยข้อมูลจาก ‘Priceza’ ระบุว่าสินค้าที่ขายดีในออนไลน์เป็นกลุ่มอุปโภคบริโภค แต่สินค้าแฟชั่นและบิวตี้กลับดร็อปลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเพราะไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน อีกทั้งยังไม่มีอารมณ์ที่จะอยากแต่งตัวอีก ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นปรับตัวมาผลิต ‘หน้ากากผ้า’ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ดูเหมือนมันจะไปไกลกว่านั้น เพราะกลายเป็นว่ามันได้กลายเป็น ‘สินค้าแฟชั่น’ ในยุคนี้ไปแล้ว

หน้ากากผ้าจากแบรนด์ Varithon Boutique แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น

เดือนเดียวมีกว่า 10 แบรนด์

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นการปรับตัวของแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่เริ่มเปลี่ยนสายการผลิต จากเดิมตัดเย็บเสื้อผ้า หันมาผลิตหน้ากากผ้าแทน แค่ที่เห็นผ่าน ๆ ตาก็ทะลุกว่า 10 แบรนด์ไปแล้ว แต่ที่เห็นชัด ๆ ก็มี ‘ซาบีน่า’ ที่ตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ เปิดไลน์หน้ากากผ้านาโนแทนที่การผลิต ‘ชุดชั้นใน’ โดยตั้งเป้าที่ 1 แสนชิ้น/เดือน หรือแบรนด์อย่างชุดชั้นในชาย ‘J.Press’ ก็ยังออกมาทำหน้ากากขาย

หรืออย่างแบรนด์แฟชั่นขวัญใจชาวจีนอย่าง ‘นารายา’ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงเพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่มาไทย ก็หันมาผลิตหน้ากากผ้าเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Varithorn Boutique, KANAPOT, Smileyhound, PAINKILLER Atelier, CARNIVAL, erawon, Greyhound และ GQ GQWhite™ ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากแบรนด์ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแล้ว แบรนด์ที่ทำเครื่องนอนหรือเฟอร์นิเจอร์ก็เข้ามาทำตลาดนี้ด้วย อาทิ Dmask จากบริษัท ดี พีลโล 999 (ประเทศไทย) ที่เคยทำชุดเครื่องนอน หรืออย่างแบรนด์ pasaya ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องนอนเหมือนกัน

ราคาตั้งแต่หลักสิบไปถึงหลักร้อย

หลังจากที่เบนเข็มมาทำหน้ากากผ้า ทุกแบรนด์ต่างก็จัดเต็มพร้อมดึงเอาจุดเด่นในการออกแบบของแบรนด์ตัวเองมาบวกรวมกับเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าและตัวตนให้กับสินค้าและผู้ใส่ ราคาจึงแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อย อย่าง นารายาที่ขายชิ้นละ 50 บาท หรือสูงมาอีกนิดอย่าง GQ ที่ใช้เทคโนโลยี GQGuard สะท้อนหยดน้ำและละอองน้ำ และใช้เส้นใย Perma เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย 99.9% ในราคา 150 บาท บางรายก็สามารถใส่ฟีลเตอร์เพิ่มเติมได้อีก รวมถึงใช้ผ้าที่เป็นลวดลายสวยงามมาใช้เพื่อไม่ให้จำเจ

ลาย Limited ก็มา

แม้ว่าหน้ากากผ้าจะสามารถซักได้หลายครั้ง สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายรอบ ดังนั้นผู้บริโภคแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่ดึงดูดใจในตอนนี้ไม่ใช่แค่ ‘คุณสมบัติ’ แต่ ‘ลวดลาย’ ก็กลายเป็นเรื่องสำคัญ อย่างโปรเจกต์พิเศษ ‘Co-with 19’ โดย เฟซบุ๊กเพจ GroundControl ด้วยการขายหน้ากากผ้ารุ่น Limited COVID Edition ที่ออกแบบโดยนักออกแบบ 19 คน ที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงของ 19 ศิลปิน เพื่อนำรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งก็ถูกจองหมดอย่างรวดเร็ว

ไม่ใช่แค่หน้ากาก แต่ลามไปยันหมวก

อย่างแบรนด์ N.E.D ไม่ได้ออกหน้ากากผ้าเหมือนใคร แต่ออกหมวกที่มาพร้อมหน้ากากใส ที่กันได้ทั้งแดด ฝุ่นละออง น้ำลายที่อาจจะเข้ามาสัมผัสกับใบหน้าของผู้สวมใส่ หรืออย่างแบรนด์ Issue อีกแบรนด์หน้ากากที่มาพร้อมกับหมวกสุดชิค

เรียกได้ว่า การที่แบรนด์แฟชั่นหรือแบรนด์อื่น ๆ ที่นำจุดแข็งของตัวเองมาประยุกต์ใช้ต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่เพื่อให้เข้าสถานการณ์ ถือเป็นปรากฏการณ์และกรณีศึกษาอย่างดีที่อาจไม่ได้เห็นกันง่าย ๆ หากไม่เกิดวิกฤติ รวมถึงต้องยอมรับว่า ‘หน้ากากผ้า’ ไม่ได้ใส่เพื่อเพียงแค่ป้องกันเราจากเชื้อโรคอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็น ‘เครื่องประดับ’ ที่แสดงถึงตัวตนชิ้นหนึ่งไปแล้ว

]]>
1272750
ค้าปลีกแบบเดิมเอาไม่อยู่! นารายา ผุดช้อปออนไลน์ ประเดิมลาซาด้าก่อนทยอยเปิด 11street และ Shopee กลางปี รับเทรนด์อีคอมเมิร์ซ https://positioningmag.com/1165494 Tue, 10 Apr 2018 09:54:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1165494 เมื่อนารายาเป็นแบรนด์กระเป๋าของไทย ต้องรับมือกับพฤติกรรมของลูกค้าในยุคดิจิทัล ด้วยการเปิดตัว Official Ecommerce Shop บน “ลาซาด้า” เพื่อเข้าสู่ช่องทางขายแบบ Omni Channel

บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด เจ้าของแบรนด์ “นารายา” ได้เข้าสู่ช่องทางอีคอมเมิร์ซอย่างเป็นทางการ ในกลางเดือนเมษายนนี้ ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งกระเป๋าได้ทาง NaRaYa Official Store บน Lazada ประเทศไทย

เพื่อให้การก้าวสู่โลกออนไลน์ทำได้เร็วขึ้น นารายาได้เลือกใช้ อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่นส์ของบริษัท aCommerce หลังจากเปิดออฟฟิเชียล ช้อปบนลาซาด้าแล้ว จากนั้นจะทยอยเปิดช้อปออนไลน์ บน 11street และ Shopee ภายในไตรมาสที่สองอีกด้วย

ตลอดช่วง 30 ปีของการปลุกปั้นแบรนด์ “นารายา” วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส ผู้ก่อตั้ง ให้น้ำหนักกับการใช้กลยุทธ์การค้าปลีกแบบดั้งเดิมมาตลอด จนมีร้านค้า 25 สาขา ซึ่งทุกสาขาของนารายาล้วนตั้งอยู่บนทำเลทองหรือสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน และหน้าวัดพระแก้ว

เมื่อต้องเข้าสู่ช่องทางใหม่ในโลกดิจิทัล วาสนา ได้มอบหมายให้ ลูกชาย พศิน ลาทูรัส เข้ามาดูแลธุรกิจทางด้านอีคอมเมิร์ซของบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนารายา ในปีนี้ ที่จะให้น้ำหนักกับการเดินสู่ออมนิชาแนล

พศิน ลาทูรัส ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า

แม้ทำเลยังเป็นกลยุทธ์หลัก แต่แทนที่จะมีเพียงแต่ร้านค้าออฟไลน์อย่างเดียว นารายาต้องให้ความสำคัญกลุ่มลูกค้าดิจิทัลด้วย เพื่อรองรับผู้บริโภคในกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะหัวเมืองใหญ่เท่านั้น

เป้าหมายของนารายาปีนี้คือการเปิดตัวแบรนด์และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ พร้อมด้วยการขยายธุรกิจออนไลน์ไปต่างประเทศ

ที่สำคัญ ที่ผ่านมาแม้จะสินค้านารายาจำนวนมากวางขายอยู่บนโลกออนไลน์ แต่สินค้าเหล่านั้นไม่ได้มาจากนารายาโดยตรง จึงทำให้นารายาต้องก้าวสู่ออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส เพื่อสร้างประสบการณ์ Omni Channel ที่ไร้รอยต่อให้แก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งเวลานี้ ผู้บริโภคของไทยเองเริ่มยอมรับในการซื้อของออนไลน์ ดูจากสถิติ คนไทยกว่า 36% เลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับผ่าน Lazada แล้ว.

]]>
1165494