นิยาย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 13 Mar 2018 04:25:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดใจ “รอมแพง” เจ้าของนิยาย “บุพเพสันนิวาส” ออเจ้า ฮิตทั้งพระนคร https://positioningmag.com/1161264 Mon, 12 Mar 2018 13:00:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1161264 กลายเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วเมืองแล้วจริง ๆ สำหรับละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ เรื่องราวของหญิงสาวในยุคปัจจุบันซึ่งบังเอิญได้หลุดไปอยู่ในยุคของรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำพามาสู่เรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งของวงการละครไทย และนวนิยายเรื่องนี้ผู้อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จนี้ รอมแพง หรือ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ผู้ปลุกปั้นตัวอักษรในนิยายให้ทั้งคนอ่านและผู้ชมได้ติดตามมากถึงเพียงนี้

เข้าห้องสมุดแทนการเล่นสนุก

เป็นคนอ่านหนังสือออกได้เร็วมาก ประมาณสัก 6-7 ขวบ ก็อ่านหนังสือออกแล้ว หนังสือที่อ่านในช่วงแรก ๆ จะเป็นพวกนิทานอีสปก่อน แล้วช่วงเด็กเราอยู่ที่ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีห้องสมุดประชาชน เราก็เริ่มอ่านจากตรงนี้ พอถึงเวลาพักเที่ยง เราเข้าไปอ่าน ไม่ค่อยได้เล่นเหมือนเด็ก ๆ ทั่วไปสักเท่าไหร่ อาจจะมีเล่นหมากเก็บ หรือกระโดดยางบ้าง แต่พอหลังจากเลิกเรียน เราก็อยู่ในห้องสมุดจนปิดเลย แล้วก็จะยืมหนังสือจากอาจารย์บ้าง หรือจากห้องสมุดของโรงเรียน แต่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เราก็จะอ่านหมดไม่เหลือเลย แล้วพอขึ้นมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช เราก็อ่านหนังสือจนหมดทุกเล่มในห้องสมุดค่ะ ก็อ่านทุกเล่ม ทุกหมวดหมู่ เหมือนเดิม

เริ่มอ่านนิยายตั้งแต่ 8 ขวบ

เริ่มอ่านนิยายตั้งแต่อายุ 8 ขวบค่ะ นิยายเรื่องแรกที่อ่านคือ เรื่อง ในฝัน ของ โรสลาเลน (หรือ ทมยันตี) แล้วก็อีกเรื่องคือ สัมผัสที่หก ของ ตรี อภิรุม เล่มหนามาก แต่ก็อ่านมาตลอด ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้เน้นว่าจะเป็นแนวไพรัชนิยายนะคะ แต่จะเป็นลักษณะอ่านไปเรื่อย ๆ แต่โดยส่วนตัวเรา จะชอบแบบแนวแฟนตาซี อย่างเรื่องในฝันก็เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นแบบลิเกเจ้าหน่อย หรืออย่าง สัมผัสที่หก ก็จะเป็นแนวพลังจิต เหนือธรรมชาติ และเป็นทางจิต ซึ่งหลังจากนั้นเราก็อ่านหนังสือประเภทนี้มาโดยตลอด

จนกระทั่งเข้ามาเรียนที่ ม.ศิลปากร เราจะเช่าหนังสืออ่านที่ร้านต้นสน แถววังหลัง คือเช่าอ่านทุกวันค่ะ อย่างน้อย ๆ ก็ครั้งละ 2 เล่ม จนเจ้าของร้านยังจำได้ แล้วลักษณะการอ่านก็เหมือนเดิมค่ะ เรียกได้ว่า พอไม่มีวิชาเรียน ก็จะมานั่งอ่านหนังสือ อ่านทั้งนิยาย และการ์ตูน บ้าง จะไม่ใส่ใจในเรื่องการเรียนเท่าไหร่ จะไปอ่านหนังสือเรียนตอนช่วงสอบอย่างเดียว (หัวเราะเบา ๆ) แล้วโดยส่วนตัวจะชอบงานเขียนของ กิ่งฉัตร ทมยันตี ทั้ง 3 นามปากกา แก้วเกล้า ว.วินิจฉัยกุล และ โบตั๋น ตามทุกเรื่องเลย เพราะว่าสำนวนและเนื้อหาถูกใจ และส่วนใหญ่คาแร็กเตอร์ผู้หญิงจะไม่อ่อนแอ เราไม่ค่อยชอบนิยายที่นางเอกอ่อนแอเท่าไหร่

เขียนไดอารี่จากความฝัน

สมัยเรียนมัธยม เคยเขียนบทและแสดงละครเวที ตอนนั้นก็ได้รางวัลจากการเขียนบทเยอะอยู่ แต่ไม่ได้เรียนด้านการเขียนบท เอาตามความเข้าใจของตัวเอง เหมือนกับเราเขียนมาจากที่เราได้อ่านจากนวนิยายมา หลังจากนั้นก็จะมีในลักษณะเขียนไดอารี่บ้าง ซึ่งไม่ใช่แบบเขียนในชีวิตประจำวัน เป็นแบบว่า เขียนจากความฝันในแต่ละคืนที่ผ่านมา ว่าเราได้ฝันอะไรไป ว่าเราหลับแล้วฝันอะไร คือจำความฝันตัวเองได้แล้วเอามาเขียน ซึ่งจุดตรงนี้เองก็น่าจะเป็นในเรื่องพื้นฐานการเขียนของเราด้วย น่าจะมีส่วนอยู่เหมือนกัน เพราะจำได้ว่า การเขียนของเราจะเป็นแนวแฟนตาซีมาก แต่เราก็ทิ้งช่วงการเขียนมายาวเลย ตั้งแต่เรียนมหาลัยจนถึงอายุ 30 เพราะว่าเราก็ไปทำงานด้านอื่น ซึ่งก็ได้พบเจอผู้คนหลายระดับ เนื่องจากทำหลายงาน พอเบื่อแล้วก็ลาออก ก็สมัครที่ใหม่ เป็นอาชีพใหม่ไปเลย 

จุดเริ่มต้นเขียนหนังสือ

ตอนนั้นเล่นเกมพีซีออนไลน์ ชื่อว่า มังกรหยก ซึ่งพอเล่นไป มันก็จะมีโปรแกรมแชท เราก็แชทไป พอแชทไปก็จะมีคนทื่ติดสำนวนเรา ประมาณว่าชอบสำนวนเรา ก็มาตามเราเป็นลูกน้องเราในเกม แล้วเขาก็บอกเราว่า ‘พี่น่าจะเขียนนิยายนะ อ่านแล้วสนุก’ เพราะเวลาที่เราเล่าเรื่องต่าง ๆ เราเล่าด้วยความสนุกจากสิ่งที่เรารู้ เลยลองเขียนดูก็ได้ตามลูกยุ (หัวเราะ) เริ่มเขียนหนังสือมาตั้งแต่ 2549 แล้วก็เขียนมาตลอด จริง ๆ เราก็ได้รับการติดต่อหลังไมค์ให้มาเขียนให้ เพราะก่อนหน้านี้เราเขียนลงออนไลน์ในเว็บพันทิป จนเราตกลงทำสัญญา ก็ลาออกจากงานประจำเลย

ผลตอบรับ

ผลตอบรับดีตั้งแต่เรื่องแรกคือ มิติรักข้ามดวงดาว แล้วพอมาเรื่องที่ 2 สายลับลิปกลอส ผลตอบรับก็ดีมากเลย ต่อด้วย ปักษานาคา ที่ลุยไปป่าหิมพานต์ จนมาถึงเรื่อง ชายพรหม เรื่องนี้ก็ถล่มทลาย เป็นแนวพีเรียด อย่างเรื่อง ดาวเกี้ยวเดือน ก็ได้รับรางวัล Voice Award จากเว็บเด็กดี แล้วตอนหลัง ๆ ก็มาลงในออนไลน์ ซึ่งเราก็มีเป็นรูปเล่มมาตั้งแต่เรื่อง สายลับลิปกลอส แล้ว ผู้อ่านในตอนนั้นจะเป็นในแบบวัยทำงานมากกว่า ซึ่งเขาบอกว่า สำนวนหรือพลอตที่เขียนแบบสดดี เหมือนกับว่าไม่เหมือนสำนวนทั่ว ๆ ไป สำนวนคือสื่อถึงคนอ่านได้ทันที ซึ่งเขียนอยู่ประมาณ 3 ปี 10 กว่าเรื่อง ก่อนที่จะมาถึง บุพเพสันนิวาส

ที่มานิยาย บุพเพสันนิวาส

ตั้งแต่ปี 2549 เลย คิดไว้เลยว่าอยากจะเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์สักเรื่องนึง เพราะสนใจในด้านนี้อชอบอะไรที่มันเป็นไทย ๆ และเป็นอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เคยอ่านนิยายหลาย ๆ เล่ม ที่เป็นแนวนางเอกย้อนยุค หรือแนวโบราณบ้าง ก็เกิดความรู้สึกว่าอยากเขียนจัง จึงเริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ 2549 ไปหาข้อมูลทั้ง หอสมุด ม.ศิลปากร และหอสมุดแห่งชาติ และมีอินเทอร์เน็ตนิดหน่อย  พอหลังจากที่แต่งเรื่องดาวเกี้ยวเดือนจบ ก็มาแต่งบุพเพสันนิวาส และ ดาวเคียงเดือน ซึ่งเป็นดาวเกี้ยวเดือนภาคพิเศษ เรื่องละ 1 เดือน แล้ว 3 เรื่องนี้ จะแต่งแบบติด ๆ กันเลย เหมือนไฟกำลังมา แต่บางช่วงก็มีเหมือนกันที่เขียนไม่ได้เลยก็มี ซึ่งเรื่องนี้ก็ใช้เวลาเขียน 1 เดือน 29 ตอน แต่ก็จะมีช่วงหยุดตรงที่ตัวเอกเข้าหอ ที่จะเข้าช่วงประวัติศาสตร์ที่เครียดหน่อยแล้ว ตรงนั้นจะหยุดนานไปหน่อย หยุดจนคนอ่านบ่นว่า ทำไมตัวเอกโล้เรือสำเภานานจัง ฟ้าเหลืองหมดแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นหยุดไป 3-4 วันได้ ก็กลับมาเขียนต่อจนจบเลย

จากเรื่องวิชาการ มาแปลงเป็นงานเขียนนวนิยาย 

ตอนที่เขียนในตอนนั้น ถือว่าสนุกมาก เพราะว่าเรื่องนี้ก็เขียนในออนไลน์ แล้วก็จะมีคนตอบโต้มาตั้งแต่เรื่องดาวเกี้ยวเดือนแล้ว แล้วพอเรามาเขียนเรื่องนี้ ก็เหมือนกับว่าคนที่อ่านเรื่องก่อนหน้านี้ มาอ่านเรื่องนี้ต่อเลย ก็ยิ่งทำให้คนอ่านแบบปากต่อปาก เนื่องจากเราเขียนวันละตอนเลย เขียนจบและโพสต์เลย แล้วเราก็มีข้อมูลอยู่ในหัวอยู่แล้ว เรารู้แล้วว่าเราจะเขียนไปแนวไหน แล้วเราจะเขียนอะไรบ้าง เพราะเราศึกษาและรวบรวมข้อมูลมานานไงคะ แล้วตกตะกอนกับที่เราอยากเขียนพอดี วันละตอนจนจบเลย เหมือนอารมณ์คนอ่านก็จะประมาณว่า จบแล้วเมื่อไหร่จะมีตอนใหม่ซะที ตอนเช้าเขาจะเล่าให้ฟังว่ามาเปิดคอมพ์รอแล้ว ซึ่งเขาก็รู้นะคะว่าเราแต่งสด แต่งปุ๊บโพสต์ปั๊บ ซึ่งถ้ามีเรื่องผิดพลาด เราก็จะแก้ทันที ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในตอนนั้นด้วย

เนื้อเรื่องต้องไม่เครียดอ่านได้ทุกวัย

โดยปกติเราก็จะเขียนนิยายโรแมนติกคอเมดี้อยู่แล้ว แล้วการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ มาจากความรู้สึกว่า หลายเรื่อง ๆ ในส่วนนี้มันรู้สึกเครียด แล้วเราจะใส่ไปยังไงไห้ไม่รู้สึกเครียดมากนัก เราก็เลยใช้วิธีในสไตล์ของเราเข้าไป ก็พยายามให้ไม่เครียดมากนัก เพราะว่าเราก็รู้สึกเหมือนกันว่า พออ่านหนังสือที่มันเครียด ๆ เราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากอ่าน เราก็จะอ่านไม่จบ เราเองก็ไม่อยากเครียดด้วย เราอยากให้คนอ่านได้สนุกสนานไปกับสิ่งที่เราสื่อ สนุกสนานกับข้อมูลที่เราย่อยไปให้ และอยากให้คนทุกเพศทุกวัยได้อ่าน โดยเฉพาะถ้าให้เด็กอ่าน จะให้รู้สึกว่าไม่น่าเบื่อ เราเลยให้เกศสุรางค์ที่เป็นคนยุคปัจจุบัน ที่หลุดเข้าไปในอดีต ก็จะให้เขาเป็นคนที่ล้น ๆ หน่อยค่ะ

อีกอย่างเรารักในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซี่งเราอยากจะสื่อสารออกไป และเราก็รักในงานเขียนของเราด้วย และเราก็รักในแฟนคลับเราด้วย ให้เขารู้สึกว่าคุ้มค่าที่ได้อ่าน ซึ่งพอแต่งจบ ก็จะเป็นรูปเล่ม เราก็รู้สึกว่าไม่เสียดายเงินที่ได้ซื้อนิยายของเราไป ก็เลยต้องพยายามให้ที่สุดเลย ซึ่งตอนนี้เราก็คิดแบบนี้อยู่

จากนิยายสู่ละคร

ถือว่าสำเร๊จเกินกว่าที่คาดมาก ซึ่งตอนแรกที่จะเอามาทำเป็นละคร ก็เคยพูดกับพี่หน่อง อรุโณชา ว่าถ้าทำเรื่องนี้ให้ดี มันจะเป็นตำนานเลยนะคะ เราบอกพี่เขาไปอย่างงี้เลย แล้วทางทีมละครก็ตั้งใจมาก แล้วคนเขียนบทโทรทัศน์ ก็ได้ อ.ศัลยา (สุชะนิวัตติ์) ซึ่งท่านก็ดีมาก แล้วพอมารวมกับ คุณใหม่ (ภวัต พนังคศิริ) ก็ยิ่งทวีคูณไปอีก เพราะเขาอ่านนิยายไงคะ ก็จมไปในเนื้อเรื่องเลย เลยทำออกมาค่อนข้างตรงกับนิยาย อาจจะมีการเพิ่มสีสันในตัวละครให้เด่นชัดขึ้นตามภาษาศาสตร์ของละครเลย

แล้วพอมาได้ดูแบบละครก็สนุกค่ะ อาจจะมีการลำดับที่แตกต่างกันบ้าง แต่ตัวบทค่อนข้างตรงกับนิยายเลยค่ะ เพราะ อ.ศัลยาท่านบอกว่า ก็เขียนบทละครตามนิยายเลย และจะไม่ลดลง อาจจะเพิ่มให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะบางอย่างในนิยายบางจุดอาจจะไม่ชัดเท่าไหร่ แล้วท่านก็จะเน้นให้ชัดขึ้น ก็จะมีสีสันเพิ่มขึ้นมา อย่างเวลาที่ทีมงานกำลังทำละคร ก้จะมาปรึกษาเราตลอด แล้วเราก็แนะนำหลาย ๆ อย่างให้เขา ซึ่งทางทีมงานด้านฝ่ายศิลป์ ก็จะมีการลงพื้นที่ทั้งอยุธยาและลพบุรี เราก็ได้ไปดู และชี้ให้ดูว่าตรงไหนเป็นตรงไหน

ใช้ความชอบประยุกต์เข้ากับนิยาย

เรียนจบเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ มันเป็นคนละศาสตร์กัน เพราะวิชานี้จะศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางศิลปะทั้งหมด ทั้งวัตถุโบราณ สถานโบราณ เน้นในด้านศิลปะ พวกปูนปั้น พวกลวดลาย เพราะว่ามันจะบอกยุคสมัยได้ด้วย ลักษณะของพระพุทธรูปว่ามันจะสืบเนื่องกันยังไง หรือรูปปูนปั้นมันเป็นความนิยมสมัยไหน ดูลวดลายแล้วสืบเนื่องว่าเป็นยุคไหน แล้วที่เราเรียนมันจะเน้นไปทางตะวันตกซะมากกว่า อย่างสารนิพนธ์นี่คือทำเรื่องของยุโรปด้วย ซึ่งไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับของไทยซะเท่าไหร่ แต่ก็เป็นความชอบส่วนตัวในเรื่องประวัติศาสตร์มังคะ แต่มันก็มีส่วนช่วยในเรื่องจินตนาการอยู่นะคะ เพราะเวลาที่เราเห็นวัตถุโบราณ เราก็จะคิดแล้วว่าคนเคยจับนั้นมันจะเป็นยังไง เพราะมันเป็นเรื่องราว ทำให้ตัวเกตุสุรางค์ก็เลยตื่นตาตื่นใจ ทำให้เรามีความรู้สึกเดียวกันได้ เพราะเราชอบในด้านนี้ พอมาเจอของจริง ก็จะตื่นเต้นหน่อย

ปัจจัยที่ทำให้ละครเรื่องนี้โด่งดังมาก

อาจจะเป็นเพราะว่า นางเอกที่เป็นคนยุคปัจจุบัน ที่ไปอยู่ในร่างของคนในอดีต ทำให้ความคิดความอ่านของคนปัจจุบันมันเชื่อมโยงกันได้กับคนดู มันทำให้คนดูมีความรู้สึกว่า ถ้าคนดูเป็นเกตุสุรางค์จะรู้สึกยังไง มันเลยทำให้มีความเอาใจช่วยนางเอก ก็เลยทำให้คนชอบละครเรื่องนี้ เพราะเหมือนตัวเองไปเที่ยวเอง แล้วด้วยเจตนาของการเขียนแต่แรกอยู่แล้วาอยากสอดแทรกประวัติศาสตร์ให้คนอ่านรู้สึกชอบ รู้สึกเหมือนเรา ตอนที่เขียนนี่คือพยายามเขียนให้มันคลุมเครือเข้าไว้ แล้วประวัติศาสตร์ช่วงนั้นมันมีหลายกระแสมาก เราจึงต้องเลือกพล็อตแบบ โรแมนติก-คอมเมดี้ ก็เลยมาเป็นบุพเพสันนิวาส นี่แหละค่ะ 

ตอนที่เขียนคือพยายามสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวละครที่เป็นคนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์สมัยก่อน อาจจะมีการเติมแต่งในบางส่วน อาจจะมีบิด ๆ บ้าง ในบางส่วนของการกระทำ เพื่อให้เขาเป็นมนุษย์จริง ๆ เพราะว่าเขาอาจจะมีดี มีเลวอยู่ในตัว แล้วในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็เป็นการเล่าแบบทื่อ ๆ จากการมองของคนในสมัยนั้น แล้วเล่าต่อ ๆ กันมา ก็อาจจะผิดเพี้ยนไป เราก็ใช้ส่วนนี้ค่ะ เป็นส่วนที่เราแทรกเข้าไป เหมือนกับเราต่อจิ๊กซอว์เข้าไป แล้วเสริมจินตนาการแทรกระหว่างประวัติศาสตร์ที่เราเลือกมาแล้ว แล้วมาร้อยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ถูกละเมิดลิขสิทธิ์

โดยส่วนตัวเรา ก็ไม่ได้ซีเรียสมากนัก ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก เพราะว่าเจอบ่อย เจอมาตั้งแต่เขียนนิยายมาจนถึงตอนนี้ แต่ช่วงปีที่ผ่านมาจนคาบเกี่ยวมาจนถึงปีนี้ อาจจะหนักหน่อย เพราะว่าพอเจอเรื่องหนัก ๆ ก็รู้สึกเหมือนชินชา แต่ก็เป็นไปตามกฎหมาย อีกอย่าง ก็มีคนให้กำลังใจเราเยอะด้วยมังคะ มีคนเห็นใจเข้าใจเราเยอะ เราก็รู้สึกว่ามันก็ได้เลวร้ายเสมอไป ซึ่งความเลวร้ายมันก็มีอยู่แล้ว แต่ความดีงามมันก็มี จากคนรอบข้างที่เขากำลังใจเรา ต่อให้ทุกข์ใจไปมันก็เท่านั้น ในเมื่อมันเกิดไปแล้ว ก็ทำให้ดีที่สุด เอาตามเท่าที่ได้ค่ะ เพราะกฎหมายฉบับนี้ มันก็ยากเหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคนทำผิด ก็ไม่สามารถแจ้งความได้ต้องสืบค้นกันไป ซึ่งถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็คือไม่ได้ค่ะ ไม่สามารถสืบหาคนทำผิดได้ มันก็รู้สึกไม่ค่อยดีหรอกค่ะ แต่ในเมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เป็น

ทิศทางต่อไป 

เราคิดว่ามันเป็นกระแสในช่วงนี้ แต่เดี๋ยวละครจบกระแสก็คงซา เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดจะทำอะไรที่จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นรับความเป็นไทย ตอนนี้ต้องรีบทำเลยค่ะ เราแทบไม่ปฎิเสธเลย ถ้าให้ไปพูดตามงานต่าง ๆ คือพยายามช่วยเขาให้มากที่สุดค่ะ เพราะเรารักในผลงานเรา ก็ไม่คาดคิดว่ามันจะมาถึงขนาดนี้ด้วยค่ะ อาจจะคิดแค่ว่ามีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง เพราะเราก็เขียนงานให้เป็นปกติธรรมดา แต่ก็ไม่สามารถให้คนไปอ้างอิงได้ เนื่องจากมันเป็นนิยาย แต่ก็อยากให้คนอ่าน อ่านแล้วนึกฉุกใจว่า ที่เราเขียนไป มันใช่หรือเปล่า แล้วไปค้นคว้าเอง อาจจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อให้เกิดความสนใจและศึกษาค่ะ ซึ่งถ้าเป็นประตูบานแรกสำหรับผู้ที่อยากศึกษา ไปค้นคว้าต่อ ถือว่าสมใจนึกเลยนะคะ เพราะคิดแบบนี้ในตอนช่วงที่เริ่มเขียนเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะมองก็ขอให้มองผ่านทางเกศสุรางค์ แล้วตัวละครนี้ก็ไม่รู้ว่าคนที่เขามองนั้น เป็นแบบที่เขาคิดจริง ๆ หรือเปล่า คือพยายามเขียนให้เป็นประมาณนี้ แล้วให้คนอ่านฉุกคิด ว่าแล้วเรื่องราวมันเป็นยังไง ทำนองนี้ค่ะ.

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : Facebook Fan Page : รอมแพง

ที่มา : mgronline.com/onlinesection/detail/9610000023892

]]>
1161264