บัตรแลกเงินพรีเพด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 06 Nov 2019 03:34:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มาอีกราย! Kbank ผนึกสตาร์ทอัพ YouTrip เปิดตัวบัตรแลกเงิน ฟรีค่าแรกเข้าดูดนักเดินทาง https://positioningmag.com/1252456 Tue, 05 Nov 2019 11:09:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1252456 ช่วงที่ผ่านมาสารพัดธนาคารต่างเปิดศึกตีตลาดแลกเงิน ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศปีละ 11 ล้านคน มียอดใช้จ่ายรวม 4 แสนล้านบาท ทำให้กลายเป็นแหล่งเงินสำคัญที่ถูกจับจ้อง รวมถึงสตาร์ทอัพ “YouTrip” สัญชาติสิงคโปร์ที่ผนึกกำลังกับ Kbank เพื่อดูดนักท่องเที่ยวใช้จ่ายผ่านบัตร ชูไฮไลต์ฟรีค่าแรกเข้าและธรรมเนียมรายปี

YouTrip สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์สยายปีกบุกไทยโดยจับมือแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ดีลกับ Kbank เปิดบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และบัตรเดบิตแลกเงินสำหรับใช้ในต่างประเทศ โดย “จุฑาศรี คูวินิชกุล” พาร์ตเนอร์ร่วมก่อตั้งของ YouTrip ประเทศไทย ไม่ใช่คนหน้าใหม่ของโลกสตาร์ทอัพ เพราะเธอคืออดีตพาร์ตเนอร์ร่วมก่อตั้งของ Grab ประเทศไทยนั่นเอง

เช่นเดียวกับบัตรแลกเงินสำหรับใช้ในต่างประเทศอื่นๆ YouTrip มีจุดประสงค์เพื่อแก้ ‘pain point’ ของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการมีเศษเงินเหลือกลับบ้าน และไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิตซึ่งมีอัตราระหว่าง 2.5-6.0%

ทางเลือกจาก YouTrip คือการใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น โดยผู้ใช้สามารถกรอกสมัครสมาชิกผ่านหน้าจอมือถือ จากนั้นบัตรเดบิตที่บริษัทร่วมเป็นพันธมิตรกับมาสเตอร์การ์ดจะถูกส่งมาตามที่อยู่ลูกค้าภายใน 3-5 วัน เป็นบัตรแบบคอนแทคเลสที่สามารถใช้ได้ทั้งการรูด แตะ และซื้อสินค้าออนไลน์ในต่างประเทศ

ส่วนการร่วมเป็นพันธมิตรกับ Kbank เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมบัญชี YouTrip เข้ากับแอพฯ K PLUS โมบายแบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทย เมื่อต้องการแลกเงิน ผู้ใช้สามารถเช็กเรตประจำวันและกดแลกเงินจากบัญชีกสิกรไทยเข้ามาเก็บใน e-Wallet ของ YouTrip ได้ทันที

กระบวนการเหล่านี้ นักท่องเที่ยวไทยบางกลุ่มน่าจะคุ้นหูคุ้นตาอยู่บ้างเนื่องจากธนาคารต่างๆ เช่น KTC, SCB, TMB หรือแม้แต่ Kbank เองก็เคยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบนี้มาแล้ว แต่สิ่งที่เป็นหมัดเด็ดจาก YouTrip คือการประกาศฟรีค่าแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งต่างจากบัตรแลกเงินที่ออกมาก่อนหน้านี้ที่เก็บค่าแรกเข้ากันตั้งแต่ 200-700 บาท (ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะมีโปรโมชั่นฟรีค่าแรกเข้าจนถึงสิ้นปี 2562) ส่วนค่ารายปีนั้นมีบัตรจาก KTC และ SCB ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น YouTrip สูสีกับเจ้าเดิมในตลาด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกสกุลเงินให้แลกเปลี่ยนได้ 10 สกุลเงิน คือ THB, USD, EUR, JPY, GBP, HKD, AUD, CHF, CAD และไม่เสียค่าธรรมเนียมรูดจ่ายค่าสินค้า ขณะที่ค่าธรรมเนียมกดเงินสดจากตู้ ATM ในต่างประเทศ YouTrip และ Kbank จะเวฟค่าธรรมเนียม 100 บาทให้จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2563 แต่ค่าธรรมเนียมของตู้ ATM ธนาคารปลายทางนั้นอาจจะยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ แตกต่างกันไปแล้วแต่ธนาคารแต่ละประเทศ

Kbank มองยาว YouTrip ช่วยเพิ่มฐานลูกค้า

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในดีลจับมือกันครั้งนี้คือ ธนาคารกสิกรไทยเองมีการออกบัตรแลกเงิน Journey อยู่แล้ว เหตุใดจึงมาออกผลิตภัณฑ์ซ้ำซ้อนร่วมกับสตาร์ทอัพ

ต่อคำถามนี้ “พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมาก ทำให้กสิกรไทยต้องมีตัวเลือกให้ผู้บริโภคหลายช่องทาง

“ถ้าเขาจะไปใช้ธนาคารอื่น ให้เขาเลือก YouTrip ยังดีกว่า” พัชรกล่าวพร้อมเสริมว่า ดีลครั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยไม่ได้หวังเป้าหมายในแง่รายได้ แต่ต้องการฐานลูกค้าเพิ่มจากผู้สมัครใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้ซึ่งต้องผูกกับ K PLUS และเมื่อลูกค้าได้รับความสะดวกสบายจากการใช้งาน ก็อาจจะต่อยอดไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต เช่น สินเชื่อ

(จากซ้าย) พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย, จุฑาศรี คูวินิชกุล พาร์ทเนอร์ร่วมก่อตั้ง YouTrip ประเทศไทย และเซซิเลีย ชู ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ YouTrip

สำหรับบัตร Journey ของ Kbank นั้นนับเป็นบัตรแลกเงินที่เสียค่าแรกเข้าสูงสุดในขณะนี้คือ 700 บาท และมีค่าธรรมเนียมรายปี 550 บาท (โปรโมชั่นฟรี 1 ปีแรก) แต่สามารถกดเงินสดต่างประเทศได้สูง 2 แสนบาทต่อวัน

หวังเป้าผู้ใช้ 4 แสนรายภายในปีเดียว

ด้าน YouTrip นั้นวางเป้าไว้ไม่ใช่เล่นๆ โดย “จุฑาศรี” กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายดึงผู้ใช้ 4 แสนรายภายในปี 2563 จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปี 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะมีถึง 11 ล้านคน เติบโต 7.4% จากปีก่อน และมีการใช้จ่ายต่างประเทศรวม 4 แสนล้านบาทต่อปี

ฐานลูกค้าเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้กับ YouTrip หลักๆ มาจากการรับส่วนแบ่งจากมาสเตอร์การ์ดเมื่อลูกค้านำบัตรไปรูดใช้จ่าย ซึ่งค่าธรรมเนียมตรงนี้ร้านค้าจะต้องจ่ายให้กับมาสเตอร์การ์ดอยู่แล้ว ขณะที่ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจุฑาศรีบอกว่า ไม่ใช่จุดโฟกัสหลักของบริษัท

ขณะที่ภาพใหญ่ของสตาร์ทอัพ YouTrip “เซซิเลีย ชู” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ YouTrip จากสิงคโปร์กล่าวว่า บริษัทเพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 แต่ได้รับเงินระดมทุน series A แล้ว 26 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ดาวน์โหลดแอปแล้ว 4 แสนครั้ง มียอดใช้จ่ายแล้ว 10 ล้านครั้ง

การบุกประเทศไทยนี้ถือเป็นประเทศที่สองของบริษัท โดยมีเป้าหมายใช้เงินระดมทุนรอบล่าสุดเพื่อให้บริการครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

]]>
1252456
“ซุปเปอร์ริช สีส้ม” เร่งสร้างจุดต่าง ปั้นบัตรแลกเงินพรีเพด Visit Thailand Card หวังแก้ปัญหาลูกค้าแยกแบรนด์ไม่ออก https://positioningmag.com/1203033 Fri, 14 Dec 2018 05:50:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1203033 ในเมื่อธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงิน มีผู้เล่นมากหน้าหลายตา อีกทั้งยังมีคู่แข่งที่ใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน ต่างเพียงแค่สี แถมเรทยังใกล้เคียงหรือเท่ากันอีกต่างหาก ยิ่งทำให้ “ซุปเปอร์ริช สีส้ม” ต้องคิดต่างในทุกๆ ด้าน ล่าสุดสบช่องนโยบาย Cashless Society เปิดตัว Visit Thailand Cardตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในทุกด้านทั้งความสะดวก ปลอดภัย  และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ



ปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1995) จำกัด ให้รายละเอียดว่า
“ความจริงแล้วตอนแรกเราตั้งใจที่อยากจับมือกับธนาคารพาณิชย์ แต่เขามองว่าเราเป็นคู่แข่ง ก็ไม่เป็นไร เลยตัดสินใจทำเอง โดยร่วมมือกับทูซีทูพี ผู้ให้บริการเพย์เมนท์ เกตเวย์ และมาสเตอร์การ์ด สถาบันด้านระบบการเงินที่มีเครือข่ายทั่วโลกเป็นพันธมิตร  เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  สามารถเที่ยวได้สบายใจ โดยไม่ต้องพกเงินสด แถมมั่นใจว่าจะไม่เจอกับแบงค์ปลอมแน่นอน ขณะเดียวกันก็ทำให้การจับจ่ายเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องเศษเหรียญ ที่มักลงเอยด้วยการไม่ได้ใช้งาน ตลอดจนมูลค่าธนบัตรต่าง ๆ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เนื่องจากเงินบาทไทย ไม่ใช่สกุลเงินหลักของโลก”

“นอกจากนี้ยังควบคุมงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้อีกด้วย ที่สำคัญอีกประการคือ หากใช้เงินสด เมื่อเงินหล่นหาย หรือถูกขโมยก็หายไปเลย แต่บัตรนี้สามารถปิดใช้บริการได้ เงินก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ต้องไปแสดงตนและหลักฐานเพื่อออกบัตรใหม่”

นอกเหนือจากความสะดวกสบาย ความปลอดภัยแล้ว Visit Thailand Card ยังมอบสิทธิประโยชน์จากพันธมิตรต่างๆ ของซุปเปอร์ริช ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม และสินค้าที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบกว่า 20 ราย  อาทิ สนามมวยเวทีราชดำเนิน, สยามนิรมิต, ทิฟฟ่านี่ โชว์, สามพราน ริเวอร์ไซด์, โอเอซิส สปา,  เรือเจ้าพระยาปริ้นเซส, สวนน้ำการ์ตูน เน็ตเวิร์ค, มาร์เวล เอ็กซ์พีเรียน, คิง เพาเวอร์, บิวตี้ บุฟเฟ่ต์, บิวตี้ คอทเทจ และบิวตี้ มาร์เก็ต เป็นต้น รวมถึงการเปิดตลาดการใช้งานบัตรมาสเตอร์การ์ดในกลุ่มใหม่ๆ  ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะทำบัตรเครดิต

นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนมาก เมื่อออกจาก ตม. แล้ว จะมี 2 สิ่งแรก ที่ทำคือ แลกเงิน และซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นเมื่อซื้อบัตรนี้จะได้รับซิมเติมเงินจากเพนกวินซิมที่เปิดใช้อินเตอร์เน็ตฟรี 1 วัน 



Visit Thailand Card สามารถใช้ได้ในร้านค้ามากกว่า 7 แสนแห่งทั่วไทยที่รับบัตรมาสเตอร์การ์ด รวมถึงใช้ช้อปปิ้งในอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ส่วนแอปพลิเคชั่น ในเบื้องต้นจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ดูรายการที่ซื้อทั้งหมดที่เกิดขึ้นย้อนหลัง รวมถึงยอดเงินคงเหลือ และเติมเงินในซิมโทรศัพท์มือถือ ที่สำคัญยังมีฟีเจอร์เด่นคือการเปิด-ปิด การใช้งานบัตรนี้ได้ ทำให้มั่นใจว่าต่อให้บัตรหายหรือโดนขโมยไปก็ไม่มีทางใช้งานได้

ทั้งนี้เพื่อแลกกับข้อดีและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่กล่าวมา นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงคนไทยที่ต้องการใช้บัตรนี้ ต้องเสียค่าสมัคร 150 บาท ค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อปี  แลกเงินและเติมเข้าบัตรได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 300,000 บาทต่อเดือน

Visit Thailand Card ออกแบบมาให้สมัครใช้งานง่าย เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง  และมีอายุการใช้งาน 3 ปี  ในเบื้องต้นเปิดให้แลกเงินหรือเติมสกุลเงินบาทลงในบัตรนี้ ได้ที่ซุปเปอร์ริช  4 สาขาหลักก่อน ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ราชประสงค์, เซ็นทรัลเวิลด์ และสีลม โดยคาดว่าภายในปี 2019 จะแลกได้ทั้งหมด 49 สาขา และนอกเหนือจากการใช้งานภายในประเทศ   กลางปี 2019 นี้ คาดว่าจะสามารถนำบัตรนี้ไปใช้ในต่างประเทศได้ ซึ่งมีร้านค้าที่รองรับมาสเตอร์การ์ดกว่า 40 ร้านค้าทั่วโลก

แม้จะแตกต่างกันด้วยสี แต่ชื่อแบรนด์เดียวกันกับ ซุปเปอร์ริช สีเขียว ของบริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด ก็ยังทำให้ผู้บริโภคสับสนอยู่ดี แต่ซุปเปอร์ริช สีส้ม มีกลยุทธ์ที่จะช่วงชิงความได้เปรียบ และสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งที่ไม่ใช่แบรนด์ชื่อเดียวกันนี้เท่านั้น หากแต่รวมถึงผู้เล่นรายอื่นๆ ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 รายทั่วประเทศด้วย

ดังนั้นหัวหอกทะลวงฟันที่จะนำพาซุปเปอร์ริชให้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้แก่ การบริการ, สาขาที่ครอบคลุมตาม Strategic Location ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว รวมถึงในสถานีบีทีเอสบางแห่ง กอปรกับความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของแบรนด์ที่ปักหมุดทำธุรกิจมานานกว่า 53 ปี ตลอดจนนวัตกรรมด้านการชำระเงินใหม่ ๆ อย่าง Visit Thailand Card

“ผมไม่เคยแข่งเรทกับใคร แต่ผมมั่นใจว่าเรทของเราไม่ขี้เหร่ สิ่งที่เราทำมาตลอดคือเน้นการบริการและมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าเพื่อสร้างความแตกต่าง ซึ่งบัตรนี้ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ โดยเราคาดว่าบัตรล็อตแรกจำนวน 50,000 ใบ จะจำหน่ายหมดภายใน 3 เดือน และตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี 2019 จะมีสัดส่วนยอดซื้อขายเงินต่างประเทศผ่านบัตรนี้ 50% จากช่วงเริ่มต้นที่คาดว่าจะมีสัดส่วน 5-10% หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท จากยอดซื้อขายทั้งหมด 100,000 กว่าล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม หัวเรือใหญ่ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอนาคตอาจจะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติม แต่สาขาที่มีอยู่ก็จะไม่ปิดตัว เพราะมีประโยชน์ในการแง่ของการเป็นช่องทางสร้าง Brand Visibility และ Brand Credibility ซึ่งใช้เม็ดเงินพอ ๆ กับการโฆษณา

ซุปเปอร์ริชนับเป็นรายแรกในไทยที่ออกบัตรพรีเพด มาสเตอร์การ์ด ที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่สำหรับในธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีหลายรายออกบัตรพรีเพดที่แลกเงินและเติมเข้าบัตรมาก่อนหน้าแล้ว เช่น Travelex ที่มี Travelex Money Card ซึ่งร่วมมือกับมาสเตอร์การด์ และมอบสิทธิประโยชน์อื่นๆ เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน ที่เด่นๆ คือ ทุกครั้งที่แลกเงินจะได้รับไมล์สะสมของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าจะตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยในปี 2018 นี้  38 ล้านคน และมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปราว 50,000 บาท โดย 4 ค่าใช้จ่ายหลัก ได้แก่ รับประทานอาหาร, ของที่ระลึก, สินค้าแฟชั่น และบริการสปา

]]>
1203033