ประมูลคลื่นมือถือ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 08 Aug 2018 05:08:33 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ดีแทค ประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ประมูลคลื่น 900 MHz https://positioningmag.com/1182369 Wed, 08 Aug 2018 03:46:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1182369 รอลุ้นกันมาพักใหญ่ ล่าสุด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ออกมาระบุว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz ต่อสำนักงาน กสทช. แต่ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลอย่างถี่ถ้วนและมีผลสรุปจะที่ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz หลังจากที่ กสทช. ได้ประกาศปรับเงื่อนไขกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz ให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เข้าประมูล และยังช่วยส่งเสริมการแข่งขันในการประมูลด้วย ดีแทคมีความพยายามจัดหาคลื่นความถี่ 1800 MHz มาใช้งานเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ ดีแทคยังได้เตรียมมาตรการต่างๆ รวมถึงการบังคับใช้แผนความคุ้มครองลูกค้าในช่วงหลังสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน

โดยดีแทคมีแผนที่จะนำคลื่น 1800 MHz ที่เข้าประมูลครั้งนี้มาใช้ให้บริการ 2G อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับฐานลูกค้าที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งใช้เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายบริการ 4G รองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ดีแทคประกาศไม่เข้าร่วมการประมูลและจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลในเงื่อนไขที่ระบุเพิ่มในประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ (IM) จะส่งผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินงานและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ชนะประมูล

โดยประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ระบุให้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนั้น กสทช. ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890 /930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีจะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรก ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของผู้ชนะใบอนุญาตคลื่น 900 MHz

หลังหมดสัมปทาน ยัน กสทชคุ้มครองลูกค้าต่อ

อย่างไรก็ตาม ดีแทคจะเจรจากับ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้าดีแทค หลังจากสิ้นสุดสัมปทานระหว่างดีแทคและ CAT ในวันที่ 15 กันยายน 2561

ดีแทคได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. อย่างเคร่งครัดที่จะให้บริการอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าจำนวนมากที่ยังคงใช้งานอยู่บนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกค้า

“ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างดีแทค และ กสทช. ที่จะดำเนินตามแผนคุ้มครองลูกค้า ตามที่ กสทช. ได้เคยดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานที่ผ่านมา โดยตามหลักการนั้น มาตรการคุ้มครองลูกค้าให้ใช้งานบนคลื่นความถี่จะมีผลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้ผู้บริการรายใหม่” ลาร์ส กล่าว.


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1182369
เมื่อ กสทช. เทหมดหน้าตัก หวังให้เอกชนประมูลคลื่นมือถือ แม้ความหวังริบหรี่ https://positioningmag.com/1181835 Sun, 05 Aug 2018 07:42:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1181835 แนวโน้มของการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz รอบที่ 2 ของ กสทช. ครั้งใหม่นี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะมีเอกชนรายใดเข้ามาร่วมการประมูลอีกหรือไม่ ในขณะที่ กสทช. ก็กำลังเปิดหมดหน้าตัก พร้อมรับข้อเสนอของเอกชนทุกราย เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้สามารถประมูลคลื่นย่านใดย่านหนึ่งออกไปให้ได้

เมื่อล่าสุดบอร์ด กสทช. วันที่ 25 กรกฎาคม ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีราคารวมการประมูลสูงสุด เป็นผู้เลือกย่านคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ได้

ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กสทช. ตั้งใจเต็มที่เพื่อเปิดทางให้ “เอไอเอส” ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุดของไทยเข้ามาร่วมประมูลในคลื่นย่าน 1800 MHz เพราะเวลานี้เหลือเพียง 2 ค่ายคือ เอไอเอสและดีแทคเพียง 2 รายเท่านั้น ที่ยังให้ความหวังกับ กสทช. ว่าอาจจะเข้าร่วมประมูลด้วย ในขณะที่ค่ายทรูชัดเจนว่าต้องการให้รัฐยืดการจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 รอบที่แล้วมากกว่าจะสร้างภาระหนี้ใหม่

รายละเอียดของมติบอร์ดคือ ช่วงคลื่นความถี่ย่าน 1740-1785/1835-1880 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมก ที่ กสทช. เปิดประมูลนั้น หากใครเป็นผู้ชนะการประมูลจะมีสิทธิเลือกย่านคลื่นที่ต้องการได้ แต่จะให้ความคุ้มครองกับรายที่เคยประมูลคลื่น 1800 ไปแล้วได้สิทธิเลือกย่านคลื่นที่ติดกับคลื่นที่เคยประมูลไปได้เพื่อจัดระเบียบการใช้คลื่นในย่านเดียวกันแบบติดกัน โดยที่รายอื่นไม่สามารถเลือกย่านคลื่นติดกันนั้นได้ และยังสามารถขอย้ายย่านคลื่นใหม่ได้ด้วย

ความหมายคือ หากมีคนชนะสองราย ยกตัวอย่างค่าย D ที่ชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด (แต่ครั้งที่แล้วไม่ได้เข้าประมูล 1800 ไว้) จะเลือกความถี่ Lot 1 ที่ติดกับอีกค่าย ถือครองไว้จากการประมูลครั้งก่อนไม่ได้ เพราะค่าย A อาจประมูลและชนะ 5 MHz แม้จะเป็นราคารอง แต่ต้องการนำ 5 MHz นั้นเพื่อเอาไปบวกกับ 15 MHz เดิมที่ตัวเองมี ให้เป็น 15 + 5 = 20 MHz

ในขณะเดียวกันหากค่าย D ชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด แต่คลื่นเดิมของตนมีค่าย A ที่ประมูลได้จากการประมูลครั้งก่อนคั่นไว้ หากค่าย D ต้องการย้ายสิทธิการใช้คลื่นของตนทั้งหมด (เดิมและใหม่) เพื่อให้ได้ใช้คลื่น รวมเป็นผืนเดียวกันก็สามารถทำได้ เช่น โยก 15 เดิม มารวมกับ 5 ใหม่ = 20 MHz ในย่านใหม่

ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขที่เปิดทางให้เอไอเอสสุดๆ เพราะเอไอเอสที่มีลูกค้าในมือกว่า 40 ล้านราย เคยแสดงท่าทีว่าต้องการคลื่น 1800 อีกจำนวนหนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ แต่เอไอเอสก็ยังสงวนท่าทีมาโดยตลอด เนื่องจากเห็นว่าราคาประมูลคลื่นรอบนี้ยังสูงเกินไป

ก่อนหน้านี้บอร์ด กสทช. ก็ได้พยายามผ่อนปรนกฎเกณฑ์เพื่อช่วยให้ดีแทคเข้าร่วมประมูลในคลื่น 900 MHz มาแล้ว ด้วยการบอกว่าผู้เข้าประมูลคลื่น 900 จะได้รับการชดเชยส่วนที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์กันกวนกับคลื่นข้างเคียงที่ไปใช้ในกิจการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในวงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท

แต่ความหวังก็ดูเหมือนปิดประตูตายไปแล้ว เมื่อดีแทคประกาศชัดเจนว่า การลงทุนอุปกรณ์ป้องกันการกวนกันนั้น อาจจะต้องใช้วงเงินเกินกว่า 2 พันล้านบาทอีกมากแน่ๆ เพราะต้องป้องกันการกวนกับทุกฝ่ายรอบด้านอีก จึงไม่คุ้มที่จะประมูลมาในราคาแพง

แม้ว่าบอร์ด กสทช. ยังได้พยายามหาทางบีบดีแทคอีกว่า หากไม่เข้าร่วมประมูลจะไม่ได้มาตรการเยียวยาให้ลูกค้าที่อยู่ในระบบสัมปทานเดิมที่ยังมีอยู่หลักแสนราย ซึ่งดีแทคเองก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่

กสทช. จึงหันมาโฟกัสที่เอไอเอส จนได้ข้อสรุปออกมาตามมติบอร์ดข้างต้น แต่ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า เอไอเอสและดีแทคจะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เพราะยังไงทั้งสองค่ายก็ต้องกลับไปคิดอย่างรอบด้าน ถึงความคุ้มค่าในการลงทุน และผู้ที่ตัดสินใจสุดท้ายคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทั้งสอง นั่นคือ สิงคโปร์เทเลคอม และเทเลนอร์นั่นเอง

ทำไม กสทช. จึงต้องพยายามขายคลื่นให้ได้ขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าบรรดาทั้ง 3 ค่ายมือถือของไทย ทั้งเอไอเอส ดีแทคและทรู ไม่ได้มีใครแสดงความต้องการอยากได้คลื่นความถี่ในราคาแพงเลยสักราย

เหตุผลสำคัญเพราะ กสทช. เป็นหน่วยงานที่หารายได้เข้ารัฐที่แข็งแกร่งที่สุด และทรงประสิทธิภาพที่สุดไปแล้ว จากการประมูลคลื่นความถี่ในแต่ละรอบที่ผ่านมา สามารถหาเงินเข้ารัฐได้รวมมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท รัฐบาลแฮปปี้ที่สามารถมีเงินเข้ามาเติมในงบประมาณการบริหารงานแผ่นดินจำนวนมาก จึงเกิดความคาดหวังต่อๆ มาว่า กสทช. จะยังคงทำหน้าที่หาเงินก้อนโตส่งรัฐเพื่อเป็นงบประมาณแผ่นดินต่อไปได้อีก ถึงขนาดใส่ในงบประมาณแผ่นดินล่วงหน้าว่าจะมีเงินก้อนใหญ่จากการประมูลคลื่นเข้ามา

ความจริงแล้วการจัดตั้ง กสทช. ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นองค์กรอิสระในการเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการการใช้งานคลื่นความถี่ และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภค

กสทช. ไม่ใช่หน่วยงานผลิตเงิน ส่งเงินให้รัฐไปจับจ่ายใช้สอยเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจในอดีต เพียงแต่เมื่อ กสทช. ต้องกำกับดูแลการใช้คลื่น ซึ่งในอดีตคือทรัพยากรที่ขาดแคลน จึงทำให้เกิดความต้องการมาก บรรดาผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลในราคาสูงเพื่อให้มีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการให้บริการ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้ให้บริการที่มีเพียงแค่ 3 ราย แต่มีคลื่นจำนวนมากมาประมูล อุปสงค์อุปทานจึงมีไม่เท่าเทียมกัน

สถานการณ์คลื่นล้น หลายประเทศเริ่มประมูลแบบเหมาเข่ง

แนวโน้มการจัดสรรคลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคม จะมีคลื่นหลากหลายเข้ามาให้บริการมากขึ้น ทั้งย่านความถี่ต่ำ เช่น 700 MHz และความถี่สูง 3.5 GHz โดยไม่จำกัดแค่เพียงคลื่นย่านเดิมที่เคยใช้ในกิจการโทรคมนาคมแล้วเท่านั้น ทำให้มีคลื่นอีกจำนวนมากที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องจัดทำแผนการจัดสรร ด้วยการประมูลในอนาคต

ในประเทศเกาหลีใต้ ตามแผนงานที่จะสร้างประเทศให้เป็นประเทศที่วางเครือข่าย 5G และให้บริการรายแรกของโลก ได้เริ่มมีการประมูลคลื่นรองรับบริการ 5G แบบรวมคลื่นหลายย่านเข้าด้วยกันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งคลื่นย่าน 3.5 GHz และ 28 GHz ที่จะสามารถให้ราคาดีกว่า และผู้ประมูลสามารถวางแผนได้ว่าจะเอาคลื่นย่านไหนเท่าไร ไปทำอะไร

ซึ่งการประมูลแบบนี้ทำให้รัฐบาลเกาหลีได้เงินรวมทั้งหมด 3.2 พันล้านเหรียญ จาก 3 ค่ายมือถือ

ในขณะที่สิงคโปร์ ปีที่แล้วก็มีการเปิดประมูลคลื่นพร้อมๆ กันหลายย่านคลื่น ทั้ง 700 MHz, 900 MHz และ 2.5 GHz พร้อมๆ กัน เป็นการเปิดทางเลือกให้ผู้ประกอบการวางแผนได้ถูกว่าจะมีคลื่นย่านใดออกมาบ้าง และใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แต่ละรายต้องการ

สำหรับประเทศไทย นอกจากคลื่นย่าน 900, 1800 MHz แล้ว ก็ยังมีคลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 3.5 GHz ที่รอการจัดสรรอยู่ ซึ่งมีแนวโน้มที่ในอนาคตจะมีการเปิดประมูลแบบหลายย่านคลื่นพร้อมๆ กันเช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้หรือสิงคโปร์ ซึ่งมีแนวโน้มจะต้องมีการปรับราคาประเมินคลื่นทั้งหมดใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการทุกรายต่างก็รู้เงื่อนไขเหล่านี้ ตามเทรนด์ของโลกอยู่แล้ว จึงยิ่งยากมากขึ้นที่จะทำให้มีค่ายใดเสนอตัวเข้าประมูลในครั้งนี้มากขึ้นไปอีก

ก็คงต้องลุ้นกันในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลมายื่นข้อเสนอ ความหวังของ กสทช. จะแป้ก หรือจะเปรี้ยง รู้เรื่องแน่.

]]>
1181835