ปาร์คแจซัง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 AEC-Creative Economy – กังนัม เรื่องเดียวกัน https://positioningmag.com/55892 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55892

ปีเตอร์ กัน นักวิชาการ นักบริหาร และนักการตลาดที่มองปรากฏการณ์ “กังนัม” ได้อย่างน่าสนใจ เขามองว่า ความสำเร็จของกังนัมมาจากตัวของ “ไซ” เป็นคนมีพื้นฐานดีมาก เกิดในครอบครัวฐานะดี เรียนเก่ง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ และเป็นคนมีเสน่ห์แนวตลก  เมื่อมาประกอบกับแนวเพลงประชดประชันคนรวย ซึ่งไปตรงกับสถานการณ์ซวนเซของคนชั้นกลางที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เมื่อเนื้อหาของเพลงบวกกับมิวสิกวิดีโอที่เป็นแนวประชดประชันคนรวย เปรียบเป็นผู้ดีขี่ม้า เมื่อไซใช้ประสบการณ์อันแสนชำนาญของเขาทั้งร้อง ทั้งเต้น ส่งให้เพลงกังนัมกลายเป็น “กระแส” กระเพื่อมไปทั่วโลก  

เมื่อนำปรากฏการณ์กังนมไปเปรียบเทียบกับ “วงจรชีวิตของสินค้า” ปีเตอร์มองว่า ปรากฏการณ์กังนัมยังเป็นเพียงแค่ “กระแส” ยังไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแฟชั่นและสไตล์ ซึ่งปกติแล้ววงจรชีวิตของสินค้าที่ยืนยาวจะต้องผ่านการพัฒนา 3 ช่วง ช่วงแรก คือ การสร้างกระแส จากนั้นพัฒนาสู่ความเป็นแฟชั่น และจากแฟชั่นพัฒนาไปสู่การสร้างสไตล์ ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าจะมีช่วงอายุยืนยาวมาก

ปีเตอร์ ยกตัวอย่าง สินค้าที่สามารถบริหารจัดการจนกลายเป็นสไตล์ได้ แบนด์ซุปไก่ โค้ก  สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ตลอด

หรือกรณีเสื้อยืดสีเหลือง ที่เคยมีการผลิตออกมาเพื่อฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ยังไม่ได้เป็นกระแส จนกระทั่งเมื่อมีคน 5 แสนคนพร้อมใจกันใส่เสื้อเหลือง จึงกลายเป็นกระแสจนสินค้าเกิดขาดตลาด จึงมีการออกแบบเสื้อเหลืองออกเป็นแฟชั่น และมีการตกลงใส่เสื้อเหลืองทุกวันจันทร์ ทำให้กระแสการสวมใส่เสื้อเหลืองถูกยืดออกไปเรื่อยๆ ไม่ตกไป

“สำหรับ กังนัม ยังไม่ถึงกับเป็นแฟชั่น แต่เป็นกระแสที่ยังกระพือไปได้เรื่อยๆ เพราะการแพร่กระจายนั้นสูงมาก ไปได้ทั่วโลก”

แรงกระเพื่อมของกระแสกังนัมสไตล์นอกจากตัวของไซเองแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ อย่าง สาวๆ ที่ปรากฏในมิวสิกวิดีโอที่ปีเตอร์เชื่อโดยส่วนตัวว่า รัฐบาลเกาหลีมีส่วนร่วมในการผลักดันปรากฏการณ์กังนัมให้แพร่กระจายไปทั่วโลก สังเกตได้จากการที่ “ไซ” ได้ไปปรากฏตัวในช่องข่าว “ซีเอ็นเอ็น” เป็นระยะ  ซึ่งซีเอ็นเอ็นเป็นเครื่องมือสื่อสารชั้นดีที่ช่วยกระแสของไซถูกแพร่กระจายต่อเนื่องไปทั่วโลก

แต่การจะร่วมมือกับซีเอ็นเอ็นในลักษณะนี้ได้ รวมถึงเหตุการณ์ “ไซ” ไปพบกับ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ ต้องเป็นความร่วมมือในระดับรัฐบาล   

“ตัวไซเองกับรัฐบาลเกาหลีที่หนุนหลัง เมื่อบวกกับการทำประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ส่งผลให้ ไซ กลายเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของการส่งออกวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีไปทั่วโลก เหมือนอย่างที่ซีรี่ส์ แดจังกึม เคยสร้างให้วัฒนธรรมการกินอาหารของเกาหลีเผยแพร่ไปได้ทั่วโลกมาแล้ว” 

 

“กวน ง่าย สนุก” ฮิตทั่วโลก

จะว่าไปแล้ว “ไซ” ก็ไม่ใช่นักร้องเกาหลีคนแรกที่สร้างความดัง ก่อนหน้านี้วงดนตรีเกิร์ลแก๊งค์ อย่าง “วันเดอร์เกิร์ล” ก็สามารถแนะนำตัวให้คนทั่วโลกได้รู้จักมาแล้ว แต่ไม่ได้โด่งดังเท่ากับกรณีของกังนัม ที่สามารคิดท่าเต้น “กวน ง่าย สนุก” ที่มีความโดดเด่นสูงมาก และง่ายที่ใครจะลุกขึ้นมาทำตาม แม้กระทั่งทหารเรือของสหรัฐอเมริกา ลุกขึ้นมาเต้นตามและเผยแพร่ออกไปทั่วโลก  

 

เออีซี-ครีเอทีฟ อีโคโนมี-กังนัม เรื่องเดียวกัน 

ปีเตอร์ มองว่า กรณีของกังนัมสามารถสะท้อนภาพการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน หรือ AEC และเรื่องของการสร้างเศรษฐศาสตร์สร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ซึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงถึงกัน และต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างลงตัว 

กรณีของ AEC คือ การสร้าง 3 เสา เสาแรก คือ การที่กลุ่มประเทศอาเชียนต้องสร้างความมั่นคงร่วมกัน ด้วยการวางกฎระเบียบ กติกา ร่วมกัน 

เสาที่สอง เป็นเรื่องของวัฒนธรรม หรือการสร้างคุณค่า และเสาที่สาม เรื่องของเศรษฐกิจโดยใช้การบริหารจัดการร่วมกัน   

เมื่อนำ 3 เสา AEC มาคิดและวิเคราะห์รวมกัน ผนวกเข้ากับทฤษฎี สามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาค (Macro) และจุลภาค (Micro) ดังเช่นกรณีของกังนัมสไตล์ ที่เป็นการสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน 

“ในกรณีของกังนัมนั้นมาจากทฤษฎีการสื่อสาร คือ การใช้เครื่องมือการสื่อสารอย่างลงตัว จนส่งผลให้การสร้างแวลลูเชน (Value Chain)ของกังนัมสูงขึ้น สามารถทำรายได้ให้กับไซและรัฐบาล เอาแค่การเอากังนัมไปสร้างคาแร็กเตอร์ LINE ขายได้กี่พันล้านทั่วโลก (บริษัท NHN คอร์ปอเรชั่น ประเทศเกาหลี เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นไลน์)อีกไม่นานก็จะมี ตุ๊กตาตามออกมา ไหนจะคอนเสิร์ต มีเรื่องของสปอนเซอร์อีก ซึ่งทำรายได้มหาศาล และรายได้นี้ก็มีส่วนในการขบเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจของเกาหลีให้เติบโตตามไปด้วย”

เขามองว่า น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริงของ AEC ซึ่งไปตรงกับ 3 เสาของ Creative Economy โดยมีแกนกลาง คือ  Science  Creativity หรือความรู้และกฎระเบียบต่างๆ ที่สร้างนวัตกรรมขึ้นมา เช่น การสร้างคุณค่าและวัฒนธรรม  และสาม การสร้างความมั่นคงร่วมกัน ด้วยการวางกฎระเบียบ กติการ่วมกัน 

“แต่สิ่งครีเอทีฟ อีโคโนมี มีเพิ่มเติม คือ เทคโนโลยี ครีเอทิวิตี้ หรืออินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี หรือ ถังขององค์ความรู้ เกาหลีเด็ดกว่าเราตรงนี้ เกาหลีเก็บรวบรวมความรู้ทุกอย่างสร้างให้เป็น Information และนำมาใช้ต่อเนื่อง อย่างกรณีของแดจังกึม มาจากกรรมวิธีในการจัดการใช้และจัดความรู้ นำมาต่อยอด เช่นเดียวกับ วันเดอร์เกิร์ล และต่อเนื่องมาถึง กังนัม เป็นเรื่องของเก็บรวบรวมองค์ความรู้และขยายความองค์ความรู้ ผ่านการใช้เครื่องมือสื่อสารแบบครบวงจร หรือ IMC 

เป็นกรณีศึกษาที่คนไทยต้องรู้จัก เรียนรู้ และสังเคราะห์ เพื่อนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจ ทั้งวงการเพลง ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ หรือแม้แต่การนำประเทศก้าวเข้าสู่ AEC หรือ Creative Economy 

เขายกกรณีของวงการดนตรี ไม่ควรคิดแต่เรื่องเศรษฐกิจหรือหารายได้อย่างเดียว โดยลืมมองเรื่องของการมูลค่าเพิ่ม (Value)และเข้าใจกฎระเบียบของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นกรณีวงการเพลง ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล  ส่งผลต่อมุมมอง แนวคิด และวิธีการจัดธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

 

ยุคนี้ “ยิ่งแชร์ ลูกค้ายิ่งรัก”

การสร้างรายได้ในยุคอนาล็อก คือการหารายได้จากผลงานที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียว ไม่ไว่าจะทำซ้ำยังไงก็ไม่เหมือน ฉะนั้นความร่ำรวยในยุคอนาล็อก คือ การที่สามารถเก็บไว้ชิ้นเดียวได้แล้ว เป็นเจ้าของผู้เดียวก็จะร่ำรวยมหาศาล 

แต่ในยุคดิจิตอล เป็นยุคของการทำซ้ำ เป็นยุคของแชร์ริ่ง จะไปปิดกั้นหรือครอบครองผลงานไว้คนเดียว ยุคนี้ผลงานยิ่งถูกแพร่กระจายมากเท่าไหร่ “ยิ่งแชร์มากเท่าไหร่ ทำให้คนรักมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรวยมากเท่านั้น”  

“ในยุคดิจิตอล เราต้องเปิดให้เขาใช้ มีการวางกติกาที่เข้าใจได้ และเปิดให้ทุกคนช่วยแพร่กระจายผลงานของเรา เวลานี้ใครๆ ก็มีโอกาสดังได้ใน Youtube แต่เราไปบี้เขา ยังคิดแบบอนาล็อก เพราะแบบนี้สรยุทธ (สุทัศนะจินดา)ถึงได้ร่ำรวย เพราะเราไปยึดคนคนเดียว เป็นความคิดแบบอนาล็อก”

ใน Youtube เอง ก็มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเพลงที่มีคนดู ยิ่งดูมากก็ยิ่งมีรายได้ ดูอย่างกรณีของกังนัม สำเร็จได้เพราะวิธีคิดและการจัดการแบบดิจิตอล และไม่ใช่ทุกคนจะสำเร็จ ก่อนหน้านี้ไซทำมาเท่าไหร่แล้ว พอมาถึงอัลบั้มกังนัม เขาเปิดให้คนแชร์มากที่สุด ให้คนเขารักและจดจำเขาให้ได้มากที่สุด เพราะมันจะเป็นรากฐานในการต่อยอดหารายได้จากการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ที่ตามมา คอนเสิร์ต การขายคาแร็กเตอร์ เป็นปรัชญาของการหารายได้จากดนตรี ที่ต้องทำให้คนเขารักกัน เมื่อเขารักกัน เขาจะซื้อสินค้าของเราเอง 

เขายกตัวอย่าง กรณีของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แพง ก็มาจากวิธีคิดที่ต้องการเก็บลิขสิทธิ์ไว้คนเดียว เพื่อขายไปสู่คนจำนวนน้อยๆ ไม่สอดคล้องกับวิถีของโลกยุคใหม่ที่เป็นโลกไร้พรมแดน ซึ่งหมดยุคของการครอบครองลิขสิทธิ์ และจำกัดจำนวนผู้ใช้จะถูกลดบทบาทลง   

 

ระเบิดนิวเคลียร์ลูกเดียวคุ้ม 

ส่วนกังนัมจะต่อยอดหรือการสร้างแรงฮิตได้เหมือนกับที่เคยทำได้จากอัลบั้มแรกหรือไม่ ปีเตอร์มองว่า ความดังของกังนัมไม่ต่างจากระเบิดนิวเคลียร์ที่แพร่กระจายไปได้มหาศาล และเป็นเรื่องยากมาก ที่สำคัญบางครั้งยุคดิจิตอลการมีระเบิดนิวเคลียร์ลูกเดียวก็ได้ผลเกินคุ้ม ไม่จำเป็นต้องมีลูกที่สองแล้วก็ได้ 

 

เพลงไทยก็ทำได้ 

ปีเตอร์เชื่อว่า กรณีศิลปินไทยก็มีโอกาสแจ้งเกิดได้ในลักษณะเดียวกับกังนัม เช่น เพลงสกาวาไรตี้ ของปีเตอร์ โฟดิฟาย หรือ จ๊ะคันหู มีโอกาสเป็นกระแสดังไปทั่วโลกได้ แต่ต้องร่วมกันเอามาปรับให้เหมาะสม สร้างให้เป็นอัตลักษณ์ ไม่ควรด่าอย่างเดียว หรือคิดแต่จะขายอย่างเดียว 

ที่สำคัญต้องรักจริงและทำจริงจัง ชนิดที่ต้องกัดไม่ปล่อย แม้แต่ “ไซ” เองก็ไม่ได้ดังชั่วข้ามคืน แต่ผ่านความผิดพลาดล้มเหลวมาแล้ว แต่เพราะความรัก ความหลงใหล (Passion)ดังนั้นไม่ควรทำแค่ตามแฟชั่น แต่ต้องมีความหลงใหล จึงจะสร้างความสำเร็จได้  

ที่สำคัญ กรณีของกังนัมเป็นเรื่องของการใช้ทั้งศาสตร์การจัดการ การตลาด การพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่มีอยู่ รวมถึงการจัดวางโครงสร้างของสาธารณูปโภค เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เช่น เลือกขยายบรอดแบนด์ หรือเครือข่ายมือถือ 4จี ซึ่งรองรับการใช้งานที่เป็น “อินเทอร์แอคทีฟ” และหลอมรวม (Convergence) ระหว่างอุตสาหกรรมดนตรี ภาพยนตร์ และผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด โดยรัฐบาลเป็นตัวกลางประสานงานกับทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับในประเทศเกาหลีที่ทำสำเร็จมาแล้ว 

“ในเกาหลี หนัง เพลง อื่นๆ รวมตัวกันเป็นก้อนเดียว และดันให้เกิดแวลูสูงสุดให้กับประเทศ รัฐบาลเกาหลีเป็นคนจัดการ ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมในแต่ละส่วน มีงบประมาณ มีการจัดระเบียบ มีการหลอมรวมระหว่างหน่วยงานต่างๆ จนเกาหลีเขานำหน้าไปแล้ว” 

แนวคิดนี้ยังเป็นการรองรับกับการเคลื่อนย้ายของระบบเศรษฐกิจของโลก จากสหรัฐอเมริกาไปยังกลุ่มประเทศยุโรป และได้ย้ายจากยุโรปมาที่เอเซีย และมีการคาดหมายว่า ภายในปี 2025 จีนจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ ด้วยขนาดของจำนวนประชากรที่มากที่สุด นั่นหมายความว่า ประเทศที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือประเทศที่รู้จักการหาผลกำไรสูงสุดจากอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

ทั้งหมดนี้ ต้องใช้เรื่องของการตลาด การจัดการ มันเป็นศาสตร์การจัดการ การตลาด และการพัฒนา และศาสตร์ทรานฟอเชั่น จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำอยู่เปลี่ยนแปลงไปได้ “ถ้าเรายังกั๊กตัวเองอยู่แบบนี้ ไม่รู้จักคำว่า “แชร์” เราจะไปต่อได้อย่างไร” 

 

เกี่ยวกับปีเตอร์ กัน

ปัจจุบัน ปีเตอร์ กัน เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย 4  แห่ง บรรยายพิเศษให้กับมหาวิทยาลัย 12 แห่ง และเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรธุรกิจ 6 แห่ง  เคยมีประสบการณ์บริหารจัดการ และงานด้านการตลาดในโซนี่มิวสิค 16 ปี เคยทำงานอยู่แมคโดนัลด์ ประเทศไทย 3 ปี และนั่งเก้าอี้บริหารให้กับกลุ่มสามารถ คอร์ปอเรชั่น ทำเรื่องดิจิตอล ดาวน์โหลด และดาวเทียม ก่อนจะมาทำเรื่อง Logistic    

]]>
55892
เทรนด์เอเชีย กำลังมา https://positioningmag.com/55893 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55893

 

วฤตดา วรอาคม ประธานเจ้านหน้าที่บริหารด้านนวัตกรรม (ซีไอโอ) แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวถึงปรากฏการณ์กังนัมสไตล์ว่าเป็นผลมาจากยุคทองของเอเชีย เป็น 1 แนวโน้มหลักในการตลาดปัจจุบัน ที่ทำให้ฝรั่งหันมามองเอเชียในมุมที่แปลกออกไป “กังนัมสไตล์มีความแปลกแบบเอเชีย แล้วเวลาที่เอาไป Interpret ในภาษาต่างๆ ก็จะถูกเอาไอเดียหรือวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ผสมเข้าไปในแบบแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ถือว่ามันเป็นสิ่งที่แปลก และมีความหมายที่ถูกต่อเติมออกไป” 

นอกจากกังนัมสไตล์แล้ว สตาร์ที่เกิดจากฝั่งเอเชียก็มีทั้ง K-Pop คนอื่นๆ นางแบบ ดารา หรือนักกีฬาอย่าง เจเรมี่ หลิน ก็เป็นที่จับตามองในตลาดโลก อีกทั้งส่วนผสมเช่นสมุนไพร หรือครีมที่มีส่วนผสมตามตำรับเอเชียก็จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงของโลก เพราะว่าตลาดจีนและอินเดีย เป็นตลาดใหญ่ที่กำลังเติบโต กระแสของสินค้าก็จะมาตอบโจทย์ตลาดเหล่านี้ 

 

]]>
55893
ดังได้ด้วยความต่าง สร้าง Blue ocean ระดับโลก https://positioningmag.com/55894 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55894

สำหรับ รณพงศ์ คำนวณทิพย์ แห่งยูนิเวอร์แซลมิวสิค ประเทศไทย มองปรากฏการณ์กังนัมว่า เป็นเรื่องของ “เก่งบวกเฮง” ตัวของ “ไซ” มีความเก่ง เป็นศิลปินมานาน 10 ปี ออกอัลบั้มเพลงมาแล้ว 5 อัลบั้ม ทุกอัลบั้มล้วนแต่ดังระเบิดในเกาหลี แต่ยังไม่ถึงขั้นไปดังต่างประเทศ 

ขณะที่ “โชค” ของไซ คือ ความแปลกใหม่ ที่สร้างความแตกต่าง ฝ่าวงล้อมของบรรดา “เคป๊อป” หล่อล่ำ ที่เคยครองตลาดมานานจนกลายเป็นความจำเจ เมื่อผู้บริโภคเห็นอะไรแปลกใหม่ก็เลยเปิดรับ ด้วยเนื้อเพลงบวกกับท่าเต้นอันแปลกประหลาด ที่ดูน่าน่ารักปนตลกขบขันกระตุ้นให้คนรู้สึกอยากเต้นตาม และด้วยความแตกต่างนี้เอง จนมีคนนำไปล้อเลียน ทำให้คลิปของไซที่เผยแพร่บน Youtube ดังระเบิดมีคนกดดูมากที่สุด 

ถ้าเป็นกรณีศึกษาการตลาด เข้าข่ายกรณีการสร้างน่านน้ำสีคราม หรือ “Blue Ocean” โดยสามารถสร้างความแตกต่างไปในตลาดที่คู่แข่งน้อย อย่างในตลาดเพลงที่เน้นการเต้นออกแนวตลก  ซึ่งกรณีของ ไซ อาจไปคล้ายกับในต่าง LMFAO วงคู่หูอาหลาน ที่เคยโด่งดังติดอันดับของยูทูบมาแล้ว จนถึงกับมีคนตั้งข้องสังเกต หรือว่าไซอาจไปก๊อบปี้เขามา

แต่ต้องยอมรับว่า ในตลาดนี้คู่แข่งน้อยมาก แม้แอลเอ็มเอฟเอโอดังมาก่อน 1 ปีแต่ก็เป็นฝรั่ง นักร้องเอเชียนอย่างไซที่ไปสร้างความดังขนาดนี้ได้ ไม่เคยมีมาก่อน   

นอกจากความดังของไซบนเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว การที่ต้นสังกัดของไซได้เซ็นสัญญากับยูนิเวอร์แซลมิวสิค ก็เป็นเสมือน “จุดระเบิด” ส่งต่อให้ “ไซ” ก้าวไปโด่งดังในต่างประเทศ ผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย และเครือข่ายการตลาดของยูนิเวอร์แซลที่มีอยู่ทั่วโลก  ทั้งการออกรายการทีวี ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตดังตามประเทศต่างๆ  จนทำให้อัลบั้มกังนัมสไตล์ขึ้นชาร์ตเพลงฮิตติดอันดับ 1 ใน 43 ประเทศ ในเวลาอันรวดเร็ว 

“แม้แต่ประเทศยุโรปตะวันออกที่เราเองไม่คาดคิดมาก่อน ไซก็ยังไปสร้างความดังได้ ก็ด้วยความที่ยูนิเวอร์แซลมีเครือข่ายสาขาอยู่ในหลายประเทศ และมีคอนเนกชั่นแข็งแรง มีช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค อย่างที่ไซไปรายการแซทเตอรเดย์ไนท์ไลฟ์ ไปจัดคอนเสิร์ตที่ออสเตรเลีย มาจากยูนิเวอร์แซลเป็นคนผลักดันทั้งสิ้น เมื่อบวกกับความดังของไซเอง ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ไซดังขึ้นไปอีก ง่ายมากสำหรับเขา ที่จะไปที่ไหนก็ได้ในโลก 

ที่สำคัญ คือ การต่อยอดในเรื่องของการหารายได้ เพราะแม้ว่า “ไซ” จะดังระเบิดมาจาก “Youtube“ แล้วก็ตาม ดังอย่างเดียวแต่ไม่มีรายได้ หากไม่มียูนิเวอร์แซลมาช่วยในการสร้างรายได้ ทั้งการขายซีดี ดาวน์โหลด การขึ้นโชว์บนเวทีคอนเสิร์ต ซึ่งลิขสิทธิ์เหล่านี้ถูกจัดเก็บผ่านระบบ mp4 ของยูนิเวอร์แซลที่กระจายอยู่ทั่วโลก สามารถจัดเก็บลิขสิทธิ์อย่างเป็นกอบเป็นกำ 

อย่างไรก็ตาม รณพงศ์ มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดของปรากฏการณ์ไซ คือไอเดียที่สร้างความแตกต่างและโดนใจตลาด ใครก็มีโอกาสทำได้ ไม่ใช่แค่เกาหลี แม้แต่ไทยก็ตาม ก็มีโอกาสจะโด่งดังเหมือนไซได้ และทำให้เพลงไทยกลายเป็นสากลได้เหมือนอย่างที่ไซทำมาแล้วกับเพลงกังนัม ที่เนื้อเพลงเกาหลี แต่ภาษากลับไม่ได้เป็นอุปสรรค เมื่อแนวดนตรีบวกกับท่าเต้นโดนใจ ทำให้ทุกเพลงไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไรก็มีโอกาสดังได้ 

]]>
55894
ดังเพราะ Think out of Box https://positioningmag.com/55895 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55895

“ตัววิดีโอมัน Unique มากๆ ดูวิธีการที่เล่นซิ จากเดิมที่ K-Pop มันจะต้องเป็นอะไรที่เป๊ะๆ กังนัมสไตล์เขาทำในสิ่งใหม่ ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่มีอยู่เดิมๆ แล้วทำแบบสุดๆ ไปเลย” โอม-อดิลฟิตรี ประพฤติสุจริต กรรมการผู้จัดการ บ.อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ จำกัด อธิบายถึงความโด่งดังของกังนัมสไตล์ เขายังแสดงความเห็นต่ออีกว่า เป็นธรรมชาติของสื่อที่มีความเป็น Main Stream มากๆ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดทางเลือก เหมือนที่คนเห็นหนุ่มหล่อสาวสวยของวงการเพลงเกาหลีมาเยอะ จนกระทั่งมาเจอความฮาและแปลกของ PSY เข้าไป ก็โดนใจคนแล้วแจ้งเกิดได้ทันที แต่นี่คือบทเรียนที่นักการตลาดที่สนใจสื่อออนไลน์ต้องเรียนรู้ “ของแบบนี้ใช้ได้ครั้งเดียว ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ทุกครั้ง คอนเทนต์ที่เกิดขึ้นแบบ Happening อย่างเช่น คลิปเสียใจแต่ไม่แคร์ ของไทย ก็เกิดจากความไม่ตั้งใจ นักการตลาดต้อง Think out of Box แต่ความกลัวทำให้นักการตลาดคิดแต่วิธีเทรดดิชันนัลแบบเดิมๆ ในขณะที่สื่อออนไลน์แข่งขันกันสูงและมีการวัดผลที่ชัดเจนมาก”

]]>
55895
"ต้อง" ให้ถึง ทำให้สุด https://positioningmag.com/55896 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55896

เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้เขียนบทไฟแรงจากค่ายจีทีเอช พูดถึงความฮิตของกังนัมสไตล์เอาไว้ว่า “ผมคิดว่ามันเจ๋ง ตรงที่กระแส K-Pop กำลังอยู่ในช่วงขาลง จากที่เคยพุ่งสูงสุดจากพวกเกิร์ล กรุ๊ป, บอยแบนด์ทั้งหลาย แต่กังนัมเอาความปัญญาอ่อนมานำ เอาวัฒนธรรมสายรองมาเป็นจุดขาย ถ้าเป็นหนังก็คงเหมือนกับที่หนังตลกมักไม่ได้ออสการ์ แต่ถ้าเรามองด้านการส่งออกวัฒนธรรม เราไม่เคยคิดเลยว่าวัฒนธรรมแบบนี้มันจะขายได้ ทั้งๆ ที่ความจริง ความตลกมันมีความเป็นสากลนะ แล้วมันก็ทำให้กระแส K-Pop กลับมาได้อีกรอบ ขณะที่ถ้าเป็นคนไทยเราก็จะคิดถึงแต่อะไรที่มันแกรนด์ๆ ยิ่งใหญ่ เต้นเป๊ะๆ สไตล์อเมริกัน”

“เพลงนี้แต่งขึ้นมาจังหวะมัน Catchy มากๆ ฟังแล้วติดหูไว เป็นเพลงแดนซ์ที่เปิดช่องให้เอาไปทำอะไรได้อีกเยอะ เอาไปล้อเลียน เอาไปรีมิกซ์ เอาไปคัฟเวอร์ใหม่ แต่เพลงแบบนี้มาแป๊บเดียว เดี๋ยวก็ไป ไม่น่าจะอยู่ได้นาน”

ส่วนพฤติกรรมคนไทยที่เปิดรับเพลงนี้ได้รวดเร็วแล้วแพร่หลาย ก็มาจากการที่เพลงไทยชอบเพลงแดนซ์ เพลงสนุกอยู่แล้ว เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยฮิต “โซ-เด-มา-คอม” หรือ “อา-เซ-เด-เฮ” กันทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งๆ ที่คนไทยฟังไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่าเพลงร้องว่าอย่างไร แปลว่าอะไร ขอแค่ฟังแล้วฮาก็พอ เพียงแต่ในยุคนั้นยังไม่มีโซเชี่ยลมีเดีย หรือยูทูบเป็นตัวเร่งความแรงของเพลงเหล่านี้

และในฐานะที่ เต๋อ-นวพล เองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานสร้างสรรค์ความบันเทิง กังนัมสไตล์ ได้กลายเป็นตัวอย่างของการทำงานเช่นกัน “เรื่องกระบวนการตลาดผมไม่รู้ว่าทำยังไง ต้นสังกัดอาจจะวางแผนเรื่องสื่อมาเป็นอย่างดี แต่ถ้าวัดแค่ตัวงาน ผมว่าสิ่งที่เรียนรู้คือชิ้นงานมันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องทำให้มันถึงที่สุด อย่างมิวสิกวิดีโอกังนัม มันเป็นความต๊องที่มาบน Hight Production มากๆ คนเต้นใส่สูท ทีมเต้นก็ปึ๊ก แดนซ์มีระดับ ลุคทั้งหมดมันดูดีเข้ากันไปหมด ไม่อย่างงั้นถ้าโปรดักชั่นห่วย มันจะกลายเต้นรายงานหน้าชั้นเรียนไปเลย ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นการจับคู่ถูก”

]]>
55896
นักการตลาดต้องมองหาโอกาสจากปรากฏการณ์ https://positioningmag.com/55897 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55897

หลายคนพูดถึงกระแสกังนัมสไตล์โดยตรง แต่สิ่งที่ สิทธิโชค นพชินบุตร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กระตุ้นให้นักการตลาดคนอื่นคิดต่อยอดจากความโด่งดังลักษณะนี้ต่อไปอีกชั้นหนึ่ง “ตอนที่กังนัมสไตล์ดัง เสิร์ชคลิปวิดีโอในกูเกิลยังไงก็เจอ ผมลองเสิร์ชคำว่า Gangnum Style’s Shirt ดู ปรากกฏว่าคำนี้ ก็กลายเป็นคำที่มีคนค้นหาเยอะเหมือนกัน แล้วก็มีคนที่เขาไวมากๆ เปิดขายเสื้อที่เราเห็นกันในคลิปวิดีโอ ว่าใครอยากได้เสื้อแบบนี้ก็สั่งซื้อออนไลน์ได้เลย นี่คือการที่เอาเรื่องรอบๆ ตัวมาสร้างเป็นสินค้าอิงกับกระแส”

]]>
55897
เรียนรู้ใช้ประโยชน์จากโซเชียล เน็ทเวิร์ค https://positioningmag.com/55898 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55898

 

ในขณะที่มุมมองของ ป๊อก-ทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังษี นักแต่งเพลง เจ้าของนามปากกา “แจ็ครัสเซล และเป็นเจ้าของค่ายเพลง “คลาสซี่ เรคคอร์ด” ที่เคยปั้น นิว-ปทิตตา อัธยาตมวิทยา กับอัลบั้ม  “ความรัก ปากกากีตาร์โปร่ง (Love In The Light Lines)” เผยแพร่แต่ในยูทิบอย่างเดียว มีคนดู 2 ล้านวิว และยังไปติดอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงที่ประเทศไต้หวันมาแล้ว 

เขามองว่า กรณีของ ไซ ให้แง่มุมในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเป็นเครื่องมือพีอาร์ราคาถูก และอยู่กับตัวใช้ได้ตลอด มาใช้โปรโมตเพลง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางตลาด หรือประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมๆ 

“ศิลปินทุกวันนี้ ห้ามละทิ้งโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ยุคนี้คุณต้องหัดใช้ และต้องใช้อย่างธรรมชาติ เนียนๆ ไม่ใช่เอาไว้ถ่ายภาพอย่างเดียวไม่มีประโยชน์  โลกทุกวันนี้เปลี่ยนตลอด  24 ชั่วโมง เราต้องมัดใจเขาให้ได้ ทุกครั้งที่เราลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม 1 ครั้ง จะมีคนซื้อซีดีของเราอย่างน้อย 1 คน 

ส่วนสาเหตุที่ไซดังมาได้ เพราะ ไอเดียและความกล้าทำสิ่งในใหม่ๆ ที่คนอื่นไม่ทำ หรือไม่เคยทำ จึงไม่สามารถสร้างความดังในระดับที่เป็น “ปรากฏการณ์” ได้  ดังนั้นเมื่อกังนัมดังไปแล้ว ก็ไม่ควรตามหรือเลียนแบบอีก เพราะถึงจะดังแต่ก็ไม่สามารถเป็น “ปรากฏการณ์” ได้อีก 

“สิ่งที่เราควรทำ คือ กังนัมเป็นกรณีศึกษาดูว่า ทำไมเขาถึงดังได้ มาหาสาเหตุ ไม่ใช่พอ กังนัมดัง ก็ออกอัลบั้มเลียนแบบ ไปทำตามเขา ซึ่งผมไม่ค่อยสนับสนุน

เขาเชื่อว่า การจะทำให้โด่งดังเหมือนกับกังนัมได้ ต้องหา “จุดเด่น” ให้เจอ หลังจากกังนัมดัง มีศิลปินที่อยากดัง และทำตามอย่างกังนัมมานำเสนอผลงานเยอะมาก โดยไม่คิดสร้างสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมา หรือทำให้ดีกว่า โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างกังนัมจึงเป็นเรื่องยาก 

แต่แจ็คยอมรับว่า เขาก็ยังอดคิดฝันไม่ได้ว่าศิลปินของไทยจะโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยแนวเพลงและเนื้อเพลงไทย ขยายฐานแฟนเพลงต่างชาติได้เหมือนอย่างที่ไซทำมาแล้ว หากทำได้จะเป็นเรื่องดี ส่วนจะได้รับผลตอบรับอย่างอื่น ถือว่าเป็น “โบนัส” 

]]>
55898
โซเชี่ยล มีเดียดันเพลงไปไกลกว่าที่เคย https://positioningmag.com/55899 Fri, 15 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55899

ในความคิดเห็นของดีเจ พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายธุรกิจสื่อ) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) มองว่า กังนัมสไตล์เป็นความลงตัวของช่วงเวลาและสื่อ ส่วนเพลงก็น่าจะดังแค่เวลาเดียว ไม่ถึงขนาดขึ้นหิ้งเป็นเพลงระดับตำนานในแง่ของศิลปะ “มันเป็นเรื่องของโลกสมัยนี้ มีความเป็น Happening ที่ลงตัวกันถูกที่ถูกเวลาพอดีเป๊ะ แล้วก็เกิดได้ ถามว่าเก่งมากไหม เพราะมากไหม ก็อาจจะไม่ใช่ มันเป็นความลงตัวพอดี แล้วโลกยุคปัจจุบันเอื้อกับการเกิดอีเวนต์แบบนี้ หมายถึงการใช้โซเชี่ยลมีดีย พฤติกรรมการส่งต่อกัน ถ้าสมัยก่อนก็คงเป็นแผ่นเสียงแผ่นหนึ่งที่ถูกส่งมาที่วิทยุ แล้วก็ดังไปตามธรรมชาติ แต่ไม่ดังขนาดนี้ เพลงอย่างกังนัมสไตล์ แบบนี้เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป”

]]>
55899
Gangnam Style เพลงยิ่งกว่าเพลง ฮิตยิ่งกว่าฮิต https://positioningmag.com/55871 Thu, 14 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55871

 

“แม้ว่าเธอจะดูเรียบร้อย แต่เมื่อถึงเวลาต้องสนุก เธอจะสุดๆ กับมัน

แม้ว่าจะสวมชุดที่ปกปิดมิดชิด แต่เธอยิ่งดูเซ็กซี่กว่าตอนใส่ชุดที่วาบหวิว

เธอก็เป็นผู้หญิงแบบนั้นนั่นแหละ

 

ส่วนผมก็คือผู้ชายคนนึง

ผู้ชายที่ดูสุภาพ แต่พอถึงเวลาสนุก ผมก็จะมันส์เต็มที่เหมือนกัน

เป็นผู้ชายที่บ้าคลั่ง แบบสุดๆ เมื่อถึงเวลา

สนใจกับเรื่องพุง มากกว่าสนใจเรื่องกล้าม

ผมก็เป็นผู้ชายแบบนั้นนั่นแหละ”

 

เนื้อเพลงดังกล่าว เป็นคำแปลในท่อนหนึ่งของเพลง Gangnam Style ที่หลายคนรู้จักกันดี กับการเสียดเสียชีวิตของผู้คนในย่านสังคมชั้นสูงของเกาหลี เป็นงานที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยยกให้เป็น “เพลงแห่งปี 2012” ของวงการดนตรีโลก กับระยะเวลาไม่กี่เดือน ด้วยพลังของสื่อยุคอินเทอร์เน็ต ที่สร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนให้ “ไซ” (PSY) เจ้าของเพลงจากศิลปินระดับประเทศของเกาหลีใต้ เป็นคนดังระดับโลกโดยทันที

เพลงเพียงเพลงเดียว ที่ร้องเป็นภาษาเกาหลี กับท่วงทำนองสนุกสนาน และท่าเต้นที่สามารถขยับแขนขาตามทันทีตั้งแต่เห็นครั้งแรก สื่อสารกับผู้คนด้วยภาพและเสียง เอาชนะก้าวข้ามกำแพงภาษาได้สำเร็จ แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้น กระแสความสำเร็จของเพลงจากศิลปินระดับโนเนมในระดับโลก ได้สะท้อนภาพต่างๆ ให้เห็นกันหลายมิติ ทั้งเส้นทางของอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ตลอดจนความเป็นไปของวัฒนธรรมการฟังเพลงในยุคปัจจุบัน

 

“ไซ” K-Pop นอกคอก

“ไซ” หรือ “ปาร์คแจซัง” ไม่ใช่ศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งจะมีผลงานเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในประเทศบ้านเกิด ที่เขามีชื่อเสียงโด่งดังมาร่วม 10 ปีแล้ว มีเพลงฮิตในหมู่ชาวเกาหลีใต้มาแล้วไม่น้อย … เป็นหนุ่มร่างท้วม ขี้โวยวาย ติดจะเถื่อนๆ เรียกว่าห่างไกลจาก “อุดมคติ” แบบผู้ชายเกาหลีโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนุ่มเค ป๊อป หน้าใส กล้ามใหญ่ ที่มีแฟนคลับกรี๊ดทั่วเมือง ไซ  ไม่ใกล้เคียงแม้แต่น้อย 

หนุ่มวัย 34 ปี ชาวกรุงโซลโดยกำเนิด เติบโตขึ้นมาในตระกูลมั่งมี ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ค่อนข้างมีอันจะกิน คงจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า ไซ น่าจะใช้ชีวิตอยู่ในย่าน กังนัม มีวิถีชีวิตแบบ “กังนัมสไตล์” ที่เป็นศูนย์รวมของบรรดาคนร่ำรวยในเกาหลีใต้ ที่เขาล้อเลียนอยู่มาไม่น้อย 

แต่สิ่งที่โดดเด่นยิ่งกว่ากลับเป็นประวัติด้านการศึกษาของเขา หลังเรียนจบในระดับมัธยมต้นที่เกาหลี ไซ ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศกับสถาบันดังอย่าง มหาวิทยาลัยบอสตัน ก่อนจะไปเรียนต่อด้านการดนตรีที่ วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลีย์ อันโด่งดัง เมื่อเดินทางกลับมาบ้านเกิด ก็เริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีทันที

ในปี 2001 ไซ ออกอัลบั้มเต็มชุดแรก Psycho World! นอกจากจะสามารถสร้างชื่อได้อย่างน่าพอใจแล้ว งานเพลงของเขาก็ยังได้รับความสนใจจากภาครัฐเป็นพิเศษ ถึงขั้นสั่งแบนเพลงของ ไซ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่แทนที่จะเข็ดหลาบนับจากวันนั้นความสุดโต่งดูจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินหนุ่มผู้นี้ไปโดยปริยาย เขามักจะปรากฏตัวพร้อมกับเพลงแนวฮิปฮอปอันเร่าร้อน มีเนื้อเรื่องที่หยาบโลน และท่าเต้นอันรุนแรง ผสมกับการแต่งตัวแบบแปลกประหลาดชนิดที่คงไม่สามารถใส่ไปเดินตามถนนหนทางได้ ไซ จึงได้รับฉายาว่าเป็น “นักร้องประหลาด” ไปโดยปริยาย

ไซ มีเพลงฮิตติดอันดับ 1 ตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกเมื่อ 11 ปีก่อน และสามารถสานต่อความสำเร็จได้เรื่อยๆ ในเวลาเดียวกันเขาก็ถูกร้องเรียนบ่อยครั้ง ว่าแต่งเพลงที่มีเนื้อหาค่อนข้างจะล่อแหลม ว่าด้วยเรื่องราวทางเพศ และความรุนแรงอยู่เสมอ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเยาวชนของชาติได้ มีกระทั่งเพลงที่กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ก็เคยมาแล้ว งานเพลงชุด Ssa 2 ที่ออกจำหนายเมื่อปี 2002 แม้จะทำยอดขายได้อย่างมากมาย แต่ในเวลาเดียวกันก็โดนแบน ห้ามจำหน่ายสำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 19 ปี 

นอกจากเรื่องงานแล้ว ชีวิตส่วนตัวของ ไซ ก็มีประเด็นให้พูดถึงพอๆ กัน เขาเคยมีปัญหาเรื่องยาเสพติด โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในคดีกัญชา จนถูกปรับเงินมาแล้ว นอกจากนั้นการเกณฑ์ทหารก็ยังทำให้หนุ่มคนนี้ต้องพบกับเรื่องวุ่นวายเช่นเดียวกัน

ปัญหาในเรื่องการรับราชการทหารของ ไซ เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน หลังเขารับใช้ชาติตามกำหนด 2 ปี ระหว่าง 2003 – 2005 ไซ ได้ตัดสินใจเข้าพิธีวิวาห์กับแฟนสาวหลังปลดประจำการมาได้ 1 ปีเต็ม ด้วยข้อหาที่ว่าเขาไม่ได้ทำหน้าที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยระหว่างปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่เทคนิค เมื่อตอนเกณฑ์ทหาร จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ถึงขั้นที่ว่าเขาต้องตัดสินใจกลับไปเกณฑ์ทหารใหม่อีกครั้งในปี 2007 ถึงแม้ว่าตอนนี้ภรรยาได้ตั้งท้องลูกคนแรกแล้วก็ตาม ไซ ได้เปิดใจว่าความผิดพลาดในตอนนั้นเป็นบทเรียนที่สอนอะไรให้กับเขาหลายๆ อย่างเลยทีเดียว 

 

ปรากฏการณ์ Gangnam Style

หลังจากต้นสังกัดเดิมประสบกับปัญหาทางการเงินในปี 2010 ไซ ได้ย้ายมาอยู่กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ YG Entertainment ที่เขาเองก็สนิทสนมกับประธาน ยางฮยอนซอก แห่งค่าย YG อยู่แล้ว และได้เริ่มออกผลงานเพลงมาตั้งแต่ปลายปี 2010 ด้วยภาพที่แตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ ในวงการโดยสิ้นเชิง

ไซ ออกเพลงไปตามปกติจนในเดือน ส.ค. 2012 เขาปล่อยซิงเกิลใหม่ออกมา เป็นเพลงเต้นรำสนุกๆ ตามสไตล์ โดยไม่มีใครทราบมาก่อนว่าวงการเพลงโลกจะสั่นสะเทือนไปหมดด้วยเพลงดังกล่าว

Gangnam Style เป็นเพลงแรกจากอัลบั้มชุดที่ 6 PSY’s Best 6th Part 1 ของ PSY ซึ่งได้รับความนิยมในเกาหลีใต้โดยทันที หลังเริ่มเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ก็สามารถทะยานขึ้นไปสู่อันดับ 1 ของหลายๆ ชาร์ตเพลงฮิต นอกจากตัวเพลงแล้ว ความสำเร็จยังเกิดขึ้นด้วยมิวสิกวิดีโอ ที่ประกอบไปด้วยภาพของ PSY กับแดนเซอร์แบ็กอัพ ที่ออกลีลาท่าเต้นประจำเพลง เป็นท่าที่มีลักษณะคล้ายๆ กับการขี่ม้า กับฉากหลังในหลายๆ สถานที่ ทั้ง โรงจอดรถใต้ดิน, รถประจำทาง หรือไม่ก็ย่านริมน้ำ กับดาราดังมากมายที่มาร่วมเป็นแขกรับเชิญในมิวสิกวิดีโอ เป็นงานที่สร้างเสียหัวเราะให้กับทุกคนได้ แม้จะไม่ได้เข้าใจความหมายของเพลง หรือความหมายของแก๊กตลกต่างๆ เลยก็ตาม

แต่ความนิยมในตัวเพลง, มิวสิกวิดีโอ และท่าเต้นของ Gangnam Style กลับไปไกลกว่าที่ใครๆ จะคาดเดาได้ โดยเฉพาะคลิปใน Youtube ที่มียอดผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากชาวตะวันตก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยสนใจใน K-Pop มาก่อน กลายเป็นดาวเด่นแห่งวงการเพลงเกาหลี ในยุคที่อุตสาหกรรมถูกครอบงำ ด้วยศิลปินวัยรุ่นแนวไอดอล เป็นเพลงที่สามารถทำลายกำแพงภาษาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หลังจากเป็นกระแสในเน็ตอยู่พักใหญ่ Gangnam Style กลายเป็นที่สนใจของบรรดาคนดังในโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น ร็อบบี้ วิลเลียมส์, บริทนี่ย์ สเปียร์ส, เคที เพอร์รี, โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์, วิลเลียม กิบสัน จนไปถึง ทอม ครูซ ที่ต่างทวีตข้อความถึงเพลงอินเทรนต์นี้กันถ้วนหน้า จนสำนักข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CNN, BBC, Forbes นำไปตีข่าวต่อ ไซ จึงได้ไปปรากฏตัวที่รายการฮิตของเมืองลุงแซม ทั้ง The Ellen DeGeneres Show จนไปถึง Saturday Night Live และไปโชว์ตัวเต้นท่าม้าควบในสนามเบสบอล Dodger Stadium ที่ได้รับเสียงปรมมือจากผู้ชมในวันนั้นอย่างกึกก้อง

ในที่สุด ไซ ได้ลงเอยด้วยการไปปรากฏตัวบนเวที MTV Music Video Awards ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดเดียวกับ จัสติน บีเบอร์ และในที่สุดเพลงก็ขึ้นชาร์ต Billboard Hot 100 ในอันดับ 64 ก่อนจะพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และติดอันดับ 2 ในที่สุด สำหรับยอดคลิปใน Youtube ที่ถือว่ามีบทบาทที่ส่งเพลงให้โด่งดังก้องโลก ก็มโหฬารถึงเฉียด 500 ล้านครั้ง ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

 

“กังนัม ไลฟ์สไตล์” ชีวิตที่น่าอิจฉา หรือน่าหมั่นไส้ ?

Gangnam Style อาจโด่งดังด้วยทำนอง และลีลาสนุกสนาน เนื้อร้องภาษาต่างชาติที่เปิดโอกาสให้คนหลายชาติหลายภาษา ตีความเพลงไปในความหมายของใครของมัน แต่สำหรับชาวเกาหลีใต้แล้ว เพลงแดนซ์สนุกๆ เพลงนี้กลับมีความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้น

“กังนัม” (หรือ “คังนัม”) เป็นย่านที่ตั้งอยู่ทางเขตตอนใต้ของกรุงโซล แม้จะมีประชากรเพียงแค่ 5 แสนคน แต่กลับเป็นศูนย์รวมของธุรกิจ แฟชั่น และการศึกษา ถือว่าเป็นย่านของคนมีอันจะกินในกรุงโซลยุคปัจจุบัน แต่ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้หลายปี “กังนัม” ที่แปลว่า “ฝั่งใต้ของแม่น้ำ” เป็นเพียงหมู่บ้านธรรมดาที่ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรม กระทั่งเมื่อเวลาล่วงเลยไป ผลพวงของการเติบโตเศรษฐกิจในช่วงยุค 1970s ทำให้ที่ดินในเขตกังนัมราคาถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่า ถึงตอนนี้พื้นที่ทั้งหมดเต็มไปด้วยบ้านสุดหรูของคนมีอันจะกิน 

อย่างไรก็ตาม คนร่ำรวยในกังนัม กลับถูกมองว่าเป็นพวกเศรษฐีใหม่ แตกต่างจากย่านธุรกิจและที่ทำการรัฐบาลในย่านเก่าที่ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำฮัน อันเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนเก่าของขุนนาง และเศรษฐีเก่า 

ด้วยเหตุนี้อาจพูดได้ว่า กังนัม คือจุดศูนย์กลางของเกาหลีใต้ยุคใหม่อย่างแท้จริง ผู้คนใช้ชีวิตกับการบริโภคกันอย่างหนักหน่วง ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า คนในกังนัมใช้ชีวิตกันชนิดตลอด 24 ชั่วโมง แม้แต่ในเพลงของ ไซ ก็มีเนื้อเรื่องถึงเรื่องพวกนี้ 

กังนัมยังเป็นเขตซึ่งที่ดินราคาแพงที่สุดในประเทศ เต็มไปด้วยโรงเรียนกวดวิชา และที่สำคัญแม้จะอยู่ใจกลางเมือง แต่กลับเป็นเขตที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ได้แออัดยัดเยียดเสื่อมโทรมเหมือนมหานครโดยทั่วไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครๆ ฝันถึงการใช้ชีวิตอยู่ในกังนัม

เนื้อเพลงของ ไซ มีความหมายถึงวิถีชีวิตของผู้คนในย่านกังนัม กรุงโซล ศูนย์รวมแห่งคนเทรนดี้, ฮิป, มีคลาส เป็นเหมือนชนชั้นสูงแห่งสังคมกรุงเกาหลีใต้ แบบที่ ไซ เองอธิบายว่าคล้ายๆ กับย่านฮอลลีวู้ดในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าเป็นมุกตลกของตัวเอง เพราะไม่ว่าจะเป็นท่าเต้น ทำนอง หรือองค์ประกอบใดๆ ในเพลง Gangnam Style นั้นไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงกับคำว่า “มีคลาส” เลยแม้แต่น้อย

ไซ บอกว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วคนในกังนัมเองไม่เคยคุยโวว่าตัวเองเป็นเช่นไร มีแต่คนอื่นที่มองพวกเขา และอยากจะใช้ชีวิตแบบนั้นบ้างเท่านั้น เพลงของเขาพูดถึงเรื่องราวประเภทนี้เอง เสียดสีวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองหลวง โดยเฉพาะคนที่อยากได้อยากเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่เป็น ไม่มี นอกจากความหรูหรา และคุณภาพชีวิตที่สูงมากแล้ว กังนัม ยังแทรกด้วยภาพของความฟุ่งเฟ้อกันแบบไร้ขีดจำกัด ศูนย์ศัลยกรรมความงามที่เด็กหนุ่มสาววัยรุ่นเดินเข้าเดินออกเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นอีกคน

 

กระแสที่มากกว่าแค่เรื่องเพลง

ความสำเร็จของ ไซ นั้นเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ด้วยโลกยุคอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง หลังเพลงเริ่มปล่อยให้ฟังกันในเกาหลีใต้ ความนิยมของมันกลับไปไกลถึงโลกตะวันตกอย่างที่ไม่ได้มีการวางแผนใดๆ เอาไว้ ในยุคที่แผ่นซีดีแทบจะไม่สามารถขายได้แล้ว มาตรวัดความสำเร็จกลับไปอยู่ที่ยอดในเว็บ iTune และจำนวนคลิกใน Youtube หรือจำนวน Like ซึ่งทุกอย่างก็สามารถการันตีความนิยมของ Gangnam Style ได้เป็นอย่างดี 

นอกจากได้รับความสนใจจากคนฟังทั่วโลกแล้ว หรือในวงสังคมบันเทิงแล้ว Gangnam Style ยังไปไกลถึงสังคมอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเมือง อย่างที่ บอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน กับนายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมรอน ยังเต้นเพลงนี้มาแล้ว เช่นเดียวกับ อีริค ชมิดต์ ประธาน Google ที่ยอมรับว่าตนก็เคยแดนซ์ท่าควบม้ามาแล้วเหมือนกัน 

เช่นเดียวกับมิวสิกวิดีโอฮาๆ ของ ไซ ที่มีคนนำไปทำใหม่ล้อเลียนมากมาย และหลากหลายกลุ่มทั้ง นางงามเกาหลี นักกีฬาสัญชาติต่างๆ แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเกาหลีเหนือก็ยังนึกสนุกขึ้นมาถ่ายคลิปล้อเลียนเพลงของ ไซ มาแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้เลขาธิการสหประชาชาติชาวเกาหลีใต้ บันคีมูน ได้กล่าวยกย่อง Gangnam Style คือพลังแห่งการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และท่องเที่ยวของประเทศก็ยกย่องว่า Gangnam Style มีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ในการแนะนำวัฒนธรรมเกาหลี ทั้งภาษา และวิถีชีวิตร่วมสมัยของชาวเกาหลี ให้โลกได้รู้จัก แม้สุดท้ายแล้วยังมีเสียงที่ไม่ค่อยยอมรับเพลงนี้ออกมาบ้างอย่างโดยเฉพาะการนำเสนอภาพของชาวเกาหลีที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก แม้แต่ โอยองจิน บรรณาธิการของ The Korea Times ก็เขียนแสดงความเห็นว่าท่าเต้นของ ไซ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากศิลปินอเมริกาคนอื่นเลย 

นอกจากสิ่งที่ทุกคนยอมรับกันก็คือเพลงมัน “ตลกดี” แล้ว Gangnam Style เป็นเพลงเต้นรำสนุกๆ ที่นักวิจารณ์หลายคนชื่นชมว่ามีท่วงทำนองติดหู ฟังเพียงไม่กี่รอบก็จำได้ทันที อย่างไรก็ตาม ในสายตาของผู้คนในวงการเพลงจำนวนไม่น้อย กลับคิดว่า Gangnam Style ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าเพลงแดนซ์ดาดๆ อีกเพลง โดยเฉพาะเว็บไซต์วิจารณ์เพลง Digital Spy ที่สับ Gangnam Style จนเละโดยเฉพาะในแง่ที่ว่าเพลงไม่ได้มีอะไรใหม่เลย นอกจากจะเป็นการลอกเลียนงานฮิตๆ ของวง LMFAO มาเท่านั้น

โดยภาพรวมแล้ว Gangnam Style ประสบความสำเร็จในการผสมความเป็นเกาหลีกับต่างชาติอย่างลงตัว เป็นการหยิบองค์ประกอบหลายๆ อย่างมากวนเข้าด้วยกัน แบบที่นักวิจารณ์ทางฝั่งตะวันตกคนนี้ให้ความเห็นไว้น่าฟังว่า เป็นงานที่ผสมองค์ประกอบแย่ๆ จนออกมาเป็นของดี

เอาเข้าจริงๆ แล้วความสำเร็จของ Gangnam Style อาจไปไกลว่าที่ว่าเพลงนี้มัน “ดีหรือไม่ดีกันแน่?” แต่เป็นกระแสที่บูมขึ้นมาในลักษณะใกล้เคียงกับ “อินเทอร์เน็ตมีม” ประเภทหนึ่ง มากกว่าจะเป็นเรื่องของเพลงเพียงอย่างเดียว

“อินเทอร์เน็ตมีม” คือสื่อประเภทใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง, คลิป, ข้อความ, ข่าวแปลกๆ ที่ถูกส่งต่อกันไปในบรรดาชุมชนออนไลน์ ผ่านทางไฟล์ดิจิตอล หรือไฮเปอร์ลิงค์ เป็นวิวัฒนาการของกระแสปากต่อปากแบบโลกยุคใหม่ ที่ไปเร็วและแรงยิ่งกว่าเดิม ส่วนใหญ่มักจะเป็นสื่อประเภทที่สร้างความตลกขบขันเป็นหลัก และตัวงานก็ไม่ได้สร้างกระแสด้วยตัวเองเท่านั้น แต่มุกตลกต่อยอดที่แวดล้อมมันอยู่ และการถูกนำไปตีความใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ก็กลายเป็นแรงส่งให้ “มีม” ถูกบอกต่อกันในวงกว้างไปเรื่อยๆ

ซึ่งดูเหมือนว่าเพลง และมิวสิกวิดิโอ Gangnam Style จะเข้าข่ายเป็นมีมชนิดหนึ่ง ที่คงไม่สามารถใช้มาตรฐานทางดนตรีใดๆ มาจับเพื่อตีค่าได้ เป็นมีที่คนหลายชาติหลายภาษาสามารถเข้าใจได้พร้อมๆ กัน อย่างที่ตัวของ ไซ เองก็ยอมรับว่าการเรียกเสียงฮา คือจุดประสงค์หลักของเขา แต่ก็ต้องเป็นตลกที่ไม่ “โง่” ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นด้วยภาษาเกาหลีที่ยังคงแปลกใหม่สำหรับผู้คนในโลกตะวันตก ที่กลายเป็นช่องว่างสำหรับคนฟังในการตีความหมายเพลงในแบบของตัวเองได้, ใบหน้าตลกๆ ของไซ, แก๊กในแบบเกาหลี, แน่นอนว่าความเซ็กซี่เล็กๆ ที่แทรกเข้ามาก็ดูลงตัวไปกับอารมณ์แมนๆ ของเพลงด้วย บวกกับท่วงทำนองติดหู, ท่อนสร้อยภาษาอังกฤษอย่าง “Sexy Lady!!!” ที่พอจะทำให้คนฟังได้ตะโกนตามในบางจังหวะ แม้ไม่สามารถร้องตามได้ตลอดทั้งเพลง กลายเป็นความลงตัวที่ทำให้ Gangnam Style สามารถสร้างอารมณ์ขันให้กับคนทั่วโลกต่างวัฒนธรรมได้พร้อมๆ กัน

 

ตบหน้า K-Pop

เป็นอันว่าในที่สุด ไซ กับ Gangnam Style กลายเป็นเพลงที่สามารถปักธงของดนตรีเกาหลีใต้ในตลาดเพลงตะวันตกได้สำเร็จ อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน แต่ก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ว่า ต่อจากนี้แล้ว ไซ จะสามารถเดินทางไปถึงจุดใด และจะสามารถเปลี่ยนวิถีทางของ K-Pop ได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาทำจะแตกต่างจากความพยายามของเพื่อนร่วมชาติคนอื่นโดยสิ้นเชิง

เป็นที่รู้กันดีว่าเกาหลีใต้ “บุกหนัก” ในสินค้าทางวัฒนธรรมทุกประเภททุกแขนง ด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐบาลอย่างเต็มอัตราศึก วงการหนังของเกาหลีกลายเป็นดาวเด่นในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก ขณะที่ซีรี่ส์เกาหลีใต้ก็ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในหลายประเทศ 

สำหรับวงการเพลง K-Pop มีที่ทางของตัวเองในตลาดเพลงของหลายประเทศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญไปแล้ว แต่สำหรับตลาดเพลงสหรัฐฯ จุดศูษย์กลางอุตสาหกรรมดนตรีโลก กลับเป็นตลาดเพลงที่เกาหลีไม่สามารถ “เจาะ” เข้าได้เสียที

ซูเปอร์สตาร์อย่าง เรน, โบอา แทบจะไม่สามารถสร้างกระแสใดๆ ได้ในตลาดเพลงสหรัฐฯ ขณะที่ความพยายามพักใหญ่ของ Wonder Girls เกิร์ลกรุ๊ปหญิงระดับขวัญใจของประเทศก็ดูเหมือนจะไปได้ไม่ถึงไหน แม้สาวๆ สังกัดค่ายใหญ่ JYP Entertainment จะพยายามกันอย่างหนัก เรียนภาษาอังกฤษกันอย่างเข้มงวด ใช้เวลาทำงานที่สหรัฐฯ แรมปี มีสมาชิกคนหนึ่งยอมแพ้ขอลาออกจากวงไป แต่เพลง Nobody อันโด่งดังของพวกเธอก็ทำได้เพียงแค่อันดับ 76 ของชาร์ต Billboard Hot 100 ในสัปดาห์เดียวก่อนจะหลุดชาร์ตไปแบบไม่มีใครสนใจ พร้อมกับข้อครหาการใช้แผนการตลาดชนิด “ทำทุกทาง” อย่างแถมแผ่นซีดีไปกับข้าวสารแบรนด์เกาหลีใต้ หรือผูกการขายแผ่นซีดีไปกับร้านค้าปลีกเสื้อผ้าที่มีสาขาอยู่ทั่วสหรัฐฯ ก็ทำมาแล้ว 

การทำตลาดอย่างหนักหน่วง, สงครามราคา อย่างที่ทำให้เกาหลีใต้เคยประสบความสำเร็จในหลายๆ ประเทศ และในเวลาเดียวกันก็ทำให้พวกเขาโดนต่อต้านกับการรุกหนักแบบนี้จากบางประเทศ แต่สุดท้ายกลายเป็นศิลปินที่แทบไร้คุณสมบัติแห่งความสมบูรณ์แบบอย่าง ไซ ที่ทำได้

ความสำเร็จของ Gangnam Style อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแนวทางของ K-Pop ขนานใหญ่ เพราะที่แล้วมาวงการเพลงเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามกับการขายเพลงในรูปแบบของศิลปินป๊อปวัยรุ่น ที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ หน้าตาหล่อสวย (ที่บางครั้งมาพร้อมกับคำนินทาของบรรดาเสียงนกเสียงกาเรื่องการทำศัลยกรรม), รูปร่างสมบูรณ์แบบชนิดไร้ที่ติ, หากเป็นวงไอดอลก็จะประกอบไปด้วยสมาชิกที่หลากหลาย ทั้งหน้าตาดี, เซ็กซี่, อ่อนหวานเรียบร้อย และมีสมาชิกเสียงดีไว้ร้องประคองเพื่อน 

ก่อนจะได้ออกงานเพลงก็ต้องผ่านการเตรียมตัวในสถานะ “ศิลปินฝึกหัด” กันหลายปี เรียนร้องเพลง, เต้นรำ, การแสดง กันเข้มงวดชนิดเหมือนค่ายทหาร เพื่อสร้างขวัญใจวัยรุ่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เป็นสูตรที่ได้ผลในประเทศแถบเอเชีย แต่ยังไม่สามารถผ่านด่านของฝั่งตะวันตกไปได้

แต่แล้วศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในตลาดตะวันตกอย่างเป็นทางการเป็นรายแรก กลับเป็นหนุ่มท้วม ไซ ที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าเขาไม่ได้มีอะไรเหมือน “K-Pop” ทั่วไปเท่าไหร่ เส้นทางความสำเร็จของ Gangnam Style ก็แตกต่างจากวิธีการของ K-Pop ที่แล้วมาโดยสิ้นเชิง บางคนอาจเรียกว่าเป็นการ “ตบหน้า K-Pop” ด้วยซ้ำไป

 

อนาคตของ “ไซ”

ถึงตอนนี้กระแสของ ไซ และ Gangnam Style ยังไม่หมดแรงลงง่าย ๆ หนุ่มกิมจิวัย 34 ปี ยังคงเดินสายไปโปรโมตเพลงฮิตของเขาทั่วโลก ไซ เองก็กำลังจะมีกำหนดออกอัลบั้มในสหรัฐฯ ชุดแรกในปลายปีนี้ 

แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางของเขาสดใสไปเสียทั้งหมด และคงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะ ไซ ต่อยอดความสำเร็จของ Gangnam Style ได้ง่าย ๆ เหมือนเมื่อ 15 ปีก่อนที่มีเพลง Macarena ของศิลปินชาวสเปน Los del Río ที่โด่งดังไปทั่วโลก กับเพลงแดนซ์ติดหู, มีท่าเต้นประจำ และร้องด้วยภาษาที่ไม่ได้เป็นสากลสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ Los del Río ก็ไม่เคยมีอะไรที่โด่งดังในวงกว้างเช่นนั้นอีกเลย จึงเป็นคำถามสำหรับ Gangnam Style ว่าจะต้องมีชะตากรรมแบบเดียวกันด้วยหรือไม่

ไซ ได้กลายเป็นศิลปินที่คนทั้งโลกรู้จักไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กระแสในช่วงนี้จะเป็นจุดสูงสุดในชีวิตของเขา ที่ยากจะสามารถทำซ้ำได้อีกครั้ง สุดท้ายหาก ไซ จะกลายเป็นศิลปินที่เมื่อออกงานใหม่ ทุกสายตาทั่วโลกก็พร้อมที่จะจับตามอง ก็คงถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว อนาคตหลังจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ตัวเองอย่างแท้จริง

]]>
55871
“กังนัม” ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนยุค เปลี่ยนกระแส สร้างความแตกต่าง (Economic Culture) https://positioningmag.com/55872 Thu, 14 Feb 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=55872

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของ “กังนัมสไตล์” (Gungnam Style) ที่เป็นปรากฏการณ์ออกมาดังระเบิดโลกครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ยูทูบกว่า 500  ล้านครั้ง ตัวเลขนี้อาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้

จะสังเกตว่าในเวลาที่ผ่านมา มีศิลปิน K-Pop ของเกาหลีใต้ ฝ่าฝันอุปสรรคเรื่องของภาษา เข้ามาอยู่ในใจวัยรุ่น เด็ก แม้แต่คุณพ่อ คุณแม่ที่ต้องตามกระแสลูกๆ ต้องรู้จักซุปเปอร์จูเนียร์ เกิร์ล เจนเนอเรชั่น  

แต่ใครจะไปคาดคิดว่าตี๋หนุ่มตันๆ หนุ่มไซ หรือ ปาร์ค แจ ซัง เจ้าของเพลง “กังนัมสไตล์” จะขึ้นติดชาร์ตของเกาหลี แถมยังเคยขึ้นอันดับหนึ่ง ชาร์ตมิวสิกวิดีโอของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินเกาหลีใต้คนแรกที่ทำได้ กลายเป็นนักร้องโกอินเตอร์ สร้างผลงาน “กังนัมสไตล์” สะท้านโลกไปเลย

มองดูแล้ว ทฤษฎีหลายๆ ทฤษฎีที่วิเคราะห์อาจจะนอกตำราไปเลยที่กระแสความแรง  หากมองในไทย “กังนัมสไตล์” ได้เป็นที่รู้จักเรื่อยๆ จากสื่อทีวีที่มีนักข่าวตามเกาะกระแสมาเรื่อยๆ เช่น ข่าวช่อง 3, ข่าวยามเช้า ที่หลายช่องประโคมข่าวความดังอย่างมาก

เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ปรากฏการณ์แบบนี้ สื่อจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก  เพราะสื่อถือเป็น Gatekeeper ในการสื่อสารระหว่างผู้ชมกับข่าวที่เกิดขึ้น เพราะข่าวบางอย่างนั้น ถ้าผู้ส่งสารย้ำบ่อยๆ ข่าวนั้นจะเกิดความเชื่อถือ และข่าวนั้นอาจเป็นข่าวที่จากไม่จริง จนเป็นจริงในความรู้สึก

เพลงกังนัมสไตล์ที่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ นำมาเป็นกระแส ก็ต้องบอกได้เลยว่าส่วนหนึ่งมาจากเกาหลีก็ได้ เพราะเวลาที่เกาหลีใต้ทำอะไรโลกก็จับตาดูอยู่แล้ว เพียงแต่คลิกให้โดนก็พอ และเมื่อเพลง กังนัมสไตล์ ที่แตกต่างแบบไม่หล่อ แถมอ้วน แต่ฮิตทั่วโลก  เพราะสร้างความต่างในแบบที่ไม่ลอกใคร คือ Differentiate อย่างไม่ตามใคร ถึงแม้ในอนาคตอาจจะหายไป แต่ “กังนัมสไตล์” ก็ทำให้เห็นว่า กระแสของวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Culture) ของเกาหลีเป็นตัวนำได้เหมือนกัน ในบางประเทศใช้วัฒนธรรมทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจของประเทศได้เหมือนกัน เห็นชัดคือเกาหลีใต้ ที่ใครต้องฝึกทำกิมจิ ฝึกชงชา เป็นต้น

ในประเทศไทย แต่ก่อนคนต่างชาติที่เข้ามาก็มาดูวิธีการไหว้ การรำวง การทำอาหารสไตล์ไทยๆ  แต่กลับไม่เป็นกระแสแบบเกาหลีทั้งที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ดีๆ มากมาย เช่น  อาหารไทย ดนตรีไทย จังหวะรำวงแบบไทยๆ  ซึ่งน่าเป็นแรงผลักดันให้เป็นวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Culture) ได้ แต่ทำไมเราไม่สร้างกระแสทางนี้บ้าง คงมีแต่กระแส “จ๊ะคันหู” ที่ทำให้คนไทยได้วิจารณ์กันสักพักกับท่าเต้นที่ออกจะล่อแหลม กวนๆ ในที แต่ก็สู้ท่าม้าย่องแบบ “กังนัมสไตล์” ได้ ซึ่งดูแล้วสนุกสนาน ในเมืองไทย ถ้าใช้ Culture ที่เรามีมาเป็นแนวทางการนำทางเศรษฐกิจก็น่าจะดี แต่ไม่ค่อยมีใครมองเรื่อง Culture นำเศรษฐกิจเหมือนเกาหลีใต้ที่เขาใช้ Cultureมาเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีเหมือนกัน

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อัลบั้มชุดที่ 2 จะสร้างงานสะท้านโลกแบบกังนัมสไตล์ได้หรือไม่  อาจต้องเปลี่ยนสไตล์ท่าเต้นใหม่ๆ ก็ได้ ก็น่าจะลองเอาท่าเต้น จ๊ะคันหู ไปลองเต้นดู อาจสะท้านโลกได้ ครั้งหน้า คงมีเรื่องของกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ที่กำลังเป็นกระแสมาแลกเปลี่ยนกันอีกนะครับ

]]>
55872