จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจอย่างแพร่หลาย หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เจอศึกหนักที่สุดก็คือ “โรงภาพยนตร์” ทั้งเจอมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เลื่อนฉาย ทำให้ผู้ประกอบการต้องการกลยุทธ์ใหม่เพื่อประคับประคองธุรกิจ
“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ผู้นำธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ไม่น้อย เพราะต้องบอกว่าโรงภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งสถานที่ปิด และรวมคนจำนวนมาก ทำให้เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยง และอยู่ในมาตรการล็อกดาวน์ แม้จะช่วงที่คลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ก็ยังจำกัดคนเข้าใช้บริการ ไม่สามารถสร้างรายได้ได้เต็มที่
เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาด ประเทศไทยมียอดจำหน่ายตั๋วหนังสูงที่สุดในประวัติการณ์ที่ 36.5 ล้านใบ เรียกว่าทิศทางของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มาสะดุดเพราะโรคระบาด แม้ว่าในปี 2563 จะเจอกับวิกฤตร้ายแรง แต่เมเจอร์ก็ปรับกลยุทธ์จนสามารถกลับมาเติบโตได้ดังเดิม
หลังจากเริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ในปี 2564 หลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดทำการตามปกติตามมาตรการควบคุมโรค พร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยก็เริ่มคลี่คลาย ประชาชนได้กลับใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ไม่ต้องจำกัดเวลาในการเปิด
ทำให้ได้เห็นบรรยากาศของศูนย์การค้าที่เนืองแน่นด้วยผู้คน ต่างออกมาช้อปปิ้ง ทานข้าว ดูหนังกันมากขึ้น เรียกว่าเป็นสัญญาณอันดีในการฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาคึกคัก
ธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็เริ่มกลับมามีสีสันมากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งหนังที่เข้าโรงภาพยนตร์ก็เต็มไปด้วยหนังฟอร์มยักษ์ ถูกกระตุ้นจากทั้งฝั่งผู้ผลิตหนังเองก็อั้นจากช่วงวิกฤตหนักๆ ต้องเลื่อนการฉาย ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้องการเสพภาพยนตร์ ความบันเทิงจากโรงหนังอยู่
ในปี 2565 ถือว่าเป็นฟ้าใหม่ของเมเจอร์ในการ “เทิร์นอะราวด์” เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ประชาชนเริ่มใช้ชีวิตร่วมกับโรคระบาดได้อย่างมีสติ หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัว กลับมามีผลกำไร ธุรกิจโรงภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เริ่มเห็นสัญญาณในการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ลุ้นกลับมามีผลกำไรทุกไตรมาส เป็นการคัมแบ็กของจริง
ปัจจัยสำคัญมีทั้งธุรกิจหลักจากโรงภาพยนตร์ ที่จะได้เห็นหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลิวู้ดต่างตบเท้าเข้าโรงอย่างต่อเนื่อง เช่น The Batman, Fantastic Beasts : The Secrets of Dumbledore, Doctor Strange 2, Top Gun : Maverick, Jurassic World : Dominion (8 มิย.), Minions The Rise Of Gru (30 มิย.), Thor : Love and Thunder (6 กค.), Black Panther :Wakanda Forever (10 พย.) และไฮไลท์สุดๆ กับการสิ้นสุดการรอคอยของ Avatar The Way Of Water (15 ธค.) เตรียมทวงบัลลังก์หนังทำเงินสูงที่สุดในโลกอีกครั้ง พร้อมกับตลาดหนังไทยที่เตรียมเข้าโรงถึง 40 เรื่องเช่นกัน
ส่วนธุรกิจเสริมที่ทางเมเจอร์ไปลงทุนเพิ่มเติมทั้งการเข้าไปถือหุ้นใน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งแรงเสริมให้กับเมเจอร์
ทางด้านบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ได้วิเคราะห์ว่า คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2565 ของเมเจอร์จะเติบโตดีขึ้น เนื่องจากจะมีหนังฟอร์มยักษ์จากฝั่งฮอลลีวูดเข้าฉายจำนวนมากในช่วงหน้าร้อนของสหรัฐ ประกอบกับความกังวลเรื่อง COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และผู้บริโภคออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น เชื่อว่าทั้งปีจะพลิกกลับมามีกำไร 677 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุนปกติ 832 ล้านบาท
นอกจากประเทศไทยแล้ว ทิศทางของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์เริ่มมีสัญญาฟื้นทั่วโลก อย่างที่สหรัฐอเมริกาตลาดใหญ่ที่สุดของโลกก็เริ่มฟื้นตัว หลังยอดขายตั๋วหนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องที่เข้าโรงในช่วงไตรมาสแรกเติบโตจากปี 2564 มากกว่า 3 เท่าตัว
ทางด้านสตูดิโอค่ายหนังก็เตรียมเข็นหนังฟอร์มยักษ์ออกมาตลอดทั้งปี ทางด้านผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ก็ลงทุนในการอัพเกรดโรงหนังให้ทันสมัยขึ้น พร้อมกับอัดงบการตลาด เพื่อดึงดูดผู้บริโภคออกมาดูหนังในโรงกันมากขึ้น
หนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้ปีนี้ธุรกิจโรงหนังกลับมาสดใส หนีไม่พ้น “คอนเทนต์” หรือภาพยนตร์ที่จ่อคิวเข้าโรง จะเห็นได้ว่าปีนี้มีคิวหนังทั้งไทย และเทศจ่อเข้าคิวแบบเบียดเสียด ชนิดที่ว่าใครอ่อนแอก็แพ้ไป หนังไทยบางเรื่องต้องหลีกทางให้หนังฮอลลีวู้ดเข้าก่อนกันเลยทีเดียว
และที่ผ่านมาไม่นานนี้ เริ่มมีกระแส “หมอแปลกฟีเวอร์” โดยที่ภาพยนตร์ Doctor Strange In The Multiverse Of Madness หรือ Doctor Strange 2จากค่ายมาร์เวล สามารถทำรายได้รวมใน 2 สัปดาห์แรกไปกว่า 291.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,200 ล้านบาท) ในสหรัฐอเมริกา และทำรายได้รวมทั่วโลก อยู่ที่ 688 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (24,000 ล้านบาท)
ส่วนในประเทศไทยนั้น หมอแปลกภาค 2 ก็ได้ปลุกกระแสการดูหนังในโรงภาพยนตร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง รายได้รวมทั่วประเทศกว่า 337.2 ล้านบาท จากการเข้าฉาย 19 วันสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น และพร้อมที่จะเสพความบันเทิงในโรงภาพยนตร์มากขึ้นด้วย
แน่นอนเมื่อมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าโรง ย่อมนำพามาด้วยการฟื้นตัวของรายได้จากภาพยนตร์ที่เป็นรายได้หลักของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอานิสงส์ทางอ้อมก็คือ “โฆษณาในโรงภาพยนตร์” ที่มีการเติบโตไม่แพ้กัน
ข้อมูลในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2565 ในภาพรวมอุตสาหกรรม มีการใช้เม็ดเงินลงโฆษณาไปกับโรงภาพยนตร์ ประมาณ 1,736 ล้านบาท มีการเติบโตขึ้นถึง 43.71% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นประเภทสื่อ ที่มีอัตราการฟื้นตัวและการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาสูงที่สุด
สะท้อนให้เห็นว่าแบรนด์สินค้าต่างๆ เริ่มกลับมาสนใจทำกิจกรรมทางการตลาด ร่วมกับโรงภาพยนตร์นั่นเอง มีความมั่นใจว่าผู้บริโภคหันกลับมาดูหนังในโรงภาพยนตร์ ประกอบกับไลน์อัพหนังที่จะช่วยดันศักยภาพได้
นอกจากปัจจัยภายนอกที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวแล้ว เมเจอร์เองก็ประกาศแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้บริโภค ล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับ ไอแมกซ์ คอร์ปอเรชั่นหรือ IMAX นำเครื่องฉาย IMAX Laser ระบบทันสมัยที่สุดมาฉายในไทย นำร่อง 3 สาขา ได้แก่ พารากอน ซีนีเพล็กซ์, ไอคอน ซีเนคอนิค และเปิดโรงภาพยนตร์ IMAX สาขาใหม่ที่เมกา ซีนีเพล็กซ์
สำหรับระบบฉาย IMAX Laserเป็นระบบการฉายภาพยนตร์ที่ล้ำสมัยที่สุด ผสมผสานการฉายภาพด้วยเลเซอร์ระดับ 4K ด้วยระบบออปติคัลใหม่ เลนส์ที่ออกแบบเอง และชุดเทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ ให้ภาพที่สว่างกว่าด้วยความละเอียดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นภาพขนาดใหญ่ และได้ยินเสียงที่ชัดเจนเหมือนกันทุกที่นั่ง สร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ระดับพรีเมียม
พร้อมกับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เปิดโรงภาพยนตร์ Screen X เพิ่มอีก 1 แห่งที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ในปี 2565 เมเจอร์มีแผนขยายโรงภาพยนตร์อีก 25-30 โรง จากปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 839 โรง ใน 170 สาขารวมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
นอกจากการลงทุนอัปเกรดเครื่องฉายสุดล้ำแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทางเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ยังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องก็คือการขยายสาขา ล่าสุดได้เปิดสาขาใหม่ “จันทบุรี ซีนีเพล็กซ์” ที่เซ็นทรัล จันทบุรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 แบบสดๆ ร้อนๆ
พร้อมกับการรีโนเวตโฉมใหม่ของ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท-เอกมัย” เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเดินหน้าทยอยอัปเกรดเครื่องฉายเป็นระบบ Laserplex ในโรงภาพยนตร์ปกติอีกด้วย รวมถึงการเป็นเจ้าภาพงาน CineAsia 2022 ในวันที่ 5 – 8 ธันวาคม 2565 ที่ Icon Siam
อีกหนึ่งธุรกิจที่ถือว่าเป็นตัวชูโรงไม่น้อย ก็คือ “ป๊อปคอร์น” โดยปกติแล้วธุรกิจโรงหนัง ต้องคู่กับเครื่องดื่ม และป๊อปคอร์น เป็นตัวสร้างรายได้เสริมให้เมเจอร์ไม่น้อย แต่เมื่อเจอมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ถึงแม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์ ก็ไม่สามารถทานอาหารในโรงหนังได้
ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤต เมเจอร์เริ่มปรับตัวจากการขายป๊อปคอร์นที่ขายหน้าโรงหนัง แล้วใช้บริการเดลิเวอรี่ส่งตามบ้าน บริการ “Major Popcorn Delivery” รวมถึงการขายผ่าน ‘Major Mall’ ใน Shopee จนได้พัฒนาเป็นป๊อปคอร์นรูปแบบใหม่ๆ ทั้งแบบ Pop To Go ป๊อปคอร์นในถุงซีปล็อก, POP STAR ป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุในกระป๋อง ขนาด 60 ออนซ์ และป๊อปคอร์น พรีเมียม POPSTAR 3 รูปแบบ คือ ป๊อปสตาร์ สแน็ค ป๊อปคอร์นแบบซอง, ป๊อปสตาร์ ไมโครเวฟ และ ป๊อปสตาร์พรีเมียม ทินแคน ป๊อปคอร์นบรรจุกระป๋อง
แรกเริ่มได้ขยายสู่ช่องทางอื่นๆ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เพื่อขยายช่องทางการขายสู่ผู้บริโภคมากขึ้น และที่น่าสนใจก็คือ เมเจอร์มีแผนที่จะนำป๊อปคอร์นเข้าจำหน่ายในเซเว่นฯ ภายในปีนี้ และเตรียมขยายไปยังโมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ในอนาคต
จะเห็นได้ว่าปีนี้น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ธุรกิจโรงหนังเริ่มเห็นแสงสว่าง มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีการประเมินว่าต้องกลับมามีกำไรจากทั้งธุรกิจหลักในการขายตั๋วหนัง พร้อมกับธุรกิจอื่นๆ ที่จะมาเสริมความแข็งแกร่งให้มากขึ้น ไม่แน่ว่าปีนี้อาจจะพลิกกลับมาเป็นปีทองของเมเจอร์อีกทีก็เป็นได้…
]]>ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกที่ 3 ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 1,000 คน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าจำเป็นต้องเดินหน้าเศรษฐกิจพร้อมกับควบคุมการระบาดไม่ให้พุ่งสูง แต่จะไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอีก
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขยายการจำกัดจำนวนผู้ชมกีฬา และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เกินครึ่งหนึ่งของที่นั่งรวมทั้งหมด เช่น สนามกีฬาที่จุผู้ชมได้ 10,000 คน จะสามารถมีผู้เข้าชมได้ไม่เกิน 5,000 คน เดิมมาตรการนี้มีกำหนดจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม แต่ขณะนี้ได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing สำหรับโรงภาพยนตร์ จะได้รับยกเว้น ก่อนหน้านี้โรงภาพยนตร์จะขายตั๋วได้เพียงครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด ผู้ชมจะต้องนั่งเว้นเก้าอี้แต่ละตัว แต่หลังจากนี้โรงภาพยนตร์จะขายตั๋วได้เต็มทุกที่นั่ง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ชมจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และสามารถกินป๊อปคอร์น และดื่มเครื่องดื่มได้เหมือนปกติ
รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างอิงผลการศึกษาพบว่า เชื้อไวรัสที่แพร่ผ่านฝอยละอองในอากาศจะมีปริมาณจำกัดในช่วงที่คนกำลังกินอาหาร โดยที่ไม่พูดคุยกัน
ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19 ในเดือนพฤษภาคม รายได้จากตั๋วเข้าชมของผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ 12 รายรวมกันลดลงเหลือเพียง 1.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉิน โรงภาพยนตร์ขายตั๋วได้ครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด แต่ห้ามขายอาหาร และเครื่องดื่ม รายได้ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมก็ยังเหลือเพียงแค่ 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
จนกระทั่งกลางเดือนตุลาคม ภาพยนตร์อนิเมชั่น เรื่อง “ดาบพิฆาตอสูร” ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์กว่า 20,000 ล้านเยน
]]>พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีโรงหนังมีการอนุญาตให้กินป๊อปคอร์นเครื่องดื่มขณะชมว่า ตามมาตรการหลักไม่ได้กำหนดห้ามไว้ แต่เป็นคำแนะนำที่กรมอนามัยอยากให้คำแนะนำและเชิญชวนทุกท่าน การผ่อนคลายด้วยการชมภาพยนตร์ เนื่องจากเราไปอยู่ในพื้นที่ปิดร่วมกัน อยากให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งการชมภาพยนตร์ถ้าไม่มีการรับประทาน จะสวมหน้ากากได้ตลอดเวลา
“เราก็มีความเป็นห่วง ไม่อยากให้ท่านมีความสุ่มเสี่ยงบางอย่าง แต่ตรงนี้เป็นมาตรการเชิงคำแนะนำสำหรับทุกท่าน แม้โรงภาพยนตร์ไม่ได้ห้ามที่จะเข้าไปพร้อมป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม แต่ก็ขอความกรุณาให้เก็บกลับออกมาที่ชมภาพยนตร์เสร็จ เพราะพนักงานต้องเข้ามาทำความสะอาด ถ้าพวกเราช่วยกันจัดการขยะของพวกเรา จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดได้อย่างดี ชวนทุกท่านไปที่ไหนอะไรที่เป็นขยะของเราเก็บมาให้สะอาดเรียบร้อย” พญ.พรรณพิมลกล่าว
]]>ปัจจุบันการไปดูหนังแต่ละเรื่อง ผู้ชมหนึ่งแทบจะเสียเงินเฉลี่ยให้กับ “อย่างอื่น” มากกว่าค่าตั๋วหนังไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว, น้ำอัดลมแก้วใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้วรูปภาพยนตร์สุดฮิตที่กำลังลงโรงฉายอยู่ในขณะนั้น
โรงหนังทุกแห่งในปัจจุบันแทบจะให้ความสำคัญกับการขายของเหล่านี้พอๆ กับการโปรโมตหนังแต่ละเรื่องก็ว่าได้ มีขนมแบบใหม่ๆ มาเสนอให้ลองอยู่เรื่อย และแก้วน้ำอัดลมที่หลายๆ คนเก็บเป็นของสะสมก็ดูจะยิ่งเว่อวังอลังการขึ้นไปแบบไม่หยุดหย่อน …. และเหตุผลที่โรงหนังเน้นโปรโมตของกินเล่นพวกนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวชนิดเป็น “วาระ” สำคัญ ก็เพราะคือนี่ “รายได้หลัก” ของธุรกิจสายนี้นั่นเอง
อย่างที่เคยมีคนในวงการหนังของสหรัฐฯ เองเคยพูดติดตลกในหมู่คนแวดวงธุรกิจเดียวกันว่า “พวกเราทำธุรกิจขายขนมหวานต่างหาก”
เป็นที่รู้กันดีว่าตามปกติแล้วว่าค่าตั๋วหนังแต่ละเรื่องจะแบ่งให้กับเจ้าของโรง และเจ้าของหนังอย่างละครึ่ง นั่นก็หมายความว่าโรงหนังจะได้รับเงินจากค่าตั๋วแค่ส่วนเดียว แต่จะได้รับเงินจากำไรของของกินแบบเต็มๆ ซึ่งว่ากันว่าคำนวนออกมาแล้ว รายได้จากของกินจะสูงกว่ารายได้จากการขายตั๋วเป็นสัดส่วน 70:30 หรือ 80:20 กันเลยทีเดียว
นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมโรงภาพยนตร์ จึงพร้อมที่จะลดราคาตั๋วในบางวัน และมอบโปรโมตชั่นหลากหลายให้กับผู้ชมมากมาย ก็เพราะโรงหนังมีจุดประสงค์ในการดึงคนมาดูหนัง (และซื้อของกิน) ให้มากที่สุดนั่นเอง
ฮาเวิร์ด อเดลแมน แห่ง Movieland Cinemas เครือโรงหนังอิสระในสหรัฐฯ ก็ยอมรับตรงๆ ว่าธุรกิจโรงหนังแทบจะกลายเป็นธุรกิจขายขนมแล้ว “หนังก็แค่เอาไว้ดึงคนมาซื้อป๊อปคอร์น กับขนมเท่านั้นแหละครับ เราทำเงินจากตรงนั้น”
ยุคสมัยหนึ่งเราอาจจะนั่งแกะถั่วต้มไปดูหนังไป หรือ เคี้ยวฟั่นอ่อยไปพร้อมๆ กันดูหนังได้อย่างสบายใจ แต่ปัจจุบัน ป๊อปคอร์น หรือ ข้าวโพดขั้วเท่านั้นที่คือขนมกินเล่นอันดับ 1 ในโรงภาพยนตร์
ป๊อปคอร์มเริ่มได้รับความนิยมในฐานะขมกินเล่นระหว่างดูหนังในช่วงยุค 1930s อันเป็นยุคเริ่มต้นยุคทองของวงการหนังสหรัฐฯ ซึ่งจากวันนั้นจนมาถึงปัจจุบัน เจ้าของโรงหนังก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการ “เอาดี” กับการขายขนม เพราะคณะทีค่าตั๋วมีราคาขึ้นมาพอสมควร แต่ค่าป๊อปคอร์นกลับแพงขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” เลยก็ว่าได้
จากข้อมูลของ gizmodo ในปี 1930 เมื่อปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว ราคาตั๋วหนังของที่สรหัฐฯ จะอยู่ที่ 4.32 เหรียญฯ (ราคาจริง 0.35 เหรียญฯ) โดยในอัตราเดียวกันป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังหนึ่งถุงจะมีราคา 0.62 เหรียญฯ (ราคาจริง 0.05 เหรียญฯ) กระทั่ง 80 ปีต่อมา ตั๋วหนังราคาเพิ่มขึ้นตามลำดับเป็น 7.20 เหรียญฯ คิดเป็น 1.6 เท่า ขณะทีป๊อปคอร์นราคาสูงถึงเป็น 4.75 เหรียญฯ หรือ 7.6 เท่ากันเลยทีเดียว!!!
แน่นอนว่าคนดูจำนวนมาก “เซ็ง” และ “บ่น” เรื่องป๊อปคอร์นราคาแพงมาโดยตลอด แต่หลายคนก็ยัง “อดไม่ไหว” ต้องจ่ายเงินซื้อข้าวโพดคั้วมากินเล่นตอนดูหนังในโรงภาพยนตร์อยู่ดี ทั้งๆ ป๊อปคอร์น ไม่ได้เป็นขนมที่หาได้ยากอะไรเลย แต่ผู้ชมจำนวนไม่น้อยต่างยอมรับว่าป๊อปคอร์นโรงหนังมัน “อร่อยจริงๆ”
โดยมีคำอธิบาย 3 ข้อที่น่าจะตอบคำถามได้บ้างว่าทำไมเราถึงยอมกินป๊อปคอร์นในโรงหนัง
ประการแรก “จำนวน และขนาด” ป๊อปคอร์นเป็นอาหารประเภทที่ “ยิ่งกินยิ่งมัน” การได้กินป๊อปคอร์นในโรงหนังยังเป็นความเพลิดเพลินแบบที่หาไม่ได้จากที่อื่นด้วย ทั้ง “ถังขนาดใหญ่” และจำนวนที่ “กินเท่าไหร่ก็กินไม่หมด” ก็ทำให้การกินป๊อปคอร์นในโรงหนังพิเศษมากขึ้นไปอีก
ประการที่ 2 “รสชาติ และวิธีปรุง” ป๊อปคอร์นโรงหนังจะเน้นใช้ “น้ำมันเนย” แทนที่จะเป็น “เนย” ธรรมดาๆ เพื่อไม่ให้ออกมาแฉะเกินไป นอกจากนั้นโรงหนังยังขยันหา “สูตร” แปลกๆ ใหม่ๆ มานำเสนออยู่ตลอดเวลา ทั้ง หวานทั้งเค็มทั้งมัน
ประการที่ 3 “ความเคยชิน” ที่สำคัญที่สุดก็คือการกินป๊อปคอร์นกลายเป็นส่วนหนึ่งของ วัฒนธรรมในโรงหนังไปแล้ว เรามี “ความทรงจำ” กับการ “จก” ข้าวโพดขั้วฝังอยู่ในหัว ความทรงจำสมัยเด็ก หรือเดตแรก ล้วนมีโรงหนัง และป๊อปคอร์นเป็นส่วนประกอบสำคัญ จนการดูหนังจอใหญ่ในที่มืด จะขายขนมชนิดนี้ไปไม่ได้แล้ว
ด้วยข้อมูลเหล่านี้ก็คงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำไม “กฎเหล็ก” การ “ห้ามนำของกินจากที่อื่นเข้าไปโรงภาพยนตร์” เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับธุรกิจโรงหนังมาก เพราะการปล่อยให้ผู้ชมซื้อน้ำ และขนมจากที่อื่นเข้าไปกินกันตามสบายจะกระทบต่อรายได้หลักของหนังโดยตรงนั่นเอง
ส่วนคำแก้ตัวจากฝ่ายโรงหนังนั้นว่ากันว่า จริงๆ แล้วผู้ชมภาพยนตร์ต้อง “ขอบคุณ” ป๊อปคอร์น และน้ำอัดลมด้วยซ้ำไป เพราะการทำโรงหนังมีต้นทุนที่สูงมาก ถ้าไม่ขาดป๊อปคอร์นราคากระฉูด (และอัดโฆษณากันยาวเหยียด) แบบนี้ เจ้าของโรงในสหรัฐฯ ได้ถามกลับว่า “ขึ้นค่าตัวเอาไหม?”
ที่มา : manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9600000072173
]]>