พระราชพิธีบรมราชาภิเษก – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 17 Aug 2022 05:51:56 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ (เพื่อ ๒๒ องค์กรการกุศล) https://positioningmag.com/1396302 Wed, 17 Aug 2022 09:00:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396302

ด้วยสังคมไทย สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความมั่นคง เจริญก้าวหน้า มีความสามัคคี และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีมูลนิธิองค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จึงได้เกิดเป็นการผสานความร่วมมือกันระหว่าง 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศลหลักของประเทศ เพื่อร่วมพลังกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศชาติ ด้วยการจัด โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ (เพื่อ ๒๒ องค์กรการกุศล)

เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการดังกล่าว นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอร่วมเทิดพระเกียรติ และร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลนี้ด้วยการจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น  M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ ขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งท่านศาสตราจารย์กิตติคุณศักดา ศิริพันธุ์ราชบัณฑิต ได้เขียนข้อความไว้ในคำนำหนังสือ “กษัตริย์กับกล้อง” ที่ท่านเป็นผู้ประพันธ์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2547 มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า “กษัตริย์กับกล้อง” เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการฉายภาพอย่างมาก และเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงวางรากฐาน สนพระราชหฤทัย ทรงพัฒนา ทรงอนุรักษ์ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 147  ปีแล้ว”  ข้อความดังกล่าวนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจเลือกการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้  

กล้องถ่ายภาพ Leica เป็นกล้องถ่ายภาพจากเยอรมนีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปีและได้รับการการยกย่องว่าเป็นกล้องถ่ายภาพที่สร้างด้วยความประณีต ละเอียดอ่อนประหนึ่งงานศิลปะให้คุณภาพของภาพที่คมชัดมีความคงทน มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร นับเป็นยอดปรารถนาของคนที่รักการถ่ายภาพอย่างยิ่ง และเป็นที่นิยมของนานาประเทศที่จะจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่นพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่สำคัญที่สุด อาทิ วาระครบรอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ประเทศต่างๆ หรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งมักจะจัดทำในจำนวนที่จำกัดเพื่อให้เป็นของที่ทรงคุณค่า และจารึกไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่นักสะสมต่างแสวงหามาครอบครอง

การจัดทำกล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับบนกล้องได้ โดยได้จัดทำกล้องถ่ายภาพเป็นสองรูปแบบคือชุดสีเหลือง จำนวน 10 ชุด และชุดสีเขียว จำนวน 20 ชุด เพื่อนำส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดราคาชุดสีเหลืองชุดละ 1,500,000 และชุดสีเขียวชุดละ 1,000,000 บาท และเพื่อเป็นการสร้างประโยชน์อันสูงสุดให้แก่สังคมไทย และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามพระราชปณิธานในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด บริษัทฯ จึงได้ซื้อกล้องถ่ายภาพทั้งหมด และได้นำเงินรายได้จากการนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำกล้องถ่ายภาพจำนวน 22 ชุด มอบให้กับองค์กรการกุศล 22 องค์กร อันประกอบด้วย มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  / มูลนิธิราชประชานุเคราะห์   รวมไปถึง ไตรโครงการ ที่ประกอบด้วย 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ / มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังพร้อมด้วย มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย / มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) / มูลนิธิชัยพัฒนา / มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ / มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า / มูลนิธิจุฬาภรณ์  /มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE / ศิริราชมูลนิธิ / มูลนิธิรามาธิบดี / มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ / มูลนิธิคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ /  มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า /  มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ / มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ / องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) / สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์ / มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อร่วมกันจัดการประมูลขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 นี้ เพื่อนำรายได้จากการประมูลมอบให้แต่ละองค์กรนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรต่อไป

ในฐานะตัวแทนองค์กรของคนไทย และประชาชนคนไทยคนหนึ่ง มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับทั้ง 22 องค์กรการกุศล เพื่อร่วมพลังกันสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อความสุขของสังคมโดยรวมและประเทศชาติที่ยั่งยืนสืบไป”

คุณนิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า

“จากปณิธานของ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี มีความประสงค์ที่อยากจัดทำโครงการพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาส       มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งระยะเวลานั้นได้คิดว่าการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica  รุ่น M 10-P Limited Edition เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคล โดยย้อนไป เมื่อปี พ.ศ.2539 ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ได้เคยมีการจัดทำกล้อง  Leica M 6 รุ่นกาญจนาภิเษกขึ้นแล้ว โดยความร่วมมือกันระหว่างสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการครั้งนี้ ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ จึงทำให้ต้องรอเรื่องตราสัญลักษณ์ที่จะออกมารวมไปถึงเรื่องของการขออนุญาตในการจัดทำ แต่ในระหว่างนั้นคุณฐาปน ได้ส่งให้ผมเดินทางไปที่บริษัท Leica ประเทศเยอรมันนี เพื่อไปปรึกษาและหาช่องทางในความเป็นไปได้ในการจัดทำกล้องรุ่นพิเศษนี้ซึ่งเป็นการเตรียมการไว้ก่อน ต่อมาในปี 2562 ได้มีการกำหนดเรื่องของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการออกแบบตราสัญลักษณ์เรียบร้อยแล้ว และจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาว่าจะใช้ตราสัญลักษณ์อย่างไร ซึ่งทางไทยเบฟ ได้ทำการขออนุญาตคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้รับอนุญาตนำตราสัญลักษณ์มาประดิษฐสถานบนตัวกล้องได้ จากนั้นได้มีการเริ่มต้นที่จะประสานกับบริษัท Leica ในเรื่องของรูปแบบของกล้องที่ต้องการ วัสดุที่ต้องการใช้ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ และได้เริ่มดำเนินการดังกล่าว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้งานโครงการนี้ล่าช้าอย่างมาก เพราะทั้งเรื่องของการผลิตต่าง ๆ และเรื่องของมาตรการของรัฐบาลของประเทศเยอรมันนีที่ปิดโรงงานผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ และพอสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ยังประสบปัญหาเรื่องวัสดุชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผลิตมาจากหลายมุมโลกก็ยังส่งออกไม่ได้ ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้า เพราะการผลิตด้วยการชุบทองคำแท้เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและยากมาก ซึ่งกว่าจะผลิตสำเร็จเวลาก็ลุล่วงมาจนถึงปี 2565 และเราก็ได้รับกล้องมา และดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน โดยผู้สนใจร่วมการประมูลสามารถติดต่อและแสดงความเจตจำนงเข้าร่วมได้ที่มูลนิธิทั้ง 22 มูลนิธิ หรือขอ Catalog จาก Christies และกรอกแบบฟอร์ม Written Bid Form ไว้ก่อน พร้อมแจ้งเจตุจำนงค์เข้าร่วมงานประมูลในวันที่ 30 กันยายน ทางทีมงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อท่าน เพื่อเชิญเข้าร่วมการประมูลต่อไป

นายตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติ และความพิเศษของกล้อง Leica รุ่น M 10-P Limited Edition ที่นำมาประมูลในโครงการครั้งนี้ว่า

“ สำหรับกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษก จัดสร้างทั้งหมดสองแบบ คือ ชุดสองเลนส์ ประกอบด้วย กล้องดิจิตัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง พร้อมเลนส์ APO Summicron-  M 1:2/50 ASPH และเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH ผลิตทั้งสิ้น 10 ชุด และอีกชุดคือ ชุดหนึ่งเลนส์ ประกอบด้วย กล้องดิจิตัล Leica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พร้อมเลนส์ Summilux M1:1.4/35  ASPH ผลิตทั้งสิ้น 20 ชุด ส่วนความพิเศษของกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษกนี้คือ เป็นสีทองคำแท้แบบไม่มันวาว ทั้งชุด กล้อง และเลนส์ทุกตัวมีหมายเลขกำกับ 1/10  ถึงลำดับหมายเลข 10/10  และ 1/20ถึงลำดับหมายเลข  20/20 ทำให้กล้องชุดนี้มีคุณค่าในเชิงสะสมเนื่องจากมีเพียง 30 ชุดในโลกเท่านั้น เป็นหนังจระเข้ ทำให้แต่ละกล้องมีลวดลายไม่เหมือนกัน มีความเฉพาะตัวสูง รวมถึงสายสะพายกล้องด้วย ซึ่งไม่เคยมีทำจากโรงงานมาก่อน เลนส์ apo 50  ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นเลนส์ 50 มิลที่ดีที่สุดในโลก แต่อยู่ในเปลือกเลนส์แบบวินเทจหรือที่เรียกกันว่าเวอร์ชั่น1 (v1) มะเฟือง ซึ่งไม่เคยมีการผลิตมาก่อน และเป็นรุ่นm10p การใช้รหัส p จะทำให้กล้องไม่มีโลโก้สีแดง ที่หน้ากล้องซึ่งจะเป็นความชื่นชอบของผู้ที่รักและสะสมกล้องไลก้า”

เรียกว่าเป็นพลังร่วมครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของ 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศล ที่เชิญชวนผู้สนใจ และวงการนักสะสมกล้องมาร่วมกันสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่า ร่วมกันทำความดี เพื่อสร้างประโยชน์สุขเพื่อสังคม และประเทศชาติให้ยั่งยืน สืบไป

]]>
1396302
พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก https://positioningmag.com/1228264 Sun, 05 May 2019 11:12:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1228264

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

• สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

• พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

• สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

• สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

• สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน์ วรขัตติยราชนารี พระราชทานเหรียญรัตนภรณ์รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑

 • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ

• สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนธิราเทพยบดี

• สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ราชกัญญา

• สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

• พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

• พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

]]>
1228264
8 พระที่นั่งสำคัญใน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐” https://positioningmag.com/1228188 Sat, 04 May 2019 09:55:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1228188 ส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีสถานที่สำคัญซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีหลายจุด โดยเฉพาะภายในหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีสำคัญอื่นๆ ในพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา

หมู่พระมหามณเฑียร

สำหรับ “หมู่พระมหามณเฑียร” คือกลุ่มพระที่นั่งหลังคาทรงจั่ว สร้างเชื่อมพระที่นั่งประธานสามหลังประกอบไปด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตั้งอยู่เบื้องตะวันออกของเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๒๘ เพื่อใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ได้ใช้พระที่นั่งสำคัญสำหรับประกอบพระราชพิธี ดังนี้

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ลักษณะเป็นพระมหาปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่เบื้องตะวันตกของเขตพระราชฐานชั้นกลางในพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๓๒ ทดแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ภายหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพจนเป็นธรรมเนียม

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกราบถวายบังคมและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระที่นั่งนี้

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน กับ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ผนังด้านทิศเหนือประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ด้านหลังพระวิมานเป็นพระทวารเทวราชมเหศวร ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาทิ การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และการเชิญพระสุพรรณบัฎ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่นั่งสาคัญในหมู่พระมหามณเฑียร ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยอาคาร ๓ หลังเรียงต่อกันในแนวตะวันออก – ตะวันตก เป็นพระวิมานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จึงใช้พระที่นั่งองค์นี้ สำหรับประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร อันเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ปัจจุบันพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงและเครื่องราชูปโภค

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

เป็นพระแท่น หรือพระที่นั่ง หรือพระราชอาสน์ ทำจากไม้อุทุมพร หรือ “มะเดื่อ” ทรงแปดเหลี่ยมจึงเรียกว่า “พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” สลักปิดทองประดับกระจก กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตรหรือสัปตปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว ๗ ชั้น ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านมุขตะวันออกในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระมหากษัตริย์ เสด็จขึ้นประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระที่นั่งภัทรบิฐ

ประดิษฐานอยู่เบื้องตะวันตกเฉียงเหนือในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ลักษณะเป็นพระเก้าอี้ถมทอง พนักและเท้าแขนต่อเนื่องกันเป็นกงแบบเก้าอี้จีน สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องหลังปักนพปฎลมหาเศวตรฉัตร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว

เสด็จพระราชดำเนินประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภคและราชสมบัติ

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ภายในหมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน 

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญในพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นท้องพระโรงโถง ยกพื้นสูง มีมุขสองข้างทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีความสำคัญ อันได้แก่ ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เสด็จพระราชดำเนินพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทรงนมัสการพระรัตนตรัย วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เสด็จออกมหาสมาคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจาก พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถงทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท พุทธศักราช 2492 มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็นสีหบัญชร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท มีความสำคัญ โดยในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้เป็นสถานที่ออกว่าราชการ และเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ มีทั้งหมด ๑๑ องค์ แต่ภายหลังเกิดความทรุดโทรม และบางองค์ยากต่อการบูรณะ ปัจจุบันจึงเหลือทั้งหมด ๕ องค์ด้วยกัน คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีความสำคัญ โดยในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะเสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล.

Source

]]>
1228188
พระปฐมบรมราชโองการ “รัชกาลที่ ๑๐” สืบสาน รักษา ต่อยอด ครองแผ่นดินโดยธรรม https://positioningmag.com/1228227 Sat, 04 May 2019 06:55:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1228227 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” จากนั้นพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ รับพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบรมราชโองการสุรสิงหนาท ประถมธรรมิกราชวาจา ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ” พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ กราบถวายบังคม 3 ครั้ง ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน

Source

]]>
1228227
ทรงรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยสมบูรณ์ https://positioningmag.com/1228205 Sat, 04 May 2019 06:33:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1228205 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลเศวตฉัตร ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ รับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงศาสตราวุธ เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยสมบูรณ์

พลตรี ชัยยุทธ อินทจาร เชิญพระนพปฏลมหาเศวตฉัตรจากพระแท่นมณฑลมอบให้พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ขณะนี้ พราหมณ์เปาสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคม ฆ้องชัย แตร มโหระทึก และดุริยางค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้วพระราชทาน พลตรี ชัยยุทธ อินทจาร ผู้เชิญรับเชิญไว้ เมื่อเสด็จ ฯ ไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐให้เชิญตามเสด็จ จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานใบมะตูมคืนแก่พันโท สมชาย กาญจนมณี แล้วเสด็จเข้าริ้วขบวนไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐ โดยมีคณะพราหมณ์โปรยข้าวตอก ดอกไม้ นำเสด็จ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฏลมหาเศวตฉัตรแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา พลตรี ชัยยุทธ อินทจาร เชิญพระนพปฏลมหาเศวตฉัตรอยู่ด้านซ้ายพระที่นั่งภัทรบิฐแถวหน้า พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ที่พระหัตถ์ด้วยพระมหาสังข์พิธีพราหมณ์ ถวายใบมะตูมทรงทัด พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ กล่าวเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกรลาส พราหมณ์เป่าสังข์ พราหมณ์เปิดศิวาลัยไกรลาส จบ กราบบังคมทูลถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ และเครื่องขัตยราชูปโภค ตามลำดับ พระราชพิธีช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เพราะทรงจะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นการออกพระนามทั้งหมดจะต้องเรียกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายจิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ เชิญพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยจากพระแท่นมณฑล มอบพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ทูลเกล้าฯ ถวาย ขณะนี้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย แตร มโหระทึกและดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค กระบอกละ 10 นัด (ตามกำลังวันเสาร์) ที่สนามหญ้าหน้าศาลาสหทัยสมาคม ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 101 นัด

พระสงฆ์ในพระอารามทั่วราชอาณาจักร ย่ำระฆัง ถวายชัยมงคล 7 ลา ทรงรับแล้วพระราชทาน นายจิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ เชิญไปยืนข้างพระที่นั่งเบื้องขวาต้นแถวใน เจ้าพนักงานเชิญเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงจากพระแท่นมณฑล มอบพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ สำหรับทูลเกล้าฯ ถวาย ตามลำดับ ดังนั้น พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ถวายพระสังวาลพราหมณ์ธุรำ ทรงรับแล้วทรงสวมพระเศียร แล้วทรงสอดพระหัตถ์ขวา

พันโท คึกพล ชมชูเวชช์ ผู้เชิญรับพานไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ ทรงรับแล้วทรงสวมพระเศียร แล้วทรงสอดพระหัตถ์ซ้าย พันโท จอมไตร กิจประสาน ผู้เชิญรับพานไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, พระสังวาลพระนพ ทรงรับแล้วทรงสวมพระเศียร แล้วทรงสอดพระหัตถ์ซ้าย พันตำรวจเอก อนุวัต พิชาดุลย์ ผู้เชิญรับพานไปที่ยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, พระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงรับแล้ว ทรงสวม

ในช่วงนี้พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย แตร มโหระทึก และดุริยางค์ พันตรี วันนิวัติ คำวิลัย ผู้เชิญรับพานแล้วไปยืนเชิญเบื้องขวาพระที่นั่งต้นแถวนอก นายเจริญศักดิ์ คารีขันธ์ ถวายผูกที่พระหนุด้านหน้า แล้วนายมนัส เสือเปลี่ยว ถวายประคองด้านหลัง, พระแสงขรรค์ชัยศรี ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะข้างพระที่นั่งเบื้องซ้าย พันเอก ณฤทธิ์ เจริญครองสกุล ผู้เชิญรับพานไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, พระแส้จามรี ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะข้างพระที่นั่งเบื้องซ้าย

พันตรี สมโภชน์ ทรงเจริญ ผู้เชิญรับพานไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, พระแส้ขนหางช้างเผือก ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะข้างพระที่นั่งเบื้องซ้าย พันตรี ธีรเจษฏ์ มลายอริศูนย์ ผู้เชิญรับพานไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, ธารพระกรชัยพฤกษ์ ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะข้างพระที่นั่งเบื้องขวา พันเอก กิ่งเพชร แก้วสำอางค์ ผู้เชิญรับพานไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, พัดวาลวิชนี ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะข้างพระที่นั่งเบื้องขวา

พันเอก สุทธินันท์ จูบาง ผู้เชิญรับพานไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์, พระธำมรงค์รัตนวราวุธ ทรงรับแล้ว ทรงสวมพระดัชนีพระหัตถ์ขวา พันเอก บวงสรวง บุนนาค ผู้เชิญรับพานไปยืนเชิญเบื้องขวาพระที่นั่ง คนที่ 2 แถวใน, พระธำมรงค์วิเชียรจินดา ทรงรับแล้ว ทรงสวมพระดัชนีพระหัตถ์ซ้าย นาวาอากาศตรี กิติพงศ์ ชลังสุทธิ์ ผู้เชิญรับพานไปยืนเชิญเบื้องซ้ายพระที่นั่ง คนที่ 2 แถวใน, พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ สอดฉลองพระบาทเชิงงอนถวาย ขวาและซ้าย พันตรี กวิน ปราสาทหินพิมาย ผู้เชิญรับพานไปยืนเชิญเบื้องชัยพระที่นั่ง ต้นแถวใน

พันเอก เพทาย ซังเอียด เชิญพานพระขันหมากทองคำลงยาองค์ใหญ่เครื่องพร้อม และ พันเอก สกล สิทธิประภา เชิญพระสุพรรณศรีบัวแฉกไปทอดบนโต๊ะเบื้องขวาพระที่นั่ง จากนั้นไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์ พลตรี มานพ ลอยเมฆ เชิญพระมณฑปทองคำลงยาพร้อมพานรองมีพระจอก และ พันเอก สัญญา สาริบุตร เชิญพระเต้าทักษิโณทกทองคำลงยาองค์เล็กไปทอดบนโต๊ะบนซ้ายพระที่นั่ง จากนั้นไปยืนที่ชั้นลด เบื้องขวาพระราชอาสน์

พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ เชิญพระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง ไปยืนเชิญเบื้องขวาพระที่นั่งคนที่ 2 แถวนอก ธารพระกรเทวรูป ทรงรับแล้วพระราชทาน พล.อ.ต.ศิริพัฒน์ สุขเจริญ ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องซ้ายพระที่นั่ง คนที่ 2 แถวนอก พระแสงจักร ทรงรับแล้วพระราชทาน นายพิธาน เหี้ยมโท ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องขวาพระที่นั่ง คนที่ 3 แถวใน พระแสงตรีศูล ทรงรับแล้วพระราชทาน พ.ท.ไพบูลย์ ผจญแกล้ว ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องซ้ายพระที่นั่ง คนที่ 3 แถวใน พระแสงหอกเพชรรัตน ทรงรับแล้วพระราชทาน พ.ท.เอกชัย คู่กระสัง ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องขวาพระที่นั่งคนที่ 3 แถวนอก พระแสงธนู ทรงรับแล้วพระราชทาน พ.ท.มนตรา ประถมภัฎ ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องขวาพระที่นั่ง คนที่ 4 แถวใน พระแสงดาบเขน ทรงรับแล้วพระราชทาน พล.ต.กัลย์สรรค์ จันทรเสน ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องซ้ายพระที่นั่งคนที่ 4 แถวใน

พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ทรงรับแล้วพระราชทาน พ.อ.อัศวิน เจริญชัยวัฒน์ ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องขวาพระที่นั่งคนที่ 4 แถวนอก พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย ทรงรับแล้วพระราชทาน พล.อ.ต.สุรศักดิ์ กนิษฐานนท์ ผู้เชิญรับไปยืนเชิญเบื้องซ้ายพระที่นั่ง คนที่ 4 แถวนอก พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ถวายอนุษฏภศิวมนตร์จบ พราหมณ์เป่าสังข์และถวายอนุษฏุภวิษณุมนตร์จบ พราหมณ์เป่าสังข์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ กราบถวายบังคม 3 ครั้ง และถวายพระพรชัยมงคล จบแล้ว พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ กราบถวายบังคม 3 ครั้ง

Source

]]>
1228205
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงภูษาเศวตพัสตร์ รับน้ำสรงพระมุรธาภิเษก https://positioningmag.com/1228161 Sat, 04 May 2019 03:53:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1228161 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในพระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษก โดยทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ ในมณฑปพระกระยาสนาน ทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา สมเด็จพระสังฆราช ถวายน้ำพระพุทธมนต์ ราชครูพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ น้ำเทพมนตร์ และถวายใบมะตูม 

วันนี้ (4 พ.ค.) เวลา 09.57 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วเสด็จเข้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ โดยเสด็จในการนี้ด้วย ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางพระทวารเทวราชมเหศวร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระรัตนตรัยหน้าพระแท่นมณฑล แล้วประทับพระราชอาสน์ทรงศีล

จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ เป็นพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิปทอง เสด็จไปยังชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ภายในมณฑปพระกระยาสนาน เพื่อทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา ขณะทรงสรงพระมุรธาภิเษก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสงข์ แตร มโหระทึก และเครื่องดุริยางค์ทหารกองเกียรติยศ ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ จากนั้นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายน้ำพระพุทธมนต์ พระราชครูพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ น้ำเทพมนตร์ และถวายใบมะตูม

Source

]]>
1228161
ไกด์ไลน์ “คอนเทนต์-โฆษณา” สื่อออนไลน์ ช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก https://positioningmag.com/1223155 Wed, 03 Apr 2019 04:30:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1223155 ตามที่ กสทช. โดยกรมประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่ข้อมูลแนวทางการออกอากาศในห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์

“3 สมาคม” ด้านสื่อออนไลน์ ประกอบด้วย สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้แจ้งแนวปฏิบัติในห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 และขอความร่วมมือสมาชิกสมาคมฯ พิจารณาปฏิบัติ จัดการโฆษณา จัดการเนื้อหา ในห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนี้

การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ 

ขอความร่วมมือเผยแพร่เนื้อหาพิเศษเกี่ยวกับ การเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจัดทำเป็นหน้าเว็บเพจขึ้นใหม่ ดังนี้

  • การแสดงตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้ปรากฏในตำแหน่งมุมบนด้านซ้ายมือของผู้ชม โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมในการแสดงภาพตราสัญลักษณ์บนหน้าจอ เช่น ไม่ควรมีภาพที่ไม่เหมาะสมปรากฏร่วมกับตราสัญลักษณ์ หรือมิให้มีภาพที่อื่นใดบดบังตราสัญลักษณ์ เป็นต้น
  • ให้ยึดถือข้อมูลจากคณะกรรมการประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นหลัก
  • ไม่ให้มีโฆษณาในหน้าเว็บเพจที่ได้จัดทำขึ้นนี้

การโฆษณาประเภท Online Video

ขอความร่วมมือให้งดเว้นการโฆษณาประเภท Online Video ในช่วงวันและเวลาที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

  • เดือนเมษายน : วันที่ 6, 18 และ 19  
  • เดือนพฤษภาคม : วันที่ 2, 3, 4, 5 และ 6

การโฆษณาประเภท Display และรูปแบบอื่นๆ

ขอให้ระมัดระวังการโฆษณา โดยให้คำนึงความเหมาะสมและให้ปฏิบัติตามกระแส หลักเกณฑ์ ตามที่ กสทช. กำหนด

  • ไม่ให้มีแบนเนอร์หรือโฆษณาอยู่บนหน้าจอเดียวกับเนื้อหางานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • สามารถแสดงข้อความการแสดงความจงรักภักดีได้ โดยปรากฏพระฉายาลัักษณ์และใช้ถ้อยคำ ให้มีความเหมาะสมต่อห้วงบรรยากาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • โฆษณาที่ลงในหน้าเว็บเพจอื่นๆ ขอให้เนื้อหาโฆษณามีความเหมาะสมต่อบรรยากาศห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
]]>
1223155