พฤติกรรมการออมเงิน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 29 Sep 2020 00:54:51 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มองธุรกิจประกัน หลังโควิด เบี้ยรับรวมหดตัวลึก คนเลี่ยงซื้อเพื่อออม เพราะผลตอบเเทนต่ำ  https://positioningmag.com/1299102 Mon, 28 Sep 2020 18:20:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1299102 COVID-19 ฉุดภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตปีนี้หดตัวต่อเนื่อง เบี้ยรับรายใหม่เสี่ยงที่จะหดตัวต่ำเป็นประวัติการณ์แตะเลขสองหลัก คนซื้อประกันเพื่อออมลดลง เพราะผลตอบเเทนต่ำไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ประกันชีวิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดย 7 เดือนแรกของปี 2563 ภาพรวม “เบี้ยประกันชีวิต” อยู่ที่ 5.74-5.99 แสนล้านบาท หดตัวลง 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าปีนี้จะหดตัวในกรอบ ติดลบ 2-6% ถือว่าติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

“คาดว่าเบี้ยรับรายใหม่ มีความเสี่ยงที่จะหดตัวต่ำเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับติดลบ 10-15% แม้ว่าเบี้ยปีต่ออายุน่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้” 

Photo : Shutterstock

โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยในปีนี้ มีการเติบโตที่หดตัว ได้เเก่

1) ปัจจัยเดิม : ฐานธุรกิจเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium: SP) ที่สูง และบริษัทยังจำเป็นต้องปรับลดพอร์ตประกันประเภทจ่ายครั้งเดียวลง เพื่อลดภาระในการตั้งสำรองประกันภัยเมื่อเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่

2) ปัจจัยใหม่ : อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้บริษัทประกันปรับลดอัตราผลตอบแทน (Internal Rate of Return หรือ IRR) ของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขายในปีนี้ลง เหลือเพียงเฉลี่ย 1% ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบสถาบันการเงินบางประเภทที่มีระยะเวลาการออมสั้นกว่า ลดแรงจูงใจในการออมผ่านการซื้อประกันลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับบน และกลุ่มลูกค้าระดับกลางบางส่วนที่ถูกกระทบจากวิกฤต COVID-19  สุดท้ายแล้ว อาจกระทบให้เบี้ยใหม่ในภาพรวม หดตัวแตะเลขสองหลัก

โดยในระยะที่เหลือของปีนี้ คาดว่าเบี้ยรับรวมจะยังหดตัวต่อเนื่อง ทำให้เบี้ยรับรวมของทั้งปี 2563 คาดว่าจะหดตัวในกรอบ -2% ถึง -6% เป็น 5.74-5.99 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่หดตัวลง -2.6% YoY ด้วยเบี้ยรับรวม 6.11 แสนล้านบาท นำโดยทิศทางการหดตัวของเบี้ยรับรายใหม่ (New Business) ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง -10% ถึง -15% ส่วนเบี้ยปีต่ออายุ (RYP) คาดว่าจะอยู่ในระดับประคองตัวหลังปรับฐานลงค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทประกันชีวิตต่างปรับตัวเพื่อเข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่ม ทั้งแบบสามัญ (Basic Plan) บำนาญ ยูนิตลิงก์ และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (โดยส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทยูนิตลิงก์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ อยู่ที่ระดับประมาณ 5% ปรับตัวลดลงในช่วงปี 2562-2563 จากระดับสูงสุดในปี 2561 ที่ระดับ 7.2%)

โดยมองว่าควรปรับทุนประกันของแผนประกันชีวิตสัญญาหลักให้เล็กลง ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ และขยายโอกาสการเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น เเละคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี เบี้ยประกันสุขภาพน่าจะปรับตัวดีขึ้น และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 

Photo : Shutterstock

ส่วนหนึ่งที่จะทำให้เบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยบวกของการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี สำหรับการซื้อประกันสุขภาพเป็น 25,000 บาทต่อปี รวมถึงความตื่นตัวหลังสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทประกันชีวิตหลายแห่ง ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโรคร้ายแรงขึ้นเป็นการเฉพาะ

ประกอบกับภาวะที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2564 ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นการซื้อใหม่และซื้อเพิ่ม ดังสะท้อนจากสัดส่วนเบี้ยประกันสุขภาพต่อเบี้ยประกันสัญญาหลักรายบุคคล ที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอด 5 ปี และคาดว่าจะแตะระดับ 20% ในปีนี้ จากระดับ 10.3% ในปี 2558

“ปัญหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่อยู่ระดับต่ำนี้ ยังน่าจะปรากฏต่อเนื่องในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ ในระหว่างที่เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับเข้าสู่ระดับช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19” 

ส่วนประเด็นที่น่าจับตามองต่อไป ข้อเรียกร้องจากบริษัทประกันชีวิตที่ขออนุมัติการขายประกันสุขภาพเดี่ยว โดยไม่ต้องควบคู่กับสัญญาหลัก เหมือนปัจจุบันประกันวินาศภัยขายอยู่เดิม ขณะที่การบริหารต้นทุนของบริษัทประกันภัยโดยเฉพาะค่าคอมมิชชันอาจมีการปรับลดลง ในส่วนของลูกค้าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้ลูกค้าที่คงเงินปันผลสะสมไว้ในบริษัทด้วย

Photo : Shutterstock

ในอีกทางหนึ่งครึ่งปีแรก 2563 ธุรกิจประกันชีวิต มีตัวช่วยจากค่าใช้จ่ายจากการเคลมสินไหมที่ลดลง จากสถานการณ์การ COVID-19 ที่ทำให้จำนวนการเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลลดลงตามไปด้วย

โดยครึ่งแรกปีนี้ธุรกิจประกันชีวิตมีรายจ่ายจากการเคลมสินไหมรวมลดลงกว่า 9% เป็นประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาท เทียบกับที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดโดยในปี 2562 มียอดจ่ายสินไหมที่ 5.06 หมื่นล้านบาท แต่ก็เพียงเป็นปัจจัยบวกชั่วคราว ท่ามกลางปัจจัยลบที่กดดันธุรกิจ

“นอกจากตัวผลิตภัณฑ์แล้ว บริษัทประกันชีวิตยังมีโจทย์ในการปรับปรุงช่องทางขายและบริการผ่านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งมีผลกระตุ้นช่องทางขายหลักเดิมทั้งตัวแทนและแบงก์แอสชัวรันส์ ให้ตื่นตัวในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการหลังการขายบนดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับนายหน้ารายใหม่ที่เน้นเข้าถึงลูกค้าบนโลกออนไลน์เป็นหลัก”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เเนะว่า ทิศทางที่น่าจะตอบโจทย์ใหม่ของธุรกิจประกันชีวิตหลังจากนี้ จำเป็นต้องพึ่งจุดเด่นของธุรกิจในด้านความคุ้มครองอย่างแท้จริง มากกว่าการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อประกันเพื่อผลตอบแทนด้านภาษีและอัตราดอกเบี้ยอย่างที่เคยเป็นมา เมื่อต้องเจออัตราดอกเบี้ยในประเทศที่จะยังทรงตัวต่ำต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า

 

]]>
1299102
5 ข้อเท็จจริงในรอบทศวรรษ : คนไทยจนลง ใช้น้อยลง ออมน้อยลง เป็นหนี้มากขึ้น พึ่งรัฐบาลสูงขึ้น https://positioningmag.com/1258042 Sat, 21 Dec 2019 18:55:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1258042 EIC หน่วยงานวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หยิบผลสำรวจครัวเรือน 4 หมื่นครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2562 มาเปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลังเมื่อปี 2552 และพบ “5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการเงินครัวเรือนไทย” หลังผ่านไปหนึ่งทศวรรษ ดูเหมือนว่าคนไทยกำลังจนลงสวนทางกับจีดีพีประเทศที่โตขึ้น ติดตามอ่านได้ในรายงานฉบับนี้

 

1.“รายได้” เฉลี่ยครัวเรือนไทย “ลดลง” -2.1% เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
by EIC

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.1% จากในปี 2560 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากในช่วงก่อนหน้านี้ที่รายได้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และเมื่อเทียบกับ nominal GDP ที่เติบโตขึ้น 7.6% ในช่วงเดียวกัน เป็นที่น่าแปลกใจที่รายได้ครัวเรือนลดลงสวนทางเศรษฐกิจ

เมื่อเจาะลึกลงไป EIC มองแยกเป็น 4 ส่วนของแหล่งที่มาของเงินในครัวเรือน และพบข้อเท็จจริงดังนี้

  • รายได้จากการเป็นลูกจ้างลดลง -1.6% จากรายได้ค่าจ้าง 22,237 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 ลดเหลือ 21,879 บาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งน่าจะมาจากการลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง (ไม่มีการจ้างทำโอทีหรือจ้างน้อยลง) ผสมผสานกับการปรับโครงสร้างระยะยาวของอุตสาหกรรม เช่น หันไปใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอื่น
  • รายได้จากภาคเกษตรกรรมลดลง -4.8% กำไรกิจการการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 7,048 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ลดลง -4.8% จาก 2 ปีก่อนหน้า เนื่องจากเผชิญภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งกำไรส่วนนี้ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556
  • รายได้จากกิจการนอกภาคเกษตรกรรมลดลง -3.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 19,269 บาท ลดลงจาก 18,685 บาทในปี 2560 หรือลดลง -3.0% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและพบการแข่งขันรุนแรงจากธุรกิจใหญ่
  • รายได้ประเภทอื่นๆ ทรงตัว รายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุน ดอกเบี้ยจากเงินออม เงินโอนจากภาครัฐ เงินโอนจากผู้อื่น ฯลฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 7,806 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

 

2.ครัวเรือนไทย “ใช้จ่าย” ลดลง -0.9% เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีอีกเช่นกัน
by EIC

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ลดลง -0.9% จาก 21,437 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี การใช้จ่ายที่ลดลงเป็นไปตามรายได้ที่ลดลงนั่นเอง และยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย

เมื่อดูสัดส่วนการใช้จ่ายของคนไทย พบว่าหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายลงทั้งสิ้น ดังนี้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (-44.9%), ค่าจ้างผู้ดูแลบ้าน (-30.7%), ยาสูบและบุหรี่ (-30%), กิจกรรมสันทนาการ (-11.5%) และการท่องเที่ยว (-8.2%)

นอกจากนี้ยังลดการใช้จ่ายสินค้าจำเป็นบางกลุ่มด้วย เช่น อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (-4.1%), การศึกษา (-11.1%), การรักษาพยาบาล (-13%)

มีเพียงหมวดใช้จ่ายเดียวที่เติบโตมาตลอด 10 ปีและยังไม่ลดลงคือ ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

 

3.“หนี้” ครัวเรือนไทยสูงขึ้น 2.6% สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
by EIC

รายได้ลด ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังเป็นหนี้เพิ่ม EIC จับข้อมูลเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้อยู่แล้ว (คิดเป็น 46.3% ของครัวเรือนทั้งหมด) พบว่า ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 2.6% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (หารเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) เพิ่มขึ้นจาก 96.1% มาเป็น 97.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

หนี้พวกนี้มาจากไหน? หากแยกออกเป็น 4 กลุ่มจะเห็นได้ชัดว่าก้อนหนี้ที่บวมขึ้นส่วนใหญ่มาจากการซื้อบ้านและการกู้มาทำการเกษตร ขณะที่หนี้ทำธุรกิจลดลงเพราะมีครัวเรือนที่ประกอบกิจการน้อยลง ดังนี้

  • หนี้บ้านเพิ่ม 5% การก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 128,287 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 135,312 บาทต่อครัวเรือน ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 36.3% มาเป็น 37.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552
  • หนี้การบริโภคเพิ่ม 1% หนี้เพื่อการบริโภค (รวมหนี้รถยนต์) ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของครัวเรือนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 137,678 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 139,904 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 1%
  • หนี้ธุรกิจเกษตรเพิ่ม 7% จาก 49,273 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 51,574 บาทต่อครัวเรือน ทั้งที่กำไรธุรกิจเกษตรลดลงแต่ก็ยังมีหนี้เพิ่ม คาดว่าเกิดจากเกษตรกรก่อหนี้มาประคองธุรกิจไปก่อน และภาครัฐยังให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอยู่ต่อเนื่อง
  • หนี้ธุรกิจนอกภาคเกษตรลด -2.1% เป็นกลุ่มเดียวที่ลดลง จาก 30,120 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 29,478 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน และครัวเรือนที่ทำกิจการนอกภาคเกษตรก็ลดลงจาก 30.5% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 25.2%

 

4.ครัวเรือนไทย “ออมลดลง” -2.4% สัดส่วนเงินออมต่อรายได้ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
by EIC

เงินออมครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.4% จากปี 2560 ที่ 1,718 บาท สัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่เพียง 6.4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 โดยอัตราการออมของครัวเรือนไทยเคยสูงสุดอยู่ที่ 11.0% เมื่อปี 2554

หนำซ้ำ ครัวเรือนที่เป็นหนี้เกือบ 60% จะไม่เหลือเงินออมเลยในปัจจุบัน และสัดส่วนเกือบ 60% นี้มีสินทรัพย์เป็น “กันชนทางการเงิน” คือเงินสำรองที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายมีใช้ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

 

5.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 20% ต้องพึ่งเงินจากรัฐมากขึ้น
by EIC

กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนนั้นคิดเป็น 20% ของจำนวนครัวเรือนที่สำรวจทั้งหมด พบว่ากลุ่มนี้ต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 813 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 11.6% ต่อรายได้ทั้งหมด เงินก้อนนี้ช่วยให้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบางทางการเงินเพราะมีอัตราหนี้สินสูงกว่ารายได้คือ หนี้สินคิดเป็น 117.8% ของรายได้ และถ้าหากไม่มีเงินช่วยเหลือของรัฐ ตัวเลขนี้จะพุ่งขึ้นเป็น 134.2%

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ EIC สรุปว่าภาวะการเงินของครัวเรือนไทยกำลังซบเซาลงจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งมีผลต่อการใช้จ่ายและกู้ยืมในภายภาคหน้า และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือผู้มีรายได้น้อยซึ่งเปราะบางทางการเงินมากและต้องการการช่วยเหลือจากรัฐ

]]>
1258042