ยุคสมัยที่การโตให้ไวต้องอาศัยไอเดียจากภายนอก ทำให้ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU แปลงศูนย์นวัตกรรมของบริษัทที่ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อ 6 ปีก่อน เปิดรับสตาร์ทอัพมาร่วมโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งการเติบโต SPACE-F
งานนี้เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่ายคือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) , ไทยยูเนี่ยน และ ม.มหิดล ที่ให้การสนับสนุนแบบสามประสาน โดย NIA ในฐานะหน่วยงานรัฐเป็นผู้เปิดโอกาสเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ และให้คำปรึกษาด้านขั้นตอนราชการและกฎหมาย ส่วนไทยยูเนี่ยนในฐานะบริษัทเอกชนที่ขยายตลาดไปทั่วโลก จะให้การสนับสนุนทุนตั้งต้น (Initiative Fund) ด้านการตลาด พัฒนางานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ขณะที่ ม.มหิดล คือผู้สนับสนุนพื้นที่ เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากร และโอกาสเข้าถึงฐานข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย
หลังจากเปิดรับสมัคร Batch 1 มีผู้สมัคร 142 ทีมทั่วโลก คณะกรรมการได้คัดเลือกจนเหลือ 23 ทีมสุดท้าย แบ่งเป็นทีมประเภทบ่มเพาะนวัตกรรม (incubator) 12 ทีม ซึ่งจะได้ร่วมโปรแกรมนาน 15 เดือน และประเภทเร่งผลักดันความสำเร็จ (accelerator) 11 ทีม ร่วมโปรแกรมนาน 8 เดือน
ที่กล่าวว่า ‘ทั่วโลก’ นั้นเป็นเพราะ SPACE-F มีทีมจากประเทศอื่นๆ เข้าร่วมด้วย ได้แก่ สิงคโปร์ อินเดีย สหรัฐฯ เยอรมนี และนอร์เวย์ โดย “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการ NIA กล่าวถึงภาพรวมด้าน FoodTech ของไทยว่ามีสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ราว 150 บริษัท แต่ส่วนใหญ่หลักร้อยบริษัทเป็นกลุ่มแพลตฟอร์มให้บริการ ขณะที่สตาร์ทอัพสาย Deep Technology คือเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่จากงานวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยีนั้นมีเพียงหลักสิบ ซึ่งน้อยเกินไปและทำให้การส่งเสริมด้าน FoodTech ต้องเปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีจุดแข็งที่ทำให้สตาร์ทอัพต่างชาติสนใจ เพราะไทยมีบริษัทด้านอาหารขนาดใหญ่ระดับโลกอยู่หลายบริษัท และเริ่มปรับตัวมาตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอลให้ทุนกับสตาร์ทอัพ รวมถึงในประเทศเป็นแหล่งซัพพลายเชนวัตถุดิบพร้อมกับตลาดขนาด 70 ล้านคนที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นสเกลอัพได้
ฟาก “ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ” ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ฉายภาพระดับโลกว่า ประเทศไทยไม่ได้น้อยหน้าใครด้าน FoodTech เพราะสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ในโลกเช่นกัน
“FoodTech เราไม่ได้ล้าหลังนะเพราะมันใหม่มาก และเป็นงานที่ต้องใช้เวลาสูง ทำให้ทุกคนก็เพิ่งเริ่ม พอเราเปิดรับสมัครโปรแกรมนี้ทำให้เห็นเลยว่าจริงๆ คนไทยเรามีไอเดียเยอะ เพียงแต่ยังมีจุดอ่อนคือสตาร์ทอัพไทยยังไม่มองไปไกลกว่าประเทศไทย ซึ่งเราจะนำมุมมองระดับโลกของ TU เข้าไปทำให้เขาเห็นว่า คู่แข่งเขาไม่ได้อยู่ข้างๆ แต่อยู่ทั่วโลก” ดร.ธัญญวัฒน์ ให้มุมมองต่อโครงการนี้
ใน 23 ทีมที่ติด Batch 1 ของ SPACE-F กลุ่มบ่มเพาะนวัตกรรมนั้นมีหลายบริษัทที่อยู่ในระดับ ‘pre-seed’ คือมาพร้อมไอเดียและงานวิจัยตั้งต้นโดยยังไม่มีสินค้าหรือการระดมทุนใดๆ มาก่อนเลย สะท้อนให้เห็นความตั้งใจของโปรแกรมที่จะช่วยเหลือสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ให้ตั้งไข่
“เราหวังว่าพวกเขาจะเกิด success story เพื่อให้นักวิจัยอยากจะต่อยอดงานให้เกิดเป็นธุรกิจจริงๆ” รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวเสริม
สตาร์ทอัพใน SPACE-F ที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น EAT Straw หลอดรับประทานได้จากข้าวสาลี, Phum Meal เทคโนโลยีปลูกผำ/ไข่น้ำ ซูเปอร์ฟู้ดผักที่มีโปรตีนสูง, HydroNeo ระบบ IoT สำหรับฟาร์มกุ้ง, JuiceInnova8 เทคโนโลยีลดน้ำตาลในน้ำผลไม้, Khaisook ไข่ขาวพร้อมทานเจาะกลุ่มผู้ป่วย เป็นต้น
แล้วฝั่งไทยยูเนี่ยนได้อะไรจากการสนับสนุนสตาร์ทอัพเหล่านี้ที่เห็นได้ว่า ไม่ได้เจาะจงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทยยูเนี่ยน
ดร.ธัญญวัฒน์บอกว่า โครงการนี้ไม่ได้มุ่งเป้าเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับปัจจุบันของไทยยูเนี่ยน เพราะบริษัทมองไกลไปในอนาคตอยู่แล้วว่าวันหนึ่งอาหารทะเลอาจจะไม่เพียงพอและคนต้องมองหาโปรตีนทดแทนอื่นๆ
“เราอยากเป็นตัวกลาง อนาคตจะชวนรายอื่นๆ มาร่วมสนับสนุนโครงการ และมองแหล่งทุนจากทั่วโลกให้มาร่วมลงทุนในไทย”
ก่อนหน้านี้ไทยยูเนี่ยนเพิ่งประกาศจัดตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอลมูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ 3 ด้าน คือ โปรตีนทางเลือก อาหารฟังก์ชั่น และเทคโนโลยีห่วงโซ่คุณค่า และเริ่มลงทุนครั้งแรกกับบริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค จากอิสราเอล เป็นบริษัทพัฒนาการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแมลงกินผลไม้สำหรับเป็นโปรตีนทางเลือก
โครงการ SPACE-F จะเปิดรับสมัครอย่างต่อเนื่องเมื่อ Batch ก่อนหน้าจบโปรแกรม ดังนั้นจะเปิดรับสมัครใหม่ทุก 8-15 เดือน สตาร์ทอัพไทยที่ต้องการพัฒนาวงการเทคโนโลยีอาหารสามารถเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับโอกาสทะยานสู่อนาคต
]]>มาปีนี้ “ซีพีเอฟ” เปิดตัว Smart Soup กลุ่มสินค้าซุปเพื่อสุขภาพ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100% จุดเด่นของสินค้าคือ “ง่าย” ต่อการรับประทาน เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวกลืนอาหาร เช่น ผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยาง, ผู้ป่วยระยะพักฟื้น รวมทั้งตลาดใหญ่ ผู้สูงอายุ
สำหรับสินค้า “สมาร์ทซุป” ผลิตภัณฑ์แรกคือ ซุปไก่ผสมฟักทองและไข่ ซีพีเอฟ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมมือกันใน “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค”
สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า “สมาร์ทซุป” ผลิตภัณฑ์แรก ซุปไก่ผสมฟักทองและไข่ ผลิตภายใต้สูตรและมาตรฐานของโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นกลุ่มอาหารสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยาง ผู้ป่วยที่สามารถรับประทานเองได้ รวมทั้งกลุ่มสูงวัย ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว
“กลุ่มสินค้าสมาร์ท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสุขภาพ มุ่งพัฒนาการกินอาหารให้เป็นยา ตามนโยบายของคุณธนินท์ เจียรวนนท์”
“สมาร์ทซุป” ผลิตภัณฑ์แรก ซุปไก่ผสมฟักทองและไข่ จำหน่ายในรูปแบบซอง น้ำหนัก 300 กรัม ราคา 69 บาท นอกจากวางจำหน่ายในโรงพยาบาลรามาธิบดีสำหรับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยแล้ว จะวางจำหน่ายให้บุคคลภายนอกและขายผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย โดยยอดขายในช่วง 3 เดือนนี้ ทุกซองจะหักซองละ 1 บาทส่งมอบให้โรงพยาบาลรามาธิบดี
ปัจจุบันมีกำลังการผลิตวันละ 1.5 แสนซอง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามความต้องการของตลาด หลังจากนี้จะพัฒนาซุปสูตรใหม่ๆ มาทำตลาดเพิ่มเติม เช่น มันม่วง เนื้อไก่อบ สูตรซุปผสมข้าว ผักกาด
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ในฐานผู้ผลิตอาหารยังเปิดกว้างในการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อพัฒนาสูตรอาหารผู้ป่วยตามมาตรฐานของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ป่วยภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลและเปิดจำหน่ายกับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัย ซึ่งเป็นตลาดที่ต้องการอาหารเฉพาะและมีดีมานด์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการ “ลดภาระ” ในการจัดจัดเตรียมอาหารปั่นผสมสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ต้องการอาหารเหลวหรืออาหารทางสายยาง ซึ่งมีขั้นตอนการจัดเตรียมที่ยุ่งยากและไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
ศ.นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “อาหารเพื่อผู้ป่วยที่มีสารอาหารครบถ้วน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง มหาวิทยาลัยฯ จึงทำงานกับภาคเอกชนในการผลิตอาหารปลอดภัย และมีเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมในการยืดอายุผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมทำงานวิจัยคิดค้นอาหารดังกล่าว
ด้าน รศ.นพ. สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่าปกติจะซื้ออาหารเหลวเพื่อผู้ป่วยจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงและต้องนำมาละลายน้ำเอง ขณะที่ซุปไก่ผสมฟักทองและไข่ ที่รงพยาบาลรามาธิบดีคิดค้นร่วมกับซีพีเอฟ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและมีราคาที่ถูกกว่าและสะดวก เนื่องจากสามารถรับประทานหรือโหลดใส่สายยางได้ทันทีโดยไม่ต้องละลายน้ำ ลดโอกาสปนเปื้อนของเชื้อโรคลงได้อีกระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ อาหารปั่นที่โรงพยาบาลผลิตเองมีอายุการเก็บสั้นเพียง 24 ชั่วโมง โดยต้องแช่เย็นที่อุณหภูมิ 2-6 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ขณะที่การผลิตสมาร์ทซุป ใช้นวัตกรรมในการยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิปกติได้ 12 เดือน ลดภาระในการเตรียมและจัดเก็บอาหารปั่นผสมของทางโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยและญาติที่จะหาซื้ออาหารประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง โดยเริ่มวางจำหน่ายที่ร้านสุขภาพของโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นแห่งแรก และจุดขายโรงพยาบาลในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยมหิดล
]]>
นายสตีเฟ่น แคมมิแลรี่ รองประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในการที่กลุ่มประเทศอาเซียนจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2559 การพัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถของบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และอุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่จะพบกับโอกาสและความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจาก AEC เพราะธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันสูงและต้องตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงต้องสามารถปรับตัวได้อย่างคล่องตัวตลอดเวลา ทั้งด้านกลยุทธ์การตลาด การบริการก่อนและหลังการขาย การรักษาความคุ้มค่าเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ฯลฯ”
เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการเข้าสู่ AEC บิ๊กซีได้ร่วมมือกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ริเริ่มหลักสูตรผู้บริหาร “การพัฒนาความเป็นเลิศด้านภาวะผู้นำ (Mahidol International and Big C – Executive Degree in Leadership)” เพื่อพัฒนาความสามารถในการบริหาร และการดำเนินธุรกิจในตลาดไร้พรมแดน ให้กับบุคลากรระดับผู้บริหารและผู้จัดการสาขาทั่วประเทศ
“หัวใจสำคัญของความสำเร็จของบิ๊กซี ก็คือบุคลากรของเรา ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เรามีนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูงสุด ว่าพนักงานบิ๊กซีทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ดังนั้น นโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์ของบิ๊กซี จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าทางอาชีพของบุคลากรทุกระดับ ทั้งการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษให้ก้าวขึ้นรับบทบาทและความรับผิดชอบที่สูงขึ้น องค์กรของบิ๊กซีมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง มีการขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้บุคลากรของบิ๊กซี มีโอกาสพัฒนาตนเองเพื่อเติบโตและก้าวไปกับการขยายตัวของบริษัทอยู่ตลอดเวลา”
“การพัฒนาบุคลากรของบิ๊กซี มีทั้งที่ดำเนินการภายในองค์กร โดยสถาบันบิ๊กซี อะคาเดมี และการร่วมกับองค์กรภายนอก สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยร่วมกันจัดการอบรมหลักสูตร Mini MBA สำหรับผู้บริหารมาแล้ว ซึ่งบิ๊กซีประทับใจในแนวทางการเรียนการสอนและความเชี่ยวชาญของคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลมาก ดังนั้น หลักสูตรการพัฒนาความเป็นเลิศด้านภาวะผู้นำในครั้งนี้ จึงจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนบิ๊กซี ในการก้าวขึ้นเป็นผู้ค้าปลีกอันดับหนึ่งของไทย และการเป็นผู้ค้าปลีกรายหลักในภูมิภาคอย่างแน่นอน”
“หลักสูตรนี้มีระยะเวลาการอบรม 10 เดือนต่อรุ่น โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ผู้เข้ารับการอบรมคือผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ผู้จัดการเขต และผู้จัดการสาขา นอกจากนั้น บิ๊กซียังมีหลักสูตรอบรมพนักงานระดับผู้จัดการกว่า 2,180 คน ทั่วประเทศด้วย”
“นอกจากความร่วมมือในการอบรมหลักสูตรนี้ บิ๊กซี และมหาวิทยาลัยมหิดล จะขยายความร่วมมือไปสู่ด้านอื่นๆ เช่น โครงการ Internship และ Management Trainee เพื่อสรรหา ฝึกฝน และพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและความรู้ความสามารถต่อไปในอนาคตด้วย” นายสตีเฟนฯ กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. มาลียา เครือตราชู คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “บิ๊กซี และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเชื่อมั่นว่าบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจะช่วยผลักดันและสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงออกแบบหลักสูตรผู้บริหาร “การพัฒนาความเป็นเลิศด้านภาวะผู้นำ (Mahidol International and Big C – Executive Degree in Leadership)” มาเพื่ออบรมผู้บริหารบิ๊กซีโดยเฉพาะ โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถด้วยกรณีศึกษาและประสบการณ์จริง เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับการทำงานและถ่ายทอดสู่ผู้ร่วมงานได้ทันที”
“ผู้เข้ารับการอบรมจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนาทักษะและความสามารถในการบริหารธุรกิจ จากกรณีศึกษา (case study) ซึ่งตรงกับธุรกิจของบิ๊กซี เนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นการพัฒนาความเป็นผู้นำ อาทิ การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง (Work with Others and Leading Change), การคิดเชิงยุทธศาตร์สำหรับผู้นำ (Strategic Thinking and Managing Knowledge of Leader), การนำให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร (Leaders as a motivator and influencer and Engagement), จรรยาบรรณและทัศนคติที่ดีของผู้นำ (Leadership Attitudes, Moral & Ethics) โดยมีคณาจารย์ของมหิดล และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกในสาขาวิชาต่างๆ เป็นผู้อบรม อาทิ รองศาสตราจารย์สุขุม นวลสกุล, มล. อัจฉราพร ณ สงขลา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ผู้เข้ารับการอบรมจะเรียนรู้ พัฒนา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดในแต่ละสาขาอย่างเต็มที่แน่นอน”
“ในอนาคต มหาวิทยาลัยมหิดลกับบิ๊กซี กำลังศึกษาการทำโครงการ Internship และ Management Trainee ร่วมกัน โดยจะมีทั้งการส่งบุคลากรของบิ๊กซีไปรับการอบรมที่มหิดล และการจัดส่งนักศึกษาของมหิดลไปฝึกงานที่บิ๊กซี” ศาสตราจารย์ ดร. มาลียาฯ กล่าว
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารกลาง เอสซีจี และรองศาสตราจารย์พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุทางทันตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทันตสุขภาพของประชาชน ทั้งยังส่งเสริมการต่อยอดความรู้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานวิจัย สามารถขยายขอบเขตงานวิจัยได้หลากหลายและในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป
สัมมนา “ก้าวที่กล้าเพื่อยุติมะเร็งปากมดลูก” เป็นปรากฏการณ์แห่ง “พลัง” ของผู้หญิงไทยจากทุกสารทิศ ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างแสดงความต้องการที่จะยุติมะเร็งปากมดลูกในรูปแบบที่หลากหลาย ผู้นำสตรีหลายท่านประกาศเจตนารมณ์การต่อสู้มะเร็งปากมดลูกชัดเจน หลายคนร่วมกันเชิญชวนให้คนไทยทุกคนช่วยกันรณรงค์ให้มี “ก้าวที่กล้า” เพื่อยุติมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยให้ได้อย่างจริงจัง
งานสัมมนา “ก้าวที่กล้าเพื่อยุติมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย” จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อเร็วๆนี้ โดยคณะวิทยากรผู้ให้ความรู้ได้แก่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิกุล รศ.ดร. สุรฉัตร ง้อสุรเชษฐ ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ และ คุณสุประวัติ ปัทมสูต ผู้ซึ่งสูญเสียลูกสาวให้แก่มะเร็งปากมดลูก
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันทำงานเพื่อลดอัตราการตายของผู้หญิงและเด็ก โดยตั้งเป้าหมายร่วมกับสหประชาชาติว่าจะต้องลดอัตราการตายของผู้หญิงเด็กทั่วโลกลงให้ได้ 16 ล้านคนในปีพ.ศ. 2558 ล่าสุดรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดูแลสุขภาพของประชาชนไว้นับแสนล้านบาท ประเด็นไม่ได้อยู่ที่มีเงินหรือไม่มีเงิน แต่ประเด็นอยู่ที่จะบริหารเงินอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุดต่างหาก”
ในการดูแลเรื่องมะเร็งปากมดลูกแก่หญิงไทย สิ่งที่รัฐบาลปฏิบัติมาโดยตลอดคือการกำหนดให้ผู้หญิงไทยทุกคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และให้ตรวจคัดกรองต่อเนื่องทุก 5 ปี แต่ข้อเท็จจริงนี้ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมาผู้หญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสูงสุดเพียงร้อยละ 50 ไม่เคยตรวจเลยร้อยละ 37 สาเหตุที่ไม่เข้ารับการตรวจ และไม่เข้ารับการตรวจซ้ำทุก 5 ปีนั้น เป็นเพราะเขินอาย และกังวลว่าจะพบเชื้อ”
ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงกล่าวเสริมว่า “การตรวจคัดกรองเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว เจอเชื้อเร็วเท่าไหร่ก็รักษาให้หายขาดได้เร็วเท่านั้น แต่ประเด็นคือปัจจุบันโลกเรามีวิทยาการที่ก้าวหน้าแล้ว เรามีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีแล้ว ไม่ต้องรอให้ติดเชื้อก่อน แล้วไปพยายามรักษาเอาตอนที่คัดกรองเจอ ทำไมไม่ป้องกันก่อน วัคซีนนี้ทำมาจากเปลือกไวรัส ไม่มีอันตราย แต่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้ จริงๆแล้วมันเป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานตามข้อตกลง ICPD ด้วยซ้ำ หมายถึงว่าหากมีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้หญิงดีขึ้น รัฐบาลก็ต้องจัดสรรให้”
ในเรื่องวัคซีนเอชพีวี ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การศึกษาที่ผ่านมาบอกเราว่าสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยมากที่สุดคือสายพันธุ์ 16 กับ 18 ซึ่งวัคซีนเอชพีวีที่มีอยู่ในโลกตอนนี้ก็ป้องกันทั้งสองสายพันธุ์นี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในการฉีดก็ควรจะฉีดให้แก่เด็กผู้หญิงก่อนที่เขาจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ก็ควรจะอายุประมาณ 9 – 12 ปี วัคซีนจะมีทั้งหมด 3 เข็ม เข็มที่หนึ่งกับสองฉีดห่างกัน 1 – 2 เดือน เข็มที่สาม 6 เดือนหลังจากเข็มที่หนึ่ง ฉีดครบสามเข็มก็สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้ยาวนับ 30 ปีโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น ถามว่าถ้ามีเพศสัมพันธ์ไปแล้วจะฉีดได้ไหม ก็ตอบว่าสามารถฉีดได้ มันอยู่ที่ว่าเรารับเชื้อเข้าไปแล้วหรือยัง บางทีบางคนมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับเชื้อมา แบบนี้ก็ยังฉีดป้องกันได้ หรืออาจจะฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำก็ได้”
เรื่องราคาของวัคซีนเอชพีวีที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะแพงจนเกินเอื้อมของรัฐบาลไทยหรือไม่ รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้กล่าวถึงผลการศึกษาด้านความคุ้มค่าของการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กผู้หญิงว่า “ผลการศึกษาแสดงถึงความคุ้มค่าของวัคซีนเอชพีวี หมายความว่าเมื่อวัดมวลรวมของการมีความสุขเพราะไม่มีการเจ็บป่วยและสูญเสียชีวิตเนื่องจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว ตัวเลขที่ได้เป็น 1.2 เท่าของ GDP ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่า GDP แบบนี้ก็แสดงว่าวัคซีนนี้มีความคุ้มค่า และนี่เป็นการศึกษาที่ราคาปัจจุบันของวัคซีนคือราคาเข็มละ 2,000 บาท สามเข็ม 6,000 บาท ดังนั้น หากจัดซื้อวัคซีนเอชพีวีให้แก่เด็กผู้หญิงอายุ 12 ปีทุกคน ย่อมหมายถึงการซื้อในปริมาณที่มหาศาล ซึ่งย่อมทำให้ราคายิ่งต่ำลง และก็จะยิ่งมีความคุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้วัคซีนนี้ยังสามารถป้องกันโรคอื่นที่เกิดจากไวรัสเอชพีวีได้อีกด้วย เช่น โรคหูดหงอนไก่ ดังนั้นคุ้มค่าแน่นอน”
จากราคาวัคซีนเอชพีวีเข็มละ 2,000 บาท สามเข็มรวมกันราคา 6,000 บาท คำถามที่ตามมาคือราคาเท่าใดที่รัฐบาลไทยยินดีจะซื้อเพื่อนำมาฉีดให้แก่เด็กผู้หญิงอายุ 12 ปีทุกคน ในเรื่องนี้ รศ.ดร.สุรฉัตร ง้อสุรเชษฐ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ประเทศที่ซื้อวัคซีนนี้ได้ในราคาต่ำกว่าที่อื่นมีเพียง 56 ประเทศ เรียกว่าเป็นกลุ่มประเทศกาวี่ (GAVI) ผู้ผลิตยินดีขายให้ประเทศเหล่านี้ในราคาประมาณ 150 บาทต่อเข็มเพราะว่าประเทศเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรไม่เกิน 1,550 เหรียญสหรัฐ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากร 4,000 เหรียญสหรัฐ เราจึงซื้อในราคาเข็มละ 150 บาทอย่างเขาไม่ได้ ซึ่งก็ต้องมาตกลงกันว่าจะซื้อขายกันได้ที่เข็มละกี่บาท ผู้ซื้อคือรัฐบาลไทย ผู้ขายคือผู้ผลิตยา อย่างน้อยคนสองกลุ่มนี้ต้องหันหน้ามาปรึกษาหารือกัน หาข้อตกลงเรื่องราคาร่วมกัน ต้องบอกเลยว่าเดิมพันของการหารือกันตรงนี้คือชีวิตและอนาคตของผู้หญิงไทย
คุณสุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดง ผู้ซึ่งสูญเสียลูกสาวคือคุณกุ้งนาง ปัทมสูต ไปด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก กล่าวย้ำถึงการเข้าถึงวัคซีนเอชพีวีว่า “ในฐานะของคนเป็นพ่อที่มีลูกสาว เราคงไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าลูกสาวของเราจะเสียชีวิตด้วยโรคอะไร แต่อย่างน้อยที่สุด ผมเชื่อว่าหากคุณกุ้งนาง ได้มีโอกาสได้รับวัคซีนเอชพีวี และวันนี้ผมและครอบครัวก็อาจจะไม่ต้องพบกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียเธอไป”
ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งได้แก่ผู้นำสตรีและอาสาสมัครสาธารณสุขสตรี สะท้อนความเห็นว่าการเข้าร่วมงานสัมมนาทำให้ได้เรียนรู้ว่ามะเร็งปากมดลูกไม่เหมือนมะเร็งอื่น เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ วิธีการป้องกันคือเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ และรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
กรุงเทพ – นักศึกษาวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการตลาด กำหนดจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านการตลาด ในหัวข้อเรื่อง “สร้างโอกาส เพิ่มยอดขาย ด้วยแนวคิด Long Tail” เพื่อเป็นแนวคิดทางการตลาดแนวใหม่ อันจะช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายให้กับทุกธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยวิทยากรรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ คุณทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ด ยูเคชั่น จำกัด (มหาชน), คุณวรพจน์ นิ่มวิจิตร ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท อาร์เอส ดิจิตัล จำกัด และ คุณพิชญ์ บุญตรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ตึก CMMU ชั้น 6 ห้อง 603 (ถนนวิภาวดีรังสิต) ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อ คุณพริ้มแพรว 081-917-1718 และ คุณรุ่งทิพย์ 086-819-5598 สำรองที่นั่งได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมรับของที่ระลึกสำหรับ 60 ท่านแรกเท่านั้น
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีลงนามในสัญญาการใช้บริการรับฝากทรัพย์สินกสิกรไทย (K-Custodian) มูลค่าเริ่มต้น 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลแห่งแรกที่ให้สถาบันการเงินเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน โดยเลือกธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ให้บริการเป็นแห่งแรก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อเร็ว ๆ นี้
รายนามผู้ร่วมพิธีลงนาม
1. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (ที่ 2 จากซ้าย)
Dr. Prasarn Trairatvorakul, President at KASIKORNBANK (second from left)
2. ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (ที่ 2 จากขวา)
Clinic Professor Piyasakol Sakolsatayadorn, M.D., President at Mahidol University (second
from right)
หลักสูตรฯ เริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2551 โดยเน้นวิธีการเรียนรู้แบบสหวิทยาการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนและผู้สอน หลักสูตรฯ มุ่งให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนทักษะในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน สามารถวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับของประเทศไทย ระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเชื่อมโยงและมีพลวัตร และสามารถวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ผ่านมุมมองสิทธิมนุษยชน เพื่อแปรผลการเรียนรู้ไปสู่การทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรฯ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติดังนี้
1. มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในลักษณะสหวิทยาการ โดยสามารถเชื่อมโยงกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลกได้
2. มีความสามารถในการวิเคราะห์ การพัฒนาองค์ความรู้ มีทักษะในเชิงวิพากษ์ และสามารถนำความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานสาขาต่างๆ ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบาย
3. มีทักษะความสามารถตลอดจนมีสำนึกและความตั้งใจที่จะสถาปนาสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคม
โครงสร้างหลักสูตร
หลักสูตรมีระยะเวลาการศึกษาหนึ่งปีครึ่ง เป็นการศึกษารายวิชาหนึ่งปี (สองภาคการศึกษา) และทำวิทยานิพนธ์อีกหนึ่งภาคการศึกษา (แผน ก.) นักศึกษาที่มีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนสามารถเลือกศึกษาแผน ข. โดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ทำสารนิพนธ์แทนได้
หมวดวิชาบังคับ
แนวคิดและหลักการพื้นฐานสิทธิมนุษยชน
มาตรฐานและกลไกสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและระหว่างประเทศ
ทฤษฎีและแนวคิดการพัฒนา
วิธีวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
การพัฒนา นโยบายสาธารณะ และสิทธิมนุษยชน
การเมืองและสังคมไทย
หมวดวิชาเลือก
ยุทธศาสตร์และทักษะในการส่งเสริมสิทธมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนกับสันติภาพ และการจัดการความขัดแย้ง
การเมืองเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
วาทกรรมว่าด้วยความรู้ ความจริง และอำนาจ กับสิทธิมนุษยชน
เพศสถานะกับสิทธิมนุษยชน
ประเด็นปัจจุบันเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
ประชาสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
ธรรมาภิบาล คอร์รัปชั่น และการพัฒนา
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาและกระบวนการสมัคร
1. หลักสูตรเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับหลักสูตรปริญญาตรีทุกสาขาวิชา หรือกำลังศึกษาในปีการศึกษาสุดท้ายโดยมีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือเทียบเท่าผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
2. สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาในแผน ข. (ทำสารนิพนธ์) จะต้องมีประสบการณ์การทำงานในสาขาสิทธิมนุษยชนหรือการพัฒนาสังคมอย่างน้อย 3 ปี โดยนับถึงวันรายงานตัวเข้าศึกษา
3. ผู้สมัครจะต้องมีผลสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย หรือสถาบันอื่นที่บัณฑิตวิทยาลัยรับรอง (มีคะแนน TOEFL หรือ TOEFL – IP ตั้งแต่ 500 คะแนนขึ้นไป หรือคะแนน IELTS ตั้งแต่ 5.5 คะแนนขึ้นไป) กรณีผู้สมัครไม่มีผลการสอบผ่านภาษาอังกฤษ ผู้สมัครต้องเข้าสอบวิชาภาษาอังกฤษในวันสอบข้อเขียนที่บัณฑิตวิทยาลัยจัดสอบ
ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องส่งใบสมัครเข้าศึกษา (ดาวน์โหลดได้จากลิงค์ด้านล่างของหน้านี้) พร้อมเอกสารต่อไปนี้
1. เอกสารบรรยายความสนใจของผู้สมัครอธิบายหัวข้อหรือประเด็นทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน และ/หรือการพัฒนาที่ผู้สมัครสนใจ ความยาว 400 – 600 คำ
2. จดหมายแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Recommendation letters) จำนวน 2 ฉบับ
3. หลักฐานทางการศึกษาและประวัติการทำงาน (ถ้ามี)
กรุณาตรวจสอบกำหนดการรับสมัครจากเว็บไซท์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล www.grad.mahidol.ac.th
สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาลายา พุทธมณฑล จ. นครปฐม 73170
โทร. 02-441-4125 ต่อ 400, 401
โทรสาร 02-889-2151
อีเมลล์ [email protected]
เว็บไซต์ http://www.humanrights-mu.org
http://www.grad.mahidol.ac.th
ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารการเงินและการลงทุนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง อันจะช่วยให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ด้านการจัดการการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตราสารต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยในอนาคต
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดฝึกอบรมหลักสูตร “บริการอย่างไรให้ยั่งยืน” โดย อาจารย์เนตรา เทวบัญชา ผู้มีประสบการณ์อบรมกว่า 10 ปี และได้รับมอบหมายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้อบรมบุคลากรโรงแรมทั่วประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2550 ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับความรู้เกี่ยวกับกุญแจสำคัญของงานบริการ ปัญหาและความท้าทายของงานบริการ จรรยาบรรณในการให้บริการ การแก้ปัญหาในการบริการ เป็นต้น ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11-12 ธ.ค. 2550 เวลา 9.00 -16.00 น. ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ค่าใช้จ่ายในการอบรม 2,800 บาท (รวมเอกสาร อาหารว่าง-เครื่องดื่ม อาหารกลางวัน ประกาศนียบัตร และทำเนียบรุ่น)
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โครงการวิทยบริการ โทร. 0-2441-5090 ต่อ 1022, 1712 หรือ E-mail : [email protected]