เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการจักรยานสาธารณะปันปั่น โดยกรุงเทพมหานคร ร่วมสนับสนุนงาน “เกษตรชวนปั่น Ride to meet U @ KU” ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยนำรถจักรยานสาธารณะปันปั่น จำนวนกว่า 100 คัน มาแบ่งปันให้ผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ยืมฟรี พร้อมทั้งนำเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลและซ่อมบำรุงจักรยาน ให้แก่ผู้ที่มาร่วมปั่นจักรยานชมทิวทัศน์โดยรอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสวนรถไฟ เพื่อปลุกกระแสให้ชาวกรุงเทพหันมาปั่นจักรยานเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
นิสิตคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยใช้ชื่อทีมว่า Muffinคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดแผนธุรกิจ Logistics Business Challenge 2010 ประเภทแผนระดับธุรกิจ (Business level plan) หัวข้อ โลจิสติกส์อิเล็กทรอนิคส์ (E Logistics) ได้รับ โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท จัดการแข่งขันโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ DHL EXPRESS โดยมีผู้เข้าแข่งขันกว่า 30 ทีม จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งทีม Burapha Cyclone จาก มหาวิทยาลัยบูรพา คว้ารางวัลชนะเลิศ และทีม Pet To Go จาก มหาวิทยาลัยรังสิต คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2553 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิสิต มก. ทีม Muffin ประกอบด้วย นายรักพงษ์ โพธิ์เกษม นายวุฒิเวชญ์ สุนทรประสาท นายโสภณ สุริยาประเสริฐ และนายศิวกร เภกะนันท์ ซึ่งเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ วิทยาเขตศรีราชา โดยมีอาจารย์วราภรณ์ ตั้งจิตรเจริญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้สร้างผลงานโดยได้พัฒนาแนวคิดการใช้ตู้ E-post Service เข้ามาเป็นเครื่องมือในการรวบรวมพัสดุแทนร้านรวบรวมพัสดุย่อยที่ไม่มีมาตรฐาน โดยตัวเครื่องจะออกแบบเพื่อให้รองรับการส่งพัสดุได้ถึง 3 ลูกบาศก์เมตร และเชื่อมโยงข้อมูล อาทิ ปริมาณกล่อง ประเภทการจัดส่ง ฯลฯ ออนไลน์จากตู้ไปถึงที่ทำการไปรษณีย์ตลอด 24 ชั่วโมง มีความสะดวก ปลอดภัย จึงแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของร้านรวบรวมพัสดุย่อยได้เป็นอย่างดี โดยแผนธุรกิจนี้จะเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
ที่เมือง Warsaw ประเทศโปแลนด์ เวลาท้องถิ่นประมาณ 3 ทุ่มหรือตี 1 ของประเทศไทย วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เสียงปรบมือดังกึกก้องขึ้นจากผู้ชมเกือบ 1 พันคนใน The Great Theatre โอเปร่าเฮาส์ขนาดใหญ่ ภาพเด็กไทย 4 คนสวมเสื้อโปโลสีชมพูพร้อมถือภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และธงชาติไทย ขึ้นรับรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดซอฟต์แวร์ Worldwide Imagine Cup 2010 จนทำให้ประเทศไทยมีตัวตนมากขึ้นในวงการ Developer
กฤตธี ศิริสิทธิ์ หรือ โอ๊ค, พิชัย โสดใส หรือ เอ็ม, ธนะสรรค์ ดิลกพินิจนันท์ หรือ เป้ และ นนทวรรธ ศรีจาด หรือ นนท์ 4 หนุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ภายใต้ชื่อทีม “SKeek” บินลัดฟ้าพร้อมความหวังที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่า
“พวกผมอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องที่คณะและนักศึกษาไทยทุกคนให้มาประกวดในเวทีระดับโลกเหมือนที่ผมเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่” เอ็ม เอ่ยถึงทีม “3 KC Returns” ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในคณะเดียวกันที่ได้รางวัลชนะเลิศจากเวทีนี้เมื่อปี 2007 จึงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากแสดงผลงานของตัวเองในเวทีนี้เช่นกัน โดยเขาและเพื่อนอีก 2 คนคือ เป้ และ นนท์ ไม่เคยผ่านเวทีประกวดซอฟต์แวร์ใดมาก่อน แต่เมื่อได้รับคำชวนจาก โอ๊ค ซึ่งเคยผ่านเวทีนี้มาแล้วในปี 2008 ก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจ “ลอง” ดูสักตั้งเพราะรู้สึกท้าทายและยังเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน
โอ๊คที่เคยผ่านเข้ารอบ 68 ทีมสุดท้ายในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 2 ปีที่แล้วบอกกับ POSITIONING ว่าเขาต้องการแก้ตัวจากคราวก่อนจึงได้ชักชวนเพื่อนทั้ง 3 คนมารวมตัวภายใต้ชื่อทีมสุดแปลกว่า “SKeek” ที่ย่อมาจาก SKE : Software and Knowledge Engineering ซึ่งเป็นชื่อภาควิชาที่พวกเขาเรียนอยู่รวมกับคำว่า Geek ที่หมายถึงผู้เสพติดด้านไอที ซึ่งก็หมายถึงพวกเขานั่นเอง เพราะทั้ง 4 คนได้ใกล้ชิดกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กจึงทำให้รู้ตัวตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมและมัธยมปลายแล้วว่าควรมาด้านนี้
หลังจากรวมตัวกันพวกเขาก็ใช้เวลาค้นหาไอเดียพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อส่งเข้าประกวดเป็นเวลา 1 เดือนจนมาลงตัวที่ “eyeFeel” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางหูให้สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ง่ายขึ้น เช่น การเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ในห้องเรียน เพื่อให้ใช้งานผ่านระบบแปลงเสียงพูดและจับความเคลื่อนไหวของใบหน้าผู้พูดให้เป็นตัวอักษรและภาษามือที่สร้างด้วยแอนิเมชั่นในรูปแบบเรียลไทม์ เพียงแค่มีอุปกรณ์หลักคือโน้ตบุ๊ก เว็บแคม และไมโครโฟน
“อาจารย์ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษามือเลยก็สามารถสอนแบบปกติได้ แต่ตอนนี้ระบบสามารถทำได้แต่ภาษามือที่เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเท่านั้น” เอ็มเอ่ยถึงข้อดีและข้อเสียของซอฟต์แวร์นี้ โดยที่มาของไอเดียสุดเจ๋งนี้ได้มาจาก “หนังสือการ์ตูน” เพราะไม่ต้องใช้เสียงแต่มีบอลลูนขึ้นมาทำให้รู้ว่าใครพูดอะไร จึงใช้หลักการเดียวกัน โดยอาจารย์ที่คณะให้การช่วยเหลือโดยพาไปรู้จักกับนักภาษาศาสตร์เกี่ยวกับคนหูหนวกเพื่อพวกเขาให้เข้าใจถึงหลักการใช้ภาษามือก่อนนำมาพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อ ขณะที่ทางไมโครซอฟท์ให้การช่วยเหลือในเรื่องการนำซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมาใช้จึงช่วยลดต้นทุนและเวลาในการพัฒนาลงไปได้มาก
พวกเขาใช้เวลา 6 เดือนพัฒนา “eyeFeel” โดยเลือกห้องใต้ดินของโอ๊คและห้องใต้หลังคาของเป้เป็นที่ทำงาน และแบ่งงานตามฟีเจอร์ที่แต่ละคนถนัด เมื่อเจอปัญหาก็จะมีการระดมความคิดเพื่อช่วยกันแก้ไขโดยเน้นที่การเรียงลำดับความสำคัญภายใต้เวลาที่กำหนดเป็นหลัก
สิ่งที่ SKeek ได้รับจากการประกวดครั้งนี้นอกเหนือจากรางวัลที่ไมโครซอฟท์มอบให้แล้วคือ “ความประทับใจ” จากการเปิดวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นทำให้ได้เห็นผลงานและความสามารถของประเทศอื่นๆ ได้เพื่อนใหม่จากชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประกวด ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้กับการทำงานและการเรียนต่อในอนาคตเพราะมี “ภาษี” จากการได้รางวัลในเวทีนี้ที่นับว่าเป็นระดับ “โอลิมปิก” ของวงการซอฟต์แวร์
“ไม่ใช่แค่เพียงไมโครซอฟท์เท่านั้นที่อยากรับ แต่บริษัทอื่นๆ ในแวดวงซอฟต์แวร์ก็สนใจ” จีระวัฒน์ กุลอุดมทรัพย์ Academic Program & Audience Marketing Manager บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดูแลการประกวดในครั้งนี้บอก เมื่อถามว่าอนาคตของทีม SKeek จะมีโอกาสได้ทำงานในสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ที่อเมริกา ซึ่งการมี “รางวัลชนะเลิศ” ก็ช่วยเพิ่มความ “น่าสนใจ” ได้มากกว่าคนอื่น โดยที่ผ่านมามี 1 ในสมาชิกของทีม 3 KC Returns ได้เข้าไปทำงานที่ไมโครซอฟท์ ในเมืองเรดมอนต์ ที่อเมริกาแล้ว
สำหรับผลงานประกวดนั้น ทางไมโครซอฟท์มอบให้ทีม SKeek ที่จะนำไปพัฒนาต่อทางธุรกิจต่อได้ โดยได้เนคเทคสนใจนำ eyeFeel ไปต่อยอดในรูปแบบภาษาไทย แต่ด้วยข้อจำกัดที่มีความซับซ้อนและไม่มีผู้รวบรวมออกมาเป็นภาษามือให้เป็นหลักการเดียวกันทำให้พวกเขาต้องเก็บโครงการนี้ไว้ก่อน
เมื่อถามถึงอนาคตหลังจากเรียนจบ ทั้ง 4 คนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ตั้งใจทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่ต่างประเทศก่อนสักระยะเพื่อหาประสบการณ์ จากนั้นก็จะกลับมาพัฒนาประเทศต่อ แต่จะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไปตลอดหรือไม่ เอ็ม เป้ และนนท์บอกว่า “ไม่” เพราะถ้ามีประสบการณ์มากพอแล้วอาจจะเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่นเช่นงานด้านวิชาการที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์หรือด้านบริหารแทน ส่วนโอ๊คยังขอเป็นนักพัฒนาต่อแต่อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นเพราะมีประสบการณ์แล้ว
People | |
Name | กฤตธี ศิริสิทธิ์, พิชัย โสดใส, ธนะสรรค์ ดิลกพินิจนันท์ และ นนทวรรธ ศรีจาด |
Age | 22-23 ปี |
Education | มัธยมปลาย (ตามลำดับ) สาธิตเกษตร สามัคคีวิทยาคม สาธิตปทุมวัน และหอวัง |
ปริญญาตรี | มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ |
Award | รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งจาก Worldwide Imagine Cup 2010 |
Role Model | ทีม 3 KC Returns |
Dream | เอ็ม โอ๊ค และ นนท์ อยากทำอะไรที่เจ๋งๆ สามารถเปลี่ยนโลกได้ ส่วนเป้อยากเที่ยวรอบโลกเพื่อดูวัฒนธรรมของคนอื่น |
Lifestyle/Hobby | เล่นดนตรี เช่น กีตาร์ เปียโน ฟังเพลงแจ๊ซ เพลงป๊อป อ่านหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ ซีรี่ส์ของแดน บราวน์ เล่นฟุตบอล เล่นเกมคอมพิวเตอร์ |
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Food and Agriculture Organization of the United Nation (FAO) และ สถาบันอาหาร จัดสัมมนา “โอกาสเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารสู่กลุ่มห้างค้าปลีก” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เวลา 08.30 – 16.00 น. ณ ห้อง แคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลด้านความต้องการและการ ขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปในธุรกิจค้าปลีกของไทย การสร้างความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ในด้านการจัดการคุณภาพและความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหาร และเพื่อการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับ การประกอบธุรกิจอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยวิทยากรจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มก. สถาบันอาหาร และห้างค้าปลีกต่าง ๆ
ผู้สนใจสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-2942-8500 ต่อ 1360 หรือดูรายละเอียดที่ www.agro.ku.ac.th
นิสิตทีม Breezy Day สาขาการตลาด ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ร่วมส่งผลงานแผนการตลาดในหัวข้อ “สร้างแนวคิดใหม่ให้บล็อกปูพื้น…ไม่ใช่เรื่องพื้น ๆ อีกต่อไป” ชิงโล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา จัดโดย บริษัท แลนด์สเคป ตราช้าง โดยมีระยะเวลาการสร้างแบรนด์ให้เป็น top of Mind จนเกิดยอดขายที่ยั่งยืน ภายในระยะเวลา 1 ปี มีสถาบันระดับอุดมศึกษาจาก 29 สถาบัน ส่งผลงานกว่า 267 ผลงานเข้าประกวด โดยทีม Breezy Day มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลชมเชยและทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมวุฒิบัตร
นิสิตทีมดังกล่าวประกอบด้วย น.ส.ศุทธินี กุลรัตนะ (หัวหน้าทีม) นายเกรียงไกร พรล้ำฟ้า นายณัฐพล เลิศวัฒนนนท์ น.ส.ธนาวดี ทวีวรเกียรติ นายนพดล ชูเศษ น.ส.เบญญาภา อยู่โพธิ์ทอง นายภูชิชย์ ตระการชวกุล น.ส.ณธิดา ผลพุฒ น.ส.ศิริภรณ์ กมลานันทน์ นายสมโภช ลิมป์บรรเจิด โดยมี ผศ.นิภา นิรุตติกุล คณะวิทยาการ-จัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นิสิตสาขาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดวางแผนการตลาด Marketing Campaign โครงการ Green Read with your idea challenge ครั้งที่ 2 ตอน Share our care to your eyes จัดโดยธุรกิจกระดาษเครือซีเมนต์ไทย SCG PAPER ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 6 กันยายน 2552 โดยมีผู้เข้าแข่งขันจำนวน 320 ทีม จาก 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และได้มอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2552 ณ บริษัท เอสซีจีเปเปอร์ จำกัด
สำหรับทีม “ตลาดสด” ประกอบด้วย นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาดรวม 6 คน ได้แก่ นายพัลลภ มหาดไทย น.ส.รัตติกรณ์ อวยพร น.ส.กัญญามาศ นากศรีงาม น.ส.ณัฐชยา ชัยเลิศ น.ส.ณัฐธิดา สินธพานนท์ นายภูวบดินทร์ พราหมพันธุ์ และ ผศ.นิภา นิรุตติกุล เป็นที่ปรึกษาทีม โดยทีมได้วางแผนการตลาดภายใต้ Concept “เพียงให้เรามา Share” โดยการเปิดมุมมองใหม่ให้กับกลุ่มเป้าหมายว่า Green Read ได้เข้ามาร่วม Share ความห่วงใยกับผู้บริโภคและให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้ามามีส่วนร่วมกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดนิทรรศการรวบรวมเทคนิคดูแลสายตา อย่างถูกวิธี ซึ่งนอกจากการสร้าง Brand Awareness ที่ดีแล้ว กลุ่มเป้าหมายควรได้รับ Brand Experience ที่ดีกลับไปเช่นกัน จึงได้จัดกิจกรรม “Freshly Fashion Week Contest” เป็นการจัดประกวดแฟชั่นโชว์โดยใช้กระดาษถนอมสายตา Green Read ภายใต้ Theme “100 ไอเดีย กับ Green Read 100 แผ่น” ซึ่งมีตัวแทนทุกสาขาจากทั้งมหาวิทยาลัยเข้าร่วมประกวด โดยมีรายได้จากการขายบัตร Vote สูงถึง 5,281 บาท
สำหรับรางวัลที่ได้รับประกอบด้วยเงินรางวัล 50,000 บาท ถ้วยรางวัล Gift set จาก Green Read นอกจากนี้ ทางคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้รับกระดาษ Green Read จำนวน 30 รีม อีกด้วย ซึ่งผลงานของนิสิต ทีม “ตลาดสด” แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการประกวดแผนสื่อสารการตลาดสำหรับธุรกิจจริง
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามความร่วมมือในการสร้างบุคลากรสู่อุตสาหกรรมตลาดทุนไทย โดยการเปิดสอนสาขาวิชาตลาดทุนหลักสูตร Financial M.B.A. ระดับปริญญาโท โดย ม.เกษตรศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาแห่งที่ 7 หลังจากที่ ตลท. ได้ลงนามความร่วมมือตามโครงการดังกล่าวกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.พายัพ และ ม.อัสสัมชัญ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ มีคุณธรรม และความสามารถในเชิงทักษะการทำงานที่ทัดเทียมระดับสากล ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมการเงินและการลงทุน ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ความเป็นสากลได้อย่างรวดเร็ว
ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คว้ารางวัลชนะเลิศในโครงการ “Java? Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย” ซึ่งเป็นการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นจาวาครั้งแรกในประเทศไทย จัดโดยบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ค) และสมาคมเวชสารสนเทศไทย โดยนักศึกษาทั้ง 3 คนจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้
Java? Jive Regional Challenge 2008 เป็นโครงการระดับภูมิภาคที่ซันจัดขึ้นในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งประเทศสิงคโปร์ถือเป็นประเทศนำร่องที่จัดโครงการดังกล่าวมาแล้วเป็นปีที่สาม โดยในประเทศไทยได้จัดการแข่งขันนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งหัวข้อในการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นในปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “Keeping IT Real” วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นจาวาที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง สำหรับโครงการในประเทศไทย ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ สาธารณสุข หรือโภชนาการ ซึ่งเกณฑ์การตัดสินประกอบด้วย ความสามารถในการใช้งานได้จริง มูลค่าเชิงพาณิชย์ ความคิดสร้างสรรค์ และการส่งเสริมการสร้างและขยายเครือข่ายออนไลน์ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น จาวา เน็ตบีนส์ ไอดีอี
ทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ‘Snooze Monkey’ ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา 3 คนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยผลงานการออกแบบเว็บแอพพลิชั่นเพื่อลดปัญหาโรคอ้วนซึ่งถือเป็นปัญหาที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถช่วยคำนวณปริมาณแคลอรี่จากอาหารที่แต่ละคนรับประทาน พร้อมแนะนำเมนูอาหารที่มีแคลอรี่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดำเนินการผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปแนะนำสูตรอาหารที่ตนเองชื่นชอบแก่ผู้อื่นและและเคล็ดลับการรักษาสุขภาพเพื่อเป็นการสร้างสังคมออนไลน์ของผู้ใส่ใจสุขภาพได้อีกด้วย
สำหรับรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ ทีม ‘Hurry Up!!’ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงานการสร้างเว็บบอร์ดที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์และให้กำลังใจซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว อีกทั้งมีการให้ข้อมูลและแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยโรคเอดส์ และมีแพทย์อาสาสมัครเข้ามาตอบคำถามในการรักษาสุขภาพและบรรเทาโรคอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับรองชนะเลิศอันดับสองคือ ทีม ‘Angelical’ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเช่นกัน โดยผลงานคือแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทางต่างๆ พร้อมแผนที่ไปยังสถานที่ให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับการเดินทางและสอบถามข้อมูล รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ใช้บริการแต่ละคน
ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจซอฟท์แวร์ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “Java? Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย เป็นโครงการที่ซันมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในฐานะที่เราเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นแบบโอเพ่นซอร์ส เราอยากให้เยาวชนไทยได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านไอทีและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งการมีส่วนร่วม เทคโนโลยีเว็บ 2.0 มีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมออนไลน์ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงาม อย่างเช่นในกรณีนี้คือการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม”
ผู้ชนะในโครงการดังกล่าวจะได้รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท พร้อมสิทธิในการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมความรู้ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย และได้เข้าแข่งขันชิงชนะเลิศกับผู้ชนะจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ในงาน Sun Developer Day ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้รับรางวัลเงินสด 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสองได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาท โดยทั้งสามทีมจะพัฒนาปรับปรุงผลงานแอพพลิเคชั่นของตนต่อไปเพื่อนำมาใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ. สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย กล่าวว่า “การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและสังคมออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่แวดวงการแพทย์และสาธารณสุขกำลังตื่นตัวทั่วโลก อีกทั้งประเทศไทยก็ยังต้องการบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มีคุณภาพอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการสาธารณสุขให้พัฒนาไปสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาค (Medical Hub of Asia) ตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น โครงการ Java? Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย จึงเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์และเป็นเวทีส่งเสริมความสามารถของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นรุ่นเยาว์ของไทยสู่สายตาของคนในระดับนานาชาติต่อไป”
“ทั้งนี้จากการแข่งขันดังกล่าวทำให้เราตระหนักว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ไม่น้อยหน้าเยาวชนต่างชาติอีกทั้งยังมีความสร้างสรรค์ มีความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีซอฟต์แวร์เป็นอย่างดีจนสามารถนำมาประยุกต์และสร้างเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งทางสมาคมเชื่อมั่นว่าหากเยาวชนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถต่อยอดความรู้เพื่อขยายผลของโครงการที่ได้ดำเนินมาให้เกิดคุณค่าในวงกว้างได้ต่อไป”
ด้านนางวทันยา สุทธิเลิศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ”ซอฟต์แวร์ปาร์ค มีความยินดีที่ได้เป็นผู้สนับสนุนโครงการในครั้งนี้ และชื่นชมที่ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุนการใช้งาน ร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ และพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลในการเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์จะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนตัวแทนของไทยในการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคต่อไป
การแข่งขัน Java? Jive Regional Challenge 2008 รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคระหว่างตัวแทนจากประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะจัดขึ้นในงาน Sun Developer Day ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ที่ประเทศสิงคโปร์
เกี่ยวกับ ซัน ไมโครซิสเต็มส์
ภายใต้วิสัยทัศน์ “The Network Is The Computer” ผลักดันให้ซันมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสำคัญๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง และปรัชญาสำคัญของซัน คือ การเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นกระแสนำในโลกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า ยุคแห่งการมีส่วนร่วม (The Participation Age) ปัจจุบัน ซัน
ไมโครซิสเต็มส์ (สัญลักษณ์หุ้นในตลาดหุ้นแนสแดก: SUNW) มีเครือข่ายครอบคลุมอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซันได้ที่ http://sun.com หรือ http://sun.com.sg
เกี่ยวกับสมาคมเวชสารสนเทศไทย
สมาคมเวชสารสนเทศไทย Thai Medical Informatics Association (TMI) หรือ ชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า ชขพ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2534 โดยความริเริ่มของ อาจารย์แพทย์ผู้มองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการแพทย์ นำโดย ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศ.นพ.พิศิษฎ์ สัณหพิทักษ์ โดยแนะให้ตั้งเป็นชมรมขึ้นมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ และเพื่อเสนอแนะการพัฒนางานข้อมูลข่าวสารทางแพทย์แก่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย)
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นองค์กรที่สร้างธุรกิจ และเป็นสถาบันทางสังคมการเรียนรู้ในยุคเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และร่วมผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วย 6 บริการหลักได้แก่ 1.) บริการพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2.) ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์ 3.) ICT-Enablement 4.) IT Professional Development 5.) การจัดการกระบวนการการพัฒนาคุณภาพ (Quality Improvement) และ 6.) บริการในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายแพทย์วีรพล นิธิพล (แถวนั่งกลาง) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเรื่อง “การอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตอาหาร” ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตอาหารระดับ SME เตรียมเข้าสู่ระบบ HACCP หรือโครงการ Pre-HACCP ซึ่งสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมจัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับการผลิตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารระดับ SME ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยและมีคุณภาพที่ยั่งยืน พร้อมชี้ช่องทางต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดโลก โดย ดร.วารุณี วารัญญานนท์ (แถวนั่งซ้ายสุด) ผอ.สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเร็วๆ นี้
จากภาพ :(ภาพ – จากซ้าย) นางสาวลลิลดา อัครโสภณ, นางสาวศิวพร โอเจริญ, นางสาวภัทรมน มัฆมาน และนางสาว ชนิตา โชติรสเวคิน
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักศึกษา 4 สาวจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ FoSTAT – Nestle Quiz Bowl 2008 เวทีการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ณ ไบเทค บางนา โดยมีสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยปีนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมแข่งขันถึง 57 แห่งทั่วประเทศ
ทีมชนะเลิศจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับถ้วยเกียรติยศ ทุนการศึกษา พร้อมเดินทางไปทัศนศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาคของเนสท์เล่ (Nestle’ R&D Center) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นอีก แหล่งเรียนรู้ที่จุดประกายความคิดในเชิงการต่อยอดคุณภาพและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และเป็นการยกระดับแวดวงอุตสาหกรรมอาหารให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ