ดีแทคร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งโครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีมุ่งผลักดันนักศึกษาต่อยอดความรู้นอกห้องเรียนผ่าน “โมบายล์ อินเทอร์เน็ต” มอบซิม 30,000 ซิมสำหรับใช้งาน EDGE/GPRS ฟรี 1 ปีเต็มในพื้นที่มหาวิทยาลัย พร้อมจัดแข่งขันโมบายล์ แอพพลิเคชั่น คอนเทสต์ ชิงทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่า 800,000 บาท หวังปูทางรองรับบริการ 3G ในอนาคตอันใกล้
นายอมฤต ศุขะวณิช ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มเน็กซ์ ดีแทค บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดีแทค และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง sp@ce Project ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีโมบายล์อินเทอร์เน็ตในระยะเวลา 1 ปีขึ้น โดยภายใต้โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่ 1) โครงการ sp@ce Mobile Free Internet Access และ 2) โครงการ sp@ce Mobile Internet Application Contest
ในโครงการ sp@ce Mobile Free Internet Access บริษัทเตรียมมอบซิมจำนวน 30,000 ซิมทั้งในระบบโพสต์เพด และพรีเพด ให้กับนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และดาวน์โหลดข้อมูลโดยใช้มือถือ และแอร์ การ์ด (Air card) ผ่านเครือข่าย EDGE/GPRS ของดีแทคได้ฟรีเป็นเวลา 1 ปีเมื่ออยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพื้นที่ในวิทยาเขตสวนดอก ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเปิดกว้างให้นักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีเบอร์ของดีแทคอยู่แล้ว นำเบอร์โทรศัพท์เข้ามาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ และรับสิทธิ์ในการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่าย EDGE/GPRS ของดีแทคได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“นอกจากเป็นการให้การสนับสนุนให้นักศึกษา และบุคคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถเชื่อมต่อ และใช้งานโมบายล์ อินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการผ่านเครือข่าย EDGE/GPRS ของดีแทคแล้ว โครงการยังมุ่งเน้นไปที่การศึกษารูปแบบ และพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่มเป้าหมายที่มีช่วงอายุต่างๆ กัน เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการให้บริการโมบายล์ อินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ของดีแทคในอนาคตอันใกล้นี้” นายอมฤต กล่าวทั้งนี้ ดีแทคได้ดำเนินการขยาย capacity ของ cell sites ทั้งหมด 17 sites ในบริเวณมหาวิทยาลัย และวิทยาเขตสวนดอก เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น
นายอมฤต กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ดีแทคได้จัดโครงการ sp@ce Mobile Internet Application Contest เพื่อเป็นเวทีประลองความสามารถของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการแข่งขันพัฒนาโมบายล์ แอพพลิเคชั่น โดยทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องประกอบไปด้วยสมาชิก 2-4 คน ซึ่งดีแทคคาดว่าน่าจะมีทีมที่ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 150 ทีม
การแข่งขันแบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ 1. Mobile Social Networking ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่เน้นการสร้าง community บนโทรศัพท์มือถือ 2. On Device Internet Portal การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้มือถือสามารถสร้างเมนูส่วนตัว (Personalized Menu) ให้ตรงตามรูปแบบการใช้งาน และ 3. Free Style ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้ประกวดใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นตามต้องการ อาทิ แอพพลิเคชั่นที่เหมาะกับภูมิภาค หรือจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะ (localized application) หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ Flash on mobile เป็นเครื่องมือในการพัฒนา
“แม้เราสามารถนำเข้าแอพลิเคชั่นรูปแบบต่างๆ ได้จากต่างประเทศ แต่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนไทยได้อย่างตรงประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอพพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละท้องถิ่น (localization) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การจัดการประกวดแข่งขันยังเป็นการเตรียมรองรับการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ของดีแทคในอนาคตอันใกล้นี้ แอพพลิเคชั่นที่ชนะเลิศการแข่งขัน มีสิทธิ์ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การให้บริการในเชิงพาณิชย์ ส่วนทีมที่เป็นเจ้าของผลงานมีสิทธิ์เป็น content partners ของดีแทคในการให้บริการอีกด้วย” นายอมฤต กล่าว
ทั้งนี้ ดีแทคได้จัดตั้ง sp@ce Zone ขึ้นที่ชั้น 1 อาคาร วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และ เทคโนโลยี ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นจุดลงทะเบียน และแจกซิมมือถือให้กับนักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ยังเป็นที่รับสมัครผู้เข้าร่วมการแข่งขันพัฒนาโมบายล์ แอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ sp@ce Zone ยังทำหน้าที่เป็น Lab Test ให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมการประกวด โดยทีมที่เข้าประกวดสามารถนำผลงานเข้ามาทดสอบกับเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีระบบปฏิบัติการต่างๆ กันทั้ง Symbian, Java และ Windows ได้ตลอดเวลา
นายอมฤตกล่าวว่า ดีแทคและมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการตัดสินซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งสองฝ่ายจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 6 คน เพื่อพิจารณาผลงานร่วมกัน คณะกรรมการจะคัดเลือกทีมที่ผ่านรอบแรก 30 ทีม แต่ละทีมจะได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาท โดยเกณฑ์การพิจารณาจะดูจากความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการประยุกต์เพื่อใช้งานในเชิงธุรกิจได้จริง ในการคัดเลือกรอบที่ 2 คณะกรรมการจะคัดเลือกทีมที่ผ่านการพิจารณา 15 ทีม แต่ละทีมจะได้รับทุนการศึกษาอีก 25,000 บาท สำหรับรอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศ คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้ชนะเลิศของทั้ง 3 หัวข้อการประกวด แต่ละทีมจะได้รับรางวัลทุนการศึกษาอีกทีมละ 50,000 บาท และมีรางวัลพิเศษ Popular Vote เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับสมาชิกในทีมที่ได้รับการโหวตสูงสุดอีกด้วย การโหวตสามารถทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) โหวตผ่านมือถือมายังหมายเลขที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ และ 2) โหวตผ่านเวบไซต์ได้ที่ www.gooodspace.com
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสามารถสมัครและส่งแนวคิดการพัฒนาได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคมนี้ โดยดีแทคจะจัดอบรม (training) เพื่อเพิ่มความรู้ด้านการพัฒนา และเสริมมุมมองด้านธุรกิจให้กับผู้แข่งขัน คณะกรรมการจะประกาศชื่อทีมที่ผ่านรอบแรกในวันที่ 8 สิงหาคม จัดแคมป์ติวเข้มในวันที่ 23-24 สิงหาคม ประกาศผลทีมที่ผ่านรอบสองในวันที่ 25 พฤศจิกายน และประกาศผลทีมชนะเลิศในวันที่ 7 มีนาคมปีหน้า
รองศาสตราจารย์ ธีระ วิสิทธิ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าที่ตลอดเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มุ่งเน้นการวิจัย มีการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และจัดหาทรัพยากรเพื่อการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการสนับสนุนการพัฒนาพื้นฐานในการเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ และการสืบค้นแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ และในปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทจัดการการศึกษาเป็นอย่างสูง จึงเชื่อว่าโครงการความร่วมมือกับดีแทคในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การพัฒนาสื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“คณะทำงานจะนำผลจากการติดตามการใช้งานมาวิเคราะห์ สำรวจสภาพการใช้งานผ่านเทคโนโลยีโมบายล์อินเตอร์เน็ต และรวบรวมข้อมูลจากการค้นคว้าหาความรู้มาพัฒนาเป็นแนวทางการเรียนการสอนต่อไป สมกับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม” รองศาสตราจารย์ ธีระ กล่าว.
เมื่อเร็วๆนี้ ศ. ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดการแข่งขันกอล์ฟการกุศล ชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทางมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่า มช. กรุงเทพมหานคร และชมรมนักศึกษาเก่า มช.สมุทรสาคร จะจัดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2551 ณ สนามกอล์ฟกองทัพอากาศ (ธูปเตมีย์) เพื่อนำรายได้สมทบกองทุนของมูลนิธิฯ โดยมีดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ และพล.อ.ต. ธานี ปิณทะบุตร ร่วมประชุมด้วย
ออโต้เดสก์ อิงค์ (สัญลักษณ์หุ้นในตลาด NASDAQ: ADSK) ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อจัดหาและ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของออโต้เดสก์ สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่าง สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ ออโต้เดสก์ ในการพัฒนาหลักสูตร ด้วยการผสานซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการออกแบบรุ่นใหม่ล่าสุดเข้ากับกระบวนการเรียนรู้และเทคนิคใหม่ๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2507 ถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่งแรกในเขตภาคเหนือ และเป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศ ในปี 2549 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยของไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาจัดให้อยู่ในกลุ่มอันดับ ‘ดีเยี่ยม’
“คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ทั้งด้านความเป็นเลิศทางวิชาการและความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาชั้นสูงที่มีคุณภาพ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้พัฒนาก้าวไกลไปอีกขั้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ถือได้ว่าทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในโลก โดยผ่านหลักสูตรและเครื่องมือสำหรับบ่มเพาะมืออาชีพของออโต้เดสก์ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล” รศ.ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนและเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ตามคำแนะนำของออโต้เดสก์ ผู้ซึ่งจะจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย สนับสนุนด้านการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์และ e-learning รวมถึงจัดหาซอฟต์แวร์ในราคาพิเศษให้กับทางคณะสถาปัตยกรรม โดยนักศึกษาสามรถใช้โปรแกรม Autodesk Revit เวอร์ชั่นที่ออกแบบมาสำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะได้ฟรี ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวถือเป็น benchmark software ชั้นนำสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรม 3D และสำหรับการสร้างระบบบริหารจัดการข้อมูลอาคาร (BIM) – โดยสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานพร้อมกับโปรแกรมสนับสนุนการเรียนการสอนอื่นๆ จากเว็บ Autodesk Student Community
นอกจากนี้ออโต้เดสก์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะร่วมกับปรับปรุงหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการออกแบบยุคใหม่ อย่างเช่นในด้าน Building Information Modelling และเทคนิคใหม่ๆ ในการออกแบบสถาปัตยกรรม 3 มิติ (3D Visualization)
สิวาดาส รามาดาส, ผู้อำนวยการ ภาคพื้น ASEAN ของออโต้เดสก์ กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อผลิตและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ๆ ของไทย ซึ่งจะปูทางไปสู่ความเป็นมืออาชีพที่สามารถแข่งขันได้ในเวที สถาปัตยกรรมระดับโลกเมื่อพวกเขาจบการศึกษาออกไป ออโต้เดสก์มีความยินดีที่ได้สนับสนุนให้นักศึกษามีเครื่องมือที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการฝึกฝน เพื่อเสริมสร้างจินตนาการ และจำลองภาพจากความคิด ก่อนที่พวกเขาจะได้นำสิ่งนั้นไปสร้างให้เป็นจริง หลักการนี้ถือเป็นพื้นฐานที่ออโต้เดสก์ใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนการศึกษาประเทศไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง”
เกี่ยวกับ ออโต้เดสก์ สำหรับการศึกษา (Autodesk Education)
ออโต้เดสก์ให้การสนับสนุนความเป็นเลิศทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการจัดหาซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนของคณาจารย์และนักศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษาเหล่านั้นสู่การพัฒนาความเป็นมืออาชีพต่อไป ออโต้เดสก์มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยบ่มเพาะวิศวกร นักออกแบบ และสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ให้มีศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยม โดยการนำเสนอเทคโนโลยีของมืออาชีพให้สถาบันการศึกษาทั่วโลกได้นำไปใช้ประโยชน์ ออโต้เดสก์ช่วยสนับสนุนสถาบันการศึกษาในการลงทุนเพื่ออนาคต โดยเสนอส่วนลด เงื่อนไขพิเศษ ทุนช่วยเหลือ หลักสูตรและการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนการศึกษาของออโต้เดสก์ ได้ที่ www.autodesk.com/education
เกี่ยวกับ ออโต้เดสก์
ออโต้เดสก์ อิงค์ เป็นผู้นำระดับโลกในด้านซอฟต์แวร์การออกแบบ 2D และ 3D สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต สถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง สื่อ และความบันเทิง นับแต่เริ่มวางตลาดโปรแกรม AutoCAD ในปี 2525 ออโต้เดสก์ได้พัฒนาชุดโปรแกรมออกแบบชิ้นงานต้นแบบระบบดิจิตอล (digital prototyping) ออกสู่ตลาดมากมายและต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นภาพความคิดสร้างสรรค์ของตนเองก่อนนำไปสร้างงานจริง ทั้งนี้ บริษัทชั้นนำที่อยู่ใน Fortune 1000 ต่างให้ความไว้วางใจเครื่องมือการออกแบบของออโต้เดสก์ในการจำลองภาพจากความคิดและจินตนาการ รวมถึงวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้จริง ได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในขั้นตอนการออกแบบเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ยกระดับคุณภาพ และส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับออโต้เดสก์ ได้ที่ www.autodesk.com
Autodesk, AutoCAD, Autodesk Revit เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ออโต้เดสก์ อิงค์ ในสหรัฐอเมริกาและ/หรือประเทศอื่นๆ ออโต้เดสก์ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดเกี่ยวกับการพิมพ์หรือภาพกราฟิกที่ปรากฎอยู่ในเอกสารฉบับนี้
เกี่ยวกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งแรกที่ชื่อของมหาวิทยาลัยตั้งชื่อตามชื่อจังหวัดที่เป็นสถานที่ตั้งของสถาบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อตั้งขึ้นในปี 2507 ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภูมิภาคเขตภาคเหนือของประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาของประเทศจัดอันดับให้มหาวิทยาลัย เชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยระดับ ”ยอดเยี่ยม” ทั้งทางด้านวิชาการและทางด้านงานวิจัยค้นคว้า
ในปี 2538 ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดย ได้รับความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัย โดยแบบหลักสูตรการศึกษาได้มีการผสมผสานหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกาถึง 5 แห่ง ต่อมาจึงได้รับการจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในปี 2543 ปัจจุบัน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นับเป็นส่วนสำคัญของมหาวิทยาลัย เชียงใหม่และเป็นหน่วยงานราชการที่แตกต่างออกไปจากคณะอื่นๆ เนื่องจากมีระบบบริหารงานด้านการเงินที่เป็นอิสระ
Autodesk, AutoCAD, Autodesk Maya and Autodesk Inventor are registered trademarks of Autodesk, Inc., in the USA and/or other countries. Autodesk is not responsible for typographical or graphical errors that may appear in this document.
? 2007 Autodesk, Inc. All rights reserved.
เครื่องมือสู่ความสำเร็จ: Student Engineering and Design Community
ออโต้เดสก์เปิดตัว Student Engineering and Design Community ในเดือนกันยายน ปี 2549 เพื่อให้นักศึกษาและคณาจารย์ในสาขาสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล การออกแบบอุตสาหกรรม เกมคอมพิวเตอร์ และแอนิเมชั่น สามารถเข้าถึงและใช้งานเครื่องมือสนับสนุนการออกแบบอย่างมืออาชีพเพื่อเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นจริง ได้ฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย* ปัจจุบันมีนักศึกษาและคณาจารย์กว่า 50,000 คนจากสถาบันการศึกษากว่า 2,500 แห่ง ใน 73 ประเทศทั่วโลก ดาวน์โหลดโปรแกรมสนับสนุนการออกแบบ 3D ของออโต้เดสก์ไปใช้แล้วกว่า 98,523 ชุด (นักศึกษาสามารถดาวน์โหลดได้มากกว่า 1 ชนิดโปรแกรม เช่น Revit, 3Ds VIZ เป็นต้น)
นักศึกษาหรือคณาจารย์ที่มี email address ที่ออกให้โดยสถาบันการศึกษา สามารถเข้าใช้บริการดังกล่าวได้ นอกจากบริการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย* ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษายังจะได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำงานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนนักศึกษาจากทั่วโลก ผ่านบอร์ด ห้องสนทนา และอีกหลายหลายบริการที่มุ่งสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นมืออาชีพ อย่างเช่น บริการลงประกาศรับสมัครงานจะช่วยให้นักศึกษามีโอกาสสมัครเข้าฝึกงาน หรือสมัครเข้าทำงานทั้งแบบ full-time และ part-time
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Student Engineering and Design Community
ได้ที่ www.students.autodesk.com
*บริการภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุไว้ใน End-user License Agreement ที่จะแจ้งไว้ทุกครั้งที่มีการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการเงิน Financial Street@CMU ภาคเหนือที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้ทางการเงิน และศูนย์ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่งที่ 4 ในภูมิภาค เน้นการเข้าถึงผู้สนใจลงทุนในภูมิภาค สถาบันการศึกษาผ่านพันธมิตร ในการเผยแพร่ความรู้ ที่สนใจลงทุนผ่านตลาดทุน เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนคุณภาพในตลาดทุน
นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ ประธานระบบการศึกษาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในโอกาสเปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการเงิน Financial Street@CMU ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันนี้ (2 ก.ค. 2550) ว่า เป็นความร่วมมือต่อเนื่องตามโครงการ University Networking ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2546
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการเงิน Financial Street@CMU ที่ภาคเหนือ เพื่อให้เป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้ทางการเงิน ที่มุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาผ่านการปฏิบัติและการจัดกิจกรรมที่หลากหลายภายในบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา โดยนอกจากความรู้ของหนังสือ และระบบข้อมูลออนไลน์แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดอบรมการจำลองซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และ ตราสารอนุพันธ์ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการส่งคำสั่งซื้อขาย พร้อมทั้งให้คำปรึกษา และการฝึกอบรมการใช้โปรแกรมการเงินและการลงทุนตามความต้องการของผู้ใช้” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว
ศูนย์การเรียนรู้ทางการเงินแห่งนี้ เป็นศูนย์ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทันสมัย มีข้อมูลที่ง่ายต่อการใช้งาน มีบริการ ข้อมูลในรูปแบบออนไลน์เชื่อมโยงกับระบบข้อมูล SET Smart Enterprise ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงนับเป็น แหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับนักศึกษา คณาจารย์ ผู้ประกอบวิชาชีพในสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้า เพื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุนด้วย ตนเอง ผ่านการนำเสนอในบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาที่สามารถสอดแทรกแนวคิด และประสบการณ์จริงให้ กับผู้ใช้บริการ และสามารถนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการเผยแพร่การเรียนรู้ด้านการเงินและการลงทุนเชิงบูรณาการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตจริงและการทำงานในอนาคต” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศตามโครงการ University Networking จัดตั้งศูนย์ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ศูนย์การเรียนรู้ทางการเงิน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเงินและการลงทุนสู่นักศึกษา คณาจารย์ ผู้ประกอบวิชาชีพในสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อสนับสนุนนโยบายการขยายฐาน ผู้ลงทุน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มหาวิทยาลัยไปแล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และล่าสุดที่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งได้สนับสนุนในการจัดตั้งศูนย์Financial Lab จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2551