มหาอำนาจนางงาม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 20 Dec 2018 04:47:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เบื้องหลังมหาอำนาจนางงาม “ฟิลิปปินส์” หยาดเหงื่อ คราบน้ำตา และความลุ่มหลงในความงาม https://positioningmag.com/1204137 Thu, 20 Dec 2018 04:05:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1204137 ภาพจาก : https://missuniverse.in.th

นอกจากความโดดเด่นของผู้เข้าประกวดแล้ว ตำแหน่ง “มิสยูนิเวิร์ส” คนที่ 2 ในรอบ 3 ปี ของฟิลิปปินส์ยังสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของธุรกิจการประกวด และความลุ่มหลงต่อความงามในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ด้วย

ฟิลิปปินส์เคยมีตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาลเท่ากับประเทศไทย คือ 2 คนอยู่นานหลายปี จนกกระทั่ง เพีย วูร์ทซบาค สามารถรคว้าตำแหน่งมิสยูนเวิร์สมาได้ในการประกวดประจำปี 2015

และล่าสุดกับการประกวดในประเทศไทยที่ตัวแทนของฟิลิปปินส์ อย่าง แคทรีโอนา เกรย์ ที่คว้ามงกุฎไปครองได้ในท้ายที่สุด จนกลายเป็นผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์คนที่ 4 ที่ได้รับตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาลไปครอง

จนพูดได้ว่าฟิลิปปินส์ได้ขึ้นมาอยู่ในระดับ “มหาอำนาจ” แห่งวงการนางงามเท่าๆ กับประเทศหมู่ลาตินอเมริกาแล้ว

“ประกวดนางงาม” อาจจะขาลงในหลายประเทศ แต่รุ่งสุดๆ ในฟิลิปปินส์

ความสำเร็จของ ฟิลิปปินส์ บนเวทีประกวดความงามระดับโลก กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา อย่างเมื่อปี 2013 เมแกน ยัง ก็เพิ่งจะกลายเป็นผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้รับตำแหน่งมิสเวิลด์ในการประกวดที่ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนั้นสาวงามของฟิลิปปินส์ก็ยังคว้าตำแหน่งสำคัญๆ เรียกว่าเข้ารอบ 10 คน 5 คน หรือ 3 คนสุดท้ายจนเป็นเรื่องชินตาของผู้ชมการประกวดไปแล้ว

ในสังคมตะวันตกการประกวดนางงามเริ่มถูกมองในมุมลบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเวทีที่มีกรรมการมา “ให้คะแนน” สาวๆ ในชุดว่ายน้ำ เริ่มจะถูกมองว่าเป็นการปฏิบัติกับผู้หญิงเหมือนเป็นวัตถุทางเพศ จน มิสเวิลด์ ได้พยายามลบภาพดังกล่าวด้วยการยกเลิกการประกวดในรอบชุดว่ายน้ำ ส่วนเวทีใหญ่หลายๆ แห่งก็เลือกให้ผู้หญิงมามีบทบาทเป็นกรรมการมากขึ้น

แม้ภาพพจน์ของการประกวดนางงามจะเริ่มไม่สวยงามในหลายๆ ประเทศ แต่ไม่ใช่สำหรับฟิลิปปินส์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงนิยมการประกวดนางงาม และมองว่าเวทีประชันโฉมไม่ได้เป็นเรื่องการเหยียดเพศ แต่ตรงกันข้ามชาวฟิลิปปินส์ยังเชื่อว่า “เวทีประกวดนางงาม” คือการเชิดชูสตรี และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงพลังในตัวเองออกมาด้วย

การประกวดนางงามสำหรับชาวฟิลิปปินส์ยังเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนไปถึงความภาคภูมิใจในชาติ เมื่อสาวงามไปคว้าตำแหน่งในเวทีสำคัญระดับโลกด้วย

ธุรกิจนางงามเฟื่องฟูในฟิลิปปินส์

ความเฟื่องฟูของธุรกิจการประกวดในประเทศฟิลิปปินส์เอง ก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวทีประกวดระดับโลกให้ความสำคัญกับประเทศหมู่เกาะแห่งอาเซียนประเทศนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน ฟิลิปปินส์ กลายเป็นตลาดหลักของการธุรกิจนางงามในยุคนี้ตลาดหนึ่งไปแล้ว

การประกวดนางงามในฟิลิปปินส์นั้น จะมีขึ้นในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น, สาวงามประจำหมูบ้าน, คนสวยประจำเมือง, การประกวดประจำเทศกาล จนไปถึงระดับชาติ จนทำให้ธุรกิจที่แวดล้อมเรื่องการประกวดทั้งหมดพลอยได้ดิบได้ดีไปด้วย

ความนิยมในการประกวดทำให้ธุรกิจการนางงามในประเทศฟิลิปปินส์ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง จากเมื่อปี 2010 การจัดประกวดทั้งประเทศในเครือของ Binibining Pilipinas Charities Inc เคยขายตั๋วเข้าชมได้ประมาณ 1.2 ล้านใบ ในปี 2014 ยอดขายตั๋วทั้งหมดก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 4 ล้านใบ

แต่ที่ทำรายได้ให้การประกวดอย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างแท้จริง ก็คือรายได้จากบรรดาสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนต่างๆ จากเคยได้รับการสนับสนุนรวม 2.7 ล้านเปโซ (1.6 ล้านบาท) ในปี 2010 พอถึงปี 2014 ผู้จัดงานประกวดสามารถกอบโกยเงินจากสปอนเซอร์ได้รวมกันถึง 35 ล้านเปโซ (22 ล้านบาท) และน่าจะมากขึ้นอีกในปัจจุบัน

“นางงาม” กลายเป็นหัวข้อยอดฮิตในชุมชนออนไลน์ของฟิลิปปินส์ ส่วนเว็บไซต์เกี่ยวกับการประกวดนางงามที่ชื่อว่า Missosology ที่ริเริ่มโดยชาวฟิลิปปินส์ ก็กลายเป็นชุมชนออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนางงามที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

ศูนย์ฝึกนางงาม ธุรกิจโดย “แฟนนางงาม” ขาดทุนไม่ว่า ขอส่งสาวงามไประดับโลก

ความคึกคักของการประกวดยังทำให้เกิดโรงเรียนฝึกนางงามขึ้นมากมายในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกรุงมะนิลา

โรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นมาจากความคลั่งไคล้ในการประกวดของกลุ่มแฟนนางงาม ซึ่งพวกเขายืนยันว่าไม่ได้คิดเรื่องผลกำไร แต่เพราะรักการประกวด จึงอยากส่งเสริมสาวๆ และหวังผลักดันให้ตัวแทนของฟิลิปปินส์มีศักยภาพ และไปไกลที่สุดในระดับนานาชาติ

เหมือนกับศูนย์อบรบ Kagandahang Flores ของ โรดิน กิลเบิร์ต ฟลอเรส ที่ไม่ขอเรียกโรงเรียนสอนนางงามของเขาว่าเป็น “ธุรกิจ” เพราะเขายืนยันว่าทำด้วยความรัก และไม่แสวงหากำไร เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่หลายคนของศูนย์มีงานประจำกันอยู่แล้ว จึงต้องอาศัยฝึกสอนนางงามกันในนอกเวลางานปกติ

ส่วนสาวงามที่มาฝึกฝนบางคนก็จ่ายเงินให้กับโรงเรียน บางคนก็มาเรียนแบบฟรีๆ หากทางโรงเรียนเห็นแวว “ถ้าทำเป็นธุรกิจจริงๆ ก็คงอยู่ไม่ได้นานขนาดนี้หรอก” ฟลอเรส กล่าว โดยเขาเคยมีลูกศิษย์ที่ไปไกลถึงระดับโลกอย่าง บี โรส ซานติอาโก มิสอินเตอร์เนชั่นแนล 2013 และ เจมี เฮอร์เรลล์ มิสเอิร์ธ 2014 มาแล้ว

สาวงามส่วนที่ผ่านการอบรมจะได้รับการฝึกฝนทั้งการโพสท่า, การเดินบนเวที และยังได้เรียนรู้เรื่องการควบคุมน้ำหนัก, รักษารูปร่าง, แต่งหน้า รวมถึงแนะนำเรื่องการศึกษาหาความรู้ทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ สำหรับการตอบคำถามบนเวทีด้วย

บนเวทีพวกเธออาจจะดูสวยงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ในระหว่างการฝึกฝน โดยเฉพาะการฝึกเดินบนเวที หญิงสาวชาวฟิลิปปินส์เหล่านี้ต้องอดทนต่อความเมื่อยล้า และความเหน็ดเหนื่อยอยู่ในศูนย์ฝึกที่ไม่ได้ดูหรูหราฟู่ฟ่า จนกว่า “กล้ามเนื้อจะจดจำ” ท่วงท่าการเดินที่สวยงามเหมือนนางพญา เพื่อให้ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติที่สุด

เส้นทางสู่ความสำเร็จ … หนทางหลุดจากความยากจน

หากกีฬามวยและบาสเกตบอลคือสิ่งที่จะทำให้สาวๆ ชาวฟิลิปปินส์โด่งดังและร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เวทีนางงามก็คือโอกาสสำหรับสาวๆ ในฟิลิปปินส์จึงมีการประกวดเวทีน้อยใหญ่มากมาย ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงจังหวัด และระดับประเทศ

จึงพูดได้ว่า ณ ปัจจุบันเวทีประชันความสวยได้กลายเป็นสะพานไปสู่ความสำเร็จของหญิงสาวในหลายๆ กลุ่มในฟิลิปปินส์

สำหรับหญิงสาวชนชั้นกลาง หรือเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัย ต่างหวังว่าเวทีประกวดจะเป็นโอกาสให้พวกเธอได้เข้าวงการบันเทิง หรือวงการแฟชั่น แต่สำหรับหญิงสาวในครอบครัวชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบ พวกเธอบางคนอาจจะหวังแค่เงินรางวัลระดับไม่กี่พันเปโซ หรือ โทรทัศน์จอ 21 ซักเครื่อง

นอกจากนั้นก็ยังมีหญิงสาวหลายคนที่ยอมรับว่ามองเวทีประกวดเป็นหนทางที่จะทำให้พวกเธอหลุดพ้นจากความยากจน เหมือน จานีเซล ลูบินา อดีตผู้เข้าประกวดมิสฟิลิปปินส์ที่มีพื้นเพเป็นคนทำความสะอาดพื้น ที่กล่าวว่าหากไม่มีการประกวดนางงาม เธอก็คงไม่มีหนทางที่จะหลุดจากวงเวียนชีวิตแบบเดิมๆ

“เวทีประกวดเดี๋ยวนี้ดีมากๆ มีความเท่าเทียมพอสมควร แม้แต่คนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดก็ยังมีโอกาสคว้าตำแหน่ง ในประเทศของเราเวทีนางงามจึงเป็นเรื่องของโอกาส และการแสดงพลังของผู้หญิงอย่างแท้จริง” อดีตมิสฟิลิปปินส์ จอยซ์ เบอร์ตัน-ทิทูลาร์ กล่าว

สำหรับชาวฟิลิปปินส์แล้ว “เวทีนางงาม” จึงเป็นทั้งเวทีของโอกาส เป็นความคลั่งไคล้ กับความภาคภูมิใจของประชาชนในชาติ และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ไม่เลว จนกลายเป็นความลงตัวที่ทำให้วงการประกวดในฟิลิปปินส์รุ่งเรืองจนขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลก.

]]>
1204137