มูลนิธิเอสซีจี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 14 Oct 2014 00:00:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มูลนิธิเอสซีจี…เพื่อก้าวย่างที่มั่นคงของชุมชน https://positioningmag.com/58589 Tue, 14 Oct 2014 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=58589

“…ในการช่วยเหลือนั้น ควรจะยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขา เพื่อให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้ต่อไป….” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๐

ด้วยแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิเอสซีจี คือ การพัฒนาคน ตามพันธกิจหลักที่ว่า ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’ ส่งผลให้การพัฒนาทรัพยากร ‘คน’ เป็นเสมือนพันธสัญญาที่มูลนิธิเอสซีจีมีต่อสังคม มูลนิธิเอสซีจีจึงขอน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้มาเป็นเข็มทิศนำทางในการทำงาน ด้วยตระหนักดีว่าการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่เริ่มจาก ‘คน’ ก่อน ชุมชนก็ไม่อาจเดินหน้า ประเทศก็ไม่อาจพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืนได้ เหตุนี้เองการส่งเสริมศักยภาพของคน และการสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นความมุ่งหวังตั้งใจของมูลนิธิเอสซีจีในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างสร้างสรรค์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 เมื่อคลื่นสึนามิถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งอันดามันอย่างไม่ปราณี นับเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานระหว่างชุมชนกับมูลนิธิเอสซีจีอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ในกรณีเร่งด่วน รวมถึงใช้วิกฤตนี้เปลี่ยนเป็นโอกาสในการวางรากฐานแนวคิดชุมชนเข้มแข็ง พร้อมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมหรือพัฒนาอาชีพให้กับผู้ประสบภัย โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการหนุนเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อให้ได้พลิกฟื้นคืนอาชีพนั่นก็คือ การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนนั่นเอง จากวันนั้น ถึงวันนี้นับเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่มูลนิธิเอสซีจีได้ทำงานร่วมกับชุมชน โดยได้นำประสบการณ์การช่วยเหลือในครั้งนั้น เรียนรู้ต่อยอดการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และขยายผลกระบวนการของกองทุนหมุนเวียนไปยังชุมชนอีก 6 พื้นที่ เพียงแต่แตกต่างที่ลักษณะของกองทุน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม ของชุมชนนั้นๆ โดยอาศัยต้นทุนทางภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนแต่ละแห่งมีอยู่เดิม ได้แก่ 1.พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. พื้นที่บ้านปลาบู่ จังหวัดมหาสารคาม 3. พื้นที่เครือข่ายอินแปง จังหวัดสกลนคร 4. พื้นที่บ้านช่องฟืน จังหวัดพัทลุง 5. พื้นที่บ้านคูขุด จังหวัดสงขลา 6. พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่าน  อย่างไรก็ตามรูปแบบการช่วยเหลือของมูลนิธิฯ จะเป็นการช่วยแบบมีเงื่อนไข นั่นหมายถึง เงินที่กู้ยืมไปจะต้องใช้คืนกลับมายังกองทุนฯ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและการจัดระบบการกู้ยืมของชุมชนนั้นๆ นอกจากนี้การที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในกองทุนร่วมกันย่อมนำมาซึ่งการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

“ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี ได้นำเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน อันหมายถึงกองทุนหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดย 6 กองทุนนี้ เป็นเสมือนความภาคภูมิใจของมูลนิธิเอสซีจีที่ได้ร่วมเดินไปพร้อมๆ กับชุมชน แม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรค แต่คนในชุมชนก็เป็นผู้จัดลำดับความสำคัญและแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการของมูลนิธิเอสซีจี ร่วมเดินไปด้วยกัน กองทุนนี้ยังมุ่งสร้างผู้นำชุมชนคนรุ่นใหม่ให้ประกอบอาชีพในท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด พึ่งพาตนเองได้ ปัจจุบัน กองทุนฯ ใน 6 พื้นที่ยังดำเนินไปได้ด้วยดี  มีเงินหมุนเวียนกลับมายังชุมชน สร้างรายได้หมุนเวียนเรื่อยไป” ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจีกล่าว

อย่างไรก็ตามมูลนิธิเอสซีจีได้แบ่งกองทุนหมุนเวียนออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ กองทุนเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (Investment Fund) และ กองทุนสวัสดิการ (Welfare Fund) 

สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (Investment Fund) คือ กองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ริเริ่มและต่อยอดการประกอบอาชีพโดยใช้ฐานทรัพยากรของชุมชนเป็นหลัก กองทุนประเภทนี้จะให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพและเน้นให้มีการนำเงินมาหมุนเวียนในระบบ โดยมีดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้นำมาปันผลตอบแทนสมาชิกเป็นรายคน แต่นำมาต่อยอดให้แก่สมาชิกในกลุ่ม มีดอกเบี้ยนำมาเป็นเงินหมุนเวียนให้สมาชิกรายอื่น กองทุนสัมมาชีพที่อยู่ในประเภทนี้ได้แก่ 1.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอาชีพ บ้านปลาบู่  จ.มหาสารคาม 2.กองทุนคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรเครือข่ายอินแปง จ.สกลนคร  3.กองทุนหมุนเวียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุม จ.น่าน

“เงินจากกองทุนหมุนเวียนของมูลนิธิเอสซีจี ถูกจัดสรรเป็นหลายส่วน เช่นเอามาทำกองทุนปุ๋ยอินทรีย์ กองทุนนาอินทรีย์ กองทุนผ้ามัดย้อม เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ปลอดสารเคมี ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำผ้ามัดย้อม เพราะเป็นภูมิปัญญาท้องถินที่มี เราถนัดเรื่องย้อมผ้า เรามีไม้ที่เปลือกของมันนำมาทำสีย้อมผ้าได้ คือไม้ประดู่ ไม้อะลาง ทีนี้พอใส่น้ำปูนใสลงไปจะได้สีอิฐ ถ้าใส่สนิมจะได้สีเทา และถ้าใส่เปลือกมะม่วง เปลือกเพกา จะได้สีเขียว นี่เป็นภูมิปัญญานับแต่สมัยพุทธกาล เรามีความถนัดเรื่องนี้ ก็เปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นและความถนัดมาทำผ้ามัดย้อมขาย เพิ่มเติมรายได้จากอาชีพหลักคือการทำนา แม่บ้านในชุมชนก็มีอาชีพ มีสังคม มีปัญหาก็เอามาคุยกัน ผ้ามัดย้อมนี้ใครถนัดมัดก็มัด ใครถนัดย้อมก็ย้อม ใครถนัดทั้งสองอย่าง ก็จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น เพราะค่าแรงที่นี่คิดตามจำนวนชิ้นที่แต่ละคนทำได้ในแต่ละวัน ส่วนการแปรรูปเราก็ยังส่งผ้ามัดย้อมไปแปรรูปที่ชุมชนเครือข่ายของเราได้อีกที่บ้านสองห้อง จังหวัดมหาสารคาม พอเราเริ่มมาด้วยกัน เวลามีปัญหาอะไรก็จะไม่ยากเกินแก้ ปัจจุบันสินค้าผ้ามัดย้อมของเราได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่วมพัฒนาเป็นสินค้าโอทอป นอกจากนี้ ที่บ้านปลาบู่ของเรา ยังมีหลักสูตรการทำผ้ามัดย้อมเพื่อสอนเด็กๆ ในชุมชนให้มาเรียนเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนแต่ใช้ได้ในชีวิตจริง เป็นภูมิปัญญาของพ่อแม่พี่น้อง ที่เขาควรจะรู้เรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของพวกเขา” พี่ณรงค์ กุลจันทร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจเพื่อสังคมสมาคมไทบ้าน กล่าว

อีกชุมชนหนึ่งที่สมาชิกในกลุ่มมีความเข้มแข็งไม่แพ้กัน นั่นคือ กลุ่มกองทุนเกษตรรุ่นใหม่ผู้เลี้ยงหมูหลุม โดยกองทุนนี้อยู่ภายใต้กองทุนสัมมาชีพน่านหรือที่รู้จักกันในชื่อกองทุนสัมมาชีพโจ้โก้ ด้วยงบประมาณจัดตั้งกองทุนเพียง 500,000 บาทจากมูลนิธิเอสซีจีเมื่อปี 2555 วันนี้กลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ผู้เลี้ยงหมูหลุม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน โดยเฉพาะกระบวนการ “หมูของขวัญ”

พี่บัวตอง ธรรมมะ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน และ ผู้จัดการกองทุนสัมมาชีพน่าน เล่าให้ฟังว่า “หมูของขวัญ” คือ การที่สมาชิกในกลุ่มตกลงกันว่าแทนที่จะเป็นการกู้ยืมและคืนในแบบที่ผ่านมา อาจจะไม่เกิดการสร้างอาชีพหรือการสร้างองค์ความรู้เท่าไรนัก จึงตกลงกันว่าสมาชิกในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จะสามารถกู้ยืมเงินกองทุนได้ แต่เวลาคืน แทนที่จะคืนเป็นเงิน ก็จะคืนเป็นแม่หมูพันธุ์ดี ซึ่งจะต้องคืนทั้งหมด 3 ตัว โดย 2 ตัว ต้องคืนเข้ากลุ่มเพื่อให้กลุ่มมีแม่หมูพันธุ์ดีเพื่อส่งต่อ และอีก 1 ตัว จะส่งให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ญาติกัน เพื่อสร้างการขยายผลต่อยอดแม่หมูพันธุ์ดีเรื่อยไป แต่หากหมูที่เลี้ยงมีลักษณะไม่ตรงกับการเป็นแม่พันธุ์ที่ดี สมาชิกก็สามารถคืนเป็นหมูขุนได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องคืนตามน้ำหนักที่เคยได้ไป เช่น ตอนได้รับหมูครั้งแรก หมูมีน้ำหนัก 95 กิโลกรัม ดังนั้นตอนที่นำมาคืนก็ต้องเลี้ยงให้ได้น้ำหนัก 95 กิโลกรัม เช่นกัน การที่ชุมชนเลือกวิธีนี้เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้จริง และคนในชุมชนได้พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เพราะการได้แม่หมูพันธุ์ดีไปเลี้ยง จะต้องรู้วิธีการดูแล ซึ่งจำเป็นที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาจากกันและกัน นอกจากนี้ที่ชุมชนของเรา เวลาบ้านใครจะทำคอกหมู ก็จะมาช่วยกันทั้งกลุ่ม มาลงแรงสร้างคอกกัน หรือหมูใครป่วยก็จะมาช่วยกันดูแลวิเคราะห์อาการ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง พึ่งพากันได้ จึงอยากขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้เราได้ประกอบอาชีพในแบบที่เราถนัด ในแบบที่เรามีองค์ความรู้ของเรา ถือเป็นความช่วยเหลือที่ตรงจุด และตอบโจทย์ชุมชน เรารู้สึกว่าเป็นแนวทางการช่วยเหลือที่ถูกต้องแล้ว มันถูกจริตกับชุมชนเรา”

ส่วนกองทุนสวัสดิการ (Welfare Fund)  คือ กองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนสวัสดิการให้แก่กลุ่มในเหตุการณ์เฉพาะ หรือกรณีเร่งด่วน เกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชนด้วยความสมัครใจที่ประสงค์จะดูแลซึ่งกันและกันตั้งแต่เกิดจนตาย กองทุนประเภทนี้จะเน้นให้มีเงินมาหมุนเวียนในระบบและเป็นเงินออมในกลุ่มเพื่อให้สมาชิกรายอื่นมีการนำเงินไปใช้ประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่าย นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน เป็นกองทุนที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ได้แก่ 1.กองทุนหมุนเวียนซ่อมสร้างเรือและกองทุนเครื่องมือประมง ทะเลสาบสงขลา บ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา 2. กองทุนหมุนเวียนซ่อมสร้างเรือและกองทุนเครื่องมือประมง ทะเลสาบสงขลา บ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง 3. กองทุนเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตัวอย่างกองทุนสวัสดิการเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่มาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.เทพา อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย และอ. นาทวี สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ท่ามกลางความตึงเครียดและความเป็นอยู่อย่างหวาดระแวงของคนในพื้นที่ กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นชาวบ้านเป็นผู้นำชุมชน ยังคงเลือกที่จะไม่ละทิ้งบ้านเกิดและเลือกทำงานจิตอาสาไม่มีแม้เงินเดือนหรือสวัสดิการใดๆ เพื่อดูแลประคับประคองชุมชนบ้านเกิดของตัวเองให้มีบรรยากาศที่ดีเท่าที่จะทำได้ มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงความสำคัญของคนกลุ่มเล็กๆ ที่นอกจากจะต้องอยู่ใกล้ชิดพื้นที่เสี่ยงแล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมต่างๆ คนกลุ่มนี้สมควรได้รับการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มเติมกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พี่สุภารัตน์ มูซอ นอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว ยังเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลมะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และเป็นประธานชมรมจิตอาสาของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ เธอทำงานจิตอาสามา 5 ปีต่อกันแล้ว โดยหน้าที่หลักของพี่จะอยู่ที่ห้องเวชกรรม คอยดูแลผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ คอยช่วยเหลือหากคนที่มาพูดภาษาไทยไม่ได้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วเธอนำเงินจากกองทุนเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปซื้อวัว 2 ตัว และปลูกผักสวนครัว ปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงวัว ปัจจุบันนี้เงินตั้งต้น 30,000 บาทที่กู้ยืมไปซื้อวัว ซื้อหญ้าในวันนั้น ทำให้วันนี้พี่สุภารัตน์เป็นเจ้าของวัวจำนวน 15 ตัวแล้ว “ทุกวันนี้ความเป็นอยู่ดีขึ้น รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำงานช่วยสังคม และอยากขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มองเห็นสิ่งที่พี่ทำและให้กำลังใจ ให้อาชีพ ทำให้หมดกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย สร้างกำลังใจในการทำงานเพื่อสังคม พี่ก็ตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อยจนกว่าจะทำไม่ได้ พี่เชื่อว่าถ้าเราไม่ช่วยสังคมก่อน ก็อย่าหวังให้สังคมช่วยเรา”

กว่า 10 ปี ที่เดินร่วมทางมากับชุมชน ถึงเวลาแล้วที่คนของชุมชนนั้นๆ จะเป็นผู้บอกเล่าถึงเส้นทางเดินของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นการก้าวเดินบนทางขรุขระ หรือทางเรียบ แต่เส้นทางที่เดินมานั้น ล้วนมีเรื่องราวและประสบการณ์ที่น่าสนใจ มูลนิธิเอสซีจีจึงได้จัดกิจกรรม Show & Share บทเรียนกองทุนสัมมาชีพ ก้าวย่างที่มั่นคงของชุมชน ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้บทเรียนการดำเนินงานของกองทุนทั้ง 6 กองทุน และเผยแพร่ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ

มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามชุมชนมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ที่จะแก้ปัญหานั้นได้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชนนั่นเอง เพราะความตั้งใจจริง และรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง ย่อมเป็นนิมิตรหมายอันดีในการแสวงหาทางออกร่วมกัน มูลนิธิเอสซีจีจึงมุ่งเน้นไปที่การช่วย ‘คน’ มากกว่าการช่วยในลักษณะของวัตถุหรือการบริจาคสิ่งของซึ่งไม่นานก็อาจหมดไป เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกระบวนการแห่งวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

                                      …. มูลนิธิเอสซีจี เชื่อมั่นในคุณค่าของคน…

]]>
58589
มูลนิธิเอสซีจี มอบทุนการศึกษา “เด็กช่าง สร้างชาติ” สนับสนุนเด็กไทยก้าวไกลในอาชีพ https://positioningmag.com/57660 Fri, 07 Mar 2014 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57660

นายขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี เปิดตัวทุนการศึกษา “เด็กช่าง สร้างชาติ” ปี 2 สนับสนุนเด็กไทยให้ก้าวไกลในอาชีพ มอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่สามารถสอบเข้าและเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างอุตสาหกรรม จำนวน 250 ทุน ทุนละ 20,000 บาท โดยเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน และยังเป็นทุนต่อเนื่องไปจนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาช่างอุตสาหกรรม โดยน้องๆ นักเรียนทุนจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษทั้งการส่งเสริมทักษะอาชีพและทักษะที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงานกับหน่วยงานชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ การส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ และยังมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างจิตอาสา ช่วยเติมเต็มประสบการณ์วิชาชีพและเรียนรู้การเป็นผู้ให้อีกด้วย

สำหรับน้องๆ ที่สนใจสมัครขอรับทุนเด็กช่าง สร้างชาติ สามารถเข้าไปดูกติกาเงื่อนไขการสมัครพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครที่ www.scgfoundation.org ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2586 3446 หรือ คลิก www.facebook.com/SCGFoundation.scholarship

]]>
57660
ปันความรู้ ปันโอกาส สู่สังคม กับโครงการ ‘ปัญญาชน..คนทำดี https://positioningmag.com/57432 Thu, 28 Nov 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57432

“ไม่มีข้อจำกัดหรือรูปแบบในการทำความดี แค่คิดจะทำก็ถือว่าดีแล้ว และจะยิ่งดีกว่าหากได้เริ่มลงมือทำ” วันนี้น้องๆ เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับโอกาสในการทำความดีเพื่อสังคมกับโครงการ “ปัญญาชน…คนทำดี” ได้เริ่มเรียนรู้การเป็นผู้ให้ ‘ให้’ โดยนำความรู้ที่ตนเองร่ำเรียนมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งนั่นไม่ได้เพียงหมายถึงการทำให้ชุมชน สังคมดีขึ้น หากแต่ความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นจากการกระทำความดีนี้จะซึมลึกลงไปในจิตใจของเยาวชนหล่อหลอมและก่อเกิดเป็น ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่มีจิตอาสาสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ต่อไป

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจีเชื่อมั่นว่าสังคมคุณภาพต้องประกอบด้วยคนเก่งและดี จึงมุ่งมั่นเสริมสร้างศักยภาพของคนโดยเน้นที่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาชาติในอนาคต รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อจุดประกายให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคมและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืน

“โครงการ ‘ปัญญาชน…คนทำดี’ จึงถูกริเริ่มขึ้น โดยชวนน้องๆ นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ใช้พลังแห่งการสร้างสรรค์ทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยร่วมเสนอโครงการสาธารณประโยชน์ที่สอดคล้องกับสาขาวิชาหรือหลักสูตรที่กำลังศึกษาอยู่ สำหรับโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 20 โครงการ จะได้รับงบประมาณสนับสนุนวงเงินสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท และนับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่แม้ปีนี้จะเป็นปีแรก แต่ก็มีน้องๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการถึง 117 โครงการด้วยกัน” คุณสุวิมล กล่าว

ขณะนี้ทั้ง 20 โครงการ กำลังดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยน้องๆ นิสิต นักศึกษาได้นำความรู้ ความถนัดที่เรียนมารับใช้สังคมในหลากหลายมิติ ทั้งโครงการที่เป็นการสร้าง หรือประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนที่มีมาช้านาน อย่างโครงการ Environment Design Laem Chabang ซึ่งเป็นโครงการที่น้องๆ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง ได้มีโอกาสลงพื้นที่และพูดคุยกับชุมชนบ้านชากยายจีน พบว่าชุมชนกำลังประสบกับปัญหาขยะ ที่แต่ละวันมีมากกว่า 2 ตัน และแม้ชาวบ้านจะแยกขยะจำพวกขวดพลาสติกไว้ขายกับซาเล้งที่มารับซื้อ แต่เงินที่ได้กลับมาก็น้อยนิดนัก
เหตุนี้เอง หลังการพูดคุยร่วมกันหลายครั้งระหว่างผู้นำชุมชนท้องถิ่น ชาวบ้าน ครูอาจารย์ และน้องๆ นักศึกษา จึงเกิดเป็นแนวคิด ‘ธุรกิจขยะรีไซเคิลสู่ชุมชน’ ที่น้องๆ เยาวชนนำวิชาความรู้ในห้องเรียนมาช่วยชุมชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบและผลิตเครื่องย่อยขวดพลาสติก การสอนชุมชนให้เรียนรู้การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตลอดจนด้านการตลาด กระบวนการเหล่านี้นำมาซึ่งปริมาณขยะพลาสติกที่ลดลงสวนทางกับรายได้ชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ชุมชนบ้านชากยายจีนยังมีจุดนัดพบแห่งใหม่นั่นคือสถานที่ตั้งของเครื่องย่อยขวดพลาสติกที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างเก็บขวดมาขาย โดยชุมชนตกลงให้วันอาทิตย์เป็นวันเปิดใช้เครื่องย่อย และสถานที่นี้ยังเป็นที่ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความเห็นของคนในชุมชนในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

“เพราะเครื่องย่อยขวดพลาสติก พวกเราถึงได้รู้จักและใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากขึ้นครับ เนื่องจากพวกเราต้องมาดูการทำงานของเครื่องทุกวัน ส่วนเพื่อนอีกกลุ่มก็มาสอนบัญชี ทำให้ที่นี่กลายเป็นที่รวมตัวของพวกเรา พี่ป้าน้าอา และเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกค้าคนสำคัญที่ขยันเอาขวดพลาสติกมาขาย” ณัฐวัฒน์ รัตนมาโต สาขาวิชา เมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง เล่าอย่างภูมิใจ

“ที่ผ่านมาพ่อค้าขายของเก่ามารับซื้อขวดพลาสติก เราก็ขายไป ก็ไม่เห็นว่ามันมีมูลค่า แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับทีมวิทยาลัยฯ เรื่องราคาของขยะรีไซเคิล อย่างพวกขวดนี้ พอเอามาย่อยกลับได้ราคาดีกว่าตอนขายเป็นขวดอีก เพราะตอนเป็นขวดเราขายกิโลกรัมละ 13 บาท แต่พอมีเครื่องย่อย เราขายได้กิโลกรัมละ 21 บาท นอกจากนี้ทางน้องๆ ก็มาสอนพวกเราทำบัญชีครัวเรือน สอนให้ดูราคาของขยะรีไซเคิลจากทางอินเตอร์เน็ต จากที่ไม่เคยสนใจเรื่องเทคโนโลยีออนไลน์ ตอนนี้พวกเราหลายคนก็เริ่มใช้เป็นแล้ว เพราะต้องใช้สำรวจราคาขวดพลาสติกโดยเปรียบเทียบราคาจากที่อื่น สนุกดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ขยะลดลง คนในชุมชนก็ได้พูดคุยกันมากขึ้น” นพรัตน์ เงินทอง ประธานอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน เทศบาลแหลมฉบัง

นอกจากมูลนิธิเอสซีจี จะสนับสนุนโครงการที่มีลักษณะของการสร้างหรือประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อชุมชนแล้ว ยังสนับสนุนโครงการที่มุ่งสร้างคุณค่าของการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน อย่าง ‘ละครเพื่อการศึกษาเรื่องแมงมุมเพื่อนรัก สำหรับเด็กพิการทางสายตา’ ที่น้องๆ วิชาเอกการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำศิลปะการแสดงที่ร่ำเรียนมา เพื่อสร้างสุนทรียะให้แก่เด็กพิการทางสายตาอายุ 5 – 10 ปี ที่โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ด้วยความมุ่งมั่นของน้องๆ ปัญญาชน คนทำดี ที่จะสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแก่เด็กผู้พิการทางสายตา เพราะเชื่อว่าเด็กและเยาวชนทุกคนบนโลกต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และการบริจาคอาหาร เครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอต่อการเติมเต็มชีวิต และน้องๆ ผู้พิการทางสายตาทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมเฉกเช่นเด็กคนอื่นๆ ในการเสพศิลปะ

“ถ้าจะเรี่ยไรเงินมาเพื่อซื้อขนมให้น้อง ก็แค่ยืนถือกล่องบริจาค แต่เรามองว่ามันง่ายไป มันจึงเกิดคำถามว่าทำไมเราไม่ใช้ศักยภาพที่เราเรียนมามาทำละครให้น้องดู พอเราลงพื้นที่จริง เรารู้เลยว่าเราคิดไม่ผิด เรามีความสุขตั้งแต่ลงพื้นที่ ได้แบ่งปันประสบการณ์และได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างนอกเหนือไปจากการทำเพื่อตัวเอง พวกเราขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่สนับสนุนและเปิดโอกาสให้พวกเราได้มีพื้นที่ทำความดีค่ะ” เพชรรัตน์ มณีนุษย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นี่เป็นเพียง 2 โครงการตัวอย่างที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ลงพื้นที่ทำความดี ยังมีอีก 18 โครงการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามมูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นว่าทุกโครงการของน้องๆ ทั้ง 117 โครงการที่ส่งเข้ามาประกวด ล้วนแล้วแต่มาจากความคิดดี นั่นหมายถึงจิตใจที่นึกถึงผู้อื่น นึกห่วงใยสังคม ไม่ว่าโครงการจะเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายหรือไม่ นั่นไม่สำคัญเท่ากับจิตอาสาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการทำความดี และแม้ว่าเยาวชนเหล่านี้จะเป็นมือใหม่ในการทำโครงการ แต่ทุกคนก็ได้แสดงออกซึ่งความหมายแห่งการเป็น “ปัญญาชน” อันสมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การเป็นผู้มีความรู้หรือความฉลาดอันเกิดจากการเรียนมากเท่านั้น หากหมายรวมถึงการเป็นคนที่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมด้วยเช่นกัน

วันนี้ – 15 ธันวาคม 2556 มูลนิธิเอสซีจีได้เปิดโอกาสให้ประชาชนโหวตเลือกโครงการปัญญาชน…คนทำดี ที่โดนใจผ่านทางเว็บไซต์ ผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด 3 อันดับแรกจะได้รับเงินเป็นกำลังใจในการทำความดีจำนวน 30,000 บาท, 20,000 บาท และ10,000 ตามลำดับ ผู้สนใจสามารถติดตามเรื่องราวและร่วมโหวตให้กับน้องๆ ทั้ง 20 ทีมได้ที่ www.facebook.com/ปัญญาชน คนทำดี

]]>
57432
เด็กช่างวันนี้ สร้างอนาคตชาติสดใส https://positioningmag.com/57277 Fri, 27 Sep 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57277

“การเรียนอาชีวะก็เหมือนกับการปลูกต้นมะม่วง เราไม่ต้องปีนสูงนัก เราก็ได้ทานผลมะม่วง พอปีนสูงขึ้นอีกนิดเราก็เจอมะม่วงอีก ไม่จำเป็นต้องปีนถึงยอดก็มีผลให้เรารับประทานระหว่างทาง ในขณะที่การเรียนสายสามัญเป็นเหมือนการปีนต้นมะพร้าว คือสูงและหากปีนไม่ถึงยอดของมัน ก็ไม่สามารถเก็บผลมะพร้าวได้” ว่าที่ ร.ต.สุขุม กาญจนสุระกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคแพร่ กล่าวในงานพบปะนักเรียนทุน ‘เด็กช่าง สร้างชาติ’ (ภาคเหนือ) จัดโดยมูลนิธิเอสซีจี

แม้ว่า ‘อาชีวศึกษา’ ในสายตาของหลายคนอาจจะมีภาพในแง่ลบปะปนอยู่บ้าง แต่หากมองลึกลงไปถึงข้อดีของการเรียนอาชีวะที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความต้องการของตลาดแรงงาน และยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในยุคที่ไทยกำลังย่างเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงไม่อาจปฏิเสธถึงความสำคัญของแรงงานฝีมือสายอาชีพนี้ และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยหันมาเลือกเรียนสายอาชีพมากขึ้น มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคนให้เป็นคนเก่งและดี จึงได้มอบทุนการศึกษา ‘เด็กช่าง สร้างชาติ’ ภายใต้ โครงการ SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี ให้น้องๆ นักเรียนที่ศึกษาต่อประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างอุตสาหกรรม ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 500 ทุน โดยทุนนี้ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน และเป็นทุนต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาช่างอุตสาหกรรมอีกด้วย

ในงานต้อนรับนักเรียนทุน “เด็กช่าง สร้างชาติ” (ภาคเหนือ) สู่ครอบครัวมูลนิธิเอสซีจี ที่ผ่านมา จึงมีเสียงสะท้อนจากพ่อแม่ผู้ปกครองในส่วนของความรู้สึกและทัศนคติต่อการเรียนอาชีวะสาขาช่างอุตสาหกรรมของบุตรหลานของพวกเขา

“แม่สนับสนุนมากที่ลูกเลือกเรียนสายช่าง เห็นว่าลูกชอบทางนี้ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอโตขึ้นน้องเห็นพี่สาวเขาเรียนจบ ปวส. แล้วมีงานทำทันที เขายิ่งอยากเรียน แม่ก็เห็นว่าดี ใช้เวลาเรียนไม่มาก ได้ฝึกจริงทำจริง ระหว่างเรียนก็หารายได้จากสิ่งที่เรียนได้ด้วย จบแล้วก็มีงานทำเลย” คุณแม่พิศมัย จันศรี แม่ของน้องชัยรัตน์ รัตนแพทย์ ปวช. ปี 1 สาขาช่างอิเลคทรอนิคส์ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง กล่าว

เช่นเดียวกับ เพชรา เสนอิ่น คุณป้าของน้องศักดิ์สิทธิ์ ปันตี ปวช. ปี1 สาขาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและภูมิใจว่า “ดีใจกันทั้งบ้านตอนที่รู้ว่าน้องได้ทุนจากมูลนิธิเอสซีจี อยากให้เค้าเป็นช่าง นับเป็นบุญเป็นกุศลของน้องที่ได้เรียนอย่างที่ต้องการ พ่อของน้องก็เป็นช่างปูน”

ไม่เพียงทัศนคติเชิงบวกที่น่าสนใจในสายตาของผู้ใหญ่เท่านั้น ขณะเดียวกันเยาวชนเองก็มีแง่มุมที่น่ารับฟังไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองของน้องๆ ผู้หญิงปวช. ปี 1 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยในการเรียนอาชีวะ สาขาช่างอุตสาหกรรม โดยน้องๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถึงพวกหนูจะเป็นผู้หญิง แต่การเรียนสายช่างอิเลคทรอนิคส์ก็ไม่มีอุปสรรคเลย เพื่อนที่เป็นผู้ชายทำอะไร เราก็ทำได้เช่นกัน การเรียนสนุก และการทำกิจกรรมก็ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนๆ ทุกคนเป็นอย่างดี รู้สึกอยากมาเรียนทุกวัน” (สุพิชญา ขัดทะเสมา, ญาษิต อินทร์สะอาด และอารียา อุ่นเรือน ปวช.ปี 1 สาชาช่างอิเลคทรอนิคส์ หลักสูตร MEP: Mini English Program วิทยาลัยเทคนิคลำปาง)

นอกจากการสนับสนุนทางการศึกษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่มูลนิธิเอสซีจีมุ่งเน้นควบคู่กันไปนั่นคือการปลูกจิตอาสาในใจน้องๆ เยาวชน ดังคำกล่าวของสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ที่ว่า“เก่งอย่างเดียวคงไม่อาจสร้างชาติให้เข้มแข็งได้ ‘เก่งและดี’ คือความมุ่งหวังของมูลนิธิฯ เราอยากเห็นน้องๆ นักเรียนทุน ‘เด็กช่าง สร้างชาติ’ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพร้อมกับนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปตอบแทนประเทศ ไปพัฒนาประเทศ จริงอยู่ที่คนเก่งย่อมเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร แต่คนดีมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเป็นยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ฉะนั้นนอกจากน้องนักเรียนทุนมูลนิธิฯ จะเป็นเด็กที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนแล้ว เรายังเสริมกิจกรรมร่วมทำประโยชน์เพื่อสังคมให้กับน้องๆ ด้วย เหตุนี้เองมูลนิธิฯ จึงถือโอกาสพาน้องๆ เด็กช่างภาคเหนือกว่าร้อยชีวิตมาสร้างฝายชะลอน้ำด้วยกันที่ลำปาง”

บรรยากาศของการสร้างฝายก็ไม่ต่างอะไรจากการเรียนอาชีวะ นั่นคือเรียนรู้จริงและปฏิบัติจริง น้องๆ ยิ้มแย้มและเพลิดเพลินไปกับการหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างฝายชะลอน้ำ ต่างร่วมแรงร่วมใจกันขุดดิน ผ่ากระบอกไม้ไผ่ บ้างคอยส่งไม้ให้เพื่อน บ้างคอยปักไม้ บางคนเป็นฝ่ายเสบียงคอยส่งน้ำบริการเพื่อนๆ ที่มาจากคนละจังหวัด คนละสถาบัน เสียงหัวเราะ และเสียงพูดคุยหยอกล้อกันของเยาวชนทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วและงานก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นพพร บุญเฉลียว ปวช. ปี 1 สาขาช่างไฟฟ้าวิทยาลัยเทคนิคลำปางเล่าให้เราฟังว่า “เหนื่อยแต่สนุกครับ ได้สร้างฝาย ได้เพื่อน ดีใจที่ได้มาทำประโยชน์ครับ คุณตาของผมเป็นช่างไม้ ผมเห็นตาทำงานไม้ตั้งแต่ผมเล็กๆ พอโตขึ้นผมก็อยากเป็นช่าง แต่ผมถนัดเรื่องไฟฟ้า ก็เลยเลือกเรียนสาขาช่างไฟฟ้าเพื่อให้ตรงกับงานที่ผมอยากทำในอนาคตครับ”

หากกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว การสร้าง ‘กำลัง’ ของชาติก็เช่นกัน

ผลผลิตที่งดงาม ย่อมต้องการเวลาและแรงสนับสนุนเพื่อเติบโต มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่าการสร้างสังคมคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงพลิกฝ่ามือแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องลงมือทำ เหตุนี้เองการสร้างและหล่อหลอมเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญของชาติ จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของมูลนิธิฯ ที่จะมุ่งมั่นดำเนินไป เราเชื่อมั่นในคุณค่าของคน เพราะคนเก่งและดีจะเป็นกำลังทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศต่อไป

]]>
57277
มูลนิธิเอสซีจี ปลูกจิตสำนึกเพื่อสาธารณะในโครงการ ‘ปัญญาชน คนทำดี’ https://positioningmag.com/57170 Sun, 08 Sep 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57170

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี หนานชาญ อุทธิยะ ปราชญ์ชุมชนบ้านสามขา จ.ลำปาง ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยอาวุโสด้านการเกษตรเพื่อชุมชน จิรพรรณ อัญญะโพธิ์ สื่อมวลชนผู้คร่ำหวอดในวงการ CSR เมืองไทย ฤทธิ์ พร้อมพิชาญ ครีเอทีฟสร้างสรรค์สังคม และบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ดารานักแสดงจิตอาสาเพื่อสังคม ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกโครงการปัญญาชน คนทำดี จัดโดยมูลนิธิเอสซีจี เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยนำความรู้ความสามารถจากการเล่าเรียนมาก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ชุมชน และพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

โครงการปัญญาชน คนทำดี เป็นอีกหนึ่งโครงการปลูกจิตสำนึกที่มูลนิธิเอสซีจีริเริ่มขึ้นตามเจตนารมณ์การพัฒนาคนให้เป็น ‘คนเก่งและดี’ ด้วยเชื่อมั่นว่าคนเก่งอย่างเดียวไม่พอ หากแต่ต้องอาศัยคนเก่งและดี จึงจะสร้างชุมชน สังคม และพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง สำหรับโครงการที่ผ่านการคัดเลือก 20 โครงการ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณสูงสุด 100,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2556 ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของน้องๆ ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 20 ทีม ได้ที่ www.facebook.com/ปัญญาชนคนทำดี

]]>
57170
ค่ายสานฝัน ปั้นเด็กศิลป์ ‘Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี’ https://positioningmag.com/57134 Mon, 02 Sep 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57134

ฝันของเด็กๆ ที่รักในศิลปะและอยู่ในวัยเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์ คงหนีไม่พ้นการที่เขาหรือเธอ สามารถสอบเข้าไปนั่งเรียนสายศิลปะในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันได้ น้องๆ นักเรียนโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงนิยมที่จะไปติวศิลปะกับรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันกวดวิชาด้านศิลปะต่างๆ ซึ่งต่างจากเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งที่แม้ฝันจะเป็นเด็กศิลป์ในระดับอุดมศึกษา แต่ก็ขาดโอกาสในการพัฒนาฝึกปรือฝีมือเพราะอาศัยอยู่ห่างไกลมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านศิลปะ

Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมเพื่อพัฒนาคนให้เป็น ‘คนเก่งและดี’ กับคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าด้านศิลปะ ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินอิสระ ร่วมกันจัดค่ายสอนศิลปะให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความฝันอยากเรียนต่อด้านศิลปะในระดับอุดมศึกษาและอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีมหาวิทยาลัยเปิดทำการสอนด้านศิลปะตั้งอยู่ ค่ายนี้ไม่เพียงเพิ่มพูนความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และการฝึกฝนทักษะ ทั้งด้านองค์ประกอบศิลป์ การเขียนลายเส้น และความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะของเยาวชนเท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาครูผู้สอนศิลปะซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างบุคลากรที่ดี ด้วยการเสริมสร้างทักษะการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงอัพเดทเทคนิคใหม่ๆ ในการทำงานศิลป์ ซึ่งความรู้ที่ได้เพิ่มเติมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนศิลปะและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกศิษย์

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี หัวเรือใหญ่ในการจัดงานกล่าวว่า “Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มูลนิธิฯ ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนเด็กไทยให้พัฒนาศักยภาพและก้าวไปตามความฝันของตนเอง โดยตลอด 7 ปีของการจัดค่ายสอนศิลปะนี้ มีน้องๆ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ประสบความสำเร็จสามารถสอบเข้าเรียนต่อด้านศิลปะในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจได้กว่า 65% สำหรับในปีนี้เราเปิดค่ายอีกครั้งและได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียนและคุณครูทั่วประเทศกว่า 150 คนเดินทางมาร่วมค่ายเพื่อฝึกฝนฝีมือด้านศิลปะ”

ด้านศาสตราจารย์เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในวิทยากรกล่าวเสริมว่า “การเข้าค่ายในลักษณะที่เตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับเด็ก เขาจะได้สัมผัสกับความรู้จริงๆ ที่เขาควรจะได้รู้ก่อนจะไปสอบวิชาเฉพาะด้านศิลปะ อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจได้ว่าตนเองมีความสามารถ มีความชอบในการศึกษาต่อสาขาไหน การที่ค่ายนี้คัดเลือกนักเรียนจากหลายๆ ที่ทั่วประเทศทำให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายเยาวชนด้านศิลปะที่เกิดการแลกเปลี่ยนร่วมกัน ทำให้เห็นข้อดี ข้อด้อยในผลงานของตนเองและผู้อื่น การอบรมให้แก่ครูก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะครูคนหนึ่งต้องไปถ่ายทอดนักเรียนอีกหลายร้อยคน ถือเป็นการวางรากฐานความรู้ด้านศิลปะที่สำคัญ”

ตลอดเวลา 3 วัน 2 คืน น้องๆ ได้รับการแนะนำข้อมูลสาขาศิลปะที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย และการอบรมเคี่ยวกรำในเรื่องพื้นฐานการวาดเส้นที่ถือว่ามีความสำคัญมากในการทำงานศิลปะ เริ่มตั้งแต่วิธีการจับดินสอ การฝึกฝนวาดเส้น โครงสร้าง ขนาดสัดส่วนและการลงน้ำหนักแสงและเงา โดยมีบททดสอบให้พัฒนาฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพมือ ภาพคนเหมือน (Portrait) ภาพคนเต็มตัว (Figure) ภาพทิวทัศน์ (Landscape) การออกแบบตกแต่งภายใน การออกแบบนิเทศศิลป์ และการออกแบบเครื่องแต่งกาย ซึ่งช่วยเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจในการวาดเส้นที่ดี และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย ผลงานทุกชิ้นล้วนได้รับคำแนะนำดีๆ จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ครูสังคม ทองมี, รองศาสตราจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา

น้องพลอย ชลันลดา พงศ์พัฒนานุกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย หนึ่งในผู้เข้าร่วมค่ายในปีนี้ได้กล่าวถึงความประทับใจว่า “รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่าวิทยากรที่มาให้ความรู้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและล้วนมีชื่อเสียง ทำให้เราบอกตัวเองว่าต้องทำให้ดีที่สุดเพราะถือเป็นโอกาสที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต ค่ายนี้ทำให้เรารู้ศักยภาพของตัวเอง รู้ว่าตัวเองควรกลับไปฝึกฝนไปพัฒนาเรื่องใด นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการคิดคอนเซปต์ การจัดการเวลา และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการสร้างผลงาน เพื่อทำให้ความฝันในการเรียนต่อของหนูเป็นจริง”

เช่นเดียวกับ น้องแป๋ง ไชยวัฒน์ มาลา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดอนสารวิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “ได้มีโอกาสเจอเพื่อนๆ จากทั่วประเทศ ทุกคนล้วนมีฝีมือและมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน เมื่อได้มาอยู่รวมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ก็ทำให้ผมได้เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะคำแนะนำจากวิทยากร ทั้งเรื่องเส้นเรื่องแสงซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่จะช่วยแก้ปมด้อยในการสร้างงานของผม ขอขอบคุณที่จัดกิจกรรมดีๆ อย่างนี้ขึ้นมาครับ”

ด้านครูสอนศิลปะได้มีการอบรมลงมือทำ Workshop ภาพพิมพ์ ทั้งภาพพิมพ์สีน้ำมัน ภาพพิมพ์โฟมอัด และภาพพิมพ์ปูนพลาสเตอร์ ด้วยเทคนิคการใช้วัสดุแบบใหม่ๆ ให้เหล่าคุณครูได้โชว์ไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงาน อีกทั้งยังได้รับฟังการบรรยายแนะนำเทคนิคการสอนจากยอดปรมาจารย์ด้านศิลปะชื่อดังระดับประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์เดชา วราชุน, ศาสตราจาย์พิษณุ ศุภนิมิตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนา สรรค์สร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความสนใจ รัก และเข้าถึงความเป็นศิลปะอย่างแท้จริง

รณยุทธ์ ณรงค์ชัย ครูศิลปะจากโรงเรียนเซกา จังหวัดบึงกาฬ กล่าวเสริมว่า “ถือว่าเป็นเกียรติครั้งหนึ่งในชีวิตของครูสอนศิลปะที่ได้มาเจอทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยมและคณาจารย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยด้านศิลปะอันดับหนึ่งของประเทศ ที่มาให้ความรู้กระบวนการทางศิลปะที่มีความแปลกใหม่หลากหลาย รวมถึงการได้ทำ Workshop ความตั้งใจหลังจบค่าย คือ การนำความรู้ที่ได้ทั้งหมดกลับไปพัฒนาต่อยอดปรับให้เข้ากับบริบทสังคมสอดคล้องกับความเป็นอยู่ทางวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กๆ ได้ซึบซับความงามด้านสุนทรียศาสตร์เพื่อสร้างเยาวชนที่รักในงานศิลปะต่อไป”

ปิดท้ายกิจกรรมปีนี้ด้วยการพาน้องๆ และคุณครูที่มาร่วมค่ายไปเสพงานศิลป์ที่เขาใหญ่ อาร์ต มิวเซียมของพงษ์ชัย จินดาสุขซึ่งรวบรวมงานศิลป์จากศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยมาจัดแสดงในอาคารหอศิลป์ที่โอบล้อมด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เดินชมประติมากรรม ภาพวาด รูปปั้นสำริดจนอิ่มเอมหัวใจ ก็ได้เวลาเอ่ยคำร่ำลา มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าความสุขที่ได้ชมงานศิลปะชั้นครู การเรียนรู้สัมผัสสุนทรียศาสตร์ตลอดค่ายจะช่วยขยายโอกาสและสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ พกพาใส่กระเป๋ากลับไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะสานฝัน ฉันจะเป็นเด็กศิลป์ให้เป็นจริง

]]>
57134
ก้าวที่ยั่งยืนของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน https://positioningmag.com/57072 Tue, 20 Aug 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57072

เราไม่อาจปล่อยให้ชาวประมงมีอาหารสำเร็จรูปรับประทานแต่ไม่มีเรือไว้แล่นหาปลา ไม่อาจปล่อยให้ชาวประมงนั่งมองน้ำมองฟ้าแต่ไร้ซึ่งเครื่องมือทำมาหากิน

หากนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์พายุดีเปรสชั่นเมื่อพฤศจิกายน 2553 ที่พัดถล่มพื้นที่จังหวัดสงขลา (อ.หาดใหญ่ อ.จะนะ อ.สะเดา อ.นาหม่อม อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.ระโนด) และจังหวัดพัทลุง (อ.ปากพะยูน อ.เขาชัยสน อ.ควนขนุน อ.เมืองพัทลุง) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายอย่างแสนสาหัสต่อบ้านเรือน เรือ และเครื่องมือประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 พื้นที่ชุมชนซึ่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ได้แก่ที่บ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และบ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา สำหรับชาวประมงแล้ว การสูญเสียเรือ สูญเสียเครื่องมือประมงก็ไม่ต่างอะไรจากคนพิการไร้แขนไร้ขา

ณ เวลานั้น ความช่วยเหลือจากทั่วประเทศหลั่งไหลไปยังผู้คนในพื้นที่ภัยพิบัติอย่างไม่ขาดสาย รวมถึงมูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งเน้นในการพัฒนา ‘คน’ ตระหนักดีถึงความยากลำบากของชาวประมงพื้นบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียเรือและเครื่องมือประมงอันเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้าน จึงได้ร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชุมชนบ้านช่องฟืนและบ้านคูขุดด้วยการคืนอาชีพแก่ชาวประมง เพื่อที่จะได้กลับมาทำมาหากินเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้โดยเร็วที่สุด

“เราเชื่อว่าคนยังกินปลาอยู่ แต่ว่าเราไม่มีเรือ” บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าว

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ย้อนเล่าให้ฟังว่า “เพื่อพลิกฟื้นวิกฤติในครั้งนั้น มูลนิธิเอสซีจีได้ให้ความช่วยเหลือ 2 ระยะ ระยะแรก คือการคืนอุปกรณ์เครื่องมือประมง และสนับสนุนงบประมาณสร้างอู่ซ่อมสร้างเรือชั่วคราว เพราะหากยิ่งช้านั่นย่อมหมายถึงปัญหาปากท้องของชาวประมงและครอบครัว ระยะต่อมาเป็นระยะยั่งยืน มูลนิธิเอสซีจีได้จัดตั้งอู่ซ่อมสร้างเรือถาวร และสนับสนุนงบประมาณสำหรับ ‘กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมง’ เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านทะเลสาบสงขลาได้มีเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพในยามปกติ สำหรับทั้ง 2 พื้นที่นี้ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนงบประมาณไปกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เงินทุกบาทของกองทุนก็ยังคงหมุนเวียนให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเข้มแข็งของชุมชนเอง”

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือของมูลนิธิเอสซีจีเป็นการช่วยแบบมีเงื่อนไขเพื่อสร้างความยั่งยืนในชุมชน นั่นหมายถึงเป็นการสนับสนุนเงินตั้งต้นก่อนโดยจัดตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมงขึ้นมา หลังจากนั้นเงินที่ชาวประมงยืมไปก่อร่างสร้างตัวเพื่อพลิกฟื้นจากความเสียหายนั้น จะต้องนำมาใช้คืนตามระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงที่สมาชิกกองทุนฯ ได้ตกลงและมีมติเห็นชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการประจำกองทุนเป็นผู้ทำหน้าที่จัดลำดับว่าครอบครัวใดควรได้รับความช่วยเหลือก่อนหรือหลัง ในการชำระคืนกองทุนนั้น หากใครส่งคืนช้ากว่าที่กำหนด ก็จะถูกมาตรการสังคมบังคับไปในตัวเพราะมีเพื่อนรอกู้เงินต่อในหมู่บ้านอีกหลายราย เหตุนี้เองกลไกในการจัดการกองทุนของชุมชนจึงเป็นไปอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพราะทุกคนต่างรู้บทบาทหน้าที่ของตนและคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นด้วยเช่นกัน

“มูลนิธิเอสซีจีเข้ามาช่วยเรื่องอาชีพประมงเรื่องเครื่องมือทำมาหากิน มูลนิธิฯ ไม่ได้เอาเงินมาช่วยเราตรงๆ เพราะในเบื้องต้น มาช่วยเรื่องความเสียหาย เรื่องเรือ เครื่องมือประมง อู่ซ่อมสร้างเรือชั่วคราว ต่อมาถึงมาช่วยส่งเสริมอาชีพโดยให้พวกเราคิดกันเอง บริหารกันเองโดยใช้เงินของมูลนิธิฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้อยู่นานที่สุด หลังจากดีเปรสชั่นเราก็ออมไว้ 60% สำหรับรับมือภัยพิบัติในอนาคต ส่วนอีก 40% ก็ปล่อยให้ชาวประมงกู้เพื่อทำประมง” บังอูสัน แหละหีม แกนนำประมงพื้นบ้าน สมาคมชาวประมงรักษ์ทะเลสาบอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

ณ วันนี้ จากบทเรียนความเสียหายครั้งใหญ่ ชุมชนบ้านช่องฟืนไม่เพียงลุกขึ้นยืนอีกครั้งแต่ยังเป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง เห็นได้จากการที่ชาวประมงมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีเครื่องมือประมง สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ แม้ว่าอาชีพประมงจะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงและมีความผันผวนตามสภาพดินฟ้าอากาศก็ตาม แต่การบริหารจัดการที่ดี และกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีต่อกองทุนหมุนเวียนนี้ ก่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพมากกว่าแต่ก่อน ตลอดจนทำให้สมาชิกได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาชุมชนในมิติอื่นๆ อาทิ การกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ การเตรียมแผนและซักซ้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“กองทุนฯ ที่มูลนิธิเอสซีจีมาช่วยนี้ ทำให้ชาวประมงได้ลืมตาอ้าปาก ก่อนหน้านี้คนช่องฟืนอพยพไปทำงานในเมือง ทำงานตามโรงงาน แต่พอมีกองทุนฯ นี้ คนก็กลับมาประกอบอาชีพที่บ้านกว่า 90% แล้ว เพราะได้เงินกองทุนฯ มาซื้อเครื่องมือประมง พอมีเครื่องมือก็หาปลาได้ ได้ปลาเอาไปขายก็มีรายได้ มีรายได้ก็เลี้ยงครอบครัวได้ คนก็ไม่ต้องย้ายไปไหน ครอบครัวก็อบอุ่น” บรรจบ นุ้ยแสงทอง ชาวบ้านกลุ่มออมทรัพย์บ้านช่องฟืนกล่าว เช่นเดียวกับที่บ้านคูขุด ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางที่ชาวประมงต้องเผชิญ ก่อให้เกิดการรวมตัวเพื่อคิดหาทางแก้ร่วมกันและนั่นคือที่มาของ ‘แพปลาชุมชน’ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 เป็นแพปลาของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง “เรามารวมตัวกันเพราะปัญหา ปัญหาบอกเราว่าเราต้องแก้ด้วยกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราต้องแก้ด้วยตัวเองก่อน” นิทัศน์ แก้วศรี ประธานสมาคมประมงทะเลสาบอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

หลังจากดีเปรสชั่น บ้านคูขุดมีการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเงินดังกล่าวไปสร้างรายได้โดยเฉพาะเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพประมง เมื่อมีชาวบ้านจับสัตว์น้ำได้ ก็นำไปขายที่แพปลาชุมชน ชาวประมงก็จะมีรายได้มาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว นอกจากนี้ชุมชนเองยังเกิดการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และที่สำคัญยังนำมาซึ่งการช่วยคิดช่วยทำของคนในชุมชนอีกด้วย

น้ำอยู่ไกลจะนำมาดับไฟที่อยู่ใกล้ไม่ทัน

กระบวนการสร้างชุมชนสู่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากคนในชุมชนไม่เป็นผู้ริเริ่มที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน มูลนิธิเอสซีจีทำหน้าที่เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่อาสาร่วมขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆ กับชาวบ้านเจ้าของชุมชน โดยให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ด้วยเชื่อว่าก้าวที่ยั่งยืนคือก้าวที่คนในชุมชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลแก้ปัญหาพื้นที่ของตนเอง เพราะชุมชนเป็นของชาวบ้าน องค์ความรู้ท้องถิ่นก็เป็นของชาวบ้าน เมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใด ผู้ที่เป็นกำลังหลักในการแก้ปัญหาก็ย่อมต้องเป็นชาวบ้าน เพราะไม่มีใครรู้ดีกว่าชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของบ้านอย่างแน่นอน

“เราเป็นคนทะเล เกิด แก่ เจ็บ ตายกับทะเล ทะเลให้เราทุกอย่าง ถ้าเราไม่ทำ ไม่รวมตัวกันดูแลทะเล สัตว์น้ำ ต่อไปเราก็ทำประมงไม่ได้ ลูกหลานเราที่ประกอบอาชีพประมงก็จะทำประมงไม่ได้ มันก็จะหายไป มันก็จะไม่ยั่งยืน” บังอูสัน แหละหีม แกนนำประมงพื้นบ้าน สมาคมชาวประมงรักษ์ทะเลสาบอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟัง

]]>
57072
มูลนิธิเอสซีจี ชวนเยาวชนคนรักศิลปะ เตรียมปล่อยของประลองความ ‘ติสท์’ สร้างสรรค์สังคมใน Young Thai Artist Award 2013 https://positioningmag.com/56915 Thu, 25 Jul 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=56915

มูลนิธิเอสซีจี ขอเชิญชวนเยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกับโครงการ ‘รางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2556’ หรือ Young Thai Artist Award 2013 เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่รวมศาสตร์แห่งศิลป์หลายแขนงไว้ด้วยกันทั้งศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพยนตร์ วรรณกรรม ภาพถ่าย และการประพันธ์ดนตรี คนรักศิลปะอย่าพลาด….เตรียมตัวปล่อยของประลองความสร้างสรรค์ได้แล้ววันนี้ !!!

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า “การพัฒนาคน ให้เป็นทั้งคนเก่งและดี ถือเป็นหัวใจหลักในการทำงานของมูลนิธิเอสซีจี สำหรับเด็กและเยาวชนนั้นแม้ว่าการศึกษาจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราก็มีความเชื่อว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องเดียวที่สำคัญที่สุดในชีวิต และมองว่าความสามารถอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องศิลปะที่เยาวชนไทยมีความสามารถไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก มูลนิธิเอสซีจีจึงได้จัดการประกวด Young Thai Artist Award เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยที่มีความสามารถทางศิลปะได้ฉายแววให้สาธารณชนได้รับรู้ โดยผลงานของน้องๆ ที่ส่งเข้าร่วมประกวดตลอด 8 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีถึงความสามารถและพัฒนาการที่โดดเด่นของเด็กไทย”

Young Thai Artist Award จึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้ปล่อยของ ประลองความคิด ประชันความสร้างสรรค์ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของการประกวดในระดับเยาวชนที่ยังไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในประเทศเมื่อย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โครงการนี้จึงเป็นเวทีแรกที่เปิดโอกาสและอิสระทางความคิดให้เด็กไทยผู้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงานศิลปะได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ด้านทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และคีตศิลป์ ซึ่งนับว่าเป็นการประกวดศิลปะที่รวมรวมถึง 6 สาขาไว้ในเวทีเดียวกัน ได้แก่ ศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันชั้นนำของประเทศเกี่ยวข้องกับศิลปะ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

สำหรับ Young Thai Artist Award 2013 ในปีนี้จะเปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ใช้พลังแห่งการสร้างสรรค์และจินตนาการเพื่อถ่ายทอดแนวความคิด ผสานกับความมุมานะ มุ่งมั่นผลิตชิ้นงานศิลปะโดยยังคงคอนเซ็ปต์ให้อิสระในการคิดสร้างสรรค์ผลงานในเชิงบวกต่อสังคม รวมทั้งประกาศตัวให้วงการศิลปะได้รับรู้ถึงความสามารถอันโดดเด่นของเด็กไทย ซึ่งผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของแต่ละสาขา นอกจากจะได้รับเงินรางวัล 150,000 บาทแล้ว ยังได้ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาต่างประเทศ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไป ส่วนผู้ได้รับรางวัลดีเด่น จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 3.3 ล้านบาท

น้องๆ เยาวชนที่สนใจเข้าร่วมประกวด ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – กันยายน 2556 (วัน เวลา สถานที่ ตามกำหนดของแต่ละสาขาการประกวด) พร้อมทั้งติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org หรือโทร 0 2586 5214 สนใจติดตามความเคลื่อนไหวโครงการฯ คลิก www.facebook.com/YoungThaiArtistAward

]]>
56915
มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลัง เอสซีจี เปเปอร์ จัดงาน ‘เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ’ เริงร่าไปกับหนังสือภาพ ตื่นตาไปกับสวนกระดาษแห่งจินตนาการ https://positioningmag.com/56838 Sat, 13 Jul 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=56838

มูลนิธิเอสซีจี (SCG Foundation) เดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย จับมือ เอสซีจี เปเปอร์ (SCG Paper) จัดงาน ‘เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ ปีที่ 3’ เนรมิตพื้นที่กว่า 150 ตารางเมตร เป็น ‘ลานเล่านิทาน อ่านหนังสือ’ พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมากมาย เพื่อจุดประกายให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย (แรกเกิด- 6ปี) เข้ามาสัมผัสทดลองและพบกับพลังอันน่ามหัศจรรย์ของหนังสือภาพเด็กด้วยตนเอง

เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ เต็มไปด้วยกิจกรรมแสนสนุกและเปี่ยมไปด้วยสาระที่เหมาะกับทุกคนในครอบครัว ทั้งการแสดงละครนิทานที่เป็นไฮไลท์สะกดสายตาของเด็กๆ การแนะนำเทคนิคการใช้หนังสือภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและเตรียมความพร้อมให้กับลูกน้อยอย่างรอบด้านโดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ ครูชีวัน วิสาสะ และ คุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ นอกจากนี้ภายในสวนกระดาษยังเต็มไปด้วยหนังสือภาพคุณภาพดีที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าเหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย และพลาดไม่ได้กับกิจกรรมขวัญใจน้องๆ หนูๆ อย่าง กิจกรรมเพนท์หน้า วาดภาพระบายสี งานประดิษฐ์เขาวงกตกระดาษ และเครื่องเล่นกระดาษอีกมากมาย

พบกับ ‘เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ ปีที่ 3’ ได้ในงานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 17 – 23 กรกฎาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน C1 **โดยจะมีกิจกรรมพิเศษการแสดงละครนิทาน และการแนะนำประสบการณ์การเล่านิทานโดยผู้เชี่ยวชาญ ในวันเสาร์ที่ 20 – วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม** (ร่วมกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิเอสซีจี โทร. 0 2586 2547,0 2586 5505 หรือ เว็บไซต์ www.scgfoundation.org, www.facebook.com/SCGFoundation.ECD

]]>
56838