ระบบการศึกษา – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 21 Oct 2019 03:19:47 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “แจ็ค หม่า” ลุยภารกิจใหม่ ยกระดับเรื่องการศึกษา พร้อมปั้นผู้ประกอบการในแอฟริกา https://positioningmag.com/1250335 Sat, 19 Oct 2019 18:48:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1250335 By DM Chan

แจ็ค หม่า ผู้เกษียณอายุตนเองจากกลุ่มอาลีบาบาหมาดๆ บอกว่าสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำต่อไปในอนาคตอันใกล้ คือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา และการทำให้ผู้ประกอบการชาวแอฟริการุ่นหนุ่มสาวกลายเป็น “ฮีโร่” เนื่องจากผู้ประกอบการคือ “ส่วนประกอบสำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคม”

แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “อาลีบาบา” ซึ่งเพิ่งออกจากงานการบริหารยักษ์ใหญ่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีนแห่งนี้ ประกาศว่าภารกิจใหญ่ที่สุดของเขาในอนาคตใกล้ๆ จะเป็นเรื่องการมองหาหนทางต่างๆ ในการให้การศึกษาซึ่งแตกต่างไปจากวิธีการเดิม และเรื่องการสร้างพลังอำนาจให้แก่บรรดาผู้ประกอบการรุ่นหนุ่มสาวในแอฟริกา โดยนี่แหละคือบทบาทของเขาในฐานะผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิแจ็คหม่า” (Jack Ma Foundation) ทั้งนี้ตามรายงานของเว็บไซต์ China.org.cn ของทางการจีน

หม่าพูดเรื่องนี้ ระหว่างการสนทนาบนเวทีกับ สตีฟ ฟอร์บส์ (Steve Forbes) ประธานและบรรณาธิการใหญ่ของ ฟอร์บส์ มีเดีย (Forbes Media) ในงานการประชุม ฟอร์บส์ โกลบอล ซีอีโอ คอนเฟอเรนซ์ ปี 2019 (Forbes Global CEO Conference 2019) ซึ่งจัดขึ้นอย่างใหญ่โตที่โรงแรมแชงกรีลา สิงคโปร์ (Shangri-La Hotel Singapore) เมื่อวันที่ 15 – 16 ตุลาคม และได้รับความสนอกสนใจเป็นอย่างมาก

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หม่าได้ก้าวลงจากตำแหน่งประธานของกลุ่มอาลีบาบา อย่างเป็นทางการ และส่งมอบต่อให้แก่ แดเนียล จาง (Daniel Zhang) ซีอีโอของบริษัท นักธุรกิจใหญ่ผู้เกษียณอายุตนเองหมาดๆ ผู้นี้ เคยเป็นครูสอนหนังสืออยู่หลายปีเมื่อตอนเริ่มต้นอาชีพการงานของเขาในวัยหนุ่ม และเขาพูดบนเวทีคราวนี้ว่า เขากำลังจะใช้เวลาและพลังงานให้มากขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา งานสาธารณกุศล และการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

หม่าบอกว่า ระบบการศึกษาปัจจุบันยังคงเป็นสไตล์การศึกษาซึ่งเน้นเสริมความเข้มแข็งให้แก่ยุคอุตสาหกรรมเก่าๆ โดยที่เด็กๆ คอยรับความรู้ที่ถูกสอนถูกป้อนให้ภายในห้องเรียน

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ รุ่นเยาว์จำนวนมากมายกลับกำลังได้รับความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันนั้น ด้วยการเรียนรู้ของเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) เครื่องจักรก็สามารถที่จะประมวลผลข้อมูลข่าวสาร จดจำ และคำนวณ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าและดีกว่ามนุษย์เสียอีก

เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในยุค AI เราสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะมากมายในการปรับปรุงแก้ไขระบบการศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการในการสอนเนื้อหาความรู้ รวมทั้งการเน้นย้ำให้เด็กๆ เป็นนักคิดที่กล้าคิดกล้าทำและมีความเป็นอิสระ ซึ่งเพียบพร้อมทั้งนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ หม่ากล่าว

“คุณไม่มีทางเรียนรู้ได้ปัญญาจากห้องเรียนหรอก ปัญญานั้น เป็นสิ่งที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ก็โดยผ่านชีวิตที่โหดที่ลำบากเท่านั้น … ในห้องเรียน คุณเรียนได้แค่เกี่ยวกับความรู้ แต่ชีวิตนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์” หม่าบอก เขากล่าวด้วยว่าตัวเขาเองจะใช้เวลาในปีหน้า “ขบคิดพิจารณาให้ทะลุปลอดโปร่ง” และเดินทางไปเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ และโรงเรียนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อศึกษาเกี่ยวกับโมเดลแบบอย่างอันมีแตกต่างหลากหลาย

ขณะอธิบายคร่าวๆ ถึงวิสัยทัศน์ของเขา หม่ากล่าวว่า นอกเหนือจากพวกวิชาอย่าง คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ แล้ว วิชาอื่นๆ เช่น ดนตรี การเขียนภาพ การเต้นรำ และกีฬาต่างๆ ก็มีความสำคัญพอๆ กัน เนื่องจากวิชาเหล่านี้สอนผู้คนถึงวิธีการในการเป็นศิลปินนักศิลปะ ในการใช้ “หัวใจ” และ “จินตนาการ” ของพวกเขา และให้รู้เรื่องจังหวะดนตรี “นี่เป็นความรู้ของมนุษย์ … และผมต้องการให้มีคนจำนวนมากยิ่งขึ้น มาทำสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้นไปอีกในเรื่องเหล่านี้” เขาบอก

ด้านที่สำคัญมากอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ การสอนให้พวกผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาวเรียนรู้ถึงหนทางวิธีการที่ทำให้บริษัทกิจการต่างๆ ประสบความล้มเหลว

หม่าอธิบายถึงเหตุผลที่ทำไมเขาจึงนำเอากรณีศึกษาเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ที่ประสบความล้มเหลวหรือล้มละบายไป มาให้ผู้ร่วมงานของเขาศึกษา โดยกล่าวว่า “เมื่อพวกเขาเรียนรู้เอาไว้มากเกินไป (เกี่ยวกับกรณีที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย) พวกเขาก็จะคิดเห็นไปว่าพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย แต่การเข้าไปในแวดวงธุรกิจนั้น เหมือนกับการเข้าไปในสนามรบ … มีเพียงแค่คนที่รอดชีวิตออกมาได้เท่านั้นจึงจะเป็นผู้ชนะ”

“ดังนั้นเมื่อคุณเรียนรู้กรณีที่ล้มเหลว คุณก็จะรู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อประสบกับความผิดพลาดเหล่านี้ จะแก้ไขมันได้อย่างไร และก็กล้าท้าทายมัน นี่แหละคือปัญญา และนี่แหละคือสิ่งที่เราควรสอนให้แก่เด็กๆ ของเรา”

หม่ายังพูดคร่าวๆ ถึงแผนการของเขาเกี่ยวกับแอฟริกา โดยเขาวางแผนไว้ว่าจะไปทำงานในเรื่องการสร้างอำนาจให้แก่บรรดาผู้ประกอบการรุ่นหนุ่มสาวที่นั่น และช่วย “ค้นพบ” แจ็ค หม่า, บิลล์ เกตส์, วอร์เรน บัฟเฟตส์ และ สตีฟ จ็อบส์ เพิ่มมากขึ้นอีก โดยที่คนเหล่านี้จะมีส่วนอย่างสำคัญในการยกระดับแอฟริกา ขณะทบทวนย้อนความหลังครั้งที่เขาไปเยือนแอฟริกาหนแรกเมื่อ 4 ปีก่อน หม่ากล่าวว่าเขารู้สึกประทับใจในความฉลาดเฉียบแหลมของพวกผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาวที่นั่น และในวัฒนธรรมแบบเน้นมือถือก่อนเป็นอันดับแรก (mobile-first culture) ของพวกเขา

ไม่เหมือนกับพวกผู้ประกอบการส่วนมากในประเทศอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายเพียงแค่นำเอาบริษัทของพวกตนทำไอพีโอ (การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชน ในตอนเริ่มแรกของการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) พวกผู้ประกอบการในแอฟริกา “แตกต่างออกไป” เนื่องจากพวกเขามีวิสัยทัศน์ “ที่จะเปลี่ยนแปลงแอฟริกา” และชีวิตของพวกเขา หม่า บอก

เป้าหมายคือการทำให้พวกผู้ประกอบการชาวแอฟริกาเหล่านี้เป็น “ฮีโร่” เพราะผู้ประกอบการคือ “ส่วนประกอบสำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคม” หม่า กล่าว และเสริมว่า ยังมีอะไรที่สามารถทำได้อีกมากเช่นกันเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการชาวแอฟริกาที่เป็นผู้หญิง

“ในแอฟริกา เราจำเป็นจะต้องมี 3 E ได้แก่ e-government รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้รัฐบาลมีความโปร่งใส, entrepreneurs พวกผู้ประกอบการซึ่งจะต้องทำให้พวกเขาเป็นฮีโร และ education การศึกษา เพื่อทำให้ประชาชนรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรและพวกเขาไม่ต้องการอะไร” เขา บอก

“นี่แหละที่ทำไมผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่จะได้ไปที่นั่นและทำอะไรบางอย่างขึ้นมา … มันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้พยายามแล้ว ดังนั้น นี่แหละคือที่ซึ่งผมต้องการจะไป” หม่า กล่าว

ในเวลาที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเปลี่ยนแปลง หม่าบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำงานกับพวกคนหนุ่มสาว เนื่องจากพวกเขาเป็นตัวแทนของอนาคต “เมื่อคุณทำงานกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาก็จะเอาแต่พูดเกี่ยวกับเมื่อวานนี้”

ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในด้านการสร้างท้องเรื่องและรากฐานรองรับต่างๆ ในเรื่องการทำงานสาธารณกุศล ประเทศจีนกลับกำลังเพิ่งต้นในเรื่องนี้ หม่าระบุ พร้อมกับประกาศว่าเขาจะอยู่ในหมู่คนแรกๆ ซึ่งแผ้วถางทางสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบเช่นนี้ขึ้นในประเทศจีน

“ผมเชื่อว่าในวันหนึ่งข้างหน้าในประเทศจีน พวกบุคคลในวงการธุรกิจจำนวนเป็นแสนๆ คนจะก่อตั้งองค์การการกุศลหรือมูลนิธิของพวกเขาเองขึ้นมา … เราจำเป็นต้องมีหนทางสร้างเอาไว้ ดังนั้นผมจะเป็นคนหนึ่งซึ่งทดลองเรื่องนี้ และผมจะแลกเปลี่ยนแบ่งปัน (ความผิดพลาดต่างๆ ที่ผมทำด้วย)” เขากล่าว

เกี่ยวกับมรดกและวิสัยทัศน์ที่เขาทิ้งเอาไว้ให้ที่อาลีบาบา หม่าบอกว่ามันคือจิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้ประกอบการ และการสร้างสรรค์และความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีจะทำให้ประชาชนมีอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“เราคิดเสมอเกี่ยวกับเรื่องเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขคลี่คลายพวกปัญหาสังคมทั้งหลาย แทนที่จะเอาแต่คอยร้องบ่น นี่คือการเดินทาง และผมก็มีความสนุกสนานอย่างยอดเยี่ยม เมื่อคุณได้เห็นชีวิตของผู้คนเป็นล้านๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”.

]]>
1250335