ร้านราคาเดียว – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 03 Jan 2018 09:09:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ผ่าธุรกิจ ร้านราคาเดียว เกาะกระแสญี่ปุ่นดูแพงขายถูก ปูพรมสาขา ตลบหลังค้าปลีกซบออนไลน์ https://positioningmag.com/1152434 Wed, 03 Jan 2018 23:07:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1152434 ขณะที่เจ้าตลาดค้าปลีกรายใหญ่ คิดหนักกับการลงทุนหน้าร้าน หรือ Physical Store ที่มีต้นทุนสูง ทั้งค่าเช่าที่ ตกแต่ง สต็อกสินค้า จ้างพนักงาน สวนทางกับยุคที่ค้าปลีกออนไลน์กำลังเฟื่องฟู และเลือกที่จะหันไปวางกลยุทธ์หาแนวทางเติบโตจากอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น แต่ร้านค้าประเภททุกอย่างราคาเดียว กลับคิดตรงกันข้าม ทั้งแบรนด์เก่าแบรนด์ใหม่ แบรนด์ไทยแบรนด์เทศ ลุยหาแฟรนไชส์ เร่งเปิดสาขา จนกลายเป็นร้านที่เข้าไปทดแทนพื้นที่ค้าปลีกในทุก ๆ ห้าง หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าอย่างโรบินสัน ก็เลือกที่จะเล่นเกมนี้ด้วยตัวเอง ด้วยการเปิดร้านราคาเดียวของตัวเองออกมาเสียเลย

***จุดขายทุกอย่างราคาเดียวแค่สินค้าและราคาตอบโจทย์ไม่ครบ***

สิ่งที่เหมือนกันของร้านสินค้าราคาเดียวที่แข่งกันเปิดแพร่ไปทุกพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ใช่ชูจุดขายแค่ราคาเดียว ราคาถูก แต่มีสินค้าหลากหลายให้เลือกในระดับที่พอยอมรับได้สมกับราคาเท่านั้น แต่วันนี้ แม้แต่ร้าน 20 บาททุกอย่างก็ขึ้นห้างทำกำไรได้ ถ้ามีส่วนประกอบของร้านที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และมีกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าหยิบสินค้ามากกว่าหนึ่ง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องราคา เพราะเห็นคุณค่าที่สูงกว่าสินค้าที่จับต้องได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจำเป็นที่ตั้งใจมาซื้อ หรือสินค้าประเภท Impulse Buy ที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนแต่เห็นแล้วถูกใจก็คว้าเลย

เรียกว่าด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนก็สามารถเปิดขยายร้านง่ายและขยายได้เร็ว โดยส่วนมากนิยมใช้ระบบแฟรนไชส์ให้กับกลุ่มคนที่สนใจอยากลงทุนมีธุรกิจของตัวเอง พร้อมกับแนวคิดง่าย ๆ ว่า ตราบใดที่คนยังเดินห้าง โอกาสค้าขายก็ยังมีอยู่ เพียงแต่จะทำให้อย่างไรให้คนเลือกหยิบและซื้อสินค้าได้เร็วและไม่ลังเล

****ใช้ความเป็นญี่ปุ่นชูคุณภาพ***

สิ่งแรกที่ทุกร้านของกลุ่มร้านขายสินค้าราคาเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบันเลือกใช้นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์ราคาถูกราคาเดียว ก็คือ ดีไซน์ การตกแต่งร้าน รวมถึงสินค้า ที่ชูความเป็นญี่ปุ่น แต่จะเป็นญี่ปุ่นแถวย่านฮาราจูกุ กินซ่า โอซาก้า ชินจูกุ หรือแบบไหนก็แตกต่างกันไปในรายละเอียดที่แต่ละร้านจะเลือกใช้

ความเป็นญี่ปุ่นนี้ยังรวมไปถึงตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ ชุดพนักงาน สไตล์การให้บริการ และแน่นอน แม้กระทั่งชื่อร้าน ก็ล้วนแต่ตั้งชื่อที่ฟังดูแล้วเป็น ญี่ปุ๊นญี่ปุ่นแทบทุกร้านเช่นกัน

ตัวอย่างร้านทุกอย่างราคาเดียวที่มีอยู่ตอนนี้ และทั้งหมดล้วนเป็นและอยากดูเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น เช่น

ร้านโตคูยะ

แฟรนไชส์ร้านค้าราคาเดียวที่ขายทุกอย่าง 60 บาท ร้านนี้มาจากญี่ปุ่นแท้ ๆ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของเซ็กเมนต์นี้ที่ทำธุรกิจร้านทุกอย่างราคา 100 เยนอยู่ในญี่ปุ่นและมีสาขาอีกในหลายประเทศทั่วโลก มีบริษัท โตคูยะ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย สินค้าประมาณครึ่งหนึ่งของร้านผลิตที่ญี่ปุ่น ที่เหลือผลิตจากจีนและไต้หวัน เกือบ 100% ขายในราคา 60 บาทตามที่บอกไว้จริง ๆ มีเพียงแค่ 3% ที่เป็นสินค้าพรีเมียมเกรดซึ่งจะมีราคาตั้งแต่ 80-300 บาท

ภาพจาก : facebook.com/TokutokuyaThailand

จุดเด่นของร้านสำหรับนักลงทุนที่อยากมีกิจการร้านทุกอย่างราคาเดียว สามารถลงทุนได้ในวงเงิน 3 ล้านบาทสำหรับร้านขนาด 90 ตารางเมตรขึ้นไป โดยเป็นค่าแฟรนไชส์ประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งแฟรนไชซีจะได้รับความช่วยเหลือในการเลือกทำเลพร้อมวิเคราะห์สินค้าที่จะจำหน่ายในร้าน ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละร้านจะขายสินค้าได้ประมาณ 6,000-20,000 ชิ้นต่อเดือน มีกำไรอยู่ที่ 40% ขึ้นกับทำเล เฉลี่ยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3-5 ปี

ร้านเอโกะ

ชื่อญี่ปุ่นแบรนด์ไทย ขายทุกอย่าง 20 บาท ของบริษัท เอกดำรง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เน้นขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์สำหรับคนที่มีทุนค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 3 แสนบาทขึ้นไป ไม่รวมค่าสินค้าภายในร้านตั้งแต่ 1.5-4.0 แสนบาท ซึ่งทางบรษัทจะจัดความเป็นญี่ปุ่นในร้านให้ตั้งแต่ป้ายหน้าร้าน ชั้นวางสินค้า การจัดเรียงและตกแต่งร้าน รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมความเป็นญี่ปุ่นในส่วนสินค้าสมนาคุณ อาทิ ผ้ากันเปื้อนชื่อร้าน ธงขาวญี่ปุ่น โคมไฟญี่ปุ่น ธงปลาคาร์ฟ ถุงใส่ของ ตะกร้าชอปปิ้ง ฯลฯ

Bear Store

สินค้าสไตล์ญี่ปุ่นในราคา 20 บาท ตกแต่งร้านแนวญี่ปุ่นน่ารักทันสมัย และเน้นสินค้าที่ดูแพงกว่าราคา เป็นร้านที่มีเจ้าของเป็นคนไทย และทำการศึกษามาอย่างดีทำให้รู้ว่า ถ้าจะจับจุดลูกค้าไทยต้องเสนอสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น และถึงจะราคาถูกแต่ก็ต้องนำเสนอสินค้าที่เป็นเทรนด์ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องหาโรงงานผลิตได้ต้นทุนต่ำเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดูเกินราคา 20 บาท พร้อมกับมีทีมตลาดประจำที่ญี่ปุ่นเพื่อคอยตามเทรนด์สินค้าในแต่ละฤดูกาล และเน้นสินค้าหลากหลาย ทำให้ลูกค้ามาแล้วจะต้องหยิบสินค้าติดมือไปมากกว่าที่ตั้งใจมาซื้อ

ภาพจาก : facebook/BearStore
ภาพจาก : facebook/BearStore

และถึงจะเป็นแบรนด์ไทยก็ใส่ใจความเป็นญี่ปุ่นถึงขนาดสั่งยูนิฟอร์มจากฮาราจูกุ ให้พนักงานใส่เพิ่มบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่น เอาจริงขนาดนี้แบร์สโตร์กะว่าจะขยายให้ครบ 30 สาขาภายใน 3-5 ปี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเลือกเปิดเฉพาะร้านที่อยู่ห้างหรือซูเปอร์สโตร์เท่านั้น

Moshi Moshi

อีกแบรนด์จากญี่ปุ่น ที่เพิ่งครบรอบ 1 ปี นอกจากชื่อการจัดร้านก็ฟรุ้งฟริ้งมุ้งมิ้งแบบญี่ปุ่น ร้านนี้ถึงจะมาจากญี่ปุ่นแท้ แต่ก็ดึงดูดด้วยราคาเริ่มต้นที่ 20 บาทเช่นกัน แต่ของส่วนใหญ่ในร้านราคาพรีเมียมกว่าราคาโปรโมต แน่นอนลูกค้ารับได้ด้วยลุคแอนด์ฟิลที่เชื่อว่าราคาสูงกว่า 20 บาท แล้วก็มีแผนเตรียมขยายสาขาร้านเพิ่มเช่นเดียวกัน แต่อาจจะไปแบบเนิบ ๆ กว่ารายอื่นเล็กน้อยด้วยเป้าการเพิ่มเพียงแค่ 3 สาขาในปีนี้

ภาพจาก : facebook/moshimoshi

Miniso

แบรนด์นี้ชื่อไม่ชัดว่าเป็นญี่ปุ่นจ้า แต่ลุคแอนด์ฟีลไม่ผิดเพี้ยน แถมด้วยแท็กไลน์ใต้ชื่อร้านที่ติดไว้ในร้านว่า เป็น Japanese Designer Product ชัดเจน แม้จะมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นชาวจีนและมีแหล่งผลิตสินค้าในจีนเป็นหลัก ราคาเริ่มต้นแพงกว่าทุกแบรนด์รวมถึงต้นตำรับ เพราะโฆษณาหน้าร้านด้วยป้ายราคา 69 บาท ซึ่งราคาสินค้าต่ำสุดจะมีอยู่ไม่ถึงครึ่งเพียง 30-40% เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นสินค้าที่เกรดพรีเมียมขึ้นไปที่มีราคาสูงกว่าไล่ไปตั้งแต่ 99, 139 จนถึง 199 บาท

Miniso ถือว่ามาแรงที่สุดด้วยเป้าหมายที่จะขยายร้านให้ได้ถึง 100 สาขาภายใน 2 ปี (2016-2017) นั่นเท่ากับการไล่จี้ต้นตำรับร้านราคาเดียวอย่าง Daiso ที่ตอนนี้มีอยู่ 100 กว่าสาขามาติด ๆ โดยตอนนี้มีจำนวนสาขามากกว่า 50 สาขา คาดว่าเป้าหมายการขยายสาขาของบริษัทน่าจะประเมินจากจำนวนห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย เพราะแม้โดยกลยุทธ์ของ Miniso ในประเทศต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศ โดยเฉพาะในจีนที่มีอยู่กว่า 1,000 สาขาจากจำนวนสาขาของมินิโซทั่วโลกตอนนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1,400 สาขา จะเลือกทำเลถนนชอปปิ้งสายสำคัญเป็นทำเลหลักในการเปิดร้าน แต่สำหรับเมืองไทย Miniso เลือกเปิดเฉพาะในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่ผู้บริโภคไทยนิยมไปชอปปิ้งเท่านั้น เหมือน ๆ กับแบรนด์อื่น

ภาพจาก : facebook.com/minisothai/

เพนกวิน

รายนี้ชื่อไม่ชัดว่าเป็นญี่ปุ่น กลยุทธ์เรื่องราคาแรงที่สุดด้วยราคาเริ่มต้น 12 บาท ถูกกว่าร้านทุกอย่าง 20 บาท ที่เปิดขายในตลาดนัดเสียอีก แต่คุมโทนเป็นญี่ปุ่นด้วยคาแร็เตอร์การ์ตูนรูปเพนกวินที่เห็นชัดว่าเป็นแบบญี่ปุ่นมากกว่าจะเลือกใช้ลายเส้นการ์ตูนแบบตะวันตก ด้วยโพสิชันนิ่งแบบนี้ ร้านเพนกวินก็จะเน้นเปิดอยู่แถวห้างชานเมืองอย่างเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ถ้าขยับเข้าเมืองก็จะเลือกเปิดร้านในไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่นที่เทสโก้ โลตัส พระราม4

ภาพจาก : facebook.com/penguin12shop

นอกจากตัวอย่างที่ยกมานี้ ร้านต้นแบบที่ทำให้ทุกคนรู้จักร้านราคาเดียวสไตล์ญี่ปุ่นในไทยอย่าง ไดโซะ (Daiso) ก็ยังอยู่แต่หันไปมุ่งออนไลน์หนักขึ้น และแบรนด์อื่นอีก เช่น Komonoya (โคโมโนยะ) Just Buy (จัสท์บายจากโรบินสัน) Arcova (อาร์โควา) Can Do (แคนดู) ฯลฯ

***ออนไลน์ปัจจัยทำให้ร้านราคาเดียวแพร่พันธุ์เป็นดอกเห็ด***

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมค้าปลีกไทย ให้ข้อสังเกตถึงปัจจัยที่ทำให้ร้านทุกอย่างราคาเดียวซึ่งจัดอยู่ในร้านสเปเชียลตี้สโตร์ ได้เกิดขึ้นมากมายต่อเนื่อง และขยายตัวเร็วกว่าการเข้ามาของร้านค้าปลีกกลุ่มสเปเชียลตี้สโตร์ ประเภทที่มีสินค้าประเภทเครื่องสำอางหรือเวชสำอางเป็นตัวนำ ที่เคยมาแรงในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าโลกออนไลน์ ซึ่งทุกคนมองว่าจะทำให้ร้านค้าปลีกขาดลูกค้า จะกลายเป็นตัวผลักดันให้เกิดกระแสการเกิดขึ้นของร้านค้าประเภทนี้โดยตรง

เนื่องจากผู้บริโภครับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เร็วจากการอยู่ในโลกดิจิทัล ทำให้เห็นโลกกว้าง รับข้อมูลข่าวสารไว ซึ่งมีผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคโดยตรง และส่งผลให้เทรนด์ต่าง ๆ ทั้งสินค้าใหม่ ไม่เฉพาะเรื่องของแฟชั่น มาไวไปไวด้วยเช่นกัน

ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว จนนักการตลาดบ่นไปตาม ๆ กันว่า ยุคนี้ต้องตามพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน และที่สำคัญคือทัศนคติที่มีผลโดยตรงต่อร้านค้าประเภททุกอย่างราคาเดียว ที่ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาซื้อสินค้าราคาประหยัด ตัดสินใจซื้อง่าย และไม่เสียดายที่จะต้องซื้อหรือเปลี่ยนใหม่อย่างรวดเร็วตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไป

***ถึงทุกอย่างราคาเดียว แต่สินค้าต้องหลากหลาย ****

อย่างไรก็ตาม การที่ลูกค้าซื้อสินค้าง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง แต่ก็ไม่ได้หมายความร้านสินค้าราคาเดียวจะอยู่ได้ด้วยการนำเสนอสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งแต่ละร้านเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในจุดนี้ดี และจัดแบ่งหมวดหมู่พร้อมจำนวนสินค้าจำนวนมากไว้ให้ลูกค้าเลือกอย่างจุใจในพื้นที่จำกัด เรียกว่าการบริหารร้านสินค้าราคาเดียวทุกอย่างต้องกระชับและชัดเจน เพื่อทำให้สินค้าขายได้ไวและหมุนเวียนสินค้าเข้ามาใหม่ในลักษณะของ Very Fast Moving Product เลยทีเดียว

แต่ละร้านแม้จะมีพื้นที่ร้านตั้งแต่ 90 ตารางเมตร ไปจนถึงแฟลกชิปสโตร์ขนาด 300 ตารางเมตร แต่ขนาดพื้นที่ร้านที่นิยมส่วนใหญ่จะอยู่แค่ 100 ตารางเมตรบวกลบ จึงอัดแน่นเป็นด้วยการจัดเรียงสินค้าตั้งแต่ใกล้ ๆ 1,000 ไปจนถึง 5,000 ไอเท็ม แน่นอนว่าสินค้าต้องจัดเรียงให้ดูง่าย หยิบสะดวก และยังสวยงามด้วย ตั้งแต่ตัวสินค้า แพ็กเกจจิ้ง ไปจนถึงการจัดเรียงในแบบญี่ปุ่น

****สินค้าส่วนใหญ่จับกลุ่มวัยรุ่น-วัยเริ่มทำงาน***

เมื่อร้านราคาเดียวส่วนใหญ่ชูความเป็นญี่ปุ่น เน้นให้ดูมีคุณภาพเหนือราคา พัฒนาสินค้าตามเทรนด์ ทำให้ตีโจทย์ได้ไม่ยากเลยว่า แทบทุกร้านเล็งกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มวัยรุ่นถึงวัยเริ่มทำงานเป็นหลัก เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นทั้งของที่คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ไปจนถึงซื้อด้วยอารมณ์ความรู้สึกทันทีที่ถูกใจแบบ Impulse Buy ซึ่งเป็นสูตรของส่วนผสมหลักของสินค้าในร้านเหล่านี้

จนแม้กระทั่ง Daiso เจ้าตลาดซึ่งเคยเด่นเรื่องสินค้าในกลุ่มของใช้ในครัวที่มุ่งเจาะกลุ่มแม่บ้าน ก็ยังต้องปรับตัวมาเพิ่มไอเท็มสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสกินแคร์และเครื่องสำอาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งเป็นสินค้าไฮไลต์จากญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มเติม

Miniso เองที่ไล่บี้ Daiso มาติด ๆ ทั้งจำนวนสาขา และความเป็นญี่ปุ่น ที่เลือกดีไซน์เป็นแบรนด์น้อง ๆ MUJI ด้วยสไตล์การออกแบบร้านก็มีสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และอุปกรณ์ไฟฟ้าเสริมความงาม เช่น เครื่องนวดหน้า ที่ได้รับกระแสตอบรับดีเช่นกัน

สินค้าของร้านทุกอย่างราคาเดียวแต่ละร้าน จะมีครบแทบทุกหมวดในลักษณะครอบจักรวาลกันเลยทีเดียว ตั้งแต่หมวดสินค้าไอเดีย ใช้ในครัว ของใช้ในบ้านทั่วไป เครื่องเขียน กิ๊ฟต์ชอป ของใช้ในห้องน้ำ ของใช้สำหรับสตรี ภาชนะ ของตกแต่ง ของกินเล่น ไปจนถึงอุปกรณ์ไอที หรืออุปกรณ์สำหรับใช้งานที่ผู้บริโภคคิดไม่ถึงหรือไม่เคยใช้มาก่อน ให้ทดลองนำไปซื้อใช้ในราคาไม่แพงตามคอนเซ็ปต์ร้าน

หากจะให้สรุปหัวใจที่ทำให้ร้านทุกอย่างราคาเดียวเติบโตขยายได้รวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การที่ร้านค้าเหล่านี้เฝ้าติดตามเทรนด์สินค้า ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วนำสองสิ่งนี้มาเจอกันภายใต้ผลิตภัณฑ์ราคาถูก ซึ่งของใช้จำเป็นผู้บริโภคซื้อซ้ำเมื่อใช้หมด หรือกรณีสินค้าหมดอายุการใช้งานก็เกิดการซื้อซ้ำโดยไม่เสียดายหรือคาดหวังว่าจะต้องใช้ได้นาน ขณะที่สินค้าที่ตอบเรื่องเทรนด์และไลฟ์สไตล์ก็พร้อมจะตอบรับได้ง่ายด้วยราคาที่ไม่แพง ไม่ตกยุค รวมถึงอาจเป็นการชอปปิ้งบำบัดไปด้วยในตัวสำหรับนักชอปประเภท Shopaholic ที่ต้องซื้อสินค้าตลอดเวลา.

]]>
1152434
ค้าปลีก ยันออนไลน์ไม่ฆ่า “สโตร์” จะโตได้ต้องทำคู่กัน จับตา ! ร้านราคาเดียวแรงแบรนด์นอกบุก https://positioningmag.com/1136706 Fri, 18 Aug 2017 08:32:05 +0000 http://positioningmag.com/?p=1136706 มาอัพเดต “ธุรกิจค้าปลีก” ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2560 จะเติบโตเพิ่มขึ้นแค่ไหน มาฟังจากการประเมินของ “สมาคมผู้ค้าปลีก” ภายใต้การนำของ นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% แต่ในครึ่งปีแรกของปี 2560 นี้เติบโต 2.8% ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปีก่อนหน้านั้นจะสังเกตเห็นว่าลดลงจากเดิมเพียง 0.2% เท่านั้น

ส่วนธุรกิจค้าปลีกของไทยจะเติบโตไปได้หรือไม่นั้น เธอมองว่า ด้วยนโยบายของรัฐบาลในการลงทุนด้านอินฟราสตรักเจอร์นั้น จะช่วยผลักดันทำให้ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกไทยพุ่งสูงถึง 5% ภายใน 3-5 ปีจากนี้

จริยา จิราธิวัฒน์

ออนไลน์ไม่ฆ่า จะโตได้ต้องทำออมนิชาแนล

ส่วน ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เมื่อดูตลาดรวมค้าส่งค้าปลีกของไทยมีมูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจากเมื่อช่วงปี 2537

โดยแยกเป็นค้าปลีกค้าส่ง ปรกติประมาณ 3 ล้านล้านบาท และอีก 1 แสนล้านบาทเป็นค้าปลีกค้าส่งในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งแม้ว่ามูลค่าจะน้อยอยู่แต่อัตราการเติบโตสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 15-20% ต่อปี เชื่อมั่นว่าทั้งรูปแบบออฟไลน์ที่เปิดเป็นสโตร์กับออนไลน์ที่เป็นเว็บไซต์ต้องไปด้วยกันเป็นการเสริมตลาดซึ่งกันและกัน และการขยายสาขาของค้าปลีกทุกรูปแบบแต่ละแบรนด์ก็ยังมีอยู่

ค้าปลีกภูธรเอสเอ็มอี ยังโตดี

แนวโน้มของค้าปลีกจะมีการขยายตัวต่างกันไปตามแต่ละกลุ่ม ในมูลค่าค้าปลีกค้าส่งของไทยที่มีมากกว่า 3.1 ล้านล้านบาท แยกกลุ่มผู้ประกอบการได้ 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1. กลุ่มบนหรือผู้ประกอบการรายใหญ่ กลุ่มนี้เติบโต 3% ในภาพรวม และมีสัดส่วนประมาณ 30% ของทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มขยายตัวไปต่างประเทศมากขึ้น 2. กลุ่มภูธร ซึ่งมีประมาณ 500-700 ราย กลุ่มนี้เติบโตดี 8% มีสัดส่วน 20% ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้เริ่มขยายตัวเข้าหัวเมืองใหญ่หรือกรุงเทพฯ และต่างประเทศบ้าง และ 3. กลุ่มระดับล่างหรือเอสเอ็มอี จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดกว่า 50% ของมูลค่าทั้งหมด เติบโตดีเช่นกัน 

ซูเปอร์มาร์เก็ตโต 7%-ไฮเปอร์โตต่ำ 2%

ในช่วงครึ่งแรกปี 2560 นี้พบว่า ค้าปลีกในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตยังมีการเติบโตที่ดีมากถึง 7% ขณะที่กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตเติบโตเพียงแค่ 2% เท่านั้น ต่ำมาก ส่วนคอนวีเนียนสโตร์ก็คงโตไม่มากประมาณ 3% เท่านั้นเอง เช่นเดียวกับโมเดลห้างสรรพสินค้าเติบโตเพียง 3% เท่านั้นเอง

ร้านราคาเดียวมาแรง แบรนด์นอกบุกไทย

สำหรับโมเดลค้าปลีกอื่นที่น่าจะมาแรงจากนี้ไปคือ ร้านค้าเฉพาะทางหรือสเปเชียลตี้สโตร์ หรือร้านขายสินค้าประเภทราคาเดียว ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น และมีผู้ประกอบการเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น ทั้งที่เป็นการพัฒนาขึ้นมาเองของไทยและแบรนด์ดังจากต่างประเทศ เช่น ล่าสุดมีร้านแบรนด์ดองกิ ร้านแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นที่จะขยายธุรกิจเข้ามาในไทย


ที่มา : astv.mobi/AWn92Dq

]]>
1136706
ชอปกระจาย ! “ร้านราคาเดียว” ถูกกระชากใจ แม่เหล็กใหม่ทุกห้างต้องมี https://positioningmag.com/1130082 Wed, 21 Jun 2017 22:55:51 +0000 http://positioningmag.com/?p=1130082 ร้านค้าปลีกในรูปแบบชอปไลฟ์สไตล์ที่มีจุดขายที่ราคาเท่ากันหมดทุกชิ้น กำลังเป็นที่นิยมจากนักชอปชาวไทย ด้วยความที่สินค้าราคาไม่แพง ซื้อง่ายขายคล่อง ทำให้มีทั้งแบรนด์ไทยแบรนด์นอก ทยอยเข้ามาทำตลาด

แบรนด์ร้านราคาเดียว ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีคงหนีไม่พ้น “ไดโซ” รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ได้แก่ Komonoya, Just Buy, Arcova, โตคูโตคูยะ และ Can Do ส่วนใหญ่จะมีราคาเริ่มต้นที่ 60 บาท ต้นแบบจากร้าน 100 เยนในประเทศญี่ปุ่น

แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีร้านใหม่ๆ เข้ามา พร้อมกับโมเดลใหม่ด้วยราคาที่ย่อมเยาลงกว่าเดิม แถมสินค้าหลากหลายมากขึ้น มีตั้งแต่เริ่มต้นที่ 12 บาท จนถึง 60 บาท เช่น เพนกวิน, แบร์ สโตร์, โมชิโมชิ และมินิโซ มีทั้งแบรนด์นอกแบรนด์ไทย ที่กำลังยึดพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าฯ กันเนืองแน่น จนกลายเป็นอีกหนึ่งในแม่เหล็กที่ห้างฯ ต้องมี จนเวลานี้แต่ละห้างฯ ต้องมีไม่น้อยกว่า 2-3 ร้านเข้าไปแล้ว

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตเพราะราคาไม่สูง ซื้อง่ายขายคล่อง โดยมีทั้งที่ซื้อมาจากประเทศจีน แต่ช่วงหลังก็ไปหาซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น คนไทยชื่นชอบสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว เมื่อสินค้าราคาไม่แพง และมีดีไซน์ สีสันสวยงาม ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่าย ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้สินค้าเหล่านี้เป็นที่นิยมมากขึ้น

ร้านไดโซ

สำหรับรายแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตลาด “ไดโซ” ขายสินค้าจากญี่ปุ่น ราคาเดียว 60 บาท ได้รับความนิยมอย่างดี จนปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 100 สาขาแล้ว มีทั้งบริหารเองและขายแฟรนไชส์ เพื่ออัปสปีดในการขยายสาขาได้เร็วขึ้น เมื่อการแข่งขันที่มีมากขึ้น “ไดโซ” จึงต้องปรับตัวมากขึ้นเช่นกัน เพิ่มสินค้าด้านความสวยความงามเข้ามามากขึ้น เช่น ครีม เครื่องสำอาง และขนมต่างๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้าจำเจ ตกแต่งร้านในโทนสีชมพูเพื่อความโมเดิร์น และดึงดูดลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นให้มากขึ้น จากเดิมที่เป็นลูกค้ากลุ่มแม่บ้านเสียส่วนใหญ่

อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางในส่วนชอปออนไลน์เข้ามาเสริม ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ และเอาใจคนต่างจังหวัดให้สามารถสั่งสินค้าได้ ซึ่งไดโซยังคงมีข้อได้เปรียบเรื่องแบรนด์ที่เข้าถึงผู้บริโภคในระดับหนึ่งแล้ว โจทย์ต่อไปก็คือต้องดึงผู้บริโภคให้มีลอยัลตี้กับแบรนด์ให้ได้

แบรนด์ใหม่แห่ทำตลาด ดัมพ์ราคาเหลือ 12 บาทขาดตัว

ทางด้านแบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามาทำตลาด ใช้ราคาต่ำกว่าเหลือแค่ 12 บาทมาใช้สร้างจุดขาย อย่าง เพนกวิน 12 shop ทุกอย่าง 12 บาท สินค้าภายในร้านมีหลายกลุ่ม สินค้าของใช้ภายในบ้าน เครื่องเขียน ของตกแต่ง เครื่องประดับ และอื่นๆ แต่สินค้าจะมีความหลากหลายคล้ายคลึงกันกับร้านโลคอลทุกอย่าง 20 บาท ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ พระราม 4, เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ และบางแสน และกำลังจะเปิดที่สาขาโลตัส พลัสมอลล์ ศรีนครินทร์ เป็นสาขาที่ 4 ซึ่งเพนกวินเองก็กำลังขยายสู่การขายแฟรนไชส์อยู่เช่นกัน ตอนนี้เปิดรับผู้สนใจอยู่

ร้าน โมชิโมชิ

แบรนด์โมชิโมชิที่เริ่มทำตลาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ชูจุดขายเป็นสินค้าในสไตล์ญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ราคาเริ่มต้นแค่ 20 บาท กลุ่มสินค้าก็ไม่ได้แตกต่างจากแบรนด์อื่นมากนัก ขึ้นอยู่กับดีไซน์ของแต่ละแบรนด์ ปัจจุบันมี 7 สาขา ได้แก่ The Platinum Fashion Mall, Happy Square, Terminal 21 โคราช, ห้างเสรีลำปาง, MAYA Lifestyle Shopping Center, ซอยละลายทรัพย์ สีลม และคลังพลาซ่า โคราช

“มินิโซ” น้องใหม่ เตรียมขยายครบ 100 สาขาใน 2 ปี

MINISO (มินิโซ) เป็นแบรนด์ชอปไลฟ์สไตล์ล่าสุดจากญี่ปุ่นก็เข้ามาบุกตลาดไทย ได้เริ่มมาเปิดสาขาแรกเมื่อกลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันมี 15 สาขาแล้ว

MINISO

ร้านนี้เปิดตัวในปี 2556 ในญี่ปุ่น แต่มีผู้ร่วมลงทุนใหญ่เป็นคนจีนก็คือ เย่ กั๋ว ฟู่ เป็นประธานบริษัท และมี จุนยะ มิยาเกะ เป็นหัวหน้านักออกแบบ ปัจจุบันมีกว่า 1,400 สาขา ใน 56 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย “บริษัท ชิ่งไท่ เทรดดิ้ง จำกัด” เป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์มินิโซเข้ามาทำตลาดในไทย

ชิ่งไท่ เทรดดิ้ง แต่เดิมประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นำเข้าส่งออกสินค้า และได้ขยายธุรกิจมายังบริหารแฟรนไชส์แบรนด์จากต่างประเทศ ร้านมินิโซเป็นแบรนด์แรกที่นำแฟรนไชส์เข้ามา สาเหตุที่ทางบริษัทเลือกแบรนด์นี้เข้ามาเพราะเป็นแบรนด์ที่มีการเติบโตสูง ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีแต่มีสาขามากมาย รวมถึงมองเห็นโอกาสในตลาดร้านค้าไลฟ์สไตล์ในไทยยังมีช่องว่าง และการเติบโต เพราะคนไทยชอบของดี ราคาถูก

ไช่ เสี้ยว ซิง ประธานกรรมการบริษัท มินิโซ ไทยแลนด์ จำกัด เล่าว่า “ตลาดร้านแบบไลฟ์สไตล์ในไทยตอนนี้มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้เล่นหลายรายทยอยทำตลาด แต่ก็มีโอกาสในตลาดสูงเช่นกัน ตลาดยังมีการเติบโตอยู่ เพราะคนไทยชอบสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก ด้วยราคาหลักสิบหลักร้อยทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่าย ร้านค้าเหล่านี้เข้ามาตอบโจทย์ จุดยืนของมินิโซจะเน้นเรื่องดีไซน์แบบมินิมอล เน้นสินค้าเป็นแบบ Fast Fashion มีการเปลี่ยนตลอดเฉลี่ยแล้ว 100 รายการ/เดือน ในขณะที่แบรนด์อื่นจะขายสินค้าเดิมๆ ตลอด”

ร้านมินิโซจะไม่ใช่ราคาเดียวกันทั้งร้าน จะมีราคาหลากหลายเริ่มต้นตั้งแต่ 39 บาท ไปจนถึง 699 บาท โดยราคา 69 บาทเป็นราคากลาง มองว่าเป็นราคาที่คนยอมจ่ายได้มากที่สุด สินค้าจะครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มตั้งแต่เครื่องสำอาง ตุ๊กตา ของเล่น ของใช้ในบ้าน เครื่องครัว น้ำหอม สินค้าไอที เครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าที่ขายดีที่สุดเป็นกลุ่มไอที ความงาม ในอนาคตจะมีกลุ่มอาหาร ขนมต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงรอเอกสารกับทาง อย.

ในปัจจุบันมีทั้งหมด 15 สาขา ตั้งเป้าว่าจะมี 50 สาขาให้ได้ภายในปีนี้ และ 100 สาขาภายใน 2 ปี เน้นที่กรุงเทพฯ ก่อน ที่ต่างจังหวัดมีไปแค่พัทยา และกำลังเจรจากับทางเดอะมอลล์โคราช รูปแบบการลงทุนยังเป็นการลงทุนเองก่อน ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 15 ล้านบาท/สาขา มีแผนว่าให้มีสาขาครบ 80 สาขาก่อนถึงจะขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจ

แต่ละสาขามีพื้นที่เฉลี่ย 200-300 ตารางเมตร สาขาเมกะบางนาจะมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือ 900 ตารางเมตร มีสินค้าในร้านเฉลี่ย 2,000-2,500 รายการ ยังมีสินค้าอื่นๆ สามารถนำเข้ามาได้อีก เพราะบริษัทแม่มีสินค้ารวม 7,000 รายการ แต่สามารถนำเข้ามาได้แค่ 3,000 รายการเท่านั้น ในแต่ละวันมีทราฟฟิกคนเข้าร้านเฉลี่ย 200-300 คน/สาขา และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 400-500 บาท/บิล

“แบร์ สโตร์” ทุกอย่าง 20 บาท คนต่างจังหวัดยังบินมาชอป

ในขณะที่สินค้าสไตล์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ราคา 60 บาทกัน แบร์ สโตร์จึงต้องแหกแนวทำให้สินค้าทุกอย่างราคา 20 บาท เพราะมองว่าเป็นราคาที่คนไทยตัดสินใจซื้อง่าย แต่เน้นคุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าราคา 40-60 บาท

“ปภาดา ชัยพันธุ์” และ “วุฒิชัย สารยศ” ผู้จัดการฝ่ายบริหารงานทั่วไป มองว่า แบร์ สโตร์ไม่ใช่ใครจะทำได้ง่ายๆ เพราะพวกเขาใช้เวลาเตรียมการนานถึง 6 ปี! ด้วยการศึกษาหาข้อมูลในเรื่องเทรนด์สินค้า หาโรงงานผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการ เน้นในเรื่องต้นทุนและคุณภาพเป็นสำคัญ เพื่อให้สินค้าทุกชิ้นขายในราคา 20 บาทได้เทียบเท่าราคา 40-60 บาท อย่างขวดน้ำพลาสติก จะใช้พลาสติกเกรดเดียวกับขวดนมเด็ก แต่ขายในราคาเพียง 20 บาทเท่านั้น

แบร์ สโตร์

โจทย์แรกที่ทั้งสองคิด คือ ทำไมสินค้าราคา 20 บาทจะขึ้นห้างไม่ได้ เพราะราคานี้ผู้คนพร้อมจับจ่าย และหากยิ่งเน้นคุณภาพ ประโยชน์ใช้สอย ยิ่งทำให้ผู้คนตอบรับเป็นเท่าตัว จึงทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเลือกทำเลเปิดสาขาแรกที่เมเจอร์ ปิ่นเกล้า เพราะผู้คนพลุกพล่านและใกล้สถานศึกษาหลายแห่ง

หลังจากการเปิดตัวของร้านได้เพียง 1 เดือน ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด จากสินค้าที่สต๊อกไว้สำหรับการขายใน 1 เดือนกลับเกลี้ยงภายใน 10 วันแรกที่เปิดร้าน ซึ่งกระแสดังกล่าวโด่งดังไปถึงต่างจังหวัด มีลูกค้านั่งเครื่องเพื่อมาชอปที่ร้านโดยตรงเลยก็มี ชี้ให้เห็นได้ว่าธุรกิจนี้ขึ้นอยู่ที่การจับจริตคนได้ถูก คนไทยชอบสินค้าสไตล์ญี่ปุ่นอยู่แล้ว ยิ่งมีราคาที่เหมาะสมทำให้ตรงกับความต้องการได้

สินค้าทุกชิ้นของแบร์ สโตร์นำเข้ามาจากหลากหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ที่พวกเขาต้องลงพื้นที่ตระเวนไปดูสินค้าใหม่ๆ จากโรงงานแต่ละประเทศเป็นประจำ รวมถึงมีทีมงานด้านการตลาดประจำที่ประเทศญี่ปุ่นทำการสำรวจตลาด และเทรนด์สินค้าใหม่ในแต่ละซีซัน เพื่อนำมาปรับปลี่ยนสินค้าของพวกเขาไปเรื่อยๆ

สาขาแรกที่เมเจอร์ ปิ่นเกล้า มีสินค้า 800-1,000 รายการ กับ 12 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. หมวดสินค้าไอเดีย 2. หมวดอุปกรณ์ในครัว 3. หมวดของใช้ในบ้าน 4. หมวดสินค้าเพื่อความปลอดภัย 5. หมวดเครื่องเขียน 6. หมวดกิฟต์ชอป
7. หมวดสินค้าประเภทกระเป๋า 8. หมวดไอที 9. หมวดของใช้ในห้องน้ำ 10. หมวดงานพลาสติก 11. หมวดงานเครื่องแก้ว และ 12. หมวดสติกเกอร์ และ DIY

ปัจจุบัน แบร์ สโตร์มีเพียงแค่ 1 สาขาเท่านั้นที่เมจเอร์ ปิ่นเกล้า การขยายสาขาเน้นทำเลต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์สโตร์เท่านั้น บนพื้นที่ตั้งแต่ 140 ตร.ม.ขึ้นไป รวมถึงการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีจะขยายให้ครบ 30 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเงินลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 3-6 ล้านบาท เร็วๆ นี้จะเปิดที่บิ๊กซี จ.เพชรบุรี และเมเจอร์ สาขาเซ็นทรัล พระราม 2 เมเจอร์ สาขาปากเกร็ด และห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ในอนาคต

ตลาดร้านค้าไลฟ์สไตล์รูปแบบนี้มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จริง แต่ก็มีแบรนด์ที่ล้มหายตายจากไปเช่นกัน การสร้างความแตกต่างให้สินค้าจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในเรื่องราคามีความใกล้เคียงกัน รวมถึงเรื่องโลเคชันสถานที่ต้องเข้าถึงผู้บริโภคด้วย

]]>
1130082