วันคนโสด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 13 Nov 2023 04:10:40 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แคมเปญ 11.11 ใน ‘จีน’ เริ่มหมดมนต์ขลัง หลังนักช้อปมอง ‘ราคา’ ไม่ต่างจากปกติ https://positioningmag.com/1451477 Mon, 13 Nov 2023 02:43:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451477 เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้อะไรติดไม้ติดมือบ้างในวันที่ 11.11 ที่ผ่านมา เพราะถือเป็นวันที่เหล่านักช้อปน่าจะรู้ดีว่าเป็นวันที่เหล่าอีคอมเมิร์ซจัดแคมเปญใหญ่แห่งปี อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิด วันคนโสด อย่าง จีน จะไม่ปังเหมือนที่ผ่านมา เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

แคมเปญ 11.11 หรือ วันคนโสด ที่จะโดย อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ที่ริเริ่มแคมเปญดังกล่าวในปี 2552 โดยในปีที่ผ่านมา แคมเปญ 11.11 ของอาลีบาบาทำเงินไปกว่า 1.1 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.53 แสนล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ Bain บริษัทที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ Bain ในปีนี้พบว่า มีผู้บริโภคถึง 77% ระบุว่า พวกเขาไม่ได้วางแผนที่จะใช้จ่ายมากกว่าปกติในช่วงงานลดราคา นอกจากนี้ หลายคนมองว่า ดีล 11.11 ในปีนี้ไม่ดีเหมือนในอดีต และบางเว็บไซต์ก็ ขึ้นราคาไว้ล่วงหน้าเพียงเพื่อลดราคา ในช่วงแคมเปญ

“ราคามันไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับวันอื่นๆ ฉันก็เลยไม่ได้ซื้ออะไร เราจะประหยัดได้นิดหน่อยเพราะว่าเราหาเงินได้น้อยลง” กวน หย่งห่าว ผู้บริโภควัย 21 ปี กล่าว

“ทุกวันนี้ ผู้คนบริโภคน้อยลง ผู้คนไม่มีความปรารถนาที่จะซื้อของมากมายมากนัก โดยคนรอบข้างหลายคนเลือกซื้อแต่ของจำเป็นในชีวิตประจำวันแทน” จาง ชูเหวิน นักศึกษาวัย 23 ปี กล่าว

Jacob Cooke ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ WPIC Marketing + Technologies บริษัทที่ปรึกษาอีคอมเมิร์ซในกรุงปักกิ่ง บอกกับ AFP ว่า วันคนโสดสูญเสียความน่าดึงดูดไปแล้ว เนื่องจากมีรูปแบบการช้อปปิ้งใหม่ ๆ เช่น Live Streaming รวมถึงการ แคมเปญย่อย ๆ ที่มีทุกเดือน นอกจากนี้ ในอดีตแคมเปญ 11.11 จะมีเพียง 1-2 วัน แต่ในปีนี้ บางแพลตฟอร์มใแคมเปญตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ อาลีบาบา และ JD.com ต่างไม่เปิดเผยยอดขายในช่วงแคมเปญ 11.11 โดยระบุเพียงว่า ยอดขายกลับทรงตัวจากปีก่อน โดยยอดขายที่ชะลอตัวเกิดขึ้นหลังจากที่ทางการจีนประกาศว่า จีนกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในเดือนตุลาคม

Source

]]>
1451477
คาดการณ์โค้งสุดท้าย ‘อีคอมเมิร์ซโลก’ ช้อปทะลุ 30 ล้านล้านบาท ‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ ยังเป็นเทรนด์แรง https://positioningmag.com/1362358 Tue, 16 Nov 2021 07:21:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362358 หากจะพูดถึงช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ก็ถือว่าเป็นเวลาทองของการช้อปปิ้ง เพราะมีทั้งแคมเปญ ‘11.11’ หรือ ‘วันคนโสด’ ในฝั่งของเอเชีย ส่วนฝั่งยุโรปก็มี ‘Black Friday’ รวมถึงงานเทศกาลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันคริสต์มาส, วันส่งท้ายปี ซึ่งทาง ‘อะโดบี’ ก็ได้คาดการณ์เกี่ยวกับช้อปปิ้งออนไลน์ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ว่าจะมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน

2 เดือนสุดท้ายช้อปทะลุ 30 ล้านล้านบาท

อะโดบีคาดการณ์ยอดขายสินค้าออนไลน์ในสหรัฐฯ ช่วงเทศกาลช้อปปิ้งปลายปีระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคมจะแตะ 207 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ โดยเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2020 แสดงให้เห็นว่าหลังผ่านวิกฤต COVID-19 มา 1 ปี อีคอมเมิร์ซกลายเป็นเซอร์วิสที่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค

ขณะที่ยอด ใช้จ่ายออนไลน์ทั่วโลก อาจแตะ 910 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ อะโดบีคาดการณ์ว่ายอดใช้จ่ายทั่วโลกตลอดปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 133 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซ

แม้อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นในสหรัฐฯ แต่ความสนใจช้อปปิ้งในช่วงเทศกาลหลัก ๆ ได้รับความนิยมน้อยลง อย่างช่วงสัปดาห์ Cyber Week (ช่วงวันขอบคุณพระเจ้าถึงวัน Cyber Monday) คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายออนไลน์ 36 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 17% ตลอดเทศกาล โดยอัตราการเติบโตลดลงอยู่ที่เพียง 5% สำหรับช่วงระยะเวลา 5 วัน

ขณะที่ช่วง Black Friday คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 9.5 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 5% และ วันขอบคุณพระเจ้า มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 6% โดยวันช้อปปิ้งหลัก ๆ ทั้ง 3 วันดังกล่าวมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าเทศกาลโดยรวม

(Photo by Rob Stothard/Getty Images)

ปัญหาด้านซัพพลายเชนกระทบเทศกาลช้อปปิ้ง

ความต้องการช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ค้าปลีกกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ในด้านซัพพลายเชน เช่น ปัญหาความหนาแน่นของสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือ การขนส่งที่ล่าช้า และการผลิตสินค้าในต่างประเทศที่หยุดชะงัก ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็รู้สึกได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเมื่อเทียบกับช่วงมกราคม 2020 ที่ยังไม่เกิดการระบาดของ COVID-19 พบข้อความแจ้งเตือนว่า สินค้าหมดสต็อกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 172%

ทั้งนี้ อะโดบีคาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป และอาจเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าบางรายการตลอดช่วงเทศกาล และจากสินค้า 18 หมวดหมู่ที่ทำการตรวจสอบพบว่า สินค้าประเภท เครื่องแต่งกาย เป็นสินค้าที่ หมดสต็อกมากที่สุด ตามด้วย อุปกรณ์กีฬา ผลิตภัณฑ์สำหรับทารก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ปัญหาซัพพลายเชนก็ส่งผลให้ ราคาสินค้าออนไลน์ปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะต้อง จ่ายเงินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9% ในช่วง Cyber Week ของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจาก ส่วนลดที่น้อยลง โดยคาดว่าส่วนลดจะอยู่ที่ 5-25% เทียบกับส่วนลดโดยเฉลี่ย 10-30% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากสถานการณ์ เงินเฟ้อ อีกด้วย ทำให้ราคาสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นราว 3.3%

ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง เทรนด์แรงต่อเนื่อง

สำหรับรูปแบบการชำระเงินนั้นพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้บริการ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later – BNPL) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปลายปี โดยมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบกับปี 2019

นอกจากนี้มีแนวโน้มการใช้บริการแบบ ไดรฟ์ทรู มากขึ้น หลังจากที่สามารถเดินทางไปหน้าร้านได้ โดยคิดเป็นสัดส่วน 25% ของคำสั่งซื้อออนไลน์ทั้งหมด เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเรื่องการจัดส่งที่ล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการนี้เพิ่มมากขึ้น โดยจากผลการสำรวจของอะโดบี ชี้ว่า 65% ของผู้บริโภคมีความกังวลใจเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า

ของขวัญสะท้อนการใช้ชีวิตอยู่แต่บ้าน

จากผลการสำรวจของอะโดบีพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 51% มีแผนที่จะซื้อสินค้าที่จับต้องได้เป็นของขวัญให้แก่คนอื่น ๆ ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ ขณะที่ 17% มีแผนที่จะให้ของขวัญในรูปแบบของ ประสบการณ์ แทน อาทิ บริการสปา ทรีตเมนต์, ตั๋วคอนเสิร์ต, ตั๋วชมการแข่งขันกีฬา, ตั๋วเครื่องบิน และคอร์สเรียนทำอาหาร

ขณะที่ของขวัญยอดนิยม อาทิ ของเล่น, เครื่องเกม, Airpods Max, ถ้วยกาแฟอัจฉริยะ, หม้ออเนกประสงค์ Instant Pot, หม้อทอดไร้น้ำมัน, กระบอกน้ำอัจฉริยะ, โดรน และเครื่องเล่นแผ่นเสียง สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคใช้เวลาอยู่บ้านและทำงานหน้าแล็ปท็อปมากขึ้น

]]>
1362358
‘อาลีบาบา’ ทุบสถิติ 11.11 กวาดยอดขาย 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 8% https://positioningmag.com/1361707 Fri, 12 Nov 2021 10:00:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361707 หลายคนน่าจะเสียทรัพย์ให้กับวัน 11.11 ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอีคอมเมิร์ซชั้นนำในไทยต่างก็ออกมาพูดถึงความสำเร็จกับแคมเปญดังกล่าว อย่าง Lazada ในช่วง 2 ชั่วโมงแรกยอดสั่งซื้อโต 200% จำนวนผู้ใช้โต 120% ส่วน Shopee  5 นาทีแรกของวัน ช้อปปี้โกยยอดขายได้ 11 ล้านชิ้น และในช่วง 2 ชั่วโมงแรกมียอดผู้เข้าแพลตฟอร์มพุ่ง 5.5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับวันปกติ ดังนั้น ไปดูในฝั่งของต้นกำเนิดอย่าง ‘อาลีบาบา’ กันบ้าง

ในส่วนของ ‘อาลีบาบา’ ต้นกำเนิดของ ‘วันคนโสด’ หรือ ‘11.11’ ที่ปังแซง Black Friday ของฝั่งยุโรปกลายเป็นมหกรรมการช้อปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถิติของแคมเปญเช่นกัน แม้ว่าตอนนี้บริษัทจะถูกรัฐบาลจีนจับตาอยู่ก็ตาม

โดยยอดขายใน ‘Tmall’ พุ่งขึ้นแตะระดับ 5.403 แสนล้านหยวน (8.454 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 2.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเติบโตจากปีที่ผ่านมา 8% ส่วน ‘JD.com’ เบอร์ 2 อีคอมเมิร์ซจีนมียอดที่ 3.114 แสนล้านหยวน (4.86 หมื่นล้านดอลลาร์) เติบโตขึ้น 28%

ภาพรวมของยอดขายที่ถล่มทลายนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความกระหายของผู้บริโภคชาวจีนในการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีน รวมถึงผลกระทบของการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร ยกเว้นว่าการโหมกระแสแคมเปญในปีนี้จะดูเงียบ ๆ

ในส่วนของสินค้าขายดี ทางฝั่งของเจดีเปิดเผยว่า ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ และ ‘สัตว์เลี้ยง’ มียอดขายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทั้งอาลีบาบาและเจดีเห็นการเติบโตในเมืองเล็ก ๆ ของจีน ซึ่งเป็นจุดสนใจหลักสำหรับบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ต้องการขยายฐานผู้ใช้ นอกจากนี้ ผู้ใช้จากตลาดระดับล่างคิดเป็น 77% ของผู้ซื้อทั้งหมด โดยเน้นซื้อเครื่องใช้ในบ้าน ยา และของตกแต่งบ้าน

ทั้งนี้ อาลีบาบาและเจดี ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระหว่างงาน โดยเจดีระบุว่าได้ลดการปล่อยคาร์บอนลง 26,000 ตันในช่วงแคมเปญนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเน้นย้ำถึงการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม

หลังจากจบวัน 11.11 หุ้นของเจดีเพิ่มขึ้นประมาณ 4.6% ในการซื้อขายช่วงบ่ายในฮ่องกงในวันศุกร์ ขณะที่อาลีบาบาลดลงประมาณ -1.8%

Source

]]>
1361707
ทำไมจากมหกรรมช้อปปิ้ง ‘11.11’ ที่มีปีละครั้ง สู่ ‘Double Day’ ที่ต้องมีทุกเดือน https://positioningmag.com/1324971 Thu, 25 Mar 2021 12:59:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324971 หากพูดถึงอีคอมเมิร์ซจะมีอยู่แคมเปญหนึ่งที่กลายเป็น ‘ภาพจำ’ หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฒนธรรม’ ไปแล้วก็คือแคมเปญ ‘Double Day’ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้จำกัดแค่โลกออนไลน์ แต่กลายเป็นแคมเปญที่แม้แต่โลก ‘ออฟไลน์’ ก็ใช้ แต่หากจำกันได้เมื่อก่อนแคมเปญ Double Day นี้จะมีอยู่แค่วันเดียวก็คือ ’11.11’ เท่านั้น แต่ทุกวันนี้กลับมี ‘ทุกเดือน’ คำถามคือ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอะไรในตลาดบ้าง?

จากวันคนโสดกลายเป็นวันที่ต้องมีทุกเดือน

หากฝั่งตะวันตกมี ‘Black Friday’ ที่เป็นแคมเปญลดราคาครั้งใหญ่ของปีที่ผู้บริโภคต่างรอคอย สำหรับฝั่งเอเชียก็มีวัน ‘คนโสด’ หรือ ’11.11’ ที่ ‘อาลีบาบา’ เป็นผู้บุกเบิกแคมเปญดังกล่าวจนกลายเป็นวัฒนธรรมของนักช้อปไปแล้ว สำหรับประเทศไทยก็ได้ ‘ลาซาด้า’ ที่นำเอาแคมเปญนี้เข้ามา

แคมเปญดังกล่าวสามารถเพิ่มยอดขายได้หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับวันธรรมดา อย่างแคมเปญ 11.11 ของลาซาด้าในปี 2020 ก็สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 20 เท่า จากความสำเร็จดังกล่าวเลยทำให้แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่หรือแม้แต่โลกของ ‘ออฟไลน์’ ต่างต้องผุดแคมเปญ 11.11 มาเพื่อแย่งลูกค้าบ้าง

จากนั้นผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ทั้งลาซาด้าและช้อปปี้ก็ไม่หยุดแค่วันที่ 11.11 แต่กลับอัดแคมเปญ ‘Double Day’ ในช่วงครึ่งปีหลังแทบทุกเดือนไม่ว่าจะ 8.8, 9.9, 10.10 ยาวไปถึง 12.12 นอกจากนี้ยังมีแคมเปญย่อย ๆ ที่จะมีทุกเดือนเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยลาซาด้าเปิดเผยว่าถ้าเป็นแคมเปญไม่ใหญ่ยอดขายจะเพิ่มจากวันปกติที่ 3-4 เท่า แต่ถ้าเป็นแคมเปญระดับ Mega จะเพิ่มได้ 15-20 เท่าเลยทีเดียว

สงครามยังไม่จบเลยต้อง ‘สาดเงิน’ กันต่อ

จากปกติแคมเปญใหญ่จะอัดใส่กันในช่วงครึ่งปีหลังเป็นหลัก เพราะครึ่งปีแรกไม่ใช่ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคจับจ่ายนัก แต่ในปี 2021 ก็เริ่มลามมาถึงครึ่งปีแรกอย่าง 3.3 ของลาซาด้าและ 4.4 ของช้อปปี้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ ‘อีคอมเมิร์ซไทย’ กำลังอยู่ในช่วง ‘ขาขึ้น’ เพราะการระบาดของ COVID-19 ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ใช้ออนไลน์มากขึ้น

โดยในปี 2020 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตถึง 81% มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท จากที่คาดไว้ว่าจะเติบโต 35% หรือมีมูลค่า 2 แสนล้านบาท และในปี 2021 ได้มีการคาดการณ์ว่าตลาดยังสามารถเติบโตได้อีกโดยอาจมีมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท แม้จะมีการเติบโตสูงแต่นี่ยังไม่ใช่ ‘จุดสิ้นสุด’

เพราะสัดส่วนของอีคอมเมิร์ซไทยเมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกยังมีมูลค่าเพียง 5% เท่านั้น ขณะที่ ‘จีน’ หรือ ‘อเมริกา’ มีสัดส่วน 15-20% นั่นแปลว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมาก และยังมีที่ว่างให้ ‘ผู้เล่นใหม่’ เข้ามาในตลาดได้อีก

อีกเหตุผลที่ต้องอัดแคมเปญใหญ่ตั้งแต่ต้นปีก็คือ สภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอัดแคมเปญใหญ่เพื่อกระตุ้น ‘กำลังซื้อ’ ของผู้บริโภคที่หดตัวลง นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคต้องคอยเฝ้าจอเพื่อรอของราคาสุดคุ้มกลายเป็นว่าระยะเวลาที่ใช้ในแอปฯ จึง ‘นานขึ้น’ อีกด้วย แน่นอนว่าลูกค้าก็ไม่หนีไปแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งลาซาด้าระบุว่าเมื่อเทียบกับวันธรรมดาแล้ว ลูกค้าใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้นจาก 10 เป็น 16 นาที

แค่เผาเงินใครก็ทำได้?

ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ยอมรับว่าการทำแคมเปญส่วนลดทุกเดือนนั้นคงไม่สามารถสร้างความแตกต่างในตลาดได้ ดังนั้น การวางรากฐานของอีโคซิสเต็มส์ อาทิ เพย์เมนต์ และระบบโลจิสติกส์ การสร้างเอนเกจเมนต์กับลูกค้าโดยใช้กลยุทธ์ Shoptertainment รวมถึงเรื่องของ Big Data ที่จะช่วยให้ฝั่งร้านค้าของของได้ดีขึ้น สามารถนำเสนอโปรโมชันได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น เพื่อมัดใจให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำ

เพราะการแข่งขันในปัจจุบันไม่ใช่แค่ต้องแข่งกับอีมาร์เก็ตเพลสด้วยกัน แต่ ‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ ก็เป็นอีกคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากกินสัดส่วนตลาดไปถึง 50% ดังนั้น การดึงร้านจากโซเชียลฯ ให้ขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม รวมถึงเพิ่มลูกค้าให้ใช้งานลาซาด้าประจำจึงถือเป็นอีกความท้าทายในการทำตลาด ซึ่งลาซาด้าตั้งเป้าเติบโตให้ได้ 100% หรือ 3 เท่าตัว ทั้งใน 3 ส่วนหลัก คือ ยอดขาย, ออเดอร์การสั่งซื้อ และจำนวนผู้ขายให้ได้ในปีนี้

ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)

ตราบใดที่ตลาดยังไม่ถึงทางตันและคู่แข่งยังคงทุ่มงบในการทำโปรโมชัน ‘Double Day’ คงจะอยู่คู่อีคอมเมิร์ซไปอีกนาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ‘แพลตฟอร์ม’ หรือ ‘ผู้บริโภค’ ใครจะหมดเงินก่อนกัน

]]>
1324971
คนจีนยังรักชาติแรง! เทศกาล “วันคนโสด” งดซื้อแบรนด์อเมริกัน แบรนด์ยุโรปโดนหางเลข https://positioningmag.com/1303493 Wed, 28 Oct 2020 10:54:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303493 เทศกาลช้อปปิ้ง “วันคนโสด” ปี 2020 ชาวจีน 57% ตั้งใจจะเลี่ยงซื้อแบรนด์อเมริกัน โดยตัวเลขนี้ลดลงมากจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม 39% จะเลี่ยงซื้อแบรนด์ยุโรป ต่างจากปีก่อนที่ชาวจีนยังซื้อสินค้ายุโรปตามปกติ จุดโฟกัสปีนี้คือ “สินค้าลักชัวรี” เพราะคนจีนที่ไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ มีแนวโน้มจะซื้อสินค้ากลุ่มนี้สูงขึ้น

เลือดรักชาติของคนจีนยังแรงอยู่ โดยบริษัท AlixPartners จัดสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคจีน 2,029 คน ก่อนถึง เทศกาลวันคนโสด 11.11 เทศกาลลดราคาช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งใหญ่ โดยพบความคิดเห็นที่น่าสนใจดังนี้

  • 66% จะเลือกแบรนด์จีนมากกว่าแบรนด์ต่างชาติ
  • 57% จะลดการซื้อสินค้าแบรนด์อเมริกัน
  • 39% จะลดการซื้อสินค้าแบรนด์ยุโรป
  • 62% ระบุสาเหตุที่เลือกแบรนด์จีนมากกว่าเพราะประเด็น “ชาตินิยม”

เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเดียวกันเมื่อปี 2019 ปีก่อนนั้นชาวจีนถึง 78% ตอบว่าจะเลี่ยงการซื้อสินค้าแบรนด์อเมริกัน สะท้อนให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านอเมริกันในปีนี้ลดลงจากปีก่อน ส่วนแบรนด์ยุโรปเป็นในทางตรงข้าม จากปีก่อนชาวจีนยังคงสนใจแบรนด์ยุโรป ปีนี้กลับมีชาวจีนที่จะเลี่ยงการซื้อถึง 39%

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเลือกซื้อของคนจีนก็ยังเลือกแบรนด์จีนมากกว่าเหมือนเดิม และเป็นเพราะ “ชาตินิยม” เหมือนกับปีก่อน

ในแง่ของกำลังซื้อ ปีนี้ 39% ของชาวจีนที่สำรวจตอบว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นในวันคนโสด ขณะที่มี 15% ที่จะใช้จ่ายน้อยลงเทียบปีก่อน เนื่องจากภาวะโรคระบาด COVID-19 ทำให้กังวลในการใช้จ่าย

“ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สินค้าอเมริกันเคยได้รับความสนใจอย่างสูง” เดวิด การ์ฟิลด์ กรรมการผู้จัดการ AlixPartners กล่าว “แต่ผู้บริโภคจีนเริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขาสามารถได้คุณสมบัติสินค้าอย่างเดียวกันในแบรนด์อื่นได้ สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่เหนือไปกว่าเรื่องภูมิรัฐศาสตร์หรือผลกระทบจากสงครามการค้า”

Nike เป็นแบรนด์อเมริกันที่บูมมากในจีน เมื่อปี 2018 Nike รายงานยอดขายในจีนเติบโตถึง 21% เทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าจับตาของเทศกาล 11.11 ปีนี้คือ “สินค้าลักชัวรี” เพราะตั้งแต่มีการปิดพรมแดนทั่วโลก ชาวจีนไม่สามารถบินออกไปเที่ยวและจับจ่ายสินค้าลักชัวรีนอกประเทศได้ ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าลักชัวรีไปแล้ว โดยกินส่วนแบ่งตลาดถึง 43% รองลงมาคือญี่ปุ่น 30%

ไม่เพียงแต่สินค้าลักชัวรีแบรนด์ตะวันตก แต่การ์ฟิลด์กล่าวว่า แบรนด์ลักชัวรีจีนเองก็พัฒนามากจนต้องจับตามอง โดยยกระดับการทำตลาดให้หรูหราได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ปีนี้ผู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงน่าจะเป็นแบรนด์หรูอเมริกันที่พึ่งพิงชาวจีนมากในระยะหลัง เช่น Tiffany’s

สำหรับยอดใช้จ่ายเฉพาะของชาวจีนในเทศกาล 11.11 วันคนโสด ทำยอดขายไปมากกว่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ต้องมาลุ้นกันว่าปีนี้แรงซื้อของคนจีนจะยังไม่ตกหรือเปล่า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก

Source

]]>
1303493
เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากเทศกาล 11.11 ของ Alibaba https://positioningmag.com/1253393 Tue, 12 Nov 2019 16:55:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253393 สิ้นสุดแล้วกับปรากฎการณ์ 11.11 หลายคนจับจ้องไปที่ยอดขายของอาลีบาลา ต้นตำราเทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสด อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนที่มีลูกค้าทั่วโลก

โดยปีนี้มียอดขายออนไลน์รวม 268,400 ล้านหยวน หรือ 38,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,164,672 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 26% โดยผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าทั้งสิ้น 268,400 ล้านหยวน (38,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) ระหว่างอีเวนท์ช้อปปิ้งวันคนโสด (11 ..) ของอาลีบาบา ทุบสถิติใหม่ของยอดจับจ่ายซื้อสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวในปีนี้ เห็นได้ชัดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งชาวจีน และทั่วโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สดช่วยเพิ่มยอดขาย ทุเรียนไทยที่ว่าแน่อาจแพ้มาเลฯ เครื่องสำอางสินค้าตัวท็อปอันดับต้นๆ ของเกาหลียังมาแรง ขณะที่ผลิตภัณฑ์แม่และเด็กก็ไม่ควรมองข้าม ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหารในเครืออาลีบาบา ที่คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซมาอย่างโชกโชน

เจี่ยง ฝาน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเถาเป่า และเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีมอลล์ ซึ่งถือว่าเป็นคนเปลี่ยนถ่ายเถาเป่าไปสู่แอพบนมือถือและเป็นพาร์ตเนอร์ที่เด็กที่สุดของอาลีบาบา กล่าวว่า

สำหรับปรากฏการณ์ 11.11 บนโลกออนไลน์ที่ผ่านมา พบว่าไฮไลท์ของปีนี้มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ เช่น จำนวนของผู้ที่เพิ่งเข้าร่วมใน 11.11 มีสูงถึง 100 ล้านคน ขณะที่จำนวนของผู้ค้าและผลิตภัณฑ์ที่มาเปิดตัวเป็นครั้งแรกใน 11.11 ปีนี้มีจำนวนมากขึ้น และมีความเป็นอินเตอร์แอคทีฟมากขึ้น โดยหลายแบรนด์ที่ทำการไลฟ์สด ซึ่งไลฟ์สตรีมมิ่งนับเป็นสิ่งที่มาแรงในการสร้างความเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีเกมส์ให้ร่วมสนุกเพื่อรับอั่งเปา โบนัส ฯลฯ ทำให้ผู้ค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นผ่านการใช้ช่องทางเหล่านี้

หลิว โป President, Tmall and Taobao Marketing & Operation Division กล่าวว่า มองว่าผู้ค้าและแบรนด์ทั้งที่เป็นของจีนและที่เป็นต่างชาติล้วนมีอัตราการเติบโตที่มีนัยะสำคัญและมากกว่าที่คาดการณ์ เช่น ในกรณีของเอสเต้ เลาเดอร์ สามารถทำยอดขายที่เกิดขึ้นภายในชั่วโมงแรก มากกว่ายอดขายตลอดเทศกาลของปีที่แล้ว และเป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างยอดขายได้เกินหนึ่งพันล้านหยวน สิ่งที่จะเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ คือแบรนด์อินเตอร์จะหันมาเน้นการพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซและมีผลตอบรับที่ดี

ในปีนี้เราเน้นกลยุทธ์เปิดตัวสินค้าใหม่ ทำให้เรากลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลอดมากที่สุด เช่น ลอรีอัล และMAC มีลิปสติกและสกินแคร์ใหม่ ที่ภายในไม่ถึง 10 ชั่วโมง สามารถขายผลิตภัณฑ์ทั้งสองนี้ขายได้เกิน 250,000 ชิ้น ทั้งสองแบรนด์

สำหรับผลกระทบของสงครามการค้า มองว่าสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องผลประกอบการแง่ตัวเลข จะเห็นได้ว่ามีการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ถ้าดูจากความต้องการบริโภคจะเห็นว่า จีนมีความต้องการบริโภคภายในประเทศสูงมาก และสิ่งนี้เองที่เป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยมีสิ่งที่เป็นปัจจัยอย่าง เช่น New Retail, New Ingternet ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

สำหรับกลยุทธ์ในแง่ของภูมิศาสตร์และการบริโภค พบว่า การเจาะผู้บริโภคในเมืองรองเป็นไปได้ด้วยดี แม้จะต้องมองหาสินค้าที่คุ้มค่าคุ้มราคา ดังนั้นจึงต้องพยามสร้างให้ผู้บริโภคในกลุ่มเมืองรองสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพที่มีราคาคุ้มราคา พร้อมเลือกสรรผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนี้ด้วย เช่น P&G ได้คัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการทำงานกับโรงงานผู้ผลิตอย่างใกล้ชิด โดยให้ข้อมูลดาต้าเพื่อพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมและเชื่อมโยงกับผู้บริโภคในกลุ่มนั้นๆ ทั้งเถาเป่า ทีมอลล์และอาลีบาบา ก็จะเน้นไปทางกลยุทธ์นี้

สำหรับแบรนด์ของเกาหลี มองว่าทำได้ดีมาก มีแบรนด์เกาหลีที่เป็นที่นิยมใหม่ ๆ เช่น TCE brand ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่คนรุ่นใหม่ชอบ มีกลุ่มผู้บริโภคที่สร้างความเชื่อมโยงผ่านโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้มียอดขายแตะ 120 ล้านหยวน

คริส หวัง Head of Business Development Team for Southeast Asia, Hong Kong, Macau and Taiwan, Tmall Global’s เผยถึงปรากฏการณ์ 11.11 ในส่วนของ Tmall และ Lazada ว่ามีศักยภาพมาก เห็นได้จากมีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาสู่ตลาดมากมายบนทีมอลล์ โดยปีนี้แบรนด์ใหม่ เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว และมียอดการเติบโตที่ดีอย่างยิ่ง ขณะที่การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทำได้ดี เช่น สินค้าแม่และเด็ก ของแต่ละประเทศก็มีหมวดหมู่ที่แตกต่างกันไป และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

โดยปีนี้ทางลาซาด้า ได้มีระบบที่ช่วยให้การทำงานใกล้ชิดกับทีมอลล์โกลบอลมากขึ้นเพื่อนำเข้าสินค้าแบรนด์ใหม่ ๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มีแบรนด์ที่ก่อตั้งโดย KOL จากฟิลิปปินส์ทำสกินแคร์ และมียอดขายที่ดีในฐานะเป็นเป็นประตูสู่จีน โดยคนสามารถซื้อสินค้าต่างชาติโดยไม่จำเป็นต้องมาตั้งร้าน เปิดออฟฟิศ หรือแม้แต่มีบัญชีในธนาคารในจีน ณ วันนี้มีมากกว่า 22,000 แบรนด์ 4,300 หมวดหมู่ จาก 78 ประเทศ/เขต จากที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยอาลีบาบาตั้งเป้าว่าจะส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ USD200,000 million ภายใน 5 ปี (2019-2023)

ขณะที่การก้าวเข้ามาของอินเดีย ก็มีแบรนด์ที่เริ่มเปิดแฟลกชิปสโตร์บนทีมอลล์ โดยเห็นได้ชัดกับปรากฎการณ์ไลฟ์สดมาแรงมาก ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการต้องการประสบความสำเร็จในจีน ต้องใช้เวลาในการทำคอนเทนต์ เพื่อเข้าถึงใจคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าต้องการทดลองตลาด ควรเลือกทีมอลล์ แทนที่จะค้าขายเทรดแบบเมื่อก่อน โดยสิ่งที่ควรจะเป็นคือสร้างแบรนด์ และทีมอลล์โกลบอลจะเป็นพันธมิตรที่ดีในการช่วยสร้างแบรนด์

ขณะที่ตัวอย่างสินค้าแบรนด์จากไทยที่ประสบความสำเร็จ เช่น มิสทีน แต่พบว่ายังขาดข้อมูลและทักษะ ทำให้เผชิญกับความท้าทาย และยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคนจีนจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ขณะเดียวกันทางทีมอลล์ ก็มีแพลตฟอร์มที่มีอีโคซิสเท็มที่ใหญ่ครบถ้วน เป็นแหล่งข้อมูลที่ดี แต่จะเลือกใช้ข้อมูลมากน้อยหรือวิธีใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ค้า ซึ่งอาลีบาบาทำงานร่วมกับลาซาด้า เพื่อสนับสนุนผู้ค้าที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียง เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต

ด้านซัน เปง Senior Partner and Director of Fresh Department of Pagoda กล่าวว่า พาโกด้า เป็นธุรกิจค้าปลีก ก่อตั้งเมื่อปี 2545 จากการขายผลไม้รายใหญ่ที่สุดในจีนโดยทำงานเชิงลึกทั้งหมดตั้งแต่การมีสวนผลไม้ จนไปถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชนของผลไม้ โดย 90% ของผลิตภัณฑ์ที่ขายจะซื้อตรงจากเจ้าของสวน โดยครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นของนำเข้าที่ได้มาจากประเทศต้นทางอย่างนิวซีแลนด์ (กีวี่) ชิลี (เชอรี่) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะมีจากมาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับปีนี้สินค้าที่นำเข้ามีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านหยวน โดยจะมีผลไม้หลัก เช่น ทุเรียน มังคุด กล้วย และมะพร้าว ซึ่งล้วนเป็นผลไม้ยอดนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน โดยในช่วง 3 ปี สามารถทำยอดขายทุเรียนจากไทยให้เติบโตได้ถึง 4 เท่า

ทั้งนี้ปีนี้พาโกด้าได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากมาเลเซีย โดยมีการนำเข้าถึง 160 คอนเทนเนอร์ในปีนี้ และมองว่าอีคอมเมิร์ซเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะทำให้เข้าถึงคนจีนทั่วประเทศ ส่งผลให้ในปีนี้พาโกดามีอัตราการเติบโตถึง 100% โดยอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วน 25% ของยอดขายรวม และในอนาคตตั้งเป้าพร้อมเป็นพันธมิตรกับสวนผลไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จากแผนที่จะมีการนำเข้าผลไม้คุณภาพสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลไม้เทรนด์รักสุขภาพ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับการนำเข้าผลไม้ในจีน ผู้บริโภคชาวจีนจะเน้นสินค้าคุณภาพสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทฯ พร้อมเปิดโอกาสให้กับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสวนผลไม้หรือผู้ประกอบการในซัพพลายเชน พร้อมมองว่าทีมอลล์ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการค้าออนไลน์ที่ดีสำหรับคู่ค้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ผู้บริโภคจีนจากเดิมเคยชอบเชอรี่ ทุเรียน คุณภาพดีและราคาสูง แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนเทรนด์ โดยต้องการซื้อผลไม้พรีเมี่ยมมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องพัฒนาคุรภาพผลไม้ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนเพื่อชิงความได้เปรียบทางการตลาดให้ได้

สำหรับผลไม้ในประเทศไทยทางพาโกด้า มองว่า ไทยเป็นตลาดใหญ่ มีผลไม้ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน เช่น ทุเรียน มังคุด มะพร้าวสด ซึ่งบริษัทมีหน่วยงานที่จะติดต่อคัดสรรและแพ็คผลไม้เหล่านี้ในประเทศไทย ผ่านการจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ ส่วนความกังวลเรื่องทุเรียนมาเลเซีย จะช่วงชิงตลาดจากไทยนั้น ทางพาโกด้า มองว่า ก่อนหน้านี้ ทุเรียนของพาโกด้ามาจากไทยทั้งหมด แต่เมื่อปีที่ผ่านมา ที่คนให้ความสนใจและซื้อทุเรียนมาเลย์มากขึ้น แต่สัดส่วนของทุเรียนไทยก็ไม่ได้ลดลง เพราะทุเรียนของสองประเทศก็รสชาติต่างกัน มาเลย์เป็น Musan King ซึ่งแพงมาก แต่ของไทยราคาจะต่ำกว่า โดยมาเลย์จะปล่อยให้สุกคาต้น อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดจีนมีความหลากหลายมากพอ

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งไช่เหนียว สมาร์ท โลจิสติกส์ เน็ตเวิร์ค” (Cainiao) บริษัทในเครืออาลีบาบา ก็สามารถส่งสินค้าร 100 ล้านแพคเกจ ส่งภายใน 8.00 . เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยอาศัยระบบดิจิทัลโลจิติกส์เข้ามา และคาดว่าภายในปีนี้ จะสามารถส่งของได้ภายใน 5 วัน เร็วขึ้นกว่าปีก่อน 2 วัน

Source

]]>
1253393
11.11 บูมจัดที่อเมริกา Alibaba โชว์พาวดึง Taylor Swift เล่นคอนเสิร์ต https://positioningmag.com/1253091 Sun, 10 Nov 2019 15:19:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253091 แบรนด์ค้าปลีกอเมริกันแห่ขานรับเข้าร่วมมหกรรมงาน Singles Day ของ Alibaba มากกว่าทุกปี คาดวันคนโสดปี 2019 ทำสถิติแซงปีที่แล้วที่ทำยอดขายมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การันตีความยิ่งใหญ่ด้วยคอนเสิร์ต Taylor Swift ที่ร่วมงานเป็นปีแรก สะท้อนว่ามหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนกำลังเขย่าอุตสาหกรรมค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาไม่ต่างจาก Black Friday, Cyber Monday และเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า

มหกรรมอีคอมเมิร์ซประจำปีของ Alibaba ที่กำลังถูกจับตามากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำฐานะของ Alibaba ว่าเป็นยักษ์ค้าปลีกสัญชาติจีนซึ่งสามารถสร้างแบรนด์จนสำเร็จ ทำให้ผู้ค้าปลีกทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับกิจกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี

ท้าชน Amazon

เทศกาล Singles Day ของ Alibaba นั้นเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2009 ที่มาของชื่อ Singles Day หรือวันคนโสดคือการดึงคนโสดมาฉลองความโสดของตัวเองด้วยการช็อปปิ้งออนไลน์

จากที่มีอิทธิพลสูงมากในอีคอมเมิร์ซเอเชีย วันนี้ Singles Day กำลังท้าชน Amazon Prime Day ถึงถิ่น ซึ่งหากรวมทุกตลาดทั่วโลก พบว่า Singles Day สร้างยอดขายได้มากกว่าฤดูช้อปของสหรัฐอเมริกาทั้ง Black Friday และ Cyber Monday รวมถึงการจับจ่ายในวันขอบคุณพระเจ้ารวมกัน

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Adobe Analytics พบว่า 80% ของ online transaction จากผู้ค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 วันตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้า Thanksgiving ถึงวัน Cyber Monday ของปีนี้ มีการประเมินว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ของสหรัฐฯในช่วงดังกล่าวคือ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่วัน Singles Day ของ Alibaba ในปีที่แล้วทำรายได้มากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้

11.11 คือ Super Bowl ของแบรนด์

Jiang Fan ประธานธุรกิจ Taobao และ Tmall ของ Alibaba ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า Singles Day เป็นโอกาสที่จะงัดทุกกลยุทธ์ขึ้นมากระตุ้นผู้บริโภค โดยเทียบว่า 11.11 เป็น Super Bowl ของแบรนด์ ซึ่ง Alibaba เองก็เตรียมจัดอีเวนต์ครบรสทั้งแฟชั่นโชว์และคอนเสิร์ตสุดล้ำ ปีนี้ซูเปอร์สตาร์สาวเพลงป๊อปอย่าง Taylor Swift จะแสดงที่ลาน Countdown Gala ในสหรัฐฯ

เบื้องต้น Alibaba ให้ข้อมูลว่าสามารถขยายจำนวนแบรนด์เพิ่มขึ้นเป็นหลัก 200,000 แบรนด์ จากที่มีเพียง 27 แบรนด์ในปี 2009 และ 60,000 แบรนด์ในปี 2017 ประเด็นนี้น่าสนใจมากเพราะมีแบรนด์อเมริกันหลายค่ายกำลังเข้าร่วม Singles Day แม้แต่ค่ายที่ไม่เข้าร่วม Prime Day

การสำรวจของ Adobe พบว่าแบรนด์ค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาประมาณ 24% เริ่มวางแผนทำโปรโมชันสำหรับ Singles Day ทั้ง 24% เป็นผู้ค้าปลีกในกลุ่มตัวอย่าง 402 บริษัทในสหรัฐอเมริกาที่ทำยอดขายต่อปีมากกว่า 500,000 ดอลลาร์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีโอกาสทำข้อตกลงบนแพลตฟอร์มของ Alibaba ในประเทศจีนและในเว็บไซต์ของบริษัทเอง

ตัวอย่างของบริษัทเหล่านี้คือบริษัทของอดีตผู้บริหาร Snap ชื่อ Imran Khan ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แฟชั่นดาวรุ่งชื่อ Verishop ซึ่งระบุว่าจะลุยแคมเปญทำโปรโมชันลดราคา 25% นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ระดับโลกที่เข้าร่วมกับ Alibaba ทั้ง Apple, Estee Lauder และแม้แต่รองเท้าชื่อดังอย่าง Allbirds ก็หวังใช้ Singles Day กระตุ้นตลาดจีนให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนอาจส่งผลกระทบต่อแบรนด์อเมริกันที่เข้าร่วมในงาน Singles Day ในปีนี้ เพราะการสำรวจของบริษัท AlixPartners พบว่า 78 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริโภคชาวจีน คิดว่าการซื้อสินค้าแบรนด์อเมริกันในช่วง Singles Day จะได้รับผลกระทบจากภาษีที่เปลี่ยนแปลงตามนโยบายสงครามการค้า ในขณะที่ 70% กล่าวว่าสงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อการซื้อโดยรวม

การสำรวจนี้ AlixPartners สัมภาษณ์ผู้บริโภคชาวจีนจำนวน 2,022 คนเกี่ยวกับความตั้งใจคลิกซื้อสินค้าออนไลน์ ผลการสำรวจอื่นที่น่าสนใจ คือการศึกษาพบว่า สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้ากีฬา จะขายดีที่สุดใน Singles Day ปีนี้ ตามด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน.

Source

]]>
1253091
11.11 is coming ออนไลน์-ออฟไลน์ลดกระหน่ำรับเทศกาล ขนมาทุกอย่างแม้กระทั่งคอนโดฯ!? https://positioningmag.com/1252989 Sat, 09 Nov 2019 14:54:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1252989 มหกรรมลดราคาวันคนโสด 11.11 เวียนมาอีกปี จากที่ Alibaba Group เป็นผู้จุดกระแสเมื่อ 10 ปีก่อน วันนี้กลายเป็นช่วงเวลาที่สารพัดแพลตฟอร์มต่างโดดเข้าร่วมวงลดราคาสู้อย่างดุเดือด ไม่เว้นกระทั่งค้าปลีกออฟไลน์ที่ต้องจัดเทศกาลคร่อมวันที่ 11 พฤศจิกายนเพื่อดึงกำลังซื้อ หรือแม้แต่สินค้าราคาหลักล้าน เช่น บ้านคอนโดฯ ยังโผล่ร่วมเทศกาลกับเขาด้วย

Lazada เจ้าเก่าอัดโปรจัดเต็มวันเดียว

สำหรับในไทย แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเจ้าเดิมทั้ง Lazada, Shopee, JD Central ต่างจัดโปรโมชั่นแข่งกันอย่างดุเดือดในเทศกาลที่ผู้บริโภคทุกคนตั้งตารอ (และเลือกสินค้ารอไว้ในตะกร้า)

เริ่มด้วย Lazada ซึ่งเคลมสถิติจากปีก่อน มียอดคำสั่งซื้อ 2.4 แสนครั้งภายในชั่วโมงแรก และยอดคำสั่งซื้อในวัน 11.11 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 287% สำหรับปีนี้ Lazada ยังคงคอนเซปท์ลดวันเดียวเหมือนเดิมตามแท็กไลน์ “วันเดียวได้ทุกดีล” แต่ลูกค้าสามารถล็อกอินเข้าไปเก็บคูปองส่วนลดไว้ก่อนถึงวันที่ 11.11 ได้ นอกจากนี้ มีโปรโมชันร่วมกับบัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า รับส่วนลด 1,111 บาทเมื่อช้อปครบ 3,000 บาท/เซลส์สลิป พ่วงคะแนน rewards เพิ่ม 10 เท่า

ปีนี้ Lazada งัดกลยุทธ์สู้กับคู่แข่งที่เข้ามาชิงตลาดวันคนโสดด้วยกลยุทธ์ “Shoppertainment” เรียกความสนใจด้วย MV เพลง “ลาซาด้า ช้อปติดไซเรน” และประกาศจัดวาไรตี้โชว์เคาท์ดาวน์ก่อนถึงวันที่ 11.11 สตรีมมิ่งผ่านในแอพฯ Lazada ซึ่งจะแจกส่วนลดระหว่างโชว์ รวมถึงสนับสนุนร้านค้าให้จัด LazLive ในแอพฯ ซึ่งทางแอพฯ คาดว่าจะมีผู้ค้า Live ขายของกันมากกว่า 1,100 ครั้งในช่วงนี้ เป็นกลยุทธ์การดึงผู้บริโภคให้อยู่ในแอพฯ ไปยาวๆ ไม่ล็อกเอาท์ไปช้อปในแอพฯ อื่น

Shopee-JD Central ดักหน้าดักหลัง

ฟากคู่แข่ง Shopee ในเครือ SEA Group ใช้วิธีเร่งกวาดผู้ซื้อไว้ล่วงหน้าเพราะเปิดโปรโมชันครอบตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. – 11 พ.ย. 62 โดยชูไฮไลต์ลดราคา 50% ทั้งจากร้านค้าที่เข้าร่วมแคมเปญลดราคา และคูปองที่ Shopee ทยอยแจก รวมถึงมี “ดีล 9 บาท” จัดเซลส์สินค้าหลายประเภทในราคาเพียง 9 บาท นอกจากนี้ยังเลือกผนวก “เกม” Shopee Catch เข้าไปในแอพฯ ที่ให้ผู้ใช้เข้าไปเล่นเกมเก็บคูปองลดราคา สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค

สำหรับสถิติ 11.11 ที่ผ่านมา Shopee ให้ข้อมูลแบบครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียนว่ามีคำสั่งซื้อรวม 11 ล้านออเดอร์เมื่อปี 2560 และในรอบปี 2559-61 ยอดขายในช่วงนี้เติบโตขึ้น 2 เท่า

มาที่ JD Central แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่ชูจุดเด่นเรื่องรับประกันของแท้ทุกชิ้น มาพร้อมแท็กไลน์ “อยากได้ต้องได้” และใช้วิธีเดียวกับ Shopee กวาดต้อนลูกค้ามาตั้งแต่ก่อน 11.11 แถมขยายเวลาเลยต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ เพราะ JD ลดราคาตั้งแต่วันที่ 1-17 พ.ย. 62 และชูไฮไลต์สินค้าราคาเริ่มต้น 1 บาท และเฉพาะวันที่ 11 พ.ย. 62 จะมีดีลเด็ดเปลี่ยนทุกชั่วโมง พร้อมส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ ถึงมือผู้ซื้อภายใน 24 ชั่วโมง

นอกจากโปรโมชันต่างๆ แล้ว ปีนี้ JD Central ยังเน้นเจาะเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคจากการเปิด Joy Super Mart สอดคล้องกับผลสำรวจ e-Commerce Trend 2019 จาก Priceza ที่พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหมวดผลิตภัณฑ์อันดับ 1 ที่คนไทยชอบซื้อบนออนไลน์

Pomelo หวังยอดโต 17 เท่า

ข้ามมาที่ Pomelo สตาร์ทอัพจำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบ Omnichannel ปีนี้ร่วมวงลดราคา 11.11 มากกว่าที่เคย โดยสินค้ามากกว่า 5,000 SKUs จะลดราคาตั้งแต่ 20-90% บนแอพฯ ลดวันเดียวเท่านั้น แต่ถ้าไปที่ร้านออฟไลน์สามารถสั่งซื้อแบบพรีเซลได้ในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย. 62

Pomelo ยังให้ข้อมูลกับ Positioning ด้วยว่า เทียบเคียงกับการจัดมหกรรมลดราคาช่วงเทศกาล 10.10 ในวันนั้น Pomelo มียอดขายสูงกว่าวันปกติ 17 เท่า ส่วนเทศกาล 11.11 นี้บริษัทคาดหวังยอดขายมากกว่าช่วง 10.10 ที่ผ่านมาอีก 17 เท่า และหวังว่าจะเป็นเทศกาลที่ดึงลูกค้ารายใหม่เข้ามา ด้านปัญหาแอพฯ ค้างหรือล่มจากกระแสตอบรับเกินคาดในช่วง 10.10 บริษัทกำลังพัฒนาปรับปรุงระบบต่อไป

ออฟไลน์ลดล่วงหน้ายั่วใจ

ฝั่งศูนย์การค้าออฟไลน์ก็มีแคมเปญลดราคาโต้กลับอี-คอมเมิร์ซเช่นกัน แม้ปีนี้จะไม่ได้ใช้ชื่อโปรโมชัน 11.11 ตามอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ช่วงเวลาการลดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับมหกรรมลดราคานี้

โดย “เครือเซ็นทรัล” ใช้โปรโมชันฉลองครบรอบ 6 ทศวรรษ 72 ปี Central | Zen Anniversary 2019 สินค้าลดสูงสุด 30% ที่ห้างเซ็นทรัลและเซนทุกแผนก ทุกสาขา ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 12 พ.ย. 62 และในเว็บไซต์ central.co.th ของเครือก็จะลดต่อไปจนถึง 20 พ.ย. 62 พร้อมให้ส่วนลดสูงสุด 70%

ด้าน “เดอะมอลล์” เข็นโปรโมชันดักทางไม่ให้ตกขบวนในช่วงวันที่ 8-10 พ.ย. 62 ลูกค้าที่ถือบัตรเครดิต SCB M Visa หรือ Kbank และลูกค้าสมาชิก M Card ช้อปครบ 5,000 บาทจะได้รับบัตรกำนัลของห้างฯ คืนตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท ตามเงื่อนไขบัตรแต่ละประเภท

อย่างไรก็ตาม ฝั่งห้างฯ หรู “เอ็มควอเทียร์-เอ็มโพเรียม” ในเครือเดียวกันนั้นเกาะกระแส 11.11 ตรงๆ ด้วยโปรโมชันวันที่ 8-11 พ.ย. 62 ลดสูงสุด 90% ร่วมรายการทั้งร้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย คลินิกความงาม ไปจนถึงร้านอาหาร และมีโปรฯ ร่วมกับสารพัดบัตรทั้ง UOB, Kbank, Citibank และ True Black Card

บ้าน-คอนโดฯ ก็มีโปรฯ 11.11 ด้วย

คงไม่แปลกอะไรถ้าจะเจอสินค้าเครื่องสำอางหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าลดราคาออนไลน์ในช่วงนี้ แต่ที่น่าสนใจคือแม้แต่ ‘ของใหญ่’ ราคาหลักล้านอย่างบ้านและคอนโดมิเนียมก็ร่วมวงลดราคาวันคนโสดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

โดย “เอสซี แอสเสท” จับมือกับ Lazada ลดราคาบ้านและคอนโดฯ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ 9 โครงการ ราคาตั้งแต่ 3-9 ล้านบาท เฉพาะวันที่ 11 พ.ย. 62 จองผ่านแอพฯ Lazada คิดค่าจองซื้อเริ่มต้นเพียง 11 บาท และส่วนลดราคาเต็มสูงสุด 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ลูกค้าต้องพร้อมรับโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 25 ธ.ค. 62

ด้าน “พฤกษา” จับมือกับ Shopee ขายคูปองลดราคาทาวน์โฮมพร้อมอยู่ ซื้อคูปองราคา 11 บาทใน Shopee แลกเป็นส่วนลดได้ 2 แสนบาท สำหรับซื้อทาวน์โฮมแบรนด์บ้านพฤกษา พฤกษาวิลล์ เดอะคอนเนค และพาทิโอ ที่เปิดขายในแคมเปญนี้ 111 ยูนิต สามารถนำคูปองไปซื้อบ้านกันได้จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 62

จากปี 2009 ที่ Alibaba จัดเทศกาลลดราคาอยู่คนเดียว วันนี้มีเพื่อนและสินค้าร่วมลดราคากันอีกเพียบ แถมกระจายกำลังดักหน้าดักหลัง กวาดลูกค้าในทุกแพลตฟอร์ม สร้างกระแสกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้ดีในยุคเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้

 

]]>
1252989
เปิดที่มา 11.11 จากวันคนโสด สู่มหกรรมช้อปปิ้งโลก https://positioningmag.com/1196784 Sun, 11 Nov 2018 08:30:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1196784 มาแล้ว เทศกาลช้อปกระหน่ำ สินค้าออนไลน์ของแพลตฟอร์มต่างๆ ในวันที่ 11 เดือน 11 ที่กำลังกลายเป็นกระแสมหกรรมช้อปปิ้งไปทั่วโลก

กระแสถูกโหมโดยอาลีบาบา ไม่เพียงแค่เข้ามาแทนที่วันคนโสดที่เคยเป็นกระแสหลักของวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปีในจีน หรือ 11.11 เท่านั้น แต่อาลีบาบายังทำให้เทศกาลนี้เติบโตจนคนทั่วโลกรู้จักอาจจะมากกว่า เทศกาลช้อปปิ้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อย่าง Black Friday ซึ่งเปรียบเสมือนวันช้อปปิ้งแห่งชาติ เพราะทุกห้างร้านทั้งออฟไลน์ออนไลน์จะลดราคาสินค้ากันทั่วทั้งอเมริกา มิหนำซ้ำยังเป็นการเลือกเทศกาลขึ้นมาตัดหน้าล้วงกระเป๋าเงินนักช้อปล่วงหน้าก่อนเทศกาลเก่าแก่ถึงหนึ่งเดือน

ในช่วงแรกเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ กะจะให้คนโสดที่ใช้ชีวิตโดดเด่นอยู่หน้าคอม มาเป็นลูกค้าหลัก แต่จากผลการสำรวจของนีลเส็นตั้งแต่ปี 2015 พบว่า นักช้อปของเทศกาล 11.11 นั้นเป็นกลุ่มครอบครัวสูงถึง 60% และตอนหลังอาลีบาบาก็เลือกที่จะโฟกัสให้ใหญ่ขึ้นด้วยการย้ำว่า เทศกาลช้อปปิ้งระดับโลก โดยไม่จำกัดรูปแบบ แต่จะกระจายทำโปรโมชั่นลดกระหน่ำและเก็บสถิติยอดขายซึ่งตอนนี้ขยายมาถึง 1 เดือนก่อนถึงเวลาสิ้นสุดของเที่ยงคืนวันที่ 11.11 ในแต่ละปี รวมทั้งทำครบทุกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาที่มีอยู่ทั้งหมด

แต่ที่ถือเป็นการจุดพลุที่ตอกย้ำให้เทศกาลนี้กลายเป็นการช้อปปิ้งระดับโลกอย่างแท้จริงคือ การที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะจากฝั่งเอเชียด้วยกันเองรวมถึงในอาเซียน กระโดดเข้ามาร่วมหวังเพื่อหวังชิงส่วนแบ่งยอดขายจากเทศกาลที่อาลีบาบาสร้างให้เป็นปรากฏการณ์ขึ้นนี้

ปี 2018 นี้ เป็นปีที่อาลีบาบาจัดเทศกาล 11.11 มาครบรอบปีที่ 10 แต่ละปีทำยอดขายเพิ่มขึ้น และมีการโชว์สถิติที่เรียกความสนใจให้สื่อทุกแขนงไปนำเสนอถึงความสำเร็จนี้ต่อเนื่อง ทำให้ไม่เพียงแค่การทำยอดขายจำนวนมากจากเทศกาล แต่อาลีบาบายังได้แบรนดิ้งบริการจากธุรกิจในอีโคซิสเต็มทั้งหมดที่มี ผ่านการรายงานผล โดยเฉพาะช่วงการถ่ายทอดสดสลับกับการแสดงต่างๆ ในงานกาลาดินเนอร์ที่จัดขึ้นในคือวันที่ 11.11

ย้อนดูสถิติ จุดเริ่มต้นเทศกาล 11.11

ทั้งนี้หากย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของเทศกาล 11.11 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ในเวลาแค่ 10 ปีพัฒนามาได้ไกลแค่ไหน และแน่นอนเกินกว่าการคาดการณ์ที่ประเมินกันไว้มาก

ปี 2009 เป็นปีแรกที่อาลีบาบาเลือกหยิบวันคนโสด หรือ 11.11 มาจัดเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ ณ ตอนนี้ยอดขายสินค้าออนไลน์จีนเพิ่งทำยอดขายได้เพียง 52 ล้านหยวน คิดแล้วมีสัดส่วนน้อยกว่า 2% ของมูลค่าสินค้าคอนซูเมอร์ทั่วประเทศจีน 

วันคู่ 11 ซึ่งแถมจะไม่เหลือเค้าวันคนโสดแล้วนี้ สะท้อนธุรกิจจีนในตลาดออนไลน์ช้อปปิ้งที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะวันคู่ 11 สำหรับเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2009 วันที่อาลีบาบาบริษัทแม่ของห้างช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมของจีนเพิ่งมีรายได้เพียง 52 ล้านหยวน และออนไลน์ช้อปปิ้งเพิ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 2% ในตลาดสินค้าคอนซูเมอร์จีนทั้งประเทศ 

ผ่านไปเพียง 5 ปี ในปี 2015 เทศกาลนี้ก็ทำให้เห็นแนวโน้มใหม่ ที่ แจ็ค หม่า ประกาศไว้ว่าจีนจะเป็นตลาดแห่งความหวังของธุรกิจขนาดกลางและเล็กจากอเมริกา

ทำให้ในปีนี้นั้น มี 4 ห้างสรรพสินค้าใหญ่ของอเมริกา อย่าง macy’s, Bloomingdale’s, Neiman Marcus และ Saks Fifth Avenue เข้าร่วมกับอาลีบาบา นำสินค้ากว่า 3 หมื่นแบรนด์ มากกว่า 6 แสนรายการ เข้ามานำเสนอขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ในเทศกาล 11.11

ที่สำคัญ จากวันคนโสด หรือมหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์โลก ที่เปลี่ยนมาเป็นมหกรรมช้อปปิ้งระดับโลก ทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขายในช่วงเทศกาลสูงกว่าปกติถึง 18 เท่า และที่ผ่านมาล่าสุด ยังทำรายได้สูงกว่าเทศกาล Black Friday รวมทั้ง Cyber Monday และ Amazon Prime Day ของ Jeff Bezoes เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซของฝั่งอเมริกาที่ขึ้นเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก รวมกัน 2.5 เท่า

ที่มาของ 11.11

เทศกาลคนโสดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เรียกว่า กวงกุ่ยเจี๋ย (光棍) กวงกุ่ย หรือการอยู่คนเดียว เจี๋ย คือ วันเทศกาล เกิดจากการนำเอาวันที่มีเลข 1 สี่ตัวในรอบปี ก็คือวันที่ 11 เดือน 11 มาเป็นตัวแทน ทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Double 11 ที่แปลมาจากภาษาจีนว่า ซวงสืออี (双十一)

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยนานกิงในยุค 90 เป็นคนที่เริ่มต้นกำหนดเทศกาลนี้ขึ้นเป็นเรื่องสนุกเพราะเลข 1 คือตัวแทนของคนคนเดียว แต่ใช้เวลาไม่นานก็ได้รับความนิยมแพร่ระบาดออกไปทั่วประเทศ พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ กลับมีคนจำนวนไม่น้อยหันมานิยมแต่งงานกันในวันนี้ รวมทั้งร้านค้าต่างๆ ก็ถือโอกาสจัดลดราคาครั้งใหญ่ในรอบปี

จนมาถึงยุคช้อปปิ้งออนไลน์ Tmall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาก็เลือกวันนี้มาเป็นวัดจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าสำหรับนักช้อปออนไลน์ จนพัฒนาเป็นเทศกาลที่ทำยอดขายถล่มทลายในปัจจุบัน

คนจีน ได้ตั้งฉายาใหม่ให้ว่าวันสับมือ (剁手日 หรือ hand-chopping day) เพราะโปรโมชั่น ส่วนลด และสินค้าที่ถูกนำมาเสนอ แทบจะทำให้นักช้อปอดใจไม่ไหวที่จะต้องเสียเงินทันทีที่เห็น 

ไทยลดกระหน่ำ 11.11

ในไทยก็เช่นกัน โดยทำผ่านลาซาด้า กิจการอีคอมเมิร์ซในเครืออาลีบาบามีเครือข่ายในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ผ่านดีลพิเศษกว่า 50 ล้านอย่าง และส่วนลด 90% ในกว่าล้านไอเท็ม ตลอดระเวลาช้อปปิ้ง 24 ชั่วโมง

โดยมีเกมล่าสุด “Wonderland”  ซึ่งเป็นแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ทำให้ลูกค้าค้นพบดีลพิเศษและรับบัตรกำนัล ซึ่งแบรนด์ที่เข้าร่วมเกมนี้ รวมแบรนด์เช่น L’Oréal, Laneige and Huawei.

ส่วนคู่แข่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่าง shopee ไม่พลาดที่ส่งแคมเปญออกมาลุย ด้วยแคมเปญ Shopee 11.11 Big Sale ลดอลัง ปังทุกดีล เริ่มต้นที่ 11 บาท ออกมาสู้ศึกเท่านั้น

ปีนี้ บรรดาค้าปลีก เจ้าของแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ส่งแคมเปญเข้าร่วมในวันช้อปปิ้ง 11.11 อย่าง ยูนิโคล่ ลดราคาสินค้าวันนี้เช่นกัน, วัตสัน ใช้เลข 11 มาลดราคาสินค้า 11 รายการ ล่วงหน้าตั้งแต่  9 – 11 พฤศจิกายน 2561 และลดเพิ่มอีก 11 % อีก 2 วันหลัง

ค่ายเดอะมอลล์ก็เช่นกัน จัดแคมเปญ THE MALL SHOPPING CENTER 11:11 & BLACK SUNDAY ให้คนมาช้อปแล้วรับ M Points และบัตรกำนัลห้างฯ รวมมูลค่า 1.3 ล้านบาท เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2561 และวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ที่ เดอะมอลล์ ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ทุกสาขา (ยกเว้นสาขารามคำแหง)

เพราะแทนที่จะปล่อยให้อาลีบาบาโกยยอดขายอยู่คนเดียว บรรดาค้าปลีกและเจ้าของแบรนด์สินค้าก็ต้องส่งแคมเปญเข้าสู้ศึกวันช้อปปิ้งที่กลายเป็นกระแสไปแล้ว.

]]>
1196784
5 ที่สุดปรากฏการณ์ไอทีปี 2017 https://positioningmag.com/1152234 Sun, 31 Dec 2017 03:07:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1152234 ในรอบปี 2017 ที่กำลังจะผ่านไป ถือเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงเทคโนโลยีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการ Disrupt ธุรกิจดั้งเดิม จากการมาของเหล่าสตาร์ทอัป รวมไปถึงการทรานฟอร์มธุรกิจสู่โลกดิจิทัล ที่องค์กรธุรกิจต่างกำลังเผชิญหน้าอยู่ในช่วงเวลานี้

แต่ในมุมของเทคโนโลยี เหล่าผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ทีมงานไซเบอร์บิซ จึงได้รวบรวม 5 ที่สุดของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกไอทีในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อให้เตรียมรับมือกับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า

1. สมาร์ทโฟนไฮเอนด์ราคาแพงขึ้น

ในปี 2017 ถือเป็นปีที่แอปเปิล ฉลองไอโฟนครบรอบ 10 ปี ด้วยการออกวางจำหน่าย iPhone X (ไอโฟน สิบ) ที่ถือเป็นรุ่นพิเศษเพิ่มเติมจากรุ่นปกติ (iPhone 8 และ iPhone 8 Plus) ที่มีคิวอัปเดตในทุกๆปี และถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการสมาร์ทโฟนในปีนี้ ด้วยการเป็นสมาร์ทโฟนในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่ระดับราคาอยู่ในช่วง4หมื่นบาท

แม้ว่า iPhone X จะไม่ใช่สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ออกมาวางขายในช่วงระดับราคาดังกล่าว เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ Porches Design Huawei Mate Series ก็เคยวางจำหน่ายในระดับราคาเกือบ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม แต่สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น หรือมีจำนวนจำกัด

กลับกัน iPhone X ไม่ได้ถูกวางตัวให้เป็นรุ่นจำนวนจำกัด แต่พร้อมกระจายสินค้าไปในตลาดที่แอปเปิลเข้าถึง ที่สำคัญคือได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ใช้งานที่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ชื่นชอบสินค้าของแอปเปิลอยู่แต่เดิม

ในส่วนของซัมซุงเองก็มีการปรับราคา Note 8 ขึ้นมาอยู่ที่ 33,900 บาท หรือเป็นการก้าวข้ามเพดานราคา 3หมื่นบาทขึ้นไป จากปีก่อนหน้าที่เคยวางราคาในรุ่น Note 7 ซึ่งไม่ได้ทำตลาดในราคา 28,900 บาท ส่วนหัวเว่ยยังยืนราคาเดิมของ Mate 10 ไว้ที่ 27,900 บาท

iPhone X ไม่ได้ถูกวางตัวให้เป็นรุ่นจำนวนจำกัด แต่พร้อมกระจายสินค้าไปในตลาดที่แอปเปิลเข้าถึง

 ส่วนในปีนี้เชื่อว่าผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหลายคนต่างกำลังจับตาดูสมาร์ทโฟน Hydrogen One จากบริษัทผู้สร้างกล้องถ่ายภาพยนตร์ระดับโลก RED ที่มีข้อมูลออกมาว่าเตรียมวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่จะมากับจอที่สามารถแสดงผลแบบโฮโลกราฟิก 3 มิติได้ ในระดับราคา 1,200 เหรียญ ซึ่งสูงกว่า iPhone X รุ่นแพงที่วางขายในราคา 1,149 เหรียญ (ราคาขายในไทยราคา 46,500 บาท)

2. สถิติวันคนโสด 11.11 จากอาลีบาบา ทำให้เห็นกระแสสึนามิ อีคอมเมิร์ซ

8.39 แสนล้านบาท คือมูลค่ายอดขายสินค้ารวมผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา ซึ่งนับเฉพาะในวันที่ 11 เดือน 11 จากทุกมุมโลก ซึ่งเป็นยอดที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 41% ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอีคอมเมิร์ซจากจีนรายนี้ ที่กำลังขยายตลาดออกไปทั่วโลก

โดยในเทศกาล 11.11 โกลบอล ชอปปิ้ง เฟสติวัล 2017 อาลีบาบาใช้เวลา 13 ชั่วโมง ในการทุบสถิติยอดขายในปี 2016 และทำสถิติใหม่เมื่อครบ 24 ชั่วโมงที่ 25,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 8.39 แสนล้านบาท เมื่อครบ 24 ชั่วโมง

สิ่งที่น่าสนใจจากมูลค่าการซื้อขายดังกล่าวคือสัดส่วนของวิธีการสั่งซื้อสินค้าของผู้บริโภคกว่า 90% มาจากอุปกรณ์พกพา ทำให้เห็นว่าการมาของสมาร์ทโฟนช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงอีคอมเมิร์ซได้ง่ายขึ้น และตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา

เทศกาล 11.11 โกลบอล ชอปปิ้ง เฟสติวัล 2017

ประกอบกับแนวคิดในการสร้าง New Retail ของอาลีบาบา อาจทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายต่างต้องเร่งปรับตัว ในเมื่อลูกค้ามีทางเลือกที่มากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และรอรับอยู่ที่บ้านจะกลายเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป

3. ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือทะลุ 1 Gbps

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีข้อจำกัดในแง่ของคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายไม่สามารถนำเทคโนโลยี4Gมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่การมาของ AIS Next G ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการเครือข่ายไร้สายในภูมิภาค

ด้วยการเป็นผู้ให้บริการ Gigabit Network รายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกว่า 1 Gbps ด้วยการนำเทคโนโลยี 4G LTE มารวมกับ AIS Super WiFi ทำให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้ความเร็วเกิน 1 Gbps

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในการใช้งานต้องใช้กับสมาร์ทโฟนที่รองรับ LTE Advanced หรือรองรับเทคโนโลยี 3CA 4×4 MIMO 256 QAM ที่อยู่บนสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในพื้นที่ให้บริการ AIS Super WiFi ด้วย

AIS Next G

แม้ว่าจะเป็นเพียงสีสันที่เกิดขึ้น แต่ก็ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ผู้ให้บริการลงทุนเพื่อนำมาให้บริการในประเทศไทย ไม่ได้ด้อยกว่าในต่างประเทศอย่างที่คิดกันแน่นอน และเชื่อว่าในปี 2018 จะสนุกขึ้นไปอีก เมื่อมีการปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่ ด้วยการนำคลื่นออกมาประมูล ให้โอเปอเรเตอร์นำไปให้บริการต่อไป

4. บิตคอยน์ การลงทุนความเสี่ยงสูง

สถิติราคาสูงสุดของ Bitcoin ที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา คือทะยานขึ้นไปถึง 19,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 6.2 แสนบาท ก่อนร่วงลงมาอยู่ที่ราว 12,000 เหรียญในปัจจุบัน จากในช่วงต้นปีที่ราคาเฉลี่ยอยู่ราว 1,000 เหรียญ หรือราว 33,000 บาท เท่านั้น จนทำให้นักวิเคราะห์ทางการเงินหลายรายต่างออกมาเตือนกันว่าการลงทุนในบิตคอยน์มีความเสี่ยง

สำหรับจุดที่ทำให้ บิตคอยน์ เริ่มถูกจับตามากขึ้นคือในวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ราคาของสกุลเงินดิจิทัลพุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับ 10,000 เหรียญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการที่ตลาดซื้อขายฟิวเจอร์สที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Chicago Mercantile Exchange (CME) ประกาศแผนการซื้อขายบิตคอยน์ออกมา

รวมถึงการแยกสกุลเงินดิจิทัลออกมา และการที่เหล่าสตาร์ทอัปหลายรายออกเหรียญเงินตราของตัวเองเพื่อใช้ระดมทุนในรูปแบบของ ‘Initial Coin Offering’ (ICO) ทำให้ปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัลจึงมีให้เลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้มีการออกมาสร้างความเข้าใจกับนักลงทุน เพื่อให้รับรู้ว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) เป็นเพียงสินทรัพย์หนึ่งเพื่อการลงทุน คล้ายกับตราสารหนี้เท่านั้น เพราะไม่สามารถใช้ชำระเงินตามกฏหมายได้

5. ทำลายกำแพงภาษาด้วย Pixel Buds

หนึ่งใน Gadget ที่เปิดตัวออกมาแล้วได้รับเสียงตอบรับที่ดีที่สุดในปีนี้ คงหนีไม่พ้น Google Pixel Buds ที่นำความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใส่ไว้ด้วยกัน จนทำให้หูฟังชิ้นนี้ สามารถแปลภาษาได้ถึง 40 ภาษา แน่นอนว่าด้วยคอนเซปต์ของอุปกรณ์ชิ้นนี้ถือว่าสื่อสารออกมาได้ค่อนข้างดูดี

Pixel Buds

แต่ในความเป็นจริงหลังจาก Pixel Buds วางจำหน่าย คู่กับสมาร์ทโฟน Pixel 2 และเริ่มมีผู้นำไปใช้งาน ปรากฏว่าการทำงานของ Pixel Buds คือการสั่งงานผ่าน Google Assistance หรือการสั่งงานผ่านผู้ช่วยเสมือนของกูเกิล ส่วนเวลาแปลภาษาก็จะใช้ Google Translate หรือแอปแปลภาษาของกูเกิล

ทำให้ในการใช้งาน Pixel Buds แทบไม่ต่างจากการเปิดใช้งานแอปแปลภาษาบนแอนดรอยด์โฟน เพราะเมื่อพูดเข้าไปในหูฟังก็จะเป็นการบันทึกเสียงออกมาเป็นข้อความในแอป เพื่อทำการแปล เช่นเดียวกันถ้าต้องการใช้ในการฟัง ก็จะใช้แอปในสมาร์ทโฟนแปลภาษาออกทางหูฟังเท่านั้นเอง

ด้วยแนวคิดที่ดีแต่การใช้งานจริงยังไม่สะดวกมากนัก ดังนั้นสิ่งที่ควรรอดูกันต่อไปในปีหน้า เมื่อ AI และแมชชีนเลิร์นนิ่งได้เรียนรู้มากขึ้น อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ รวมถึงอุปกรณ์ IoT ทั้งหลายจะเข้ามาช่วยให้ชีวิตมนุษย์สะดวกมากขึ้นแค่ไหน.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000131180

 

]]>
1152234