สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 19 Aug 2010 00:00:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 โรงงานน้ำตาลหวังเห็นราคาอ้อยตันละ 1,000 บาทอีกปี https://positioningmag.com/52909 Thu, 19 Aug 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=52909

โรงงานน้ำตาลส่งสัญญาณราคาอ้อยปี 53/54 ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันต่อเนื่องอีกปี หลังประเมินราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 52/53 ทะลุ 1,000 บาทต่อตันแน่นอน เผยช่วยชาวไร่เต็มที่ ทั้งถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เพื่อพัฒนาคุณภาพอ้อย

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2552/2553 ที่ตันละ 965 บาท ล่าสุดจากการประเมินสถานการณ์ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ราคาเฉลี่ยจะสูงกว่าตันละ 1,000 บาทอย่างแน่นอน โดยประเมินจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.75 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ที่ 19.91 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งราคาอ้อยในระดับนี้น่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลก็มีความหวังและจะพยายามผลักดันให้ราคาอ้อยของฤดูการผลิตปี 2553/2554 อยู่ในระดับ 1,000 บาทต่อตันด้วย เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรู้สึกมั่นคงในอาชีพ ป้อนผลิตผลให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต่อไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ปลูกอ้อยในปัจจุบัน พบว่า มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนไร่ ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งประเทศรวมประมาณ 6.7-7 ล้านไร่ ซึ่งหากฝนตกตามปกติควรจะได้ปริมาณอ้อยประมาณ 74-75 ล้านตัน แต่ในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกปีนี้ เกิดปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อผลผลิตอ้อยด้วย จึงคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเท่าๆ กับปีที่ผ่านมา คือ ประมาณ 68 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ในแต่ละปี จะส่งออกไปขายต่างประเทศประมาณ 2 เท่าของการบริโภคในประเทศ

“ความหวังที่ต้องการจะเห็นราคารับซื้ออ้อยในระดับ 1,000 บาทต่อตัน นั้น ทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลก็พยายามส่งเสริมให้ได้คุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น โดยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดิน การให้ปุ๋ย ให้น้ำ กำจัดศัตรูพืช กระทั่งการเก็บเกี่ยว ซึ่งหากคุณภาพดี

ค่าความหวานดี ก็จะได้ราคาอ้อยที่ดีด้วย ซึ่งหากทำเต็มที่แล้วราคายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็อาจต้องพึ่งการสนับสนุนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนฯ ที่ให้รักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงาน และเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ” นายประกิต กล่าว

ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อราคาอ้อยปี 2553/2554 ก็คือ การจัดสรรน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศ (โควตา ก.) กับส่งออก (โควตา ค.) ซึ่งปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกโดยเฉลี่ยสูงกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ทำให้น้ำตาลทรายในประเทศบางส่วนถูกนำออกไปนอกประเทศตามแนวชายแดน และผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ก็หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก. ด้วย ทำให้น้ำตาลทรายที่ขึ้นกระดานไว้ประมาณ 21 ล้านกระสอบไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มอีกเป็นประมาณ 23 ล้านกระสอบ ซึ่งในปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้ว ราคาจะต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ดังนั้น หากในรอบปีนี้จัดสรรโควตา ก. มากขึ้นก็จะทำให้ราคาอ้อยอยู่ในระดับที่ดี แต่ก็ไม่ควรให้มากจนเกินพอดี เพราะอาจจะทำให้น้ำตาลล้นตลาดและต้องขอส่งออกอีก

]]>
52909
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สร้างประวัติศาสตร์เซ็น MOU กับอินโดนีเซีย https://positioningmag.com/51458 Thu, 18 Mar 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=51458

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สร้างประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย เซ็น MOU กับคู่ค้ารายใหญ่ – Indonesian Refined Sugar Association ร่วมพัฒนาเชิงการค้าในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย คาดหลังความร่วมมือจะช่วยเพิ่มตลาดส่งออกน้ำตาลทรายในอินโดนีเซีย จากปี 52 ไทยส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซียกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยเติบโตระยะยาว

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า วันนี้ (16 มีนาคม 2553) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Indonesian Refined Sugar Association จากประเทศอินโดนีเชีย ว่าด้วยความร่วมมือและการพัฒนาเชิงการค้าในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ซึ่งการลงนามในครั้งนี้จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาว

สำหรับรายละเอียดภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะครอบคลุมในเรื่องของความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น รวมถึงการร่วมผลักดันการทำข้อตกลงเสรีการค้า โดยผ่านการหารือในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ทั้งนี้ ได้ตกลงที่จะมีการร่วมประชุมหารือกันอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและอินโดนีเซียอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของทั้ง 2 ประเทศในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

“การเซ็น MOU ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ไทยจะขยายขอบเขตความร่วมมืออย่างชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งข้อมูลด้านการค้า ราคาน้ำตาล และประเด็นปัญหา อุปสรรค ในการค้าน้ำตาลระหว่างกัน รวมถึงจะมีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมระหว่าง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายวิบูลย์ กล่าว

รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตลาดผู้ซื้อน้ำตาลอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดผลประโยชน์กับอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ ในปี 2551 ไทยส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซียเป็นอันดับหนึ่งถึง 1.642 ล้านตัน มูลค่า 449.727 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,865 ล้านบาท และในปี 2552 ไทยส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซีย 1.035 ล้านตัน มูลค่า 360.127 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 12,276 ล้านบาท ขณะเดียวกันความตกลงการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะน้ำตาลมีความสามารถแข่งขันดีขึ้นในตลาดอินโดนีเซีย

]]>
51458
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายยืนยันน้ำตาลไม่ขาดแคลน https://positioningmag.com/51180 Wed, 03 Mar 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=51180

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายมั่นใจน้ำตาลไม่ขาดแคลน วอนประชาชนอย่าวิตกกังวล พร้อมสำรองน้ำตาลไว้ให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน พ่วงมาตรการรองรับหากเกิดภาวะขาดแคลน โต้โรงงานน้ำตาลไม่เคยส่งน้ำตาลลดลง

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วม 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งประกอบไปด้วย โรงงานน้ำตาลทั้ง 47 โรงงาน มีความเห็นร่วมกันว่า น้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ (โควตา ก.) จะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

เนื่องจากโรงงานน้ำตาลได้สำรองน้ำตาลไว้ให้ผู้บริโภคอย่างเพียงพอ และขณะนี้โรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ซึ่ง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 53 ล้านตัน และมีปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้แล้ว 52 ล้านกระสอบ ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มีน้ำตาลบริโภค

“เรารับรองว่าปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. จะเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศอย่างแน่นอน จึงไม่อยากให้ทุกคนวิตกกังวลในเรื่องนี้ เพราะฤดูการผลิต 2552/2553 ได้กำหนดปริมาณโควตา ก. ถึง 21 ล้านกระสอบ เพิ่มจากฤดูการผลิตก่อนหน้าที่กำหนดไว้ 19 ล้านกระสอบ และถ้าดูสถิติปริมาณการขายน้ำตาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ชี้ชัดว่าน้ำตาลทรายในประเทศมีให้บริโภคอย่างเพียงพอ โดยไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน” นายประกิตกล่าว

ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวตอบโต้ กรณีที่มีรายงานข่าวอ้างว่าสาเหตุที่น้ำตาลทรายเริ่มขาดตลาด เพราะโรงงานน้ำตาลส่งสินค้าเข้ามาลดลงนั้นน่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะที่ผ่านมามีการกำหนดโควตาในการจำหน่ายในประเทศอย่างชัดเจน โดยปัจจุบันมีการนำน้ำตาลออกจำหน่ายสัปดาห์ละ 403,000 กระสอบ ทุกวันจันทร์ แต่ผู้บริโภค และร้านค้ามีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลัวสินค้าขาดแคลน

“เรื่องการขาดแคลนน้ำตาลน่าจะมาจากความวิตกกังวลของผู้บริโภครายย่อยไปจนถึงร้านค้า จนทำให้เกิดกระแสการกักตุน เพราะในส่วนของโรงงานน้ำตาลมีการส่งสินค้าในปริมาณปกติตามกำหนด ไม่มีการลดลงตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด จึงอยากให้ประชาชนสบายใจว่าน้ำตาลมีเพียงพออย่างแน่นอน”ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ดังกล่าว ถึงแม้จะมั่นใจว่าน้ำตาลทรายในประเทศจะมีให้บริโภคอย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน แต่ก็ได้มีมาตรการดำเนินการหากเกิดการขาดแคลนน้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ประกอบไปด้วยสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลสมาชิกรวม 47 โรงงานทั่วประเทศ

]]>
51180
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายหวั่นน้ำตาลในประเทศล้น https://positioningmag.com/48407 Fri, 10 Jul 2009 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=48407

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายมั่นใจ น้ำตาลในประเทศ 19 ล้านกระสอบ เพียงพอบริโภคในประเทศโดยไม่จำเป็นต้องสำรองเพิ่ม หวั่นปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย แจงสถิติชี้ชัด ปีนี้ขายน้ำตาลได้น้อยที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย 47 รายทั่วประเทศครั้งล่าสุด ได้หยิบยกประเด็นที่มีผู้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทรายว่า ควรมีการสำรองน้ำตาลทรายโควตา ก. (สำหรับบริโภคในประเทศ) ไว้อีก 2 งวด (720,000 กระสอบ) จากมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 ที่กำหนดปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. ไว้ที่ 19 ล้านกระสอบ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อป้องกันน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศขาดแคลนในช่วงปลายปี ซึ่งในกลุ่มของผู้ประกอบการเห็นว่า เป็นข้อเสนอที่สวนทางกับข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงให้ทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการน้ำตาลทราย เพื่อยืนยันว่า ปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. จำนวน 19 ล้านกระสอบ จะเพียงพอใช้บริโภคในประเทศอย่างแน่นอน

สำหรับเหตุผลที่สามารถยืนยันได้เช่นนั้นก็เนื่องจาก เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ภายในประเทศตั้งแต่ปี 2548 – 2552 ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า ปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค. – พ.ค. 52) มีจำนวน 7.89 ล้านกระสอบ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 กว่า 4.5 แสนกระสอบ และถือเป็นปริมาณการขายที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และจากปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดาน ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2552 จำนวน 1,135,967 กระสอบ เทียบเท่าการสำรองเกิน 3 งวด (งวดละ 360,000 กระสอบ) หากกำหนดให้สำรองเพิ่มขึ้น ก็อาจก่อให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย และมีผลกดดันต่อราคาขาย อันเป็นการทำลายอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโดยใช่เหตุ

“เราไม่คิดว่าน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศจะขาดแคลน และในความเป็นจริงมีโอกาสจะล้นไปด้วยซ้ำ เพราะถ้าดูจากสถิติของ สอน. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นชัดว่า การบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศปีนี้ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี แทนที่จะให้สำรองไว้ในประเทศมากๆ เรากลับเห็นว่า หากน้ำตาลทรายค้างกระดานมีมากเกินไป ก็ควรปรับลดปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. ลง และไปเพิ่มให้กับโควตา ค. (ส่งออก) แทน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอีกด้วย” นายประกิต กล่าว

สำหรับในส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ถึงแม้จะให้สำรองปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. มากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวไร่จะมีรายได้มากขึ้น เพราะส่วนแบ่งรายได้ที่ชาวไร่จะได้รับนั้น มาจากปริมาณการจำหน่ายจริง หากสำรองเพิ่มแต่ขายไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับแน่ๆ ก็คือ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่สูงขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยคาดว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2551/2552 น่าจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 900 บาทต่อตันอ้อย จากราคาขั้นต้นที่ 830 บาทต่อตันอ้อย

]]>
48407
หนุนใช้เอทานอลช่วยชาวไร่อ้อย ลดภาระภาครัฐในระยะยาว https://positioningmag.com/38742 Fri, 11 Jan 2008 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=38742

กลุ่มโรงงานน้ำตาลพร้อมควัก 2.59 พันล้านบาท ช่วยชาวไร่อ้อย หนุนเต็มที่ให้ออกมาตรการส่งเสริมการใช้เอทานอลอย่างจริงจัง “สิริวุทธิ์” แนะหากราคาเอทานอลขยับตามกลไกตลาดจะช่วยลดภาระของรัฐได้อีกมาก

ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 ได้มีมติในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นนั้น

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า การเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยอีกตันละ 100 บาท นั้น คณะรัฐมนตรีให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 4,225.30 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยโดยตรงในอัตราตันละ 62 บาท ส่วนที่เหลืออีกตันละ 38 บาท จำนวน 68.15 ล้านตัน ทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลจะต้องหาเงินมาจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยเป็นเงินรวม 2,589.70 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มโรงงานน้ำตาลก็พร้อมให้ความร่วมมือด้วยดี โดยเงินส่วนนี้ถือเป็นการสำรองจ่ายไปก่อน หากราคาน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 11.22 เซ็นต์/ปอนด์ หรือสูงกว่า ทางโรงงานก็น่าจะได้เงินส่วนนี้คืนในช่วงปลายปีนี้

“ประเด็นที่เราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาก็คือเรื่องที่สั่งให้กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายส่งเสริมการนำอ้อยและกากน้ำตาลไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพราะหากทำได้ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่อ้อยในระยะยาว ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาราคาอ้อยในลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกๆ ปี” นายวิบูลย์ กล่าว

สำหรับเรื่องที่ ครม. ได้สั่งให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาอนุโลมให้โรงงานน้ำตาลยังไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ในส่วนของเครดิตโรงงานจำนวนประมาณ 2,984.50 ล้านบาท จนกว่าโรงงานจะได้รับเงินคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ทางกลุ่มโรงงานก็ขอขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่เข้าใจความเดือดร้อนของโรงงานเป็นอย่างดี

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้อ้อยมิใช่เป็นเพียงพืชที่ใช้บริโภคหรือแปรรูปเป็นน้ำตาลเท่านั้น แต่น้ำหนักในด้านของพืชที่ใช้ผลิตพลังงานจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาวะราคาน้ำมันที่สูงมากเช่นในปัจจุบันนี้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจกับเรื่องของอ้อยอย่างจริงจังเพื่อจะได้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เริ่มตั้งแต่การผลิตที่จะเสริมสร้างสายพันธุ์อ้อยอย่างไรให้เหมาะสมกับการนำไปใช้

นอกจากนี้ ในด้านการกำหนดราคาเอทานอลก็ควรให้สอดคล้องกับกลไกตลาดที่แท้จริง เพราะหากคุมราคาจนกลายเป็นลักษณะของการบิดเบือนตลาด ก็จะทำให้บางกลุ่มได้ประโยชน์ แต่บางกลุ่มเสียประโยชน์ เช่น ถ้าราคาเอทานอลต่ำกว่าความเป็นจริง ชาวไร่อ้อยก็ขายกากน้ำตาลได้ในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และท้ายที่สุดก็กลับมาเป็นภาระของรัฐเองที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย

]]>
38742