ส่งออกละคร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 15 Nov 2017 04:03:31 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ช่อง 3 ดิ้นหนีวิกฤต พลิกโมเดลแบ่งรายได้-ส่งออกละคร-บริหารศิลปิน https://positioningmag.com/1146490 Tue, 14 Nov 2017 02:00:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1146490 ยังคงเป็นช่วงท้าทาย ช่อง 3 ที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก หลังเผชิญกับวิกฤตรายได้ลดลง จากคู่แข่งทีวีดิจิทัลที่เข้ามาแย่งชิงเค้กโฆษณา และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปรับสื่อหลากหลาย จนต้องปรับโครงสร้างการบริหารด้วยการดึงคนนอกเข้ามาร่วมบริหารมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา 

ล่าสุดช่อง 3 ได้ รณพงศ์ คำนวณทิพย์ ร่วมทีม เพื่อผลักดันรายได้จากการส่งออกละคร และเพิ่มโมเดลแบ่งรายได้ผู้ผลิตแบบใหม่  Revenue Sharing มาใช้แก้ปัญหาตัดราคา ผลักดันทีมขายเปิดเกมรุกหาลูกค้า

นำโมเดลแบ่งรายได้ผู้ผลิตรายการ

ช่อง 3 ได้เพิ่มโมเดลการแบ่งรายได้โฆษณากับผู้ผลิตรายการ ในรูปแบบของ Revenue Sharing หรือการร่วมกันขายโฆษณาและนำรายได้มาแบ่งกัน โดยจะเริ่มใช้กับรายการใหม่ ๆ ก่อน

จากเดิมนั้น รูปแบบการแบ่งรายได้กับผู้ผลิตจากเดิมจะมี 3 โมเดล คือ  เช่าเวลาจัดรายการ เช่น การแข่งขันร้องเพลง 2. การจ้างผลิต เช่น ละคร  และ 3. แบ่งเวลาขายโฆษณา (Time Sharing) เช่น เกมโชว์

โมเดล Revenue Sharing จะนำร่องใช้กับ “รายการเกมโชว์ใหม่” ที่บริษัทเซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิต มีการลงทุนสูงเฉลี่ยตอนละ 1 ล้านบาท โดยหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นรายการรับความนิยม มาช่วยเติมรายการวาไรตี้เกมโชว์ให้กับช่อง 3 ซึ่งยังขาดอยู่ได้

ที่นำร่องใช้กับเซิร์ชก่อน เพราะเซิร์ซซึ่งนำโดยวิบูลย์ ลีรัตนขจร และ จอนนี่ แอนโฟเน่ 2 ผู้ก่อตั้ง เป็นผู้ขับเคลื่อนร่วมเดินหน้ากับช่อง 3 ในรูปแบบการแบ่งรายได้ใหม่นี้ เป็นพันธมิตรกับช่อง 3 มานาน และไม่เคยไปผลิตรายการให้ช่องอื่น

โดยจะมีการเปลี่ยนระบบการขายเวลาโฆษณา ทีมโฆษณาของช่อง 3 กว่า 20 คน จะทำงานร่วมกับทีมโฆษณาของเซิร์ช เพื่อกำหนดทิศทางและราคาการขายด้วยกัน เพื่อไม่ให้มีการตัดราคาค่าโฆษณากันเอง จากนั้นเมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ แล้ว ทั้งค่าลิขสิทธิ์ ค่าผลิตรายการ ก็จะแบ่งรายได้กัน

ส่วนโมเดลเดิมอย่างไทม์แชริ่งมีข้อเสีย บางครั้งฝั่งผู้ผลิตก็ขายเวลาโฆษณาไม่หมดก็ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตเองทั้งหมด และบางครั้งก็มีเรื่องการตัดราคาขายแข่งกัน จนกระทบกับรายได้ ผู้ผลิตก็ขายโฆษณายาก

ช่อง 3 จึงต้องปรับตัว หันมาหาวิธีขายใหม่ๆ และเน้นการขายเชิงรุกมากขึ้น จากเดิมที่เอเจนซี่วิ่งเข้าหา แต่ต่อไปฝ่ายขายต้องหาลูกค้ามากขึ้น และหากโมเดลแบ่งรายได้ใช้ได้ผล ก็นำไปใช้กับรายการอื่นๆ และผู้ผลิตรายอื่นๆ ต่อไป

ส่งออกละคร –เดินหน้าบริหารศิลปิน ปั๊มรายได้

นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางหารายได้ จากเดิมที่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง คือ การส่งละครไปขายต่างประเทศ และการบริหารศิลปินในสังกัด

ช่อง 3 มีคลังละครจำนวนหลายร้อยเรื่อง ยังไม่เคยขายลิขสิทธิ์ที่ต่างประเทศเลย ภายในปีหน้าช่อง 3 จะลุยขายคอนเทนต์ของช่องในตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยเริ่มในเอเชียก่อน

แต่ละปีช่อง 3 จะผลิตละครปีละหลายสิบเรื่อง บางปีสูงถึง 50 เรื่อง เพราะพฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยนไป ไม่นิยมดูละครเรื่องเดียวนานๆ หลายเดือน ปัจจุบันละครแต่ละเรื่องจะใช้ออนแอร์ไม่เกิน 2 เดือนครึ่ง ขณะที่เวลาออนแอร์ในแต่ละวันกลับต้องนานขึ้น เพื่อดันเรตติ้งสูงไว้ให้นานที่สุด เพราะมีผลต่อการพยุงเรตติ้งทั้งช่อง ส่งผลให้ละครจะใช้เวลาออนแอร์มากกว่า 2 ชั่วโมง

ต้นทุนการจ้างผลิตละครเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยค่าผลิตตอนละประมาณ 1-3 ล้านบาท จำนวนกว่า 20 ตอน ซึ่งที่ผ่านมาช่อง 3 เพียงแค่นำเอามารีรัน ทั้งในช่อง 3 family, 3SD  และ 3HD ก็ยังไม่คุ้มการลงทุนในยุคนี้ จึงต้องหารายได้เพิ่ม จากการส่งละครไปขายในต่างประเทศ เหมือนอย่างที่ค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ทำสำเร็จมาแล้ว

ดึง รณพงศ์ คำนวณทิพย์ ร่วมทีม

ช่อง 3 ได้ดึงมืออาชีพจากภายนอก “รณพงศ์ คำนวณทิพย์” อดีตผู้จัดการทั่วไป ของยูนิเวอร์แซล มิวสิค ไทยแลนด์ ที่มีประสบการณ์เรื่องบริหารลิขสิทธิ์อุตสาหกรรมเพลง และวงการบันเทิง มารับตำแหน่งใหญ่ดูแลด้านการขายลิขสิทธิ์รายการต่างๆ ของช่อง 3 ในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการรับหน้าที่บริหารศิลปินของช่องเพื่อต่อยอดหารายได้ใหม่ๆ

ส่วนการบริหารศิลปิน นักแสดงช่อง 3 ที่มีอยู่ กว่า 100 คน หลายคนเข้ามาตั้งแต่เรียนการแสดงกับช่อง 3 เมื่อทำสัญญากับช่องแล้ว จะได้รับเงินเดือน จาก 10 ปีที่แล้ว ได้เดือนละ 20,000 บาท ปัจจุบันประมาณ 30,000 บาท เพื่อเข้าระบบรับสวัสดิการของบริษัท ส่วนค่าจ้างแล้วแต่งาน เช่น ออกงานอีเวนต์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ที่ปกติช่องจะไม่ได้เข้าไปบริหารการรับจ้างของศิลปิน

โดยหลังเข้ามาร่วมงานแล้ว รณพงศ์ หรือ รอน จะเข้ามาจัดการระบบบริหารศิลปิน และรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากนักแสดงเหล่านั้น โดยจะไม่ให้ผลกระทบกับรายได้ที่เคยได้รับ แต่จะเป็นการสร้างรายได้ใหม่ ต่อยอดขึ้นจากเดิม ด้วยการบริหารงานอย่างมีระบบมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การขายเป็นแพ็กเกจให้กับสินค้าและบริการ การไทอินในละคร รวมถึงการนำดารา นักแสดงช่อง 3 ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ที่เชื่อมโยงกับละครที่จะออนแอร์ ก็จะมีการคุยเรื่องรายได้สำหรับนักแสดงเพิ่มขึ้น และช่องก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจุบันช่อง 3 มีพนักงานประมาณ 2,000 คน ประมาณ 40% มีอายุเกิน 60 ปี ไม่มีระบบการเกษียณอายุ จากนี้ยังเตรียมตั้งทีมครีเอทีฟ เพื่อพัฒนาและเสนอรูปแบบงานและรายการใหม่ จากที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นรูปแบบที่มีผู้จัดผู้ผลิตรายการเข้ามาเสนอทำรายการ

หากย้อนไปดูรายได้และกำไร 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2557 ที่่่ช่อง 3 ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 3 ช่อง รายได้และกำไรเริ่มลดลง เมื่อเทียบกับปี 2556 ขณะที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทีวีดิจิทัลอีกประมาณ 20 ช่องต่างโหมกำลังชิงเรตติ้ง และเม็ดเงินโฆษณา จนปี 2559 รายได้ร่วงจากปี 2558 กว่า 3,000 ล้านบาท และกำไรเพียง 1,218 ล้านบาท หายไปกว่าเท่าตัว ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2560 ผ่านไป สามารถทำกำไรเพียงแค่ 362 ล้านบาท

ราคาหุ้น BEC ก็ร่วงสะท้อนผลประกอบการ จากปี 2556 อยู่หุ้นละ 50.50 บาท แต่ ณ วันที่ 10 พ.ย. 2560 ร่วงไปอยู่ที่ 16.50 บาท ขณะที่คู่แข่งที่ตามมาติดๆ จัดเต็มประชิดชิงฐานผู้ชมช่อง 3 ชัดๆ อย่างเวิร์คพอยท์ เรียกได้ว่าอยู่ในขาขึ้น สะท้อนทั้งผลประกอบการราคาหุ้น เช่นเดียวกับช่อง 8 อาร์เอส ที่ช่วงแรกพยายามเบียดช่อง 7 แต่ช่วงหลังคิดใหม่ ของร่วมวงชิงช่อง 3 จนสามารถดันรายได้ขึ้นมา จนราคาหุ้นสดใสไม่แพ้กัน

ธุรกิจทีวี ที่มีฐานผู้ชมเป็นเป้าหมาย มีเรตติ้งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จซึ่งนำมาซึ่งเม็ดเงินโฆษณา เกมธุรกิจนี้ จึงอยู่ที่ว่า ใครรู้ทันอนาคต เพื่อสร้างสรรค์รายการให้โดน และหากไม่ปรับตัว ความสำเร็จที่ผ่านมา ก็อาจกลายเป็นเพียงอดีตให้เล่าขานเท่านั้น.

]]>
1146490