เทคโนโลยีการเกษตร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 14 Nov 2020 09:43:32 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รู้จักเทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ปิด แก้ปัญหาเผาป่าทำเกษตร https://positioningmag.com/1306038 Sat, 14 Nov 2020 08:25:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306038 ทุกวันนี้ฟาร์มปศุสัตว์โดยเฉพาะฟาร์มโคเนื้อ-โคนม กลายเป็นผู้ร้ายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวัวต้องการอาหาร นำไปสู่การถางป่า-เผาป่าเพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ต้นตอปัญหาโลกร้อน ทำให้ Grov สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ดัดแปลงเทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” มาใช้ในระดับอุตสาหกรรม ปลูกข้าวบาร์เลย์-ข้าวสาลีเลี้ยงวัว ลดการใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรม

เทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” หรือสวนที่ปลูกในที่ร่มไม่ใช่เรื่องใหม่ มีสตาร์ทอัพและบริษัทจำนวนมากคิดค้นสูตรเพื่อปลูกพืชแนวตั้ง แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ “ผักสลัด” สำหรับมนุษย์บริโภค แต่สตาร์ทอัพ Grov Technologies ไม่คิดเช่นนั้น พวกเขานำเทคโนโลยีสวนแนวตั้งมาใช้สำหรับปลูกข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีไว้เลี้ยงวัว

ในพื้นที่ฟาร์มวัวแห่งหนึ่งของรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา มีตึกลักษณะคล้ายเต็นท์ยักษ์แห่งหนึ่งที่ด้านในบรรจุหอสูง 10 แท่ง สูงแท่งละ 25 ฟุต (ประมาณ 7.5 เมตร) เพื่อปลูกธัญพืชไว้เลี้ยงวัวที่เดินอยู่ด้านนอก บริษัท Grov รายงานว่า หอแต่ละแท่งใช้พื้นที่ 850 ตารางฟุตเท่านั้น (ประมาณ 79 ตารางเมตร) แต่สามารถปลูกข้าวบาร์เลย์ได้เทียบเท่ากับที่ปลูกบนพื้นราบเนื้อที่ 35-50 เอเคอร์ (ประมาณ 88-126 ไร่) แถมยังใช้น้ำเพียง 5% ของที่เคยใช้เมื่อปลูกพืชตามวิธีปกติ

หอสำหรับปลูกพืชในร่ม (Photo : Grov Technologies)

กระบวนการทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์จะเทเมล็ดพันธุ์ 4 ปอนด์ลงในแต่ละถาด และส่งถาดนั้นเข้าสู่ระบบ เซ็นเซอร์จะคอยมอนิเตอร์สภาวะของพืชในถาดและให้แสงกับน้ำที่เพียงพอ จนกระทั่งเติบโตถึงจุดที่เหมาะสมก็จะเก็บเกี่ยวอัตโนมัติเช่นกัน ทำให้ฟาร์มไม่จำเป็นต้องหาคนงานเพิ่มเติมมาดูแลระบบ บริษัทระบุว่า โดยเฉลี่ยระบบนี้จะใช้เวลา 6 วันครึ่งในการปลูกพืชแต่ละรอบ

นอกจากนี้ Grov ยังพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุดที่ทำได้ เช่น แสงไฟฟ้าสำหรับปลูกพืชจะไม่ส่งความร้อนออกมาด้วยเพื่อเลี่ยงปัญหาค่าไฟพุ่งทะยานจากการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ และบริษัทยังทำระบบให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ด้วย

 

ประหยัดพื้นที่ ลดการถาง-เผาป่าปลูกพืช

“สตีฟ ลินด์สลีย์” ประธานบริษัท Grov Technologies กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้ที่ดินของสหรัฐฯ ราว 41% ของประเทศใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และดีมานด์เพื่อใช้ที่ดินไปในทิศทางนั้นยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะสำหรับพืชเลี้ยงสัตว์กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ

(Photo : Twitter@GrovTech

ดังนั้น ในบางพื้นที่ของประเทศ จะมีการถางป่าหรือเผาป่าเพื่อนำมาใช้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ประเภทโคหรือไก่ “เทคโนโลยีนี้เห็นได้ชัดว่าจะมีประโยชน์ยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม เราคิดว่ามันจะมีความหมายอย่างลึกซึ้งในการพัฒนา เมื่อคุณคิดถึงการทำลายป่าเพื่อเหตุนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก” ลินด์สลีย์กล่าว

เมื่อใช้ที่ดินน้อยลง น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาจากการทำปศุสัตว์และเกษตรกรรมในขณะนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีน เป็นกลุ่มทุนที่เข้าซื้อที่ดินเกษตรกรรมทั่วโลกเพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ส่งกลับประเทศตัวเอง รวมถึงที่สหรัฐฯ ด้วย
ดังนั้น “จีน” จะเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่บริษัทนี้บุกเข้าตลาด เพื่อแนะนำระบบการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์โดยตรงเข้าสู่ฟาร์ม ไม่ต้องเสียทั้งที่ดินและเชื้อเพลิงเพื่อขนส่งข้ามโลก

 

โต้กลับกลุ่มอาหาร Plant-based

จากการทดลองเบื้องต้นในการเลี้ยงวัวหลักร้อยตัวเมื่อปี 2019 ฟาร์มที่ทดลองใช้พบว่าพืชจากการปลูกในร่มกลับมีโภชนาการดีกว่าที่ปลูกบนพื้นที่ปกติ ทำให้วัวกินอาหารน้อยลง และลดค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก โดยที่วัวยังให้ปริมาณนมเท่าเดิม

Grov ประเมินว่าฟาร์มที่ลงทุนเทคโนโลยีนี้จะเข้าสู่จุดคุ้มทุนภายใน 3 ปี และยังลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เริ่มถี่มากขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง คลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้มองว่าเทคโนโลยีนี้จะมาแทนที่ฟาร์มปกติได้ทั้งหมด แต่มองว่าจะเป็นสัดส่วนอาหารที่เข้าไปผสมกับอาหารสัตว์จากแหล่งปกติ ยกตัวอย่างเช่นฟาร์มในรัฐยูทาห์ที่กล่าวข้างต้น พืชจากสวนแนวตั้งคิดเป็นสัดส่วน 15% ของอาหารทั้งหมดเพื่อเลี้ยงวัวจำนวน 2,000 ตัว ถึงแม้จะผสมเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก แต่ก็มีศักยภาพพอที่จะช่วยโลกจากการถางป่า สาเหตุของโลกร้อน

ลินด์สลีย์ยังมองประโยชน์ในเชิงการค้าด้วย เพราะทุกวันนี้มีกระแสการทานอาหาร Plant-based หรือเนื้อทำจากพืชซึ่งผลิตขึ้นในห้องแล็บ โดยผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทานอาหารประเภทนี้ ส่วนหนึ่งเพราะตระหนักถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมในแวดวงปศุสัตว์ ดังนั้น การเปลี่ยนวิธีปลูกพืชจะเป็นการโต้กลับของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เพื่อนำผู้บริโภคกลับคืนมา

Source

]]>
1306038