เทคโนโลยีดิจิทัล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 23 Mar 2023 04:42:48 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เทนเซ็นต์ คลาวด์” ส่ง Metaverse Solution Suite ยกระดับองค์กรไทยสู่อีกขั้นของการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัล https://positioningmag.com/1422737 Tue, 21 Mar 2023 10:00:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422737

ต้องบอกว่าเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนี้ คงหนีไม่พ้น Metaverse (เมตาเวิร์ส) เรียกได้ว่าธุรกิจหลายแวดวงทยอยตบเท้าก้าวสู่โลก Metaverse กันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นแวดวง ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม สถาบันทางการเงิน และอีกหลากหลายวงการ

ถ้าให้อธิบายอย่างเข้าใจง่ายที่สุด Metaverse เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อระหว่างโลกเสมือน และโลกความเป็นจริงเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ และจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้การเชื่อมต่อนั้นแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น หลายองค์กรเริ่มมองหาโอกาสจากการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับ Metaverse ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้ใช้งานได้

จากรายงานของ Deloitte ได้วิเคราะห์ว่าผลจาก Metaverse ที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ทั่วเอเชีย จะอยู่ที่ 0.8 ถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายใน พ.ศ. 2578 คิดเป็นประมาณ 1.3-2.4% ของ GDP

ด้าน เทนเซ็นต์ (Tencent) ยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีระดับโลก ก็ไม่พลาดเป็นผู้นำกระแสนี้ ล่าสุดประกาศกลยุทธ์ Immersive Convergence ที่จะหลอมรวมดิจิทัลเข้าสู่โลกความจริงโดยเชื่อมต่อระหว่างโลกเสมือน และโลกความเป็นจริงผ่านเทคโนโลยีอันล้ำสมัยต่างๆ ของ เทนเซ็นต์

นายกฤตธี มโนลีหกุล รองประธานเทนเซ็นต์ คลาวด์ อินเตอร์เนชันแนล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“Metaverse จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะมาดิสรัปอุตสาหกรรมต่างๆ ปัจจุบันองค์กรต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการทั่วโลกต่างให้ความสนใจและจับตามอง ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ Immersive Convergence ของ    เทนเซ็นต์ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับแผนการดำเนินงานผ่านความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการดิจิทัล ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อกับโลกจริงและ Metaverse ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด โดยองค์กรต่างๆ จะได้รับประโยชน์มากมายจากบริการที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse ของเทนเซ็นต์ คลาวด์”

“ในฐานะผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำระดับโลกที่พร้อมเป็น Digital Enabler ให้กับทุกองค์กร เทนเซ็นต์ คลาวด์ จึงได้นำเสนอ Metaverse Solution Suite เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการอัปเกรดองค์กรเข้าสู่โลก Metaverse โดยมาพร้อมบริการแบบครบวงจร ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถใช้เครื่องมือ และบริการในการสร้างโลก Metaverse ให้สมจริงด้วยโซลูชันต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น

  • โซลูชันสำหรับการสร้าง Virtual Scene ที่ช่วยในการสร้างการจำลองเสมือนจริง การสร้างสำเนาดิจิทัลให้สมจริงและใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด อาทิ Tencent Cloud Real-time Cloud Rendering และ Digital Twins ที่ช่วยในการจำลองและสร้างภาพกราฟิกเสมือนจริงแบบเรียลไทม์
  • โซลูชันสำหรับการสร้าง Digital Human & Avatar อาทิ Digital Human,Text Driven Digital Human และ Avatar Based on Real-Time Capturing โซลูชันที่ผสานการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน และคอมพิวเตอร์เพื่อรองรับการสร้างมนุษย์ดิจิทัลที่สามารถแสดงออกและโต้ตอบได้ มอบประสบการณ์ที่หลากหลายให้แก่ผู้ใช้งานใน Metaverse
  • โซลูชันสำหรับสร้างการสื่อสารแบบโต้ตอบ (Interactive Media & Communication) คือ โซลูชันที่ช่วยเชื่อมต่อผู้ใช้งานผ่านการโต้ตอบแบบเรียลไทม์ และความรู้สึกที่เสมือนจริงผ่านการใช้งาน AR/VR ซึ่งประกอบด้วย (1) Game Multimedia Engine (GME) โซลูชันการสนทนาเสียงในการเล่มเกมแบบครบวงจร ด้วยฟีเจอร์การปรับปรุงรูปแบบและประเภทเกมให้มีประสิทธิภาพเชิงลึกสูงสุด โดยสามารถรองรับการสนทนาด้วยเสียงระหว่างผู้เล่นหลายคน ระบบการระบุหาต้นตอเสียงแบบสามมิติ ข้อความเสียง และการแปลงคำพูดเป็นข้อความ เพื่อให้ผู้เล่นได้เพลิดเพลินไปกับการเล่นเกมใน Metaverse (2) Tencent Real-Time Communication (TRTC) เป็นโซลูชันการโทรด้วยเสียง/วิดีโอแบบกลุ่มและการไลฟ์สตรีมมิงแบบโต้ตอบคุณภาพสูง และให้ความคุ้มค่า มีเวลาหน่วงต่ำตอบสนองได้อย่างฉับไวภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว (3) Cloud Streaming Services (CSS) บริการเพื่อการถ่ายทอดสัญญาณสดการแปลงรหัสการแพร่สัญญาณและการรับชมย้อนหลังที่รับประกันเวลาที่หน่วงต่ำเป็นพิเศษ อีกทั้งยังให้คุณภาพของวิดีโอในระดับUltra-high สามารถรองรับผู้ใช้งานจํานวนมากในเวลาเดียวกันได้อย่างราบรื่น ไม่สะดุด
  • โซลูชันสำหรับรองรับการประมวลผล (Computing Power) คือโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยรองรับการประมวลผลที่เสถียร และมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย (1) GPU Cloud Computing (GCC) เซิร์ฟเวอร์คลาวด์ที่สามารถประมวลผลข้อมูลกราฟิกด้วยความเร็วสูง (2) Edge Computing Machine (ECM) ที่ช่วยให้ระบบประมวลผลสามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากการขยาย node การประมวลผลให้อยู่บน node ที่ใกล้กับผู้ใช้งานใน Metaverse มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของเครือข่าย และให้บริการที่ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น

เพื่อให้หลายคนได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างธุรกิจที่ใช้โซลูชัน Metaverse ของ                   เทนเซ็นต์ คลาวด์ในการสร้างสรรค์บริการและผลิตภัณฑ์ดิจิทัล อย่าง Metalife เครื่องมือสื่อสารใหม่จากญี่ปุ่นที่สามารถใช้เป็นทั้งสำนักงาน สถานที่จัดงานกิจกรรม ห้องเรียน พื้นที่ทำงานนอกสถานที่ และห้องประชุมใน Metaverse โดยเทนเซ็นต์ คลาวด์ได้ให้การสนับสนุนโซลูชัน Tencent Real-Time Communication (TRTC) แก่ Metalife เพื่อให้ผู้ใช้งานเชื่อมต่อถึงกันในสภาพแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกกลมกลืนเสมือนจริง นอกจากนี้ยังช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์บริการ Live Streaming แบบ Interactive ที่มีเกิดการ Lag น้อยที่สุด และมีค่าความหน่วง (Latency) จากต้นทางถึงปลายทางทั่วโลกในระดับต่ำกว่า 300 มิลลิวินาที เพื่อเป็นหลักประกันถึงประสบการณ์เสียงและภาพที่ยังคงราบรื่นแม้ในสภาวะที่มีอัตราการเกิด Packetloss ถึง 80% นอกจากนี้เทคโนโลยีนี้ยังมีความเข้ากันได้สูงมากในทุกแพลตฟอร์มและภูมิภาค จึงเป็นตัวเลือกที่ทรงพลังในการสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse

นี่คือตัวอย่างขององค์กรธุรกิจที่นำ Metaverse มาสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ แต่การก้าวเข้าสู่โลก Metaverse นั้น ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายสำหรับหลายๆ องค์กรทั้งในต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีคลาวด์และ AI บนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความซับซ้อน

ด้วยเหตุนี้ การมีพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้การสร้างสรรค์โลก Metaverse เป็นไปได้อย่างราบรื่น

“เทนเซ็นต์ คลาวด์ในฐานะ Digital Enabler พร้อมที่จะสนับสนุนองค์กรไทยในการขยายธุรกิจไปทั่วโลกผ่านการให้บริการด้านโซลูชันที่สอดรับกับแนวทางขององค์กรนั้นๆ เพื่อผลักดันธุรกิจให้ไปสู่เป้าหมายด้วยจุดแข็งรอบด้านที่จะช่วยให้ทุกองค์กรเข้าถึงโซลูชันที่ช่วยสร้างโลก Metaverse ได้อย่างสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็น ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเสียงและวิดีโอที่สั่งสมมากว่า 20 ปี ผสานความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานจากพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม 70 พื้นที่ใน 26 ภูมิภาคทั่วโลก และการมี Data Center ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยถึง 2 แห่ง ตลอดจนมีทีมงานคนไทยที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำ และการสนับสนุนแก่องค์กรต่างๆ ในไทยได้อย่างครบวงจร” นายกฤตธี กล่าวสรุป

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เทนเซ็นต์ คลาวด์ ได้ ที่นี่

]]>
1422737
“จอห์น แมคอาฟี” ผู้ก่อตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัส ฆ่าตัวตายในคุกสเปน คดีติดตัวยาวเหยียด https://positioningmag.com/1338931 Fri, 25 Jun 2021 03:16:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1338931 จอห์น แมคอาฟี ผู้ก่อตั้งโปรแกรมไวรัสดัง McAfee ฆ่าตัวตายในคุกสเปน หลังศาลสเปนตัดสินให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปสหรัฐฯ เพื่อรับโทษคดีหนีภาษี ประวัติชีวิตแมคอาฟีหลังขายบริษัทที่ก่อตั้งช่วงทศวรรษ 1990s โชกโชนไปด้วยคดีความผิดทางการเงิน ปืน ยาเสพติด ฯลฯ เขาเคยถูกจับรวม 21 ครั้งใน 11 ประเทศ

เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน 2021 รายงานข่าวสเปนหลายแหล่งเปิดเผยว่า “จอห์น แมคอาฟี” ผู้ก่อตั้งบริษัทโปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ McAfee วัย 75 ปี เสียชีวิตภายในเรือนจำเมืองบาร์เซโลนา โดยเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำอัตวินิบาตกรรม

เขาเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากศาลสเปนตัดสินให้ส่งตัวเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับสหรัฐฯ เพื่อไปรับโทษเกี่ยวกับคดีหนีภาษีซึ่งเขาอาจจะถูกตัดสินด้วยบทลงโทษสูงสุดคือจำคุก 30 ปี

กระทรวงยุติธรรมคาตาลันเปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่าความตายของแมคอาฟีเกิดจากการฆ่าตัวตาย และสำนักข่าว AP มีแหล่งข่าววงในระบุว่า หน่วยงานรักษาความปลอดภัยพยายามที่จะกู้ชีพแมคอาฟีกลับมาแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การตายของแมคอาฟียังถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าเขาจะมีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสินให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน “ฮาเวียร์ บิลญาบา” ทนายความของแมคอาฟีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า แมคอาฟีไม่สามารถอดทนกับการถูกจำคุกในสเปนได้อีกแล้ว

 

ชายผู้มีคดีทั่วโลก

แมคอาฟีถูกจับที่บาร์เซโลนาเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ด้วยคดีหลบเลี่ยงภาษีที่ศาลรัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ เขาถูกจำคุกในสเปนไว้ก่อนระหว่างรอการตัดสินเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยเขาพยายามต่อสู้กับการตัดสินใจส่งตัวกลับสหรัฐฯ ด้วยการอ้างว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลทางการเมือง

ประวัติชีวิตของแมคอาฟีนั้นโชกโชนไปด้วยคดีความ ย้อนกลับไปยุคทศวรรษ 1990s เขาเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกเทคโนโลยีจากก่อตั้ง McAfee บริษัทโปรแกรมป้องกันไวรัส จากนั้นเขาได้ขายหุ้นที่มีในบริษัทจนหมด คิดเป็นมูลค่าราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,100 ล้านบาท)

ต่อมาการขายหุ้นเหล่านี้ถูกฟ้องร้องโดยศาลแห่งรัฐเทนเนสซีในข้อหาหลบเลี่ยงภาษี รวมถึงยังถูกฟ้องเรื่องหนีภาษีจากรายได้การโปรโมตสกุลเงินคริปโต และการขายสิทธิทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเขา

บัญชี Twitter ของจอห์น แมคอาฟี มีผู้ติดตามถึง 1.1 ล้านคน

คดีภาษีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทำผิดกฎหมายของแมคอาฟี (ตัวเขาเองมักจะอวดอ้างบน Twitter บ่อยครั้งเรื่องที่ไม่ได้จ่ายภาษี และยกย่องสกุลเงินคริปโตว่าเป็นหนทางป้องกันไม่ให้รัฐบาลเก็บภาษีใครได้) หลังจากนั้นเขาเดินทางไปรอบโลกหลายทศวรรษและไปเกี่ยวข้องกับคดีมากมายทั้งคดีฉ้อโกงหลักทรัพย์และฟอกเงิน โดยเขาใช้บัญชี Twitter ตัวเองหลอกลวงนักลงทุนไปได้หลายล้านเหรียญ

ยิ่งไปกว่านั้น เขาเคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมเพื่อนบ้านในประเทศเบลิซ (อยู่ในทวีปอเมริกากลาง) เมื่อปี 2008 แม้จะไม่เคยถูกจับกุมก็ตาม The Washington Post รายงานว่าตัวแมคอาฟีเคยนับคดีของตัวเองไว้ว่า ตนเคยถูกจับถึง 21 ครั้งใน 11 ประเทศ เกี่ยวกับพันกับคดีความรุนแรงจากอาวุธปืน ค้ายาเสพติด ฯลฯ

ทั้งที่มีคดียาวเป็นหางว่าว แต่เขาเคยมีแคมเปญสั้นๆ หวังจะขอสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 และอีกครั้งเมื่อปี 2020

แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่บัญชี Instagram ของแมคอาฟียังเคลื่อนไหว โดยล่าสุดทีมโซเชียลมีเดียของแมคอาฟีใช้บัญชีเขาโพสต์ภาพตัว “Q” ขนาดใหญ่สีดำบนพื้นหลังสีขาว ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นสัญลักษณ์หมายถึง “QAnon” (คิวอะนอน) ทฤษฎีสมคบคิดของฝ่ายขวาจัด ความเชื่อของกลุ่มนี้คือมองว่าสหรัฐฯ มีลักษณะของ “รัฐซ้อนรัฐ” (deep state) โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ พรรคเดโมแครต และเซเลบคนดังต่างรวมหัวกันสร้างภาพว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” และกลุ่มผู้ติดตามเกี่ยวพันกับการค้าโสเภณีระดับนานาชาติ ซึ่งแมคอาฟีแสดงออกว่าเชื่อในทฤษฎีรัฐซ้อนรัฐนี้ (ขณะนี้บัญชี Instagram ของเขาถูกปิดไปแล้ว)

แน่นอนว่าความตายของแมคอาฟีทำให้หลายๆ คนมีทฤษฎีสมคบคิดใหม่ขึ้นมาว่า เขาไม่ได้ฆ่าตัวตายแต่ถูกฆาตกรรม เช่นเดียวกับ “เจฟฟรีย์ เอปสตีน” อาชญากรคดีอาชญากรรมทางเพศที่ฆ่าตัวตายในคุกไปก่อนหน้านี้

Source

]]>
1338931
Google Earth โชว์ภาพถ่ายดาวเทียม “Timelapse” โลกเปลี่ยนไปอย่างไรในรอบ 36 ปี https://positioningmag.com/1328358 Tue, 20 Apr 2021 05:34:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328358 ฟีเจอร์ใหม่จาก Google Earth ให้ทุกคนเข้าไปรับชมภาพ Timelapse ดูความเปลี่ยนแปลงบนพื้นโลก 36 ปี นับจากปี 1984 ถึง 2020 เห็นชัดเจนถึงการพัฒนาของเมือง การตัดไม้ทำลายป่า จนถึงเรื่องโลกร้อน โดยประเทศไทยมีภาพให้ชม 1 จุด คือ สนามบินสุวรรณภูมิ

Google Earth ออกภาพถ่ายดาวเทียมแบบ Timelapse ให้ผู้ใช้เข้าไปคลิกสำรวจด้วยตนเองได้ โดยโครงการนี้ต้องรวมภาพถ่ายดาวเทียมถึง 24 ล้านภาพ ตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2020 และใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งของ Google Cloud ทำการปะติดปะต่อภาพเหล่านี้เป็นเวลา 2 ล้านชั่วโมง จนได้ออกมาเป็นฟีเจอร์ดังกล่าว

งานครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือสารพัดราย โดย Google ร่วมมือกับองค์การ NASA, โครงการ Landsat สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา, โครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียม Sentinel รวมถึง CREATE แล็บของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งให้ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีการทำภาพ Timelapse

ผลสำเร็จของฟีเจอร์คือภาพ Timelapse จำนวน 189 ภาพจากทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 10 หมวดย่อย คือ แหล่งเกษตรกรรม, การตัดไม้ทำลายป่า, ธารน้ำแข็ง, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, มหานคร, ความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตา, เหมือง, ภัยธรรมชาติ, การเจริญเติบโตของเมือง และ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ

มีภาพที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น มหานครดูไบ UAE ซึ่งเนรมิตแผ่นดินรูปต้นปาล์มยื่นลงไปในทะเล

Cr: Google Earth

การตัดป่าเพื่อหาพื้นที่ทำไร่ถั่วเหลืองในซาน ฆูเลียน ประเทศโบลิเวีย ในรอบ 3 ทศวรรษ ป่าแทบจะหายไปหมดเพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

Cr: Google Earth

หรือการทำเหมืองถ่านหินในมองโกเลีย ประเทศจีน จากพื้นที่ธรรมชาติกลายเป็นเหมืองขนาดมหึมาเพื่อตอบรับความต้องการ โดยปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ส่งออกพถ่านหินมากที่สุดในโลก

Cr: Google Earth

รวมถึงภาพจากประเทศไทย 1 แห่งคือ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ทำให้เห็นทั้งการเกิดขึ้นของสนามบินบนพื้นที่เดิมที่ยังเป็นท้องทุ่ง และความเจริญที่เกิดขึ้นโดยรอบตามมา

Cr: Google Earth

Google กล่าวว่า บริษัทหวังว่าภาพเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ เช่น รัฐบาล นักวิจัย นักข่าว คุณครู และใครก็ตามที่ต้องการวิเคราะห์ภาพเหล่านี้ ต้องการจะชี้ให้เห็นเทรนด์ หรือข้อสังเกตจากภาพ

“เราขอเชิญชวนใครก็ตามที่ต้องการนำ Timelapse ไปใช้และส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกประหลาดใจกับแนวชายฝั่งที่เปลี่ยนไป หรือกำลังติดตามการเติบโตของมหานคร หรือติดตามการตัดไม้ทำลายป่าอยู่ก็ตาม” รีเบคคา มัวร์ ผู้อำนวยการของ Google Earth กล่าว

“Timelapse คือการถอยมามองภาพกว้าง เพื่อประเมินสุขภาพและความน่าอยู่อาศัยของบ้านหลังเดียวที่เรามี และจะเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้และให้แรงบันดาลใจเพื่อปฏิบัติจริงต่อไป”

คลิกเข้าไปสำรวจ Google Earth Timelapse กันได้ที่นี่

Source: CNN

]]>
1328358
สื่อสารไม่พอ! เอไอเอส อัพบทบาท สร้าง IoT Ecosystem ดันดิจิทัลแพลตฟอร์ม ขายคอนเทนต์ศิลปินไทย https://positioningmag.com/1158063 Wed, 21 Feb 2018 14:10:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1158063 ใช้แพลตฟอร์มต่างชาติกันมานาน ได้เวลาที่ไทยจะต้องมี “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เป็นของตัวเอง เป็นเป้าหมายใหญ่ของค่ายมือถือเอไอเอส ที่สะท้อนงานสัมมนา “Digital Intelligent Nation 2018” 

สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าว ว่าจากความพร้อมของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้คือช่วงเวลาสำคัญที่ต้องผนึกกำลังสร้างสรรค์ Digital Platform เพื่อประเทศไทย

ปี 2560 ที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมติบโตถึง 4% (สูงกว่า GDP) อัตราการเติบโตของการใช้งานเฉลี่ย Mobile Internet ต่อบุคคล เพิ่มขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับปี 2559

พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียปี 2560

  • คนไทยใช้งานดาต้ามากถึง 7.3 GB ต่อคนต่อเดือน
  • ใช้เวลาอยู่บน Social Network เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% คือวันละประมาณ 4.8 ชั่วโมง
  • มากกว่า 41 ล้านคน ชม VDO Streaming บนมือถือ โดย 80% ส่วนใหญ่เป็น Local Content

ส่วนองค์ค์กรเริ่มหันมาใช้ Cloud เป็นมาตรฐานใหม่ในการยกระดับการบริหารจัดการ

ทางฟากเอไอเอส ได้เตรียมงบลงทุนด้านเครือข่ายกว่า 35,000-38,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายมือถือสู่ Next Generation ที่รองรับความเร็วถึง 1 GB

การขยายเครือข่าย NB-IoT (Narrow Band IoT) และ eMTC-Enhance Machine Type Communication เริ่มต้นทั่วกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 9 จังหวัด

รวมถึงการนำ VDO Content ใหม่ๆ ทั้งจากระดับโลก อย่างซีเอ็นเอ็น และการ์ตูนเน็ตเวิร์ค รวมไปถึงผู้ผลิต Content ของไทย ตลอดจนการเข้าไปซื้อหุ้นซีเอสล็อกซ์อินโฟ เพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรให้มากยิ่งขึ้น

สมชัย มองว่า การเติบโตเพียงอุตสาหกรรมสื่อสารไม่อาจช่วยยกระดับประเทศให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นภาคเอกชนจึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform เพื่อประเทศไทย

ในฐานะของแกนกลางสนับสนุน เชื่อมต่อทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อขยายขีดความสามารถเหล่านั้นผ่านดิจิทัลสร้างการเติบโตสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ

โดย 3 แพลตฟอร์มในช่วงเริ่มต้นเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว

1. AIS IoT Alliance Program – AIAP

เป็นความร่วมมือของสมาชิก 70 ราย ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ, Product, Service หรือ Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution/Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ขยายประโยชน์สู่ภาคประชาชน เสริมการบริหารจัดการในทุกภาคส่วน

2. The Play 365 : Local VDO Platform 

เป็นแพลตฟอร์มให้ศิลปิน สื่อมวลชน นักสร้างสรรค์ Content ทุกวงการ นำเสนอผลงาน สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคคนไทย พร้อมโครงสร้างรายได้และโมเดลที่เหมาะสม สอดคล้องกับตัวเลขผู้ชมที่แท้จริง

3. AIS IMAX VR  : VR Content Platform

ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนา VR Content สามารถเรียนรู้จากผู้ผลิต VR อันดับหนึ่งของโลกอย่าง IMAX พร้อมโครงการ VR Content Creator Program ที่เอไอเอสได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีของการสร้าง Content VR ให้กับอุตสาหกรรม 

เอไอเอสเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า นี่คือหนทางจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของภาครัฐในการนำพาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ

]]>
1158063
เมื่ออูเบอร์ เจอศึกหนัก หลังจากศาลอียูตัดสินว่า เป็นบริษัทแท็กซี่ ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี https://positioningmag.com/1151287 Fri, 22 Dec 2017 02:34:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1151287 ต้องถือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับ อูเบอร์ (Uber) ซึ่งวางจุดยืนของธุรกิจมาตลอดว่าเป็น แอปพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถ เมื่อผลคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรป ที่ระบุว่า อูเบอร์ นั้น เป็นบริษัทผู้ให้บริการแท็กซี่ ขนส่งไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีตามที่อูเบอร์กล่าวอ้าง

ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป หรือ ECJ (The European Court of Justice) ตัดสินว่า ผู้ให้บริการแท็กซีอูเบอร์ (Uber) หรือ ผู้บริการแอปพลิเคชั่นร่วมเดินทางจากสหรัฐอเมริการายนี้ป็นผู้ให้บริการแท็กซีเหมือนบริษัทแท็กซีอื่น ๆ ทั่วไป ไม่ได้เป็นบริษัทให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เหมือนที่ทางอูเบอร์พยายามชี้แจง

ถือเป็นคำตัดสินที่สร้างความกระจ่างให้กับทุกฝ่ายหลังจากรอความชัดเจนมานาน และคาดการณ์ว่า ทุกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป จะนำไปปรับใช้กันทั้งหมดด้วย


ECJ
กล่าวว่า บริการของอูเบอร์นั้น เป็นการเชื่อมต่อบุคคลทั่วไปให้ได้พบกับผู้ขับรถที่ไม่ได้ผ่านการรับรองอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ การตัดสินว่า อูเบอร์เป็นบริษัทขนส่งยังทำให้ข้ออ้างที่บริษัทใช้ตลอดมาว่าตนเองนั้น เป็นบริษัทเทคโนโลยีใช้ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งจะมีผลทำให้หน่วยงานด้านกฎหมายของแต่ละประเทศสามารถเข้าไปจัดระเบียบและควบคุมอูเบอร์ได้แล้วนับแต่นี้เป็นต้นไปด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลของหลายประเทศในสหภาพยุโรปต่างเห็นพ้องกันว่า อูเบอร์นั้นเป็นบริษัทแท็กซี่ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านคมนาคมของสหภาพยุโรป ไม่ใช่นิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีแล้วหลุดรอดมาโดยตลอด แต่คำตัดสินของ ECJ คือตัวที่ทำให้สถานการณ์มีความชัดเจนมากที่สุด

เท่ากับว่า อนาคตของอูเบอร์ต่อจากนี้ไปจะเผชิญหน้ากับความยากลำบากแล้ว เพราะจะมีชาติต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปถึง 28 ชาติรอที่จะจัดระเบียบอูเบอร์ให้เข้ากับกฎหมายจราจรของประเทศตัวเอง ซึ่งอาจหมายถึงการมีกฎหมายต่าง ๆ ออกมาควบคุม และการที่คนขับต้องมีไลเซนส์ในการขับรถเป็นการเฉพาะ 


รวมไปถึงต้องมีการจ่ายค่าใบอนุญาตการให้บริการแท็กซีที่มีราคาแพงเหมือนแท็กซีอื่น ๆ ทั่วไป รวมไปถึงจ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมตามแบบการให้บริการรถแท็กซี ซึ่งเดิมอูเบอร์ทำตามกฎหมายควบคุมผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สามารถเสนอการให้บริการที่ต่ำกว่ารถแท็กซี่ตามปกติทั่วไป

ทาง CNBC ได้มีการเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ทุกวันนี้ หากธุรกิจใดจะนิยามตัวเองเป็นร้านค้าออนไลน์ ก็ต้องมีเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อเป็นหน้าร้าน และมีการจัดส่งสิ่งของให้กับลูกค้า ขณะที่ในเคสของอูเบอร์ บริษัทก็มีการจัดหาคนขับรถให้ตามที่ลูกค้าร้องขอเช่นกัน จึงควรจะจัดอูเบอร์เป็นบริษัทแท็กซี่ได้ แม้อูเบอร์จะไม่มีการว่าจ้างคนขับเหล่านั้นเป็นพนักงานเลยสักคนก็ตาม

มีการคาดการณ์ว่า อาจมีการขยายผลไปสู่รูปแบบธุรกิจอื่น ๆ ที่มีลักษณะการแชร์ให้บริการที่คล้ายกันในอนาคต เช่น Airbnb ซึ่งเป็นบริษัทตัวกลางที่อนุญาตให้เจ้าของที่พักสามารถเปิดให้บ้านพักตัวเองถูกแขกแปลกหน้าเช่าเพื่อสร้างรายได้ในระหว่างที่เจ้าของบ้านเดินทางไปต่างประเทศ หรือเมืองอื่น

สำหรับในประเทศไทย อูเบอร์ ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน อูเบอร์เองก็ยังไม่ถูกกฎหมายเนื่องจากการขนส่งระบุว่ารถให้บริการแท็กซี่ได้จะต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะทั้งคนขับก็ต้องได้ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะและอัตราค่าโดยสารก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ในขณะที่อูเบอร์ให้บริการโดยรถบ้านหรือรถป้ายดำกำหนดค่าโดยสาร ทำให้อูเบอร์ท้งโดนล่อจับและแรงต้านจากแท็กซี่เพราะมองว่าถูกเอาเปรียบ

ล่าสุด อูเบอร์ ต้องลดแรงกดดัน หันไปจับมือกับ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของสหกรณ์ แท็กซี่สุวรรณ เปิด uberTaxi แต่ก็ยังเจอกรณีเรื่องราคาค่าโดยสารคิดแพงกว่าแท็กซี่มิเตอร์ทั่วไป เพราะอูเบอร์กำหนดราคาเอง

ดังนั้นเมื่อศาลสูงสหภาพยุโรปตัดสินออกมาแบบนี้แล้วจะเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอย่างไทยด้วยหรือไม่ ก็ต้องรอดูว่าหน่วยงานรัฐของไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่ออย่างไร.

]]>
1151287