เน็ตไอดอล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 14 Nov 2022 11:19:35 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เมื่อ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ เกิดใหม่เกลื่อนตลาดจะ ‘ยืนระยะ’ เติบโตได้อย่างไร https://positioningmag.com/1408179 Mon, 14 Nov 2022 09:02:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1408179 ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในกลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องก็คือ อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะจากผลสำรวจของ CMMU (College of Management, Mahidol University) นั้นพบว่าประชากรชาวโซเชียลว่า 47 ล้านคนของไทยมีการติดตามอินฟลูเอนเซอร์อย่างน้อย 1 คน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ใคร ๆ ก็อยากจะขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลบนโซเชียล

ไม่มีที่ว่างให้สายแมส!

จะเห็นว่ามีอินฟลูเอนเซอร์เกิดใหม่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็น ดารา มาเปิดช่องทำตัวเองเป็นครีเอเตอร์กันมากขึ้น เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้งานในวงการบันเทิงลดลง โดยทาง พันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง Country Manager of Thailand and Managing Director of Creator Growth  AnyMind Group ได้แนะนำว่า การสร้างตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ

พันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง Country Manager of Thailand and Managing Director of Creator Growth  AnyMind Group

อินฟลูฯ ที่พึ่งเกิดใหม่ ไม่ได้เป็นระดับ Top ในกลุ่ม (category) โดยเฉพาะกลุ่มที่กว้างมาก เช่น ท่องเที่ยว, ไลฟ์สไตล์ จากนี้ต้อง ลงลึก หรือจับ Sub-Segment โดยปัจจุบัน กลุ่มที่เติบโตมากที่สุดคือ ไฟแนนซ์ โดยเฉพาะเรื่องของคริปโตเคอร์เรนซี

“ถ้าอยู่ในแคกที่มันกว้างมากก็ต้องทำใจ ต้องลงลึกไปให้มากกว่าอย่างโจโฉที่อยู่ดี ๆ ก็โตขึ้นมาได้เพราะเขาจับซับเซกเมนต์ย่อยได้ ดังนั้น ต้องจับซับเซกเมนต์ย่อยให้ได้”

ปัจจุบัน การใช้งานอินฟลูฯ ส่วนใหญ่แบรนด์จะคิดถึงแต่ Top 3-5 ของแต่ละกลุ่ม ดังนั้น เรื่อง แรงกิ้ง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อินฟลูฯ ที่ต้องการเติบโตต้องวางแผนที่จะ ชิงแอร์ไทม์ จากเหล่า Top ของกลุ่มได้อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจเริ่มง่าย ๆ โดยการใช้ Social listening tools มาช่วย เช่น ดูว่าในช่วงที่ผ่านมามีการค้นหาชื่อของใครบ้าง แล้วตัวเองอยู่ตรงจุดไหนในเซกเมนต์ และดูว่าเขาทำคอนเทนต์ยังไงบ้าง

โจโฉ ยูทูบเบอร์สายลุยเจ้าของช่อง JoCho Sippawat

ทำความเข้าใจวิธีหาเงินจากแต่ละแพลตฟอร์ม

ปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์จะมี Pain Point ไม่เหมือนกันในแต่ละกลุ่ม สำหรับ Micro/Nano (1,000-20,000 Follower) จะเป็นเรื่องการสร้างการเติบโต ต้องวางกลยุทธ์การผลิตคอนเทนต์ การสร้างการเติบโตของ Follower ในแต่ละแพลตฟอร์ม ระดับกลาง (1-5 แสน Follower) พอเริ่มโตขึ้น จะเริ่มคิดถึงเรื่องการ สร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการหาจากแพลตฟอร์มและจากสปอนเซอร์ และจะทำอย่างไรให้สปอนเซอร์ชอบ ส่วน ระดับ Mega จะไม่กังวลเรื่องเงิน แต่จะเป็นเรื่องการสเกลการสร้างเน็ตเวิร์กของครีเอเตอร์

เบื้องต้น ควรจะรู้ถึงวิธีการสร้างรายได้ของแต่ละแพลตฟอร์ม เริ่มจาก

  • YouTube จะมีรายได้จาก 3 ทาง ได้แก่ ยอดวิว สปอนเซอร์ แล้วก็การสนับสนุนจากสมาชิก ซึ่งขึ้นอยู่กับครีเอเตอร์แล้วว่าจะมุ่งหารายได้จากไหน ถ้าหาจากยอดวิวการลงทุนกับคอนเทนต์อาจไม่จำเป็นต้องสูงมาก ดังนั้น จะเห็นว่ามีคลิปที่เน้นเปิดฟังคล้าย ๆ กับพอดแคสต์ ถ้าจะหาสปอนเซอร์ก็ต้องลงทุนกับคอนเทนต์
  • Facebook เน้นหาสปอนเซอร์ชิป แต่ต้องทำกลยุทธ์ร่วมกับแบรนด์ ดังนั้น ต้องมีการวางแผนมากกว่า ทั้งในเรื่องการบูสต์โพสต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะยอดขายที่แบรนด์ให้ความสนใจ
  • TikTok การหาสปอนเซอร์สามารถทำได้แต่ได้เงินน้อย เพราะแม้ยอดวิวเยอะแต่มันสั้นและดึงความสนใจคนได้ยาก ดังนั้น จะเหมาะกับการขายของบนแพลตฟอร์มมากกว่า โดยเฉพาะ TikTok Shop หรือการทำ Affiliate Marketing

แม้จะยังไม่มีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบว่าการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ของโซเชียลแพลตฟอร์มไหนมีมากที่สุด แต่เทรนด์ที่เห็นคือ ครีเอเตอร์มุ่งไป TikTok

“เราไม่ได้เชียร์ว่าถ้าดังจากแพลตฟอร์มหนึ่ง แล้วควรจะไปต่อที่แพลตฟอร์มอื่นด้วย เพราะเอกลักษณ์ของแต่ละแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าครีเอเตอร์ต้องเข้าใจแพลตฟอร์มและวิธีหาเงินของแต่ละแพลตฟอร์ม”

ผลิตภัณฑ์บิวตี้เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการแรงกระตุ้นทั้งราคาและรีวิว และรีวิวมีอิทธิพลมากกว่าเล็กน้อย

ทำอินฟลูฯ ไม่ใช่แค่จ้าง จ่าย จบ

สำหรับแบรนด์ที่จะใช้งานอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง สิ่งแรกที่ต้องมีคือ โจทย์ที่ชัดเจน ซึ่งอาจแบ่งหลัก ๆ 3 ข้อ

  • สร้างการรับรู้ (Awareness) โดยใช้อินฟลูฯ เบอร์ใหญ่ 2-3 คนพูดชื่อแบรนด์ดัง ๆ
  • การพิจารณา (Consideration) ใช้อินฟลูฯ ระดับใหญ่ผสมระดับไมโคร, นาโน
  • การตัดสินใจ (Conversion) ควรใช้อินฟลูฯ ระดับไมโครและนาโนเป็นหลัก และใช้ในจำนวนมาก ๆ

สิ่งสำคัญคือ ใช้อินฟลูฯ ที่เหมาะสมกับแบรนด์จริง ๆ และที่สำคัญคือ ครีเอทีฟที่ต้องระวังมากขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้อินฟลูฯ ครีเอททุกอย่างอาจจะเสียโอกาสที่จะสร้างอิมแพ็ค รวมถึงเป็นไปได้ที่อาจเกิด ดราม่า

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ยังมองว่าการทำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งคือเรื่องของการ ต่อราคา และให้อินฟลูฯ ทำตามสั่ง แต่ในปัจจุบันด้วยจำนวนอินฟลูฯ ที่มหาศาล ทำให้เอเจนซี่หรือแพลตฟอร์มเป็นอีกทางเลือกให้แบรนด์ ที่จะมาช่วยวางแผน และหาอินฟลูฯ ที่เหมาะ และแนะนำข้อควรระวังของอินฟลูฯ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลให้ลูกค้าเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแคมเปญ

“เราเห็นหลายครั้งที่ให้ครีเอเตอร์คิดเอง หรือแค่ไปแปะไว้เฉย ๆ ซึ่งมันเสียโอกาสเพราะเสียเงินไปแล้ว ดังนั้น การใช้ครีเอทีฟเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแบรนด์ต้องบาลานซ์ระหว่างแบรนด์และอินฟลูฯ นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยี ตอนนี้ตลาดยังไม่ได้แข่งขันกันเองมาก เพราะแบรนด์เลือกจะทำเองมากกว่า”

แบรนด์มุ่งหา Conversion ชาเลนจ์นักการตลาด

สำหรับแนวโน้มการทำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งใน 2-3 ปีจากนี้ คือ แบรนด์ต้องการใช้เงินอย่างคุ้มค่า แบรนด์ระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น และ กลับมามองผลลัพธ์มากขึ้น ให้ความสำคัญกับแค่เอนเกจเมนต์อย่างยอดวิว, ไลก์, แชร์ และคอมเมนต์น้อยลง ต้องการฟีดแบ็กในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

“ในเมื่อสภาพแวดล้อมมันเอื้อ คนสั่งของออนไลน์มากขึ้น ข้อจำกัดมันหายไป ดังนั้น การทำการตลาดต่าง ๆ มันสามารถนำไปสู่การขายได้ นี่จึงเป็นชาเลนจ์ของนักการตลาด”

Virtual Influencer ใหม่และท้าทาย

แม้ว่าเรื่องของ Metaverse จะเป็นกระแสของปีนี้ ทำให้เห็นการใช้ Virtual Influencer ในบางองค์กร แต่มันก็ยังมีความท้าทายถ้า ไม่สามารถสร้างความผูกพันกับผู้ชมได้ ซึ่งอาจจะทำให้ Virtual Influencer ไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ในไทย เพราะความสัมพันธ์ในเชิงอารมณ์มีบทบาทกับประสบการณ์ร่วมมาก ดังนั้น ขึ้นอยู่ที่ความสามารถในการสร้างการสื่อสารระหว่าง Virtual Influencer กับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า แต่ในกรณีของอนาคต ถ้า Metaverse เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนมากขึ้น มีการ Adopt Technology นี้มากขึ้น ก็อาจจะเป็นส่วนช่วยเสริมให้ Virtual Influencer มีโอกาสมากขึ้น

ผุดคอมมูนิตี้อินฟลูฯ Win-Win ทุกฝ่าย

ปัจจุบัน Anymind ได้มีการจัด webinar ให้อินฟลูเอนเซอร์มาแลกเปลี่ยนความรู้ประมาณ 2 ครั้ง/เดือน เพื่อช่วยแก้ Pain Point ที่เจอ หรือแนะนำแนวทางหากแพลตฟอร์มโซเชียลมีการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึม เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง

ซึ่ง Anymind ก็คาดหวังว่า เมื่อบริษัททำงานใกล้ชิดกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ โอกาสทางธุรกิจต่าง ๆ ก็จะตามมา เช่น มีเครือข่ายอินฟลูฯ ที่แข็งแรง สามารถหาคนได้ตรงตามความต้องการลูกค้า Win-Win ทุกฝ่าย

“ปัญหาของตลาดตอนนี้คือ อินฟลูฯ ล้นตลาด มีเกิดใหม่ตลอดเวลา เราเองต้องมีทีมงาน Influencers Discovery เพื่อแอดอินฟลูฯ หน้าใหม่เข้าระบบทุกวัน ขณะที่เราเองก็ทำงานกับครีเอเตอร์ทุกเธียร์ ดังนั้น เราจึงอยากสร้างคอมมูนิตี้ที่เฮลท์ตี้ขึ้นมา เพื่อให้อินฟลูฯ เขาเติบโตได้”

]]>
1408179
“LINE Idol” ร่วมสงครามนักปั้น “อินฟลูเอนเซอร์” https://positioningmag.com/1208051 Mon, 14 Jan 2019 06:57:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1208051 การเติบโตขึ้นของ “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งเชื่อว่าจะครองเมืองในปี 2019 นี้ ทำให้แม้แต่ “LINE” แอปพลิเคชั่นแชตที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 44 ล้านคนในเมืองไทย ยังต้องกระโดดเข้ามาร่วมวง ผ่านการออกบริการที่ชื่อว่า 

“LINE Idol”

“LINE Idol” นับเป็นบริการที่ 3 (เท่าที่เปิดตัว ณ วันนี้ ไม่นับบริการที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอีก) ที่มีจุดเริ่มต้นจากในเมืองไทย ต่อจาก LINE Man และ LINE TV โดยมีอายุราว 1 ปีกว่าแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงของการ Soft Launch ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ Official Launch อย่างเป็นทางการ

บริการนี้วางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวม อินฟลูเอนเซอร์ไว้ด้วยกัน เบื้องต้นจะคัดจากอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามอย่างต่ำ 1 ล้านราย ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง Facebook Twitter Youtube และ Instagram โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ ศิลปิน, เน็ตไอดอล, บล็อกเกอร์ และ Publisher 

ปัจจุบันมีทั้งหมด 37 ราย มีทั้งที่ LINE ติดต่อไปก่อนและติดต่อเข้ามาเอง โดย LINE จะเข้าไปซัพพอร์ตด้านเครื่องมือ เทคนิคการใช้ รวมไปถึงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเปิดเป็น Official Account ที่สามารถมีจำนวนผู้ติดตามได้ไม่จำจัด ต่างจาก LINE@ ที่มีข้อกำหนดผู้ติดตามได้ไม่เกิน 300,000 ราย

เป้าหมายของการมี LINE Idol คือหา คอนเทนต์ อย่างอื่นจากอินฟลูเอนเซอร์ในสังกัด เข้ามาเสริมใน “Timeline” มากกว่าแค่ผู้ใช้โพสต์เรื่องตัวเอง ซึ่งแม้จะมียอดการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 1,000 ล้านวิวต่อเดือน แต่ LINE เชื่อยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่านี้อีก เพราะเมื่อมีคอนเทนต์เข้ามาเสริม นั่นหมายถึงทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเพจวิวที่จะหลั่งไหลเข้ามา

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร Commercial Director, LINE ประเทศไทย กล่าวว่า

คอนเทนต์จะอยู่บน Timeline แม้บางคนจะมองว่าไม่เคยเข้าไปดูหรือโพสต์เลย แต่มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งของคนไทยคือชอบส่องและก็ชอบอ่าน ถึงขนาดที่เพจวิววของ Timeline เมืองไทยสูงที่สุดในโลก สูงกว่าญี่ปุ่นที่ชอบอ่านเสียมากกว่า

โมเดลการหารายได้จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการหักรายได้จากอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ในสังกัด เพราะหากแบรนด์ต้องการลงโฆษณาต้องติดต่อไปที่เอเจนซี่ที่ดูแลอีกทีหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าต้องลงเฉพาะบน Timeline เท่านั้น สามารถซื้อเพื่อลงในแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย ขณะนี้มีการซื้อเข้ามาแล้ว โดยเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มสินค้า FMCE

โดยสิ่งที่ LINE ได้คือ การขายโฆษณาที่อยู่บน Timeline โดยตรง ผ่าน “LINE Ads Platform : LAP” ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งการมี LAP จะทำให้แบรนด์เล็กๆ สามารถซื้อ Ad ลงใน LINE ได้ จากแต่ก่อนเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ที่ซื้อผ่านเอเจนซี่เสียมากกว่า แต่ทั้งนี้ LAP ยังคงต้องซื้อผ่านเอเจนซี่อยู่ดี เพราะมีเรื่องของอาร์ตเวิร์กที่ต้องดู ยังไม่เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้ซื้อตรง โดย LINE ได้ดีลกับเอเจนซี่ขนาดเล็กรวม 200 รายไว้รองรับแล้ว

LINE บอกว่า จุดแข็งของ Timeline อยู่ที่ Organic Reach 100% เพราะแค่เพื่อนกดไลก์คอนเทนต์นั้นๆ ก็จะขึ้นในหน้าฟีดให้ทุกคนที่เป็นเพื่อนในไลน์ได้เห็นด้วย และเพื่อป้องกันดราม่าที่สามารถเกิดขึ้นได้ LINE จึงมีกฎที่สามารถลบโพสต์ที่สุ่มเสี่ยง โดยที่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าได้

จริงๆ แล้ว LINE มี “LINE TODAY” ที่รวบรวมคอนเทนต์อยู่แล้ว โดยนรสิทธิ์ เปรียบเทียบ LINE TODAY เหมือนหนังสือพิมพ์ ส่วน LINE Idol เหมือนนิตยสาร ทุกคนอาจอ่านหนังสือพิมพ์เหมือนกัน แต่นิตยสารอยู่ที่ความชอบของแต่ละคน เช่นเดียวกับ LINE TODAY ที่คนอ่านเพราะต้องการอัพเดตเรื่องราวในแต่ละวัน แต่สำหรับ LINE Idol เลือกที่จะตามเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์ที่ตัวเองชอบเท่านั้น

จนถึงขนาดนี้ LINE ยังไม่ได้วางกำหนดที่ชัดเจน สำหรับการเปิดตัว “LINE Idol” อย่างเป็นทางการ เพราะด้วยตัวเลขอินฟลูเอนเซอร์ 37 รายที่อยู่ในมือ LINE ยอมรับยังไม่ใช่ตัวเลขที่สวยหรูมากนัก จึงต้องใช้เวลาในการเพิ่มจำนวน รวมไปถึงทดลองให้แน่ใจเสียก่อน.

]]>
1208051
เปิด 10 อันดับ YouTuber ทำเงินสูงสุดแห่งปี 2018 https://positioningmag.com/1201765 Fri, 07 Dec 2018 04:32:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1201765 นิตยสาร Forbes เผยรายชื่อ Top 10 ดาวเด่นเน็ตไอดอลที่ทำรายได้สูงที่สุดบน YouTube ประจำปี 2018 โดยคำนวณรายได้จากการโฆษณาบนวิดีโอ รวมถึงดีลพิเศษด้านการขาย และแหล่งรายได้อื่น แน่นอนว่าทั้ง 10 YouTuber มีกลุ่มแฟนคลับที่ไม่ธรรมดา และบางคนยังเกาะกลุ่ม Top 10 ไว้ได้แม้จะเคยพลาดท่าจนถูก YouTube สั่งแบนและถอดออกจากโปรเจกต์ใหญ่ไป

10. Logan Paul – 14.5 ล้านเหรียญ

Logan Paul เป็น YouTuber ที่กลายเป็นข่าวดังช่วงต้นปี 2018 เนื่องจาก YouTube ประกาศปลดช่องของ Paul ออกจากโปรแกรมโฆษณา Google Preferred หลังจาก Paul อัปโหลดวิดีโอที่ฉายภาพศพซึ่งเป็นเหยื่อการฆ่าตัวตายที่ห้อยอยู่กับต้นไม้ในประเทศญี่ปุ่น 

แม้นักแสดงตลกวัย 23 ปีอย่าง Paul ประกาศขออภัยทันทีที่เรื่องกลายเป็นกระแส แต่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นแล้ว YouTube ประณามว่าภาพดังกล่าวละเมิดนโยบายทำให้ต้องระงับวิดีโอนี้ ขณะเดียวกันบัญชีของ Paul ก็ถูกทำเครื่องหมายว่า “strike” นาน 3 เดือนซึ่งหมายถึงการเสียรายได้ไม่น้อยในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม Paul สามารถกลับมายิ้มได้อีกครั้ง และยังคงติดอันดับ Top 10 อันดับนี้ถือว่าลดลงจากปี 2017 ที่ Paul เคยถูกจัดเป็นอันดับที่ 4 ของตารางปีที่แล้ว

9. PewDiePie – 15.5 ล้านเหรียญ

นักพากย์เกมสัญชาติสวีดิชอย่าง PewDiePie มีชื่อจริงว่า Felix Kjellberg ก่อนหน้านี้ PewDiePie วัย 27 ปีกลายเป็นข่าวร้อนแรงเพราะถูกวิจารณ์ว่าวิดีโอหลายชิ้นในช่วงปี 2017 ของเขามีเนื้อหาต่อต้านยิวและเหยียดผิว แน่นอนว่ากระแสนี้ไม่มีผล และ PewDiePie เป็นหนึ่งใน 10 ผู้ที่มีรายได้สูงสุดของ YouTube ประจำปีนี้

รายงานจาก Forbes ชี้ว่าแบรนด์กลับมาสนับสนุนเงินทุนให้ PewDiePie มูลค่ามากถึง 450,000 เหรียญต่อวิดีโอ คิดเป็นเงิน 14.7 ล้านบาททีเดียว

8. Jacksepticeye – 16 ล้านเหรียญ

Seán McLoughlin อายุ 28 ปีถูกขนานนามเป็น YouTuber ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไอร์แลนด์ หนุ่มไอริชรายนี้เป็นนักพากย์เกมที่มีผู้ติดตามมากกว่า 20 ล้านราย ต้องยอมรับว่า Jacksepticeye โดดเด่นมากในวงการ YouTuber เพราะหนุ่มหน้าใสรายนี้ผลิตซีรีส์ร่วมกับดิสนีย์ และกำลังพัฒนาเนื้อหาสำหรับแพลตฟอร์ม Twitch ที่ถ่ายทอดสดในรูปไลฟ์สตรีมมิ่งต่อเนื่อง

7. VanossGaming – 17 ล้านเหรียญ

อีกหนึ่งเกมเมอร์ระดับโลกที่สร้างชื่อและทำเงินสูงที่สุดบน YouTube คือ Evan Fong นักแคสต์เกมสัญชาติแคนาเดียนที่รู้จักกันดีในชื่อ VanossGaming จุดเด่นของ VanossGaming คือการเลือกเล่นเกมหลักเมนสตรีมเช่น Call of Duty และ Assassin’s Creed 

VanossGaming เป็นครีเอเตอร์วัย 26 ปีที่สามารถโกยฐานแฟนคลับมากกว่า 23 ล้านรายทั่วโลก

6. Markiplier – 17.5 ล้านเหรียญ

Markiplier เป็นดาวรุ่งในกลุ่มนักแคสต์เกม YouTube อเมริกันที่ทำรายได้สูงสุดปี 2018 รายได้รวมทั้งปีไม่ธรรมดาเกินหลัก 17 ล้านเหรียญสหรัฐ

Markiplier วัย 29 ปีมีชื่อจริงคือ Mark Edward Fischbach เป็นที่รู้จักในวิดีโอชุด “Let’s Play” ซึ่ง Markiplier จะแสดงความเห็น on-screen commentary เกี่ยวกับเกมในขณะที่เล่นไปด้วย ก่อนหน้านี้ Markiplier เคยปรากฏตัวในรายการ Jimmy Kimmel Live เมื่อปี 2014 เพื่อแสดงให้โลกรู้ถึงสิ่งที่เขากำลังทำ 

5. Jeffree Star – 18 ล้านเหรียญ

Jeffree Star เป็นเมกอัพอาร์ทิสต์วัย 33 ปีที่เปลี่ยนตัวเองเป็นกูรูความงามหรือ beauty mogul ได้อย่างชาญฉลาด รายงานของ Forbes ชี้ว่า Jeffree Star สามารถขายเครื่องสำอางแบรนด์ Jeffree Star มูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

4. DanTDM – 18.5 ล้านเหรียญ

DanTDM หรือ Daniel Middelton เป็นเกมเมอร์ชาวอังกฤษที่ครองแชมป์ทำรายได้สูงสุดประจำปี 2017 ที่ผ่านมา ประสบการณ์ของ DanTDM คือการเล่นเกมผ่านกล้องและขายสินค้า เช่น เป้สะพายหลัง เสื้อยืดฮู้ดดี้ และหมวกมานานกว่า 6 ปี ปัจจุบัน DanTDM มีผู้ติดตาม 20.7 ล้านคน

3. Dude Perfect – 20 ล้านเหรียญ

5 หนุ่ม Dude Perfect ประกอบด้วยฝาแฝด Coby และ Cory Cotton, Garrett Hilbert, Cody Jones และ Tyler Toney มีฐานสมาชิก 36 ล้านคนที่ติดตามดูภาพเหลือเชื่อบนวิดีโอ วิดีโอไอเดียแหวกแนวของ Dude Perfect ทำรายได้ถึง 20 ล้านเหรียญ

2. Jake Paul – 21.5 ล้านเหรียญ

น้องชายของครีเอเตอร์ YouTuber อย่าง Logan Paul คนนี้มีอายุ 21 ปี ดีกรีความสำเร็จของ Jake Paul คือการถูกจัดให้อยู่ในทำเนียบ top social media influencer ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมแถมหน้าซึ่งเป็นที่นิยมมากเพราะ Jake Paul รับบท Dirk ในซีรีส์ของดิสนีย์แชนแนลเรื่อง “Bizaardvark” ทำให้ Jake Paul เป็นที่รู้จักกันดีในช่อง YouTube ของเขาซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 17 ล้านคน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีบันทึกว่าผู้คนกว่า 800,000 รายยอมจ่ายเงิน 10 เหรียญต่อครั้งเพื่อเข้าชมการแข่งขันชกมวยแบบเสียค่าชม (pay-per-view) บน YouTube ซึ่ง Paul ได้ท้าชนเพื่อน YouTuber อย่าง KSI แน่นอนว่าไม่มีใครเป็นนักมวยมืออาชีพเลย

1. Ryan ToysReview – 22 ล้านเหรียญ

แชมป์รายได้อันดับ 1 บน YouTube ในปีนี้ไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่เป็นของเด็กชายวัย 7 ขวบที่ชื่อว่า Ryan ซึ่งถ่ายทำวิดีโอขณะกำลังเล่นของเล่นหลากหลายตั้งแต่รถของเล่น ตัวต่อ รวมถึงหุ่นไดโนเสาร์

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า Ryan ทำรายได้ 11 ล้านเหรียญจากช่อง YouTube และเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 8 ในทำเนียบ Top 10 ประจำปีที่แล้ว เพียง 1 ปี ช่อง YouTube ของ Ryan ดึงดูดผู้ปกครองและเด็กทั่วโลกที่คอยเฝ้าดูหนุ่มน้อย Ryan ทดสอบของเล่นใหม่ ปัจจุบัน นามสกุลของ Ryan ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ถือเป็นการเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคลของหนูน้อยที่เริ่มรีวิวของเล่นตั้งแต่อายุ 4 ขวบ

วิดีโอของ Ryan ที่ถูกเปิดชมมากที่สุดคือ Ryan กับไข่อีสเตอร์ขนาดยักษ์และบ้านเด้งดึ๋ง วิดีโอนี้มีผู้ชมกว่า 1,600 ล้านวิว ช่อง YouTube ของ Ryan มีผู้ชมรวมกว่า 25,000 ล้านวิว และผู้ติดตาม 17 ล้านราย จุดนี้ Forbes รายงานว่าตอนนี้ Ryan มีไลน์คอลเลกชั่นของตัวเองวางขายอยู่ที่ Walmart เรียบร้อย.

ที่มา :

]]>
1201765
Youtuber “ตัวจิ๋ว” 6 ขวบหาเงินได้วันละล้าน!!! https://positioningmag.com/1152993 Tue, 09 Jan 2018 05:32:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1152993 อินเทอร์เน็ตกำลังทำให้คนธรรมดา ๆ สามารถเป็นซูเปอร์สตาร์ได้โดยไม่ต้องอาศัยต้นสังกัดที่ทรงอิทธิพล และเด็ก ๆ จำนวนมาก็สามารถหาเงินได้อย่างมากมายมหาศาล ชนิดที่ว่าบางคนมีรายได้รายวันเท่ากับรายได้ขั้นต่ำของผู้ใหญ่ทั้งปี!!!

อาชีพ “เน็ตไอดอล” หรือ “ดารา Youtube” ที่เรียกกันว่า “Youtuber” ที่อาจมองว่าเป็นงาน “ไร้สาระ” ในสายตาของผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย กำลังทำเงินให้กับคนกลุ่มหนึ่งอย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่เว้นแต่เหล่าเด็ก ๆ ที่สามารถสร้างผลงาน และเผยแพร่ให้กับคนทั้งโลกได้ชมกัน จากที่บ้านของตัวเอง

ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีเหล่า “ซูเปอร์สตาร์เด็ก” ที่มีรายได้ระดับอภิมหาเศรษฐีมาแล้วในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็น เชอร์รี เทมเพิล หรือ แม็คคูลีย์ คัลกินส์ แต่ในยุคก่อน เด็กดังเหล่านี้ต้องผ่านการเรียนการแสดง หรือร้องเพลงมาอย่างจริงจัง แสดงความสามารถ “เหนือเด็ก” และยังต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ด้วย 

แต่ดาราเด็กยุคใหม่เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเล่นหนัง หรือออกผลงานเพลงเหมือน “ซูเปอร์สตาร์เด็ก” ในยุคก่อน ๆ พวกเขาดูเป็นเด็กธรรมดา ๆ พูดภาษเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป แต่กลับสามารถหาเงินได้ในระดับหลักล้านเหรียญสหรัฐ

โดย Play Like Mum ได้คำนวณรายได้ของเหล่าคนดังวัยเยาว์ในระดับโลกเหล่านี้ และนี่คือเหล่าซูเปอร์สตาร์ตัวน้อยแห่งโลกออนไลน์ ที่มีรายได้ในระดับที่น่าอิจฉาจริง ๆ

Ryan ToysReview 11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 358 ล้านบาทกันเลยทีเดียว หากคิดเป็นรายวันก็มากถึง 29,000 เหรียญฯ หรือ 1 ล้านบาทต่อวัน

“ไรอัน” 6 ขวบ นักรีวิวของเล่น รายได้ 11 ล้านเหรียญฯ ต่อปี หรือ 358 ล้านบาท 

หนูน้อยวัย 6 ขวบ “ไรอัน” ที่ไม่ได้เปิดเผยนามสกุล และที่อาศัยคนนี้เป็นเจ้าของแชนแนล Ryan ToysReview ใน YouTube ที่มีคนซับสไครมากถึง 10 ล้านคน และคลิป HUGE EGGS SURPRISE TOYS CHALLENGE ซึ่งมีคนดูมากที่สุดของเขามีผู้กดเข้าไปชมมากถึง 1 พันล้านครั้งเลยทีเดียว 

จากจุดเริ่มต้นคลิปรีวิวชุดรถไฟ Lego Duplo เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนที่ไรอัน อายุแค่ 3 ขวบ ซึ่งเป็นคลิปความยาวประมาณ 15 นาทีที่ Washington Post บอกว่าเป็นคลิปพื้น ๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น ไรอัน ก็แค่แกะกล่องของเล่น และพูดอะไรไปตามประสาเด็กเท่านั้น แต่ท่าทางอันเป็นธรรมชาติ และการพูดภาษาแบบเดียวกันคนวัยเดียวกัน ทำให้เด็ก ๆ จำนวนมากเริ่มสนใจคลิปของไรอัน จนแชนแนล Ryan ToysReview เริ่มได้รับความนิยม และทำเงินให้กับครอบครัวของเขาอย่างเป็นกอบเป็นกำ

Forbes ยังได้จัดอันดับให้เด็กคนนี้เป็นหนึ่งใน “เจ้าของกิจการรายย่อย” ใน YouTube ที่มีรายได้มากที่สุดคนหนึ่ง โดยประมาณกันว่าระหว่างเดือน มิ.ย. 2016 – มิ.ย. 2017 เขาสามารถหาเงินจากการรีวิวของเล่นได้มากถึง 11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 358 ล้านบาทกันเลยทีเดียว หากคิดเป็นรายวันก็มากถึง 29,000 เหรียญฯ หรือ 1 ล้านบาทต่อวัน

Family Fun Pack รายได้ วันละ 11,000 เหรียญฯ หรือประมาณ 3.5 แสนบาท และ รายได้ต่อปีอยู่ที่ 3 ล้านเหรียญฯ หรือ 95 ล้านบาท

ทำเงินวันเดียว มากกว่ารายได้ผู้ใหญ่ทั้งปี 

ยังมีเด็ก ๆ อีกมามายทั่วโลก ที่สามารถหาเงินได้ชนิดผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ได้แต่ฝันถึง จากการเป็น “ดารา Youtube” เพราะแต่ละคนสามารถทำรายได้ระดับล้านเหรียญต่อปีได้อย่างเหลือเชื่อ หากนำรายได้ของเหล่า Youtuber ตัวจิ๋วเหล่านี้ใน 10 อันดับแรกมารวมกันแล้ว ก็เป็นเงินสูงถึง 127 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

Family Fun Pack เป็นอีกแชนแนลที่ได้รับความนิยมมาก ดาราของแชนแนลนี้คือ 6 พี่น้องที่มีอายุตั้งแต่ 4 – 10 ปี กับภาพกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยว และเล่นกัน และมีคนกดซับสไครไปถึง 6 ล้านคน คลิปโชว์ชุดแฟนซี Kids 72 Costume Runway Show ของพวกเขามีคนดูมากที่สุดถึง 440 ล้านคน เลยทีเดียว โดย Family Fun Pack ได้ประมาณวันละ 11,000 เหรียญฯ หรือประมาณ 3.5 แสนบาท และ รายได้ต่อปีอยู่ที่ 3 ล้านเหรียญฯ หรือ 95 ล้านบาท 

ส่วน MattyB ของ แม็ตธิว เดวิด มอริส วัย 14 ขวบ นำเสนอเพลงที่เขามิกซ์เอง โดยหนุ่มน้อยชาวแอตแลนต้าคนนี้เริ่มมีชื่อเสียงจากการมิกซ์เพลงของ จัสติน บีเบอร์ จนปัจจุบันแชนแนลของเขามีคนตามอยู่ 9.4 ล้านคน และทำเงินได้ราว 4,000 เหรียญฯ ต่อวัน

ยังมีแชนแนล EvanTubeHD ที่มีรายได้ 3,700 เหรียญต่อวัน, แอนนี เลอบล็อง 2,100 เหรียญ และ Gamer Girl แชนแนลเล่นเกมของสาวน้อยชาวแคนาดาฟันไป 1,800 เหรียญฯ ต่อวัน

MattyB เงินได้ราว 4,000 เหรียญฯ ต่อวัน

เด็กถึงเด็ก : เพื่อนถึงเพื่อน 

เหมือนในกรณีของ Ryan ToysReview ที่แม้จะเรียกว่าเป็นการ “รีวิวของเล่น” แต่แชนแนลของ ไรอัน ก็ไม่ได้ “วิเคราะห์ หรือแจกแจงข้อดีข้อเสีย” อย่างการรีวิวของผู้ใหญ่ทั่ว ๆ ไป เว็บไซต์ Verge อธิบายว่า Ryan ToysReview คือ vlog ที่ว่าด้วยชีวิตทั่ว ๆ ไปของ ไรอัน และการ “แกะกล่อง” ของเล่น “ซึ่งนำเสนอความบริสุทธิ์ของวัยเยาว์ และการแสดงออกแบบไม่มีลูกล่อลูกชนใด ๆ แต่เต็มไปด้วยความจริงใจ” ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่แม้แต่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ระดับมืออาชีพก็ยังยากที่จะสร้างความรู้สึกแบบนี้ออกมาได้

บริษัทของเล่นก็ยอมรับว่าแชนแนลของ ไรอัน “กระตุ้น” ความอยากได้ของเล่นของเด็กได้เป็นอย่างดี พ่อแม่หลายคนบอกว่าพวกเขาต้องซื้อของเล่นแทบจะทุกชิ้นที่ไรอัน “แกะกล่อง”

แชนแนลเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการนำเสนอที่หวือหวาอะไร จำนวนไม่น้อยถ่ายทำแบบ “บ้าน ๆ” และอาจจะดู “ไม่มือาชีพ” ด้วยซ้ำไป ผู้ใหญ่อาจจะดูแล้วไม่เข้าใจว่าแชนแนลเหล่านี้มีอะไรน่าดึงดูด แต่เนื้อหาที่เด็ก ๆ กับพ่อแม่สร้างกันเอง เหล่านี้กลับสามารถ “สื่อสาร” ไปถึงคนวัยเดียวกันได้อย่างเหลือเชื่อ เด็ก ๆ สามารถเข้าใจใน “ภาษา” ของกัน และกัน 

เด็กส่วนใหญ่รู้สึกว่าดารา Youtuber คนดังเหล่านี้คือเพื่อนของพวกเขา เด็กหลายคนจะพูดกับคนวัยเดียวกันในคลิปไปด้วย และมีพ่อแม่ของเด็กออทิสติกที่บว่าลูกเริ่มพูดมากขึ้น เมื่อดูคลิปพวกนี้ 

EvanTubeHD ที่มีรายได้ 3,700 เหรียญฯ ต่อวัน
แอนนี เลอบล็อง 2,100 เหรียญฯ ต่อวัน

ที่มา : mgronline.com/entertainment/detail/9600000126962

]]>
1152993