เบบี้บูม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 12 Jun 2020 01:05:31 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ถ้าพนักงานวัย “เบบี้บูม” ต่ออายุปลดเกษียณ เจนเอ็กซ์-เจนวายจะถูกลดโอกาสขึ้นเงินเดือน https://positioningmag.com/1283227 Thu, 11 Jun 2020 15:53:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1283227
  • งานวิจัยจากอิตาลีพบว่า หากพนักงานวัยเบบี้บูมขอต่ออายุงานก่อนเกษียณออกไปอีก พนักงานรุ่นน้องจะถูกบล็อกจากการเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า รวมถึงการขึ้นเงินเดือนด้วย
  • หากคิดเป็นอัตราเฉลี่ยคือ การยืดอายุงานก่อนเกษียณ 1 ปี จะทำให้พนักงานที่เด็กกว่าถูกลดโอกาสเลื่อนขั้นไป 20%
  • ยิ่งเป็นบริษัทที่เติบโตช้า ผลกระทบต่อพนักงานอายุน้อยจะยิ่งเห็นชัดขึ้น
  • “พนักงานอาวุโสยืดเวลาปลดเกษียณ ทำให้พนักงานอายุน้อยไม่ได้เลื่อนขั้นเสียที” เสียงบ่นทำนองนี้เป็นเรื่องปกติในหมู่คนเจนเอ็กซ์-เจนวาย

    แต่นักเศรษฐศาสตร์มักจะโต้แย้งแนวคิดนี้ด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง หากพนักงานอายุน้อยแสดงความสามารถ บริษัทสามารถปรับเพิ่มตำแหน่งระดับบริหารให้พวกเขาได้ สอง หากบริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่ไม่ดูแลเรื่องเลื่อนขั้น บริษัทคู่แข่งจะยื่นข้อเสนองานที่ดีกว่าทันที “ถ้าคุณทำงานได้ดีจริงๆ ใครบางคนจะโฉบเข้ามาคว้าตัวคุณไป” นิโคล่า เบียนคี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ธุรกิจ มหาวิทยาลัย Kellogg กล่าว

    แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เสียงบ่นของพนักงานอายุน้อยจะมีความจริงอยู่ในนั้นบ้างไหม?

    คำตอบคือ “มี” เพราะงานวิจัยใหม่โดยเบียนคี และ ไมเคิล พาวเวลล์ รองศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ธุรกิจ มหาวิทยาลัย Kellogg พิสูจน์ว่า การเกษียณช้าของพนักงานรุ่นใหญ่มีผลต่อพนักงานรุ่นน้องจริง

    (Photo by August de Richelieu from Pexels)

    โดยทีมของพวกเขาเลือกหยิบนโยบายปฏิรูปของอิตาลีเมื่อปี 2011 ซึ่งปรับข้อกำหนดการรับเงินบำนาญให้เข้มงวดขึ้นและลดเงินบำนาญลง ส่งผลให้สูตรการคำนวณเพื่อรับเงินบำนาญเต็มเปลี่ยนไป และกลายเป็นว่า พนักงานหลายคนต้องยืดอายุงานก่อนเกษียณออกไปอีก

    ทีมได้หยิบผลที่เกิดขึ้นใน 105,000 บริษัททั่วอิตาลีมาใช้ในการคำนวณของงานวิจัยและพบว่า บริษัทหลายแห่งที่พนักงานอาวุโสเลื่อนกำหนดการเกษียณออกไป พนักงานรุ่นน้องของบริษัทจะได้ขึ้นเงินเดือนช้ากว่าและเลื่อนขั้นช้ากว่าเช่นกัน

    ผลลัพธ์ของการศึกษานี้พบว่า เส้นทางอาชีพของพนักงานแต่ละคน ส่วนหนึ่งจะได้รับผลกระทบจากเพื่อนร่วมงานด้วย ไม่ใช่แค่เพียงแรงกระทำของตลาดงานโดยกว้างเท่านั้น

     

    ยิ่งบริษัทเติบโตช้า ยิ่งเห็นผลกระทบชัด

    การเลื่อนการปลดเกษียณออกไปไม่ได้ส่งผลต่อพนักงานทุกคนเท่ากัน สำหรับพนักงานอายุน้อยที่อยู่ใน บริษัทที่กำลังเติบโตรวดเร็ว จะยังมีโอกาสเลื่อนขั้น และเงินเดือนที่เติบโตช้าลงจะเกิดขึ้นเฉพาะกับพนักงานวัยมากกว่า 35 ปีเท่านั้น เพราะบริษัทที่กำลังขยายตัวมีโอกาสเปิดตำแหน่งระดับบริหารเพิ่มและการขึ้นเงินเดือนมากกว่า แต่พาวเวลล์คาดว่าผลกระทบนั้นก็มีอยู่บ้าง แต่ส่งผลลดหลั่นกันลงไปจนไปถึงพนักงานที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท

    ในอีกมุมหนึ่ง สำหรับ บริษัทที่เติบโตช้า ผลกระทบเรื่องการเลื่อนขั้นและเงินเดือนที่โตช้าลงของพนักงานอายุน้อยจะยิ่งเห็นชัดขึ้น แล้วทำไมคนเหล่านั้นจึงไม่รู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญจนลาออกไปทำงานที่อื่น?

    (Photo by Tim Gouw from Pexels)

    กรณีของอิตาลีปี 2011 ซึ่งเป็นแบบในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เศรษฐกิจของอิตาลีอยู่ในช่วงเติบโตช้า และคนส่วนมากจะไม่กล้าเสี่ยงเปลี่ยนที่ทำงาน ในเชิงสถิติแล้วทีมวิจัยก็ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการยืดอายุเกษียณกับการลาออกของพนักงานอายุน้อย

    สถิติสรุปผลได้ว่า เมื่อพนักงานเจอโครงสร้างตำแหน่ง “ตัน” พนักงานมักลังเลที่จะทิ้งผลงานที่สั่งสมมาในที่ทำงานปัจจุบันและไปเริ่มต้นใหม่ พวกเขาจะยังต่อคิวรอการเลื่อนขั้นต่อไป

     

    บริษัทควรบริหารอย่างไร

    ข้อแนะนำสำหรับผู้บริหารองค์กรด้านทรัพยากรบุคคลคือ บริษัทที่จะรับสมัครพนักงานใหม่ควรระมัดระวังการวาดฝันเรื่องการเติบโตไปกับบริษัท ถ้าหากจะให้คำสัญญาเรื่องตำแหน่ง บริษัทต้องมั่นใจว่ามีโครงสร้างที่ช่วยเติมเต็มความฝันให้พนักงานอายุน้อยเหล่านี้ได้

    สิ่งเหล่านี้คำนวณได้จากอัตราการเติบโตของบริษัท และการกระจายระดับอายุของพนักงานระดับบริหาร หากผู้บริหารระดับสูงทุกคนยังอายุน้อย ขณะที่บริษัทเติบโตช้า บริษัทอาจจะไม่มีพื้นที่ให้พนักงานระดับล่างเติบโตมากนัก

    ถ้าหากบริษัทต้องการเปิดพื้นที่ให้พนักงานอายุน้อยได้ปรับตำแหน่งขึ้นมา อาจต้องพิจารณาโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดสำหรับพนักงานสูงวัย หรือถ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ อาจจะต้องทดแทนด้วยการขึ้นเงินเดือนเพื่อเก็บพนักงานความสามารถสูงไว้กับบริษัทก่อน

    และผู้บริหารบริษัทต้องตระหนักด้วยว่า การปรับอายุเกษียณให้สูงขึ้นจะส่งผลต่อพนักงานอายุน้อย ดังที่งานวิจัยนี้พบ

    Source

    ]]>
    1283227
    เผยผลสำรวจ “เศรษฐกิจสุขภาพในไทย คนไทยเข้าสู่วังวน “จน – เครียด – ป่วย” ชี้ฝึกสมาธิ -ใช้แอปสุขภาพ เทรนด์รักษา https://positioningmag.com/1206097 Wed, 02 Jan 2019 06:23:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1206097 วันเดอร์แมนธอมสัน (Wunderman Thompson) บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารการตลาดในเครือดับบลิวพีพี กรุ๊ป เผยผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจสุขภาพในประเทศไทย (The Well EconomyThailand)” ในกลุ่มคนจำนวน 500 คน พบข้อมูลแปลกใหม่ที่น่าสนใจในกลุ่มผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 4 บริบทที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยในยุคปัจจุบัน ได้แก่ นิยามของคำว่าสุขภาพ, สาเหตุที่สุขภาพไม่ดี, การรักษา, สุขภาพและเทคโนโลยี

    นิยามของสุขภาพดี ต้องดี 5 ด้าน! และการไดเอทคือเทรนด์มาแรงสุด

    ผลการสำรวจล่าสุดพบว่าผู้คนในยุคนี้ให้คำนิยามของ “สุขภาพดี” ต้องครอบคลุมถึง สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางเพศ สติสัมปชัญญะ ความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต

    แต่กลุ่มคนเจน X และเบบี้บูมเมอร์จะรู้สึกว่า สุขภาพจิต เป็นส่วนสำคัญในนิยามของคำว่าสุขภาพ

    ในขณะที่เจน Z และคนรุ่นมิลเลนเนียล จะเชื่อมโยงสุขภาพกับสุขภาพด้านร่างกาย และ ความสมบูรณ์แข็งแรง ที่สำคัญประเด็นด้านการควบคุมดูแลอาหาร (Diet) เช่นการเลือกอาหาร หรือการให้ความสำคัญกับการอ่านผลิตภัณฑ์ ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง มากกว่าการออกกำลังกาย ที่จะช่วยในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี แรงจูงใจหลักในการดูแลร่างกายของคนไทยคือต้องการให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูดี (Positive Self Image) ผ่านการมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและไม่มีโรคร้ายแรง โดยพบว่า 82% ผู้คนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ฉันจะต้องดูดี 50% ของเจน Z มิลเลนเนียล และเจน X จดจ่ออยู่กับการดูแลรักษาร่างกายให้ดูดีสมส่วนและสมบูรณ์แข็งแรง และมักจะกังวลเรื่องน้ำหนักตัวของตนเองหรือการที่พวกเขาไม่กำยำล่ำสันมากพอ และ 89% มองว่าปัจจุปันนี้การเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพได้กลายเป็นกระแสนิยมที่ห้ามตกเทรนด์

    แล้วถ้าเป็นเรื่องสาเหตุที่สุขภาพไม่ดีล่ะ? คนคิดว่าเกิดจากอะไร

    คนไทย 90% เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา แทนที่จะกล่าวหาพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตส่วนตัวของตนเอง! นอกจากนี้ ยังหวังให้ภาครัฐออกมาทำหน้าที่ดูแลประชาชนอีกด้วย

    ส่วนปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพไม่ดี คือ เรื่องเงินทองและการเงินส่วนบุคคล ถูกตั้งประเด็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนยุคนี้เกิดความเครียด (58%) เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย (52%) จีน (42%) อินโดนีเซีย (60%) ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขาโดยตรง และนำไปสู่วัฏจักรการหาเงินมาแก้ไขปัญหาสุขภาพวนเวียนอยู่ไม่รู้จบ เข้าข่ายที่ว่า “เงินน้อย (ลง) ส่งผลให้เกิดความเครียด เมื่อเกิดสภาวะเครียดกดดัน ก็กระทบกับสุขภาพกายและใจ จึงทำให้เจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วย จึงต้องเสียเงินเพื่อเยียวยารักษา” โดยพบว่าคนเจน X มีแนวโน้มจะมีความเครียดมากที่สุดในทุกแง่มุมของชีวิต

    คำแนะนำผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์คือทางออกหลัก พุทธศาสนาส่งผลดีในด้านการรักษาตนเอง

    เมื่อพบว่าป่วย คนไทยจะรักษาตนเองด้วยยาแก้ปวด ลดไข้จากร้านขายยา มากที่สุด โดยกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล (65%) และเจน X (73%) จะรักษาตัวเองโดยใช้ยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อให้ผลในทางรักษารวดเร็วประหยัดเวลา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนในรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้พวกเขายังใช้ยา “ธรรมชาติ” เป็นทางเลือกอีกด้วย

    อีกหนึ่งกระแสที่มาแรงและส่งผลต่อพฤติกรรมการรักษา คือ คนไทยในทุกกลุ่มอายุ จะใช้ช่องทางออนไลน์เป็นทางออกที่ช่วยเสริมคำแนะนำที่ได้รับจากช่องทางออฟไลน์โดย 46% ของเบบี้บูมเมอร์จะไปคลินิก ตลอดจนค้นหาข้อมูลของอาการและวิธีการรักษาเพิ่มเติมจากช่องทางออนไลน์

    ส่วนเจน Z (30%) คนรุ่นมิลเลนเนียล (27%) และเจน X (25%) จะเสาะหาคำแนะนำจากช่องทางโซเชียลมีเดีย และยังพบว่า เจน Z (19%) เลือกการรักษาด้วยการคุยกับแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า

    นอกจากนี้คนไทยมองว่าแนวคิดทางพุทธศาสนาส่งผลทางบวกต่อสุขภาพ โดยคนไทยมีอัตราการทำสมาธิและบำบัดตนเองสูงสุดทั้งในแง่ของร่างกายและอารมณ์ อาทิ การทำสมาธิ 78% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 51%,
    การผ่อนคลายด้วยสปา 60% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 53%, รักษาโดยนักบำบัด 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย
    ทั่วโลกที่ 30%

    แอปสุขภาพ คือ ความหวังใหม่! ที่มาแรง!

    ปัจจุบันเทคโนโลยีมีศักยภาพสูงในการช่วยรักษาสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน และให้ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ยังไม่มีการใช้แอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพเพื่อติดตามตรวจสอบสุขภาพของตน แม้จะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมากก็ตาม เช่น ญี่ปุ่น ซึ่ง 78% ของเบบี้บูมเมอร์ระบุว่าพวกเขาไม่มีการใช้แอป

    โดยเหตุผลหลักที่ไม่ใช้แอปมีความแตกต่างกันตามอายุ เช่นกลุ่มคนรุ่นเก่าไม่มีความรู้ตลอดจนไม่ได้ติดตามว่าแอปที่เกิดขึ้นใหม่ๆ นั้น ทำอะไรได้บ้าง และเชื่อถือแพทย์มากที่สุด ส่วนคนรุ่นมิลเลนเนียล (56%) เจน X (47%) และเจน Z (44%) คือกลุ่มหลักที่มีโอกาสจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสุขภาพ

    แต่เมื่อสำรวจในกลุ่มผู้ใช้แอปสุขภาพแล้ว พบว่าพวกเขารู้สึกว่าหากใช้อย่างถูกต้องสิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายตามนิยามของคำว่า “สุขภาพดี” ได้อย่างแน่นอน แอปสุขภาพนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยมอนิเตอร์เรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ น้ำหนัก อัตราการเต้นของหัวใจ และการควบคุมดูแลอาหาร/โภชนาการในแต่ละวัน โดย 87% เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ 81% ชอบที่จะติดตามแอปตรวจสอบสุขภาพของตนที่บ้านมากกว่าที่จะไปพบแพทย์

    สถานการณ์ เศรษฐกิจสุขภาพ ของคนไทยในระดับ Micro Segment คือ ดัชนีชี้วัดสำคัญของความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของประเทศ สุขภาพกายใจของคนคือผลสรุปของระดับความเป็นอยู่ของประชาชน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และสภาพสังคมในระดับมหภาค เพราะ “คนที่มีคุณภาพ” ย่อมสร้าง “ประเทศชาติที่มีคุณภาพ” เช่นกัน ยิ่งโดยเฉพาะในโลกที่มีการแข่งขันสูง และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรู้เท่าทันสุขภาพทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางเพศ สติสัมปชัญญะ ความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต จึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วน รวมถึงคนไทยทุกคน ที่จะต้องหันมารณรงค์ในการดูแลป้องกันก่อนที่ปัญหาสุขภาพจะกลายเป็นวัฏจักร “จน – เครียด – ป่วย” จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในที่สุด.

    ]]>
    1206097