เสถียรสเตนเลสสตีล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 24 Oct 2018 03:59:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แชร์ทางรอด 4 ธุรกิจครอบครัว ยุค Disruption สยามวาลา-เสถียรสเตนเลสสตีล-ออโรร่า-ฟู้ดแพชชั่น https://positioningmag.com/1194032 Tue, 23 Oct 2018 08:00:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1194032 การจะขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นโลกยุค Disruption ซึ่งแนวทาง รูปแบบ และวิธีการทำธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมได้อย่างรวดเร็ว มีโจทย์ยากหรือโจทย์ใหญ่ที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งการที่ผู้บริโภคหรือลูกค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันนอกจากคู่แข่งเดิมยังมีคู่แข่งใหม่ที่คาดไม่ถึง  รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาให้ต้องเรียนรู้และรับมืออย่างรวดเร็ว

แม้ “ธุรกิจครอบครัว” จะมีข้อดีในแง่ ความเป็นครอบครัว มีหัวเรือหรือผู้นำที่มีหัวใจของ “ความเป็นเจ้าของ” อยู่อย่าง “เต็มเปี่ยม” และย่อมต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะนำพาธุรกิจไปข้างหน้า แต่หลายธุรกิจจำต้องก้มหน้ากัดฟันยอมรับเพราะเห็นได้ชัดถึงผลกระทบเมื่อไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน ขณะที่หลายธุรกิจสามารถพลิกเกมและมีโอกาสจะก้าวต่อไป

เพื่อให้เห็นรูปธรรมชัดเจน 4 ธุรกิจครอบครัวชั้นนำของไทย “ดีเอชเอ สยามวาลา-เสถียรสเตนเลสสตีล-ออโรร่า-ฟู้ดแพชชั่น” มาแบ่งปันเรื่องราวการดำเนินธุรกิจครอบครัวในงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้นที่ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นตัวอย่างการทำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคนี้ที่การทำลายล้างและการสร้างโอกาสเกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา

๐ “ดีเอชเอ สยามวาลา” อยู่มา 111 ปี วันนี้ต้องเตรียมรับ Gen 5

ธุรกิจของครอบครัว “สยามวาลา” เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2450 ด้วยการนำเข้าสินค้าต่างๆ จากยุโรป แทบจะทุกอย่างที่มีคนซื้อในเวลานั้น เช่น หนังสัตว์ น้ำหอม เวชภัณฑ์ เครื่องเหล็ก รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวกับกระดาษ แต่ต่อมามีการปรับรูปแบบธุรกิจโดยมุ่งไปที่ “เครื่องเขียน” จนถึงวันนี้ธุรกิจของครอบครัวสยามวาลาดำเนินมาถึง 111 ปี และสืบทอดมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว ภายใต้บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ซึ่งผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ เช่น แฟ้มเอกสาร “ตราช้าง”, ปากกา Quantum ปากกา Uni Japan, อุปกรณ์ศิลปะ Master Art ฯลฯ

“ดนุพล สยามวาลา” หนึ่งในทายาทธุรกิจรุ่นปัจจุบันของสยามวาลา ที่มาแบ่งปันการดำเนินธุรกิจครอบครัว เน้นว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ “DHAS” อยู่มาอย่างมั่นคงยาวนานคือ “Brand Value” ซึ่งถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นใน 3 เรื่องหลักคือ “คุณธรรม ความเชื่อถือ และคุณภาพ” ควบคู่ไปกับ ”หลักยึด” ที่รุ่นพ่อปลูกฝังลูกทุกคนว่า “ความเป็นพี่น้อง” สำคัญที่สุด เพื่อยึดโยงให้ทุกคนนำพาธุรกิจมุ่งไปในแนวทางเดียวกัน แม้จะมีความคิดเห็นและความต้องการ รวมทั้ง passion แตกต่างกันมากเท่าใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ทายาทรุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นรุ่นต่อไปมาสานต่อธุรกิจของครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจเครื่องเขียนไม่ใช่ passion ของเจนใหม่ แต่เป็น passion ของรุ่นพ่อรุ่นปู่ ดังนั้น การเปิดโอกาสให้เจนใหม่นำ passion ที่มีมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจครอบครัว ดีกว่าปิดโอกาสหรือปล่อยให้เขาออกไปข้างนอก เช่น หนึ่งในเจน 5 มี passion ว่า “อยากเห็นพนักงานที่ทำงานในองค์กรมีความสุข” แล้วก็ทำซอฟต์แวร์ออกมาใช้ในองค์กร ซึ่งเมื่อก่อนไม่เปิดโอกาสให้ passion แบบนี้ เพราะถูกมองว่าไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจ แต่เมื่อมองว่าหากสำเร็จ passion นั้น อาจจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคต คือ “การขายความสุขให้กับพนักงานในองค์กร” ก็ได้ เช่นเดียวกับ Air BNB ธุรกิจบริการที่พักรูปแบบใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจาก passion ของคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้คือ การทำให้พนักงานหรือคนในองค์กรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว หรือ agile เพราะทุกวันนี้ภัยคุกคาม หรือ threat ในธุรกิจเกิดขึ้นได้ตลอด พร้อมกับการปรับเปลี่ยนจากองค์กร “ใหญ่” ขนาดพันกว่าคน ให้ “เล็กลง” ในเชิงการบริหาร “โฟกัส” เป็นเรื่องๆ มีการมอง “โอกาสทางธุรกิจ” มากขึ้น พร้อมกับเน้นการสร้าง “นวัตกรรม” ทั้งในตัวสินค้าและการทำงาน ทำให้แต่ละยูนิตรู้สึกมีคุณค่าต่อองค์กร สามารถเป็น profit center ไม่ใช่ cost center เช่น โรงงานผลิตสามารถหาลูกค้าเองได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เกิดสตาร์ทอัพในองค์กรทั้งจากสมาชิกในครอบครัวและพนักงานที่มีไอเดียธุรกิจซึ่งสามารถครีเวทแวลู องค์กรก็พร้อมร่วมลงทุน

“ดีเอชเอ สยามวาลา” วันนี้จึงเป็นการปรับ passion ของเจนใหม่ให้เดินคู่ไปกับเจนเก่า และเปิด platform ใหม่ให้ธุรกิจเดิม เพื่อให้มีความพร้อมต่อไป โดยต้องไม่คิดว่าธุรกิจที่คนรุ่นก่อนสร้างมาด้วยรากฐานมั่นคงจะอยู่ยั่งยืน เพราะโลกธุรกิจในวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

๐ “เสถียรสเตนเลสสตีล” โฟกัสสิ่งที่ถนัด เรียนรู้คนยุคใหม่

เครื่องครัวสเตนเลสตราหัวม้าลายที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยดี มีที่มาจากในปี พ.ศ. 2509 เมื่อรุ่นพ่อได้ริเริ่มรับจ้างทำตู้แช่และชุดครัวสเตนเลสให้กับโรงแรมและสายการบินต่างๆ และต่อมาได้นำเศษสเตนเลสมาผลิตเป็น “ช้อนสเตนเลส” สินค้าชิ้นแรกของ “ตราหัวม้าลาย” จากนั้นธุรกิจเติบโตมาถึง 52 ปี จนถึงปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องครัวสเตนเลสตราหัวม้าลายมีหลากหลายมากกว่าหนึ่งพันรายการ โดยมี “เอกชัย ยังวาณิช” รุ่นลูกมาช่วยดูแลกิจการนานถึง 40 ปี และยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงคนรุ่นเก่าที่ยังมีอยู่มากในองค์กรและคุ้นชินกับวิธีการทำงานแบบเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป

พร้อมทั้งหันมาเรียนรู้การทำงานยุคใหม่ กับคนเจน Z ที่กำลังจะเข้ามาสู่โลกของการทำงาน และเมื่อ IoT (Internet of Things) เข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ชอบความยืดหยุ่นในการทำงาน จึงมีแนวคิดเรื่องการทำงานที่บ้าน ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในบางแผนกบางตำแหน่งที่สามารถเข้ามาประชุมที่ออฟฟิศสัปดาห์ละครั้งก็พอ เพื่อจะช่วยให้หาคนทำงานได้ง่ายขึ้นและช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ อีกด้วย นอกจากนี้ การใช้ outsource ในงานที่ไม่ถนัดจะมีมากขึ้น เช่น การส่งของ เป็นต้น ขณะที่การซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงปรับเพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ แต่เน้นให้รับสินค้าที่ช็อปตราหัวม้าลายซึ่งมีอยู่ประมาณ 50-60 แห่ง เพราะหากให้บริการส่งถึงที่ ค่าขนส่งอาจจะสูงกว่าราคาสินค้าบางรายการ

ในส่วนของการผลิต แก้ปัญหาเรื่องแรงงานทั้งหายากและประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ให้หุ่นยนต์แทนที่แรงงานคนโดยเริ่มจากงานน่าเบื่อและมีอันตราย จากนั้นพัฒนาต่อไป เช่น เพิ่ม visual การมองเห็นภาพทำให้ทำงานในส่วนของ quality control ได้ ต่อไปจะไม่ต้องใช้คนในสายการผลิตเลย และในอนาคตจะนำ AI มาใช้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น เรื่องเวลาในการเปลี่ยนแม่พิมพ์ว่าจะต้องทำเมื่อไร สินค้ามีปัญหาอะไร รู้ว่าควรจะผลิตเท่าไรอย่างไร ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังนำเทคโนฯ มาใช้ในงานบริการลูกค้ามากขึ้น เช่น จากเดิมใช้การโทรศัพท์สั่งสินค้า ซึ่งเกิดข้อผิดพลาด เช่น ฟังผิด จดผิด ส่งของผิด เปลี่ยนให้ลูกค้าใช้ไอแพดสั่งซื้อสินค้า ป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบสามารถจัดทำใบสั่งซื้อได้ทันที ได้ทั้งความรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ลดขั้นตอนการทำงานและข้อผิดพลาด ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มทางรอดด้วยการมุ่งโฟกัสที่ความถนัดขององค์กรและพยายามแก้โจทย์ธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

๐ “ออโรร่า” สร้างโอกาสธุรกิจด้วยมุมมองใหม่

จาก “ห้างทองซุ่ยเซ่งเฮง” ในปี พ.ศ. 2516 สู่ “ห้างเพชรทองออโรร่า” ในปี พ.ศ. 2533 ภายใต้บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลา 12 ปีที่นุรุทธ์ ศรรุ่งธรรม หนึ่งในสามทายาทธุรกิจที่เป็นรุ่นลูกเข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจของครอบครัว ภายใต้หลักการว่า “ทุกคนต้องมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ธุรกิจเดินไปในแนวทางเดียวกัน” เช่น เป้าหมายของแบรนด์ออโรร่า คือ “การเป็นแบรนด์ร้านทองที่มีคุณภาพ” พร้อมไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดรับกับยุคใหม่มากขึ้นเพื่อดูแลร้านกว่าสองร้อยสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปลุกพลังของพนักงานให้ทำงานอย่างมี “passion” และ “มีความสุข” เพื่อ “ส่งต่อ” ความสุขไปยังลูกค้า เช่น การปรับบรรยากาศภายในที่ทำงาน การสร้างกิจกรรมสนุกๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและเกิดความสุขในการทำงาน

ในส่วน “มุมมอง” ของลูกค้า การสร้างแบรนด์เพื่อให้เกิดการ “จดจำ” ด้วยความแตกต่างและโดดเด่นมีความสำคัญ “ออโรร่า” จึงเป็นแบรนด์ร้านทองที่ใช้ “สีส้ม” ซึ่งฉีกจากร้านทองทั่วไปที่ใช้ “สีแดง” เป็นสัญลักษณ์ นอกเหนือจากชื่อที่เปลี่ยนให้ดูเป็นสากล และเมื่อพูดถึง “ทอง” ทุกคนจะนึกถึง “เยาวราช” กับรูปแบบสินค้าเดิมๆ ในรุ่นพ่อที่มีเพียง “สร้อย แหวน กำไล” แต่ในรุ่นลูกมองว่าเมื่อต้องการเจาะเข้าไปในกลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปรู้สึกว่า “ทองดูแก่ คร่ำครึ” จึงเปลี่ยน “มุมมอง” ของลูกค้าให้มองว่า “ทอง” กลายเป็น “ของขวัญ” ที่ให้ความสุข และนำเสนอสินค้าด้วยดีไซน์ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม พร้อมกับการตลาดใหม่ๆ

“กิมตุ้ง” คือจี้เล็กๆ รูปใบปริญญา ซึ่งเป็นนวัตกรรมของโปรดักต์ล่าสุดในปีนี้ ที่เจาะตลาดงานรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ในราคาที่ไม่สูงเทียบแล้วพอๆ กับดอกไม้หนึ่งช่อ แต่มีความหมายว่า “โชคดี มีสุข ยินดีด้วย” ขณะที่ “ทอง” เป็นของมีค่าอยู่แล้ว ทำให้คนที่ได้รับรู้สึกดีและมีความสุข ดังนั้น การจะส่งต่อความสุขให้ลูกค้าได้อย่างไร จึงเป็นโจทย์ที่ “ออโรร่า” ต้องคิดหาคำตอบใหม่ๆ ให้ได้ และเป็นตัวอย่างการเปลี่ยนมุมมองของกลุ่มเป้าหมายใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

๐ “ฟู้ดแพชชั่น” ต้องจุดไฟ ความเป็นเถ้าแก่

นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2530 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ในปี พ.ศ. 2558 เพื่อสะท้อนความเชื่อและปรัญชาในการดำเนินธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากความรักในอาหารและความเชื่อในเรื่องของการดูแลให้ทุกคนคือพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และสังคม มีความสุข โดยใช้อาหารเป็นสื่อกลาง พร้อมไปกับการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่รองรับกลยุทธ์ธุรกิจในอนาคต จนถึงวันนี้ “ฟู้ดแพชชั่น” ทำให้เห็นถึงอีกธุรกิจครอบครัวของไทยที่สามารถแทรกตัวและเติบโตขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่งในรุ่นพ่อ และมีรุ่นลูกเข้ามาสานต่ออย่างแข็งแกร่ง โดยมี “ชาตยา สุพรรณพงศ์” นำทีมทายาทธุรกิจ

แต่ต้องยอมรับว่า วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็ว การทำธุรกิจให้ได้กำไรอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะจะไม่ยั่งยืน จึงต้องคิดว่าจะนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามา “เติมเต็ม” ธุรกิจได้อย่างไร การสร้างนวัตกรรมในองค์กรที่อยู่มาเป็นสิบเป็นร้อยปีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีรูปแบบหรือโอเปอเรชั่นที่คุ้นชิน จึงต้องใช้ story telling หรือการเล่าเรื่อจริงเพื่อให้คนในองค์กรเห็นภาพ แล้วยอมรับด้วยตัวเขาเอง หลังจากนั้นค่อย execute ด้วยการให้ความรู้ จะใช้ design thinking, จะ agile หรือ scrum ก็ตาม

เรื่องจริงเรื่องหนึ่งที่เล่า เมื่อเร็วๆ นี้ คือการเล่าถึงความวิตกกังวลจนทำให้นอนไม่หลับเมื่อคิดถึงแผนกลยุทธ์ในปีหน้าที่ทำเสร็จแล้วและคิดว่าดีแล้วในตอนแรก แต่เมื่อทบทวนดูแล้วกลับรู้สึกว่ายังไม่เฉียบคมพอ ไม่แน่ใจว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะรอดหรือไม่ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าการแข่งขันสูงมาก เศรษฐกิจท้าทายมากทุกองค์กร การทำงานในปีนี้ทุกคนเหนื่อยมากสุดๆ แล้วปีหน้าจะเหนื่อยอย่างนี้หรือมากกว่านี้หรือไม่ ทำให้ทุกคนรู้สึกร่วมอย่างแท้จริงและช่วยกันคิดหาทางออกใหม่ๆ เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลในการสร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร

อีกส่วนหนึ่งที่ทำไปแล้วเมื่อหลายปีก่อนและได้ผลดีมาจนถึงวันนี้คือ “การเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดใหม่” ด้วยการจัดตั้งทีมงานการตลาดเลือดใหม่ขึ้นมา พร้อมกับจัดหาพื้นที่แยกส่วน และสร้างสภาพแวดล้อมกับบรรยากาศใหม่ เป็นการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทั้งวิธีการและรูปแบบ รวมทั้งการให้รางวัลตอบแทน โดยทำเป็น agenda ขึ้นมาชัดเจน เพื่อให้ได้องค์กรใหม่ที่มีนวัตกรรมที่ใช้ได้ผลอย่างแท้จริง ไม่ถูกองค์กรใหญ่กลืนทั้งในเรื่องของวัฒนธรรมและงาน เพราะยูนิตเดิมใหญ่มาก ขณะที่ยูนิตใหม่เล็กมาก ทำให้การสร้าง “นวัตกรรม” กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรของ “ฟู้ดแพชชั่น” มาถึงวันนี้ และทำให้ทั้งสองยูนิตขับเคลื่อนไปได้อย่างดีภายในองค์กรเดียวกัน

แม้ธุรกิจครอบครัวจะมีข้อดีในแง่ของ “การตัดสินใจ” ได้รวดเร็วกว่า และมี “ความเป็นเจ้าของ” อยู่ในดีเอ็นเอ แต่ความท้าทายในวันนี้คือผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนให้เร็วมากพอ ขณะที่การแข่งขันมาจากรอบทิศทางไม่ใช่แค่คู่แข่งรายใหญ่ๆ แต่ยังมีคู่แข่งรายเล็กๆ หรือคู่แข่งข้ามสายพันธุ์ที่มาแบบคาดไม่ถึง

ดังนั้น อีกโจทย์ใหญ่ในวันนี้ของ “ฟู้ดแพชชั่น” ซึ่งแม้จะเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีสายเลือดของ “entrepreneur” คือมีความเป็นเจ้าของอย่างเข้มข้น แต่เมื่อธุรกิจเติบโตมากจนเหมือนจะกลายเป็น “corporate” ที่อุ้ยอ้าย ก็คือ ต้อง “จุดไฟ” ความเป็นเถ้าแก่ “กล้าได้กล้าเสีย กล้าคิดกล้าลอง” ให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจได้มากที่สุด ในยุคที่โลกหมุนเร็วและยากต่อการคาดการณ์ 

]]>
1194032