แบงก์กรุงเทพ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 17 Sep 2018 09:58:27 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เทสโก้ โลตัส” จูงมือ “แบงก์กรุงเทพ” เปิดให้ชำระเงินด้วย QR Code ยันไทย ยังไม่ถึงเวลา ชำระเงินอัตโนมัติ https://positioningmag.com/1187987 Mon, 17 Sep 2018 09:30:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1187987 ยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันที่นับวันยิ่งรุนแรง สำหรับ “เทสโก้ โลตัส” ที่นอกจากใช้โอกาสในการเปิดตัวสาขาที่ 2,000 ซึ่งตั้งอยู่  บางกรวยไทรน้อย ในการเปิดตัวสาขาโฉมใหมที่เติม 3 เรื่องใหม่เข้าไปอย่าง “เทคโนโลยีเพิ่มพื้นที่ขายสิ่งแวดล้อม” แล้ว “การชำระเงินด้วย QR Code” คือสเต็ปต่อไปที่เทสโก้ โลตัสกำลังจะทำ 

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส บอกว่า จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคยุค 4.0 พบ 3 ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดได้แก่

  1. ต้องการความสะดวกสบาย โดยเฉพาะความเร็วและความง่าย
  2. ความคุ้มค่า คุณภาพ และประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่ดี
  3. ความยั่งยืนผ่านแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี

แต่ก่อนลูกค้าจะเดินเข้าร้านมาซื้อของ และหยิบเงินสดขึ้นมาจ่าย แต่เดี๋ยวนี้พฤติกรรมนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ลูกค้าไม่อยากรอรับเงินทอน ยิ่งถ้าเป็นเงินจำนวนน้อยๆ ทำให้ความเร็วและความง่ายเป็นโจทย์ที่เทสโก้ โลตัสต้องเร่งปรับตัว

เมื่อบวกกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Mobile Banking ที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ไตรมาส 1 ของปี 2018 คนไทยมีบัญชี Mobile Banking ทั้งหมด 34.5 ล้านบัญชี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเติบโตถึง 44.41% ปริมาณธุรกรรม 179 ล้านครั้ง เติบโต 125% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.164 ล้านล้านบาท เติบโต 77.71%

และยังมีผลสำรวจของวีซ่าที่พบว่า คนไทย 74% รู้จักการชำระเงินการชำระเงินด้วย QR Code โดย 42% เคยชำระเงินด้วย QR Code และที่สำคัญ 47% มีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน

เมื่อมีตัวเลขมาสร้างความมั่นใจเทสโก้ โลตัสจึงได้จับมือกับธนาคารกรุงเทพ ที่มีความร่วมมือกันมากว่า 20 ปีแล้ว ในการติดตั้งเครื่อง EDC ทั้งหมดกว่า 10,000 เครื่อง ที่ทุกแคชเชียร์ ทุกสาขา ในร้านค้าทุกรูปแบบทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับการชำระเงินผ่าน QR Code จาก Mobile Banking Application ของทุกธนาคาร

รวมไปถึงติดตั้งในร้านค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าที่มีอยู่กว่า 11,000 ราย ให้รองรับการชำระเงินผ่าน QR Code

เทสโก้โลตัสเริ่มให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยได้ฝึกให้พนักงานแคชเชียร์คุ้นเคยกับระบบ

มี QR Code ลูกค้าไม่ต้องรอและเสียเวลารับเงินทอน อีกทั้งยังช่วยลดความผิดพลาดของพนักงานด้วย ถ้าถามว่าจะทำให้สัดส่วนการใช้เงิดสด และอิเล็กทรอนิกส์ เพย์เมน9N เช่น บัตรเครดิตและบัตรเตบิต เปลี่ยนไปจาก 80:20 ไหม คงเปลี่ยนไป แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ในสาขาในต่างประเทศของเทสโก้ โลตัสมีระบบที่ลูกค้าสามารถช้อปปิ้งและเดินออกไปได้เลย ด้วยระบบชำระเงินอัตโนมัตโดยที่ไม่ต้องเข้าคิวที่แคชเชียร์ซึ่งระบบที่ว่านี้อาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทย เพราะผู้บริโภคยังมีเรื่องที่ต้องปรึกษากับพนักงานเรื่องโปรโมชั่น และยังต้องการใช้ส่วนลดที่อยู่ท้ายใบเสร็จอยู่

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของเทสโก้ โลตัสยังเป็นไปในทิศทางที่ดีด้วยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนในครึ่งปีหลังก็ยังเชื่อว่าอยู่ในทิศทางที่ดี ยังไม่มีความน่ากังวลอะไร

ปัจจุบันเทสโก้ โลตัสมีลูกค้าสัปดาห์ละ 15 ล้านคน มากกว่า 90% เป็นลูกค้าคลับการ์ด ที่มีทั้งหมดกว่า 15 ล้านคนเช่นเดียวกัน

ในขณะที่ฝั่งของธนาคารกรุงเทพ โชค ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การชำระเงินด้วย QR Code ถือเป็นเทรนด์ที่คนกำลังสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจับมือกับเทสโก้ โลตัส จะช่วยสร้างความคุ้นเคยกับผู้บบริโภค และกระตุ้นให้กล้าใช้ช่องทางนี้มากขึ้น

QR Code นั้นเหมาะกับร้านค้าขนาดเล็ก ที่เป็นห้องแถว แผงลอย โดยเหมาะกับคนที่ไม่เคยรับเงินผ่านช่องทางนี้มาก่อน เพราะฟรีและไม่เสียค่าธรรมเนียม เงินเข้าบัญชีได้เลย ไม่เหมือนการรับเงินสดที่ต้องนำไปฝากธนาคารอีกต่อหนึ่ง

“QR Code ไม่ได้เข้ามาแย่งลูกค้าบัตรเครดิตและบัตรเดบิต เพราะตัวบัตรยังมีความหลากหลาย และมีโปรโปรชั่นที่ลูกค้ายังชอบอยู่ แต่ในอนาคตคงจะได้เห็นลูกค้าที่ลืมเอากระเป๋าเงินมา หรือตั้งใจไม่เอามาเพื่อจ่ายเงินด้วย QR Code มากขึ้น

สำหรับงบที่ใช้ลงทุนในเครื่อง EDC เป็นงบปรกติที่ใช้อยู่แล้ว เรื่องจากตัวเครื่อง EDC มีอายุการใช้งาน 5 ปี เมื่อถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันเครื่องที่มีทั้งหมดกว่า 150,000 เครื่อง ใน 75,000 ร้านค้า มีอายุเฉลี่ย 3 ปีแล้ว

ปีนี้จะมีเครื่อง EDC ใหม่อีกประมาณ 100,000 เครื่อง ทั้งการเปลี่ยนกับเครื่องเก่า และเครื่องใหม่ที่เติมเข้าไปในร้านค้า เมื่อถึงสิ้นปีได้ตั้งเป้าเพิ่มร้านอีก 60,000 ร้านค้า ทั้งร้านเดิมที่ขยายสาขา และร้านใหม่ที่เติมเข้ามา

โชค ยังบอกอีกว่า ช่วงต้นปีธุรกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 100% ซึ่งส่วนใหญ่ถึง 90% ทำรายการผ่านโมบายแบงกิ้ง และอีก 10% ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

สำหรับเป้าหมายในปีนี้คาดว่าจะมีลูกค้าที่ใช้บัวหลวงเอ็มแบงกิ้งเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านราย จากช่วงกลางปีอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านราย ส่วนบัตรเครดิตมีฐานลูกค้าทั้งหมด 15 ล้านราย

ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากการจับมือกับเทสโก้ โลตัสแล้ว ขณะนี้ธนาคารกรุงเทพกำลังอยู่ในระหว่างทดสอบระบบ “B – Wallet” ใน Regulatory Sandbox ทดลองนำเทคโนโลยีมาทดลองใช้จริงกับลูกค้า แต่เป็นการใช้ในวงจำกัด และมีช่วงเวลาการทดสอบที่ชัดเจน

โดย “B – Wallet” จะเป็นระบบจ่ายเงินผ่าน QR Code ที่เชื่อมกับบัตรเดบิต และ บัตรเครดิต ที่เป็นเครือข่าย TPN ซึ่งเป็นเครือข่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของเมืองไทยเอง ที่ใช้เทคโนโลยีของยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล ปัจจุบันมีบัตร TPN ราว 5 ล้านใบในไทย

ถ้าเปิดใช้งานจริงจะทำให้ผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินผ่านระบบ QR Code ในประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเก๊า และจีนได้ทันที โดย “B – Wallet” เข้าสู่ Sandbox ได้สักพักแล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นการทดสอบภายในปีนี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดเปิดตัว.

]]>
1187987
แบงก์กรุงเทพบนเส้นทางวิบากทีวีดิจิทัล https://positioningmag.com/1110898 Thu, 15 Dec 2016 04:59:45 +0000 http://positioningmag.com/?p=1110898 นอกจากบรรดาผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ ต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อลดลง เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดนับตั้งแต่เปิดให้บริการมา 3 ปี ส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัล ที่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งงบโฆษณา จนทำให้บางช่องต้องยุติให้บริการไป ส่วนบางช่องก็ต้องควานหาผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่ออัดฉีดเงินเข้ามา เช่น กรณีของค่ายอมรินทร์ที่ได้ เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาร่วมหุ้น และช่อง ONE ที่ได้เครือปราสาททองโอสถ เข้ามาถือหุ้น

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการออกค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการสถานีทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง ซึ่งในจำนวน 3 สถาบันการเงินที่ปล่อยแบงก์การันตีให้กับทีวีดิจิทัล ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา คิดเป็นมูลค่า 31,580 ล้านบาท

แน่นอนว่าการถือกำเนิดของทีวีดิจิทัลที่ไม่เพียงแต่เป็นโอกาส แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ทำให้สถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพมองเห็นโอกาสจากสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่ จนเป็นที่มาของการออกแบงก์การันตีให้กับผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 14 ราย จากจำนวน 24 ราย รวมมูลค่า 21,600 ล้านบาท 

ไทยทีวีเจ๊ติ๋มวิบากแรกแบงก์กรุงเทพ

แต่เมื่อเส้นทางของทีวีดิจิทัลไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อบางช่องต้องประสบปัญหารายได้ อย่างกรณีของ บริษัท ไทยทีวี ของค่ายทีวีพูล ที่ชนะประมูลมาได้ 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และช่องโลก้า ด้วยเงินประมูล 1,976 ล้านบาท แต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าประมูลงวดที่ 2 จนต้องขอเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องไปแล้ว ภาระหนี้ดังกล่าวต้องตกเป็นของธนาคารกรุงเทพ ที่ได้ออกหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 1,634.40 ล้านบาทไปให้กับไทยทีวี

ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์คฟ้อง 2,500 ล้านบาท

ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ เมื่อฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย ยื่นเรื่องต่อศาลที่ฮ่องกง และไทย ฟ้องธนาคารกรุงเทพ เรียกค่าเสียหายมูลค่า 2,500 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย กรณีที่ไม่จ่ายแบงก์การันตีค้ำประกัน ค่าลิขสิทธิ์การออกอากาศรายการของฟ็อกซ์ แทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัทซีทีเอช ที่ได้เลิกกิจการไปแล้วแต่ไม่ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์

word_icon

เรื่องนี้ทำให้เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทยผิดสัญญาในการจ่ายแบงก์การันตี ซึ่งการผิดสัญญาในครั้งนี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อฟ็อกซ์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง

word_icon2 นายซูบิน กานเดเวีย ประธานบริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป ประจำภูมิภาพเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง กล่าว

แบงก์กรุงเทพยันไม่จ่าย ระบุฟ็อกซ์ผิดสัญญา

ทางด้าน คณิต สีห์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “ธนาคารกรุงเทพ” ปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพทำให้บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีทีเอช” ไว้ โดย ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์คกรุ๊ป เอเชีย หรือ “ฟ็อกซ์” เป็นผู้รับประโยชน์ในฐานะคู่สัญญากับซีทีเอช

ขอชี้แจงว่า ธนาคารกรุงเทพได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันซีทีเอช ให้ไว้กับฟ็อกซ์จริง โดยมีเงื่อนไขว่า หากซีทีเอชผิดสัญญาที่ซีทีเอช ทำไว้กับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพจึงจะจ่ายเงินให้ฟ็อกซ์ ซึ่งสัญญาที่ซีทีเอชทำกับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพมิได้ลงนามในสัญญาดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพจึงไม่ใช่คู่สัญญากับฟ็อกซ์โดยตรง ฟ็อกซ์เป็นเพียงผู้รับประโยชน์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพทำให้ไว้ ทั้งนี้ ซีทีเอชได้ยืนยันกับธนาคารกรุงเทพว่า ฟ็อกซ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา

เนื่องจากขณะนี้ฟ็อกซ์ได้ยื่นฟ้องซีทีเอช และธนาคารกรุงเทพ ต่อศาลชั้นต้นที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ธนาคารกรุงเทพจึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การให้ข้อเท็จจริง หรือความเห็นที่มีลักษณะเป็นการชี้นำแก่ศาล อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล และเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรง

ส่วนกรณีที่ฟ็อกซ์ฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “จีเอ็มเอ็ม” และธนาคารกรุงเทพ ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าต่างประเทศกลาง ข้อเท็จจริงก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกรณีของซีทีเอช

คดีความการฟ้องร้อง คงต้องใช้เวลาไปอีกพักใหญ่ ส่วนแบงก์กรุงเทพจะต้องจ่ายเงิน 2,500 ล้านบาทหรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกันต่อ รวมทั้งแบงก์กรุงเทพต้องลุ้นด้วยว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่แบงก์ออกแบงก์การันตีไปให้ ต้องประสบกับปัญหาเหมือนอย่างที่เกิดมาก่อนหน้านี้

info_tv

]]>
1110898