แพ็กเกจจิ้งขวดแก้ว – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 25 Mar 2019 03:18:52 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เทรนด์พรีเมียมลุค-สิ่งแวดล้อม หนุนแพ็กเกจจิ้งขวดแก้วคืนชีพ “บีเจซีกลาส” ยึดผู้นำอาเซียน https://positioningmag.com/1221218 Sat, 23 Mar 2019 02:27:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1221218 แนวโน้มธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นกระแสที่แรงขึ้นทั่วโลก มาจากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิที่ผิดปกติ ปัญหาโลกร้อนและฝุ่นพิษ หากโฟกัสใน “ธุรกิจบรรจุภัณฑ์” วันนี้ บอกว่า “ข่าวร้าย” ของแพ็กเกจจิ้งพลาสติกเริ่มมีมากขึ้น ขณะที่เทรนด์  “ขวดแก้ว” เริ่มกลับมาเช่นกัน

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี กล่าวว่า เทรนด์ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ได้กลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโปรดักต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและใช้ประโยชน์จากแพ็กเกจจิ้งรีไซเคิลอย่างคุ้มค่า

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล

เราเริ่มเห็นการกลับมาเกิดใหม่ของบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว (Rebirth) ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งยุโรป สหรัฐฯ  ที่ลดสัดส่วนแพ็กเกจจิ้งพลาสติกลง

การดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์กลุ่ม “บีเจซีกลาส” ที่เริ่มต้นเมื่อ 66 ปีก่อน ภายใต้การร่วมทุนของ บีเจซี และ โอเว่น อิลลินอยล์ หรือ OI สหรัฐฯ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ระดับโลก ตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานขวดแก้วอัตโนมัติแห่งแรกในประเทศไทยที่ราษฎร์บูรณะ ได้วางยุทธศาสตร์มาที่บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน

ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว สามารถนำกลับขวดแก้วมา “รียูส” และนำเศษแก้วมา “รีไซเคิล” หลอมใหม่กี่ครั้งก็ได้ ซึ่งขั้นตอนการผลิตของกลุ่มบีเจซีกลาส ใช้วัสดุรีไซเคิล 85% การนำเศษแก้วมารีไซเคิล คือการประหยัดพลังงานและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในปัจจุบัน

“พรีเมียมลุค” ตอบโจทย์ผู้บริโภค

แนวโน้มการเติบโตของบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ยังมาจากพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าที่สร้างประสบการณ์ที่ดี (customer experience) ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสความเย็นของเครื่องดื่มจากขวดแก้ว หรือการได้เห็นสีสันของผลิตภัณฑ์ผ่านขวดแก้วใส ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีกว่าและหาไม่ได้จากบรรจุภัณฑ์อื่นๆ

“ในต่างประเทศแพ็กเกจจิ้งขวดแก้วเบียร์ ได้พยายามดีไซน์เกลียวคลื่นในขวดแก้ว เพื่อให้การเทเบียร์ที่เป็นของเหลวออกจากขวดมีการหมุนวนแตกกระจายเป็นฟอง ทำให้ได้รสชาติที่ดี และเป็นสิ่งที่บรรจุภัณฑ์อื่นทำได้ยาก”

ปัจจุบันหลายประเทศกลุ่มยุโรปและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญเรื่องเทรนด์สีขวดแก้วใหม่ๆ จากปัจจุบันที่เป็นสีใส สีชา และสีเขียวเป็นหลัก ก็เริ่มพัฒนาเป็น สีแดง สีฟ้า ที่สะท้อนความเป็นพรีเมียม รวมทั้งเทคโนโลยีการเก็บอุณหภูมิที่ดี การดีไซน์ขวดรูปทรงต่างๆ และน้ำหนักขวดที่ลดลงแต่เหนียวขึ้น

นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ยังทำให้สินค้าเป็น “พรีเมียมลุค” ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคที่ต้องการคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้น การเกาะเทรนด์ Premiumization แพ็กเกจจิ้งขวดแก้ว ถือว่ามีความชัดเจนและตอบโจทย์นี้ได้ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ

ที่ผ่านมาการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ของผู้ผลิตกลุ่มซอฟต์ดริ้งก์ มักอยู่ในบรรจุภัณฑ์ขวด PET แต่เทรนด์จากต่างประเทศปีที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่ามุ่งมาทางบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าวจะผลักดันการเติบโตของกลุ่มบีเจซีกลาส ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน จากการร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์และดีไซน์ใหม่ในฝั่งขวดแก้ว เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าใหม่

อีกทั้ง บีเจซี กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยี โอเว่น อิลลินอยล์ เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาในประเทศไทย ถือเป็นกลยุทธ์การพัฒนาที่เหนือกว่าคู่แข่งในการนำเทคโนโลยีระดับโลกจากยุโรป สหรัฐฯ มาใช้ในอาเซียนและประเทศไทย

ยึดผู้นำอาเซียน

อัศวิน กล่าวว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของ “บีเจซีกลาส” ถือเป็นผู้นำในอาเซียน มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วใหญ่ที่สุดในอาเซียน จากฐานการผลิตในประเทศไทย  เวียดนาม และมาเลเซีย รวมกัน 4,350 ตันต่อวัน หรือครองส่วนแบ่งการผลิตเกือบ 50% ของการกำลังการผลิตในตลาดอาเซียน 10,000 ตันต่อวัน

โดยโรงงานบางพลี มีกำลังการผลิต 1,710 ตันต่อวัน โรงงานไทยมาลา กลาส จังหวัดสระบุรี 2 โรงงาน มีกำลังการผลิต 1,700 ตันต่อวัน โรงงานต่างประเทศร่วมทุนกับโอเว่น อิลลินอยล์ ที่เวียดนาม 1 แห่ง กำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน และโรงงานมาเลเซีย 1 แห่ง กำลังการผลิต 650 ตันต่อวัน

นอกจากนี้บริษัทร่วมทุน BJC -OI สิงคโปร์ ยังมองโอกาสการลงทุนในอาเซียนเพิ่ม เน้นกลุ่มอินโดจีน เป็นลำดับแรก โดยศึกษาการลงทุนในเมียนมา กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย ปัจจุบันให้น้ำหนักไปที่ตลาดเมียนมา คาดว่าสิ้นปีนี้จะเห็นความชัดเจนรูปแบบการลงทุน ปกติการลงทุนโรงงานต้องมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 250-300 ตันต่อวัน เงินลงทุนระดับ 1,000 ล้านบาท พื้นที่ 20 ไร่

ปีนี้ลงทุน “พันล้าน”

สำหรับโรงงานกลุ่มบีเจซีกลาส ปัจจุบันกำลังการผลิต 50% เป็นบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วใหญ่สุดในอาเซียน และกระป๋อง 50% ใหญ่สุดในประเทศไทย รองลูกค้าในเครือ 50% และลูกค้านอกเครือ 50% กลุ่มนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีลูกค้ากลุ่มอาหาร 45% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 40% และนอนแอลกอฮอล์ 15%

ด้านการลงทุนปีนี้คาดอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท จากการซ่อมเตาหลอมใหม่ที่โรงงานบางพลี จำนวน 675 ล้านบาท และการลงทุนด้านศูนย์พัฒนาวิจัยบรรจุภัณฑ์

ภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วในประเทศไทยปีที่ผ่านมาเติบโต 4-5% มูลค่าราว 25,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่อาเซียนตลาดอาเซียนขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกัน ปริมาณผลิต 3.6 ล้านตันต่อปี

ขณะที่ บีเจซีกลาส มีรายได้ปีที่ผ่านมา 20,000 ล้านบาท เติบโต 6% จากบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว 12,000 ล้านบาท เติบโต 8% และกระป๋อง 8,000 ล้านบาท เติบโต 6-7% ส่วนปีนี้วางเป้าหมายเติบโต 8% โดยบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วเติบโต 8% และกระป๋องขยายตัว 5%

]]>
1221218