ทศพรคร่ำหวอดอยู่ในสายไอที เทคโนโลยี 25 ปี เคยดูทั้งธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เทเลคอม และอีคอมเมิร์ซ ทศพรเคยร่วมงานกับ “ซัมซุง ประเทศไทย” ระยะเวลาถึง 12 ปี ดูแลในส่วนของกลยุทธ์ และการพัฒนาธุรกิจ รับผิดชอบทั้งในส่วนของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และโอเชียเนีย
ผลงานที่สำคัญคือ การปั้นธุรกิจมือถือของซัมซุง จากที่เป็นรองในตลาด จนขึ้นมาเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนในไทยได้ จากนั้นทศพรได้ออกไปหาความท้าทายใหม่กับ “หัวเว่ย คอนซูมเมอร์” สมาร์ทโฟนแบรนด์จีนที่กำลังเริ่มตั้งไข่ในการตีตลาดในไทย ทศพรร่วมงานกับหัวเว่ยได้ 3 ปี สร้างผลงานด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 0 เป็น 22% รั้งเบอร์ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟนได้
ก่อนที่ทศพรจะไปร่วมงานกับแอมเวย์ ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย)
จริงๆ แล้วทศพรได้เข้ามาจอยกับแอมเวย์ได้ร่วม 3 ปีแล้ว เป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พอดี แต่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมานี่เอง
เหตุผลที่ทางทศพรเลือกที่จะย้ายสายงานแบบข้ามห้วยในวัย 46 ปีนั้น เป็นเรื่องของความท้าทายใหม่ๆ ประกอบกับทางแอมเวย์เปิดกว้างกับคนสายเทคพอดีด้วย
“ตอนนั้นเป็นช่วงก่อน COVID-19 ที่ตัดสินใจย้ายงานข้ามอุตสาหกรรม อยากเรียนรู้เรื่องตลาด FMCG ซึ่งเทรนด์สินค้าสุขภาพมาแรงด้วย เลยมาจอยกับแอมเวย์ ที่เปิดกว้างเอาคนสายเทคมาร่วมงาน เพราะบริษัทเองก็อยากโกออนไลน์มากขึ้นด้วย ในช่วงแรกดูในส่วนของเทคโนโลยี และฝั่งระบบปฏิบัติการด้วย หลังจากนั้นขยับมาดูในส่วนของแผนธุรกิจ ฝ่ายขาย ความสัมพันธ์กับนักธุรกิจ”
การรับตำแหน่ง MD ของทศพรก็มีความพิเศษตรงที่เป็นการสรรหาจากภายนอกองค์กร ต่างจากในยุคก่อนๆ ที่ผู้บริหารล้วนเป็นลูกหม้อที่ร่วมงานกับแอมเวย์มายาวนาน
ถ้าถามถึงความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนสายงานจากไอทีมาธุรกิจขายตรงอย่างแอมเวย์ ทศพรบอกว่าหลักๆ คือเรื่อง “คน” แต่ก่อนในอุตสาหกรรมไอทีจะเป็นสาย Sale Marketing แต่ที่แอมเวย์จะเรียกว่าเป็น People Business ต้องดีลกับคนมากขึ้นหลายเท่าตัว คนในที่นี่ก็คือ “นักธุรกิจแอมเวย์”
“แต่ก่อนตอนอยู่แวดวงไอที ส่วนใหญ่ดีลงานกับดิสทริบิวเตอร์หลักสิบราย แต่ตอนนี้นักธุรกิจแอมเวย์ 330,000 คน รวมถึงสมาชิกอีกกว่า 720,000 คน รวมราวๆ 1,050,000 คน มันเป็นการดีลกับผู้นำจำนวนมาก ต้องใช้ศาสตร์อีกแบบ ใช้ใจทำงาน เป็นการคุยกับมวลชน”
ในปีนี้แอมเวย์ระดับโกลบอลครบรอบ 65 ปี ส่วนแอมเวย์ ประเทศไทยมีอายุครบ 36 ปี ความท้าทายหลักก็คือ ต้องเข้าถึงคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องอาศัยศาสตร์ และศิลป์ในเรื่องของเทคโนโลยี เพื่อมาเข้าถึงคนรุ่นใหม่
“ธุรกิจมือถือเปิดตัวอย่างน้อยปีละ 2 รุ่น แต่แอมเวย์เปิดตัวสินค้าใหม่ 15 รายการ จากสินค้าที่มีทั้งหมด 250 รายการ หลายหมวดสินค้า จริงๆ แล้ววิธีการทำตลาดไม่ต่างกัน อาศัย Word of Mouth หรือการบอกปากต่อปาก และอาศัยนักธุรกิจแอมเวย์ทำให้เกิดเอ็นเกจเมนต์”
รายได้ของแอมเวย์ทั่วโลกอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยสร้างผลงานอยู่ที่รายได้ 18,750 ล้านบาท ในปี 2565 เรียกว่ายังคงท็อปฟอร์ม ติดอันดับ Top 5 ในระดับโลกได้ เป็นรองตลาดใหญ่ๆ อย่าง จีน, สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
แต่ถ้าพูดถึงโปรดักส์ ฮีโร่ แต่ก่อนหลายคนอาจจะนึกถึงเครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศ รวมไปถึงน้ำยาทำความสะอาด และยาสีฟัน แต่ยุคนี้เป็นยุคของ “บอดี้คีย์” ที่ประเทศไทยมียอดขายบอดี้คีย์สูงสุดอันดับ 1 ของโลก จนหลายประเทศต้องมาดูงานว่าทำได้อย่างไร
ปัจจัยที่สร้างแรงขับเคลื่อนมีหลายอย่างด้วยกัน อย่างแรก คนรุ่นใหม่นิยมทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น ไม่อยากทำงานบริษัท การเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สร้าง Passive Income ได้ตรงตามเป้าหมาย
ปัจจุบันแอมเวย์มีนักธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม Gen Z และ Millennial ทั้งสองกลุ่มรวมกันอยู่ในสัดส่วน 45% และคาดว่าจะต้องเติบโตมากขึ้นอีก ทศพรก็มองว่าอนาคตของธุรกิจขายตรงก็คือ คนรุ่นใหม่ นั่นเอง
สำหรับตัวสินค้า เนื่องจากเทรนด์ในปัจจุบันเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพ อีกหนึ่งที่คนไทยให้ความสนใจไม่น้อยเลยก็คือ “การลดน้ำหนัก” เรียกได้ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องความสวยความงามเป็นพิเศษ เห็นได้จากตลาดวิตามิน อาหารเสริมต่างมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แอมเวย์ได้มีไลน์สินค้า นิวทริไลท์ (Nutrilite) เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ พร้อมกับมี “บอดี้คีย์” เป็นโซลูชันสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ซึ่งบอดี้คีย์เป็นน้องใหม่ที่มีอายุได้ 8-9 ปีเท่านั้น แต่ประเทศไทยสร้างให้เป็นตลาดหลักได้
ทศพรบอกว่า จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือช่วง COVID-19 ที่ไม่สามารถเจอหน้ากัน ประชุมกันได้ นักธุรกิจจึงต้องหาวิธีการขายใหม่ๆ ฝึกสกิลใหม่ในการขาย จากเดิมที่เราจะคุ้นเคยกับสกิลการขายของนักธุรกิจแอมเวย์ในการเชิญชวนคนรู้จักเข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วย เพื่อเป็นการต่อยอดสายของตัวเอง อาจจะมาในเชิง “ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่” “เงินเดือนพอใช้มั้ย” “ไปฟังงานสัมมนาการตลาดกันมั้ย” ในมุมหนึ่งก็สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีให้กับธุรกิจขายตรงเท่าไหร่
แต่พอมี COVID-19 นักธุรกิจแอมเวย์ได้เปลี่ยนตัวเองเป็น Content Creator ด้วยการแทนตัวเองว่าเป็น “นักโภชนาการ” “นักปั้นหุ้น” “นักลีนหุ้น” ใช้สื่อโซเชียลมีเดียของตัวเองเป็นช่องทางการขายเพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการลงคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพ หรือการลดน้ำหนัก ลงภาพการลดน้ำหนักของตัวเองเป็นภาพ Before และ After พร้อมบอกว่ามีเคล็ดลับการลดน้ำหนักแบบไม่ต้องออกกำลังกาย (ซึ่งคนไทยไม่ชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว) จึงถูกจริตเข้าไปใหญ่
กลายเป็นว่ากลยุทธ์นี้ได้ผล เพราะเป็นการขายแบบเนียนๆ ใช้ในเรื่องของการเห็นผลจริงในการจูงใจ ทำให้ยอดขายบอดี้คีย์ในไทยติดอันดับ 1 ของโลก ทศพรถึงกับบอกว่าประเทศอื่นๆ ต่างอยากของมาศึกษาดูงานกันเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นกลยุทธ์สไตล์ Thailand Only
“เนื่องจากช่วง COVID-19 ทำให้เจอหน้ากันไม่ได้ เลยต้องสร้างวิธีการทำงานใหม่ ฝึกสกิลใหม่ให้นักธุรกิจ การทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียของตนเอง เป็นการชวนแบบใหม่ ปั้นให้เป็นครีเอเตอร์ อีกทั้งยุคนี้คนรุ่นใหม่ต้องการผลตอบแทนเร็วขึ้น วิธีนี้จึงค่อนข้างประสบความสำเร็จ”
จากแต่เดิมที่เมื่อก่อนคนพูดถึงแอมเวย์ จะนึกถึงเครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศ ตอนนี้เน้นเรื่องโซลูชันในเรื่องของการลดน้ำหนัก ทศพรบอกว่าเป็นการเปลี่ยนการสื่อสารแบบฮาร์ดคอร์ เป็นในเรื่องของ Health Before Wealth เอาเรื่องสุขภาพเป็นตัวตั้ง ถ้าใครจะทำธุรกิจต่อก็ทำได้
ซึ่งราคาของบอดี้คีย์ก็ไม่ใช่เล่นๆ เหมือนกัน คอร์สนึงราคาพอๆ กับเครื่องกรองน้ำเลยทีเดียว
สำหรับรายได้ของแอมเวย์ ประเทศไทย ปี 2565 มีรายได้รวม 18,750 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนรายได้เป็น นิวทริไลท์ 70% อาร์ทิสตี้ 15% กรองน้ำ/เครื่องฟอกอากาศ 10% และอื่นๆ 5%
]]>ตลอดทั้งปี 2018 “แอมเวย์” มีมูฟเมนต์สำคัญถึง 3 ครั้ง ไล่มาตั้งแต่ต้นปีที่เร่งทำตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก “บอดี้คีย์ บาย นิวทริไลท์” (BodyKey by Nutrilite) ที่สามารถทำยอดขาย 5,200 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 3 ปี
ขยับมาในช่วงไตรมาส 3 ก็หันมารุกกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง ด้วยการเปิดตัว “เอ็กซ์เอส ซีโร่” (XS Zero) เอเนอร์จี้ดริ๊งค์ที่ปราศจากน้ำตาลแบรนด์แรก ที่จัดจำหน่ายทั่วโลกในรูปแบบเอกสิทธิ์เฉพาะ เสริมด้วยกลยุทธ์การตลาดที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ผ่านออนไลน์คอมมูนิตี้ โดยแอมเวย์ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดเอเนอร์จี้ ดริ๊งค์ สำหรับคนรุ่นใหม่ภายในสิ้นปี 2019
ถัดมาอีกนิดก็ยังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เหมือนกัน แต่ครั้งนี้เป็นเครื่องสำอาง โดยฉีกลุค “อาร์ทิสทรี” แบรนด์ที่เดิมเน้นจับตลาดพรีเมียมให้ดูสดใสมีชีวิตชีวา โดยเปิดเป็นแบรนด์เครื่องสำอางน้องใหม่ “อาร์ทิสทรี สตูดิโอ” เมกอัพคอลเลกชั่นแรกคือ “อาร์ทิสทรี สตูดิโอ เอ็นวายซี เอดิชั่น” (Artistry Studio NYC Edition) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ขาดตลาดหลังเปิดจำหน่ายได้เพียง 2 วัน และคาดว่ายอดขายรวมของอาร์ทิสทรีสิ้นปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ 2,200 ล้านบาท
ไม่เพียงแต่สินค้าเท่านั้นที่แอมเวย์ต้องการเจาะกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี แต่ในกลุ่มนักธุรกิจแอมเวย์ก็ต้องบุกมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมเมื่อผู้คนอยากจะหางานพิเศษหรือรายได้พิเศษ ก็มองเรื่องการทำขายตรงเป็นหลักก่อน
แต่ต้องยอมรับว่า ยุคนี้ผู้บริโภคมีช่องทางเลือกมากขึ้น ทำอะไรก็ง่ายขึ้น เช่น สตาร์ทอัพ หรือเอสเอ็มอี การเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเอง อีกทั้งการเข้าสู่โลกดิจิทัลที่อะไรๆ ก็ง่าย จึงต้องปรับตัวเข้าหากลุ่มนี้ผ่านการปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และต้องเข้าถึงให้ง่าย
ปัจจุบันแอมเวย์มีฐานกลุ่มอายุต่ำกว่า 35 ปี ประมาณ 1 ใน 3 ของฐานทั้งหมด คือ มีสมาชิกนักธุรกิจแอมเวย์ 330,000 ราย และผู้ใช้สินค้าประมาณ 720,000 ราย ที่สำคัญมีระดับมงกุฎทูตที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีแล้วด้วย
กิจธวัช ฤทธีราวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
“จากการกลยุทธ์ที่วางแผนไว้คาดว่าปี 2018 แอมเวย์จะเติบโต 4% หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท สูงสุดเท่าที่เคยทำมาในไทย และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3% และยังเติบโตกว่าตลาดรวมขายตรงที่คาดว่าทั้งปีนี้ที่ปีจะเติบโต 3% จากมูลค่าตลาดรวม ประมาณ 71,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว”
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีหน้า แอมเวย์ยังคงเน้นผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม พร้อมปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัยและเข้าถึงง่าย เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาช่องทางการทำธุรกิจให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์แอคทีฟ และมุ่งเน้นการดำเนินกลยุทธ์หลักเพื่อสร้างการเติบโตของนักธุรกิจแอมเวย์ด้วย.
อ้างอิง : https://mgronline.com/business/detail/9610000120143
]]>เมื่อ 2 ใน 3 ของฐานลูกค้า “แอมเวย์” ในเมืองไทย หรือประมาณ 65% เป็นกลุ่มที่มาอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่เหลืออีก 35% เป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
ทำให้ “แอมเวย์” วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี หรือที่เรียกว่า “คนรุ่นใหม่” เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ให้ได้ภายใน 5 ปี
ดังนั้นแผนการเคาะประตูเข้าหาคนรุ่นใหม่ของแอมเวย์จึงถูกเริ่มต้นด้วยการนำ “เอ็กซ์เอส ซีโร่” แบรนด์เอเนอร์จี้ดริ๊งค์อายุ 10 ปีจากอเมริกาเข้ามาทำตลาด ซึ่งแอมเวย์ระบุว่า เป็นเอเนอร์จี้ดริ๊งค์ที่ไม่มีน้ำตาลแบรนด์แรกๆ ของโลก
เหตุที่เริ่มต้นด้วย “ตลาดเอเนอร์จี้ดริ๊งค์” เพราะมองว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานนิยมดื่มเอเนอร์จี้ดริ๊งค์มากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่มักอยู่แค่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยมูลค่าตลาดรวมของเอเนอร์จี้ดริ๊งค์มีขนาดใหญ่ 30,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 3%
สำหรับเอเนอร์จี้ดริ๊งค์ในกลุ่มพรีเมียมมีสัดส่วน 4% หรือ 1,200 ล้านบาท เติบโตปีละไม่น้อยกว่า 2 ดิจิ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเข้าสู่ตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น การเติบโตของตลาดกลุ่มนี้จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง
“เอ็กซ์เอส ซีโร่” จะเข้ามาเจาะในกลุ่มพรีเมียมที่มีเจ้าประจำอยู่แล้วอย่าง “เรดบูล เอ็กซ์ตร้า” จากค่ายกระทิงแดง แต่แอมเวย์ก็บอกว่าไม่ได้ชนกันเสียทีเดียว เพราะ “เรดบูล เอ็กซ์ตร้า” เป็นฟังก์ชันนัลดริ้งค์ที่เจาะกลุ่มคนทำงานและนักกีฬา ส่วน “เอ็กซ์เอส ซีโร่” จะปั้นให้เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ดื่มเล่นตอนไหนก็ได้เหมือนน้ำอัดลมหรือกาแฟ
ถึงจะมีเป็น 10 รสชาติในอเมริกา แต่แอมเวย์พยายามเปิดตลาดด้วยรสชาติที่ขายดีที่สุด และทดสอบแล้วว่าถูกใจคนไทย จำนวน 2 รสชาติได้แก่ กลิ่นทรอปิคอล–บลาสท์ และกลิ่นแครนเบอรี่–เกรพ บลาสท์ ในรูปแบบกระป๋องขนาด 250 มิลลิลิตร ราคา 60 บาท และในรูปแบบแพ็ก (6 กระป๋อง) ราคา 355 บาท
ที่ไม่นำมาเยอะส่วนหนึ่งเป็นขีดจำกัดด้านการผลิตและการขออนุญาตจาก อย. เพราะ “เอ็กซ์เอส ซีโร่” ใช้หัวเชื้อนำเข้ามาแล้วเติมน้ำกับอัดลมเข้าไปโดยจ้างบริษัทชบาบางกอกเป็นผู้ผลิต
เมืองไทยถือเป็นประเทศที่ 56 ที่ถูกนำเข้ามาขายและเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากมาเลเซีย
กิจธวัช ฤทธีราวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
“ที่เพิ่งนำเข้ามาเป็นเพราะเพิ่งพร้อม หลายปีที่ผ่านมาแอมเวย์ประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่ตลาดนิวทริชั่นและเครื่องสำอาง ตลาดเอเนอร์จี้ดริ๊งค์เป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำ พอ 2 ตลาดนั้นแข็งแล้ว จึงอยากเข้ามาบุกตลาดคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง ซึ่งแบรนด์เอ็กซ์เอสจะช่วยให้ภาพลักษณ์ของแอมเวย์มีความแอคทีฟ สดใหม่ และเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น แล้วพอคนรุ่นใหม่คุ้นชินกับตัวนี้ จะนำพาไปสู่สินค้าตัวอื่นๆ ของแอมเวย์”
ความท้าทายของการทำ “เอ็กซ์เอส ซีโร่” อยู่ที่การสร้างการรับรู้ แอมเวย์จึงจะใช้วิธีสร้างแบรนด์โดยใช้ความเป็นแอมเวย์ ผ่านการแนะนำจากเครือข่ายนักธุรกิจทั่วประเทศ เหมือนสินค้าตัวอื่นๆ โดยมีนักธุรกิจ 330,000 คน และสมาชิกอีก 700,000 คน รวมแล้วกว่าล้านคน
พร้อมกับอัดงบการตลาดกว่า 40 ล้านบาท เน้นกิจกรรมการตลาดและการสื่อสารที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ อาทิ โปรแกรมที่เน้นการสร้างคอมมูนิตี้ ทั้งในส่วนของออนไลน์และออนกราวด์ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ดนตรี และการผจญภัย ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกของแอมเวย์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ โดยที่ไม่ได้ชูจุดขายที่คุณสมบัติของสินค้า
แอมเวย์ตั้งเป้ายอดขาย “เอ็กซ์เอส ซีโร่” 300 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ และวาดฝันที่จะก้าวเป็นผู้นำตลาดเอเนอร์จี้ดริ๊งค์สำหรับคนรุ่นใหม่ภายในสิ้นปีหน้า
หลังจากนี้แอมเวย์วางแผนจะเปิดตัวสินค้าที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกหลายรายการ โดยในเดือนตุลาคมนี้เตรียมเปิด “เครื่องสำอางอาทิสตี้” ที่ออกสินค้าเพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ และยังวางแผนที่จำนำสินค้าเข้ามาอีกหลายตัว
“ความท้าทายในการทำตลาดของคนรุ่นใหม่อยู่ที่ Unpredictable คาดเดายาก พฤติกรรมเปลี่ยนเร็ว ลอยัลตี้ต่ำ เอาใจยาก ไร้ซึ่งเหตุผล เอาอารมณ์ในสถานการณ์นั้นๆ เป็นหลัก เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้พวกเขาผูกติดกับอะไรสักอย่าง ประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแอมเวย์จะเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ สินค้าจะไม่พยายามขายเรื่องคุณสมบัติมากนัก แต่เสริมเรื่องไลฟ์สไตล์เข้ามาแทน” กิจธวัช กล่าวทิ้งทาย
]]>