โรตีบอย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 30 May 2018 05:47:56 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 โรตีบอย 2010 ? https://positioningmag.com/13285 Wed, 24 Nov 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=13285

การมาของ Krispy Kreme ในไทย ที่สร้างปรากฏการณ์ “ต่อแถว” ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น หรือเป็นเรื่องใหม่ เพราะครั้งหนึ่ง “โรตี บอย” แฟรนไชส์จากมาเลเซีย ก็เคยสร้างปรากฏการณ์เข้าแถว จนกลายเป็น Talk of the townมาแล้ว แต่ในที่สุดกระแสโรตีบอยก็หายไปจากตลาดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ปรากฏการณ์ “ต่อแถว” ของ Krispy Kreme จะลงเอยเหมือนอย่างที่โรตีบอยเคยเจอมาแล้วหรือไม่

ดังได้เพราะพลังการตลาด

ปัทมวรรณ สถาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มายด์แชร์ กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปถึงจุดสิ้นสุดของโรตีบอยในช่วงนั้นพบว่า ขณะที่โรตีบอยได้รับความนิยมถึงขีดสุด คนทั้งเมืองยืนต่อแถวเข้าคิวรอ ปรากฏว่ามีสินค้าเลียนแบบเกิดขึ้นมากมาย ที่มีกลิ่นและรสชาติใกล้เคียงกัน ที่สำคัญราคาถูกกว่า

แต่ โรตีบอยกลับนิ่งเฉย ไม่มีความเคลื่อนไหว หรือเตรียมกลยุทธ์ใดๆ ตอบโต้กลับ ยิ่งนานวันเข้าผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่าง Original Brand กับบรรดา Copycat Brands ที่เป็นสินค้าทดแทนกันได้ แถมมีราคาถูกกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญให้ธุรกิจของโรตีบอยต้องปิดตัวในระยะเวลาอันรวดเร็ว

สำหรับ Krispy Kreme ปัทมวรรณ ประเมินว่า สถานการณ์อาจแตกต่างกัน เนื่องจาก Krispy Kreme มี Unique Selling Point ที่ชัดเจน ซึ่งเป็น Power of Brand เมื่อผนวกเข้ากับ Power of Marketing ที่เตรียมวางแผนมาอย่างดี ก็เป็นแรงส่งให้ Krispy Kreme สามารถยืนระยะได้ยาวนานกว่าโรตีบอย แต่หลังจากหมดกระแสแล้ว โอกาสเสี่ยงก็มีสูง ซึ่งเธอไม่ได้บอกว่าเป็นเมื่อไหร่

ดังนั้นสินค้าที่อาศัยพลังการตลาดสูงอย่าง Krispy Kreme จำเป็นต้องอาศัยกิมมิกการตลาดที่ช่วยเรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

“เมื่อหมดกระแส ผู้บริโภคก็จะเริ่มเห็นว่า โดนัทก็คือโดนัท ที่ไม่มีความแตกต่าง โจทย์ของ Krispy Kreme ต่อจากนี้ คือ การสร้าง Emotional Bonding ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกได้ถึงความพิเศษของแบรนด์ ไม่เช่นนั้นแบรนด์อย่างสตาร์บัคส์คงอยู่ไม่ได้ในเมืองไทย”

กระแสอยู่ได้ 3-4 เดือน

ภราดร ศิรโกวิท Senior Strategic Planner บริษัท โลว์ ประเทศไทย บอกถึงการตอบรับของกระแส Krispy Kreme ในหมู่วัยรุ่นนั้น มาจากผลการสำรวจพฤติกรรมกลุ่มวัยรุ่นที่เป็น Trend Setter ตั้งแต่อายุ 15 – 22 ปี พบว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับ “Exclusive” มากกว่า “New” และด้วยความที่ Krispy Kreme ตอบโจทย์ได้ทั้ง Exclusive ที่มีจำหน่ายเพียงสาขาเดียวแล้วยังต้องเข้าคิวรอซื้อนานหลายชั่วโมง และยังมีความ New เข้ามาประกอบด้วย เมื่อทั้งสององค์ประกอบนี้รวมเข้าด้วยกัน กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สร้างแรงดึงดูดให้กับมนุษย์เมือง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น

การเข้าแถวซื้อ Krispy Kreme จึงถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่พลาดไม่ได้สำหรับพวกเขา Krispy Kreme ยังตอบโจทย์สิ่งที่วัยรุ่นกำลังมองหาอีกหนึ่งอย่าง คือ Brand Heritage ซึ่งหมายความว่า กลุ่มผู้บริโภคนี้ให้ความสำคัญกับความดั้งเดิมของแบรนด์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพ “ตัวจริง” ในตลาด ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธ และปิดกั้นตัวเองจากแบรนด์ที่ไร้ตำนาน หรือเรื่องราวที่แสดงออกให้เห็นถึงความ Uniqueness และ Authenticity หรือที่พวกเขามักเรียกว่า “Fake”

แม้ว่าปัจจัยบวกเหล่านี้ทำให้ Krispy Kreme ได้รับการตอบรับอย่างดีในช่วงนี้เท่านั้น แต่หากวัดจาก Power of Marketing ในช่วงเริ่มต้นก่อนเปิดร้าน น่าจะสร้างความคึกคักให้ Krispy Kreme ได้ประมาณ กว่า 3 – 4 เดือน

แต่หลังจากนั้น เมื่อกระแสก็จะเริ่มจางหายไป หากไม่มีกลยุทธ์การตลาดอื่นใดมาเสริม เพื่อกระตุ้นKrispy Kreme ขยับสถานะเป็น Iconic Brand (แบรนด์ที่สร้างความจดจำ เหมือนอย่างที่แบรนด์โค้ก หรือเป๊ปซี่ ทำได้) พลังในการดึงดูดกลุ่มลูกค้า ก็คาดว่า Krispy Kreme อาจต้องอาศัยสายป่านจาก กำลังเงินของตระกูลมหากิจศิริ เจ้าของแฟรนไชส์ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ซึ่ง Krispy Kreme อาจยังไม่ถึงกับปิดตัวลงในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็ไร้คนที่มาอุดหนุนคับคั่งเหมือนอย่างเคย

ซ้ำรอยชาเขียว ตลาดหดลง แต่ไม่ตาย

เห็นได้ชัดว่าปรากฏการณ์ของ Krispy Kreme นั้น อาศัยพลังการตลาด สร้างดีมานด์ให้เกิดจนกลายเป็นกระแสให้เกิดความอยากทดลอง จนแทบไม่ได้พูดถึง Product ด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อกระแสเริ่มซาลง ตัวสินค้าและสภาพความต้องการที่แท้จริงจะเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ Krispy Kreme ยืนระยะอยู่ในตลาดได้มากแค่ไหน

หากดูจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ที่บริโภคโดนัทเฉพาะบ้างเป็นครั้งคราว เป็นสแน็คหลังทานอาหารเที่ยง หรือซื้อเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปเป็นของฝาก แบ่งกับเพื่อนและครอบครัว โดยเฉพาะช่วงเทศกาล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ตลาดโดนัท แม้จะเป็นขนมหวานที่คนไทยคุ้นเคยมามากกว่า 30 ปี ยังคงมีมูลค่าตลาดเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

ถึงแม้ว่าปรากฏการณ์ Krispy Kreme ได้ผลักดันให้ “โดนัท” เป็นขนมที่ทุกคนอยากลิ้มลอง กระตุ้นให้ตลาดโตขึ้น 20% ก็ตาม แต่ก็อาจเป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

สถานการณ์ที่กำลังเกิดกับ Krispy Kreme อาจไม่ต่างจากตลาดชาเขียว ที่การตลาดและโปรโมชั่นของโออิชิช่วงหนึ่งได้กระตุ้นความต้องการมากเกินกว่าที่มีอยู่พื้นฐาน ซึ่งผ่านไปไม่กี่ปีหลังจากโปรโมชั่นจบ กระแสหมด ตลาดก็เกิดการหดตัวอย่างแรง จนแบรนด์ที่ไม่แข็งแรง มีฐานลูกค้าไม่มากพอ ไม่สามารถยืนระยะผ่านไปได้

พูดถึงความแข็งแรงของแบรนด์ มิสเตอร์โดนัท มาเป็นลำดับหนึ่ง เพราะมีการปรับตัวตลอดเวลา และเครือข่ายสาขาที่มีมากว่า 240 แห่งครอบคลุมถึง 60 จังหวัด และมีพอนเดอริง เป็น Hero Product ที่ทำให้พวกเขาเป็นผู้นำตลาด ยังมีจุดดีอีกอย่าง คือ ซีอาร์เอ็มที่เข้มแข็ง ฐานลูกค้ามากถึง 150,000 คนทั่วประเทศภายใต้ Misdo Club

ขณะที่ ดังกิ้นโดนัท ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จนสตาร์บัคส์ และคริสปี้ ครีม ต้องปิดสาขาจำนวนหนึ่งในอเมริกา พวกเขายังคงเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปได้อย่างดี การหันมาโฟกัสที่ธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเมนูกาแฟ ช่วยให้ดังกิ้นโดนัทฝ่าฟันช่วงที่ลำบากที่สุดช่วงหนึ่งไปได้ ซึ่งตอนนี้ดังกิ้นโดนัทในประเทศไทยได้นำโมเดลที่ประสบความสำเร็จนี้มาปรับใช้

ขณะเดียวกัน การยืนระยะในตลาดโดนัทประเทศไทยมาเกือบ 30 ปีของดังกิ้นโดนัท ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนแฟนที่มีความจงรักภักดีอยู่พอควร

แต่คริสปี้ ครีมมีดีอะไร

รสชาติ จากการสำรวจคร่าวๆ ผ่านทางกระทู้ และเว็บบอร์ดต่างๆ มีถึงครึ่งที่ไม่คิดว่า คริสปี้ ครีม อร่อย และพวกเขาก็บอกว่าจะไม่กลับมาซื้อซ้ำ แต่หลายคนก็บอกว่า อร่อยสมกับการรอคอยมานาน บางส่วนที่เคยสัมผัส Krispy Kreme ในต่างประเทศ ก็บอกว่า โดนัทในไทยหวานกว่าที่เคยทานมา ขณะที่อีกส่วนชื่นชอบแป้งยีสต์ของโดนัท แต่ทนความหวานที่เคลือบอยู่ไม่ได้ เลยทานได้ไม่เกินชิ้นหรือสองชิ้นเท่านั้น

คงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ที่ Krispy Kreme จะไม่ถูกปากคนไทยบางส่วน ถึงแม้ว่า Krispy Kreme จะมีจุดขายสำคัญ ที่ความดั้งเดิมของแบรนด์สินค้า มีคำว่า Secret Recipe ประทับอยู่ ซึ่งยืนยันถึงรสชาติความอร่อยเดิมตั้งแต่ปี 1937 ไว้ก็ตาม

การที่ผู้บริโภคในต่างประเทศหันหน้าหนี Krispy Kreme โดยเฉพาะในอเมริกา และออสเตรเลีย ไม่ใช่เกิดเพราะว่า Krispy Kreme หมดความอร่อย แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหมดแรงการตลาด

ความอร่อยยังคงอยู่ตาม Secret Recipe ที่มีมาแต่ดั้งเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ไม่มีมุกใหม่ในการสร้างกระแส ความต้องการของผู้บริโภคที่พวกเขากำลังมองหาอาหารเพื่อสุขภาพ และการขยายช่องทางจัดจำหน่ายอย่างไร้ขีดจำกัดของ Krispy Kreme เอง ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จอย่างหนึ่งของ Krispy Kreme คือความเป็น Exclusive หาซื้อได้ยาก ต้องเข้าแถวซื้อ เพราะมีอยู่สาขาเดียว หากการขยายสาขาออกไปมากๆ ก็ทำให้คุณค่าและความพิเศษของ Krispy Kreme ลดลง เหมือนอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายสาขาไม่จำกัด เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย และได้เปลี่ยนจากห้างสรรพสินค้าหรู มาเป็นห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต

การได้รับขนานนามว่า โดนัทในซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ได้ส่งผลดีต่อชื่อเสียงของแบรนด์แม้แต่น้อย ที่มีจุดขายและความภาคภูมิใจในความสดใหม่ผ่านป้ายไฟว่า Hot Doughnut Now ซึ่ง Krispy Kreme ได้บอกลูกค้ามาตลอดเวลาว่า โดนัทที่อร่อยต้องเสิร์ฟทันทีหลังทำเสร็จใหม่

เช่นเดียวกับในประเทศไทย Krispy Kreme ต้องเข้าใจก่อนว่า แบรนด์สินค้าพวกเขาไม่สามารถเจาะกลุ่มแมสได้ ด้วยราคาที่พรีเมียม และรสชาติที่แปลกใหม่ ซับซ้อนเกินกว่าผู้บริโภคไทยทั่วไปจะเข้าใจและคุ้นลิ้นได้ในเร็ววัน การขยายสาขาเพื่อเข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เหมือนอย่างที่มอสเบอร์เกอร์ ต้องยุบสาขาที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เพราะประเมินความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคย่านชานเมืองผิดพลาดไป

เมื่อวันใดที่ไร้แรงผลักดันจากการตลาด มวลชนก็จะค่อยๆ หายไป เหลือแค่กลุ่มแฟนที่ยังคงให้ความสนใจเท่านั้นจะเปิดเผยตัวเองออกมา ซึ่งความอยู่รอดของ Krispy Kreme ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มนี้จะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน

แต่โชคดีอยู่อย่างหนึ่ง ที่คนไทยยังอยู่ในอารมณ์ “Guilty Pleasure” หรือชอบทานทั้งๆ ที่รู้ว่าทานมากเกินไปไม่ดีต่อร่างกาย มากกว่าคำนึงถึงประเด็นปัญหาในเรื่องของการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ดังนั้น การควบคุมจำนวนสาขาให้เหมาะสมและตรงกับพื้นที่ที่กลุ่มเป้าหมายใช้ชีวิตอยู่ ทำการตลาดกับกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ เพื่อขยับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพื่อพิสูจน์ว่า Krispy Kreme เป็นตัวจริงในตลาด

หากไม่คำนึงถึงรายได้มากเกินไป และยังคงวาง Positioning ของแบรนด์ Krispy Kreme สำหรับกลุ่ม “Niche” เพื่อรักษา “Need” ที่มีอยู่ในตลาดไว้

Krispy Kreme อาจไม่ตายจากแบบโรตีบอย แต่สภาพไม่น่าต่างจากชาเขียว หรือ มอสเบอร์เกอร์ เมื่อกระแสหมด ฝุ่นที่ตลบจางหาย ก็เหลือเฉพาะแฟนพันธุ์แท้เท่านั้นที่ยังคงจงรักภักดีไม่เปลี่ยนแปลง

ทางรอด ไม่ซ้ำรอย Rotiboy

รศ.ธีรยุส วัฒนศุภโชค รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การจุดพลุในช่วงแรกคือการเริ่มต้น แต่การที่จะทำให้โปรดักต์นั้นอยู่ยาวในตลาดนั้นสำคัญไม่แพ้กัน เพราะบทเรียนในธุรกิจนี้เคยเกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจนกับ Rotiboy ที่มาเร็วไปเร็ว เพราะจุดอ่อนหลายด้านคือ Product รสชาติไม่หลากหลาย ทำให้ลูกค้าเบื่อได้เร็ว Price 25 บาทถือว่าสูงเกินไปเมื่อเจอคู่แข่งที่ตามมาเร็วขายราคาถูกกว่าเท่าตัว เช่น Mr.bun ของคนไทย ขายชิ้นละ 10 บาท เท่านั้น

รศ.ธีรยุสเสนอว่า หาก Krispy Kreme ก็ต้องทำการบ้านเพิ่ม เพื่อให้เกิด Brand Loyalty ในระยะยาว ด้วยวิธีการดังนี้

1.ความหลากหลายของสินค้า ที่ควรมีรสชาติให้ลูกค้าเลือกจำนวนมาก ซึ่ง Krispy Kreme ถือว่าทำได้ดี

2.ต้องทำแบรนด์ให้สดใสตลอดเวลา อาจใช้ Festival Marketing ทั้งการทำรสชาติเพิ่มขึ้น และการตกแต่งหน้าร้านให้เหมาะในแต่ละเทศกาล เช่น ฮาโลวีน วาเลนไทน์ ตรุษจีน ถ้าเล่นตลอดกระแสก็จะไม่ตก และที่สำคัญพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยก็ร่วมกิจกรรมกับทุกเทศกาลอยู่แล้ว

3.การเกาะกระแสให้ได้ในระยะยาว ต้องมีกิจกรรมกับลูกค้าต่อเนื่อง นอกเหนือจากเทศกาลแล้ว อาจใช้กระแสฮิตอย่าง Co Creation กับลูกค้า หารสชาติใหม่ๆ การใช้ Contest Marketing คิดแคมเปญใหม่ๆ

4.สำหรับ Krispy Kreme ยังสามารถนำจุดขายว่าด้วยเรื่องราว (Story Telling) ของแบรนด์มาเชื่อมโยงกับลูกค้า

]]>
13285
HOT OF THE YEAR 2006 https://positioningmag.com/9350 Tue, 05 Dec 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=9350

แดจังกึม…ที่สุดกระแสเกาหลี

แม้จะไม่ได้เป็น Trend Setter สำหรับกระแสเกาหลีในเมืองไทย แต่ช่วงต้นปี 2549 ที่ผ่านมา นับได้ว่า “แดจังกึม” ละครแดนโสมของช่อง 3 เป็นตัวตอกย้ำกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในเมืองไทยให้พุ่งถึงขีดสุด หลังจากปูทางสร้างความดังมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

คลื่นเกาหลีในเมืองไทย ได้แผ่ไพศาลไปในทุกๆ ด้าน ได้รับความสนใจในวงกว้างอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ ภาษา อาหาร และการท่องเที่ยวเกาหลีที่ร้อนแรง

และแน่นอนว่า “แดจังกึม” เป็นเครื่องมือเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีชั้นเยี่ยมอย่างมิต้องสงสัย

โรตีบอย…ร้อนทะลุเตา !

คิวเป็นร้อยก็คอยได้…ปรากฏกาณ์ขนมปังอบโรตีบอย ที่มี “พรเพ็ญ อังควานิช เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ซื้อแฟรนส์ไชส์มาจากมาเลเซีย และเปิดร้านขายที่สยามสแควร์ และมีสาขาสีลมเปิดตามมา ได้สร้างปรากฏการณ์คนต่อแถวซื้อเป็นหลักร้อย เกิดกระแสฟีเวอร์ รับจ้างซื้อ รับจ้างต่อคิว

ไม่นานนักความฟีเวอร์ของโรตีบอยทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีนี้แรงสุดๆ มีขนมปังอบสายพันธุ์มาเลเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และไทยเอง ก็ตาม ตามมาเป็นพรวนทั้งเบอร์เกอร์บอย ปาปาบัน มิสเตอร์บัน และสารพัดบัน

ที่น่าสนใจ คือ จุดขายของโรตีบอยที่เน้นกลิ่นสดๆ จากเตา วางเตาอบไว้บริเวณหน้าร้านให้ลูกค้าเห็นกระบวนการทำขนมปัง กลายเป็นกระแสที่ทำให้เจ้าของแบรนด์ขนมปังจำนวนมากหันมาใช้วิธีขายแบบนี้ โดยเฉพาะมิสเตอร์โดนัทที่ปรับเปลี่ยนโพสิชันนิ่งใหม่ในร้านขาย ด้วยการใช้กลิ่นจากเตาอบเป็นจุดขายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บทสุดท้ายโรตีบอย ได้กลายเป็นตำนานเมื่อพ้นยุครุ่งเรือง เมื่อกระแส “เห่อตามกัน” สร่างซา ธุรกิจนี้ก็เป็นเพียงแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เท่านั้นเอง นับเป็นกรณีศึกษาของธุรกิจที่เกิดถึงขีดสุดและดิ่งดับไปภายในปีเดียว

โออิชิโดนเทกโอเวอร์

ข่าวดังที่สุดในรอบปีสำหรับธุรกิจชาเชียวโออิชิ เมื่อเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้แปรสภาพตัน ภาสกรนที จากเจ้าของ ผู้ถือหุ้นหลักโออิชิ กรุ๊ป ให้กลายเป็นมืออาชีพผู้ที่จะขับเคลื่อนโออิชิ กรุ๊ปให้เติบโตต่อไปอย่างน้อยๆ อีก 5 ปี พร้อมๆ กับการกลายเป็นเศรษฐีที่กำเงินสดกว่า 3,000 ล้านบาทของตัน

แม้จะเป็นการเทกโอเวอร์ในห้วงเวลาที่กระแสขาเขียวเริ่มจืดจาง แต่ก็เป็นดีลแห่งปีที่สั่นสะเทือนวงการพอสมควร

ฟิล์ม-รัฐภูมิ วิกฤตที่เป็นโอกาส

หลังประสบข่าวคาวอย่างหนักในประเด็นของ “เสี่ยอู๊ด” ฟิล์มกลายเป็นเรื่องท้าทายและโจทย์ข้อใหญ่ของอาร์เอส ในการทำพีอาร์ประชาสัมพันธ์เพื่อลบภาพที่เกิดขึ้น

ฟิล์มยังคงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและเป็นศิลปินที่เนื้อหอม เป็นดาวเด่นเป็นลูกรักของค่าย และยังเก็บเกี่ยวเม็ดเงินจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับเทสโต มีทั้งผลงานภาพยนตร์ ละคร และเพลง ต่อไปตราบเท่ากระแสนิยม

เป็นกรณีศึกษาของ Idol ที่เหมือนจะล้มแต่กลับยืนหยัดได้ และนับได้ว่าอาร์เอสเลือกเดินเกมถูกทาง ด้วยการดันสุดโต่งไม่รีรอ ครึ่งๆ กลางๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้นฟิล์มก็คงสิ้นชื่อและไม่สร้างรายได้ให้กับอาร์เอสอย่างเช่นทุกวันนี้

เทมาเส็ก…อี้ยยยยย สิงคโปร์

สร้างปรากฏการณ์ อี้ยยย สิงคโปร์…ยี้เทมาเส็กทั้งบ้านทั้งเมือง หลังเทกโอเวอร์ ชิน คอร์ป จุดพลังต้านคนขายชาติทั่วบ้านทั่วเมือง เทมาเส็ก…หน่วยรบธุรกิจ เหยี่ยวล่าทรัพย์นอกแผ่นดินของสิงคโปร์ ถูกขุดคุ้ย วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการ

เทมาเส็ก สร้างชื่อเสียให้กับสิงคโปร์ และถูกหลายหน่วยงานออกโรงต้านสินค้าและบริการจากสิงคโปร์ ทั้งการเงินการธนาคาร โรงแรม และบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าลักซ์ชัวรี่

น้องเดียว มหัศจรรย์ปั้นดาวของปัญญา

กระแสความดังน้องเดียว หรือ เด็กชาย พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เด็กอัจฉริยะผู้พิชิตแจ็กพอต 200 หน้าเกมทศกัณฑ์เด็ก ถูกกล่าวขานอย่างมาก กลายเป็น Idol สำหรับพ่อแม่ยุคนี้ที่อยากให้ลูกเก่งเหมือนน้องเดียว แต่ท่ามกลางความดังของเด็กน้อยคนนี้ ถูกมองว่า เป็นความจงใจของปัญญา นิรันดร์กุล เจ้าพ่อเวิร์คพอยท์ฯ ซึ่งปั้นน้องเดียวผ่านจอ ทั้งการโปรโมต

การทำให้น้องเดียวกลายเป็นคนดัง เนื้อหอม ทั้งมีการออกพ็อกเกตบุ๊ก การเตรียมเล่นหนังกับสหมงคลฟิล์ม การเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า เช่น ไมโล ซึ่งใช้น้องเดียวเป็นพรีเซ็นเตอร์ หวังกระแส ตีตื้นส่วนแบ่งการตลาดของเบอร์ 1 อย่างโอวัลติน หรือการใช้น้องเดียวสร้าง Brand Awareness กับยากันยุงคายาริ ตลอดจนการเดินสายโชว์ตัวในงานต่างๆ ทำรายได้อย่างมหาศาล จนปัญญา นิรันดร์กุลจับเซ็นสัญญาอยู่ในลิขสิทธิ์ของเวิร์คพอยท์ฯ ยาว 5 ปี

ฟุตบอลโลก 2006 โรบินฮู้ดเริงร่า

เกี่ยวไม่เกี่ยวก็ขอเอี่ยว… สำหรับสินค้าและบริการทั้งที่เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในเทศกาลฟุตบอลเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพวกบรรดาโรบินฮู้ดทั้งหลายที่ไม่ได้เป็นสปอนเซอร์หลัก แต่อาศัยกระแสฟุตบอลโลก ยิงแคมเปญและแอบช่วงชิงตลาดกันอย่างสนุก ชนิดที่สปอนเซอร์อย่างเป็นทางการต้องสะดุ้งสะเทือน

ในแง่ความเคลื่อนไหวทางการตลาดนับเป็นอีเวนต์ใหญ่แห่งปีที่ทั่วโลกคลั่งไคล้ที่สุด เกมชิงโชคจากบรรดาสินค้านานาชนิดช่วงนี้จึงระเบิดเถิดเทิงกว่าห้วงเวลาใด ทั้งฟรีทีวีปรับตัวกัน เลื่อนผังกันยกใหญ่ รวมถึงสื่ออื่นๆ ที่เพิ่มพื้นที่รับกระแสระดับโลกนี้กันถ้วนหน้า ไม่นับรวมลานถ่ายทอดสดหลายแห่งที่หวังเอาใจคอบอลที่ต้องการเชียร์มันส์กันเป็นกลุ่ม

AF ปีที่ 3 ยังไปได้สวย

ในช่วงเดือนสิงหาคม ความดังของ Academy Fantasia ปี 3 ได้รับการจับตามองอย่างมาก แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความสามารถที่ไม่เข้าขั้นของผู้เข้าแข่งขัน แต่จุดที่น่าจับตามองคือ ธุรกิจของยูบีซี และ การขยายตลาดของ TRUE Move สามารถสร้างยอดรายได้เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะยอดการโหวตทะลุถึง 11 ล้านโหวต ไม่เพียงแค่นั้น หลังจบซีซั่นผลิตผล AF3 ก็ถูกปั้นสู่ตลาดบันเทิง พร้อมทั้งเดินหน้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก AF3 เมื่อเป็นแบรนด์ที่ขายได้ เจ้าของสินค้าก็ยินดีจะทุ่มเม็ดเงินสนับสนุนรายละ 10 ล้านบาท เฉพาะค่าสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียวว่ากันว่า ก็คุ้มทุนแล้ว

สุวรรณภูมิ…หน้าตา หรือปัญหา

การรอคอยที่ยาวนานได้สิ้นสุดลงเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิได้ฤกษ์อวดโฉมสู่สายตานานาอารยะประเทศ เมื่อปลายกันยายนที่ผ่านมา ความอลังการของพื้นที่และแนวคิดของสถาปัตยกรรมเป็นจุดขายที่ดึงดูดความสนใจ และเป็นจุดขายเพื่อทัดเทียมกับสนามบินของประเทศอื่น อีกทั้งสนามบินสุวรรณภูมิยังถูกใช้เป็นจุดขายและก่อเกิดโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ ทั้งเจ้าของที่ดิน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และผู้ถือสัมปทานบริหารพื้นที่ค้าปลีกภายในสนามบินอย่างคิง เพาเวอร์

ปัญหาเสียงดังรบกวนที่เกินกว่าระดับที่มนุษย์จะทนได้ คือความเสื่อมของแบรนด์ต่อชุมชนที่อยู่รอบข้าง แม้ปัญหาจะกำลังได้รับการเยียวยา แต่ปัญหาเรื้อรังเรื่องคอรัปชั่นก็ลดความสง่างามของสนามบินแห่งชาติแห่งใหม่นี้ไปไม่น้อย

กฎเหล็กห้าม โฆษณาเหล้า

ช็อก…ไปทั่ววงการเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะรัฐบาลออกกฎเหล็กแบบเข้มๆ ห้ามโฆษณาตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว งานนี้แม้กระแสสังคมขานรับกันทั่ว เพราะทนไม่ไหวกับการกระหน่ำโฆษณาชักจูงเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้หันมาดื่มน้ำเมากันหนัก จนยอดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เติบโตทะลุเลขสองหลักหลายปีติดต่อกัน จนน่าเป็นห่วง

ท่าทีแรกดูเหมือนยอมรับทำตามกันดีของผู้ประกอบการ แต่เบื้องลึกหลายรายพยายามวิ่งล็อบบี้ขอผ่อนปรน (ยกเว้น) บางกฎ แต่ก็ไร้ผล ส่งผลให้บิ๊กเพลเยอร์ต้องงัดกลยุทธ์การตลาดทุกกระบวนท่าดั้งเดิมออกมาใช้เพื่อมัดใจลูกค้ากลุ่มเดิมให้อยู่กับตัวนานๆ

โมเดิร์นไนน์ …ไร้ มิ่งขวัญ

อดีตบอสใหญ่ อสมท “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” มีเหตุต้องอำลาเก้าอี้ตัวเก่ง พร้อมกับบอร์ดชุดใหญ่ทั้งทีม เพราะอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้ อสมท ยุคโมเดิร์นไนน์ ที่มิ่งขวัญปั้นมาเองกับมือ ถึงคราวต้องผลัดใบถ่ายโอนอำนาจไปให้ผู้บริหารคนใหม่ไปดูแลแทน กระทบหุ้น อสมท ที่ก่อนหน้าโตวันโตหุ้น กลับต้องมา “ ถูกดอง” รอวันโตแบบไม่รู้ทิศทาง

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้ ทำให้อสมท.ถูกจับตามองและลุ้นอย่างใกล้ชิดว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร เพราะนานวันคืนที่ผ่านมา มิ่งขวัญได้สร้างโมเดลบริหารช่องแดนสนธยานี้ จนเป็น “ แดนโมเดิร์นไนท์” ที่บรรดาพนักงาน ผู้ถือหุ้น ต่างแฮปปี้กันถ้วนหา กับเงินเดือน โบนัส ก้อนโตงามๆ ล้วนมาจากเขาคนนี้…นั่นเอง

นาตาลี…Welcome to Thailand

จะเรียก “นาตาลี เกลโบวา” นางงามจักรวาลปี 2005 ว่า เป็นนางงามสิงห์ ก็คงไม่ผิดนะ จากความสัมพันธ์อันดีกับสปอนเซอร์อย่างบุญรอดฯ เมื่อปีที่ผ่านมา มาจนถึงปีนี้หลังพ้นตำแหน่ง น้องฟ้า นาตาลี ก็ไม่ว่างงานผันตัวมาเป็น Brand Ambassador ของสิงห์เรียบร้อยโรงเรียนภิรมย์ภักดีไปแล้ว

นับเป็นการหวังผลไกลของสิงห์ที่ต้องการรุกตลาดอย่างหนักในตลาดต่างแดน การได้ภาพลักษณ์อินเตอร์แต่หัวใจไทยของนาตาลีมาช่วย ย่อมทำให้เบียร์ไทยอย่างสิงห์ ไม่ขวยเขินที่จะต่อกรในตลาดระดับโลก

กรี๊ดดดดด …เจ้าชาย ”จิกมี”

ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2549 ช่วงโอกาสสำคัญของชาวไทย ในการฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี “เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรภูฏาน” ได้เสด็จมายังประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีสำคัญนี้ ซึ่งตั้งแต่แรกที่คนไทยได้เห็นพระสิริโฉม และพระจริยวัตรที่ทรงไหว้อย่างงดงาม ทำให้เป็นที่ชื่นชมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสาวไทยทั้งประเทศ ปรากฏการณ์นี้ยังทำให้มีนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ต่างนำเสนอเรื่องราวของเจ้าชายจิกมีและราชวงศ์ภูฏานอย่างต่อเนื่อง คนไทยสนใจไปทัวร์ประเทศภูฏานกันมากขึ้น รวมทั้งการได้รู้จักประเทศที่สวยงามแห่งนี้ว่า ได้ยึดแนวทางการบริหารประเทศโดยใช้ดัชนีชี้วัดความสุขเป็นเกณฑ์

แม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายเดือน เจ้าชายจิกมีทรงเสด็จมายังประเทศไทยอีกครั้งในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ หรือราชพฤกษ์ 2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 เมื่อคนไทยทราบข่าวถึงการเสด็จทอดพระเนตรในงาน ต่างจองตั๋วล่วงหน้าเพื่อเข้าในงานมหกรรมพืชสวนโลกกันอย่างแน่นขนัด เพื่อหวังชมพระบารมีของเจ้าชายต่างแดนพระองค์นี้

]]>
9350
สงคราม โรตีบอย ร้อนทะลุเตา! https://positioningmag.com/8628 Fri, 05 May 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=8628

ปรากฏการณ์เรียงคิวซื้อ…กลิ่นกาแฟ…ขนมปังสดๆ ร้อนๆ จากเตาอบ… ใครจะเชื่อว่า ขนมปังอบก้อนกลมๆสูตรนี้จะแรงและดัง ชนิดวงการขนมปังอบเมืองไทยต้องวิ่งหาสูตร หาทำเลกันทำชนิดฝุ่นตลบ โดยไม่สนใจไยดีว่า แฟชั่นขนมดังนี้จะเสื่อมความนิยมลง…

โรตีบอยแรงและดัง ชนิดห้างไหน แหล่งชุมชนใด ไม่มียามนี้ อาจจะเชย! และตกเทรนด์ไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทำให้ศึกโรตีบอยยิ่งนับวันเหมือนเป็นสงครามสำหรับนักธุรกิจอาหารเมืองไทย และเจ้าของทำเลต่างฟาดฟันกัน แข่งขันแบบดุเดือด

ปรากฏการณ์ โรตีบอย ร้อนๆ

โรตีบอย สายพันธุ์มาเลเซีย ภายใต้แบรนด์ Rotiboy ดูเหมือนจะเป็นกระแสแรกๆ ที่ขนมปังชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะร้าน Rotiboy สยามสแควร์ และสาขาสีลม กลายเป็น Talk of the Town จากปากต่อปาก ขยายไปสู่การโพสต์เข้าไปในเว็บไซต์ บอกต่อกันอย่างแพร่หลาย

แถวที่ยาวเพื่อรอคิวซื้อขนมปังอบชนิดนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้โรตีบอยกลายเป็นกระแสของขนมปังอบเทรนด์ใหม่ ชนิดใครไม่เคยกินถือว่าเชย!

นักการตลาดเชื่อว่าสยามสแควร์และสีลม คือทำเลแห่งโลกช้อปปิ้ง แฟชั่น เป็นผลจากปากสู่ปากซึ่งเร็วและแรงที่สุด”

พลังโรตีบอยจากสยามสแควร์และสีลม เป็นเหมือนจุดชนวนระเบิด ทำให้ขนมปังอบแบรนด์ใหม่ๆ สายพันธุ์ไทยและต่างประเทศวิ่งเปิดตัวกันชนิดฝุ่นตลบ เพื่อหวังเกาะกระแส “โรตีบอยฟีเว่อร์”

สู้ด้วยแบรนด์ Rotiboy

แม้จะยังไม่มีคำยืนยัน แต่แบรนด์ Rotiboy ของพรเพ็ญ อังควานิช ผู้ซื้อแฟรนไชส์ Rotiboy จากมาเลเซีย บอกกับใครต่อใครว่า เธอคือผู้นำโรตีบอยมาเปิดตลาดไทยเป็นเจ้าแรก และเป็นแบรนด์ที่ทุกคนจดจำ และมั่นใจในเรื่องคุณภาพ

“ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เมื่อประมาณปีที่แล้วฮิตมาก ลองไปซื้อกิน ปรากฏว่าอร่อยดี เลยลองนำเข้าเปิดตลาดเมืองไทย เมื่อปลายปี 2548” พรเพ็ญ อังควานิช อธิบายถึงจุดเริ่มต้นกับ POSITIONING

“ไม่มีโฆษณา” พรเพ็ญย้ำ แต่ทำตลาดแบบมีขั้นมีตอน คือเริ่มจากแจกให้ลูกค้าทั่วไปชิมฟรี โดยกระจายไปกลุ่มคนทุกระดับตั้งแต่แม่บ้าน นักศึกษา นักธุรกิจ ไม่นานนักพลังจากปากต่อปากทำให้กระแสโรตีบอยค่อยๆ เติบโตขึ้น

ความสดใหม่ กลิ่นอายของกาแฟ และการเข้าคิว เป็นเหตุผลสำคัญที่เจ้าของแฟรนไซส์สายพันธุ์มาเลเซียผู้นี้ ยอมรับว่า มีผลต่อพฤติกรรมความนิยมของผู้บริโภคทั้งสิ้น

โดยเฉพาะการเข้าคิวยาวเหยียด รวมทั้งการกำหนดชิ้นการซื้อ ไม่เกิน 10 ชิ้น เป็นจิตวิทยาสำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภค และไม่เแปลกใจเลยที่วิธีนี้จะทำให้โรตีบอยแบรนด์เคยขายดิบขายดีสาขาเดียวเคยขายได้ถึงวันละ 2-3 หมื่นชิ้นต่อวัน

ปัจจุบันแบรนด์ Rotiboy ที่เป็นของพรเพ็ญ และนักธุรกิจรายอื่นๆ ที่ซื้อแฟรนไชส์นี้เข้ามามีประมาณ 4 สาขา คือ สยามสแควร์ สีลม เซ็นทรัลลาดพร้าว และข้างบิ๊กซีรามคำแหง

“ยอมรับว่าตอนนี้มีคนทำตามเลียนแบบกันเพียบ แต่ Rotiboy เป็นสูตรที่อร่อย มีรสชาติไม่เหมือนใคร เป็นสูตรลับเฉพาะ ซึ่งยากยิ่งที่จะทำตามหรือเลียนแบบ จึงเชื่อว่าไม่มีผลต่อการขายภายใต้แบรนด์ Rotiboy”
มิสเตอร์บัน ท้าชน!

โรตีบอย สายพันธุ์ไทย ในแบรนด์มิสเตอร์บัน นับเป็นคู่ต่อสู้ที่มาแรงที่สุด ประกาศท้าชนกับแบรนด์ Rotiboy ด้วยกลยุทธ์ขยายร้านและขายแฟรนไชส์ โดยเน้นบุกทำเลตามศูนย์การค้า แหล่งช้อปปิ้ง และจุดสัญจรแห่งใหญ่ของกรุงเทพฯ ซึ่งภายปีนี้จะมีมากถึง 35-40 สาขา มากกว่า Rotiboy ที่มีเพียง 4 สาขา

“เราจะเจาะทุกห้าง เครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ห้างชานเมือง ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่นไอซ์แลนด์ เซียร์รังสิต ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต นอกจากนี้อนาคตกำลังจะเข้าไปตามออฟฟิศบิวดิ้งทั้งย่านสีลม อโศก ท่าเรือ ท่าน้ำ และท่าพระจันทร์ มีแผนจะไปทั้งหมด” บุญทิพา เฉลิมภาค ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวนเจอร์ฟู้ด โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์มิสเตอร์บันอธิบาย

วิเคราะห์กันด้วยทำเล ดูเหมือนว่ามิสเตอร์บันจะมีทำเลทองอยู่ในมือมากมาย ชนิดที่แบรนด์อื่นๆ ต้องอิจฉา โดยเฉพาะสาขาใจกลางกรุงอย่างเซ็ลทรัลลาดพร้าว อนุสาวรีย์ เป็นจุดใหญ่ ขณะเดียวกันมีสาขารอบนอกอย่างบริเวณแฟชั่นไอซ์แลนด์ ซึ่งบุญทิพาบอกว่าสาขาที่กล่าวมานี้เป็นสาขาเกรดเอที่ขายได้วันละกว่า 10,000 ชิ้น

ทำเลเกรดเออย่างเซ็นทรัล ลาดพร้าว อนุสาวรีย์ และล่าสุดอีกไม่กี่เดือน มิสเตอร์บันกำลังจะเปิดสาขา สยามสแควร์ ซึ่งตั้งหัวมุมทางเข้าสยามสแควร์ แทบไม่ต้องอธิบายเลยว่ามิสเตอร์บันเปิดสงคราม Rotiboy ชนิดเต็มสูบ

แข่งกันด้วยกลยุทธ์

หากวัดกันด้วยกลยุทธ์ ระหว่างมิสเตอร์บันและ Rotiboy ดูเหมือนว่ากลยุทธ์ไซส์เล็กของขนมปังอบมิสเตอร์บัน ราคาเพียงลูกละ 10 บาท ถูกกว่า Rotiboy ถึง 15 บาท นับว่ามาแรงเกินห้ามใจ ขยายสู่ตลาดแมสได้รวดเร็วยิ่งนัก แม้ความอร่อยนั้น Rotiboy จะดูเหนือกว่านิดๆ เมื่อหลายคนบอกว่ามีความพิเศษที่กรอบนอกนุ่มใน มีรสชาติในอารมณ์กลิ่นกาแฟที่ดีกว่า

“เราเคยขายลูกละ 25 บาท แต่ไม่เวิร์ก เลยหันมาปรับไซส์ขนมอบมิสเตอร์บันให้เหลือขนาด 20 กรัมและขายเพียง 10 บาท ขณะที่โรตีบอยก้อนใหญ่ขนาด 50 กรัม ขายลูกละ 25 บาท เราค้นพบว่าราคา 10 บาทนี้เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย และรสชาติของเราไม่แตกต่างกับ Rotiboy หรือถ้าแตกต่างก็ไม่เกิน 10% ”

ราคาเป็นกลยุทธ์สำคัญ นอกจากนี้ความหลากหลายของขนมปังอบที่นอกจากรสกาแฟ ยังมีรสมะพร้าว และ สตรอเบอรี่ มาเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ชอบกลิ่นกาแฟ

จุดขายนี้เองที่เจ้าของแบรนด์มิสเตอร์บันบอกว่า อาจเป็นวิธีหนึ่งที่รองรับสถานการณ์หากวันใดวันหนึ่งโรตีบอยเสื่อมความนิยมลงเหมือนเช่นที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หมายถึงการสร้างความหลากหลายของสินค้า เช่น การหาขนมปังอบชนิดอื่นๆ เข้ามารองรับ หรือหาสินค้าเข้ามาภายในโปรดักส์ของมิสเตอร์บัน

“ขนมปังอบมิสเตอร์บัน มาจากสูตรขนมปังอบจากประเทศเม็กซิโก หรือเรียกว่า Mexican Bun เป็นสูตรขนมปังทั่วไปที่หาได้ตามหนังสือทำอาหาร และในเว็บไซต์ เชื่อว่าขนมอบประเภทนี้มีต้นตำหรับจากเม็กซิกัน โดยสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นำไปประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นสูตรของตัวเอง ดังนั้นเรื่องของรสชาติจึงไม่เคยกลัวสูตรใด”

แบรนด์ใหม่บานสะพรั่ง

ไม่ใช่จะมีแค่สองแบรนด์ดังกล่าว ปัจจุบันมีแบรนด์ขนมปังอบหลายยี่ห้อทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศพยายามเข้ามาเจาะตลาดความฟีเว่อร์โรตีบอย

คอฟฟี่ โดม…โรตีบัน…ปาป้าบัน…เบเกอร์บัน…อีกสารพัด “บัน” ที่กล่าวกันว่าแตกไลน์มาจากสูตรทำขนมจากแหล่งเดียวกัน มาเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเจ้าของ เพื่อหวังทำธุรกิจดังกล่าว

อย่าง คอฟฟี่ โดม แม้ชื่อจะไม่มีบันพ่วงท้าย แต่ขนมปังอบสายพันธุ์ไทย สูตรสิงคโปร์ยี่ห้อ เข้ามาเปิดตลาดขนมปังอบยี่ห้อเต็มตัว โดยยึดทำเลคาร์ฟูร์ พระราม 4 เป็นฐานทัพแรก ก่อนที่จะขยายฐานรบในสาขาคาร์ฟูร์อีกหลายแห่ง

เบเกอร์บัน ขนมปังอบโรตีบอย สายพันธุ์สิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เห็นชัดถึงการบุกตลาด ชนิดถุงหรือแพ็กเกจคล้ายคลึงกับแบรนด์ Rotiboy โดยแบรนด์นี้ยึดทำเลเครือเดอะมอลล์ เป็นฐานทัพ

ที่น่าสนใจกว่านั้น เจ้าของทำเล โดยเฉพาะห้างดัง ต่างโหยหาร้านขนมปังชนิดนี้ไปเปิดในห้าง เพื่อดึงคน ดึงลูกค้า และไม่ให้ตกเทรนด์ความนิยม

…นาทีนี้ดูเหมือนสงครามโรตีบอยยิ่งร้อนระอุ นี่ยังไม่นับรวมกับแบรนด์ขนมปังยี่ห้อดังอีกหลายแบรนด์ที่กำลังหันมาทำโรตีบอย รวมทั้งแม่ค้ารายเล็กรายน้อยในท้องตลาด แม้ใครๆ จะบอกว่าเส้นกราฟความนิยมของกระแสขนมปังชนิดนี้จะลดลงก็ตาม

แบรนด์ : Rotiboy
สาขา : สยามสแควร์, สีลม, เซ็นทรัลลาดพร้าว, รามคำแหง
กลยุทธ์ :
1. เน้นสูตรขนมปังอบต้นตำหรับจากมาเลเซีย
2. มุ่งเจาะทำเลดัง ห้างดัง แหล่งช้อปปิ้ง ย่านสัญจร
3. สื่อสารกับผู้บริโภคถึงความเป็นผู้นำตลาด เจ้าแรก
4. จำกัดจำนวนซื้อ เพื่อกระตุ้นความต้องการ
5. แจกชิมฟรีก่อนเปิดร้าน

แบรนด์ : Mr.bun
สาขา : เซียร์รังสิต, ซีคอนสแควร์, แฟชั่นไอซ์แลนด์, เซ็นทรัลลาดพร้าว, ฟอร์จูนทาวเวอร์, เมเจอร์รัชโยธิน, ไอทีสแควร์,
แพลตตินั่ม ประตูน้ำ, อนุสาวรีย์, ยูเนี่ยนมอลล์ เดอะมอลล์บางแค, อยุธยาพาร์ค และอีก20 กว่าสาขาในอนาคต
กลยุทธ์ :
1. ปรับขนาดขนมปัง เน้นราคาถูก เพียงก้อนละ 10 บาท
2.มีรสชาติให้เลือก ได้แก่ กาแฟ มะพร้าว และสตรอเบอรี่
3. เจาะทำเลห้างดัง, ย่านสัญจร และเตรียมขยายสู่อาคารสำนักงานใหญ่ๆ ใจกลางเมือง รวมทั้งขยายต่างจังหวัด
4. เน้นถุงจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยกับอาหารร้อน

แบรนด์ : คอฟฟี่ โดม
สาขา : คาร์ฟูร์ พระราม 4
กลยุทธ์ :
1. รูปแบบการตั้งร้านแบบ Unique and Complimentary Product เน้นร้านขนมปังร้านเดียวในทำเลต่างๆ
2. ขนมปังมีสูตรพิเศษน้ำมันน้อย กาเฟอีนต่ำ

แบรนด์ : เบเกอร์ บอย
สาขา : เดอะมอลล์งามวงค์วาน
กลยุทธ์ :
1. เน้นสูตรความอร่อยจากต้นตำรับสิงคโปร์
2. ทำแพ็กเกจถุงจำหน่ายให้ดูสดใส

]]>
8628
สูตรเด็ดทำโรตีบอย https://positioningmag.com/8636 Fri, 05 May 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=8636

สูตรเด็ดทำโรตีบอย
(ข้อมูลจาก เว็บไซต์ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=buddy&group=6&month=02-2006&dat…)

ส่วนผสมไส้
– เนยเค็มอ่อนตัว 200 กรัม
– วานิลลา 1/2 ช้อนชา
– น้ำตาลทรายแดง 70 กรัม

ส่วนผสมหน้า
– เนยอ่อนตัว 200 กรัม
– น้ำตาลไอซิ่งร่อน 160 กรัม
– ไข่ 3 ฟอง (ตีด้วยมือ)
– กลิ่นกาแฟ 1 ช้อนชา (หรือกาแฟสำเร็จรูป 2 ช้อนโต๊ะใส่ไปในแป้ง ถ้าเป็นหน้าช็อกโกแลตก็ใส่โกโก้ผงลงไป 2 ช้อนโต๊ะเช่นกัน ส่วนหน้าเนยไม่ต้องใส่อะไรเลย)
– ซินนามอน 1/4 ช้อนชา
– แป้งอเนกประสงค์ร่อน 200 กรัม

ส่วนผสมขนมปัง
– แป้งขนมปังร่อน 500 กรัม
– นมผงร่อน 20 กรัม
– น้ำตาลทราย 75 กรัม
– เกลือ 6 กรัม
– ยีสต์สำเร็จรูป 8 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ หรือเกินนิดๆได้)
– ไข่ 1 ฟอง ตีด้วยมือ
– น้ำ 270 กรัม (หรือนม ถ้าใช้นมไม่ต้องใช้นมผง)
– เนยอ่อนตัว 60 กรัม

วิธีทำไส้
– ตีเนยด้วยความเร็วปานกลาง 3 นาที ใส่วานิลลา น้ำตาลทรายแดง ช้อนตักแช่ตู้เย็นให้แข็งตัว
– นำไส้มาแบ่งเป็นก้อนกลมๆ ก้อนละ 20 กรัม ใส่ตู้เย็นไว้จนกว่าจะใช้

วิธีทำหน้า
– ตีเนยกับน้ำตาลไอซิ่งความเร็วปานกลาง 5 นาที จนกระทั่งฟูเบา ใส่ไข่ กลิ่นกาแฟ ลงไปตีให้เข้ากัน ร่อนแป้งลงไปในตีด้วยความเร็วต่ำจนเข้ากันหมด พักไว้ในตู้เย็นจนกว่าจะใช้

วิธีทำตัวขนมปัง
– ผสมแป้งที่ร่อนแล้ว นมผง น้ำตาลทราย เกลือ ใช้ไม้พายคนช้าๆ 1 นาที ใส่ยีสต์ ใส่ไข่และน้ำลงไป นวดต่อด้วยความเร็วต่ำอีก 2 – 3 นาที
– นวดด้วยความเร็วปานกลางอีก 8 นาที ใส่เนยลงไป นวดไปอีก 5 นาที ด้วยความเร็วปานกลาง ให้นุ่ม เนียน ยืดหยุ่น แต่ไม่ติด
– เอาแป้งมาแบ่งเป็นก้อนกลมๆ ก้อนละ 55 กรัม หาอะไรมาปิดแป้งโดไว้ 10 นาที

วิธีปั้นขนม
– เอาแป้งโดทำให้แบนด้วยอุ้งมือ ฝ่ามือ
– เอาไส้กลมๆ ที่ปั้นไว้มาใส่ตรงกลางแป้งโด รวบขอบมาปิดให้สนิทไม่ให้ไส้รั่วไหลเวลาอบ
– เอามาเรียงใส่ถาดที่พ่นน้ำมันหรือทาเนยขาวไว้แล้ว โดยแต่ละก้อนเรียงให้ห่างกัน 7.5 ซม. เอาผ้าขาวบางคลุมไว้ วางไว้ที่อุ่น 45 นาที เปิดเตาอบไว้ที่ 200 องศาซี
– ก่อนเข้าอบเอาหน้าขนมมาใส่ โดยนำหน้าขนมใส่ถุงบีบแต่งหน้าเค้ก ขดลงไปเป็นเกลียวก้นหอย เข้าอบ 10 – 13 นาที ที่ 200 องศาซี หรือจนขนมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เอาออกจากเตาอบพักให้เย็น เสิร์ฟได้

]]>
8636
ความลับของ"โรตีบอย" https://positioningmag.com/8460 Sun, 05 Mar 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=8460

98 99 100 101…นับด้วยสายตา ผู้คนที่ยืนต่อแถวยาวเหมือนงูเลื้อย หน้าร้านขนมปังอบ “rotiboy” บริเวณสยามสแควร์ซอย 4 ย่อมแปลกอกแปลกใจว่า ขนมปังร้านนี้มีอะไรดี มีอะไรอร่อย ถึงได้มีคนยืนรอคอยซื้อกันอย่างอดทน

ขนมปังฟีเวอร์นี้ ชื่อว่า ร็อตตี้บอย (Rotiboy) หรือภาษานักกินเรียกกันติดปากว่า “โรตีบอย” เป็นขนมปังอบกลิ่นกาแฟ ก้อนกลมๆ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของขนมปังที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงนี้ โดยการนำเข้ามาของพรเพ็ญ อังควานิช นักธุรกิจร้านก๊วยเตี๋ยวนู๊ดดี้ สยามสแควร์ ซึ่งซื้อแฟรนไชส์มาจากประเทศมาเลเซีย

ความน่าสนใจของขนมปังอบนี้ ไม่ใช่อยู่ที่รสชาติ แต่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่เรียกว่า “จิตวิทยามาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งมีขั้นมีตอน มีเชิงยุทธ์ที่น่าสนใจยิ่ง

เจ้าของร้านแห่งนี้ เล่าว่า กลยุทธ์แรกตั้งแต่เปิดร้านเมื่อประมาณปลายปี 2548 คือ การแจกให้ชิมฟรีแบบไม่อั้น แจกอยู่วันสองวัน เพื่อให้เกิดความรู้จักในรสชาติก่อนที่ทางร้านจะเปิดขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

“ติดอกติดใจแน่” พรเพ็ญมั่นใจเช่นนั้น เพราะขนมปังสูตรนี้ได้พิสูจน์ความนิยมอย่างล้นหลามมาแล้วทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเคยมีนักธุรกิจซื้อแฟรนไชส์ไปทำกันหลายรายแล้ว และพบว่าได้ความนิยมทุกร้าน มีการต่อคิวซื้อยาวเหยียดเหมือนกัน

ใช่ เมื่อลูกค้าติดอกติดใจ จะเกิดพลังบอกต่อกันแบบปากต่อปาก แต่แค่นั้นยังไม่พอ เชิงยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องเร่งต้องทำต่อมาคือ ทำอย่างไรให้เกิดกระแสความนิยม คลั่งไคล้ และฟีเวอร์

“คนไทยชอบมุง ชอบบ้าตามกระแส” โจทย์นี้เองที่ช่วงเปิดร้านขนมปังแบรนด์นี้มีการบอกกล่าวกันว่า ถึงขนาดมีการจ้างคน ทำทีเป็นลูกค้าให้มายืน ให้มามุง เพื่อรอซื้อขนมปัง

วิธีนี้ถือว่าเด็ดสุด ไฮไลต์สุด เพราะเป็นแรง เป็นพลังให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยา แม้เจ้าของร้านจะไม่ยอมบอกถึงกลยุทธ์ วิธีที่แยบยลดังกล่าว แต่เชิงยุทธ์ได้ผลเร็ว และแรงยิ่งนัก

เมื่อเกิดกระแสความนิยมพรั่งพรู ขั้นต่อมาคือ การสร้างมูลค่าความต้องการของสินค้า โดยการกำหนดปริมาณการซื้อแบบ Limited ให้ลูกค้า 1 คน ซื้อขนมปังร็อตตี้บอยได้คนละไม่เกิน 15 ชิ้น …คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม สูตรการตลาดนี้ เชิงยุทธ์นี้ โดนใจ ออกดอกออกผลทางการตลาดยิ่งนัก

ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของร้านจะบอกว่า ขนมปังขายดีถึงวันละไม่ต่ำกว่า 2 -3 หมื่นชิ้น และพรเพ็ญกระซิบบอกว่า จะขยายสาขาไปอีกเร็วๆ นี้ ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว

Did you Knows?

รอตตี้ เป็นภาษามาเลเซีย แปลว่า ขนมอบ ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 2541 ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย แรกเริ่มใช้ชื่อว่า Bukit Mertajam ขายดิบขายดีจนเป็นที่รู้จักในเรื่องของรสชาติ จากนั้นปี 2545 เปลี่ยนชื่อมาเป็น Rotiboy เปิดสาขาแรกที่ Wisma Central, Jolan Ampang โดยขณะนี้มีนักธุรกิจทั้ง ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ซื้อแฟรนไชส์เข้ามาทำกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะเมืองไทย ขณะนี้มีเปิดอยู่สองสาขา คือ Rotiboy สาขาสยามสแควร์ ของพรเพ็ญ อังควานิช และ Rotiboy สาขาสีลม เป็นของนักธุรกิจไทยอีกคนหนึ่ง ซึ่งซื้อแฟรนไชส์เข้ามาเช่นกัน

www.rotiboy.com

]]>
8460