กลุ่ม ปตท. – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 11 Dec 2024 13:48:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จับตาการเทกออฟของ OR ในปี 68 ที่ชู ‘ธุรกิจไลฟ์สไตล์’ เป็นดาวรุ่ง และผลักดัน ‘คาเฟ่ อเมซอน’ สู่ตลาดต่างประเทศให้เหมือน ‘สตาร์บัคส์’ https://positioningmag.com/1502792 Wed, 11 Dec 2024 06:18:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1502792 กำลังก้าวสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญอีกครั้ง สำหรับ OR หรือ ‘บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)’ หลังจาก ‘ดิษทัต ปันยารชุน’ ครบวาระการทำงานในฐานะ ซีอีโอ OR ในวันนี้ (11 ธ.ค. 2567) ซึ่งก่อนหน้าที่จะหมดวาระเขาได้พูดถึงทิศทางการเติบโตของ OR ในอนาคตในหลายประเด็น โดยฟันธงว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการลงทุน และเทกออฟของ OR

 

แล้วธุรกิจอะไรจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เห็นภาพที่ว่า?

 

คำตอบคือ ‘ธุรกิจไลฟ์สไตล์’ ที่ทางดิษทัตบอกว่า จะเป็นดาวรุ่งสำหรับ OR ด้วยเหตุผล 1.เป็นธุรกิจที่มีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก และ 2.ในปีนี้ได้มีเคลียร์พอร์ต ‘ตัด’ ธุรกิจไม่ก่อให้เกิดรายได้และกำไรที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้ออกไปแล้ว 5-6 ตัว นั่นหมายถึงโอกาสและศักยภาพการลงทุนในธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR จะมีมากขึ้น

 

โดยธุรกิจที่ได้ตัดออกไปจากพอร์ต ได้แก่ ธุรกิจไก่ทอด ‘เท็กซัส ชิคเก้น’, ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ‘โคเอ็น’, แอปพลิเคชันด้านอะไหล่รถยนต์ FIXX, ‘ลงทุนแมน’ และ OR CHINA บริษัทที่ดำเนินการคาเฟ่ อเมซอนในประเทศจีน

 

รวมถึงได้มีการทบทวนแผนลงทุนใน Orbit Digital บริษัทพัฒนาด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ที่ทาง OR ร่วมลงทุนกับ ‘บลูบิค กรุ๊ป’ ภายใต้โจทย์ จะทำอย่างไรให้บริษัทแห่งนี้เป็นที่รู้จัก และมี Value มากขึ้น เพราะในอนาคต OR ต้องการให้ Orbit Digital เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

“ก่อนจะถอยหรือตัดธุรกิจอะไรออกไป จะมีการมอนิเตอร์ และอัดฉีดเงินเข้าไปในช่วง 8 เดือน ดูว่า จะฟื้นหรือกระเตื้องหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องเอาออก อย่างเท็กซัส ชิกเก้น มันพิสูจน์มาสิบปีแล้วไม่มีกำไร ส่วนธุรกิจกาแฟในจีน เราสู้ไม่ได้ เพราะบิสิเนสโมเดลของที่นั้นเป็นการเผาเงิน เราไม่อยากทำแบบนั้น”

 

การตัดธุรกิจไม่ก่อรายได้และกำไรออกจากพอร์ต จะส่งผลให้ EBITDA Margin ในปี 2568 ของ OR ปรับเพิ่มขึ้นจาก 27% เป็น 30% แต่สิ่งสำคัญหลังจากอุดรูรั่วที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตแล้ว คือ ในปีหน้าต้องมีการลงทุนในธุรกิจไลฟ์สไตล์เพิ่ม และต้องเป็นการลงทุนในตัวใหญ่ ๆ ให้ได้ ซึ่งตามไปป์ไลน์จะมีลงทุนเพิ่มอีก 2-3 ธุรกิจ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

 

“คอนเซ็ปต์ลงทุนของเราต่อไปจะต้อง ‘เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ เอา’ เพราะเมื่อลงทุนธุรกิจเล็ก เราเจ็บตัวทุกครั้ง เพราะ SME ไม่สามารถสเกลอัพขึ้นไม่ได้ และไม่มีอิมแพคต่อ OR คือ ลงทุนร้อยล้าน แต่เราเป็นธุรกิจแสนล้าน มันไม่เวิร์ก”

เดินหน้าบุก Beauty & Wellness

สำหรับธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่ OR ได้เพิ่มเข้ามาในพอร์ตแล้วในปีนี้ ก็คือ found&found ร้าน Beauty & Wellness ภายใต้แนวคิด SIMPLE . EASY. EVERYSKIN ที่จะคัดสรรผลิตภัณฑ์และแบรนด์ชั้นนำจากไทย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่มีราคาเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่หลายคนอาจสงสัยว่า เป็นธุรกิจที่ ‘ใช่’ สำหรับ OR หรือไม่

 

ดิษทัตยืนยันว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เป็นอนาคต และถือเป็นการก้าวออกไปจาก Comfort Zone ของ OR เพราะเป็นธุรกิจที่ตอบสนองกับเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง ประกอบกับสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันที่กำลังจะเข้าสู่ Ageing society อย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ Beauty & Wellness ยังไม่มีเจ้าของตลาดชัดเจน ซึ่ง OR เองมีศักยภาพและความพร้อมในเรื่อง ‘เงินทุน’ สำหรับบุกตลาดนี้ โดยตอนนี้ร้าน found&found มีด้วยกัน 5 สาขา ได้แก่ สาขา EnCo ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์, สาขา พีทีที สเตชั่น สายไหม 56, สาขา พีทีที สเตชั่น บรมราชชนนี 97, สาขา OR Space รามคำแหง 129 และศูนย์การค้าแพชชั่น ช้อปปิ้งเดสติเนชั่น ระยอง

 

ส่วนแผนที่จะผลักดันให้ร้าน found&found สร้างอิมแพ็คและมีการเติบโตได้ดี ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 ทาง found&found จะมีการไปลงทุนกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่ และขยายสาขาต่อเนื่องให้ครบ 10 สาขา ภายในปี 2568

 

‘คาเฟ่ อเมซอน’ ต้องลุยต่างประเทศให้เหมือน ‘สตาร์บัคส์’ ถึงอยู่รอด

 

ขณะที่ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ เรือธงหลักของธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่ดำเนินธุรกิจมานาน 22 ปี โดยปัจจุบันมีสาขาในประเทศมากกว่า 4,500 สาขา และในต่างประเทศ 400-500 สาขา ถือเป็นเชนร้านกาแฟใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก จะต้องพยายามไปขยายสาขาในต่างประเทศให้มากขึ้นเหมือนกับ ‘สตาร์บัคส์’

 

หากไม่สามารถทำได้ ดิษทัตบอกว่า ในอีก 5 ปี ธุรกิจจะ ‘ไปไม่รอด’ เพราะปัจจุบันตลาดร้านกาแฟในประเทศล้น จนขยายสาขาใหม่ได้ยากแล้ว 

 

“กว่า 20 ปีที่ผ่านมา คาเฟ่ อเมซอน เป็นธุรกิจที่ทำได้ดีมาก มียอดขายมากกว่า 1 ล้านแก้วต่อวัน แต่มาถึงตอนนี้ความดีนั้นต้องมีการปรับ เพื่อให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาเราพยายามมองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เช่น เริ่มดำเนินการโรงผลิตแก้ว ช่วงไตรมาส 4 ปี 2568 และต้องจัด World Coffee Seminar พัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อให้แตกต่างจากคู่แข่งที่ตามเรามา”

ความจริงการชูธุรกิจไลฟ์สไตล์ ให้เป็นดาวรุ่งสร้างการเติบโต เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ OR ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง นั่นคือ การผลักดันสัดส่วนของธุรกิจ Non-oil ให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับรายได้จากธุรกิจหลักและเป็นธุรกิจรากฐานของ OR นั่นคือกลุ่ม oil

 

อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนทั้งหมด ตั้งแต่ทิศทาง กลยุทธ์ และงบลงทุน คงต้องรอทาง ซีอีโอ คนใหม่ของ OR  ‘ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่’ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค. 2567) มาแถลงอีกครั้ง โดยคาดว่า จะเกิดขึ้นช่วงเดือน ม.ค.หรือ ก.พ.2568

 

 

 

 

 

 

]]>
1502792
GPSC – ธ.ก.ส. ศึกษาพื้นที่เกษตร ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ-ลม ประยุกต์ใช้พลังงานสะอาด พลิกโฉมเกษตรสู่ Smart Farming https://positioningmag.com/1411018 Fri, 09 Dec 2022 04:00:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1411018

GPSC – ธ.ก.ส. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทั้งแสงอาทิตย์ และลม ควบคู่กับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมพลังงาน พลิกโฉมภาคการเกษตรของไทยให้ก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร และต่อยอดการขอฉลากรับรองการประกอบการเกษตรกรรมสีเขียวจาก ธ.ก.ส. ในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 โดย  ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อหาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ที่สามารถนำมาพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่เกษตรกรยังคงสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมคู่ขนานกันไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ พร้อมกับหาแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดในส่วนของไฟฟ้ามาใช้ในภาคเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าพืชผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์การเกษตรอย่างยั่งยืน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรในการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งความร่วมมือกับ GPSC จะช่วยเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และลมที่เป็นพลังงานสะอาด  และมีอยู่ตลอดทั้งปีในประเทศไทย รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนและสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมที่จะเชื่อมโยงในการนำความรู้ต่างๆ ของ GPSC ไปยังเกษตรกรเพื่อปรับใช้ในกระบวนการผลิต การแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทั้งในส่วนของการผลิตที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด ในการทำเกษตรอินทรีย์และผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว  (Green Credit)  วงเงินรวม  20,000  ล้านบาท ในส่วนของการขับเคลื่อนการลดปัญหาภาวะโลกร้อน ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนร่วมปลูกป่าในพื้นที่ของตนเองและชุมชนผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ในชุมชน ปัจจุบันมีธนาคารต้นไม้เข้าร่วมโครงการ 6,838 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการ 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 123,845 ราย และมีชุมชนที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจำนวน 62 ชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศในการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ความยั่งยืน

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของทั้งสององค์กร จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยคัดเลือกพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพในทุกพื้นที่ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในส่วนของ GPSC จะนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เหมาะสม เข้าไปสนับสนุนภาคการเกษตร ทั้งการติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการบริหารจัดการพลังงาน เข้าไปควบคุมการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบการใช้งานของภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยเป็นเกษตรยุคใหม่ที่มีความยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่แสวงหาแนวทางการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วนมากขึ้น

GPSC และ ธ.ก.ส. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการใช้พลังงานสะอาดในการทำการเกษตรกรรมร่วมด้วย อีกทั้งเกษตรกรยังอาจสามารถต่อยอดเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับฉลากรับรองการประกอบการเกษตรกรรมสีเขียว (Green Farming Certificate) ในอนาคต ซึ่งเป็นการการันตีผลผลิตที่ได้จากการเกษตรที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ถือเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของพัฒนาอาชีพเกษตรกรยุคใหม่ และยังเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้พลังงานสะอาด ในการยกระดับมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของไทยที่สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


#GPSC #GPSCgroup #SmartEnergyForEvolvingLife #SmartFarming #BAAC #GreenCredit

]]>
1411018
ส่องบทบาท VISTEC มหาวิทยาลัยแนวหน้าแห่งวงการนวัตกรรมไทย ส่งนักวิทย์คว้ารางวัลระดับประเทศ https://positioningmag.com/1356107 Tue, 12 Oct 2021 10:00:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356107

6 ปีหลัง “สถาบันวิทยสิริเมธี” หรือ VISTEC ก่อตั้งขึ้น จากการมุ่งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแนวหน้าของไทยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม วันนี้ผลงานของสถาบันฯ ผลิดอกออกผล “ศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์” บุคลากรของสถาบันได้ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2564” ด้วยผลงานการคิดค้นเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) โดยสถาบันฯ ยังมีผลงานวิจัยอีกมากที่จะพลิกวงการวิทยาศาสตร์ไทย เช่น แบตเตอรีลิเธียมไอออน หุ่นยนต์ เศรษฐกิจหมุนเวียนจากขยะอินทรีย์

คำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยน้อยเกินไป” ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเลย วัดได้จากข้อมูลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำวิจัยเทียบเท่าเต็มเวลาอยู่เพียง 20 คนต่อประชากร 10,000 คน และถ้าคิดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยต่อจีดีพีประเทศ จะคิดเป็นเพียง 1.11% เท่านั้น

จากความขาดแคลนนักวิจัยดังนี้ กลุ่ม ปตท. และผู้ร่วมสนับสนุน จึงจัดตั้ง “สถาบันวิทยสิริเมธี” หรือ VISTEC ขึ้นเมื่อปี 2558 ตั้งอยู่ในวังจันทร์ วัลเลย์ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนเฉพาะระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และสนับสนุนนักวิจัยเป็นรายโครงการ เรียกได้ว่าพุ่งเป้าไปที่การศึกษาขั้นสูงและการวิจัย ตรงจุดความต้องการของประเทศ


สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังหาสถานที่เรียนต่อหรือทำวิจัย VISTEC จึงเป็นหนึ่งสถาบันการศึกษาที่น่าสนใจ ที่นี่จะมี 4 สาขาวิชาให้เลือก คือ 1) สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) 2) สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE) 3) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และ 4) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST) ซึ่งตามการคาดการณ์ของ OECD Megatrends ความรู้ทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ไบโอเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล จะเป็นวิทยาการสำคัญของโลก!


ตัวอย่างการวิจัยภายในสาขาต่างๆ ที่เปิดสอน

เป้าหมายระยะยาวของ VISTEC ต้องการเป็นผู้นำการสร้างองค์ความรู้และนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ ให้กับประเทศ มีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของไทย ทำให้งานของนักวิจัยจะถูกนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมจริง เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาไปสู่การเป็นประเทศผู้พัฒนานวัตกรรมได้

ผลงานด้านวิชาการของ VISTEC ยังได้รับการยอมรับ โดย Nature Index เมื่อปี 2563 จัดอันดับให้สถาบันวิทยสิริเมธีเป็นอันดับ 1 ของไทยและอันดับ 3 ของอาเซียนในด้านสาขาเคมี เป็นอันดับ 2 ของไทยในภาพรวมทุกสาขาวิชา ปัจจุบัน พฤษภาคม 2564 เป็นอันดับหนึ่งของไทยในทุกสาขาวิชา และถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12 ของโลกในหมวดมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี

ล่าสุด อีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า VISTEC ได้สนับสนุนสร้างผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ คือการที่คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประกาศให้ “ศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์” นักวิจัยวัสดุนาโน สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้คิดค้น “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 400,000 บาท


“ศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์” นักวิจัยวัสดุนาโนสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

ศ.ดร.วินิช อธิบายว่า “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์แบบใหม่ วัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์นี้เป็นสารประกอบของคาร์บอน นำมาออกแบบใหม่ในระดับโมเลกุลให้มีคุณสมบัติเปล่งแสงได้ดี ดูดกลืนแสงได้ดี หรือนำไฟฟ้าได้ดี เป้าหมายคือนำมาใช้แทนวัสดุกึ่งตัวนำซิลิคอนที่ใช้กันในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมวัสดุใหม่ที่นำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอ OLED, เซลล์แสงอาทิตย์, วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ยืดหยุ่นพับงอได้ (แบบที่ใช้ในหน้าจอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ) การวิจัยครั้งนี้ต้องใช้ความรู้ทั้งด้านเคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์


ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เยี่ยมชมบูธนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

งานวิจัยของ ศ.ดร.วินิช ไม่ใช่หัวข้อเดียวที่เกิดขึ้นในสถาบันวิทยสิริเมธี ทั้งนักศึกษาและนักวิจัยใน VISTEC ต่างเลือกหัวข้อวิจัยที่จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ยกตัวอย่างหัวข้องานวิจัยปี 2564 ด้านพลังงานมีการวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้า” พัฒนาแบตเตอรีลิเธียมไอออนให้เก็บพลังงานได้มากขึ้น อายุใช้งานนานขึ้น ซึ่งสำคัญมากในยุคนี้ที่ความต้องการใช้แบตเตอรีเติบโตสูง หรือด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มีการวิจัย “ระบบอัจฉริยะของโครงกระดูกรยางค์ล่างภายนอก” สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวตัวช่วงล่าง

ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะมี “โครงการขยะเพิ่มทรัพย์ C-ROS” เข้าเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นงานวิจัยที่รวมความรู้แบบสหวิทยาการ ต้องการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์ไบโอเทคได้แบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ประเทศไทยเราก็จะเป็น “สังคมไร้ขยะ” ได้จริง

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัล หุ่นยนต์ ไบโอเทค ฯลฯ คือความหวังการสร้างเศรษฐกิจ “New S-Curve” ในประเทศไทย และนักศึกษา-นักวิจัยใน VISTEC ทั้งที่จบการศึกษาแล้วหลายรุ่น รวมถึงที่ยังศึกษาอยู่กว่า 300 คนขณะนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการนวัตกรรมแห่งอนาคต!

]]>
1356107