ก๊าซธรรมชาติ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 21 Jun 2022 15:17:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ปตท. คลายข้อสงสัย ทำไมสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ถึงส่งผลต่อพลังงานโลก https://positioningmag.com/1388729 Wed, 22 Jun 2022 04:00:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388729

ตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เจอกับปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผลกระทบดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำไมถึงส่งผลต่อตลาดพลังงานทั่วโลก คุณดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ได้กล่าวถึงประเด็น “สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” กับพลังงานโลก” ให้คนไทยได้เข้าใจกัน


น้ำมันแพงเพราะผลิตน้อย ไม่ใช่เพราะคว่ำบาตร

หลายคนอาจไม่รู้ว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหลายคนอาจไม่รู้ด้วยว่า รัสเซีย เป็นผู้ผลิต น้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลก โดยช่วงก่อนเกิดสงครามสามารถผลิตได้เฉลี่ย 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 11% ของความต้องการทั่วโลก ส่วนผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา โดยผลิตได้วันละ 11.5 ล้านบาร์เรล ส่วน อันดับ 3 ได้แก่ ซาอุดิอาราเบียโดยผลิตที่ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

หากดูจากตัวเลขคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัสเซียถือเป็นประเทศที่สำคัญต่อพลังงานโลก แต่ตั้งแต่เกิดสงคราม ปริมาณการผลิตของรัสเซียก็ลดลงมาเหลืออยู่ราว 9-10 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น หรือหายไปประมาณ 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ตัวเลขเหมือนจะน้อยแต่ก็ส่งผลกระทบหนักมาก เพราะแค่ประเทศไทยประเทศเดียวก็ใช้น้ำมันวันละ 1 ล้านบาร์เรลแล้ว

ประเด็นคือ ในขณะที่รัสเซียผลิตน้ำมันได้น้อยลง แต่ กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ที่รวมแล้วคิดเป็นประมาณ 40% ของน้ำมันดิบโลก ไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อมาอุดช่องที่หายไปของรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มโอเปก ได้พยายามจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันให้อยู่ในจุดที่เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ราคาน้ำมันไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ที่มีการใช้น้ำมันน้อย กลุ่มโอเปกก็ได้ลดกำลังการผลิตลง เพื่อประคองราคาน้ำมัน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามกดดันให้ประเทศสมาชิกโอเปกพลัสที่เหลือเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ไม่สามารถกดดันได้ เพราะต้องเกรงใจรัสเซีย ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปกพลัส ดังนั้น เมื่อรัสเซียผลิตได้น้อยลง กลุ่มโอเปกไม่ผลิตเพิ่ม ราคาน้ำมันก็ลงยาก เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันในตลาดอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าความต้องการของตลาดนิดหน่อยอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว จากความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวหลังจากโควิด-19


รัสเซียสำคัญเกินกว่าจะคว่ำบาตร

แม้จะมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วน แต่ยังไม่มีประเทศไหนคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย 100% โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปที่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียถึง 90% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ภายในประเทศ

โดยเฉลี่ยแล้ว ยุโรปนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอยู่ที่ราว 25-35% ส่วน ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 45% และ ถ่านหิน 45% โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ยุโรปมีปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอยู่ที่ 37% และนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่แปรรูปเป็นของเหลวแล้วหรือ LNG อยู่ที่ 23% ซึ่งสาเหตุที่ยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียก็เพราะรัสเซียมีท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค

หากประเทศในยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียทั้งหมดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปก็ตาม เพราะหากประเทศในยุโรปเลือกจะคว่ำบาตรรัสเซีย สิ่งที่ต้องเจอคือ ต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องขนส่งมาทางเรือ อย่างน้ำมันที่เป็นของเหลวอาจจะไม่มีปัญหามาก แต่กับก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก

หรือหากจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ดังนั้น แค่สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกภาคส่วนอยู่แล้ว เนื่องจากราคาพลังงานที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น หากจะคว่ำบาตรก็จะยิ่งกระทบมากขึ้นไปอีก


ทำไมไทยไม่นำเข้าน้ำมันรัสเซียที่ลดราคา

สำหรับไทยเองนำเข้าน้ำมันกว่า 80% โดยจัดหาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางประมาณ 55% ส่วนการนำเข้าจากรัสเซียประมาณ 5% เท่านั้น แต่เมื่อยุโรปมีปัญหาจากการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ความต้องการก็จะหันไปยังภูมิภาคอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ ตะวันออกกลางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง ไทยเองก็ได้ผลกระทบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียได้ แม้รัสเซียลดราคาน้ำมันดิบลง เพราะราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะใช้ในการตัดสินใจ ยังมีประเด็นด้านคุณสมบัติของน้ำมันและการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะหากเลือกซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ไทยอาจถูกมองว่าสนับสนุนสงคราม แม้แต่ เกาหลีและญี่ปุ่น ที่แหล่งส่งออกน้ำมันรัสเซียอยู่ติดกับ 2 ประเทศยังเลือกที่จะไม่ซื้อแม้จะได้ราคาที่ดีมากก็ตาม


ราคาน้ำมันไทยแพงเพราะอะไร

สำหรับราคาน้ำมันของบ้านเรา 67% มาจากราคาน้ำมัน 28% มาจากภาษีและกองทุนต่าง ๆ อีก 5% เป็นค่าการตลาด หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องมีภาษีและหักเข้ากองทุน ซึ่งความจริงแล้วการหักเข้ากองทุนน้ำมันนั้นเป็นความจำเป็นเพื่อเป็นเกราะป้องกันหากเจอราคาน้ำมันที่สูงอย่างไม่คาดคิด ซึ่งส่วนนี้ได้นำมาช่วยเหลือให้สามารถตรึงราคาน้ำมัน รวมถึงอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม

สุดท้าย คุณดิษทัต กล่าวว่า จากมุมมองของนักค้าน้ำมันแล้ว สถานการณ์ของรัสเซีย-ยูเครนคงไม่จบลงเร็ว ๆ นี้ แปลว่าผลกระทบจะยังอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน ดังนั้น ทั้งประเทศต้องช่วยกันบริหารจัดการเพื่อให้ราคาลดลงได้ รัฐเองต้องพยายามควบคุมราคาเพื่อให้ไม่กระทบต่อต้นทุนสินค้า ภาคประชาชนเองก็ช่วยได้โดยการลดใช้พลังงานในครัวเรือน โดยมีการวิจัยแล้วว่าช่วยให้ลดการใช้น้ำมันถึง 10% เลยทีเดียว

]]>
1388729
เเผนเเก้เกมของ “บ้านปู” หลังกำไรลด 41% จากปีก่อน รุก EV – ทุ่มซื้อเเหล่งก๊าซในสหรัฐฯ https://positioningmag.com/1267320 Sat, 07 Mar 2020 06:41:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267320 ในปี 2562 ที่ผ่านมา แนวโน้ม “ธุรกิจพลังงาน” สะท้อนถึงความท้าทายจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่างๆ ทั้งการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัวจากปัจจัยสภาวะอากาศที่ไม่หนาวมากในข่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ และการแข็งค่าของเงินบาท

บริษัทธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิกอย่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU รับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ เเม้จะยังมีกำไรถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็ลดลงกว่า 41% จากปีก่อน

โดยภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 ของบริษัท มีรายได้จากการขายรวม 2,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 85,660 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 722 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,416 ล้านบาท) คิดเป็น 21% โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 695 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,578 ล้านบาท) ลดลง 41% จากปีก่อนหน้า

เเละมีกำไรสุทธิก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,329 ล้านบาท) ลดลง 66% จากปี 2561 จากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดผลขาดทุนจากการแปลงค่างบการเงินจำนวน 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,950 ล้านบาท) งบการเงินรวมจึงบันทึกขาดทุนสุทธิ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 621 ล้านบาท)

“ผลขาดทุน 20 ล้านเหรียญนี่ถือว่าเราทำได้ดีเเล้ว เพราะบริษัทต้องใช้บริการเงินตราต่างประเทศถึง 10 สกุล เเละเราเป็นเงินดอลลาร์ โดยปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทไทยเเข็งค่ามาก เเละอัตราเเลกเปลี่ยนก็ผันผวน เเต่มองว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเราเเล้ว” สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าว

ทั้งนี้ ผู้บริหารบ้านปู มองแนวโน้มการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทว่า เริ่มอ่อนค่าลง จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงกว่า 1 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น

ปีนี้จึงเป็นปีที่ “บ้านปู” หวังจะพลิกกลยุทธ์ “ฟื้นกำไร” ขึ้นมา เเม้ยังต้องเจอกับจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเเละผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โดยบริษัทวางเเผนดำเนินธุรกิจปี 2563 ไว้ หลักๆ 3 ด้านดังนี้

ลุยซื้อเเหล่งก๊าซฯ ในสหรัฐฯ หวัง “บาร์เนตต์” คืนทุนได้ใน 6 ปี

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 62 บ้านปูได้ลงทุนเป็นจำนวน 770 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,907 ล้านบาท) เพื่อเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในมลรัฐ เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุปสงค์การใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมของประเทศ ทำให้บ้านปูขึ้นติดท็อป 20 กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติในอเมริกา

“การเข้าซื้อบาร์เนตต์ ยังมีโอกาสคืนทุนได้เร็ว โดยคาดการณ์ว่าสามารถคืนทุนให้บ้านปูได้ภายใน 6 ปี ขณะที่มีปริมาณสำรองการผลิตระยะยาวอย่างน้อย 16 ปี”

ซีอีโอบ้านปูบอกอีกว่า การเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์นั้น อยู่ในช่วงเวลาและราคาที่น่าพึงพอใจ มีความเสี่ยงและมีต้นทุนการดำเนินการต่ำ ทำให้พอร์ตของบ้านปูหลากหลายขึ้น จากเดิมที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของมลรัฐเพนซิลเวเนียอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ยอดขายก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ 2 แหล่งที่บ้านปูมีอยู่ทั้งบาร์เนตต์ เเละ Marcellus จะอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ราคาขายคาดว่าจะอยู่ที่ 3-4 เหรียญต่อล้านบีทียู จากปี 2562 อยู่ที่ 1.38 เหรียญต่อล้านบีทียู

โดยบริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ อยู่ที่ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น สัดส่วน 90% (840 ล้านเหรียญ) จะใช้สำหรับขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตามแผน ส่วนอีก 10% หรือ 90 ล้านเหรียญ จะใช้สำหรับซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเหมืองถ่านหินต่างๆ เช่น ในออสเตรเลีย

พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตถ่านหินรวม อยู่ที่ 46.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีกำลังผลิตรวม อยู่ที่ 45.3 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายจะใกล้เคียงช่วงไตรมาส 3-4 ของปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญต่อตัน

ยอดขายถ่านหินของบ้านปู เเบ่งตามรายประเทศ ในปีพ.ศ. 2562

ตั้ง “บ้านปู เน็กซ์” เน้นพลังงานสะอาด รุก EV เเละแบตเตอรี่ไฟฟ้า

สำหรับบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 7,919 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาจะดำเนินงานเป็นบริษัทหลัก (Flagship) ของกลุ่มบริษัทบ้านปู เพื่อมุ่งลงทุนและพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด

การดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การออกแบบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน พัฒนาสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงาน

“ความคืบหน้าในปี 2562 เราขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับลูกค้าพรีเมียมทั่วประเทศ รวมถึงร่วมมือด้านโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และการขยายกำลังผลิตโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมอิออน 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง”

เป้าหมายของ “บ้านปู เน็กซ์” ในปีพ.ศ. 2568

เล็งตลาดใหม่ อินเดีย-บังกลาเทศ

ปัจจุบันบ้านปูทำธุรกิจใน 10 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก โดยธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทคือกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน โดยบริษัทกำลังพิจารณาถึงตลาดที่มีศักยภาพใหม่อย่าง อินเดียและบังกลาเทศ

“ธุรกิจผลิตพลังงาน เราจะตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 5.3 กิกะวัตต์เทียบเท่า ภายในอีก 5 ปี เน้นเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกลยุทธ์ Greener & Smarter”

เมื่อถามถึง 3 ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจพลังงานในปีนี้ สมฤดีตอบว่า อันดับเเรก คือ Covid-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ยังควบคุมได้ลำบาก เเต่เชื่อว่าเเต่ละประเทศน่าจะมีมาตรการรองรับที่ดี โดยตอนนี้ความเสี่ยงที่เชื้อเเพร่กระจายไปสู่ยุโรป ก็ส่งผลต่อความตื่นตระหนก ความคิดของนักลงทุน ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทย

“โรงงานเเละเหมืองถานหินของบ้านปูในจีน ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อาจจะมีเเค่เรื่องเเรงงาน ซึ่งตอนนี้กลับมากลับมาทำงานตามปกติเเล้ว”

ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ การลดลงของราคาเเก๊สธรรมชาติเเละถ่านหิน ที่มีโดยตรงต่อรายได้ของบ้านปู เเละอันดับ 3 คือเรื่อง กำลังการผลิต “ปีที่เเล้วเราตกเป้าที่ออสเตรเลียเพราะไฟป่า เเละที่ลาวมีเเผ่นดินไหว ปีนี้เริ่มฟื้นกลับขึ้นมาเเล้ว ซึ่งเราก็ต้องมีมาตรการรองรับในจุดนี้”

“ในกรณีสถานการณ์เลวร้ายมาก เราก็มีเป้าหมายจะลดต้นทุนในเเง่ของการดำเนินงานจะสามารถรับมือได้โดยเฉพาะของบ้านปูเน็กซ์ เเละหากการระบาดดีขึ้น รัฐคงจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งการใช้พลังงานก็จะเพิ่มขึ้น
ส่วนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ดีมานด์ในไตรมาส 4 ในตลาดก็น่าจะขึ้นพอสมควร”

 

*คำนวณโดยอ้างอิงอัตราเเลกเปลี่ยนที่ USD 1 : THB 31.0476 

]]>
1267320