ของมันต้องมี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 26 Jan 2022 09:12:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะการตลาด ‘คนขี้อวด’ และแบรนด์จะ ‘ป้ายยา’ อย่างไรให้ได้ใจผู้บริโภค https://positioningmag.com/1370091 Wed, 12 Jan 2022 02:28:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370091 หากพูดถึงแคปชั่นอย่าง ‘ป้ายยา’ ‘ของมันต้องมี’ ที่จะได้เห็นบ่อย ๆ ในโพสต์ของชาวโซเชียลฯ แน่นอนว่าจุดประสงค์ไม่ใช่แค่ ‘รีวิว’ แต่มันคือการ ‘อวด’ แต่แน่นอนว่าการที่มีคนมาอวดมา ‘ขิง’ ใส่คงไม่มีใครชอบใจ แถมยังดูน่าหมั่นไส้เหมือนกับ ‘ป้าข้างบ้าน’ ดังนั้น แบรนด์จะใช้ประโยชน์จาก ‘การตลาดคนชอบอวด’ ได้อย่างไรให้มีชั้นเชิง ส่งผลดีต่อพฤติกรรมการซื้อ และนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจ ส่งเสริมแบรนด์ให้โดดเด่น-โดนใจผู้บริโภคยิ่งกว่าใคร

ทำไมต้องอวด?

จริง ๆ แล้ว การอวด แทบจะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใน DNA ของมนุษย์ ถือเป็นกลไกในการแข่งขันทางธรรมชาติ เพื่อแสดงตัวตน เรียกร้องความสนใจ และแสดงอำนาจ ซึ่งการอวดเป็นพฤติกรรมของสัตว์สังคม และมนุษย์เองมีสัญชาตญาณการอวดนี้ฝังลึกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงออกเพื่อให้เห็นว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น หากพิจารณาพยัญชนะโดยลองแยกคำว่าอวด เป็น อ-ว-ด ออกจากกันแล้วพบว่า

อ = อำนาจ เป็นการแสดงตัวตนหรือพฤติกรรมที่สื่อว่าเราเหนือกว่าผู้อื่น

ว = วัดสถานะ เป็นกลไกการแข่งขันทางธรรมชาติ แสดงออกให้สังคมรับรู้ว่าเรามีสถานะที่ดีกว่าผู้อื่น

ด = ดูดี ต้องการให้ตนเองดูดีในสายตาคนอื่น จึงต้องสร้างตัวตนหรือสไตล์ให้มีเอกลักษณ์และโดดเด่น

การอวดมี 2 แบบ

การอวดไม่ใช่แค่คนเราสักแต่ว่าจะอวด แต่จากข้อมูลวิจัยของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ในหัวข้อ การตลาดคนชอบอวด (BRAGGER MARKETING) พบว่าการอวดแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  • การอวดแบบเปิดเผย (BRAGGER) : มีลักษณะอวดแบบให้โลกรู้ว่าเราอวด โดยคนที่รู้สึกไม่มั่นคงมีแนวโน้มจะอวดสถานะมากกว่าคนที่รู้สึกมั่นคง
  • การอวดแบบถ่อมตน (HUMBLE BRAGGER) : หรืออวดแบบไม่อวด คนส่วนใหญ่มีการอวดแบบถ่อมตัวในชีวิตประจำวัน แต่ทว่าคนที่อวดแบบถ่อมตัว ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป และถูกมองว่ามีความสามารถน้อยและดูไม่จริงใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการอวดหรือรีวิวจากผู้มีประสบการณ์ อินฟลูเอนเซอร์ การอวดแบบถ่อมตน ซึ่งช่วยให้สินค้าและบริการ ได้ผลตอบรับดีถึง 70.5% แต่หากเป็น คนทั่วไป ผู้บริโภคมักชอบวิธีการอวดแบบจริงจัง จะช่วยให้บริการได้ผลตอบรับดี 51.2%

คนกลุ่มไหนขี้อวดสุด

แม้คนไทยส่วนมากมีนิสัยขี้เกรงใจคนอื่น แต่ภายในจิตใจลึก ๆ ก็มี ‘แรงขับเคลื่อน’ ที่จะทำให้อยากอวดได้เช่นกัน ซึ่งแรงขับเคลื่อนส่วนหนึ่งมาจากบุคลิกภาพ 2 ประเภท ได้แก่

  • ผู้ที่ชอบแสดงตัวตน (Self-Presentation) : บุคคลที่พยายามนำเสนอตัวเองกำหนดหรือควบคุม วิธีที่ให้ผู้อื่นมองพวกเขาในลักษณะที่เกิดความประทับใจ โดยมีตัวอย่างความคิดเห็น เช่น ถ้าได้รับของขวัญจากแบรนด์ดัง ๆ จะโพสต์แน่นอน อยากโพสต์ให้คนเห็น บางทีก็อยากเป็นจุดสนใจ
  • ส่วนใหญ่กลุ่ม Self-Presentation เป็นคนกลุ่ม LGBTQ+ คิดเป็นสัดส่วน 70.8% รองมาคือ เพศชาย 64.4% และเพศหญิง 60.6% ด้านช่วงวัย พบว่า Gen Z คิดเป็น 74.8% รองลงมาคือ Gen Y 60.8% Baby Boomer 55.8% และ Gen X 55.6%

  • ผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเอง (Self Esteem) : ผู้ที่เคารพและเห็นคุณค่าในตัวเอง ส่งผลต่อความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในความสามารถหรือศักยภาพของตนเอง รวมไปถึงความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่างๆ ด้วย โดยมีตัวอย่างความคิดเห็น เช่น เปิด Public ตลอด เพราะอยากให้คนที่ไม่ชอบหมั่นไส้หรืออิจฉา และอยากให้แฟนเก่าที่ยังติดตามเราอยู่ได้เห็นว่าชีวิตเราดีขึ้น
  • โดย Self Esteem ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ มีอันดับสูงสุด 73.6% รองมาคือ เพศชาย 69.2% และเพศหญิง 65.2% ช่วงวัย Gen Z มากสุดที่ 79.8% Gen Y 65% Baby Boomer 62% และ Gen X 60.6%

คนไทยอวดอะไร?

3 สิ่งแรกที่คนชอบอวด คือ

  • แบรนด์เนม
  • การบริการ
  • ไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน

3 สิ่งที่คนชอบโพสต์และแชร์มากที่สุด คือ

  • ท่องเที่ยว 33%
  • ของกินของใช้ 25.5%
  • ร้านอาหาร ร้านกาแฟ 19.2%

3 เหตุผลแรกที่ทำให้คนอยากอวด คือ

  • อยากให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีสิ่งที่ดีที่สุดอยู่กับตน
  • ต้องการบ่งบอกสถานะทางสังคมของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้
  • ต้องการแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือการใช้บริการต่าง ๆ ของตนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกคัดเลือกมาแล้ว และเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

3 อันดับเหตุผลที่ทำให้โพสต์หรือแชร์มากที่สุด คือ

  • แสดงความห่วงใย ต้องการดูแล ต้องการให้คนใกล้ชิดใช้ผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่เราประทับใจ
  • แสดงความเชี่ยวชาญ แนะนำผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่เคยใช้แล้วประทับใจให้แก่คนใกล้ชิด
  • แสดงความขอบคุณหรือชื่นชม แบรนด์ที่ประทับใจ

3 แพลตฟอร์มที่ใช้อวดมากที่สุด คือ

  • อินสตาแกรม (Instagram)
  • เฟซบุ๊ก (Facebook)
  • ติ๊กต็อก (TikTok)

ทั้งนี้ สาเหตุที่คนนิยมใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทางหลักในการอวด เนื่องจากใช้งานง่าย ตัวหนังสือน้อย โพสต์ได้ทั้งรูปภาพและคลิปวิดีโอ นอกจากนี้ยังนิยมในหมู่คนที่ชอบอวดแบบถ่อมตน (HUMBLE BRAGGER) เพราะว่าสามารถเลือกอวดได้ใน IG Story ที่จะแสดงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

นอกจากนี้ยังพบว่า คนมีการโพสต์บ่อยหรือโพสต์ถี่วันละหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเป็นช่วงเวลาพิเศษ หรือมีกิจกรรมให้ได้ทำคอนเทนต์มากกว่าช่วงเวลาทั่วไปที่อาจจะลงแค่รูปหรือ IG Story อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง เพราะต้องการเก็บไว้เป็นความทรงจำ

อวดแบบไหนคนไทยไม่หมั่นไส้

ข้อสรุปจากงานวิจัยพบว่า สังคมไทย ชอบการอวดแบบถ่อมตน (HUMBLE BRAGGER) มากกว่า โดยมีตัวอย่างการแสดงความคิดเห็น ดังนี้ ถ้าได้รับของมีค่า จะโพสต์แค่รูปแต่ไม่ใส่แคปชั่น รายละเอียดหรือราคา เพราะกลัวจะโดนมองว่าอวดมากเกินไป อาจจะแท็ก (Tag) คนที่มอบให้เพื่อเป็นการขอบคุณด้วย

ทั้งนี้ การบอกเล่าเกี่ยวกับสินค้าหรือสิ่งของ ส่วนใหญ่ชอบการอวดแบบถ่อมตน 70.5% มากกว่าการอวดแบบเปิดเผย 29.5% เนื่องจากมีความคิดเห็นว่าการอวดแบบตรง ๆ นั้นดูขี้อวดมากเกินไป และบางครั้งอาจทำให้คนเกลียดหรือหมั่นไส้ได้

อย่างไรก็ตาม การอวดเกี่ยวกับงานบริการ เช่น การไปท่องเที่ยว ส่วนมากชอบการอวดแบบเปิดเผย อวดตรง ๆ ถึง 51.2% มากกว่าการอวดแบบถ่อมตน 48.8% สามารถเล่ามาได้เลยว่า ไปเที่ยวที่ไหน ใช้บริการอะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร หรูหราขนาดไหน เป็นต้น

แนะ 4 กลุ่มธุรกิจป้ายยาอย่างไรให้โดน

แน่นอนว่า การอวด การรีวิว และการแชร์บนโลกออนไลน์รูปแบบ E-WOM มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อ (Purchase Intention) ยกตัวอย่างความคิดเห็น พอเห็นคนอื่น เขาอวด เขาโพสต์กันมากๆ ก็จะเริ่มมีความรู้สึกอยากได้ขึ้นมาบ้าง อยากไปซื้อมาอวดแบบเขาบ้าง แต่แน่นอนว่าการจะป้ายยาก็ต้องมีเทคนิค ได้แก่

B: Brandname กลยุทธ์จับกลุ่มผู้เลิฟสินค้าแบรนด์เนม : แบรนด์เนม ถือเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่คนชอบอวด เนื่องจากเป็นสินค้าราคาสูง และมักใช้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะทางสังคม ดังนั้น ธุรกิจแบรนด์เนมควรเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ และ KOL ที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมกับสินค้า และกลุ่มเป้าหมาย, ควรนำเสนอความคุ้มค่า, ใช้วิธีการสื่อสารที่สะท้อนถึงความสำเร็จในชีวิต และสามารถมอบของขวัญพิเศษ สำหรับลูกค้าคนสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อหรือแชร์

R: Restaurant สร้างโมเมนต์ประทับใจ ถ่ายเก็บไว้อวดพร้อมบันทึกความทรงจำ : ผู้บริโภคนิยมแชร์ในช่วงที่มีความสุข อยากให้คนทราบว่าไปเที่ยวที่ไหน ทานอาหารอร่อย ๆ บรรยากาศที่ดีอย่างไร ดังนั้น ธุรกิจร้านอาหาร ควรมีเมนูและการตกแต่งร้านที่สวยงามให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียลได้, สร้างความยากในการเข้าถึง ไม่ได้ทานได้ง่าย ๆ , รักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับที่สูงอยู่เสมอ และการได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ ควรระวังการกดไลก์หรือแชร์เพจ เพื่อแลกรับส่วนลด เพราะไม่สามารถดึงลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์ได้ตลอด

A: Accommodation ที่พักบริการประทับใจ อย่างนี้ต้องอวด-รีวิว-แชร์ : ผู้บริโภคมักอวดหรือบอกต่อเมื่อได้รับการบริการจากที่พักอย่างดี อีกนัยคือบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าผู้อื่น และอาจจะไม่ได้มาที่พักแห่งนี้บ่อย จึงต้องการถ่ายรูปสวย ๆ เก็บไว้ อีกทั้งยังชอบเอาชุดไปเปลี่ยนถ่ายรูปหลายชุด หลายมุม โดยก่อนจะไปเช็กอินที่พักมักชอบดูอินสตาแกรมโรงแรมหรือสถานที่ที่กำลังจะไป ว่ามีมุมอะไรบ้างเพื่อเตรียมชุดเสื้อผ้า รวมถึงดูจากอินสตาแกรมของเพื่อน ถ้าชอบก็ไปตาม ดังนั้น ธุรกิจที่พักอาศัยหรือธุรกิจโรงแรม ควรมีจุดถ่ายรูปตามธีมเทศกาลต่าง ๆ , จัดกิจกรรมตามสิ่งที่กำลังเป็นกระแส, มอบสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่จะได้รับการบริการเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป และให้ความสำคัญกับรีวิวใน Travel Booking Platform

G: Gym อวดรูปร่างที่ดีจากความพยายามของตนเอง : ธุรกิจยิมควรคอยติดตามกระแสที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่เสมอ และมีส่วนร่วมกับกระแสให้ทันอยู่ตลอดเวลา, สร้างเทรนด์การออกกำลังกาย หรือการปั้นหุ่นในฝัน โดยทางฟิตเนสอาจสร้างชาเลนจ์เพื่อให้เกิดกระแสไวรัล (Viral) ในโซเชียลมีเดีย แต่หากกิจกรรมยากเกินไปจะทำให้คนไม่อยากเข้าร่วม เพราะมีโอกาสสำเร็จน้อย

]]>
1370091
ย้อนดู ’10 วลีฮิต’ ชาวโซเชียลประจำปี 64 คำไหน ‘ต๊าซ’ สุด https://positioningmag.com/1369070 Wed, 29 Dec 2021 02:54:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369070 ไม่รู้ว่าเพราะภาษาไทยมีความลื่นไหลสูง หรือคนไทยมีความครีเอทีฟสูงกันแน่ เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็มักจะสร้างแฮชแท็ก หรือวลีใหม่ ๆ ให้กับเรื่องในกระแสได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการสำรวจวลีฮิตประจำปี 2564 ทั้งหมดมากกว่า 150 คำ และทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ตลอดทั้งปี (วันที่ 1 มกราคม – 8 ธันวาคม 2564 เพื่อจัดอันดับ 10 วลีที่มีจำนวนการพูดถึงและจำนวนเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด พร้อมส่องที่มาของแต่ละคำว่ามีต้นตอมาจากไหน ใครหยิบยกไปใช้กันบ้าง

ปัง, ปังปุริเย่ (3,147,078 ข้อความ, 216,656,590 เอ็นเกจเมนต์)

ปัง! ที่หมายถึง เลิศ, อลังการ, ดี! ถ้าใครเล่นโซเชียลบ่อย ๆ มั่นใจว่ายังไงก็ต้องเคยเห็น เพราะชาวโซเชียลใช้คำนี้กันมาสักพักใหญ่และมักใช้ร่วมกับคำอื่น อาทิ ปังมาก, ปังปุริเย่, ปังไม่ไหว, สุดปัง

สภาพ (1,887,529 ข้อความ, 178,830,358 เอ็นเกจเมนต์)

จากไลฟ์ของ พส. หรือพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ที่มียอดเข้าชมกว่า 2 แสนคน มีหนึ่งคำที่หยิบยกมาใช้บ่อย ๆ คือ สภาพ ซึ่งเมื่อถามถึงความหมายจากพระมหาไพรวัลย์ท่านก็ตอบกลับมาว่า “สภาพก็คือ สภาพไง ขายขำหรอ” นั่นเอง ชาวโซเชียลที่ถูกอกถูกใจจึงหยิบคำนี้มาใช้อยู่บ่อย ๆ

น้อน (1,822,825 ข้อความ, 101,661,318 เอ็นเกจเมนต์)

น้อน ที่แปลงเสียงมาจากคำว่า น้อง โดยชาวโซเชียลมักใช้คำนี้เรียกสิ่งมีชีวิตที่น่าเอ็นดู และมักจะพิมพ์ ‘นนนนนนนน’ เพื่อเพิ่มความน่ารักสดใสทวีคูณขึ้นอีก 10 เท่า

ต้าว (1,269,500 ข้อความ, 101,581,279 เอ็นเกจเมนต์)

อีกหนึ่งคำที่แปลงเสียงมาจากคำว่า เจ้า เพื่อแสดงถึงความน่ารักน่าเอ็นดู บางครั้งอาจลากเสียงว.แหวน เพิ่มกิมมิกความเอ็นดูเข้าไปอีก โดยชาวโซเชียลมักใช้คำนี้ร่วมกับคำอื่น เช่น ไอ้ต้าวบ้า, ไอ้ต้าวฟามรัก, ไอ้ต้าวยูกหมา เป็นต้น

คลั่งรัก (808,051 ข้อความ, 73,109,345 เอ็นเกจเมนต์)

สำหรับใครที่พึ่งจะตกหลุมรัก หรืออาการตกหลุมรักระดับมากที่สุด รวมไปถึงคู่รักข้าวใหม่ปลามันที่มักแสดงออกถึงความ ‘คลั่งรัก’ บ่อย ๆ แค่อ่านก็คงรู้ว่าน่าหมั่นไส้ขนาดไหน

ของมันต้องมี (547,494 ข้อความ, 65,609,253 เอ็นเกจเมนต์)

#ของมันต้องมี อาการอยากได้ของสิ่งหนึ่งที่จริง ๆ ก็ไม่ได้จำเป็นกับชีวิต แต่จำเป็นต้องมีไว้เพื่อความชิค คำนี้เป็นวลีฮิตเมื่อหลายปีก่อนจากคุณสู่ขวัญ บูลกุล ที่ชาวโซเชียลขาช้อปยังคงใช้กันมากปัจจุบันนี้

จุกๆ (384,508 ข้อความ, 72,702,458 เอ็นเกจเมนต์)

ที่แปลว่า แบบเต็มที่, เต็มอิ่ม ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้กับการอยากทำอะไรให้สุด ๆ ไปเลย เช่น หยุดอยู่บ้านนาน อยากไปเที่ยวแบบจุก ๆ, อาหารจานใหญ่จุก ๆ, กินแบบจุก ๆ

หิวแสง (361,006 ข้อความ, 10164906 เอ็นเกจเมนต์)

คำศัพท์ใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานแต่ก็ได้รับเอ็นเกจเมนต์อย่างท่วมท้นจากชาวโซเชียล โดยคำนี้จะใช้เรียกคนที่ต้องการเป็นจุดสนใจของสังคม เช่น ทำคอนเทนต์ดราม่าออกมาเรียกยอดไลก์, แสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสมและไม่รู้กาลเทศะ หรือพูดจาบั่นทอนความรู้สึกคนอื่น ซึ่งมักจบลงด้วยการทัวร์ลงนั่นเอง

ภาพจากผู้จัดการ

ต๊าช (278,296 ข้อความ, 34,329,159 เอ็นเกจเมนต์)

มาต่อกับ คำว่า ‘ต๊าซ’ ที่ต้องเน้นเสียงและใส่อารมณ์เวลาพิมพ์หรือพูด ต๊าช มีความหมายว่า ยอดเยี่ยม, ปัง, ดีย์! คนที่นำคำนี้มาใช้เป็นคนแรก คือ สไปรท์ บะบะบิ ยูทูบเบอร์สายฮาและเจ้าของเพจสไปรท์ไงที่ไหล่กว้าง

จึ้ง (213,403 ข้อความ, 31,543,748 เอ็นเกจเมนต์)

อีกหนึ่งคำที่มีความหมายว่า เลิศ, ดี ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้ร่วมกับคำว่า มากแม่ เพิ่มความปังเข้าไปให้คู่สนทนาแบบ 10 10 10

ไม่ได้หมดแค่นี้ แต่ยังมีคำอื่น ๆ ที่ชาวโซเชียลใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ เกินต้าน, จกตา, กล้าที่จะ, เอาปากกามาวง, ปั๊ว, อรุ่มเจ๊าะ, จะเทย โดยแต่ละคำได้รับเอ็นเกจเมนต์เกิน 1,000,000 เอ็นเกจเมนต์ จะเห็นได้ว่าปีนี้เป็นอีกปีที่ชาวโซเชียลมีการใช้คำศัพท์และภาษาเฉพาะกลุ่มของตนเอง คำใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นเยอะมากเช่นกัน ซึ่งบางคำกลายมาเป็นปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์เลยทีเดียว ยิ่งรู้คลังศัพท์เหล่านี้มากก็จะได้ไม่ตกเทรนด์ เดี๋ยวจะคุยกับวัยสะรุ่นเมืองทิพย์ไม่รู้เรื่อง!!

]]>
1369070
เจาะลึกพฤติกรรม Gen Y ทำไมเป็นวัยหนี้ท่วม? https://positioningmag.com/1254769 Mon, 25 Nov 2019 11:39:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254769 ใครๆ ก็ว่าชาว Gen Y เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดในเรื่องของการใช้เงิน จริงหรือไม่ (ลองถามใจดู) เนื่องด้วยพฤติกรรมยุคใหม่ที่ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน แฟชั่นก็ต้องมา ของอร่อยก็เยอะ ทำให้วัยนี้ที่เริ่มมีรายได้มั่นคงมากขึ้นกว่าช่วงเรียนจบใหม่ มักมีค่าใช้จ่ายแบบไม่จำเป็นเพิ่มตามไปด้วย และในที่สุดก็กลายเป็นหนี้

เปิดสำรวจพฤติกรรมใช้เงิน Gen Y

เปิดมาด้วยประโยคสะเทือนใจว่า จำนวนคนกลุ่ม Gen Y (ช่วงอายุ 23-38 ปี) ในไทยมีอยู่ 14.4 ล้านคน โดยกว่า 50% (ราว 7.2 ล้านคน) ของชาว Gen Y ทั้งหมดเป็นหนี้และเฉลี่ยภาระหนี้ตัวหัวสูงถึง 4.23 แสนบาท และที่สำคัญคือ “กว่า 1.4 ล้านคน เป็นหนี้แบบผิดนัดชำระ” ซึ่งคิดเป็นหนี้เสีย 7% ของยอด NPL รวม

นี่คือผลงานวิจัยล่าสุดจาก ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี จับมือกับ Wisesight (ไวซ์ไซท์) สำรวจพฤติกรรมทางการเงินของ Gen Y ผ่านแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 เพื่อหวังจะช่วยกระตุ้นในเกิดการออมเงินที่ดีขึ้น

โดย 3 ทัศนคติที่ก่อให้เกิดหนี้ทั้งที่อาจจะไม่จำเป็นนั้นมาจาก

  • การบริโภคนิยม
  • ตัดสินใจซื้อแบบไม่คิด
  • ความสุขที่ซื้อด้วยประสบการณ์
Photo : Pixabay

ฝันอยากมีบ้าน มีรถ ความจริงน่าเศร้า…มีแต่หนี้

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics เปิดเผยข้อมูลว่า จากการสำรวจความใฝ่ฝันของชาว Gen Y ที่อยากมีก่อนอายุ 40 ปี นั้นพบว่าอยากมีบ้านมากที่สุดถึง 48% รองลงมาเป็นรถยนต์ 22% และเงินออมทรัพย์-สินทรัพย์ 13%

แต่เมื่อกลับมาสู่โลกความเป็นจริงพบว่า Gen Y มียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่เข้าข่าย “ของมันต้องมี” มากถึง 69% สวนทางกับสิ่งที่ฝันอยากมี เช่น บ้าน และรถยนต์ ที่มีสัดส่วนที่ลดลงมากแค่ 12% และ 10% ตามลำดับ รวมทั้งสัดส่วนเงินออมที่มีอยู่เพียง 9% เท่านั้น

ส่วนใหญ่ Gen Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสนหรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี โดยเฉลี่ยตกคนละ 95,518 บาทต่อปี จากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 377,694 บาท โดยใช้ซื้อสินค้ายอดฮิตอย่าง สมาร์ทโฟน 22% เสื้อผ้า 11% เครื่องสำอาง 8% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% กระเป๋า 4% และนาฬิกา/เครื่องประดับ 2%

รายจ่ายของมันต้องมี พุ่งปีละ 1.37 ล้านล้าน

ถ้าขยายภาพให้ชัดเจนในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ“ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี

ทำไมชาว GEN Y อยากได้ “ของมันต้องมี”

จากผลสำรวจพบว่า มีเหตุผลหลักๆ เช่น ซื้อตามเทรนด์กลัวเอาท์ (42%) มากกว่ามองเป็นของจำเป็น (37%)  แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ (70%) บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics

อยากมีเงินเก็บเป็นล้าน แต่ออมเงินได้ไม่กี่พัน

กลุ่ม GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่ออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี ซึ่งยาวนานกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนปกตินั่นเอง

และเมื่อเจาะลึกพฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติของ GEN Y พบว่า GEN Y ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บมีสัดส่วน 53% ขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% แม้สัดส่วนน้อยกว่าอีกกลุ่ม แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่

ใช้เงินก่อนออม VS ออมเงินก่อนใช้

หากแบ่งแบ่ง GEN Y ได้เป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่

  1. กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี”

โดยพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม เมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง

2) กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้”

กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม คือพอมีรายได้เข้ามา ก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่าย หรือพูดได้ว่าเป็น GEN Y ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุนสะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงและลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่นๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

โดย TMB Analytics ฝากคำแนะนำถึงชาว GEN Y ว่าจะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกคือ ลดเงินที่ใช้กับ“ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% เพราะหากเลิกทั้งหมดคงจะดูหักดิบเกินไป และต้องทำควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เช่นหากเก็บไว้ 10 ปีจะซื้อรถยนต์ได้ 20 ปี เซ้งร้านขายกาแฟที่ทองหล่อได้ และ 30 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมย่านห้วยขวางได้ เป็นต้น

พลังของ Influencer กับแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40

พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงข้อมูลที่ได้จากวิเคราะห์เก็บข้อมูล ว่า ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ 74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น อันดับ 8 ของโลก

สำหรับจำนวนผู้ใช้โซเชียลในประเทศไทย พบว่าสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่ครองใจคนไทยในยุคนี้ และมีผู้ใช้งานบน Facebook 56 ล้านบัญชี Instagram 13 ล้านบัญชี และ Twitter 9.5 ล้านบัญชี และระยะเวลาที่ใช้คิดเป็น  3 ชั่วโมง 11 นาที เวลาเฉลี่ยใน 1 วัน และยังพบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคน GEN Y

จำนวนโพสต์โดย Influencers ในช่วง 3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม 2562) มีจำนวน 545,000+ ( facebook 72% , Instagram 15% , Twitter 10%, Youtube 4%) โดยมี Engagement ที่เกิดขึ้น 1.3 พันล้าน (facebook 67% , Instagram 22% , Twitter 3%, Youtube 7%)

“การทำแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ในครั้งนี้ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลถึงพฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มคน GEN Y ที่ได้จุดกระแสผ่านบรรดา Influencer จะเห็นได้ว่าการแสดงความคิดเห็น แชร์ มีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกับ Influencer ที่กดติดตามกันดังนี้ คนที่ติดตาม กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กันต์ กันตถาวร และกาละแมร์ พัชรศรี ก็จะเป็นเป้าหมายเรื่องการเก็บเงิน มีบ้าน สร้างความมั่นคงในชีวิต ด้านกลุ่มคนที่ติดตามบล็อกเกอร์สายเที่ยว ก็จะมีเป้าหมายเรื่องเที่ยว เรื่องการใช้ชีวิตแบบอิสระ โดยมีการวิเคราะห์ทั้งหมดจาก 14,140 คอมเมนต์”

โดยเพจ I ROAM ALONE ผู้ติดตามกว่า 20 % เลือกเป้าหมายการใช้เงินไปที่การเที่ยว ตามมาด้วยเพื่อความสุข 12% ส่วนเพจ F.HERO เลือกเป้าหมายเป็นมีบ้าน 21 % ตามมาด้วย ปลดหนี้ 16% เป็นต้น

 

]]>
1254769