ของเล่น – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 23 Dec 2024 06:55:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เพราะเด็กเกิดน้อย! ‘Toys R Us’ เดินหมากใหม่เอาใจกลุ่ม ‘Kidult’ ผู้ใหญ่ที่พร้อมเปย์เพื่อของเล่น https://positioningmag.com/1504591 Mon, 23 Dec 2024 06:05:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504591 เพราะผู้ใหญ่ทุกคนต้องเคยเป็นเด็กมาก่อน และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่พ่อ-แม่ผู้ปกครองจะซื้อของเล่นทุกชิ้นที่อยากได้ ในวันที่ตอนเด็ก ๆ ขาด พอโตมาผู้ใหญ่ในวันนี้ก็พร้อมจะ เปย์ เพื่อซื้อของเล่นที่เคยอยากได้ ดังนั้น ในวันที่อัตราการเกิดน้อยลง กลุ่มเด็กหนวด หรือ Kidult นี่แหละที่ยังช่วยขับเคลื่อนตลาดของเล่นอยู่ และแน่นอนว่า Toys R Us ก็เห็นเทรนด์นี้

ย้อนรอย Toys R Us แบรนด์ที่กลับมาจากการล้มละลาย

หากพูดถึง ร้านขายของเล่น ชื่อของ ทอยส์ อาร์ อัส (Toys R Us) น่าจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายคนคิดถึง เพราะเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่เปิดตั้งแต่ปี 1948 และสามารถขยายสาขาไปได้ทั่วโลก อีกทั้งยังเคย ล้มละลาย ในปี 2018 เนื่องจากถูกดิสรัปต์จาก อีคอมเมิร์ซ

จนมาปี 2021 ทอยส์ อาร์ อัสก็กลับมาอีกครั้ง หลังบริษัทที่ปรึกษาแบรนด์ WHP Global ได้เข้าซื้อกิจการ และได้กลับมาเปิดสาขาที่เคยปิดไป พร้อม ๆ กับขยายสาขาใหม่ จนในปี 2023 ทอยส์ อาร์ อัสก็มีสาขากว่า 1,400 แห่ง ใน 31 ประเทศ

เดอะแบกตลาดของเล่นไม่ใช่เด็ก แต่คือ ผู้ใหญ่

ข้อมูลจาก Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก ระบุว่า ยอดขายของเล่นและเกมทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่า 2.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต +3.1% เมื่อเทียบกับปี 2022 และคาดว่าในช่วงปี 2023 – 2028 จะขยายตัวต่อเนื่องด้วยอัตราเฉลี่ย +2.4% ต่อปี โดยคาดว่าภายในปี 2028 จะมีมูลค่า 3.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ที่ 36.48% คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย อเมริกาเหนือ มูลค่า 8.40 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วน 30.80% และยุโรป มูลค่า 6.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วน 22.40 %

ที่น่าสนใจคือ ในวันที่อัตราเกิดต่ำลง แต่ตลาดของเล่นยังเติบโต ก็เพราะกลุ่มที่ขับเคลื่อนตลาดไม่ใช่เด็กอีกต่อไป แต่เป็นกลุ่ม คิดดัลต์ (Kidult) หรือผู้ใหญ่หัวใจเด็ก ที่กลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนตลาดของเล่นและเกม เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อ และยินดีที่จะใช้จ่ายกับของเล่นหรือของสะสมที่ช่วยให้นึกถึงวัยเด็ก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์ของเล่นใหญ่ ๆ จะหันมาออกสินค้าของสะสมที่พรีเมียมเพื่อจับกลุ่มวัยผู้ใหญ่

ตลาดไทยก็โตเพราะเด็กหนวด

สำหรับตลาดของเล่นประเทศไทย ลีโอ ซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทอยส์ “อาร์”อัส เอเชีย จำกัด เล่าว่า ตลาดของเล่นประเทศ ไทยถือเป็นตลาดหลักของภูมิภาค โดยคาดว่าตลาดของเล่นในไทยจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) +7.5% ต่อเนื่อง 5 ปี

เนื่องจากเทรนด์ Kidult กำลังเติบโต โดยไทยเองมีประชากร อายุน้อยกว่า 35 ปี ถึงกว่า 30 ล้านคน หรือราว 40% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น กลุ่ม Kidult จึงเป็นตลาดที่ทอยส์ อาร์ อัสต้องเร่งเจาะ

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเป็นกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทย และไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่อัตราการเกิดต่ำ ซึ่งทอยส์ อาร์ อัสไม่ใช่คนเดียวที่ต้องแก้ปัญหานี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องรักษาความเป็นผู้นำในกลุ่มเด็ก และต้องขยายไปกลุ่มผู้ใหญ่ เพราะอาจจะใหญ่กว่ากลุ่มเด็กด้วยซ้ำ” ลีโอ ซอย กล่าว

ลีโอ ซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทอยส์ “อาร์”อัส เอเชีย จำกัด

3 ข้อมัดใจ Kidult มีความแฟชั่น สะสม และใช้ได้

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของทอยส์ อาร์ อัสจากกลุ่มผู้ใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 8 แต่มีโอกาสเติบโตเป็น 1 ใน 3 ในอนาคต แต่แน่นอนว่ากลุ่มผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็ก ดังนั้น ความต้องการซื้อสินค้าจึงแตกต่างกัน โดยเพื่อจับกลุ่มลูกค้า Kidult ลีโอ มองว่า ตัวสินค้าต้องมี 3 องค์ประกอบ ถึงจะมัดใจกลุ่มผู้ใหญ่ ได้แก่

  • มีความเป็นแฟชั่น (fashionable): ความร่วมมือกับนักออกแบบและสัญลักษณ์จากวงการป็อปคัลเจอร์ (pop culture) เพื่อสร้างสินค้าแฟชั่นใช้ได้จริง
  • สินค้าเก็บสะสม (collectible): ฟิกเกอร์รุ่นลิมิเต็ด, โมเดล และของที่ระลึกจากแบรนด์ยอดนิยมต่าง ๆ เช่น หมวกทรานส์ฟอร์มเมอร์ (Transformers) เป็นต้น
  • สินค้าที่ใช้ได้จริง (usable): สินค้าที่มีฟังก์ชันและใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมยังคงความสนุกสนาน

ปัจจุบัน สำหรับสินค้าขายดีในกลุ่ม Kidult จำนวน 5 ใน 10 อันดับ เป็นสินค้า กล่องสุ่ม และคาแรกเตอร์ที่ขายดีที่สุดในกลุ่ม Kidult ก็คือ น้องหมีเนย (Butterbear)

เน้นขยายสาขาในเมืองเป็นหลัก

เพื่อรุกตลาดประเทศไทย ล่าสุด ทอยส์ อาร์ อัส ได้เปิดสาขาใหม่ที่ศูนย์การค้า One Bangkok และถือเป็น คอนเซ็ปต์สโตร์ใหม่แห่งแรกในประเทศไทย โดยคอนเซ็ปต์ สโตร์ โฉมใหม่ จะมีพื้นที่เล่น, สินค้ารูปแบบใหม่ และสินค้ารายการพิเศษเฉพาะภายในร้าน เช่น เรนโบว์ คอง (Rainbow Kong) และกำลัง รีโนเวต สาขาไอคอน สยาม โดยจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 9 มกราคม 2025

สำหรับการขยายสาขาของทอยส์ อาร์ อัส ในปีหน้า กำลังอยู่ระหว่างดูโลเคชั่น โดยจะยังคงเน้นในตัวเมืองเป็นหลัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของทอยส์ อาร์ อัสเป็นคนเมือง อีกทั้งไทยยังมีการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่สม่ำเสมอ ซึ่งการเป็นเมืองท่องเที่ยว ถือเป็นปัจจัยบวกของทอยส์ อาร์ อัส อย่างไรก็ตาม การจะเปิดสาขาใหม่หรือไม่ อาจต้องรอดูผลตอบรับจากสาขา One Bangkok และไอคอน สยาม

“แน่นอนว่าของเล่นใคร ๆ ก็หาซื้อออนไลน์ได้ ดังนั้น หน้าร้านเราจะเน้นสร้างประสบการณ์ให้เด็ก ๆ และต้องมีประเภทสินค้าที่ถูกใจลูกค้า และมีความเอ็กซ์คลูซีฟ โดยเรามีการจับมือกับเจ้าของ IP หลายรายเพื่อออกสินค้าลิมิเต็ดขายเฉพาะในทอยส์ อาร์ อัส”

มั่นใจเติบโตได้

นอกเหนือจากการเพิ่มสินค้าที่ตรงใจลูกค้ากลุ่ม Kidult และปรับโฉมสาขา อีกกลยุทธ์ที่ทอยส์ อาร์ อัส จะใช้ก็คือ เทคโนโลยี อาทิ ระบบ POS (Point of sale) ที่ประยุกต์จากของประเทศจีน และ AI ที่ช่วยออกแบบร้าน และวางแผนการตลาด เพราะต้องยอมรับว่าความต้องการของลูกค้ามีความเฉพาะตัวมากขึ้น

ด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ทำให้มั่นใจว่าทอยส์ อาร์ อัสในปี 2025 จะสามารถเติบโตได้ โดยจะอยู่ในอัตราระดับเลขหลักเดียว (single-digit growth) โดยเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่มีการเติบโตเร็วเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองเพียง จีน

“เรากำลังใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อฟื้นฟูแบรนด์และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า โดยเน้นที่การสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ การขยายกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน

]]>
1504591
“ผู้ใหญ่” ซื้อของเล่นเพื่อเยียวยาจิตใจ หนีความวุ่นวายจากโลก โมเดล “รถยนต์-เครื่องบิน” ขายดีสุด https://positioningmag.com/1500054 Wed, 20 Nov 2024 12:55:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1500054 จากการวิจัยของ Circana ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันยอดขายของสินค้าประเภทของเล่นเด็กลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง ค่าครองชีพ รวมถึงปัญาเศรษฐกิจ ทำให้งบประมาณการใช้จ่ายของครอบครัวถูกจำกัด ส่งผลให้ยอดขายของเล่นเด็กในสหราชอาณาจักรลดลง 3% จากปีก่อนหน้า 

แต่กลับพบว่าคนในกลุ่มวัยผู้ใหญ่นิยมซื้อของเล่นเด็กเพื่อหนีปัญหาความวุ่นวายในชีวิต และเติมเต็มความฝันในวัยเด็ก ส่งผลให้ kidults (กลุ่มผู้ใหญ่ที่ยังสนใจหรือสะสมของที่ชวนให้นึกถึงวัยเด็กของตัวเอง) เพิ่มจำนวนขึ้น ตามรายงานของกลุ่มวิจัยอุตสาหกรรมของเล่น Circana ระบุว่า 1 ใน 5 ของการซื้อของเล่นและเกมเป็นการซื้อให้ตัวเองและถูกซื้อโดยกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปี 

Melissa Symonds กรรมการฝ่ายบริหารข้อมูลของ Ciracan กล่าวว่า จากการวิจัยฯ แสดงให้เห็นว่า ผู้คนในวัย “ผู้ใหญ่” กําลังซื้อของเล่นและของสะสมเพื่อ เยียวยาสุขภาพจิตเนื่องจากต้องการหลบหนีจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงยังมีความคิดถึงเรื่องราวความสุขในวัยเด็ก 

โมเดลรถยนต์และเครื่องบิน ถือเป็นของเล่นที่ขายดีสุด 

ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกของเล่นได้เปิดเผยรายการสินค้าประจําปี ระบุว่า บริษัทฯ มีการคาดการณ์ว่าจะมีสินค้าราว 20 รายการที่คาดว่าจะขายดีในวันคริสต์มาสนี้ อาทิ รถ Hot Wheels และรถดันดิน จากการ์ตูน Paw Patrol ที่มีของเล่นหลายแบบ ตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีอายุหลากหลายช่วงวัยอย่างชัดเจน รวมถึงชุดเลโก้รถ McLaren F1 ที่อาจมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ใหญ่ และ ปืนลม Fart Blaster ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่มากขึ้น

ตามรายงานฯ ยังระบุว่า ธีมของเล่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ยังคงเป็นธีมรถของเล่น ตามมาด้วยธีมของเล่นประเภทตุ๊กตาสัตว์เลี้ยง โดยสัตว์เลี้ยงที่สามารถโต้ตอบได้กําลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตุ๊กตาเหล่านี้สามารถลูบ และพูดคําซ้ำจากการอัดเสียงได้

ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองทำให้ของเล่นเหล่านี้มีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยช่วงราคาของของเล่นกว่า 20 รายการมีการปรับลดลงเหลือ 9.99 –  89.99 ปอนด์ หรือประมาณ 438 – 3,940 บาท

“คริสต์มาส” ช่วงเวลาสําคัญในการทำยอด

ตามรายงานของ Circana ระบุว่า เมื่อช่วงต้นปีถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมของเล่นของสหราชอาณาจักรมียอดขายรวมอยู่ที่ 3.4 พันล้านปอนด์ ทำให้ในช่วงปลายปีที่มีเทศกาลสำคัญอย่างคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการทำยอดขาย เนื่องจากผู้ค้าปลีกต่างตั้งความหวังและมุ่งเป้าไปที่ Black Friday (วันศุกร์หรรษา ที่แบรนด์ดังต่างๆ พร้อมใจกันลดราคาสินค้า)

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าปลีกของเล่นกล่าวว่าผู้ขายต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนในอนาคต เนื่องจากนายจ้างของบริษัทต่างๆ มีการเพิ่มเงินประกันแห่งชาติตามที่ประกาศในงบประมาณฯ ของรัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขายและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ตามรายงานของ Circana ระบุว่า ยอดขายของเล่นและเกมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโควิด-19 เนื่องจากผู้คนใช้เวลาอยู่ที่บ้านกันทั้งครอบครัวในช่วงล็อกดาวน์ และยอดขายได้ลดลงตั้งแต่ปี 2021 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันยอดขายของเล่นต่ำกว่ายอดขายในปี 2019 

โดยในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ราคาเฉลี่ยของของเล่นอยู่ที่ 12.95 ปอนด์ หรือประมาณ 567 บาท ซึ่งพุ่งสูงกว่าราคาปกติถึง 6 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มของของเล่นสําหรับเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี

ที่มา : BBC

]]>
1500054
ย้อนรอย ‘กาชาปอง’ แคปซูลของเล่น 1.3 หมื่นล้าน ที่ ‘ญี่ปุ่น’ กำลังดันไปโตต่อในต่างประเทศ https://positioningmag.com/1481445 Fri, 05 Jul 2024 06:04:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481445 แม้ยุคนี้ กล่องสุ่มอาร์ตทอย จะเป็นกระแสแรงในบ้านเรา แต่จริง ๆ แล้ว รูปแบบการสุ่มของเล่นนั้นมีมานาน และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกันดีกับตู้ กาชาปอง หรือ แคปซูลของเล่น แม้จะดูเหมือนเป็นอะไรที่เล็กน้อย แต่เจ้ากาชาปองนี้ทำรายได้กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ให้กับญี่ปุ่นเลยทีเดียว

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ ตู้กาชาปอง (Gashapon) หรือ แคปซูลของเล่น ต้องย้อนไปไกลถึงยุค 1960 ซึ่งในตอนนั้น Ryuzo Shigeta เจ้าของร้านของเล่น Penny Shokai ได้นำ ตู้กดหมากฝรั่งและของเล่น จากสหรัฐอเมริกา มาวางขายที่ร้าน ก่อนที่จะดัดแปลงเครื่องดังกล่าวให้กด แคปซูลบอลพลาสติก เพื่อลุ้นว่าจะได้อะไร

จนมาปี 1977 แบรนด์ของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง บันได (Bandai) ก็ได้จดเครื่องหมายการค้ากาชาปอง ซึ่งเป็นคำที่เลียนแบบเสียงของที่จับที่หมุนเวลาไขตู้ และเสียงกระแทกเมื่อแคปซูลหล่นลงมา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กาชาปองฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองเกิดในปี 1983 เมื่อบันไดออกตู้กาชาปองจากการ์ตูนเรื่อง คินิคุแมน (Kinnikuman) ทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ในหมู่เด็ก ๆ ส่งผลให้บันไดสามารถขายกาชาปองได้ถึง 180 ล้านชิ้น

สมาคมของเล่นญี่ปุ่น เคยประมาณการว่า ตลาดของเล่นกาชาปองในปี 2022 มีมูลค่า 61,000 ล้านเยน (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) เติบโตประมาณ 35.6% และคาดว่าจะยังสามารถเติบโตได้อีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าตู้กาชาปองนั้นยังสามารถดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้ใหญ่

โดยจากการสำรวจผู้บริโภคในเดือนเมษายนโดยบริษัท Happinet Corp. ซึ่งดำเนินกิจการเครือร้านขายของเล่น Gashacoco พบว่า ผู้หญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งในช่วงวัย 20-30 ปี ซื้อกาชาปองอย่างน้อย 1 ชิ้นนับตั้งแต่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และจากจำนวนการเกิดที่ลดลง ทำให้ผู้ผลิตหันมาผลิตสินค้าจับกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีบริษัทผู้ผลิตกาชาปองประมาณ 60 ราย และจะมีสินค้าประมาณ 600-700 รายการ ที่ออกสู่ตลาดในทุก ๆ เดือน แสดงให้เห็นว่าตลาดกาชาปองในญี่ปุ่นนั้นมีความหลากหลายมาก รวมถึงจะมีตู้กาชาปองที่ขายเฉพาะในท้องถิ่นนั้น ๆ หรือแม้แต่ตัวสินค้าก็มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันในรูปแบบย่อส่วน เช่น ผงซักฟอก และมันฝรั่งทอดกรอบ

นอกจากนี้ เทรนด์ กาชาปองอาร์ตทอย ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดย ไดสุเกะ โมริคุนิ ผู้อำนวยการแผนกของเล่นกาชาปองของ Yell Co. เล่าว่า แม้ว่ากาชาปองที่ทำจากตัวละครอนิเมะจะทำกำไรได้ดี แต่การขายในต่างประเทศนั้นจะยุ่งยากในเรื่องของลิขสิทธิ์ ดังนั้น พวกสินค้าอาร์ตทอยที่มีความน่ารัก และเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศได้ง่ายกว่า ซึ่งปัจจุบันรายได้จากต่างประเทศของบริษัท Yell คิดเป็น 10% ของยอดขายบริษัท

ปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดหลายรายมุ่งเป้าไปที่ การขยายกิจการไปยังต่างประเทศ เพราะแม้ว่าตลาดญี่ปุ่นจะยังเติบโตได้แต่ว่า พื้นที่เริ่มเป็นข้อจำกัด ในการขยายตู้กาชาปอง โดยบางบริษัทกำลังสนใจขยายไปในตลาด ตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นตลาดที่ตอบรับต่อสินค้าญี่ปุ่น อีกทั้งใน ซาอุดีอาระเบียยังมีแผนจะจัดสวนสนุกธีม ดราก้อนบอล (Dragonball) แห่งแรกของโลก

เราอาจยังมีช่องว่างในตลาดญี่ปุ่นอีกประมาณ 2 ปี เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการตั้งตู้กาชาปอง ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับการเปิดในศูนย์การค้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่กาชาปองยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใหญ่ก็คือ มันเป็นของเล่นราคาถูกที่สามารถมอบความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ และความสนุกสนานให้กับผู้คน” ไดสุเกะ โมริคุนิ ทิ้งท้าย

Source

]]>
1481445
คุยกับ ‘ไมค์ ศรีภูมิ’ กับการปลุกปั้น ‘TOYLAXY’ อาร์ตทอยสัญชาติไทยลงบู๊ในสังเวียนโลก! https://positioningmag.com/1480294 Fri, 28 Jun 2024 10:14:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480294 ในวันที่กระแส อาร์ตทอย กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแบบสุด ๆ จากการมาของ POP MART แบรนด์อาร์ตทอยจากจีน แต่ในไทยเองก็มีแบรนด์อาร์ตทอยสัญชาติไทยแท้ ที่ถือกำเนิดโดย ไมค์ ศรีภูมิ ทินมณี ที่รู้ตัวตั้งแต่วันแรกแล้วว่าถ้าอยากอยู่รอด ต้องสู้บนสังเวียนตลาดโลกเท่านั้น!

ต้องยืนด้วยขาตัวเอง เพราะไฟท์บังคับ

หลายคนน่าจะเคยเห็นฟิกเกอร์ Marvel, Black Pink หรือคาแรกเตอร์สุดปั่นของคนไทยอย่าง PASULOL ตามห้างสรรพสินค้า หรือในช่องทางออนไลน์ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก TOYLAXY Unique Handcraft Studio ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานฟิกเกอร์เหล่านี้

โดย ไมค์ ศรีภูมิ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ TOYLAXY ว่า ตอนแรกบริษัทเราทำธุรกิจ นำเข้าส่งออกของเล่น โดยเฉพาะของเล่นในฝั่งอเมริกาที่ยังไม่มีใครนำเข้า แต่พอเริ่มขายดี ก็มีบริษัทที่ใหญ่กว่าติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ตรงจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจเดิมได้ต่อไป

“จำนวนที่เขาเทคมันสูงมาก ตอนนั้นผมไม่ได้มีเงินทุนขนาดนั้น ผมเลยตัดสินใจว่าจะต้องทำแบรนด์ของตัวเอง” ไมค์ ย้อนความหลัง

ด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในวงการของเล่นมาสักระยะ ทำให้ ไมค์ ได้เรียนรู้กระบวนการผลิต การออกแบบของเล่น และเห็นว่าของเล่นหลายชิ้นมี ศิลปินไทยอยู่เบื้องหลัง ไมค์จึงรวบรวมคนเหล่านั้นให้มาร่วมกับพัฒนาโปรดักส์ของตัวเอง โดยตอนนั้น ไมค์ยอม เทหมดหน้าตัก เพื่อสร้างแบรนด์

“ตอนนั้นผมยอมขายรถ เอาบ้านเข้าธนาคาร ทำแผนธุรกิจเพื่อเสนอภาครัฐ เพื่อหาเงินทุน ตอนนั้นผมเดิมพันหมดกับ TOYLAXY เลย เพราะเรามองว่า คนไทยเก่ง ๆ เยอะมากในวงการ แต่ยังขาดเงินทุน การตลาด และแบรนด์ดิ้ง ถ้าใส่ตรงนี้เข้าไปได้มันก็มีสิทธิ์จะโตได้”

ปัจจุบัน TOYLAXY มีสินค้าทั้งฟิกเกอร์ ครีเอทีฟเมอร์ชานไดซ์ และการ์ดเกม รวมถึงรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ให้กับแบรนด์ ศิลปิน และคนดัง อาทิ เฌอปรางค์ BNK48, วง Black Pink และ PASULOL

ของจะขายได้ กระแส สำคัญที่สุด

คาแรกเตอร์แรกที่ TOYLAXY ทำออกมาก็คือ Unleash The Beast สามารถขายได้ 200 ตัวทั่วโลก แม้ว่าจะมีราคาสูงถึง 7,000 บาท ก็ตาม ทำให้ไมค์เริ่มมองว่าไปได้ต่อ และเริ่มหาคาแรกเตอร์ที่ขายได้ทั้งคนไทยและต่างชาติ ทำให้ฟิกเกอร์ชิ้นต่อมาคือคาแรกเตอร์ของ บัวขาว บัญชาเมฆ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์กลับไม่ดีเท่าที่หวัง โดยขายได้เพียง 500 ตัว จากเป้าหมาย 5,000 ตัว

“ตอนแรกเราคิดคาแรกเตอร์เองแล้วมันพอไปได้ เราเลยคิดว่าต่อไปต้องหาคาแรกเตอร์ที่เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เราเลยไปขอลิขสิทธิ์พี่บัวขาว ที่โด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผู้ติดตามหลักล้าน แต่กลายเป็นว่า 90% ของยอดขายมาจากไทย”

จากจุดเปลี่ยนดังกล่าว ทำให้ไมค์เรียนรู้ว่า กระแส คือสิ่งสำคัญมาก เพราะต่อให้คาแรกเตอร์เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าไม่อยู่ในกระแส ก็จะขายได้แค่กับแฟนพันธุ์แท้ ทำให้จากนั้น ไมค์จึงทุ่มเงินขอ License Marvel ซึ่งกลายเป็นชุดฟิกเกอร์ที่ขายดีที่สุดของบริษัท หลังจากนั้นบริษัทก็ซื้อ License คาแรกเตอร์หรือศิลปินที่มีศักยภาพในการทำเป็นสินค้า

ปั้น IP ตัวเอง เพื่อโตอย่างยั่งยืน

หลังจากโยนหินถามทางมา 2-3 ปี ไมค์มองว่าถึงเวลาที่จะต้องปั้น IP (Intellectual property) หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา ของตัวเอง โดยจะเริ่มทำ อนิเมชั่น เพื่อเล่าเรื่องราวของคาแรกเตอร์นั้น ๆ เมื่อ IP แข็งแรง ก็จะสามารถต่อยอดเป็นสินค้าต่าง ๆ หรือแม้แต่ เกม ดังนั้น การสร้าง IP มาให้ได้สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้ TOYLAXY อยู่อย่างยั่งยืน

“เราทำมา 4-5 ปีกว่าจะเริ่มอยู่ตัว และเราใช้เวลาหลายปีกับการทำ License คนอื่น แต่อะไรที่ไม่ใช่ของเรา มันมีความเสี่ยง ถ้าวันหนึ่งศิลปินไม่ทำงานกับเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น มันถึงจุดที่เราต้องทำ IP ของเราเอง เพราะเป้าหมายหลักเราต้องขายของของเรา เราต้องการขายได้ทั่วโลก ตลาดโลกคือสิ่งที่เราเล็งไว้”

อย่างไรก็ตาม การที่ TOYLAXY ต้องมุ่งเป้าไปที่ ตลาดโลก ถือเป็นเป้าหมายที่ถูกบังคับให้ไป แม้ในสายตาคนจะมองว่า TOYLAXY เป็นแบรนด์อาร์ตทอยไทยแบรนด์เดียวในตลาด แต่ตลาดนี้มีแต่ผู้เล่นต่างชาติที่เป็นรายใหญ่ทั้งสิ้น อีกทั้งตลาดไทยยังเป็นเพียงตลาดเล็ก ๆ ดังนั้น ถ้า TOYLAXY จะเติบโตต้องมองที่ตลาดโลกเท่านั้น

“อย่าง POP MART ผลิตสินค้าครั้งละเป็นล้านตัว ดังนั้น เราจะไปแข่งปริมาณหรือราคาไม่ได้ แต่ต้องเน้นที่คุณภาพ ขายจำนวนจำกัด ในราคาที่แฟน ๆ ยอมจ่ายได้”

มองรัฐควรมีมาตรการหนุนอุตสาหกรรม

อุปสรรคสำคัญที่สุดของวงการอาร์ตทอยคือ การคุมคุณภาพ ในประเทศไทยมีโรงงานเพียง 2 แห่งที่สามารถผลิตสินค้าแบบแมสโปรดักชั่นได้ ทำให้จากความตั้งใจที่จะ ผลิตในไทย ไมค์ต้องไปหา โรงงานจีน เพื่อควบคุมคุณภาพและระยะเวลาการผลิต

สิ่งที่ยากที่สุด คือเรื่องของโปรดักส์ชั่นใหญ่ เพราะยิ่งผลิตเยอะ เรายิ่งต้องคุมความผิดพลาดไม่ให้เกิน 1% เพราะที่ผ่านมาเราเคยโดนถล่มเรื่องตำหนิ เรายิ่งต้องคุมให้ได้ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะผลิตทุกอย่างในไทย เพราะคิดว่าจะคุมง่าย แต่กลายเป็นว่าไทยยังไม่สามารถทำอุตสาหกรรมแมสโปรดักส์ชั่นได้ แม้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรเครื่องมือจะเหมือนกัน แต่สกิลต่างกันมาก และถ้าเรายังไม่ปรับตัว เวียดนามแซงเราแน่”

นอกจากเรื่องของคุณภาพแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้การผลิตในจีนได้เปรียบกว่าก็คือ สามารถขายสินค้าในจีนได้เลย นอกจากนี้ ยังมีต้นทุน การส่งออก ที่ถูกกว่าส่งออกจากไทย ทำให้ปัจจุบัน สินค้าของ TOYLAXY ผลิตจากจีนทั้งหมด

“ถ้าเราจะเอาของเข้าจีนมันยาก เพราะรัฐบาลจีนเขาจะคอยบล็อก เพื่อรักษาสิทธิ์ของในประเทศ ต่างจากไทยที่ของเล่น ของก๊อปเข้าไทยเต็มไปหมด ดังนั้น ไทยเราเอามาหมดทุกอย่าง เราไม่มีสกัดกั้นเขาเลย ไม่เหมือนญี่ปุ่นหรือจีน มันอาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ต่อไปเราจะโดนกลืน”

มองกระแสอาร์ตทอยยังไปได้

สำหรับกระแสอาร์ตทอยในไทย ไมค์มองว่า ยังไม่หายไปเร็ว ๆ นี้ ด้วยคาแรกเตอร์ที่น่ารัก ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งด้วยกลยุทธ์ กล่องสุ่ม ยิ่งเพิ่มความตื่นเต้นให้กับนักสะสม และอีกปัจจัยที่ปฎิเสธไม่ได้ก็คือ การรีเซล ที่ยังมีกลุ่มคนซื้อไปเก็งกำไร

“ต้องยอมรับว่าการพนันมันอยู่ในสายเลือดคน ดังนั้น การสุ่มมันก็เป็นความตื่นเต้นอย่างหนึ่ง ทำให้ตลาดมันยังไปได้ ซึ่งเทรนด์อาร์ตทอยมามันก็ดีกับเรา เพราะตอนนี้มีคนติดต่อ OEM เต็มไปหมด”

สำหรับทิศทาง TOYLAXY ในปีนี้ ไมค์มองว่า ต้องการทุ่มเวลาโฟกัสกับการสร้าง IP ของตัวเอง ดังนั้น อาจจะไม่เป็นพาร์ตเนอร์กับศิลปิน แต่จะผลิตสินค้าในฐานะ OEM อย่างเดียว สำหรับใครที่สนใจสินค้าของ TOYLAXY สามารถสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ www.toylaxy.com หรือ Shopee, Lazada, BeTrend Siam Paragon และ King Power เป็นต้น

“ผมก็เหมือนโตไปพร้อมกับบริษัท เพราะทำไปเรียนรู้ไป และพอเรากระโดดมาทำแล้วถึงรู้ว่า ที่คนไทยไม่มีแบรนด์ของเล่นของตัวเอง เพราะมันยาก นำเข้าง่ายกว่าเยอะ แต่ของเรามันทำด้วยแพชชั่น มันต้องคลุกคลี ใช้เวลากับมันตลอด ต้องคิด ต้องบริหาร ผมมองว่าถ้าตายไป ถ้าทำบริษัทแข็งแกร่งได้ก็ถือว่าพอใจแล้ว” ไมค์ ทิ้งท้าย

]]>
1480294
ใครว่าของเล่นเป็นเรื่องของเด็ก! ผลสำรวจชี้ ‘ผู้ใหญ่’ เป็นกลุ่มที่ซื้อ ‘ของเล่น’ มากที่สุดแซงหน้า ‘เด็ก’ https://positioningmag.com/1477273 Mon, 10 Jun 2024 05:59:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1477273 อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักหาก เด็กหนวด หรือ ผู้ใหญ่ จะซื้อของเล่นมากกว่าเด็ก ๆ ในยุคนี้ที่เกิดมาในยุคดิจิทัล และสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นก็คือ การเปิดเผยจาก Circana บริษัทวิจัยตลาดที่แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมของเล่นไม่ได้ขับเคลื่อนโดยเด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ ต่างหาก

ผลสำรวจจากบริษัท Circana พบว่า ในช่วงเดือนมกราคา-เมษายน 2024 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคที่มี อายุ 18 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 55,500 ล้านบาท) ไปกับการ ซื้อของเล่น แซงหน้ากลุ่ม อายุ 3-5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่ครองตลาดของเล่น

เมื่อย้อนไปในปี 2023 ที่ผ่านมา รายงานระบุว่า ผู้ใหญ่มากถึง 43% ซื้อของเล่นให้ตัวเอง โดยเหตุผลหลักคือเพื่อความสนุกสนานส่วนตัว การเข้าสังคม และการสะสม โดย การ์ดเกม ชุดเลโก้ และของเล่นกีฬา เป็นผลิตภัณฑ์ของเล่นที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในปีดังกล่าว

ทั้งนี้ ตลาดของเล่นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ลดลง -1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ถือว่าเติบโตขึ้น +38% เมื่อเทียบกับปี 2019

“หนึ่งในจุดสำคัญที่ทำให้ตลาดของเล่นเติบโตมาจากโควิด เนื่องจากตอนนั้นคนมีเงินและมีเวลาอยู่กับบ้านกับครอบครัว และพวกเขาต้องการเชื่อมต่อกับของเล่นที่ทำให้พวกเขามีความสุขเหมือนเด็ก ๆ อีกครั้ง Juli Lennett รองประธานและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมของเล่นของ Circana กล่าว

ตอนนี้นักสะสมมีหมดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา แอ็กชั่นฟิกเกอร์ รถเหล็ก บอร์ดเกม ชุดตัวต่อเลโก้ การ์ดสะสม ซึ่งกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ซึ่งนั่นทำให้บริษัทผู้ผลิตของเล่นบางรายกำลัง เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่โดยตรง

CNN

]]>
1477273
เล่นของเก่าไปก่อน! ตลาด ‘ของเล่น’ ในสหรัฐฯ ปี 2023 หดตัว 8% เพราะต้องรัดเข็มขัดซื้อแต่ของจำเป็น https://positioningmag.com/1462279 Mon, 12 Feb 2024 03:21:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462279 แม้ว่าในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 และในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ตลาด ของเล่น ก็ยังสามารถเติบโตได้ แต่กลายเป็นว่าในปี 2023 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคเน้นซื้อแต่ของจำเป็นก่อน ทำให้ของเล่นกลายเป็นสิ่งของท้าย ๆ ที่จะจับจ่าย

ตามรายงานจากบริษัทวิจัยตลาด Circana พบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซื้อ ของเล่น น้อยลงตลอดปี 2023 โดยรวมแล้วยอดขายของเล่นในปี 2023 ลดลง 8% ทั้งด้านจำนวนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายค่าของเล่นและจำนวน แม้ว่าในไตรมาสที่ 4 ที่มีเทศกาล คริสต์มาส ซึ่งปกติจะเป็นช่วงที่มียอดขายของเล่นจำนวนมากก็ยัง ลดลง 6% ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลง 2% แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้ซื้อของเล่นน้อยลง แต่ยังซื้อของเล่นที่มี ราคาถูกลง ด้วย

“นี่ชี้ให้เห็นชัดเลยว่าผู้บริโภคเลือกของเล่นราคาถูกลง” Juli Lennett รองประธานและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมของเล่นของ Circana กล่าว

ที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาดหรือปี 2019 อุตสาหกรรมของเล่นยังคงมียอดขายเติบโตขึ้น รวมแล้วมีมูลค่า 5.7 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้น เห็นชัดว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้น ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากหลายครัวเรือนต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ต้องใช้เงินไปกับการซื้อสินค้าและชำระค่าบริการที่จำเป็น ท่ามกลางแรงกดดันด้านการเงิน ส่งผลให้เงินออมของผู้บริโภคหมดลงและหนี้บัตรเครดิตของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

จากผลกระทบดังกล่าว ได้ส่งผลต่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ฮาสโบร (Hasbro) ที่ต้องลดจำนวนพนักงานเกือบ 20% หรือมากกว่า 1,000 คน ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากการซื้อของเล่นที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

Robby Pettinato COO ของ Wild About Music, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Toy Joy เครือร้านขายของเล่นยอดนิยมในเมืองออสติน กล่าวว่า เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มผู้ปกครอง โดยในปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนครอบครัวที่ซื้อของเล่นใหม่ให้ลูก ๆ ของพวกเขาลดลง และสำหรับ ผู้ปกครองที่มีอายุน้อยจะยิ่งระมัดระวังเรื่องงบประมาณมากที่สุดในตอนนี้

“เราให้ความสำคัญกับพ่อแม่ที่มีเด็กเล็กและลูกค้าผู้ใหญ่ที่เป็นนักสะสม ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าจำนวนครอบครัวที่ซื้อของเล่นใหม่ให้ลูก ๆ ของพวกเขาลดลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความต้องการของเล่นกำลังลดลง”

แม้ว่าการซื้อของเล่นของผู้ปกครองจะลดลง แต่ในกลุ่มลูกค้า มิลเลนเนียลและ Gen Z ที่ซื้อของเล่นเพราะต้องการสะสมยังคงใช้จ่าย โดยในปีที่ผ่านมาสินค้าเกี่ยวกับ Pokémon, Barbie และ Squishmallows เป็นแบรนด์ที่ขายดีที่สุด

CNN

]]>
1462279
Hasbro’ บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่เตรียม ‘ปลดพนักงาน’ เพิ่มอีก 900 ตำแหน่ง เหตุรายได้หด เพราะผู้บริโภคเน้นซื้อของจำเป็น https://positioningmag.com/1455558 Wed, 13 Dec 2023 12:06:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1455558 ช่วงโควิดระบาด ของเล่น อาจจะเป็นตลาดที่ได้รับอานิสงส์ในด้านบวก เพราะผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่อยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองต้องหาของเล่นชิ้นใหม่ ๆ ให้ลูก ๆ เล่นแก้เหงา แต่พอการระบาดคลี่คลาย สถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติ ของเล่นก็กลายเป็นของฟุ่มเฟือยท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ

ฮาสโบร (Hasbro) เปิดเผยว่า บริษัทจะปลดพนักงานประจำเพิ่มอีก 900 ตําแหน่งทั่วโลก หลังจากที่เคยประกาศไปช่วงเดือนมกราคมว่าจะลดพนักงานลง 15% หรือประมาณ 1,000 ตำแหน่ง เนื่องจากยอดขายที่อ่อนแอลง รวมแล้วบริษัทจะเลิกจ้างงานถึง 1,900 ตำแหน่ง หรือราว 29% ของพนักงานทั้งหมด 

โดยนับตั้งแต่ที่บริษัทเคยประกาศลดพนักงานในช่วงต้นปี ปัจจุบันบริษัทลดจำนวนพนักงานไปแล้วประมาณ 800 ตำแหน่ง จากจำนวนพนักงานทั้งหมดราว 6,490 คนทั่วโลก (ตัวเลข ณ สิ้นปี 2022) และจากข่าวการลดคนอีกระลอกของบริษัท ทำให้หุ้นของบริษัทลดลงประมาณ 6%

ทั้งนี้ ฮาสโบรคาดว่า การลดจำนวนพนักงานคาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุน run-rate ประจําปีขั้นต้นได้ประมาณ 350-400 ล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 250-300 ล้านดอลลาร์

“กระแสลมแรงในตลาดมันรุนแรงและต่อเนื่องมากกว่าที่วางแผนไว้ ผู้บริโภคทั่วโลกพยายามดิ้นรนเพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทําให้พวกเขาต้องลดการใช้จ่ายตามดุลยพินิจรวมถึงของเล่นและให้ความสําคัญกับการซื้อสิ่งจําเป็นมากขึ้น และแนวโน้มจะยังคงอยู่ถึงปี 2024” คริส ค็อกส์ ซีอีโอ ฮาสโบร กล่าว

ไม่ใช่แค่ฮาสโบร แต่บริษัทของเล่นคู่แข่งอย่าง Mattel ผู้ผลิต ตุ๊กตาบาร์บี้ ก็ออกมาเพื่อเตือนถึงช่วงเทศกาลวันหยุดที่อ่อนแอ และบ่งชี้ว่าผู้บริโภคกําลังประหยัด 

Source

]]>
1455558
‘LEGO’ ล้มแผนผลิตตัวต่อจาก ‘พลาสติกรีไซเคิล’ หลังพบกระบวนการผลิตก่อให้เกิด ‘มลพิษ’ มากกว่าการผลิตแบบเดิม https://positioningmag.com/1445599 Tue, 26 Sep 2023 07:18:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1445599 หลังจาก เลโก้ (LEGO) ใช้เวลาหลายปีในการทดสอบผลิตตัวต่อจาก โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) หรือ พลาสติกรีไซเคิล ล่าสุด บริษัทพบว่า กระบวนการดังกล่าวกลับก่อให้เกิดมลพิษมากกว่าการผลิตแบบดั้งเดิม

โดยปกติแล้ว เลโก้ ได้ผลิตชิ้นส่วนตัวต่อจาก อะคริโลไนไตรล์ บิวทาไดอีน สไตรีน (ABS) หรือที่เรียกว่าพลาสติกเอบีเอส ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตของเล่นส่วนใหญ่ของโลกนี่ แต่เพื่อจะลดการก่อให้เกิดลมพิษต่อโลก ทำให้เลโก้ได้ทดลองผลิตตัวต่อจาก โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) หรือ พลาสติกรีไซเคิลจากขวดพลาสติก

อย่างไรก็ตาม จากการทดลองมาหลายปี เลโก้พบว่าการใช้พลาสติก PET นั้นก่อให้เกิดมลพิษมากกว่าการผลิตพลาสติก ABS เนื่องจากบริษัทต้องลงทุนในอุปกรณ์การผลิตใหม่ และขั้นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับกระบวนการผลิตนำไปสู่การก่อมลพิษมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้บริษัทจึงได้ล้มเลิกแผนการใช้พลาสติก PET ในการผลิต แม้ว่าบริษัทจะตั้งเป้าว่าจะผลิตตัวต่อจากวัสดุที่ยั่งยืนภายในปี 2575

“เราได้ตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินการผลิตอิฐจาก PET รีไซเคิลหลังจากการทดสอบมานานกว่า 3 ปี เนื่องจากเราพบว่าวัสดุดังกล่าวไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน”

นอกจากนี้ การทดสอบยังพบว่าพลาสติกรีไซเคิล ไม่ทนทานและปลอดภัยเท่ากับพลาสติก ABS อีกทั้งพลาสติก PET ยังทำให้ตัวต่อหลุดออกจากกันง่ายเกินไป อย่างไรก็ตาม บริษัทจะไม่ลดความพยายามในการผลิตตัวต่อที่ปราศจากการใช้ น้ำมัน และยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการผลิตตัวต่อเลโก้จากวัสดุที่ยั่งยืนภายในปี 2575

ทั้งนี้ PET รีไซเคิลเป็นเพียงหนึ่งใน หลายร้อยวัสดุ ที่บริษัทได้ทดสอบว่าสามารถ ทดแทน ABS ได้ เช่น อี-เมทานอล ที่ผลิตจากคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจน แล้วทำการแยกโมเลกุลของน้ำออกด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทได้ใช้งบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อหาวัสดุทดแทน โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 37% ภายในปี 2575

Source

]]>
1445599
ทำไม “Barbie” ถึงเป็นของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลก? บทเรียน “การตลาด” จากตุ๊กตาที่ปฏิวัติวงการ https://positioningmag.com/1438455 Thu, 20 Jul 2023 10:29:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438455 “Barbie” ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาหน้าสวยตัวหนึ่ง แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่คืออุดมคติที่สะท้อนวิธีคิดทางสังคมต่อการเป็น “ผู้หญิง” นั่นคือแก่นแกนของแบรนด์ที่ทำให้ตุ๊กตาตัวนี้ถือกำเนิด และยังอยู่ยืนยงมามากกว่า 6 ทศวรรษ

ตุ๊กตา Barbie อยู่คู่กับเด็กผู้หญิงทั่วโลกมาอย่างยาวนาน แม้การละเล่นของเด็กจะเริ่มเปลี่ยนไปสู่ของเล่นที่มี ‘หน้าจอ’ กันมากขึ้น แต่ Barbie ภายใต้บริษัท Mattel ก็ยังทำรายได้ปี 2022 ไปได้ถึง 1,490 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 50,700 ล้านบาท) และแบรนด์นี้ก็ยังนับเป็นแบรนด์ของเล่นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก มีการปล่อยลิขสิทธิ์ให้บริษัทเสื้อผ้านำไปสร้างคอลเลกชันพิเศษ หรือล่าสุด Barbie จะมีภาพยนตร์ประเภทคนแสดงออกฉายในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้

ทำไม Barbie ถึงครองใจเด็กผู้หญิงได้สำเร็จ? ต้องย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกา

 

สินค้าที่จับกระแส “ความต้องการที่เปลี่ยนไป” ของผู้บริโภค

ในปี 1945 บริษัทผลิตของเล่น Mattel ก่อตั้งขึ้นร่วมกันโดยกลุ่มคน 3 คน คือ Ruth Handler, Elliot Handler และ Harold Matson โดย Elliot กับ Harold นั้นมีหน้าที่ดีไซน์ของเล่นและดูแลการผลิต ขณะที่ Ruth ซึ่งเป็นภรรยาของ Elliot ทำหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด

Mattel เติบโตเรื่อยมาจนเข้าทศวรรษ 1950s ช่วงนั้นเอง Ruth สังเกตว่า Ken ลูกชายของเธอมีของเล่นที่ทำให้เขาจินตนาการตัวตนและอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักดับเพลิง แพทย์ผ่าตัด หรือคาวบอย เด็กผู้ชายจะมีของเล่นที่เติมเต็มความฝันเสมอ

ก่อนจะมี Barbie เด็กผู้หญิงมีแต่ตุ๊กตาเด็กทารกไว้เล่นเป็นแม่ (ภาพจากภาพยนตร์ Barbie 2023)

ขณะที่ Barbara ลูกสาวของเธอจะมีของเล่นก็แต่ “ตุ๊กตาเด็กทารก” ซึ่งใช้เล่นได้อย่างเดียวคือเด็กผู้หญิงจะต้องเล่นเป็น “แม่” หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องหันไปเล่นตุ๊กตากระดาษ และตัดรูปจากนิตยสารมาแปะเพื่อเปลี่ยนชุดให้ตุ๊กตา เธอยังสังเกตเห็นด้วยว่า ทั้งลูกสาวของเธอและกลุ่มเพื่อนของลูกสาวไม่มีใครอยากจะเล่นเลี้ยงเด็กทารกกันเท่าไหร่นัก

ช่วงเดียวกันนั้นเอง ในทศวรรษ 1950s เป็นช่วงที่สังคมอเมริกันเปลี่ยนแปลง เพราะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงต้องออกจากบ้านไปทำงานแทนผู้ชายที่ไปรบในสงคราม ทำให้ผู้หญิงค้นพบว่าตัวเองสามารถทำอาชีพอื่นได้ที่ไม่ใช่แค่แม่บ้านเลี้ยงลูก

เช่นนั้นแล้ว Ruth จึงเกิดไอเดียว่า “เด็กผู้หญิง” ควรจะมีของเล่นที่เปิดจินตนาการเหมือนกับเด็กผู้ชาย สามารถเปลี่ยนชุดได้อิสระ และเป็นอาชีพอะไรก็ตามที่เธอใฝ่ฝัน

 

ของใหม่แหวกกระแสต้องจับจุดทางการตลาดให้โดนเส้น

Ruth มีไอเดียสำหรับตุ๊กตาแบบใหม่นี้ว่า จะเป็นตุ๊กตา 3 มิติที่เลียนแบบรูปร่างหน้าตาของ “ผู้หญิง” สาวสะพรั่ง และสามารถเปลี่ยนชุดได้หลากหลายตามต้องการ

แต่การขายไอเดียของ Ruth ก็ไม่ง่าย เพราะแค่บอกสามีและ Harold ผู้ร่วมก่อตั้งว่าเธอสนใจจะทำตุ๊กตาผู้หญิงที่มี ‘หน้าอก’ ทั้งสองคนต่างก็ส่ายศีรษะว่าขายไม่ได้จริง

หลังจากนั้นเธอได้นำโปรโตไทป์ของตุ๊กตา ‘Barbie’ (ตั้งชื่อตามลูกสาวของเธอ) ไปออกงานนิทรรศการที่ New York Toy Fair ปี 1959 แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะคนในวงการธุรกิจของเล่นส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและมองว่าตุ๊กตาที่มีรูปร่างเหมือนหญิงสาวจริงๆ ไม่เหมาะที่จะให้เด็กเล่น และคิดว่าเด็กผู้หญิงอยากจะเล่นบทบาทเป็น “แม่” เท่านั้น ไม่อยากเป็นอย่างอื่น

Barbie
ตุ๊กตาที่มีหน้าอก รูปร่างเป็นผู้ใหญ่ ไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริหารชายในวงการของเล่นปี 1959 (Photo: Mattel)

อย่างไรก็ตาม Ruth ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เธอยังมีความเชื่อมั่นอยู่ว่าถ้าตุ๊กตาตัวนี้ไปถึงมือเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นผู้บริโภคตัวจริง เด็กจะต้องชอบ เธอจึงลุยดึงตัวนักวิเคราะห์ทางจิตวิทยาชื่อ Dr.Ernest Dichter มาทำการวิจัยทางการตลาดว่าจะสื่อสารอย่างไรให้ผู้บริโภคยอมรับ ด้วยการให้ตุ๊กตา Barbie แก่กลุ่มตัวอย่างไปลองเล่นดู

สุดท้ายแล้วผลการศึกษาทางจิตวิทยาการตลาดบอกเส้นทางเดินต่อให้กับ Ruth สองทาง คือ

1.การตลาดถึง “คุณแม่” ว่าตุ๊กตา Barbie จะช่วยให้เด็กผู้หญิงรู้จักแต่งเนื้อแต่งตัวให้สวยงาม

ประโยคนี้เมื่อมาอ่านในยุค 2020s อาจจะฟังดูน่าขมวดคิ้ว แต่ในทศวรรษ 1950s เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถึงแม้ว่าผู้หญิงจะเริ่มมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น ทำอาชีพได้หลากหลายขึ้น แต่ความสำเร็จในชีวิตผู้หญิงอเมริกันยังถูกตัดสินจาก “การแต่งงาน” กับสามีดีๆ สักคน ทำให้บรรดาแม่ๆ ต้องการให้ลูกสาวของตน “สวย” ดึงดูดใจเพศตรงข้าม

เมื่อยังจำเป็นต้องสื่อสารกับแม่ซึ่งเป็นคนออกเงินซื้ออยู่ Barbie ที่ออกขายจริงครั้งแรกจึงมาใน “ชุดแต่งงาน” เพื่อดึงดูดคุณแม่ก่อน

2.การตลาดถึง “เด็กผู้หญิง” ว่า Barbie คือตัวแทนของผู้หญิงที่ ‘เป็นอะไรก็ได้’

ขณะที่วิสัยทัศน์ที่แท้จริงของ Barbie ถูกสื่อสารถึงเด็กผู้หญิงผ่านโฆษณา ในสมัยนั้นการตลาดของของเล่นมักจะมุ่งเป้าไปที่พ่อแม่ซึ่งเป็นคนออกเงิน แต่ Barbie เปลี่ยนมาสื่อสารโดยตรงกับเด็กๆ ผ่านโฆษณาที่ออกฉายในช่วงการ์ตูนยอดฮิต หรือนำไปติดไว้ในร้านของเล่น

โฆษณาที่ฉายภาพ Barbie เป็นได้ทุกอย่างที่อยากเป็น ไม่ว่าจะนางแบบ ดีไซเนอร์ นักบัลเลต์ นักธุรกิจ คุณครู ไปจนถึงนักบินอวกาศ ทำให้ตุ๊กตา Barbie ฮิตสุดขีดในหมู่เด็กผู้หญิง และพ่อแม่จำเป็นต้องซื้อให้ตามแรงรบเร้า

Barbie เป็นได้ทุกอย่าง รวมถึงนักกีฬาอาชีพ (Photo: Mattel)

ภายในปีแรกที่ออกขาย ตุ๊กตา Barbie ทำยอดขายไปได้ถึง 350,000 ตัว กลายเป็นจุดเปลี่ยนโลกของเล่นเด็กผู้หญิง เพราะความคิดนำกระแสของนักธุรกิจหญิงคนหนึ่งที่เห็นว่า “ผู้หญิงเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ” Barbie จึงเป็นการขายอุดมคติที่แฝงอยู่ในตุ๊กตา คือการให้ความหมายใหม่กับการเกิดมาเป็น “ผู้หญิง”

 

ในเชิงธุรกิจ แหล่งรายได้ที่แท้จริงของ “Barbie” มาจากชุดตุ๊กตา

เมื่อ Barbie เป็นอะไรก็ได้ เธอจึงมีอาชีพมากกว่า 200 อาชีพ และมี “ชุด” ให้เปลี่ยนแบบนับไม่ถ้วน!

กลยุทธ์การขายของ Barbie เป็นกลยุทธ์เดียวกับขาย “มีดโกนหนวด” นั่นคือ ตัวที่โกนหนวดมีอันเดียวก็ได้ แต่ใบมีดต้องเปลี่ยนใหม่เรื่อยๆ

ตุ๊กตา Barbie ก็เช่นกัน ในยุคแรกบริษัท Mattel ขายตัวตุ๊กตาในราคาเพียง 3 เหรียญเพื่อให้เข้าถึงง่ายสำหรับผู้บริโภค จากนั้นออกโปรโมชันซื้อชุดเสื้อผ้าไว้เปลี่ยนให้ Barbie เพิ่มเพียง 1 เหรียญ

แหล่งรายได้เก็บเกี่ยวได้ยาวคือการขาย “ชุด” และสิ่งของส่วนประกอบของตุ๊กตา

แน่นอนว่าชุดตุ๊กตาก็เหมือนชุดของคน เมื่อมีชุดเสื้อผ้าใหม่ออกมาเด็กก็จะเกิดความต้องการ Barbie จึงหล่อเลี้ยงดีมานด์ได้เรื่อยๆ จากการสร้างสรรค์ “อาชีพ” ใหม่ หรือคอลเลกชันชุดแบบใหม่ๆ ไปจนถึงมีสัตว์เลี้ยงหรือรถยนต์ของตัวเองด้วย

 

เกิดจากกระแสหัวก้าวหน้า ก็ต้องก้าวให้ทันกระแส

หลัง Barbie ถือกำเนิด สังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง Barbie เองก็ถูกสังคม ‘ท้าทาย’ มานับครั้งไม่ถ้วน ในฐานะที่เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ในอุดมคติของผู้หญิง และหาก Barbie ไม่ปรับตัว อาจไม่อยู่รอดมาถึงวันนี้

ช่วงแรกที่ Barbie ออกจำหน่าย ตุ๊กตาตัวนี้มีแต่ผู้หญิงผิวขาว ผมบลอนด์หรือน้ำตาลเท่านั้น แต่เมื่อสังคมเริ่มมีประเด็นความไม่เท่าเทียมทางสีผิวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในที่สุด Barbie เลือกที่จะอยู่ข้างกระแสเรียกร้องด้วยการออก Barbie เวอร์ชันหญิงแอฟริกันอเมริกันเป็นครั้งแรกในปี 1980

Barbie หญิงแอฟริกันอเมริกัน เป็นด่านแรกที่บริษัทต้องพิสูจน์ความหัวก้าวหน้า

ยิ่งในช่วงสองทศวรรษหลัง Barbie มีคอลเลกชันใหม่ที่ออกมาเพื่อตอบรับสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2000 ที่ออกเซ็ตตุ๊กตาสอน “ภาษามือ” ต่อมาในปี 2012 มี Barbie เวอร์ชัน “หัวล้าน” เพื่อให้กำลังใจเด็กๆ ที่เป็นโรคมะเร็งและต้องให้คีโมต่อสู้กับโรค

ปี 2016 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Barbie อีกเหมือนกัน จากการออกคอลเลกชันรวม Barbie ที่แตกต่างกันในหลายด้าน ทั้งส่วนสูง สีผิว สีผม และ “รูปร่าง” มีตุ๊กตาสาวอวบเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งทาง Mattel ออกคอลเลกชันนี้มาหลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มานานว่า Barbie สร้างค่านิยมผิดๆ เรื่องรูปร่างของผู้หญิงสวยจะต้องมีหุ่นผอมเพรียวเท่านั้น

Barbie
ในยุคนี้ Barbie จะมีตุ๊กตาหลายรูปร่างให้เลือก เช่น ตัวนี้เป็นรูปร่างอวบ มีสะโพก

เห็นได้ว่า “คุณค่า” หลักของ Barbie ถ้ายังคงคุณค่านั้นไว้ตามสมัยนิยมสำเร็จ ก็จะยังนั่งอยู่ในใจผู้บริโภคได้ตลอดกาล!

ที่มา: Medium, DW, Statista, NY Daily News

อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1438455
เปิดใจผู้จำหน่ายโมเดล ‘ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส’ เพราะ ‘หนัง’ กับ ‘ของเล่น’ คือส่วนผสมที่ขาดกันไม่ได้ กระแสมายอดพุ่ง 100% https://positioningmag.com/1433795 Tue, 13 Jun 2023 01:11:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1433795 หากพูดถึง ของเล่น เชื่อว่าในยุคปัจจุบันไม่ได้มีแค่เด็กที่ซื้อ แต่รวมไปถึง เด็กหนวด ที่หลายคนใช้นิยามถึง ผู้ใหญ่ อย่างเรา ๆ ที่ยังซื้อของเล่นอยู่ เพียงแต่จุดประสงค์อาจแตกต่างไป จากที่เล่นสนุกแบบตอนเด็ก ๆ ก็มาซื้อมาสะสม และหนึ่งในสิ่งที่เกื้อกูลให้ของเล่นยังขายได้ก็เพราะ ภาพยนตร์ และ การ์ตูน นี่แหละที่ทำให้เด็กและนักสะสมหยุดซื้อไม่ได้สักที

จากของเล่นสู่ภาพยนตร์ขายของเล่น

สำหรับภาพยนตร์ที่มีความเกี่ยวพันกับของเล่นแบบสุด ๆ ก็คือ ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส (Transformers) เพราะจุดเริ่มต้นของทรานส์ฟอร์มเมอร์สนั้นมาจาก ของเล่น จากค่ายดังของญี่ปุ่นอย่าง Takara Tomy ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกัน และได้ค่าย ฮาสโบร (Hasbro) นำสินค้าเข้าไปขายในอเมริกา หลังจากนั้น ทรานส์ฟอร์มเมอร์สก็ได้มีการทำการ์ตูนต่าง ๆ ตามมา เพื่อให้ผู้บริโภคผ่านเรื่องราว (Story Telling) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการเชื่อมโยง จดจำแบรนด์ จนตลอด 41 ปีที่ผ่านมา ทรานส์ฟอร์มเมอร์สก็มีทั้งเวอร์ชันการ์ตูน และภาพยนตร์แฟรนไชส์ถึง 7 ภาคเข้าไปเเล้ว

หนังเข้าดันยอดโต 100%

สำหรับของเล่นทรานส์ฟอร์มเมอร์สเป็นลิขสิทธิ์จากค่ายฮาสโบร (ยกเว้นในญี่ปุ่นจะหน่ายโดย takara Tomy) สำหรับประเทศไทย บริษัท แมพ แอคทีฟ ได้กลับมาเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากที่เคยเป็นในปี 2001-2015 เนื่องจากช่วงปี 2016-2022 บริษัทฮาสโบรเลือกที่กลับมาทำตลาดเอง

จนมาปี 2023 แมพ แอคทีฟ ได้ลิขสิทธิ์อีกครั้ง โดยจะทำสัญญากัน 5 ปี สามารถจำหน่ายสินค้าได้ทุกชาแนลทั้งในห้างสรรพสินค้าและออนไลน์ โดยมีสินค้าจากค่าย Marvel เช่น Ironman, Spider-Man รวมถึงสินค้าทรานส์ฟอร์มเมอร์ส

ดีพัก โทมาร์ ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย บริษัท แมพ แอคทีฟ อาดิเพอคาซา จำกัด กล่าวว่า ภาพยนตร์ถือเป็นส่วนสำคัญมากของการขายของเล่น เพราะเมื่อผู้บริโภคได้เสพเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความต้องการ เริ่มมีการเชื่อมโยง ทำให้พอภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เข้าฉายจะช่วยดันให้ยอดขายของเล่นในช่วงนั้น ๆ เติบโตกว่า 100% โดยกระเเสจะเริ่มมีมาช่วง 1-2 สัปดาห์เข้าฉาย และจะเริ่มซาลงหลังภาพยนตร์ลาจอไปเเล้ว

สำหรับการมาของภาพยนตร์ Transformers : Rise Of The Beats ภาคล่าสุด บริษัทก็ได้ทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น เช่น Meet & Greet กับ หุ่นยนต์ ออพติมัส ไพร์ม มีความสูงกว่า 2.5 เมตร และโปรโมชันพิเศษต่าง ๆ เช่น ซื้อสินค้าครบ 1,000 บาท รับฟรี Transformers Griptok มูลค่า 199 บาท 1 ชิ้น เป็นต้น โดยบริษัทคาดว่าจากกระเเสดังกล่าวจะช่วยให้มียอดขายจากสินค้ากลุ่มทรานส์ฟอร์มเมอร์สในช่วงเปิดตัว 3-6 เดือนแรกที่ประมาณ 5-8 ล้านบาท รวมทั้งปีประมาณ 15 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งเเต่ที่แมพ แอคทีฟได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของเล่นฮาสโบร นั้นมีภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่จาก Marvel ฉายประมาณ 3 เรื่อง แต่บริษัทก็ไม่ได้ทำกิจกรรมทางการตลาด โดย ดีพัก รับว่า ที่ไม่ได้ทำการตลาด เป็นเพราะมองว่ายังไม่ใช่ไฮไลต์ และทรานส์ฟอร์มเมอร์สมีความแมสมากกว่า นอกจากนี้ ผู้ปกครองก็เลือกหาของเล่น เสริมพัฒนาการ ให้บุตรหลาน ซึ่งตรงกับสินค้าทรานส์ฟอร์มเมอร์ส 

“หนังเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันเกื้อหนุนกัน เวลามีหนังมันจะทำให้เกิดกระเเส ทำให้ยอดขายพุ่งสูงมาก และพอเริ่มมีกระเเส เราก็มาปรุกกระแสให้มีสีสันมากขึ้น”

2023 ตลาดของเล่นไทยสดใส

สำหรับตลาดของเล่นประเทศไทยปี 2019 ถือเป็นปีที่ดีที่สุด โดยมีมูลค่าราว 5,000 ล้านบาท และมาหดตัวในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ผู้บริโภคไม่ได้ออกจากบ้าน และไม่มีภาพยนตร์เข้าฉาย แต่ในปี 2023 นี้ คาดว่าตลาดน่าจะฟื้นตัวได้ประมาณ 80-90% เมื่อเทียบกับปี 2019 

สำหรับตลาด แอ็คชั่นฟิกเกอร์ คาดว่ามีสัดส่วนประมาณ 10% ของตลาดของเล่น ซึ่งฮาสโบรถือเป็นผู้นำตลาดมีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 50% และในปีนี้ บริษัทคาดว่ายอดขายจะเติบโตขึ้น 20-23% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยเห็นสัญญาณบวกจากนักท่องเที่ยว และพฤติกรรมของผู้ปกครองที่เริ่มซื้อของเล่นที่พัฒนาทักษะมากขึ้น เพื่อไม่ให้ลูกอยู่กับหน้าจอ

เด็กหนวดสำคัญ แต่เด็กยังเป็นกลุ่มหลัก

ดีพัก ยอมรับว่า ผู้ใหญ่ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันตลาด โดยปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 20% ของยอดขาย โดยจุดที่น่าสนใจของกลุ่มผู้ใหญ่คือ ซื้อหนัก เฉลี่ยหลัก พันบาท ขณะที่เด็กจะเฉลี่ยหลักร้อยบาท อย่างไรก็ตาม ดีพัก เชื่อว่า เด็กจะยังเป็นกลุ่มสร้างการเติบโตหลัก แม้ว่าปัจจุบันอัตราการเกิดทั่วโลกจะต่ำลงก็ตาม

“แม้อัตราการเกิดจะลดลง แต่เราเชื่อว่าบริษัทยังอยู่ได้ ถ้าเรายังมีสินค้าใหม่ มีคาแรกเตอร์ใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กก็ยังมีความต้องการซื้อของเล่น”

]]>
1433795