หากคำนวณด้วยอายุ ผู้ชายผิวสีมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตเนื่องจากโรค COVID-19 มากกว่า 4.2 เท่า และผู้หญิงผิวสีมีแนวโน้มมากกว่า 4.3 เท่า เมื่อเทียบกับคนผิวขาวในประเทศ
ตัวเลขล่าสุดถูกเผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งเป็น 1 วันหลังจากสหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิน 30,000 ราย โดยผู้ป่วยทั้งหมด 30,615 รายเสียชีวิตในโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา และชุมชนรอบนอกหลังจากการติดเชื้อ
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าชนกลุ่มน้อยมีความเสี่ยงต่อการติดโรค COVID-19 มากกว่า ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าความแตกต่างในการเสียชีวิตด้วยไวรัสนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสภาวการณ์อื่นๆ
เดวิด แลมมี รัฐมนตรีเงาฝ่ายยุติธรรม เรียกร้องให้สอบสวนจำนวนการเสียชีวิตที่ไม่สมส่วนนี้อย่างเร่งด่วน
เขาทวีตข้อความว่า “เราจำเป็นต้องตรวจสอบสาเหตุของความไม่สมส่วนนี้โดยเร็ว และต้องดำเนินการปกป้องชายหญิงผิวสีจากไวรัส ตลอดจนประชาชนจากทุกภูมิหลัง”
รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวบังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย และกลุ่มชาติพันธุ์ผสม ต่างมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับประชากรผิวขาว ท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19
อัตราการตายที่ปรับฐานอายุชี้ว่าผู้คนจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ยกเว้นผู้หญิงเชื้อสายจีน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากกว่ากลุ่มคนผิวขาว
นักวิเคราะห์จากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่าผู้ชายชาวบังกลาเทศ และปากีสถานมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยเชื้อไวรัสมากกว่าคนผิวขาว 3.6 เท่า โดยมีตัวเลขเทียบเท่ากับผู้หญิงชาวบังกลาเทศและปากีสถานที่ตั้งไว้ที่ 3.4 เท่า
ด้านผู้ชายชาวอินเดียมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่าผู้ชายผิวขาวถึง 2.4 เท่า ในขณะตัวเลขของผู้หญิงชาวอินเดียมากกว่าเล็กน้อย โดยอยู่ที่ 2.7 เท่า
สำหรับคนเชื้อสายจีน ทีมวิเคราะห์พบความเสี่ยงในกลุ่มผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่า 1.9 เท่า ในขณะผู้หญิงอยู่ที่ 1.2 เท่า
สำนักงานสถิติแห่งชาติจำลองผลกระทบของไวรัสในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลแจ้งการตายจนถึงวันที่ 17 เม.ย. รวมกับบันทึกการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2011 นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ระหว่างวันที่ 2 มี.ค. – 10 เม.ย. ในอังกฤษด้วย
หนังสือพิมพ์อีฟนิง สแตนดาร์ดในลอนดอนรายงานว่า ทิม เอลเวล-ซัตตัน (Tim Elwell-Sutton) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของมูลนิธิสุขภาพ ให้ความเห็นว่า “นี่เป็นปัญหาที่ซับซ้อน เรายังไม่รู้สาเหตุแน่ชัดว่าทำไมกลุ่มคนผิวสีและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบจากไวรัสอย่างผิดสัดส่วน แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและการกีดกันทางโครงสร้างในสังคมอังกฤษมีแนวโน้มว่าจะมีบทบาทสำคัญ”
“ข้อมูลในวันนี้แสดงให้เห็นผลกระทบของความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสถานภาพทางท้องถิ่นและสถานะสุขภาพ แต่ถึงกระนั้นหลังจากพิจารณาสิ่งเหล่านี้แล้ว กลุ่มคนผิวสีและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงกว่าอยู่ดี”
“กลุ่มคนผิวสี และชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์บางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าประชากรผิวขาว และอาจมีอาการแย่กว่าหากพวกเขาติดเชื้อไวรัส”
ขณะเดียวกัน โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวว่า “เราตระหนักว่าไวรัสนี้ดูเหมือนจะมีผลกระทบอย่างผิดสัดส่วนต่อผู้คนที่มาจากกลุ่มคนผิวสี เอเชีย และชนกลุ่มน้อย (BAME – Black, Asian, and minority ethnic)”
“เราจำเป็นต้องทราบว่ากลุ่มใดที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เพื่อที่จะสามารถดำเนินการปกป้องพวกเขาและลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดตามขั้นตอนที่ถูกต้อง” โฆษกกล่าว
เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ถูกบันทึกไว้ในใบมรณบัตร สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงใช้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2011 ซึ่งรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่รายงานด้วยตนเอง
สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่ารายงานดังกล่าวชี้ว่าความแตกต่างของความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสภาวการณ์อื่นๆ แต่มีเหตุผลบางประการที่ยังคงไม่สามารถอธิบายได้
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า เมื่อมีการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตัวแปรทางสังคมประชากร และปัจจัยภาวะสุขภาพและทุพพลภาพที่มาจากการประเมินตนเอง ความแตกต่างระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาวก็แคบลง แต่ยังคงมีอยู่
โดยความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 สำหรับผู้ชายและผู้หญิงผิวสีนั้นมากกว่าประชากรผิวขาว 1.9 เท่า ส่วนผู้ชายกลุ่มชาติพันธุ์บังกลาเทศ และปากีสถานมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่าผู้ชายผิวขาวถึง 1.8 เท่า และมีสัดส่วนเป็น 1.6 เท่าสำหรับผู้หญิง
สำนักงานสถิติแห่งชาติยอมรับว่าเนื่องจากการวิเคราะห์ลักษณะของประชากรนั้นเชื่อมโยงกับการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2011 จึงอาจจะไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันในปี 2020 ได้อย่างแม่นยำเต็มที่ ความแตกต่างของความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยไวรัสอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ นอกเหนือจากรูปแบบนี้
ในขณะเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มอาจประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ในที่สาธารณะมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อมากกว่า ตัวอย่างเช่น บุคคลในกลุ่มชาติพันธุ์บังกลาเทศและปากีสถานส่วนใหญ่ทำงานเป็นผู้ประกอบการขนส่งมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่ามีแผนที่จะดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อระบุอาชีพที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
]]>