จิตตะ เวลธ์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 07 May 2023 12:46:18 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สร้างเข็มทิศทางการเงิน เติมเต็มชีวิตมั่งคั่งให้มั่นคง https://positioningmag.com/1429600 Sun, 07 May 2023 04:17:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429600

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันไรก็เข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2566 กันแล้ว สุขภาพการเงินเป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผมอยากชวนให้มาสำรวจกันบ้างว่า ขณะนี้สุขภาพการเงินของคุณแข็งแรงแค่ไหน

ผมไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องการออมเงิน พอร์ตการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือเงินฝากต่างๆ ที่ออกดอกออกผลเติบโตเท่านั้น แต่ผมโฟกัสไปถึง ‘การเงินทั้งหมด’ แบบครบวงจรที่จะตอบโจทย์ ครอบคลุมทั้งการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้กับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีอิสระในระยะยาวหรือรองรับช่วงเวลาหลังเกษียณได้อย่างแท้จริง

ผมเข้าใจครับว่า เส้นทางสู่การสร้างสุขภาพการเงินแข็งแรง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จริงๆ ก็ทำได้ไม่ยากมากครับ ขอเพียงให้คุณเริ่มต้นโดยเร็ว เพราะยิ่งเริ่มต้นทำตั้งแต่อายุน้อยๆ คุณจะมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้เร็วและมากกว่าคนที่เริ่มต้นช้า วันนี้ผมเลยขออาสามาแนะนำแนวทางการวางแผนการเงินในสไตล์จิตตะ (Jitta)

ก่อนอื่น คุณคิดเหมือนผมใช่ไหม ‘คู่แข่งตัวจริง’ ที่มีผลต่อสุขภาพการเงินของคุณ คือ โลกทุนนิยมที่พยายามโน้มน้าวสร้างกิเลสให้ผู้คนใช้เงินเยอะๆ ไปกับการซื้อของโน่นนี่ที่อยากได้ตามแต่ละช่วงวัยที่มีเงินในกระเป๋า

Photo : Shutterstock

เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาตลอด หากเป็นช่วงวัยเด็กของคน Gen Y ขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีรูปแบบการออมเงินให้ในรูปแบบของการฝากเงินกับธนาคารกันแทบทั้งนั้น แต่พอเด็กเหล่านี้เรียนจบหรือเริ่มทำงานใหม่ๆ พอมีรายได้เข้ามา พวกเขาส่วนใหญ่จะหาซื้อสิ่งของที่อยากได้เป็นรางวัลชีวิตก่อนตามโลกทุนนิยมดิจิทัล

ขณะที่สิ่งที่ Jitta อยากให้คุณพยายามทำไม่ว่าจะเป็นทำให้ตัวเองหรือให้คุณลูกๆ คือ แนะนำให้คุณสร้างความสมดุลด้านการเงิน ผมอยากชวนให้มาวางแผนการเงินส่วนบุคคลกันตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยสูงอายุกันเลยครับ เริ่มต้นจากมีเงินน้อยก็จัดแบบน้อยๆ ไปก่อนครับ

วิถีจิตตะ 7 ขั้นตอนอุดรอยรั่ว สร้างสุขภาพการเงินแข็งแรง

มาดูกันว่า การวางแผนการเงินส่วนบุคคล กับ 7 ขั้นตอนง่ายๆ ที่คนโสดทุกคนทำตามได้ เพื่อใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างมีความสุข และถ้าทำไปเรื่อยๆ คุณจะชินและเกิดเป็นวินัยทางการเงินขึ้นมาเองอัตโนมัติครับ

ขั้นตอนแรก จดรายรับ-รายจ่าย เงินเข้าเงินออกต้องรู้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพการเงินที่ดี การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย จะทำให้คุณรู้ว่ามีเงินไหลเข้ากระเป๋าจากทางไหน และไหลออกกับอะไรบ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้มีวิธีจดรายรับ-รายจ่ายเยอะมาก ไม่ว่าจะจดโน้ตง่ายๆ ในมือถือ หรือจะหาแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและฟรีมีให้เลือกเยอะ เพียงหยิบมือถือออกมากดไม่กี่ปุ่มก็เสร็จแล้ว

ที่แปลกแต่จริง ก็คือถ้าคุณจดรายรับ-รายจ่ายติดกันสัก 2-3 เดือนแล้วเอามาทำบัญชีแบบง่ายๆ ในสมุดสักเล่มหรือโปรแกรม Spreadsheet คุณจะเริ่มขยับตัว หาทางทำให้ตัวเองมีเงินเหลือเก็บเองโดยธรรมชาติ ถ้าไม่เชื่อให้ลองทำตามดูครับ ใช้ชีวิตปกติของคุณไป แล้วจดให้หมดว่า จ่ายอะไรไปเท่าไรโดยไม่ต้องรู้สึกผิด อย่าลืมว่าคุณกำลังจัดระเบียบการเงินของตัวเองอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

Photo : Shutterstock

ขั้นตอนที่สอง ตั้งงบประมาณ จัดระเบียบเงิน หลังจากที่คุณจดรายรับ-รายจ่ายมาสักพัก ก็จะเริ่มเห็นว่าในแต่ละเดือนคุณใช้เงินไปกับอะไรบ้าง และถ้าคุณอยากปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้เป็นไปตามที่ต้องการ ต้องทำยังไงบ้าง?

คำตอบคือ การ ‘ตั้งงบประมาณ’ สำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละหมวด เช่น คุณอยากลดค่าใช้จ่ายในการดื่มกาแฟแต่ละเดือนลงจาก 4,000 บาท ให้เหลือ 3,000 บาท คุณอาจตั้งงบค่ากาแฟในเดือนถัดไปให้เหลือ 3,500 บาทก่อนเพื่อไม่ให้ตึงเกินไป แล้วค่อยลดเหลือ 3,000 บาทอีกทีก็ได้ หรือถ้าใครอยากให้รางวัลตัวเองทุกเดือนแบบไม่บานปลาย ก็ตั้งงบประมาณตรงนี้เอาไว้ได้เหมือนกันครับ

เพราะฉะนั้น การตั้งงบประมาณช่วยให้คุณคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นระบบมากขึ้น แต่คุณก็ต้องมี ‘วินัย’ ที่จะไม่ใช่จ่ายเกินงบที่ตัวเองตั้งมาด้วย ขอย้ำว่าข้อนี้สำคัญมากๆ ครับ

ขั้นตอนที่สาม เคลียร์หนี้ระยะสั้น ก่อนพอกหางหมู หลังจากเห็นว่าเงินตัวเองไหลเข้า-ออกไปไหนบ้าง และเริ่มจัดระเบียบการใช้จ่ายได้แล้ว ถึงตอนนี้คุณน่าจะเห็นตัวเลขมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนกันแล้วครับ ซึ่งอาจจะยังไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรดี

ผมแนะนำว่าสิ่งแรกที่คุณควรทำคือการ ‘จ่ายคืนหนี้ระยะสั้น’ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสดที่คิดดอกเบี้ยสูง ซึ่งหนี้เหล่านี้พร้อมจะพอกพูนเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่ทำให้หลายคนติดกับดักจนหาทางออกไม่ได้ ดังนั้น ถ้าสามารถจ่ายคืนหนี้ระยะสั้นได้ ขอให้รีบเคลียร์เป็นอันดับแรกเมื่อมีเงินเหลือครับ

Photo : Shutterstock

ส่วนหนี้สินระยะยาว เช่น ค่างวดผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ที่ต้องจ่ายทุกเดือนและอยู่ในงบรายรับ-รายจ่ายอยู่แล้ว ถ้าสามารถโปะเงินต้นได้ก็ดีครับ แต่ถ้ามีเรื่องสำคัญกว่าที่ต้องใช้เงินก็ไม่เป็นไร อยู่ที่การบริหารเงินของแต่ละคน

ขั้นตอนที่สี่ เงินสำรองฉุกเฉิน มีหรือยัง? หลังจากที่เคลียร์หนี้ระยะสั้นหมดแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการป้องกันความเสี่ยง โดยเงินก้อนแรกที่ทุกคนต้องมีคือ ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ จำนวน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนครับ

สมมติว่าจากที่คุณจดรายรับ-รายจ่ายมา คุณใช้เงินเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท คุณก็ควรมีเงินส่วนนี้อยู่ 6 x 20,000 = 120,000 บาท หรืออย่างน้อยมีสักครึ่งนึงก็ยังดี เพราะเงินก้อนนี้จะถูกใช้ในยามที่ชีวิตเดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน เช่น ถูกให้ออกจากงาน ขาดรายได้กะทันหัน คุณจะยังพอมีเวลาให้ตระเตรียมหัวใจ ตั้งหลักให้ชีวิตอีกครั้ง แต่ห้ามใช้เงินก้อนนี้ไปกับเรื่องอื่นที่ ‘ไม่ฉุกเฉิน’ เด็ดขาดนะครับ

ขั้นตอนที่ห้า ทำแผนการออม พร้อมเกษียณอย่างสำราญ เมื่อคุณมีเงินก้อนนึงเตรียมไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นสำหรับทุกคนแล้ว ก็เริ่มวางแผนใช้ชีวิตเกษียณให้มีความสุขได้แล้วครับ

วิธีคำนวณว่าต้องเก็บเงินเท่าไร ทำได้ง่ายๆ โดยการนำจำนวนเงินที่คุณวางแผนจะใช้ต่อเดือนในยามเกษียณ มาคูณด้วยจำนวนเดือนที่คุณ (คิดว่า) จะมีชีวิตอยู่แบบไม่มีรายได้ เพื่อหาจำนวนเงินที่ต้องเก็บได้เลย สมมติว่าคุณจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี คิดว่าจะอยู่ไปถึงอายุ 80 ปี และน่าจะต้องใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท (ไม่รวมเงินเฟ้อ) เท่ากับว่าคุณต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 30,000 x 240 เดือน (20 ปี) = 7.2 ล้านบาท เงินก้อนนี้ คือเป้าหมายที่คุณต้องเก็บเงินไปให้ถึงเป็นอย่างน้อย เพราะจริงๆ แล้วต้องคิดถึงเรื่องเงินเฟ้ออีก โดยอาจวางแผนเก็บเงินทุกเดือน เดือนละกี่บาทก็ว่าไป เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนี้

Photo : Shutterstock

เห็นจำนวนเงินแล้ว คุณอย่าเพิ่งท้อครับ เพราะจริงๆ แล้วเราเก็บเงินคนเดียวก็ไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าเรามีตัวช่วยที่เรียกว่า ‘การลงทุน’ เพื่อให้เงินช่วยเราทำงาน ซึ่งก็จะมีออกดอกออกผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาได้

ขั้นตอนที่หก เรียนรู้การลงทุน ให้เงินทำงานแทน หลายคนพอเห็นคำว่า ‘การลงทุน’ อาจจะรู้สึกว่ายากจัง แต่ผมอยากบอกว่า เรื่องการลงทุน คุณไม่จำเป็นต้องลงทุนเก่ง ก็สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ปีละ 6-8% ได้ด้วย ‘การลงทุนอิงดัชนี’ หรือจะใช้กลยุทธ์ที่ทำตามง่ายแต่ได้ผลจริง คือ การลงทุนแบบ ‘DCA’ หรือ Dollar-Cost Averaging ซึ่งเป็นส่วนเสริมที่ทำให้พอร์ตกลับมาเติบโตและทำกำไรได้เร็วขึ้นจากการเฉลี่ยต้นทุน การมีวินัยที่ชัดเจนและสม่ำเสมอจะทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงราบรื่นขึ้นได้อย่างแน่นอน

แต่ถ้าคุณไม่เคยรู้จักคำเหล่านี้มาก่อน สิ่งสำคัญ คือ คุณต้อง ‘หาความรู้’ เรื่องการลงทุนเพิ่มเติมด้วยตัวเอง โดยอาจจะเริ่มจากหนังสือด้านการลงทุน อาทิ THE Jitta WAY (วิถีจิตตะเพื่อการลงทุนเน้นคุณค่า) คุณจะรู้หลักการลงทุน การเลือกซื้อหุ้นราคาถูก ธุรกิจมีอนาคต และอีกหลายๆ เรื่อง ที่ติดอาวุธลงทุน หรือหาข้อมูลแหล่งความรู้ฟรีบนอินเทอร์เน็ตที่มีเยอะมาก ยิ่งคุณมีความรู้ในการลงทุนมากขึ้นเท่าไหร่ แผนเกษียณของคุณก็จะยิ่งยืดหยุ่นมากขึ้นตามไปด้วย และไม่แน่ว่าพอศึกษาเรื่องการลงทุนมากขึ้นแล้ว คุณอาจจะมีเงินใช้ตอนเกษียณมากกว่าที่วางแผนไว้ครับ

ขั้นตอนที่เจ็ด การทำประกันภัย ต้องพร้อม หลังจากที่วางแผนเกษียณและการลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องมีต่อไป คือการจัดการความเสี่ยงและการสร้างความมั่งคั่งคู่ขนานกันไปตามความเหมาะสมของชีวิตแต่ละคนแล้วครับ

Photo : Shutterstock

ประกันภัย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยบริหารความเสี่ยงชีวิตทางการเงินครับ เพราะทุกวันนี้ ‘เรื่องสุขภาพ’ ไม่เข้าใครออกใคร แม้เราจะพยายามดูแลสุขภาพออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารถูกหลักโภชนาการ แต่จู่ๆ มีโรคใหม่อุบัติขึ้น อย่างเช่น ‘โควิด-19’ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ยังมีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อยู่ และในอนาคตอาจมีโรคใหม่อื่นๆ อีกก็ได้ ซึ่งเวลาที่คุณเกิดเจ็บป่วยหนักขึ้นมา กรณีไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้ คุณก็ต้องจ่ายเองหมด ไม่มีใครมาช่วงแบ่งเบาภาระได้ ยิ่งทุกวันนี้ค่ารักษาพยาบาลมีแต่แพงขึ้นทุกวัน อาจทำให้ฐานะการเงินที่มีอยู่ของคุณสั่นคลอนและเปราะบางลงในที่สุดก็ได้

การทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตตามความเหมาะสมกับช่วงชีวิตนั้นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องคิดให้ละเอียด เพื่อไม่ให้การเจ็บป่วยมากระทบกับแผนเกษียณที่คุณออกแบบมามากจนเกินไป

Trick คือคุณอาจเทียบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่คุณใช้บริการบ่อยๆ เพื่อดูว่าต้องซื้อความคุ้มครองแค่ไหน หรือดูว่ามีคนที่รอรับรายได้ต่อจากคุณอยู่มากแค่ไหน โดยอาจจะเป็นพี่น้อง พ่อแม่หรือหลานๆ ก็ได้

ที่สำคัญคือเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย เป็นผลประโยชน์ต่อที่ 2 ที่เหล่าคนโสดสายมนุษย์เงินเดือนน่าจะรู้กันดี

จัดระเบียบการเงิน ปูพรมชีวิตมั่นคง มั่งคั่ง อุ่นใจ ถึงวัยเกษียณ

เรื่องเงินคือเรื่องสำคัญของชีวิตทุกคนครับ ถ้าคุณไม่อยากนั่งทนปวดหลังทำงานแต่ละวันไปแบบฟรีๆ ก็จะต้องหันกลับมามองตัวเองและเริ่มจัดระเบียบการเงินให้ตัวเองบ้างแล้ว มาเริ่มสร้างสุขภาพทางการเงินกันครับ

เพียงคุณเริ่มทำ 7 ขั้นตอนนี้ได้ คุณจะอุดรอยรั่วได้และเริ่มมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งผมก็เชื่อว่าทุกคนทำได้ครับ แม้ว่าการวางแผนการเงิน ช่วงแรกๆ หรือระหว่างทาง อาจจะไม่ได้ทำให้คุณร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น แต่อย่างน้อยเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของคุณ ก็จะค่อยๆ ออกดอกออกผลในรูปแบบต่างๆ ตกมาถึงตัวคุณตามระยะเวลาบ้าง ที่สำคัญคุณจะได้มุมมองใหม่ๆ การบริหารจัดการเรื่องการเงิน และเริ่มเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

และหากในอนาคต คุณพบคนที่ใช่ อยากจะสละโสดแล้วมาใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน คุณก็จะมีรากฐานที่แข็งแรงเพื่อสร้างครอบครัวที่มั่นคงได้อีกระดับ เปรียบเสมือนคุณกำลังสร้างเรือที่แข็งแกร่งพร้อมฝ่ามรสุมชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงชีวิตของคุณ

ยิ่งไปกว่านั้น การวางแผนการเงินส่วนบุคคล ยังเป็นรากฐานให้คุณมีสุขภาพการเงินที่มั่นคง มั่งคั่งไปถึงเป้าหมายในชีวิตวัยเกษียณอย่างอุ่นใจ ใช้ชีวิตอิสระสุขเกษมสำราญบั้นปลายชีวิตกับลูกหลานครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอพูดในฐานะตัวแทนของ Jitta ซึ่งให้บริการดูแลลูกค้ามาจนเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว เราก็คงมีเป้าหมายที่อยากเห็นทุกคนมีสุขภาพการเงินแข็งแรงครับ และเราเองก็ต้องการขยายขอบเขตด้านการเงินและการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงได้ มาร่วมกันสร้าง Wealth & Health เติบโตไปด้วยกันนะครับ

]]>
1429600
FinTech VS TechFin ความต่างขั้วที่มาบรรจบกันเพื่อเปลี่ยนโลกการเงิน https://positioningmag.com/1360978 Wed, 10 Nov 2021 05:38:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1360978

นับวันโลกดิจิทัลหมุนเร็วขึ้นมาก หนึ่งในอุตสาหกรรมใหญ่ที่เกิดการดิสรัปชันมากที่สุด ต้องยกให้อุตสาหกรรมทางการเงินโลก

คงจำกันได้ในช่วงหลายปีก่อน ผู้ให้บริการทางการเงิน ‘FinTech’ ได้ก่อให้เกิดดิสรัปชัน หรือการทำลายล้างสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม (Tradition) ที่ยืนต่อคิวยาวๆ เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินหน้าเคาน์เตอร์ผ่านสาขา มาเป็นรูปแบบใหม่ ทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา

แต่รู้หรือไม่ว่า วันนี้ ถึงคิวผู้ให้บริการทางการเงิน FinTech ที่จะถูกดิสรัปต์จากผู้ให้บริการ TechFin นี่คือปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการเงินโลกอีกระลอก

Photo : Shutterstock

ความหมายของคำว่า ‘FinTech’ กับ ‘TechFin’ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เชื่อว่าผู้คนยังมีความสับสนกันมาก ว่าเป็นการเล่นคำสลับกันหรือเปล่า? ซึ่งไม่ใช่ครับ ผมขอฉายภาพการเปลี่ยนผ่านโลกเทคโนโลยีทางการเงินให้ฟังอย่างนี้ครับ

จุดแจ้งเกิด ‘FinTech – TechFin’ ต่างขั้วที่เหมือนกัน

ผู้ให้บริการทางการเงิน FinTech คืออะไร ผมขอย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน กระแสธุรกิจ FinTech เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกทึ่งกับศักยภาพของกลุ่ม ‘สตาร์ตอัป’ ที่มีคนทำงานไม่กี่คน รวมตัวกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาด้วย ‘เงินทุนต่ำ’ แต่พนักงานเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้กับผู้ใช้มากกว่า

จึงเป็นที่มาของการพลิกโฉมรูปแบบให้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ที่ทั่วโลกฮือฮา ไม่ว่าจะเป็นระบบ Mobile Banking ระบบ Digital Banking และก็มีแอปพลิเคชันทางการเงินต่างๆ ตามมาด้วยการเกิดเงินสกุลดิจิทัล เป็นต้น

FinTech พัฒนารูปแบบให้บริการต่างๆ ล้วนตอบโจทย์ที่ใช่แก่ผู้ใช้บริการ ภาษาสตาร์ตอัป เรียกว่า แก้บรรดา Pain Point ให้แก่ผู้ใช้บริการอย่างตรงจุดมากที่สุด โดยภาพรวมคือรวดเร็วกว่า ทำธุรกรรมได้ง่ายกว่า ค่าธรรมเนียมถูกกว่า ทำที่ไหนเวลาใดก็ได้ สะดวกไม่ต้องเดินทาง และที่สำคัญมีความปลอดภัยด้วย

Photo : Shutterstock

ช่วงแรกๆ ของการแจ้งเกิดดาวรุ่ง FinTech แม้จะให้บริการเฉพาะทางหรือบางธุรกรรม เช่น โอนเงิน ชำระบิล แต่ต่อมาได้พัฒนาเพิ่มบริการอื่นๆ จนปัจจุบันสามารถให้บริการสินเชื่อดิจิทัลเปิดประตูให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น และคล่องตัว รวมถึงการเข้าสู่การลงทุนที่มีทางเลือกและสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า สะดวกสบายไม่ต้องยื่นเอกสารมากมาย ผู้คนหันมาใช้บริการ ส่งผลให้ FinTech ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ความสำเร็จของสตาร์ตอัป FinTech จำนวนมากเติบโตเป็น ‘ยูนิคอร์น’ และพาเหรดกันเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั่วโลกด้วย เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ จีน เป็นต้น และเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีผลประกอบการโดดเด่น ราคาหุ้นพุ่งพรวด มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด มีขนาดใกล้เคียงกับสถาบันการเงินรายใหญ่ๆที่เก่าแก่เลยทีเดียว

ชื่อบริษัท FinTech ดังๆ ในอุตสาหกรรมทางการเงิน เช่น ที่สหรัฐฯ จะมี Paypal และ Square ส่วนยุโรป ก็คือ บริษัท Revolut และ N26 หรือในจีน เช่น Lufax และ OneConnect เป็นต้น

ส่วน TechFin คืออะไร มาฟังกันครับ

จริงๆ แล้ว คนไทยก็เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักบริการของบริษัทเหล่านี้มาก่อนแล้ว ที่ดังๆ ก็จะมี WeChat Pay หรือ LINE Pay เพียงแต่เจ้าของผู้ให้บริการเหล่านี้ เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ที่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง พวก Social Network ขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้หลักพันล้านคน และแต่ละคนจะใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มนี้หลายชั่วโมงต่อวัน บริษัทบิ๊กเทคเหล่านี้จึงเห็นเป็นโอกาส ในการต่อยอดสู่ธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงิน ที่เรียกกันว่า TechFin นั่นเอง

และด้วยจุดแข็ง 2 ข้อคือ มีฐานผู้ใช้แพลตฟอร์มจำนวนมากและแต่ละคนใช้เวลาหลายชั่วโมงบนแพลตฟอร์ม จึงทำให้ผู้ให้บริการ TechFin แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว และมียอดผู้ใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดการทำธุรกรรมก็เติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะบรรดาแพลตฟอร์มระดับโลก อาทิ Google Amazon Facebook Apple บริษัทในกลุ่มสัญชาติอเมริกันส่วนสัญชาติจีนจะมี Baidu Alibaba และ Tencent ทางด้านแพลตฟอร์มใหญ่ในไทยก็ต้องยกให้ LINE เป็นต้น

Photo : Shutterstock

หากยกตัวอย่างบริการธุรกรรมการเงินจากบริษัท TechFin ใหญ่ๆ ดังๆ ได้แก่ WeChat Pay จากค่ายอาลีบาบาสัญชาติจีน ซึ่ง WeChat Pay เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ชำระเงินได้ผ่านแอปฯ WeChat โดยตรง หรือ LINE Pay สัญชาติญี่ปุ่น ที่เป็นกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ใช้ชำระเงินผ่านแอปฯ LINE แม้แต่ Google สัญชาติอเมริกัน ก็มี Google Pay เป็นกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับชำระเงินตามร้านค้าต่างๆ เป็นต้น

TechFin จึงมีพลังมหาศาลที่เข้ามาช่วงชิงเค้กจาก FinTech ได้อย่างง่ายดาย แม้จะแจ้งเกิดทีหลัง FinTech ก็ตามที

4 ข้อได้เปรียบของ TechFin มีอะไรบ้าง

หากถามว่า อะไรที่ทำให้ TechFin ติดลมบนได้เร็ว หลักๆ จะมี 4 ข้อได้เปรียบ คือ

อย่างแรก ผู้ใช้บริการ TechFin มีความเคยชินกับการใช้แพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มาก่อนแล้ว เมื่อมีบริการทางการเงิน TechFin เพิ่มขึ้น ก็สามารถยืนยันตัวตนได้ง่ายพร้อมใช้งานต่อได้ทันที ไม่ต้องไปดาวน์โหลดแอปฯ และเริ่มต้นลงทะเบียนใหม่ เช่น WeChat Pay แต่ถ้าเป็นแอปฯ FinTech เช่น Pay Pal ก็จะต้องโหลดแอปฯ และจะต้องเริ่มขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ลงทะเบียนจนจบกระบวนการจึงจะเริ่มใช้งานได้

Photo : Shutterstock

อย่างที่สอง บิ๊กดาต้า รวบรวมจากที่มีผู้คนใช้แพลตฟอร์ม Social Network วันละหลายชั่วโมง ทำให้ TechFin สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และมีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และสามารถสร้าง Engagement กับผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งปัจจุบัน ภาคธุรกิจต่างล้วนต้องการข้อมูลเหล่านี้อย่างมากเพื่อนำมาสร้างประการณ์บริการที่ดีและรู้ใจผู้ใช้มากที่สุด แน่นอนว่า บิ๊กดาต้าของ TechFin ถังใหญ่กว่า FinTech

อย่างที่สาม บริษัทเทคโนโลยีที่ทำธุรกิจ TechFin มีศักยภาพสูง ทั้งคนทำงานจำนวนมากกว่าและมีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ทางด้านระบบเทคโนโลยีขั้นสูง และเงินลงทุนที่เหนือกว่ากลุ่ม FinTech อยู่แล้ว ยิ่งทำให้ TechFin สามารถวางโครงสร้างเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า สร้างระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน พร้อมรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากๆได้

และสุดท้าย TechFin มีพลังในการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ขนาดใหญ่ของแพลตฟอร์ม ทำให้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ของผู้คนจำนวนมาก

Photo : Shutterstock

แม้ว่าวันนี้ TechFin กำลังเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สร้างดิสรัปชันทั้ง FinTech และสถาบันการเงินไม่ว่าแบงก์หรือนอนแบงก์ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ให้บริการทางการเงินที่เผชิญกับการดิสรัปชันเหล่านี้ จะต้องสูญเสียธุรกิจหรือล้มหายตายจากไปจากอุตสาหกรรมทางการเงิน

เพราะผมมองว่า บรรดา ‘สถาบันการเงินแบบดั้งเดิม’ ก็ยังคงมีจุดแข็งในตัวเอง ทั้งจากความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจการเงินและการธนาคารมายาวนาน การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพกว่า ความปลอดภัยในการดำเนินงาน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ล้วนเป็นเกราะความมั่นคงต่อฐานะทางการเงินของแบงก์ ที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าแบงก์ได้ดีกว่า

ที่สำคัญแม้โลกการเงินเปลี่ยนเร็ว แต่สถาบันการเงินต่างๆ ก็เดินหน้าสู้ทุกวิถีทางเพื่อยืนบนโลกดิจิทัล แบงก์กิ้ง ซึ่งมีทั้งการปรับองค์กรแบบดิสรัปต์ตัวเอง การเปิดกว้างใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไล่ล่าสิ่งใหม่ๆ หรือคิดค้นวิธีบริการใหม่ๆ ขึ้นมา ผ่านการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจทั้งบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ตอัป FinTech หรือธนาคารอื่นๆ พร้อมเปลี่ยนสถานะจากคู่แข่ง มาเป็นคู่มิตร เพื่อเกม Win Win ด้วยกัน

ยกตัวอย่างธนาคารในไทยที่เพิ่งประกาศดิสรัปต์ตัวเอง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการตั้งบริษัทโฮลดิ้งชื่อ เอสซีบีเอกซ์ (SCBX) เพื่อลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และมีบริษัทย่อยๆ กว่า 20 แห่งที่แตกหน่อพร้อมให้บริการเชื่อมต่อธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงิน

และล่าสุด SCB Securities ได้เข้าไปลงทุนใน ‘บิทคับ ออนไลน์’ (Bitkub Online Co., Ltd.) ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับกลุ่ม SCBX ที่สามารถเติบโตในระยะยาวไปกับโลกใหม่ได้

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย คงชูบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) และ ธนาคารกรุงไทย ที่ตั้ง Krungthai Innovation Lab หรือศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายก้าวสู่ “ธนาคารในอากาศ” จะเห็นว่า แม้แต่แบงก์ไทยก็มองหาโอกาสทางธุรกิจทางการเงินใหม่ๆ เช่นเดียวกับตลาดโลก

ขณะเดียวกัน สนามธุรกิจ FinTech และ TechFin แม้จะต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น แต่เป้าหมายของทุกบริษัท ก็ล้วนต้องการเพิ่มทางเลือกบริการทางการเงินให้ลูกค้ามาใช้ ซึ่งฐานผู้ใช้บริการมีความหลากหลายของกลุ่มย่อย (Segment) แต่ละ Segment จะมีพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ และความต้องการที่แตกต่างกัน เมื่อดูตัวเลขประชากรทั่วโลกที่มีจำนวนกว่า 7.7 พันล้านคน ทุกคนย่อมต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงินอยู่แล้ว และส่งผลดีต่อภาพการเติบโตทางด้านธุรกิจโดยรวม

Photo : Shutterstock

ยิ่งไปกว่านั้น ในด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ก็จะมีทางเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพในกลุ่มเมกะเทรนด์ FinTech และเทคโนโลยี ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อการเติบโตแบบยั่งยืนในระยะยาว สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้แก่นักลงทุน

จะเห็นได้จาก ผลตอบแทนของกองทุนส่วนบุคคล Thematic ธีมเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ของ บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินจากทั่วโลก อย่าง PayPal และ Sqaure ผ่านกองทุน Global X FinTech ETF ครอบคลุม 33 หุ้นในกลุ่มธุรกิจ อาทิ ประกัน ลงทุนระดมทุน สินเชื่อที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินอย่าง เช่น Blockchain Cryptocurrency และการบริหารความมั่งคั่งแบบอัตโนมัติ (Automated Wealth Management) ให้ผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมา 41.47% และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) 10.06% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 64)

หรือธีมเทคโนโลยี (Technology) ลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมในวงกว้าง โดย Jitta Wealth ลงทุนผ่านกองทุน iShares Exponential Technologies ETF ที่ครอบคลุมบริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Alphabet (Google) Apple Amazon และ Tencent ซึ่งขยายธุรกิจไปยัง TechFin โดยธีมนี้ให้ผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมา 37.26% และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) 14.21% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 64)

ส่วนตัวผมยังมองเห็นภาพเมกะเทรนด์ของ FinTech และ Technology ว่า เป็นถนนสายยาวๆ จากโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ผูกกับบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งคาดได้ยากว่าจะสิ้นสุดอย่างไร

เพราะฉะนั้น เมื่อตลาดผู้ใช้บริการมีจำนวนมหาศาล ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นแบงก์ หรือธุรกิจอื่นๆ FinTech และ TechFin ต่างก็ย่อมปักหมุด หมายให้บริการลูกค้าแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว เพราะตราบใดที่พวกเขามีศักยภาพในการดึงพลังเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัด มาพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเติมเต็มบริการที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าให้แก่ผู้ใช้บริการแล้ว แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่จะได้กลับมา คือ พวกเขาจะสามารถชิงเค้กก้อนใหญ่ยืนหยัดบนตลาดเทคโนโลยีการเงินได้ สร้างความความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ หนุนการเติบโตในระยะยาวได้อย่างแน่นอน

]]>
1360978
รับมือตลาดการเงินโลกผันผวน ลงทุนเมกะเทรนด์อย่างไรให้พอร์ตปัง https://positioningmag.com/1355465 Sun, 10 Oct 2021 07:53:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355465

เริ่มเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กันแล้ว บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกตลอด 9 เดือน ตกอยู่ในความผันผวนสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด COVID-19 ที่ไม่คลี่คลาย และประเด็นข้อถกเถียงจาก 2 ขั้วมหาอำนาจโลก สหรัฐฯ กับจีน ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำเอาทั้งนักลงทุนทั่วโลกต่างหวาดหวั่นไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว กลัวจะเกิด Big Shock จนอยากร้องขอตัวช่วย จะทำอย่างไรให้พอร์ตลงทุนที่มีอยู่แข็งแกร่งและรอดได้

ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกเผชิญกับประเด็นร้อนที่ถาโถมเข้ามา ผมขอกล่าวถึงฝั่งโลกตะวันตกก่อนครับ

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่าสุดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 0-0.25% และวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) คงไว้ระดับเดิม 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

แต่ Fed มีแนวโน้มจะเริ่มลดวงเงินซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการ QE หรือ QE Tapering ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะสิ้นสุดในกลางปี 2565

Photo : Shutterstock

สิ่งที่อยู่เหนือคาดการณ์ของตลาด คือ ถ้อยแถลงหลังประชุม FOMC สะท้อนมุมมองเจ้าหน้าที่ Fed บางส่วนใน 18 รายว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 เร็วกว่าครั้งก่อนที่ประเมินว่า จะเริ่มปี 2566 ภายใต้ตัวแปรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ จะมีความต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางที่ดี

Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.2% ในปี 2564 และ 2.2% ในปี 2565 ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน) ขยับขึ้นมาที่ 3.7% และ 2.3% ตามลำดับ จากตัวเลขประมาณการใหม่ จะเห็นว่า ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับสูงไล่ตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นสัญญาณบ่งชี้ Fed จำเป็นต้องดูแลโจทย์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ผ่านการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั่นเอง

ฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงเตรียมถอนนโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Pandemic Emergency Purchase Programe (PEPP) จากวงเงิน 80,000 ล้านยูโร ในอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือช่วงปลายปีนี้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0%

เพราะฉะนั้น ในช่วงปลายปี 2564 สภาพคล่องทางการเงินของโลกจะเริ่มตึงตัวขึ้น จากการทำ QE Tapering ของฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งยุโรป จะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก และการบริหารพอร์ตลงทุนอย่างแน่นอน

Photo : Sutterstock

มากันที่โลกตะวันออก ข่าวช็อกโลกมากสุดในรอบปี 2564 ต้องยกให้จีน มหาอำนาจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประเดิมต้นปี ทางการจีนเข้ามาคุมเข้มการผูกขาดตลาดของธุรกิจเทคโนโลยี ของบิ๊กเทคอย่าง Alibaba, Tencent และ Meituan

ตามมาด้วยธุรกิจ Tech Education การออกกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security Law) และกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law – PIPL) และยังคุมธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น เสริมความงาม และกาสิโน

ล่าสุด ก็มีประเด็นข่าวที่ทำเอานักลงทุนทั่วโลกอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน สะเทือนตลาดหุ้นตลาดเงินดิจิทัล

เมื่อปลายเดือนกันยายน ธนาคารกลางจีนได้ทลายเหมือง Bitcoin ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยประกาศเป็นทางการว่า การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นสกุลใดที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการถือว่า ผิดกฎหมาย

ด้วยเหตุผลว่า สกุลเงินดิจิทัลจะรบกวนต่อระบบการเงินของจีน และเป็นช่องทางฟอกเงินที่นำไปสู่อาชญากรรมทางการเงิน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด

เหตุการณ์ทลายเหมือง Bitcoin เกิดขึ้น ไล่หลังกรณีบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เบอร์ 2 ของจีน อย่าง China Evergrande ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง กำลังเผชิญหนี้สินมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหนี้ของสถาบันการเงินและหนี้หุ้นกู้ของนักลงทุน และแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ และเป็น NPL ในภาคการเงินของจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2% ของ GDP ประเทศเลยทีเดียว

ทั้ง 2 วิกฤตกดดันทั้งตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ดัชนี CSI300 และ HSI ปรับตัวลดลง 3% ผลกระทบส่งถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดแรงเทขายกดดันดัชนี DJIA ลดลง 2.4%

ราคาหุ้นของ China Evergrande นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ปรับตัวลดลงมาเกือบเท่าตัวแล้ว หลังจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักและขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ China Evergrande เหลือ CCC คือ มึความเสี่ยงสูงในการผิดนัดชำระหนี้

นักวิเคราะห์ตีความกันไปว่า หากทางการจีนปล่อยให้ China Evergrande ล้มละลาย จะเกิดวิกฤต Subprime ในฝั่งเอเชีย เทียบกับกรณีสหรัฐฯ เคยปล่อยให้ Lehman Brothers ล้มและตามมาด้วยวิกฤต Subprime เมื่อปี 2551

Photo : Shutterstock

สถานการณ์ล่าสุด ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดสภาพคล่อง 90,000 ล้านหยวนเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินผ่านสัญญากู้ยืมระยะสั้น (Repo) อายุ 7-14 วัน นับเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องที่มีมูลค่าสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง แรงงานและลูกค้าที่วางเงินดาวน์จองซื้อกว่า 1.5 ล้านราย

พร้อมกับออกมาตรการมาดูแลและสั่งทำแผนจัดการปัญหาหนี้ของบริษัท การประสานงานกับผู้ซื้อทรัพย์สินที่มีศักยภาพภายในเดือนกันยายน และข้อเสนอการเจรจากำหนดเวลาการชำระเงินกับธนาคารและเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสูงถึง 29% ของ GDP จีน

แพลตฟอร์มของ Jitta ได้วิเคราะห์หุ้น China Evergrande บริษัทนี้มีงบการเงินที่อ่อนแอหลายด้าน เช่น กำไรลดลง มูลหนี้สูง กระแสเงินสดใช้เวลาหมุนเวียนมากกว่า 1 ปี ธุรกิจขาดการเติบโต และการจ่ายปันผลน้อย

แม้ว่าราคาหุ้นปัจจุบัน จะอยู่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่ก็ไม่ได้แปลว่างบการเงินจะดีเสมอไป และนี่เองที่ทำให้อัลกอริทึมของ Jitta ไม่จัด China Evergrande ติดอันดับสูงของ Jitta Ranking ฮ่องกง

หากถามผมว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังลงทุนในหุ้นได้หรือไม่ แน่นอนครับว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเป็น Big Surprise ที่พร้อมจะปะทุในทุกมุมโลก แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสลงทุน เพียงแต่ควรตั้งหลักก่อน ถึงจะมองให้เห็น

Photo : Shutterstock

ผมมองว่า ตลาดหุ้นในบางประเทศอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่หากดูเป็นธีมธุรกิจ จะพบว่าหลายธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ มีโอกาสเติบโตในระยะยาว ซึ่งธีมเมกะเทรนด์ที่ยังคงมาแรงทำรายได้และกำไรเติบโตได้ดีมาก เช่น คลาวด์ ฟินเทค เทคโนโลยี หรือ AI และหุ่นยนต์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Thematic Investment หรือธีมการลงทุน โดยลงทุนผ่านสินทรัพย์อย่าง ETF (Exchange Traded Fund) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเน้นไปที่ธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ และมองข้ามช็อตที่การเติบโตในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หรือนานกว่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น ธีมการลงทุนใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีเป็น 10 เป็น 100 ธีมให้คุณได้ลงทุน พร้อมกระจายความเสี่ยงใน ETF ไม่ต้องอิงไปกับหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

Photo : Shutterstock

อย่าง Jitta Wealth มีทางเลือกเป็นกองทุนส่วนบุคคล Thematic เช่นเดียวกัน โดยแบ่งเป็น Thematic DIY ที่ให้นักลงทุนเลือกธีมจัดพอร์ตเอง และ Thematic Optimize ที่ให้ AI ของทีมงานพัฒนาขึ้นมา เลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดให้ในช่วงเวลานั้น

หลักการลงทุนที่ดีและยั่งยืน คือ เมื่อคุณเชื่อมั่นในสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ETF ที่ตอบโจทย์ หรือหุ้นที่มีพื้นฐานดี คุณควรหมั่นเพิ่มทุน หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฉลี่ยต้นทุน และทำให้พอร์ตโดยรวมไม่ผันผวนมาก จากการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้ การรีวิวพอร์ตลงทุน เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น รายไตรมาส ถือเป็นการสร้างวินัยการลงทุนที่ดี เพราะงบการเงินของแต่ละบริษัทจะอัปเดตทุกไตรมาส มีทั้งผลกระทบเชิงบวกและลบ เมื่องบการเงินออก ทั้งนี้ Jitta Wealth ได้พัฒนาระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ เพื่อรักษาสัดส่วนพอร์ตลงทุนให้เหมาะสม

เมื่อเราเลือกสินทรัพย์ที่ดี และหมั่นลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ให้ระบบได้ปรับพอร์ตลงทุน ให้เงินได้ทำงานสร้างผลตอบแทนที่ดี อย่างน้อยก็หมดห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้แล้วครับ

]]>
1355465