ช๊อกโกแลต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 09 Feb 2024 07:06:33 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สายช็อกโกแลตปาดน้ำตา! ราคา ‘โกโก้’ พุ่งขึ้น 40% ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 2 แสนบาท/ตัน https://positioningmag.com/1462164 Fri, 09 Feb 2024 05:58:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462164 หากนับตั้งแต่ปี 2022 ราคาของ โกโก้ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึง 47% และในปี 2023 ก็ได้ทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 46 ปี แน่นอนว่าราคาโกโก้ที่สูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตขนมโดยเฉพาะขนมช็อกโกแลตแน่นอน

ล่าสุด ราคาโกโก้ก็พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าพุ่งขึ้นมากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 40% โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ ราคาโกโก้อยู่ที่ 5,874 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน หรือกว่า 200,000 บาท

ปัจจัยที่ทำให้ราคาโกโก้พุ่งสูงเป็นเพราะสภาพอากาศเลวร้ายส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชผลในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของผลผลิตโก้โก้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศ กานาและไอวอรีโคสต์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตถั่วรายใหญ่ที่สุดสองราย

“สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหมายความว่าผลผลิตโกโก้อาจลดลงอย่างถาวรในปีนี้” Humza Hussain นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จาก TD Asset Management กล่าว

Michele Buck ซีอีโอของ Hershey กล่าวว่า กำไรของบริษัทปีนี้คาดว่าจะทรงตัว โดยในช่วงไตรมาส 4/2023 ที่ผ่านมากำไรสุทธิของ Hershey อยู่ที่ 349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเกือบ 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม Buck ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธเมื่อถามถึง การขึ้นราคาในอนาคต 

“ในขณะที่เราเห็นราคาโกโก้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่เราเคยผ่านความผันผวนของตลาดและความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบมาก่อน ดังนั้น เรามั่นใจว่าเรามีมีกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงที่ดี” Buck กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว Mondelez บริษัทผู้ผลิตขนมรายใหญ่ยอมรับว่า ต้นทุนส่วนผสมที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในความท้าทายที่เผชิญในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ราคาโกโก้อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นความท้าทายของบริษัทผู้ผลิตขนม เพราะราคา น้ำตาล ก็พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตที่ตกต่ำเพราะสภาพอากาศ อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ที่จะลดโควตาการส่งออกน้ำตาลลงอีกในฤดูกาลผลิตหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.1 เซนต์ต่อปอนด์ 

Source

]]>
1462164
‘ลอตเต้’ ได้ฤกษ์ส่ง ‘Pop Now’ โลคอลแบรนด์แรกในรอบ 35 ปี บุกตลาดช็อกโกแลต 7,500 ล้าน https://positioningmag.com/1449963 Thu, 02 Nov 2023 06:51:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449963 หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับขนมของ ลอตเต้ (Lotte) ไม่ว่าจะเป็นขนมบิสกิต โคอะลา-มาร์ช หรือหมากฝรั่ง อย่าง ลอตเต้ ไซลิทอล เป็นต้น แต่กลับไม่มีสินค้าให้กลุ่ม ช็อกโกแลต แม้ว่าจะเข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 1988

2 เสาหลักแข่งสูง

เชื่อว่าคนไทยน่าจะมีความผูกพันกับ ลอตเต้ (Lotte) เพราะเป็นแบรนด์ขนมญี่ปุ่นที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 35 ปี โดย 2 กลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทก็คือ กลุ่มบิสกิต ที่มี โคอะลา-มาร์ช เป็นตัวชูโรง และอีกกลุ่มก็คือ หมากฝรั่ง อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 กลุ่มแม้ว่ายังเติบโตได้ แต่การแข่งขันก็สูงมากเช่นกัน โดยข้อมูลจาก นีลเส็น ระบุว่า ในตลาดบิสกิตมีมูลค่า 1.38 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 4.7% แต่แค่สินค้าจากผู้เล่น 3 รายหลัก ก็มีสินค้ารวมกันมากถึง 892 รายการ ขณะที่ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15-20 บาท

ส่วนตลาด ช็อกโกแลต แม้จะมีมูลค่าเพียง 7,500 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าตลาดยิสกิตเกือบครึ่ง แต่ก็มี คู่แข่งน้อยกว่า โดยมีสินค้าในตลาดประมาณ 311 รายการ ส่วนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20-29 บาท แสดงให้เห็นว่าสินค้าสามารถทำราคาได้ดีกว่าหมวดบิสกิต

ป๊อป นาว โลคอลแบรนด์แรกของไทยลอตเต้

แม้จะทำตลาดในไทยมานาน แต่ลอตเต้ก็ไม่เคยมีสินค้าในตลาดช็อกโกแลตเลย ทำให้ในที่สุด ลอตเต้ไทยก็เตรียมบุกตลาดช็อกโกแลตไทยเต็มตัว โดยเตรียมส่ง ป๊อป นาว (Pop Now) ขนมช็อกโกแลตสอดไส้ธัญพืชอบกรอบ ลงประเดิมตลาดในกลุ่ม ครั้นช์ช็อกโกแลต (Crunch Chocolate) และถือเป็นการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในรอบ 10 ปี หลังจากที่เคยเปิดตัวแบรนด์ Toppo เมื่อปี 2013

จริง ๆ แล้ว ลอตเต้ไทยได้ทดลองตลาดตั้งแต่ช่วงโควิด (2021) โดยส่ง Lotte Crunky Chocolate มาลองจำหน่ายในตลาดไทยจำนวน 3 SKU ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ลอตเต้ไทยตัดสินใจพัฒนาป๊อป นาว เพื่อเติมพอร์ตสินค้าในกลุ่มช็อกโกแลต และถือเป็น โลคอลแบรนด์แรกของไทยลอตเต้

“เราเริ่มทำตลาดช็อกโกแลตในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1964 ทำให้เรามีความมั่นใจในประสบการณ์และสูตรว่าสามารถปรับให้เหมาะสมกับผู้บริโภครวมถึงสภาพอากาศของไทย อีกทั้งความซับซ้อนในกระบวนการผลิต ทำให้ผู้เล่นอินเตอร์แบรนด์มีความได้เปรียบกว่าผู้เล่นไทย” ซะดาฟูมิ มัตสุชิตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยลอตเต้ จำกัด กล่าว

ไม่เกี่ยวว่านำเข้าแล้วคนคิดว่าแพง

ซะดาฟูมิ มัตสุชิตะ ย้ำว่า การที่ลอตเต้เลือกที่จะพัฒนาป๊อป นาว เป็นแบรนด์โลคอลแรกเพราะต้องการส่งมอบสินค้าที่ดี ในราคาที่เหมาะสมที่สุดให้ผู้บริโภค ดังนั้น การผลิตในประเทศไทยจะทำให้บริษัทมีความพร้อมหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น รสชาติ ราคาและกำลังการผลิต และแม้จะผลิตในไทย แต่บริษัทมีการนำเข้าเครื่องจักรจากประเทศญี่ปุ่น มีการส่งพนักงานไปอบรมเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญในญี่ปุ่น รวมถึงเชิญบุคคลเหล่านี้มาตั้งแต่วันที่ติดตั้งระบบ และคอยให้คำปรึกษาในการผลิตจริงด้วย

“การผลิตภายในประเทศ เพราะเราอยากจะมอบสินค้าคุณภาพที่ดีที่สุดในราคาที่เหมาะสมที่สุด เพราะนอกจากที่เราจะพัฒนาสูตรให้เหมาะสมกับผู้บริโภคไทย เรายังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อนำมาสู่การตั้งราคาที่เหมาะสม”

อัดงบการตลาดเพิ่ม 32%

เบื้องต้น ลอตเต้อัดงบการตลาดเพิ่ม 32% โดยแผนการตลาดแบ่งเป็น 3 ขั้น เริ่มจากปูพรม สร้างการรับรู้ ผ่านโฆษณาทีวี, สื่อนอกบ้าน (Out of Home) โดยจะเน้นที่ตามขนส่งสาธารณะและบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS เพื่อเจาะ พนักงานออฟฟิศ ตามด้วย แจกขนม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลอง และสุดท้าย โปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังดึง ไบร์ท นรภัทร วิไลพันธุ์ มาเป็น พรีเซ็นเตอร์ เพื่อให้แบรนด์ดูมีความเฟรนลี่มากขึ้น ช่วยชูให้สินค้าโดดเด่น และมองว่าคาแรกเตอร์เหมาะสม เข้าถึงได้ทั้งกลุ่มหญิง-ชาย

“จริง ๆ เราต้องการเจาะผู้บริโภคทุกกลุ่ม แต่พอเริ่มสร้างแบรนด์เราเลยอยากหาจุดโฟกัสก่อน ซึ่งเรามองว่ากลุ่มพนักงานออฟฟิศเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และมักทานช็อกโกแลตเพื่อผ่อนคลายความเครียด เพราะจากการสำรวจพบว่าช็อกโกแลตเป็นขนมที่มักทานเพื่อผ่อนคลาย”

ในส่วนของงบการตลาดปีหน้า (2024) ลอตเต้ได้อัดเพิ่มอีก 11% โดยจะเน้นไปที่การแก้จุดอ่อนของแต่ละสินค้า อย่างโคอะลา-มาร์ชที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ก็จะเน้นไปที่การจัดกิจกรรมให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม หรือท็อปโปก็จะเน้นการทำโปรโมชั่นกระตุ้นการขาย เป็นต้น

มีรสอื่นอีกแน่นอน

ในด้านการจัดจำหน่ายจะเน้นไปที่ร้านร้านสะดวกซื้อเป็นหลักก่อน เพราะจากผลสำรวจพบว่ายอดขาย 60% มาจากร้านสะดวกซื้อ ตามด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต 30% และอื่น ๆ 10% โดยปัจจุบัน ป๊อป นาวได้วางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นครบ 14,053 สาขาแล้ว และกำลังขยายไปที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต และขยายให้ครอบคลุมทุกช่องทางในอนาคต

ทั้งนี้ ซะดาฟูมิ มัตสุชิตะ ย้ำว่า ลอตเต้ต้องการ ทำตลาดไปยาว ๆ ดังนั้น ลอตเต้มีแผนที่จะเพิ่มป๊อป นาวรสชาติอื่น ๆ แน่นอน อาทิ สอดไส้ถั่ว ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยเช่นกัน และเชื่อว่าป๊อป นาวจะกลายมาเป็นเสาหลักใหม่ให้กับลอตเต้ไทยในอนาคต

“ตลาดขนมมีอัตราการเติบโตต่อปีที่สูงขึ้นทั้งกลุ่มสินค้าบิสกิต หมากฝรั่งและช็อกโกแลต ซึ่งเราต้องมองเห็นโอกาสตรงนั้นก่อนลงสนามตลาดช็อกโกแลต และสินค้าช็อกโกแลต เป็นสินค้าที่สนองความต้องการด้านอารมณ์ของผู้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น เชื่อว่ากป๊อป นาวจะเข้ามาช่วยเติมเต็มความรู้สึกให้ผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน”

]]>
1449963
ราคาโกโก้แพงสูงสุดในรอบหลายสิบปี จากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตช็อกโกแลตอย่างหนัก https://positioningmag.com/1446318 Sun, 01 Oct 2023 11:55:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446318 ผลกระทบจากโลกร้อนกำลังทำให้ราคาของโกโก้สูงขึ้น หลังมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตที่เก็บได้ในทวีปแอฟริกาจะมีปริมาณลดลง และยังทำให้ช็อกโกแลตที่ขายตามท้องตลาดมีราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย

ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้ฟาร์มโกโก้ขนาดใหญ่ในแอฟริกา มีผลผลิตที่ต่ำลง โดยปริมาณโกโก้ที่ออกตลาดน้อย ส่งผลทำให้ปริมาณโกโก้ในท้องตลาดขาดตลาดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ขณะเดียวกันผู้ผลิตช็อกโกแลตเองก็เริ่มจะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูง และยอดขายที่ไม่เติบโตมากนักด้วย

ประเทศผู้ผลิตสำคัญก็คือไอวอรี่ โคสต์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตโกโก้รายใหญ่ โดยส่งออกไปทวีปยุโรปมากถึง 68% ของปริมาณที่ผลิตได้ รวมถึง กาน่า ได้ประสบปัญหาฝนตกอย่างหนัก ศัตรูพืชของโกโก้ระบาด หรือแม้แต่โรคพืชที่เกี่ยวข้องกับต้นโกโก้ ส่งผลทำให้ประเทศเหล่านี้มีผลผลิตลดลง

ปัจจุบันไอวอรี่ โคสต์ รวมถึง กาน่า มีปริมาณผลิตโกโก้ส่งออกสู่ท้องตลาดมากถึง 2 ใน 3 ของความต้องการโกโก้ในปัจจุบัน

ไม่เพียงแค่ปัญหาฝนฟ้าอากาศ หรือแม้แต่ปัญหาที่เกี่ยวกับต้นโกโก้ ราคาปุ๋ยเคมีซึ่งมีส่วนช่วยให้ผลผลิตโกโก้เพิ่มก็มีราคาแพงมากขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ว่าราคาโกโก้ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่อาจทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากนัก

บทวิเคราะห์จาก Rabobank กล่าวว่า ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้อาจยังมีต่อไปจนถึงปี 2024 เนื่องจากเหตุการณ์สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงในแอฟริกา และการขาดแคลนผู้ผลิตรายอื่นที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว

ในปี 2022 ที่ผ่านมาราคาของโกโก้เพิ่มขึ้นถึง 47% ขณะเดียวกันทาง Reuters ยังรายงานว่าราคาโกโก้นั้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 46 ปีด้วย สำหรับผู้ผลิตช็อกโกแลตแล้ว ไม่ใช่แค่ราคาโกโก้ที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น วัตถุดิบสำคัญในการผลิตช็อกโกแลตอย่างน้ำตาลก็มีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ราคาของช็อกโกแลตได้เพิ่มขึ้นมา 2 ปีแล้ว สภาวะของผู้บริโภคที่ขาดความเชื่อมั่นทั่วโลกจากปัญหาเงินเฟ้อ เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตช็อกโกแลต เนื่องจากยอดขายหลังจากนี้อาจไม่เติบโต และไม่สามารถที่จะผลักภาระต้นทุนแก่ผู้บริโภคได้หมดหลังจากนี้ และนั่นทำให้กำไรของบริษัทเหล่านี้อาจลดลง

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนั้นทำให้ราคาของโกโก้หรือแม้แต่ช็อกโกแลตจะยังมีราคาแพงต่อไป จนกว่าหลากหลายสถานการณ์จะคลี่คลายลง

ที่มา – Reuters, Bloomberg

]]>
1446318
“เหมาไถ” คอลแลปแบรนด์นอก “Mars” ผลิต “ช็อกโกแลตผสมเหล้า” เจาะคนจีนรุ่นใหม่ https://positioningmag.com/1444275 Thu, 14 Sep 2023 11:47:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1444275 ก่อนหน้านี้ “เหมาไถ” เหล้าจีนชื่อดัง เพิ่งจะทำแคมเปญคอลแลปกับร้านกาแฟ “Luckin Coffee” สัญชาติจีน ล่าสุดเหมาไถมีแคมเปญใหม่อีกแล้ว โดยงานนี้ขอคอลแลปกับแบรนด์นอกอย่าง “Dove” ช็อกโกแลตในเครือ “Mars” บริษัทขนมสัญชาติอเมริกันระดับโลก

แบรนด์ “เหมาไถ” นั้นเป็นแบรนด์สุราไป่จิ๋วจากเมืองกุ้ยโจวที่มีชื่อเสียงมากในจีน นับเป็นสุราที่คนจีนมีติดโต๊ะงานเลี้ยงทุกงานจนถูกเรียกว่าเป็น “เหล้าแห่งชาติ” เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ของเหมาไถจะสูงมาก แต่ถ้ามองในอนาคตอันไกล เหมาไถกำลังเผชิญวิกฤตเพราะฐานตลาดของเหมาไถส่วนใหญ่เป็นชายชาวจีนวัย 40-60 ปี ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจดื่ม

นั่นทำให้เหมาไถต้องหาทางเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองและหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว บริษัทเริ่มคอลแลปกับแบรนด์ผลิตภัณฑ์นม Mengniu ซึ่งเป็นแบรนด์ท้องถิ่นจีน ผลิตไอศกรีมผสมเหล้าออกจำหน่ายในราคากล่องละ 60 หยวน (ประมาณ 300 บาท) ซึ่งก็ทำให้วัยรุ่นจีนเริ่มพูดถึงเหมาไถพอสมควร

ต่อมาปีนี้ เหมาไถประกาศการคอลแลปกับร้านกาแฟยอดฮิตในจีนอย่าง Luckin Coffee เมื่อ 10 วันก่อน แคมเปญนี้เรียกว่า ‘ปังมาก’ เพราะทำให้เกิดกระแสความสนใจมหาศาลในจีน ขณะที่เมนู “ลาเต้ผสมเหล้าเหมาไถ” ซึ่งขายในราคาเพียง 19 หยวน (ประมาณ 95 บาท) ก็ขายเกลี้ยงไปในหลายๆ เมืองด้วย

เหมาไถ
แคมเปญสินค้าร่วมกันของ Luckin Coffee กับเหมาไถ

ล่าสุดวันนี้เหมาไถประกาศผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับช็อกโกแลตแบรนด์ “Dove” ของ Mars, Inc. โดยจะออกสินค้า “ช็อกโกแลตผสมเหล้า” แบบลิมิเต็ด เอดิชั่น เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนนี้

ตั้งแต่เริ่มประกาศสินค้าใหม่ออกไป สินค้าคอลแลปนี้ติดเทรนด์การพูดคุยบนโซเชียลมีเดีย Weibo ของจีนทันที ทั้งที่ยังไม่บอกว่าจะขายราคาเท่าไหร่

อันที่จริงแล้ว แม้แบรนด์เหมาไถจะถูกวัยรุ่นจีนมองว่า ‘แก่’ แต่ด้วยราคาของเหล้ายี่ห้อนี้ที่ค่อนข้างสูง ตกขวดละ 1,499 หยวน (ประมาณ 7,500 ​บาท) ต่อขวดขนาด 500 มล. ก็ทำให้ทุกคนรับรู้ว่านี่คือเหล้าราคาแพงระยับ

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ผสมเหล้าเหมาไถจึงมีมูลค่าในตัวเอง เมื่อมีโอกาสได้ลิ้มรสเหมาไถผ่านสินค้าราคาไม่สูงมากอย่างไอศกรีม กาแฟ หรือช็อกโกแลต ผู้บริโภคจีนจึงสนใจกันมาก และเมื่อคอลแลปกับแบรนด์ที่มีความเป็นคนรุ่นใหม่ เหมาไถจึงอาจจะปรับภาพลักษณ์ของตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา: Reuters

]]>
1444275
ไม่ใช่ช็อกโกแลตสวิตฯ อีกต่อไป! หลัง ‘TOBLERONE’ เตรียมย้ายฐานผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1390213 Mon, 27 Jun 2022 09:56:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1390213 เชื่อว่าหลายคนหากไม่เคยลิ้มลองรสชาติก็ต้องเคยเห็นผ่านตาแน่นอนสำหรับ ทอปเบอโรน’ (TOBLERONE) ช็อกโกแลตสามเหลี่ยมชื่อดังสัญชาติ สวิตเซอร์แลนด์’ ที่วางอยู่แถวเคาน์เตอร์ชำระเงินร้านสะดวกซื้อ แต่ในปี 2023 ทอปเบอโรนจะ ไม่ใช่ช็อกโกแลตสวิตฯ อีกต่อไป

หากพูดถึงช็อกโกแลต ทอปเบอโรน TOBLERONE บางคนอาจจะจำชื่อไม่ได้ แต่ถ้าเห็น โลโก้เป็นรูปภูเขา Matterhorn ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประะเทศสวิตเซอร์แลนด์ และตัวช็อกโกแลตที่เป็นแท่ง สามเหลี่ยม ที่เป็นเอกลักษณ์ ใครเห็นก็จำได้ทันทีด้วยรูปลักษณ์

ปัจจุบัน ทอปเบอโรนมีอายุกว่าร้อยปีไปเเล้ว โดยแบรนด์นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากตระกูล Tobler ซึ่งเริ่มผลิตตั้งเเต่ปี 1908 ในเมืองเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ตั้งเเต่ปี 2023 เป็นต้นไป ทอปเบอโรนจะไม่สามารถระบุข้างบรรจุภัณฑ์ว่า ผลิตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้อีกต่อไป เนื่องจากเจ้าของแบรนด์ในปัจจุบันอย่าง Mondelez International ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของสหรัฐฯ ได้ขยายฐานการผลิตทอปเบอโรนใหม่ในประเทศ สโลวาเกีย ภายในสิ้นปี 2023 เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น

โดยสาเหตุที่แค่เพิ่มฐานการผลิตแต่กลับไม่สามารถระบุว่าผลิตที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ เป็นเพราะกฎหมายของประเทศที่ระบุว่า ช็อกโกแลตที่เป็นช็อกโกแลตสวิตซ์ต้องเป็นช็อกโกแลตที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น” ทำให้เมื่อมีฐานการผลิตนอกประเทศ สถานะการเป็น chocolate switzerland จึงถือว่า สิ้นสุดลง ทำให้ทางแบรนด์อาจต้องใช้คำว่า originated in Switzerland หรือ ต้นตำรับจากสวิตเซอร์แลนด์ แทน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นทำให้คนในสวิตเซอร์แลนด์ไม่แฮปปี้นัก เพราะช็อกโกแลตทอปเบอโรนถือเป็น สัญลักษณ์ประจำชาติ ไปเเล้ว

บริษัทจะยังคงลงทุนในโรงงานที่เบิร์น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของทอปเบอโรนต่อไป เพราะเบิร์นเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ของเรา และจะเป็นเช่นนั้นต่อไปในอนาคต” แถลงการณ์ระบุ

ที่ผ่านมา ช็อกโกแลตทอปเบอโรนมีการผลิตถึง 7,000 ล้านชิ้นในแต่ละปี โดย 97% ถูกส่งออกไปยัง 120 ประเทศทั่วโลก และจากข้อมูลของ Mondelez ระบุว่า ทุก ๆ 2 วิจะมีช็อกโกแลตทอปเบอโรนถูกขายอย่างน้อยหนึ่งแท่ง 

อย่างไรก็ตาม Tobias Schalger ศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ มองว่า การไม่ได้ระบุว่า ทอปเบอโรนเป็นช็อกโกแลตสวิตฯ นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ 

มองว่าการเปลี่ยนเเปลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ หรืออย่างน้อยก็สำหรับลูกค้าปัจจุบัน เพราะคนชอบรสชาติ การเปลี่ยนเเปลงรูปร่าง บรรจุภัณฑ์ และสถานะช็อกโกแลตจากสวิตฯ อาจมีผลกระทบแต่ไม่มากและไม่ยาวนาน”

Source

]]>
1390213