ซับพลายเชน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 19 Dec 2023 14:01:43 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘Maersk’ บริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่จำใจเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ หลังบริเวณ ‘ทะเลแดง’ โดนโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธ https://positioningmag.com/1456480 Tue, 19 Dec 2023 14:01:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1456480 กลายเป็นปัญหาระดับโลกเมื่อบริเวณ ทะเลแดง และ อ่าวเอเดน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงหลักระหว่างเอเชียและยุโรปผ่านทางคลองสุเอซของอียิปต์ ได้ถูกโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธ Houthi จากเยเมน ทำให้บริษัทขนส่งหลายรายต้องจำใจเปลี่ยนเส้นทาง

หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ของเดนมาร์ก Maersk (เมอส์ก) ได้หยุดการเดินเรือในพื้นที่ทะเลแดง เนื่องจากการโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธ Houthi จากเยเมน ล่าสุด Maersk ยืนยันว่า เรือของบริษัทที่มีกำหนดผ่านทะเลแดงและอ่าวเอเดนจะใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮปรอบ ๆ ทางใต้ของแอฟริกาแทน

โดยเรือทั้งหมดกำลังจะเปลี่ยนเส้นทางเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งปัจจุบันเรือของ Maersk มีเรือประมาณ 20 ลำหยุดระหว่างทาง ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ทางตะวันออกของอ่าวเอเดน ส่วนที่เหลือตั้งอยู่ทางใต้ของคลองสุเอซในทะเลแดง หรือทางเหนือของคลองสุเอซในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

“การโจมตีที่เราพบเห็นบนเรือพาณิชย์ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกใจและเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของลูกเรือ” Maersk กล่าว

Maersk ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเดินเรือที่สำคัญของโลก เพราะบริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางทะเลคิดเป็นประมาณ 15% ของโลกเลยทีเดียว ขณะที่ทะเลแดงเองก็ถือเป็นจุดเชื่อมโยงหลักระหว่างเอเชียและยุโรปผ่านทางคลองสุเอซของอียิปต์ โดยประมาณ 30% ของการค้าตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกผ่านคลองสุเอซ

ไม่ใช่แค่ Maersk แต่ Hapag-Lloyd บริษัทเดินเรือจากเยอรมนี ก็ออกมาประกาศว่าเรือของตนจะใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮปที่ยาวกว่า โดยอ้างถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเช่นกัน และเนื่องจากการโจมตีที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า ได้ตกลงกับชาติพันธมิตร รวมถึงอังกฤษ แคนาดา และฝรั่งเศส เพื่อสร้างกองเรือเฉพาะกิจมาคุ้มครองเรืออื่น ๆ ที่อาจถูกโจมตีในพื้นที่ดังกล่าว

Source

]]>
1456480
‘Apple’ เพิ่มซัพพลายเออร์จีนผลิต ‘iPhone 13’ คาดถึงม.ค. 65 ผลิตได้ 95 ล้านเครื่อง https://positioningmag.com/1345170 Wed, 04 Aug 2021 07:46:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1345170 มีข่าวหลุดออกมาเนือง ๆ สำหรับ ‘iPhone 13’ ของ ‘Apple’ ซึ่งทางบริษัทเองกำลังจะเร่งผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยล่าสุดได้เพิ่มผู้ประกอบและผู้ผลิตชิ้นส่วนของจีน แม้ว่าทางสหรัฐฯ และจีนยังคงมีความตึงเครียดทางเทคโนโลยีก็ตาม

มีการคาดการณ์ว่า Apple มีกำหนดจะผลิต iPhone 13 ระหว่าง 90-95 ล้านเครื่อง จนถึงเดือนมกราคม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ล่าสุด Nikkei Asia มีรายงานว่าสำนักงาน Apple ในเซี่ยงไฮ้ได้เพิ่มซัพพลายเออร์จีนเข้ามามีบทบาทในซัพพลายเชนของ iPhone รุ่นล่าสุด โดย Apple ได้เพิ่ม ‘Luxshare Precision Industry’ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนในการผลิต iPhone 13 คิดเป็นสัดส่วน 3% โดยบริษัทดังกล่าวสามารถเอาชนะคู่แข่งชาวไต้หวันอย่าง Foxconn และ Pegatron

อย่างไรก็ตาม ผู้มาใหม่ในซัพพลายเชนของ Apple มักจะเริ่มผลิต iPhone รุ่นเก่า แต่ Luxshare จะเริ่มผลิต iPhone 13 Pro ในเดือนนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของบริษัท เพราะที่ผ่านมาไม่เคยผลิต iPhone ด้วยตัวเองมาก่อน โดยปีที่แล้ว Luxshare ได้ซื้อบริษัท 2 แห่ง ได้แก่ Cowell ผู้ผลิตโมดูลกล้องของเกาหลีใต้ และผู้ผลิตกรอบโลหะ Casetek ของไต้หวัน และทั้ง 2 บริษัทจะเป็นผู้จัดหาส่วนประกอบและชิ้นส่วนหลักสำหรับ iPhone รุ่นใหม่ในปีนี้ด้วยเช่นกัน

“แม้ว่า Luxshare จะผลิต iPhone ได้เพียงเล็กน้อยในปีนี้ แต่เราไม่สามารถละเลยได้ ถ้าเราไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ช้าก็เร็วพวกเขาจะเป็นแหล่งสำคัญ” ผู้บริหารระดับสูงของซัพพลายเออร์ iPhone รายหนึ่งกล่าว

Apple มีซัพพลายเชนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ ซับซ้อนที่สุดในโลก โดยจำหน่าย iPhone ราว 200 ล้านเครื่อง MacBook 20 ล้านเครื่อง และ AirPods หลายสิบล้านเครื่องต่อปี ซึ่ง Apple มีมาตรฐานการผลิตที่สูง ดังนั้น บริษัทใดก็ตามที่อยู่ในซัพพลายเชนของ Apple จะถือว่าเป็นหนึ่งใน บริษัทที่ดีที่สุดในสายงานของตน

Photo : รอยเตอร์

ไม่ใช่แค่ Luxshare แต่บริษัท Sunny Optical Technology ผู้ผลิตเลนส์กล้องสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของจีนก็ได้เข้าสู่ซัพพลายเชนของ iPhone เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยที่ผ่านมา Sunny Optical เป็นซัพพลายเออร์หลักของ Xiaomi, Huawei, Oppo และ Vivo ของจีน

Sunny Optical ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของ Largan Precision ของไต้หวัน ผู้ผลิตเลนส์สมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมชั้นนำและผู้จำหน่าย iPhone มาอย่างยาวนาน รายรับของ Sunny Optical เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2559 ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 4 เท่า

นอกจากนี้ยังมีบริษัทจีนอื่น ๆ อีกหลายแห่งปรากฏในรายชื่อซัพพลายเออร์ของ Apple เป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว อาทิ Tianma Micro-Electronics ผู้ผลิตจอแสดงผล, GigaDevice Semiconductor ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำ และ Nexperia ซึ่งเป็นเจ้าของโดย Wingtech Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของจีน

Source

]]>
1345170
จับตาปัญหา ‘พลังงานขาดแคลน’ ครั้งใหญ่ของ ‘จีน’ ที่ส่อแววสร้างปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลก https://positioningmag.com/1340064 Thu, 01 Jul 2021 07:18:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1340064 ประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานครั้งใหญ่ เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย ความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และการจำกัดการใช้ถ่านหินที่เข้มงวด ส่งผลให้โครงข่ายไฟฟ้าของประเทศได้รับผลกระทบถึงสามเท่า มันเป็นปัญหาที่อาจกระทบไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อการค้าโลก

ปัญหาดังกล่าวนับเป็นปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เลวร้ายที่สุดในจีนนับตั้งแต่ปี 2554 เมื่อภัยแล้งและราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ 17 จังหวัดหรือภูมิภาคต่าง ๆ ต้องควบคุมการใช้ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าไม่เต็มใจที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมากเมื่อถ่านหินที่เผามีราคาแพง ขณะที่ปักกิ่งควบคุมต้นทุนพลังงาน ดังนั้นผู้ผลิตจึงไม่สามารถขึ้นราคาได้ง่าย ๆ

สาเหตุหนึ่งที่ราคาถ่านหินพุ่งขึ้นมาจาก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการให้จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานสำหรับประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้เหมืองถ่านหินของประเทศผลิตน้อย ลงส่งผลให้ราคาสูงขึ้น เหยา เป่ย หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของบริษัทโบรกเกอร์ Soochow Securities ของจีนกล่าว

มณฑลเกือบ 12 มณฑลในจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีมูลค่าถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นมากกว่า 10% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของจีนกำลังเจอปัญหาด้านพลังงานทำให้ บริษัทต่าง ๆ ในมณฑลต้องปิดตัวลง 2-3 วัน/สัปดาห์ เพื่อแบ่งสันปันส่วนในการใช้พลังงาน ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจคงอยู่ยาวจนถึงสิ้นปี

จีนกระทบเท่ากับโลกกระทบ

การขาดแคลนนั้นอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของจีน และอาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับซัพพลายเชนทั่วโลกที่กำลังเจอกับวิกฤตนับตั้งแต่การระบาดเริ่มดีขึ้น โดย Yan Qin หัวหน้านักวิเคราะห์คาร์บอนของ Refinitiv กล่าวว่า “การปันส่วนพลังงานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การขาดแคลนไฟฟ้าสามารถลดการผลิตในแทบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการผลิตที่สำคัญ สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปีที่แล้วธุรกิจดังกล่าวใช้ไฟฟ้าเกือบ 70% และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัว ในปี 2564

Chengde New Material ซึ่งมีฐานอยู่ในกวางตุ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ บอกกับลูกค้าเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าทางบริษัทจะ ปิดการดำเนินงานเป็นเวลา 2 วันต่อสัปดาห์ จนกว่าจะไม่มีการปันส่วนพลังงานอีกต่อไป บริษัทคาดว่าปริมาณการผลิตจะลดลง -20% หรือมากถึง 10,000 ตัน ต่อเดือน

“บริษัทสมาชิกของหอการค้ามากถึง 80 แห่งในจีนอาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลให้ระงับการดำเนินงานเป็นเวลาสองสามวันต่อสัปดาห์ บริษัทบางแห่งถึงกับเริ่มเช่าเครื่องปั่นไฟดีเซลราคาแพงเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้” Klaus Zenkel ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีนตอนใต้กล่าว

การลดกำลังการผลิตทั่วประเทศจีนยังเสี่ยงต่อการเพิ่มปัญหาให้กับซัพพลายเชนทั่วโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว เพราะแค่กวางตุ้งเพียงแห่งเดียวคือศูนย์กลางการผลิตซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการค้าทั้งหมดของจีน ตั้งแต่ เสื้อผ้า ของเล่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

“ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า อาจยิ่งทำให้การขนส่งทั่วโลกเกิดความล่าช้า” Henning Gloystein ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรของ Eurasia Group กล่าว

ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านพลังงาน เพราะมณฑลกวางตุ้ง กำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาด้านการขนส่งอยู่ในปัจจุบัน การจัดส่งที่ค้างอยู่อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเคลียร์ และนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าเทศกาลช้อปปิ้งช่วงวันหยุดสิ้นปี

ลดใช้ถ่านหินแต่พลังงานหมุนเวียนไม่พอ

Lauri Myllyvirta หัวหน้านักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ กล่าวว่า ถ่านหินยังคงมีส่วนร่วมถึง 60% ของการใช้พลังงานของประเทศ แต่รัฐบาลระวังว่าตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้น และได้พยายามลดการใช้ถ่านหิน เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการใช้ถ่านหินนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการใช้พลังงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสภาพอากาศ นั่นทำให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

อากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมากขึ้น ในขณะเดียวกันมีความตึงเครียดอย่างมากในการผลิตพลังงานแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำ ที่จีนกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง

Gloystein ของ Eurasia Group กล่าวว่า การนำเข้าถ่านหินมีราคาแพงมาก ซึ่งราคาได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปีที่แล้ว นอกจากความตึงเครียดทางการค้ากับออสเตรเลียที่ปี 2019 มีส่วนสำคัญในการนำเข้าถ่านหินของจีนเกือบ 60% แต่เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของ COVID-19 ในจีน ทำให้จีนหันไปนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุล แต่นั่นก็ไม่ได้เติมเต็มช่องว่าง

“สิ่งนี้ทำให้สาธารณูปโภคบางอย่างของจีนขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า และคงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับอุปทานเพิ่มเติมในเวลาอันสั้นจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย”

ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยในหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการยังคงสูงในช่วงฤดูร้อน Qin จาก Refinitiv กล่าวว่า ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญที่ภาคใต้และภาคกลางของจีนที่จะต้องแบ่งปันส่วนพลังงานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสภาพอากาศร้อนกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีทางเลือกอื่น เช่น กลับลำมานำเข้าถ่านหินของออสเตรเลีย แม้ว่านั่นจะทำให้ ปักกิ่งดูค่อนข้างอ่อนแอ

ท้ายที่สุด ทางการอาจต้องคิดที่จะปรับเป้าหมายด้านสภาพอากาศลงบางส่วน เพราะปัญหาที่จีนต้องเผชิญคือ จะตอบสนองความต้องการด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร เพราะในขณะที่จีนกำลังพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก แต่แหล่งเหล่านั้นก็ยังไม่เสถียรเท่ากับแหล่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

Source

]]>
1340064
ส่อง 4 อุตสาหกรรมเตรียมรับ ‘แรงกระแทก’ จากวิกฤตระบาดหนักในอินเดีย https://positioningmag.com/1331703 Wed, 12 May 2021 09:35:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331703 สิ่งที่หลายคนห่วงหลังจากที่ ‘อินเดีย’ กำลังเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในเร็ววัน ก็คือ เชื้อเชื้อ ‘สายพันธุ์อินเดีย’ (B.1.617) ทาง ‘องค์การอนามัยโลก’ (WHO) เป็น “ภัยคุกคามต่อสุขภาพในระดับโลก” นั้น จะลุกลามไปทั่วโลกหรือไม่ แต่อีกสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ‘อุตสาหกรรม’ ต่าง ๆ เพราะในอินเดียมีหลายอุตสาหกรรมที่ทั่วโลกต้องพึ่งพาอินเดีย ตั้งแต่เสื้อผ้า, ยา ไปจนถึงบริการทางการเงินและการขนส่งสินค้าทั่วโลก

การขนส่ง

การค้าโลกประมาณ 80% จะขนส่งไปบนเรือ ซึ่งอินเดียถือเป็นประเทศที่จัดหาลูกเรือจำนวนมาก โดย Guy Platten เลขาธิการหอการค้านานาชาติ เปิดเผยว่า ลูกเรือกว่า 200,000 คนจากประมาณ 1.7 ล้านคนทั่วโลกมาจากอินเดีย หลายคนมีตำแหน่งและบทบาทที่ต้องใช้ทักษะที่สำคัญ

เนื่องจากหลายประเทศสั่งห้ามเที่ยวบินจากอินเดีย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขนย้ายคนงานชาวอินเดียไปยังท่าเรือทั่วโลกและเปลี่ยนลูกเรือ ดังนั้น ถ้าวิกฤตดังกล่าวยังไม่ดีขึ้นอาจนำไปสู่การขาดแคลนลูกเรือ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบซัพพลายเชนทั่วโลก นอกจากนี้อาจเจอปัญหา ‘วิกฤตด้านมนุษยธรรม’ เนื่องจากลูกเรือจะไม่สามารถออกจากเรือและกลับบ้านได้

ภาพจาก Shutterstock

ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคระบาดทำให้การขนส่งสินค้าทั่วโลกตกอยู่ในความปั่นป่วน และเมื่อปีที่แล้วโดยมีนักเดินเรือเกือบ 200,000 คนติดค้างอยู่เป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากการปิดท่าเรือและเครื่องบิน

วัคซีนและยาอื่น ๆ

การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนของโลกกำลังได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากการระบาดในอินเดีย เพราะโดยทั่วไปแล้วอินเดียจะผลิตวัคซีนมากกว่า 60% ของวัคซีนทั้งหมดที่จำหน่ายทั่วโลก เนื่องจากอินเดียเป็นที่ตั้งของ Serum Institute of India (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ด้วยความสามารถในการผลิตจึงเป็นสาเหตุให้อินเดียเป็นประเทศหลักในการผลิตวัคซีน COVID-19 ในโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการที่จะแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ในราคาถูกหรือฟรีสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดย SII ได้ตกลงว่าจะผลิตวัคซีนโควิดมากถึง 200 ล้านโดสเพื่อป้อนให้ 92 ประเทศ แต่ด้วยประชากรอินเดียเพียง 2% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน รัฐบาลและ SII จึงเบรกการกระจ่ายวัคซีนให้ประเทศอื่น ๆ และเน้นไปที่พลเมืองอินเดียก่อน

(Photo by Sunil Ghosh/Hindustan Times via Getty Images )

แต่ไม่ใช่แค่การขาดแคลนวัคซีน COVID-19 แต่การระบาดอาจมีผลกระทบอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมยาทั่วโลกอีกด้วย เพราะอินเดียเป็นผู้จัดหายาสามัญรายใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้อินเดียยังเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลกครอง 60% ของตลาด ขณะที่ผู้ผลิตยาของอินเดียได้รับวัตถุดิบจากจีนมากถึง 70% แต่เมื่อปลายเดือนเมษายนสายการบินเสฉวนของจีนระงับเที่ยวบินขนส่งสินค้าไปยังอินเดียเป็นเวลา 15 วัน นั่นทำให้กลุ่มส่งออกยาชั้นนำของอินเดีย ต้องเขียนจดหมายถึงสถานทูตของอินเดียในปักกิ่งเพื่อเรียกร้องให้จัดการปัญหา

เสื้อผ้า

อินเดียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าเครื่องหนังรายใหญ่อันดับ 2 และเป็นผู้ส่งออกเครื่องหนังรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่รองจากจีน โดยผลิตรองเท้าเกือบ 3 พันล้านคู่ต่อปี โดยอินเดียถือเป็นศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้าแบรนด์เนมหลายราย อาทิ New Balance และ Nordstrom แต่จากวิกฤต COVID-19 ทำให้พนักงานที่มีทักษะและกึ่งฝีมือเกือบ 50% ต้องหยุดงาน

ภาพจาก Shutterstock

“นี่เป็นครั้งแรกที่คนรุ่นเราประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่มีใครเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่น่ากลัวนี้” Arpit Aryan Gupta หุ้นส่วนและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ของผู้ผลิตเครื่องแต่งกาย NG Apparels กล่าว

ที่ผ่านมา การบริโภคและการส่งออกของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศในปีที่แล้วลดลง 30% และ 24% ตามลำดับ ขณะที่ปีนี้สถานการณ์ยังไม่ทันฟื้นตัวก็เจอผลกระทบอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดตัวลงครั้งใหญ่และการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะ

Outsource บริการทางการเงิน

อินเดียมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลาง งานหลังบ้าน โดยบริษัทหลายแห่งได้จ้างงาน Outsource เทคโนโลยีสารสนเทศและการดำเนินงานจำนวนมากในอินเดีย เนื่องจากพนักงานที่มีการศึกษาและต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า โดยผู้คนเกือบ 4.4 ล้านคนในประเทศทำงานเป็น Outsource ด้านไอทีและการจัดการกระบวนการทางธุรกิจตามข้อมูลของ National Association of Software and Service Companies ซึ่งเป็นองค์กรการค้า

ภาพจาก shutterstock

โดยบริษัทอย่าง Goldman Sachs และ Wells Fargo ก็เป็น 2 บริษัทที่ใช้งาน Outsource ในอินเดีย แม้ว่า 2  บริษัทจะมีมาตรการ Work from Home แต่การทำงานจากที่บ้านในช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้นมีความซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพนักงานต้องดูแลญาติที่ป่วย นอกจากนี้ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูล เนื่องจากพนักงานอาจจัดการข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของบริษัทหรือลูกค้า

ดังนั้น หลายบริษัทจึงเลือกที่จะย้ายการทำงานไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ประชากรมีทักษะภาษาอังกฤษดี ขณะเดียวกันบางบริษัทก็ตัดปัญหาด้วยการหันไปลงทุนกับระบบอัตโนมัติและ AI แทน

Source

]]>
1331703