ดีไซเนอร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 06 Sep 2023 08:51:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Issey Miyake ดีไซเนอร์ผู้เติบโตจากเหตุการณ์ปรมาณู ผู้สร้างรอยย่น “พลีท” แก่วงการแฟชั่น https://positioningmag.com/1443634 Wed, 06 Sep 2023 07:47:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443634 อิซเซย์ มิยาเกะ (Issey Miyake) เคยประกาศไว้แบบเท่มาก ๆ ว่า “การออกแบบจำเป็นต้องแสดงถึงความหวัง” คำพูดที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งนี้สะท้อนตัวตนและความเชื่อที่น่าสนใจของผู้ชายชาวญี่ปุ่นคนนี้ ผู้ที่มีวัยเด็กสุดเจ็บปวด แต่สามารถพาตัวเองไปสู่การยอมรับของคนทั่วโลก

มีคนไม่มากที่รู้จริงเกี่ยวกับวัยเด็กที่รวดร้าวของอิซเซย์ มิยาเกะ เนื่องจากมิยาเกะเองก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้จนกระทั่งช่วงปีหลังของชีวิต เป็นเพราะมิยาเกะเคยบอกไว้เมื่อปี 2009 ว่าเขาไม่ต้องการถูกเรียกว่า “นักออกแบบที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู” ซึ่งแม้มิยาเกะได้เลือกที่จะไม่พูดถึงเรื่องนี้เป็นเวลานาน แต่นักออกแบบสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ได้จากโลกไป 1 วันก่อนวันครบรอบ 77 ปีของเหตุระเบิดที่บ้านเกิด

Issey Miyake นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังระดับโลกได้เสียชีวิตวันที่ 5 สิงหาคม 2022 ด้วยโรคมะเร็งตับในวัย 84 ปี สิ่งที่โลกจดจำเกี่ยวกับมิยาเกะไม่ใช่ชีวิตที่ผ่านช่วงเวลาการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า ซึ่งคนที่ใกล้ชิดบอกว่านี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจมาทำงานด้านการออกแบบเท่านั้น แต่โลกยังปรบมือให้มุมมองต่อบทบาทของงานออกแบบของมิยาเกะ ที่มองว่าการออกแบบควรตอบคำถามการใช้ชีวิตของมนุษย์ ให้ได้มากกว่าการทำเงินได้สูงๆ

ทิ้งความฝันนักเต้น ลงมือทำเสื้อผ้าที่ใครใส่ก็เต้นได้อิสระ

อิซเซย์ มิยาเกะ มีชื่อเสียงจากการออกแบบเสื้อผ้าสไตล์ “จับจีบ” ที่ไม่เคยมีรอยย่น และเป็นผู้ผลิตเสื้อคอเต่าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ให้สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งแอปเปิล (Apple Inc) สวมคู่กับกางเกงยีนส์ลีวายส์และรองเท้านิวบาลานซ์ โดยในช่วงแรกของชีวิต เด็กชายมิยาเกะมีความฝันอยากเป็นนักเต้นหรือนักกีฬา ก่อนที่จะอ่านนิตยสารแฟชั่นของน้องสาว จนเป็นแรงบันดาลใจให้เปลี่ยนทิศทางชีวิต ซึ่งความสนใจดั้งเดิมเหล่านี้เองที่เชื่อกันว่าเป็นเบื้องหลังการเพิ่ม “เสรีภาพในการเคลื่อนไหว” ให้กับผู้สวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์มิยาเกะ

Issey Miyake
(Photo by Daniel SIMON/Gamma-Rapho via Getty Images)

มิยาเกะนั้นเกิดที่ฮิโรชิม่า ปี 1938 ในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 พ่อของเด็กชายมิยาเกะเป็นทหารในแมนจูเรีย ทำให้คุณแม่เป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างในการเลี้ยงดู

เมื่อมีงานเทศกาล แม่ของมิยาเกะเคยทำกางเกงจากธงชาวประมง ซึ่งมิยาเกะชื่นชมแม่อย่างมากว่าเป็นคนมีสไตล์เรียบง่าย จิตใจงาม และห่วงใยลูกสุดๆ

ตอนอายุ 7 ขวบ มิยาเกะอยู่ในช่วงเวลาอันน่าสยดสยองของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีการมองว่าประสบการณ์จากเหตุระเบิดกลายเป็นแรงผลักดันให้กับวิสัยทัศน์ของเขาในฐานะนักออกแบบ และเมื่อการมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ แก่นแท้ของมิยาเกะจึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเกิดสันติภาพ และได้เทสันติภาพลงในงานออกแบบของตัวเองด้วย

ตรงนี้มีการแก้ข่าวตามมาว่าแม้จะเกิดที่ฮิโรชิม่า แต่ไม่ใช่ว่าตัวมิยาเกะจะอยู่ในพื้นที่ตอนที่ระเบิดปรมาณูถูกทิ้ง เวลานั้น มิยาเกะอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางระเบิดไป 5 กิโลเมตร และมิยาเกะได้ออกตามหาแม่และเดินเข้าหาแนวระเบิด

ในการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุเมื่อมิยาเกะอายุ 74 ปี มิยาเกะได้ลงรายละเอียดประสบการณ์ส่วนนี้ว่าครึ่งหนึ่งของร่างกายแม่นั้นเต็มไปด้วยแผลเป็นคีลอยด์ ถึงอย่างนั้น แม่ก็มีพลัง อย่างน้อยก็ในช่วงสั้นๆ และการบาดเจ็บจากเหตุระเบิดทำให้แม่ของมิยาเกะเสียชีวิตในอีก 3 ปีต่อมา

หนุ่มน้อยมิยาเกะต้องอดทนสูงมากเนื่องจากผลกระทบของเหตุระเบิด แต่การวาดภาพได้เปิดโลกใหม่ ซึ่งแม้จะยากจน แต่มิยาเกะก็ยังทุ่มเทให้กับงานศิลปะ ผลจากครูในโรงเรียนประถมที่เป็นอดีตทหารผู้หลงใหลในการวาดภาพ มักจะมาเปิดกลุ่มวาดรูปถึงก่อนเวลาสอน 1 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับมิยาเกะแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้น

Issey Miyake
Photo : Shutterstock

มิยาเกะจึงเข้าร่วมชมรมศิลปะที่โรงเรียนมัธยมโคคุไตจิ ท่ามกลางเพื่อนฝูงมากมาย กิจกรรมเดินป่า ถ่ายรูป และสเก็ตช์ภาพล้วนเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีมาก มิยาเกะเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมอย่างกระตือรือร้นด้วยตนเอง และ 7 ปีหลังจากสิ้นสุดสงคราม การออกแบบที่มีเอกลักษณ์ก็ปรากฏขึ้นในเมืองฮิโรชิม่าที่ถูกทำลายล้าง ซึ่งมิยาเกะยกให้สะพานนี้ เป็นการ “เผชิญหน้ากับการออกแบบ” ครั้งแรกในชีวิต

“มันเรียกว่าสะพานสันติภาพ ผมเคยขี่จักรยานข้ามถนนแล้วคิดว่า ‘นี่คือการออกแบบ’ ผมรู้เลยว่าผมอยากเป็นนักออกแบบ” อิซเซย์เคยเล่าไว้ ตามข้อมูลจากรายการ NHK World

สะพานนี้ได้รับการออกแบบโดยประติมากรชื่อดัง อิซามุ โนกุจิ โดยการออกแบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อถึงการสร้างฮิโรชิม่าขึ้นใหม่ ซึ่งแม้บางครั้งมิยาเกะจะเคยสงสัยว่า “การมาจากฮิโรชิม่า” มีหมายความอย่างไรต่อชีวิตของเขา แต่มิยาเกะก็ยืนยันว่าสามารถพูดได้เต็มที่ถึงการเกิดและโตที่ฮิโรชิม่านั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม

ทำงานหนัก ไม่ยอมแพ้ใคร

ในขณะที่บ้านเกิดเริ่มฟื้นคืนชีพ มิยาเกะก็ออกจากเมืองไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปะในโตเกียว ตลอดเวลาในมหาวิทยาลัย มิยาเกะจะทำงานหนักเพราะไม่อยากแพ้ใคร และได้เริ่มไล่ตามเส้นทางในฐานะนักออกแบบ ด้วยพรสวรรค์ที่โดดเด่นตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

หลังจากสำเร็จการศึกษา มิยาเกะก็มีการแสดงผลงานที่ดึงดูดความสนใจเป็นอย่างมาก จนในปี 1965 มิยาเกะย้ายไปปารีส และทำงานในวงการโอต์กูตูร์หรือเสื้อผ้าหรูหราประมาณ 2 ปี จนได้ตระหนักว่ามีบางอย่างที่สำคัญมากกว่าแฟชั่นโอต์กูตูร์

“แฟชั่นคือการทำเสื้อผ้าให้เหมาะกับผู้หญิง แต่ผมอยากจะทำเสื้อผ้าให้เข้ากับยุคสมัย”

Issey Miyake
Photo : Shutterstock

เมื่อตัดสินใจเดินทางกลับญี่ปุ่น มิยาเกะได้สร้างการออกแบบที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล โดยเสื้อผ้าชิ้นแรกที่มิยาเกะออกแบบ คือสิ่งที่พับได้เหมือนโอริกามิ ก่อนจะตั้งชื่อว่าเสื้อ A-POC ซึ่งเป็นเสื้อที่สามารถผลิตได้โดยไม่ก่อให้เกิดขยะ สร้างความฮือฮาและนำไปสู่อิมแพคอย่างมากในโลกแฟชั่น โดยงานของมิยาเกะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่ชื่อมิยาเกะกลายเป็นที่รู้จักจากการใช้สิ่งทอและวัสดุอย่างสร้างสรรค์ด้วย

ความที่เสื้อผ้าของมิยาเกะสวมใส่สบายและปรับเปลี่ยนได้ สินค้าจึงได้รับความสนใจไปทั่วโลก จนในปี 1989 มิยาเกะหันมาสนใจการจับจีบ และผลลัพธ์ที่ได้ล้วนน่าประหลาดใจ นั่นคือคอลเลกชัน Pleats Please ที่ทำให้มิยาเกะกลายเป็นที่ฮือฮาในทันที โดยได้รับการยกย่องเป็นการออกแบบที่ปฏิวัติวงการซึ่งแตกต่างไปจากแนวคิดที่ว่าเสื้อผ้ามีไว้เพื่อสวมใส่เท่านั้น การออกแบบของมิยาเกะมีความน่าตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ และมีบางสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นอยู่ใต้พื้นผิวของงาน

“ผมพยายามไม่ถูกกำหนดโดยอดีตของตัวเอง ผมรู้ว่าผมกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่”

อยู่เหนือกาลเวลา ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่สำหรับเสื้อผ้

มิยาเกะได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของเสื้อผ้าที่สามารถเป็นได้ โดยสร้างไลน์เสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ สินค้านี้ถูกเรียกว่า ‘A-POC Inside’ เป็นการสร้างชุดเดรสจากด้ายเส้นเดียวโดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เรียกว่าสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่สำหรับเสื้อผ้าขึ้นมา เพื่อแสดงออกถึงมุมมองของตัวเองผ่านการออกแบบ

“ผมเชื่อว่าการออกแบบให้ความหวัง การออกแบบสร้างความประหลาดใจและความสุขให้กับผู้คน”

Issey Miyake
Photo : Shutterstock

ถึงบรรทัดนี้ เราสามารถสรุปได้จากภาพรวมชีวิตและอาชีพของ Issey Miyake คือประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และการมีส่วนร่วมของตัวเอง ล้วนหล่อหลอมมิยาเกะในโลกแห่งการออกแบบเสื้อผ้า โดยเฉพาะการมูฟออนจากสิ่งที่ปวดร้าวในชีวิต สู่พลังใจในการลุกขึ้นมาสร้างความสุข

“เมื่อผมหลับตา ผมยังคงเห็นสิ่งที่ไม่มีใครควรได้สัมผัส” มิยาเกะเคยเล่าถึงการเสียชีวิตจากการสัมผัสรังสีของคุณแม่ภายในสามปีหลังเหตุระเบิด “ผมพยายามลืม แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จที่จะทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง แต่ผมเลือกที่จะคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถสร้าง ไม่ใช่สิ่งที่มุ่งทำลาย และนำมาซึ่งความสวยงามและความสุข ผมเลือกที่จะมุ่งสู่สาขาการออกแบบเสื้อผ้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นรูปแบบที่สร้างสรรค์ ทันสมัย และมองโลกในแง่ดี”.

ที่มา : NHK, BBC, Reuters, The Guardian, Harpersbazaar

]]>
1443634
ย้อนรำลึก “Kenzo Takada” ดีไซเนอร์ชื่อก้อง ผู้นำศิลปะตะวันออกสู่สายตาคนทั้งโลก https://positioningmag.com/1300343 Wed, 07 Oct 2020 07:11:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300343 Kenzo Takada ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นจากไปด้วยวัย 81 ปี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2020 หลังจากต่อสู้กับอาการป่วยด้วยโรคระบาด COVID-19 ที่โรงพยาบาล American Hospital ใกล้เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางกระแสแสดงความอาลัยในฐานะผู้สร้างแบรนด์แฟชั่น Kenzo สัญลักษณ์แห่งความสดชื่นและจิตวิญญาณอิสระ

“แฟชั่นเหมือนกับการทานอาหาร นั่นคือคุณไม่ควรทานแต่เมนูเดิมๆ” เป็นคำกล่าวที่รู้จักกันดีของ Kenzo Takada ชายผู้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและนิสัยสนุกสนานขี้เล่น สะท้อนสู่แฟชั่นของเขาที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา

Takada คือผู้ก่อตั้งแบรนด์ Kenzo ซึ่งเป็นการเปิดหน้าต่างใหม่ในโลกแฟชั่น เขาคือหนึ่งในดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่โด่งดังในระดับสากล และปลดล็อกให้ดีไซเนอร์รุ่นน้องตามเข้าสู่วงการแฟชั่นตะวันตกอีกมาก พร้อมกันนั้นยังเป็นที่รักของคนในวงการแฟชั่นจนมีผู้แสดงความไว้อาลัยจำนวนมากเมื่อเขาจากไป

 

หนึ่งในผู้ชายกลุ่มแรกของวิทยาลัยแฟชั่นบุนกะ

ก่อนที่จะเกิดแบรนด์ Kenzo และทำให้เขาเป็นที่ชื่นชมของคนในวงการจำนวนมาก เขาต้องฝ่าฟันเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง เพราะแรกเริ่มไม่มีใครสนับสนุนเขา ทั้งพ่อแม่และสังคมญี่ปุ่น

Takada เกิดที่เมืองฮิเมจิ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1939 เริ่มแรกเขาเรียนทางด้านวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยโกเบตามความต้องการของพ่อแม่ ก่อนจะลาออกกลางคัน จากนั้นเขาหันไปสมัครเข้าเรียนใน วิทยาลัยแฟชันบุนกะ และเป็นหนึ่งในนักเรียนชายกลุ่มแรกที่ได้เรียนที่นี่

น้ำหอม Flower by Kenzo ซิกเนเจอร์ในโลกแฟชั่น

เขาให้สัมภาษณ์กับ New York Times เมื่อปี 2019 ว่า “มีคนบอกผมว่า มันเป็นไปได้ที่ชายชาวญี่ปุ่นสักคนจะเข้าไปทำงานในวงการแฟชั่นที่ปารีส ผู้ชายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนในโรงเรียนดีไซน์ ยุค 1950s นั้นการมีความคิดสร้างสรรค์ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมญี่ปุ่น และที่เหนือกว่าทุกเรื่องก็คือ พ่อแม่ของผมไม่เห็นด้วยที่ผมจะไปทำงานในโลกแฟชั่น”

 

นำกลิ่นอายตะวันออกบุกโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม Takada ก็กัดฟันสู้ตามฝันของตนเอง หลังเรียนจบเขาเริ่มงานในแผนกเสื้อผ้าสตรีที่ห้างสรรพสินค้าซานาอิ ก่อนจะพบจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคือ บังเอิญว่าแฟลตที่เขาอยู่อาศัยถูกรัฐบาลเวนคืนที่ไปใช้ในงาน Tokyo Olympics 1964 และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินชดเชยเป็นค่าเช่าแฟลต 10 เดือน

เงินชดเชยนั้นเขานำไปใช้ไล่ตามฝันที่ปารีส ยุคนั้นเขาต้องใช้วิธีลงเรือเดินทะเลเป็นแรมเดือน ผ่านสิงคโปร์ บอมเบย์ และสเปน ก่อนจะไปถึงปารีสในที่สุด

Takada เริ่มต้นทำงานเป็นนักวาดภาพสเก็ตช์ให้ดีไซเนอร์รายอื่นก่อน ด้วยความตั้งใจเดิมที่จะอยู่ในปารีสแค่ 6 เดือน แต่ช่วงเวลากลับยืดยาวขึ้น (และกลายเป็นการอยู่ยาว 54 ปีในภายหลัง) เขาเก็บประสบการณ์และเงินทุนจนสามารถเปิดห้องเสื้อของตนเองในปารีสได้ในปี 1970 และได้เปิดตัวเป็นที่รู้จักอย่างจริงจังเมื่อ Catherine Rousso บรรณาธิการนิตยสาร ELLE ฝรั่งเศส เลือกใช้เสื้อผ้าของเขาให้นางแบบสวมใส่บนหน้าปกเมื่อปี 1971

Takada กล่าวถึงสไตล์แฟชันของเขาในยุคแรกๆ ว่าเต็มไปด้วยลายพิมพ์ดอกไม้ ผ้ามีลาย และกิโมโน รวมถึงลายเส้นที่แสดงให้เห็นภาพธรรมชาติด้วยศิลปะสไตล์ญี่ปุ่นอย่างชัดเจน

“เมื่อครั้งที่ผมเปิดห้องเสื้อของตัวเอง ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์เลยที่ตนเองจะทำอย่างที่ดีไซเนอร์ฝรั่งเศสทำกัน เพราะผมทำไม่ได้” Takada กล่าวกับสำนักข่าว SCMP เมื่อปี 2019 “ดังนั้น ผมก็เลยทำสิ่งต่างๆ ในแบบของตัวเองเพื่อให้เกิดความแตกต่าง โดยใช้ผ้ากิโมโนและอื่นๆ เข้ามาในงาน”

ห้องเสื้อของเขาได้รับความนิยม และเริ่มขยายไปเปิดสาขาที่ New York ในปี 1976 พร้อมกับรีแบรนด์ใหม่เป็น “Kenzo” และอีกครั้งที่เขาได้รับสปอตไลต์จากแวดวงแฟชั่น เสื้อผ้าของเขาถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Vogue อเมริกัน

 

แปลก ใหม่ และต่าง

ทำไมแฟชั่นแบบ Kenzo จึงปฏิวัติวงการแฟชั่นระดับสากลในขณะนั้น Olivier Gabet ผู้อำนวยการ Musée des Arts Décoratifs ในเครือพิพิธภัณฑ์ Louvre ฝรั่งเศส กล่าวย้อนรำลึกว่า “แฟชั่นโชว์แรกของเขาเป็นที่จดจำ เบาสบายและสนุกสนาน ด้วยเหล่านางแบบที่เหมือนกับเต้นไปบนแคตวอล์ก มากกว่าเดินแบบหรือโชว์เสื้อผ้า ห่างไกลจากวิสัยทัศน์แบบแบ่งชนชั้นของเสื้อผ้าฝรั่งเศส”

Takada ในงาน Mercedes Benz Fashion Week ที่อิสตันบูล ปี 2018 (photo : shutterstock)

Takada ผู้ไม่ชอบการถูกเรียกว่า “ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น” แต่ต้องการให้เรียกเขาว่า “แฟชั่นดีไซเนอร์” มากกว่า เขาจัดแฟชั่นโชว์ที่แตกต่างอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งเขาจัดโชว์ในเต็นท์ละครสัตว์ โดยมีตัวเขาเองขี่ช้างเข้ามาในโชว์ “เป็นโชว์ในตำนาน และหนึ่งในงานที่หาบัตรเข้าชมยากที่สุดของเมืองนี้” Gene Pressman อดีตประธานกรรมการร่วมแบรนด์ Barneys กล่าว “เขาเป็นบุคคลสัญลักษณ์แห่งความ ‘คัลต์’ สำหรับหนุ่มสาวและคนที่มีจิตใจแบบคนหนุ่มสาว”

 

เข้าสู่อ้อมอก LVMH

หลังจากนั้นแบรนด์ยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการขยายไปออกแบบคอลเลกชันเสื้อผ้าผู้ชายในปี 1983 ตามด้วยไลน์น้ำหอมในปี 1988 ก่อนที่เขาจะขายกิจการให้ LVMH ในปี 1993 ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงหลายประการในอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมถึงเหตุผลส่วนตัวนั่นคือการจากไปของ Xavier de Castella คู่ชีวิตของ Takada

“ผมตัดสินใจขายกิจการด้วยหลายเหตุผล แฟชั่นเริ่มเป็นการพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะแฟชั่นก็เปลี่ยน และความเร็วในการทำงานก็เปลี่ยนไป” Takada กล่าว “ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ตั้งแต่วิธีการทำเสื้อผ้า วิธีการกระจายข่าวสาร และมีเสื้อผ้าประจำฤดูกาลบ่อยขึ้นเรื่อยๆ”

แฟชั่นโชว์ Kenzo คอลเลกชัน Spring/Summer 2021

เขาอยู่ต่อกับห้องเสื้อจนถึงปี 1999 และตัดสินใจลาออกเพื่อเกษียณอายุในวัย 60 ปี แต่เขาก็ไม่ได้หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง เช่น Takada ยังรับออกแบบชุดยูนิฟอร์มให้ทีมโอลิมปิกญี่ปุ่นเมื่อปี 2004 และมาเป็นดีไซเนอร์ให้แบรนด์ตกแต่งบ้าน Gokan Kobo เมื่อปี 2005 ซึ่งศิลปะการตกแต่งบ้านกลายมาเป็นความสนใจใหม่ของเขาจนถึงห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

Kenzo Takada จากไปในระหว่างการจัดงาน ปารีส แฟชั่น วีค 2020 งานแฟชั่นโชว์เก่าแก่ที่ปีนี้ต้องเผชิญวิกฤตโรคระบาด มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชม และเผยแพร่งานส่วนใหญ่ผ่านระบบไลฟ์สดแทน ยิ่งตอกย้ำความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับวงการแฟชั่นจาก COVID-19

Source: The New York Times, Forbes

]]>
1300343
“ลิทัวเนีย” เปลี่ยนคาเฟ่เป็นแคตวอล์ก! ตั้งหุ่นโชว์เสื้อผ้า แถมเป็นเพื่อนนั่งได้ด้วย https://positioningmag.com/1280399 Mon, 25 May 2020 05:33:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280399 ชมหุ่นโชว์เสื้อผ้าที่เฉิดฉายในชุดสวย จากผลงานการออกแบบของเหล่านักออกแบบท้องถิ่น ที่ถูกนำมาจัดวางในร้านอาหาร เขตเมืองเก่าวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ที่ไม่ใช่เพื่อประดับเท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อนของผู้มาใช้บริการ เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยให้ผู้คนรู้จักผลงานของผู้ออกแบบและส่งเสริมยอดการขายด้วย
(Photo by Alfredas Pliadis/Xinhua)

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา คาเฟ่และร้านอาหารได้กลายเป็นเวทีแสดงชุดเสื้อผ้าสุดโก้เก๋ เพื่อให้บรรดานักออกแบบที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งระงับการดำเนินงานเพราะ COVID-19 ได้โอกาสแสดงผลงานของพวกเขา

หลังจากประเทศแห่งนี้ได้อนุญาตให้บาร์ คาเฟ่ และร้านอาหารกลับมาเปิดทำการอีกครั้งภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด

(Photo by Alfredas Pliadis/Xinhua)
(Photo by Alfredas Pliadis/Xinhua)
(Photo by Alfredas Pliadis/Xinhua)
]]>
1280399