หลังจากที่เจ้าตลาด บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) เจ้าของ M-150 ที่ปรับราคาเป็น 12 บาท ทำให้คู่แข่งอย่าง คาราบาวแดง โดย บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG) ที่ตรึงราคาไว้ที่ 10 บาท ค่อย ๆ กินส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ในกลุ่ม แมส เน้นไปที่การแข่งขัน ราคา โดยผู้บริโภคเลือกที่ราคามากกว่าแบรนด์
“ราคา 10 บาทมันอยู่มานานมากเป็นสิบ ๆ ปี ทำให้คนไทยก็คุ้นกับการจ่ายเงิน 10 บาท ไม่ต้องทอน ร้านค้าเองก็คุ้นเคย ดังนั้น ผมว่ามันเป็นความคุ้นเคย ความคุ้นชินของลูกค้าที่จะจ่ายเท่านี้แหละ ถ้าเกินกว่านี้ก็คงเปลี่ยนแบรนด์” วรวุฒิ พงศ์ชินภัค ประธานผู้บริหารสายงานขายและการตลาด ประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าว
ในกลุ่มแมสที่แข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก ต่างจากกลุ่ม พรีเมียม ที่ไม่ได้แข่งขันเรื่องราคา แต่แข่งขันกันที่ ประสบการณ์ โดยผู้บริโภคมองว่า แบรนด์ไหนที่สร้างประสบการณ์ที่ดีก็จะซื้อ และแม้ตลาดพรีเมียมจะไม่ใหญ่เท่าตลาดแมส แต่ยังมีช่องว่างให้เติบโต โดยในปีที่ผ่านมา มีการเติบโตกว่า 10% มีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีผู้เล่นประมาณ 7-8 แบรนด์
ปัจจุบัน แบรนด์ เรด บูล (Red Bull) มีส่วนแบ่งตลาด 60% ในกลุ่มพรีเมียม จากสินค้า 2 ประเภท ได้แก่
โดยปีที่ผ่านมา Red Bull Extra มีการเติบโต +40% ส่วน Red Bull Soda เติบโต +30% และสำหรับเป้าหมายปีนี้ TCP วางไว้ที่ 2 เท่า ผ่านกลยุทธ์ Recharge & Refresh เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ซึ่งก็คือกลุ่ม 18-35 ปี พร้อม ๆ กับการสร้างฐานลูกค้าใหม่ เริ่มจากดึง แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล มาเป็น แบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกคนแรก เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z พร้อมกันนี้ ได้เปิดตัวรสชาติใหม่ Red Bull Soda Summer Berry น้ำตาล 0% ซึ่งจะยิ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใสใจในเรื่องสุขภาพ
“ที่เราเลือกแบมแบม เพราะมีฐานแฟนคลับที่เป็นคนรุ่นใหม่เหนียวแน่น และเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งแบมแบมก็มีไลฟ์สไตล์สอดคล้องกับ Red Bull โดยจากนี้เราจะมีอีเวนต์ และมีกิจกรรมการตลาดร่วมกับแบมแบมตลอดทั้งปี เริ่มจากงาน Red Bull World of Energy ในวันที่ 5 – 6 เมษายนนี้ ที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์”
นอกจากจะใช้ แบมแบม มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ ๆ แล้ว แต่การแข่งขันในกลุ่มพรีเมียมอยู่ที่ ประสบการณ์ ทำให้ TCP ได้เปิด Red Bull Energy Pop บาร์ม็อกเทลที่เซ็นทรัลเวิลด์ นำเสนอเครื่องดื่ม อาหาร ของหวาน เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์และรู้จักกับสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่ให้แบรนด์สามารถพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง
“กิจกรรม On Ground เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ให้ลูกค้าได้ทำความรู้จักกับแบรนด์เรามากขึ้น ช่วยให้เขามีประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์ และเราเองก็จะสามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย”
สำหรับ Red Bull Energy Pop เริ่มเปิด Soft Opening ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยยังไม่มีกำหนดปิด รวมถึงยังไม่มีแผนที่จะขยายไปเปิดที่ใหม่
อีกกลยุทธ์ที่ Red Bull ใช้ในการสร้างแบรนด์คือการ Collab กับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อพาแบรนด์ Red Bull ไปอยู่ใกล้ผู้บริโภค โดยนับตั้งแต่ปี 2565 Rad Bull ได้นำเครื่องดื่มเข้าไปเป็นส่วนผสมในสินค้าต่าง ๆ อาทิ Red Bull Halls XS, Dentyne Splash Red Bull, ไอศกรีม Molto x Red Bull
นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมคนรุ่นใหม่ เช่น ทีมเกมเมอร์ Bacon Time, กีฬาบาสเกตบอล 3×3, E-Sports และสเกตบอร์ด เพื่อแสดง Passion Point ในการใช้งาน Energy Drink และเข้าใกล้ลูกค้า เหมือนเป็นการสร้างคอมมูนิตี้
เนื่องจากเทรนด์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมา TCP พยายามปรับสูตรสินค้าไปใช้ สารแทนความหวาน แทนการใช้น้ำตาลในสินค้าเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสูตรน้ำตาล 0% หรือสูตรปรับน้ำตาลน้อยลง ดังนั้น จึงไม่กังวลกับภาษีความหวานเฟส 1 ที่จะบังคับใช้ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
“ภาษีความหวานไม่มีผล เพราะเราปรับปริมาณน้ำตาลไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเราพยายามปรับสูตร แต่รสชาติกับคุณภาพยังคงเดิม ดังนั้น ไม่เสียภาษี ไม่ต้องปรับขึ้นราคา”
ปัจจุบัน พอร์ตโพลิโอธุรกิจเครื่องดื่มพลังงานของกลุ่มธุรกิจ TCP แบ่งออกเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานแบบแมส (Mass Energy Drink) 75% ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานแบบพรีเมียม (Premium Energy Drink) 25% โดย วรวุฒิ ยืนยันว่า ยังคงให้ความสำคัญเพราะเป็นตลาดใหญ่ แต่เนื่องจากตลาดเน้นที่การแข่งขันด้านราคา ทำให้วิธีการทำตลาดจะต่างกัน ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มแมส TCP มีผลิตภัณฑ์ กระทิงแดง โดยมีสินค้าในกลุ่มราคา 10 บาท และ 12 บาท
“สิ่งที่เราพยายามจะทำตอนนี้คือ เราพยายามจะให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงส่วนผสมในกระทิงแดง โดยเฉพาะเราที่มีทอรีนเป็นส่วนผสมหลักนะ ซึ่งการทำตลาดในกลุ่มแมสเราอาจจะโฟกัสเรื่องการสื่อสารเกี่ยวกับส่วนผสมมากขึ้น ไม่ใช่แข่งขันเรื่องราคา”
]]>