ทรูช้อปปิ้ง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 29 Jun 2021 08:37:54 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะกลยุทธ์ปั้นรายได้ 3 พันล้านของ ‘ทรู ช้อปปิ้ง’ ในวันที่โฮมช้อปปิ้งมีคู่แข่งรอบด้าน https://positioningmag.com/1339534 Tue, 29 Jun 2021 08:01:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1339534 ธุรกิจ ‘โฮมช้อปปิ้ง’ ถือเป็นอีกธุรกิจที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน แม้ปัจจุบันคนจะดูทีวีน้อยลงเพราะการมาของอินเทอร์เน็ตก็ตาม แต่นั่นก็ยิ่งทำให้โฆษณาในทีวีเต็มไปด้วยการขายของจากเหล่าโฮมช้อปปิ้ง เนื่องจากช่องทีวีเองก็ต้องหาโฆษณาเข้ามาเติมเต็มสล็อตเวลา ยังไม่รวมถึงการไทอินสินค้าในรายการต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโฮมช้อปปิ้งยังขายได้ แต่คู่แข่งก็ไม่น้อย

เดินหน้าปั้นกลุ่มความงาม

หากจะพูดถึงช่องรายการแนะนำสินค้าหรือโฮมช้อปปิ้งในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่ามีหลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ไดเร็ค, โอ ช้อปปิ้ง, RS Mall, 29shopping, 1346 Hello shopping และ ‘ทรู ช้อปปิ้ง’ ที่ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท ทรู จีเอส ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของ 4 บริษัท ได้แก่ ทรูวิชั่นส์, เดอะมอลล์, ซีพี ออลล์ และ จีเอสช็อป ที่เริ่มต้นออนแอร์ในปี 2554 ผ่านทางทรูวิชั่นส์ช่อง 11

ภาพรวมธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในปี 2563 แม้จะมีวิกฤต COVID-19 ก็ยังเติบโตได้ 10% มีมูลค่าถึง 16,000 ล้านบาท ขณะที่ทรู ช้อปปิ้งสามารถเติบโตได้ 50% ทำรายได้ 2,300 ล้านบาท จากในปี 2562 ทำรายได้ 1,531 ล้านบาท มีกำไร 40 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 มีรายได้ 1,301 ล้านบาท ขาดทุน 19 ล้านบาท

องอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู จีเอส จำกัด

องอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู จีเอส จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ทรู ช้อปปิ้งสามารถเติบโตได้สูงกว่าตลาดมาจากการโฟกัสในสินค้าที่ถูกจุด จากตอนแรกทรู ช้อปปิ้งขายสินค้าเครื่องครัว เครื่องใช้ภายในบ้าน หรือที่เรียกว่า ‘สินค้าคงทน’ (Durable goods) กว่าจะเปลี่ยนทีก็นานทำให้การซื้อซ้ำต่ำ

ดังนั้น ทรู ช้อปปิ้ง จึงหันมาจับกลุ่มสินค้าความงาม, แฟชั่น และอาหารเสริมแทน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้อัตราการซื้อซ้ำเติบโตถึง 163% จากเดิมที่สินค้าคงทนมีสัดส่วน 60% ไม่คงทน 40% แต่ปัจจุบันสินค้าไม่คงทนมีสัดส่วน 60%

“แม้ว่ากลุ่มอาหารเสริมด้านสุขภาพและความงามจะเห็นคู่แข่งเยอะ แต่เรามั่นใจว่าในเซ็กเมนต์นี้เราเป็น เบอร์ 1 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่วมทุนกับจีเอสช็อปของเกาหลีเลยทำให้ได้ภาพลักษณ์เรื่องความงาม แล้วเราก็ทำรายการแบบเพื่อนบอกเพื่อนทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า แต่กลับกันผู้เล่นบางรายทำอาหารดูน่ากินก็จะจับกลุ่มเครื่องครัวดีกว่าเรา

ไม่ได้ขายแค่ทีวี

แม้ว่าทรู ช้อปปิ้งจะมีช่องทีวีจำนวนมากในการออกอากาศ อาทิ ช่อง ทรูโฟร์ยู ช่อง 24 กล่อง PSI ช่อง 41, 42, 57,  กล่อง True Vision ช่อง 40, 44, GMMZ ช่อง 42, 45 แต่รู้ ๆ กันว่าการรับชมทีวีในทุกวันนี้ลดลงมาก (แม้ COVID-19 จะทำให้คนดูเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม) เพราะปัจจุบันคนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอินเทอร์เน็ตมากกว่า ดังนั้น ทำให้โฮมช้อปปิ้งหลายรายก็เพิ่มช่องทางอีคอมเมิร์ซในการจำหน่ายสินค้าด้วย เช่นเดียวกับทรูที่มีทั้งเว็บไซต์ของตัวเอง เพจโซเชียลมีเดีย และหน้าร้านบนมาร์เก็ตเพลส

แต่สำหรับทรู ช้อปปิ้งนั้นได้เปรียบกว่าตรงที่มีเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น เช่น การส่งข้อความโฆษณาไปยัง TrueMove H อีกทั้งยังทำ Telesale นอกจากนี้ยังมีการขายสินค้าแบบออฟไลน์ผ่านร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-ELEVEN, Lotus และ Watson รวมถึงขายสินค้าบนแอปพลิเคชัน TrueID, All Online และ All Korea Shop ทำให้ยอดขายจากช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทีวีเพิ่มขึ้นมาคิดเป็นสัดส่วน 40%

“ปกติลูกค้าเราอายุประมาณ 40 ปี แต่ด้วยช่องทางออนไลน์ก็ช่วยให้เราขยายกลุ่มลูกค้าที่เด็กลงได้มากขึ้น”

เป็นมิตรกับคู่แข่ง

เพราะธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งไม่มี Barrier Entry เลยจะเห็นว่าแบรนด์เริ่มมาซื้อแอร์ไทม์ขายสินค้าเองบนทีวี ไม่ว่าจะเป็น CORDYPLUS หรือ ถั่งเช่า อ.วิโรจน์ หรือสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย ทางทรู ช้อปปิ้งเลือกที่จะเป็นพันธมิตรโดยนำสินค้ามาจำหน่ายในช่องทางของทรู ช้อปปิ้งและให้บริการ ‘Total Solution Services’ ครบวงจร ทั้งระบบจัดการคลังสินค้า, คอลเซ็นเตอร์รับออเดอร์ บริการหลังการขาย การชำระเงิน และการจัดส่งสินค้า ปัจจุบันทรู ช้อปปิ้งมีคู่ค้าที่ทำธุรกิจร่วมกันเพิ่มขึ้น 45% รวมแล้วกว่า 400 บริษัท มีรายได้กว่า 100 ล้านบาท

การทำงานร่วมกับพันธมิตรจะช่วยให้ทรู ช้อปปิ้งมีสินค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้นด้วย

อีกส่วนคือ แคมเปญ CRM ‘ทรู ช้อปปิ้ง พลัส’ (True Shopping Plus) ที่เป็นแคมเปญจากจีเอสช็อปของเกาหลี โดยให้เงินคืน 5-12% เพื่อเป็นส่วนลดในครั้งต่อไป และมีสถานะ Gold หรือ VIP ซึ่งช่วยส่งเสริมการขายเพราะลูกค้าต้องซื้อซ้ำสินค้าทุก ๆ 3-4 เดือน

ปักเป้าโต 35% โกยยอดขาย 3 พันล้าน

จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปีจนถึงต้นปี และระบาดอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 ดังนั้น ภาพรวมตลาดโฮมช้อปปิ้งในปี 2564 นี้น่าจะเติบโตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวของทรูยังเชื่อว่าทำให้เติบโตได้กว่าตลาด โดยช่วงครึ่งปีแรกสามารถโตประมาณ 31% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีที่แล้ว โดยทั้งปีตั้งเป้าโต 30-35% ปิดที่ 3,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะมีผลกำไรเป็นอันดับ 1 ของตลาด

ตอนนี้อะไรที่ขายบนดีในห้างฯ หรือขายดีบนออนไลน์ก็เป็นสินค้าขายดีบนทีวีด้วย ดังนั้น การแข่งขันตอนนี้มันไม่ได้จำกัดแค่กับโฮมช้อปปิ้ง

]]>
1339534