ทรู-ดีแทค – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 07 Nov 2023 15:02:55 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘AIS’ ชี้ตลาดโทรคมนาคมยังคงแข่งขัน! เชื่อคลื่น 700 MHz จาก ‘NT’ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสัญญาณขึ้น 30% https://positioningmag.com/1450806 Mon, 06 Nov 2023 13:38:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450806 หลังจากที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ออกมายืนยันว่า ไม่เคยมีการ ฮั้วราคา กับ เอไอเอส ตามที่มีประเด็นในโลกโซเชียลฯ หลังจากที่หลายคนบ่นว่าคุณภาพสัญญาณมีปัญหา และปรับราคาแพ็กเกจใหม่ โดยล่าสุด ทางเอไอเอสก็ออกมายืนยันอีกเสียงว่า การแข่งขันยังมี เพราะเอไอเอสก็ไม่ยอม

การแข่งขันยังมี แต่ราคากลับสู่ภาวะปกติ

จากประเด็นในโลกโซเชียลฯ ว่าหลังจากที่ตลาดโทรคมนาคมเหลือผู้เล่นหลัก 2 ราย ทำให้ราคาค่าบริการสูงขึ้นสวนทางกับคุณภาพหรือไม่ ทาง สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS อธิบายว่า หากเทียบคุณภาพกับราคา ตลาดไทยถือว่า ถูกกว่าหลายประเทศ เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีก่อนมีการแข่งขัน ผิดปกติ เพราะมีการแข่งขันเพื่อขยับจากเบอร์ 3 ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ซึ่งผู้บริโภคอาจจะเคยชิน แต่ปัจจุบันตลาดกลับไปสู่ ราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ ตลาดไทยมี กสทช. ควบคุมราคาอยู่แล้ว ซึ่งราคาในปัจจุบันยังถือว่า ต่ำกว่าที่ กสทช. กำหนด

“การแข่งขันยังมีเพราะเราก็ไม่ยอมอยู่แล้ว ตอนนี้สงครามราคาก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ตอนนี้มันถูกปรับมาสู่ภาวะการตลาด เพราะเรามีการลงทุนปีละหลายหมื่นล้านบาท ตอนนี้ต้นทุนเรื่องค่าไฟต่าง ๆ ก็สูงขึ้น” สมชัย อธิบาย

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS

คลื่น 700 MHz ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น 30%

ในส่วนของเรื่องคุณภาพ Network สมชัยก็ย้ำว่า ไม่เกี่ยวกับที่เหลือผู้เล่น 2 ราย แต่เป็นหน้าที่ของเอไอเอสที่จะทำให้ดีขึ้น โดยนอกจากการลงทุนปีละหลายหมื่นล้านบาทแล้ว ล่าสุด เอไอเอสได้ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นำคลื่น 700 MHz จำนวน จำนวน 5 MHz มาเสริมทำให้เอไอเอสมีคลื่น 700 MHz รวม 20 MHz ก็จะยิ่งทำให้เน็ตเวิร์กกว้างขึ้น ทะลุทะลวงมากขึ้น

“การที่ได้คลื่น 700 MHz มาอีก 5 MHz จะช่วยให้สัญญาณเราดีขึ้น 30%” สมชัย ย้ำ

นอกจากนี้ เอไอเอสเปิดตัวบริการ 5G Living Network ที่เป็นบริการ Network on Demand ให้ผู้ใช้สามารถเลือกความเร็ว เลือกเวลา และเลือกสถานที่ที่จะอัปสปีดความเร็วของสัญญาณได้ ซึ่งจะมีค่าบริการเพิ่มเติม และใช้ได้ 3 ชั่วโมง โดยจะเปิดให้ใช้บริการในช่วงต้นเดือนหน้า

ย้ำ 3BB ไม่ผูกขาด

ในส่วนของดีลระหว่างเอไอเอสกับ 3BB ที่ยังไม่จบนั้น สมชัย เชื่อว่า ไม่ผูกขาด เพราะในตลาด อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังมีผู้เล่นรายใหญ่อีกหลายราย อาทิ ทรู และ ToT อีกทั้งธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยัง ไม่ต้องมีคลื่นความถี่ ดังนั้น สามารถมีผู้เล่นใหม่เข้ามาได้ตลอด ซึ่งปัจจุบันตลาดก็มีผู้เล่นรายย่อยหลายร้อยราย

ทั้งนี้ เอไอเอสเชื่อว่าหากควบรวมกับ 3BB สำเร็จจะทำให้บริการครอบคลุมกว่า 13 ล้านครัวเรือน ล่าสุด เอไอเอสได้เปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุด WiFi 7 รายแรกในไทย โดยร่วมกับ TP-Link ที่มาพร้อมเราเตอร์มาตรฐาน WiFi 7 ในการรองรับดีไวซ์ Device ให้เชื่อมต่อได้ ลดปัญหาเกี่ยวกับช่องสัญญาณที่แออัด ทำให้ใช้งานได้ไหลลื่น รองรับการ สตรีมแบบวิดีโอแบบ 8K การใช้งาน VR ที่ตอบโจทย์ทุกคนในบ้านได้อย่างครบถ้วน

ยังยึดหลัก “พาย 3 ชิ้น”

สำหรับทิศทางของเอไอเอสยังคงอยู่บนเส้นทางการเป็น องค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co พร้อมยึดหลัก พาย 3 ชิ้น หรือ ECOSYSTEM ECONOMY โดยเอไอเอสยังคง 1. ลงทุนในอินฟราสตรักเจอร์พร้อมพัฒนาสู่โครงข่ายเน็ตเวิร์คอัจฉริยะ โดยจะมีบริการใหม่ ๆ เช่น 5G Living Network, WiFi 7, Enterprise Platform – CPaaS (Communication Platform as a Service) และ AIS Paragon ที่เชื่อมต่อเครือข่าย 5G, Fibre, Edge Computing, Cloud, และ Software Application

2. Cross Industry Collaboration เพราะเอไอเอสไม่อยากโตคนเดียว ดังนั้น ด้วยฐานลูกค้ากว่า 44 ล้านเลขหมาย จะช่วยให้พาร์ตเนอร์สามารถเติบโตไปพร้อมกับเอไอเอส อาทิ ความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เชื่อมโยงร้านค้าถุงเงินรวมกว่า 1.8 ล้านร้านค้า และจับมือห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงร้านค้าพาร์ตเนอร์ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง ให้นำ AIS Point ใช้แทนเงินสด ล่าสุด สามารถนำ Point ของพันธมิตรเอไอเอสมาเปลี่ยนเป็น AIS Point ได้ด้วย

ในส่วนขององค์กร ได้ร่วมกับ ZTE เพื่อเตรียมเปิดตัวบริการ Cloud PC for Enterprise ให้องค์กรใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านคลาวด์ในรูปแบบ Desktop as a Service (DaaS) และถือเป็น ครั้งแรกในอาเซียน ที่พร้อมให้บริการ Microsoft Teams Phone ให้องค์กรและพนักงานสามารถโทรออกไปยังเบอร์ภายนอกและรับสายได้ผ่าน Microsoft Teams รวมไปถึงการนำสุดยอดนวัตกรรม genAI ช่วยยกระดับการทำงานของ Microsoft 365 Copilot for Enterprise

สุดท้าย 3. ความยั่งยืน เพราะองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการดูแล เศรษฐกิจ ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กัน ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ทำหลักสูตร AIS อุ่นใจ CYBER ตั้งแต่ปี 2009 ในด้านสิ่งแวดล้อมก็มุ่งสร้าง Green Network ผ่านการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม อาทิ การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในสถานีฐานเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้, การเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และการรณรงค์แยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste

“เราไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนเลย เรายังยึดมั่นในพาย 3 ชิ้น เราอยากทำ ECOSYSTEM ECONOMY หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เพราะเราเชื่อว่าพาย 3 ชิ้นนี้จะนำไปสู่ Sustainable Nation เพื่ออนาคตไทยอย่างยั่งยืน” สมชัย ทิ้งท้าย

]]>
1450806
รู้จัก “มนัสส์ มานะวุฒิเวช” CEO คนใหม่ของ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทใหม่หลังควบรวม ทรู-ดีแทค https://positioningmag.com/1421419 Wed, 01 Mar 2023 06:09:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1421419 ในที่สุดกระบวนการควบรวมกิจการของทรู และดีแทคก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ พร้อมได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ได้จัดตั้งทีมผู้บริหารใหม่ แต่งตั้ง “มนัสส์ มานะวุฒิเวช” เป็น CEO บริษัท และ ชารัด เมห์โรทรา (อดีต CEO ดีแทค) เป็นรองประธานคณะผู้บริหาร อย่างเป็นทางการเรียบร้อยในวันที่ 1 มีนาคม 2566

มนัสส์ มานะวุฒิเวช มีอายุ 48 ปี มีประสบการณ์ทั้งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และกลุ่มธุรกิจบริการ เป็นลูกหม้อของทรูมากว่า 20 ปี โดยตลอดการทำงานภายใต้กลุ่มทรู มนัสส์ได้รับผิดชอบสายงานสำคัญๆ ขององค์กร อาทิ งานสร้างระบบโครงข่ายสื่อสารไร้สายอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจหลักของกลุ่มทรู และผ่านการบริหารงานด้านการพาณิชย์ ทั้งธุรกิจโมบายล์ ธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจมีเดียทรูวิชั่นส์

มนัสส์เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ของตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน ผสานบริการต่างๆ ทั้งโมบายล์ เน็ตบ้านเพย์ทีวี และคอนเทนต์จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม นำมาสร้างคุณค่าเพิ่มอย่างชาญฉลาดแก่ลูกค้า ผ่านแคมเปญต่างๆ อาทิ Double Play (สุขคูณสอง) Triple Play (สุขคูณสาม) และ Quadruple Play (สุขคูณสี่) อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการรุกตลาด และขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศ สามารถสร้างการเติบโตด้านรายได้ทั้งธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ของกลุ่มทรูให้แข็งแกร่งในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งมีความเชื่อว่าคุณภาพสินค้าบริการคือหัวใจที่จะไม่มีการประนีประนอม (Never compromise on quality) โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการบริหารธุรกิจ และการบริหารคน เช่นเดียวกับเรื่องความยั่งยืนและความสำเร็จขององค์กรนั้นเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจ คือ คน และทีมเวิร์คที่ทำงานเป็นทีมเดียวกัน จากผลงานดังกล่าวทำให้มนัสส์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มทรูเมื่อปี 2021

ในด้านการศึกษา มนัสส์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ และสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง เรนซีเลียโพลีเทคนิค อินสติติวชั่น สหรัฐอเมริกา

]]>
1421419
สมการใหม่สู่สมรภูมิ 6G ที่กสทช.ต้องทันเกม ควบรวม = แข่งขัน ไม่ควบรวม = ผูกขาด https://positioningmag.com/1382568 Mon, 25 Apr 2022 04:38:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382568 ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ควบรวมทรู-ดีแทค” ความยาว 3 ตอนจบ โดย ibusiness

วัดใจภารกิจแรกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่กับการตัดสินใจพลิกโฉมชี้ชะตาตลาดโทรคมนาคมยุคใหม่ ขวางหรือไปต่อ ‘ควบรวมกิจการทรู-ดีแทค’ เปิดไพ่ในมือกสทช.บนหลักการทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่และไม่ทำอะไรฝ่าฝืนกฎหมายโดยเด็ดขาด ฝ่าความขัดแย้ง 2 ฟากที่ต้องยึด “ประโยชน์สาธารณะ” เดิมพันการพิจารณาครั้งนี้ ปลายทางปลดล็อกอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้เดินหน้าแบบแข่งขันกัน หรือ กลับเข้าสู่วังวนผูกขาด

พลันที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ภายหลังพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการกสทช.ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย

  • ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.
  • พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง
  • ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์

ก็เริ่มหารือกันถึงภารกิจแรกแบบนอกรอบเฉพาะบอร์ด 5 คน ทันทีนั่นคือ เรื่องการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งในวันที่ 22 เม.ย. 2565 บอร์ดยังได้ประชุมกับสำนักงานกสทช.เพื่อฟังรายละเอียดของการควบรวมกิจการดังกล่าวอีกด้วย

“ภารกิจแรกที่ต้องเร่งทำ ก็คือภารกิจที่รู้กันอยู่ นั่นคือ เรื่องการควบกิจการของทรูกับดีแทค ซึ่งผมเองก็มีข้อมูลอยู่บ้างจากการติดตามทางสื่อและคนอื่นที่ส่งข้อมูลเข้ามา เอกสารเยอะแยะไปหมด” ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.กล่าว

นั่นแสดงให้เห็นว่า 5 กสทช.ป้ายแดง ไม่ได้นิ่งเฉย กับ ประเด็นที่ร้อนแรงในสังคมโทรคมนาคม แม้ในความเป็นจริงแล้ว หากย้อนกลับไปดูอำนาจ หน้าที่ของกสทช.ต้องยอมรับว่า การควบรวมกิจการของทรูและดีแทคสามารถทำได้ หากมีการแจ้งต่อกสทช.ก่อน 90 วันเพราะ กสทช.มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพและราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ “ประโยชน์สาธารณะ”

Photo : Shutterstock

หมายความว่า หากการควบรวมกิจการทำให้คุณภาพการให้บริการแย่ลง ราคาสูงขึ้น กสทช.มีอำนาจกำกับและดูแลได้อย่างเต็มที่ตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการมีอำนาจเหนือตลาด หรือ ผูกขาดตลาดนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่ท่วงทำนองเป็นแผ่นเสียงตกร่องแต่เพียงว่าหากหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะของตนเองก็ไปกำกับดูแลเอาเอง รวมถึงทั้ง 2 บริษัทต่างก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งไม่ได้ห้ามการควบรวมกิจการครั้งนี้ หากต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ในขณะที่กสทช.ก่อนหน้าที่ 5 กสทช.ป้ายแดงจะเข้ามา ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการ และจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวม และกำลังอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาการควบรวมกิจการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งคาดว่าจะส่งให้ภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นน่าสนใจว่า การควบรวมกิจการเป็นเหตุผลทางธุรกิจสร้างอนาคตการเดินทางไปสู่ บริษัทเทคโนโลยี เต็มรูปแบบ (Tech Company) ในขณะที่อีกบริษัทต้องการลงจากหลังเสือแบบไม่เจ็บตัว ประเด็นสำคัญวันนี้ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าการควบรวมจะทำตามกฎหมายอย่างไร? เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะมากที่สุด เมื่อเริ่มเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน

โดยฝั่งควบรวมยกเหตุผลถึง “ประกาศแก้ไขการรวมกิจการปี 2561” ที่ระบุว่า กสทช.เพียงทำหน้าที่เป็นผู้รับทราบการควบรวมและกำหนดเงื่อนไขหรือออกมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมปฎิบัติตามเท่านั้น โดยไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวมได้

ในขณะที่ฝั่งทีเห็นต่าง เช่น เอไอเอสที่ได้ส่งหนังสือ แสดงความเห็นไปยังกสทช.ซึ่งยกประเด็นข้อกฎหมายซึ่งคาดว่าเป็นแนวทางเดียวกับที่องค์กรผู้บริโภคและนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงกสทช.เพื่อยืนยันว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณา ว่า จะให้ควบรวม หรือ ไม่ให้ควบรวมโดยอ้างถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าประกาศกสทช.

ส่องไพ่ในมือกสทช.

โดยระบุย้ำชัดว่ากสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาการควบคุมธุรกิจระหว่าง ‘ทรูและดีแทค’ ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และรัฐต้องจัดให้มีองค์กรรัฐที่อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีการมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ มาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่จึงมีหน้าที่กำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งการป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว

ในหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคแรก ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งกิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับประชาชนรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ดังนั้นในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมทั้งการให้บริการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 27( 11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

นอกจากนี้ กสทช.ยังมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2544 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการการโทรคมนาคม

ด้วยบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นทำให้มองกันว่า กสทช.มีหน้าที่นำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด พ.ศ 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในอดีต กสทช.ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช.

ต่อมาเมื่อ กสทช. พิจารณารายละเอียดประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 แล้วเห็นว่า ยังไม่ครอบคลุมการควบรวมกิจการได้ทั้งหมด จึงออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยในข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศควบรวมธุรกิจดังกล่าว กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากค่าดัชนี HHI ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาดก่อนและหลังการควบรวม

กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค จึงไม่อยู่ในลักษณะที่ กสทช.จะอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ หากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยกเลิกไปในปี 2561 จากการที่ กสทช.ได้ออกประกาศควบรวมปี 2561 กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้หรือไม่ตามข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

กรณีการรายงานการรวมธุรกิจตามประกาศควบรวมปี 2561 นั้นกำหนดขออนุญาตเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่า การรายงานการรวมธุรกิจถือว่า ได้รับอนุญาตแล้ว

ดังนั้น เมื่อมีการรายงานการควบคุมธุรกิจตามนัยข้อ 5 แห่งประกาศควบรวมปี 2561 แล้ว ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามนัยข้อ 8 แห่งประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 ซึ่งกำหนดว่ากรณีที่ กสทช. เห็นว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม กสทช.อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการได้

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค กสทช.จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณา ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ กสทช.มีหน้าที่ในการนำกฎหมายว่า ด้วยการแข่งขันทางการค้ามาใช้พิจารณา เพราะการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ตามมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม

ไปต่อแข่งขันหรือกลับมาผูกขาด

ไม่เพียงเท่านี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทคและการค้าปลีก-ค้าส่ง ยังได้ส่งหนึงสือถึงคณะรัฐมนตรีระบุว่าการควบรวมครั้งนี้ควรชะลอไปก่อนเพื่อรอให้กสทช.ชุดใหม่มีเวลาศึกษาและพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆก่อน

“ในเมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสำนักงานกับคณะกรรมการกสทช.น่าจะมีปัญหา เมื่อเกิดความคลุมเครือและไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย ทางออกหนึ่งซึ่งเคยมีอดีตกสทช.บางคนเสนอให้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกา ตีความอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระดุมเม็ดแรกที่สมควรกลัดให้ถูกต้องคือเคลียร์ปัญหาข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อนว่าการควบรวมสามารถทำได้ถูกต้องมีกฎหมายรองรับ ถึงแม้มีเคสการควบรวมที่อิงตามประกาศแก้ไขการรวมกิจการปี 2561 อย่าง ALT Telecom กับ อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในปี 2562, ALT Telecom กับ สมาร์ท อินฟราเนท ในปี 2563, TOT กับ CAT ในปี 2564, ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ตกับทริปเปิลที บรอดแบนด์ ในปี 2564 ถึงแม้บางเคสจะเป็นเจ้าของเดียวกันหรือบางเคสอาจจะเป็นรายเล็ก แต่ถ้ายึดตามกฎหมายจะต้องเท่าเทียมกันหมดไม่สามารถเลือกปฎิบัติได้

“เชื่อว่าเกมที่เตรียมไว้ หากกสทช.ไม่ทำเรื่องข้อกฎหมายให้ชัดเจนคือการเตรียมฟ้องศาลปกครอง”

กระดุมเม็ดถัดไปที่ต้องกลัดตามมาคือเหตุผลและความจำเป็นในการควบรวมครั้งนี้คืออะไร ซึ่งความอยู่รอดของธุรกิจน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่พิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขที่ชัดเจนที่สุด หรือ อีกนัยหนึ่ง การปล่อยให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรมนั่นเอง

ที่ผ่านมา ธุรกิจของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายล้วนมีต้นทุนที่สูง โดยมีบางรายที่ได้เปรียบในเรื่องการแข่งขัน มิหนำซ้ำ ทุกวันนี้โอเปอเรเตอร์ ลงทุนเครือข่ายรวมกันจะสักอีกกี่แสนล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกใส่ผู้ให้บริการ OTT (Over The Top) อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ แกร็บ ลาซาด้า และที่เหลืออีกมาก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งสิ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดไว้มากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังไปยึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT

OTT หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพ และกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันทำรายได้มหาศาลเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวนเพียงน้อยนิด เพราะอาศัยวิ่งบนเครือข่ายมีสายและเครือข่ายไร้สายโทรศัพท์มือถือที่ผู้ให้บริการลงทุนหลายแสนล้านบาท การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แทบจะทั้งหมดขับเคลื่อนผ่าน OTT ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ก็ผ่านลาซาด้า ช้อปปี้ ถ้าจะหาความบันเทิงสนุกสนานดูหนังก็เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ถ้าเป็นเรื่องอาหารก็สั่งแกร็บ ไลน์แมน ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ถ้าคนไปใช้บริการก็ต้องจ่ายเงินผ่านไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด

แค่ได้ใช้ของถูกและดี มีกี่รายไม่สำคัญ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีความเห็นที่น่าสนใจกับการควบรวมครั้งนี้ว่ากลับเป็นผลดีด้วยซ้ำที่ 2 เจ้า (เอไอเอสกับบริษัทจากการควบรวมทรูดีแทค) จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งด้านบริการ คุณภาพสัญญาณ และ ราคา เพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้าและเป็นที่หนึ่งในตลาด คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคเต็มๆ

“ยอมรับว่าหากในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเหลือโอเปอเรเตอร์แค่ 2 ราย ซึ่งเสี่ยงที่จะมีการฮั้วกันเกิดขึ้นแต่มองว่าถึงมี 3 รายโครงสร้างการแข่งขันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ด้วยที่ผ่านมาพบว่า ดีแทคเริ่มอ่อนแรง ไม่มีการลงทุนด้านโครงข่ายเพิ่มเติม ในระยะยาวอาจไปต่อไม่ไหว ขณะที่ ทรูก็ประสบกับภาวะขาดทุน ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่า การควบกิจการของทั้ง 2 ราย ส่งผลดี ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเข้มแข็งขึ้น”

ดังนั้น เมื่อเกิดการควบรวมกิจการแล้ว การแข่งขันอาจจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็จะรุนแรงขึ้น เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข่งขัน ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคซึ่งไม่ได้แย่ลง เพราะเนื่องด้วยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลทำให้โอเปอเรเตอร์หลายรายไปต่อไม่ไหวรายใหม่ก็เข้ามาไม่ได้

นี่คือ สมการใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเข้าสู่บริบทใหม่ 6 G ที่กสทช.ต้องทันเกม การควบรวมเท่ากับการแข่งขัน หากไม่ควบรวมก็เท่ากับการผูกขาด

แหล่งข่าวกล่าวว่าผลจากการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค นั้น ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าหลังการควบรวมแล้วราคาค่าบริการจะสูงขึ้น เพราะแพ็กเกจที่ใช้อยู่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง การให้บริการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว และที่ผ่านมากสทช.ก็ทำได้ดี ทำให้ไม่มีผู้เล่นรายใด สามารถปรับราคาได้เกินกว่าที่กสทช.กำหนดไว้ และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราค่าบริการต่ำที่สุดในโลก

ขณะที่ต้นทุนของผู้ให้บริการหลังการควบรวมจะลดลงด้วย ทำให้มีเงินทุนไปพัฒนาบริการใหม่ๆ รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามา เช่น ดาวเทียม, Metaverse, Quantum รวมถึงรถยนต์ EV และ Smart City ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราต้านกระแสการเข้ามาของ OTT ไม่ได้ เราก็ต้องมีศักยภาพมากพอในการขยายความสามารถในการรองรับการใช้งานดาต้าให้ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างไม่สะดุดไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก,ไลน์,เน็ตฟลิกซ์ ที่เข้ามาใช้เครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ในไทย การควบรวมจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย รองรับการเติบโตของผู้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เคยมีคนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ OTT ในประเทศไทยไว้ 3 เรื่องก็คือ

  1. ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยาก เงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัลที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง

2. ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตนเอง เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มี OTT อย่างประเทศสิงคโปร์ก็มีแกร็บ มาเลเซียก็มีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียก็มี Go-Jek ซึ่งนอกจากทำรายได้ให้ประเทศตนเองแล้วยังทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

3. ถ้ายังไม่มี OTT เป็นของเราเอง รัฐบาลก็ควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ เพราะจะทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระดุมเม็ดสุดท้ายที่ควรกลัดให้สวยงามหากผ่านพ้นขั้นตอนการควบรวมสำเร็จแล้วคือการย้ำกับผู้บริโภคว่าไม่มีการขึ้นราคาค่าบริการเด็ดขาด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่มีการครอบงำหรือมีอำนาจเหนือตลาดใดๆ ทั้งสิ้น ลูกค้าจะต้องได้รับบริการด้วยคุณภาพของเครือข่ายที่ดียิ่งขึ้น

ทรูกับดีแทควันนี้อุปมาเหมือนคู่หญิงชายที่ ศึกษาดูใจ ตัดสินใจจะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ด้วยการแต่งงาน แน่นอน กสทช.ที่เหมือนผู้ใหญ่ของทั้งสองฝั่งย่อมต้องตรวจสอบไตร่ตรองก่อน จะพิจารณาตัดสินใจอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น เช่นกัน การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค หมุดหมายย่อมมองถึงอนาคตของตลาดโทรคมนาคมไทยในยุคใหม่ หรือจะมองไปอีกขั้นถึงยุค 6G ที่เป็นไฟลท์บังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวรับการแข่งขัน งานนี้จะไปต่อด้วยการแข่งขัน แบบแฟร์ๆ หรือยังผูกขาดเหมือนเช่นทุกวันนี้ก็อยู่ที่ กสทช.จะตัดสินใจชี้อนาคต

โปรดติดตาม ตอนที่ 2 “กรณี NT ควบรวมแล้วแข็งแกร่ง บทพิสูจน์รวมกันเราอยู่” ได้ในวันจันทร์หน้า

Source

]]>
1382568
‘อีริคสัน’ มองในปี 68 คนไทยใช้ 5G เกิน 50% พร้อมประเมินควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ตลาดยิ่งแข่งสูง https://positioningmag.com/1364923 Wed, 01 Dec 2021 14:05:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364923 รายงานเชิงลึกระดับโลกของอีริคสัน (NASDAQ: ERIC) เปิดเผยว่าตั้งแต่อีริคสันจัดทำและเผยแพร่รายงาน Ericsson Mobility Report ครั้งแรกในปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีปริมาณ การใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นเกือบ 300 เท่า โดยในรายงานฉบับครบรอบสิบปีนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับเครือข่ายมือถือทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์ไปจนถึงปี 2570

ผู้ใช้ 5G ทั่วโลกแตะ 660 ล้านบัญชีในสิ้นปี

จากการคาดการณ์ที่ระบุว่า ยอดผู้ใช้บริการ 5G จะสูงแตะ 660 ล้านบัญชีภายในสิ้นปีนี้ เป็นการตอกย้ำสมมติฐานที่ว่า 5G เป็นเจเนอเรชั่นเครือข่ายไร้สายที่มีการนำมาใช้งานรวดเร็วที่สุด โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอุปกรณ์ 5G ที่ลดลง อีริคสันยังพบว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ทั่วโลกมียอดผู้ใช้ 5G มีจำนวนเพิ่มขึ้นสุทธิที่ 98 ล้านบัญชี เทียบกับผู้สมัครใช้ 4G รายใหม่ที่ 48 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ยังคาดว่าเครือข่าย 5G จะครอบคลุมผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ล่าสุดที่ระบุว่าภายในปี 2570 เครือข่าย 5G จะกลายเป็นเครือข่ายหลักของโลกเพื่อใช้เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ  ซึ่ง ณ เวลานี้ผู้ใช้ 5G มีสัดส่วนประมาณ 50% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมดทั่วโลก โดยครอบคลุมประชากรโลกถึง 75% และคิดเป็น 62% ของปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนทั่วโลก

ดีไวซ์มีจำนวนมากในราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2554 การนำเครือข่าย 4G LTE มาใช้งานได้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่เพิ่มยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกพุ่งเป็น 5.5 พันล้านคน และเกิดอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 4G ขึ้นในตลาดมากกว่า 20,000 รุ่น ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าวงจรเทคโนโลยีของอุปกรณ์ 5G นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่า ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือ 5G คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมือถือทั้งหมดทั่วโลก เทียบกับโทรศัพท์มือถือ 4G ที่มีเพียง 8% ณ จุดเดียวกัน

สิ่งนี้กระตุ้นให้การใช้ปริมาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากพิจารณาการเติบโตแบบปีต่อปี จะพบว่าปริมาณการใช้เน็ตมือถือ ณ ไตรมาส 3 ปี 64 เติบโตที่ 42% หรือประมาณ 78 เอกซะไบต์ (EB) ซึ่งนับรวมปริมาณอินเทอร์เน็ตจากบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตไร้สาย (Fixed Wireless Network) นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการใช้เน็ตมือถือในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีปริมาณเทียบเท่าปริมาณเน็ตที่เคยมีมาทั้งหมดจนถึงปี 2559 ซึ่งจากการคาดการณ์ล่าสุดยังเผยว่าในปี 2570 จะมีการใช้เน็ตมือถือเพิ่มขึ้นสูงถึง 370 เอกซะไบต์ (EB)

ไทยเป็นผู้นำ 5G เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดผู้ใช้มือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มเป็น 1.1 พันล้านราย โดยมียอดผู้สมัครใช้บริการ 5G สูงแตะ 15 ล้านราย และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยคาดว่าในปี 2570 จะมียอดผู้ใช้ 5G ถึง 560 ล้านราย

นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะมีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในโลก แตะ 46 กิกะไบต์ (GB) ต่อเดือน ภายในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้งหมดที่เติบโตต่อปีที่ 39% ส่งผลให้มียอดการใช้เน็ตต่อเดือนสูงถึง 46 เอกซะไบต์ (EB) เป็นผลมาจากจำนวนผู้สมัครใช้บริการ 4G และ 5G ที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่เปิดให้บริการ 5G

สำหรับประเทศไทย คือ หนึ่งในประเทศที่มีประชากรใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก โดยมีการประเมินว่าภายในปี 2568 การใช้งานจะคิดเป็น 50% ส่วน 4G จะมีการใช้งานประมาณ 40% นอกจากนี้ ไทยคือหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค โดยมีธุรกิจที่มีศักยภาพจำนวนมากที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความทันสมัย ดังนั้น อุตสาหกรรมการผลิต, ยานยนต์ และเฮลท์แคร์ จะเป็นอุตสาหกรรมที่นำ 5G มาใช้โดยเฉพาะในเรื่องของออโตเมชั่นและการแพทย์ทางไกล ซึ่งการใช้งาน 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การใช้งาน 5G ไทยเป็นช่วงเออรี่สเตจ ตอนนี้โอเปอเรเตอร์มองไปที่โคเวอเรจพื้นที่ใช้งานเป็นหลัก ขณะที่ผู้ใช้ในปัจจุบันมีประมาณ 3 ล้านราย ดังนั้นมองว่า โอเปอเรเตอร์ควรไปเน้นที่ คุณภาพ มากกว่าโคเวอเรจด้านพื้นที่เพื่อให้คนมาใช้ 5G เนื่องจากปัจจุบัน สิ่งที่ขับเคลื่อนการใช้งานคือ คอนเทนต์ และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือ แพ็กเกจใหม่ ๆ ในราคาที่จับต้องได้

“ตลาดไทยแอคทีฟมาก และ 5G ก็ไปเร็วกว่าที่อื่น ถือเป็นผู้นำด้วยซ้ำ แต่จะทำอย่างไรให้ประสบการณ์ 5G ดีกว่านี้ และผลักดันให้ผู้บริโภคมาใช้มากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคไทยมีการใช้งานหลากหลายและคาดหวังกบบริการสูง ดังนั้น ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้” อิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยกล่าว

อิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทย

ควบรวมทรู-ดีแทค อาจทำให้ตลาดแข่งสูงขึ้น

สำหรับประเด็นที่โอเปอเรเตอร์เบอร์ 2 และ 3 อย่าง ทรู-ดีแทค ควบรวมกัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดจาก 3 เหลือ 2 รายที่ต้องแข่งขันกัน แน่นอนว่าผู้เล่นที่น้อยลงแปลว่าตัวเลือกที่น้อยลง แต่แปลว่าเส้นแบ่งระหว่างเบอร์ 1 และ 2 ก็ยิ่งน้อย ดังนั้น การแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านของคุณภาพสัญญาณและโปรโมชัน เพราะผู้บริโภคไทยมีความคาดหวังสูงและใช้งานหลากหลาย ดังนั้น ในส่วนนี้ทางด้านผู้กำกับดูแลต้องมาดูว่าโอเปอเรเตอร์ให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคหรือยัง

สำหรับอีริคสันเอง การควบรวมนี้นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งใน ระยะสั้น มองว่าการควบรวมจะนำไปสู่การ ลดต้นทุน จะมีการรวมทรัพยากรกัน แต่ใน ระยะยาว โอเปอเรเตอร์จะต้องพยายามหาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า ดังนั้น อีริคสันต้องเกาะติดลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความต้องการของเขา และนำเสนอโซลูชั่นที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ซึ่งสิ่งที่อีริคสันกำลังมองก็คือ เทคโนโลยี สแตนด์อะโลน หรือก็คือ การใช้เทคโนโลยี 5G ที่ไม่ได้ไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีเก่าอย่าง 4G

]]>
1364923