ทาสหมา – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 16 Jan 2023 08:57:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดอินไซต์ตลาด ‘สัตว์เลี้ยง’ กับโอกาสทำเงินจาก ‘ทาส’ ที่มากกว่าขายอาหาร-อาบน้ำ-ตัดขน https://positioningmag.com/1415523 Mon, 16 Jan 2023 07:45:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1415523 ปี 2022 น่าจะเป็นปีที่เห็นภาพของ ตลาดสัตว์เลี้ยง ได้อย่างชัดเจนที่สุดในแง่ของการเติบโต เพราะจะเห็นผู้เล่นรายใหญ่หน้าใหม่ตบเท้าเข้ามาในตลาดมากมาย อาทิ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’ แบรนด์อาหารสัตว์ของอาร์เอส, ‘PET ‘N ME’ (เพ็ท แอนด์ มี) ร้านค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงครบวงจรของเซ็นทรัล และ Pet Us (เพ็ทอัส) ของโลตัส ยังไม่รวมถึงบริการอื่น ๆ อย่าง GrabPet (แกร็บเพ็ท) ที่ให้เจ้าของพาสัตว์เลี้ยงเดินทางได้ จากการที่แบรนด์ใหญ่เห็นโอกาส ทำให้ตลาด 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะเติบโตเป็น 60,000 ล้านบาทได้ภายในปี 2026 เลยทีเดียว

สาว Gen Y ตกเป็นทาสมากที่สุด

“วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล” หรือ “CMMU” ได้ทำผลสำรวจตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทย โดยพบว่า ทาสส่วนใหญ่นั้นเป็น ผู้หญิง (66.8%) รองลงมาเป็น เพศชาย (22.3%) และเพศทางเลือก (10.9%) โดยเจนเนอเรชั่นที่มีมากที่สุดคือ Gen Y (77.3%) ตามด้วย Gen Z (12%) และ Gen X (10.7%) สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้นมี 3 เหตุผล ได้แก่

  • เลี้ยงเป็นลูก (49%) : เกือบครึ่งของคนที่มีสัตว์เลี้ยงมองว่า เขาเลี้ยงแทนลูก เลี้ยงคลายเหงา ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเกิดน้อยลง แต่อัตราการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ขณะที่ 80% ของคนเลี้ยงสัตว์เป็นโสด
  • เลี้ยงเพื่อสถานะทางสังคม (33%) : บางคนเลือกจะเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ บ่งบอกตัวตน หรือสเตตัสทางสังคม
  • เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือหรือเยียวยาจิตใจ (18%) : มีบางส่วนที่เลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัด คลายเหงา คลายความเครียดจากการทำงาน ช่วยเพิ่มความสุข หรือเยี่ยวยาจิตใจผู้ป่วย ผู้สูงอายุ

น้องหมาสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอันดับ 1

จากผลสำรวจพบว่า 40.4% ของกลุ่มตัวอย่างเลี้ยง สุนัข ตามด้วย น้องแมว 37.1% และอีก 22.6% เลี้ยงสัตว์ Exotic โดยสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ปลาสวยงาม,นก, กระต่าย, เต่า และ หนู นอกจากนี้ยังมี สัตว์เลี้ยงเฉพาะกลุ่ม โดยที่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงมากที่สุดจะเป็น กิ้งก่า, ชูก้าไกลเดอร์, แมงมุม, งู และ ไก่สวยงาม

สำหรับช่องทางที่เหล่าผู้เลี้ยงสัตว์ Exotic ใช้ในการ รับข่าวสาร คือ Facebook และ Facebook Group ส่วน ช่องทางในการหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลี้ยง ดูแลรักษาจะหาจาก YouTube แต่ถ้าเป็นช่องทางที่ใช้เพื่อ หาความบันเทิง เช่น คลิปสัตว์ตลายเคลียดจะเป็น TikTok

ปีละ 2 หมื่นบาท ทาสจ่ายกับอะไรบ้าง

อาหาร : โดย 4 ช่องทางที่สำคัญสุดที่เหล่าทาสใช้หาข้อมูล คือ โซเชียลมีเดีย (39.8%) เพื่อนและครอบครัว (28%) เสิร์ชเอนจิ้น (22.3%) และ โฆษณาทีวี (9.9%) สำหรับพฤติกรรมการซื้ออาหารของเหล่าทาสนั้นจะคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยง ไม่ตุนของ และไม่เปลี่ยนแบรนด์ เนื่องจากกังวลเรื่องความไม่คุ้นเคยอาจทำให้สัตว์เลี้ยงอาจไม่ทาน หรืออาจทำให้ท้องเสีย

สำหรับปัจจัยที่จะ กระตุ้นการซื้อ ได้แก่ โปรโมชัน, ความหลากหลาย และคุณภาพ ในส่วนของ ช่องทางการซื้ออาหารสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยง (34.8%) อีคอมเมิร์ซ (22.2%) ซูเปอร์มาร์เก็ต (12.4%) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (11.8%) และคลินิกรักษาสัตว์ (8.2%) ขณะที่ความถี่ในการซื้อ กว่า 50% ซื้อมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาทต่อเดือน

บริการ : ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำตัดขน, ฝากเลี้ยง, สปานวด ฯลฯ เป็นอีกส่วนที่เหล่าทาส ใช้บริการทุกเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง โดยบริการยอดนิยม ได้แก่ อาบน้ำตัดขน (60.1%) รับฝากเลี้ยง (25.9%) สปานวด (6.7%) บริการทำเล็บ (5.8%) ส่วน ปัจจัยในการเลือกใช้บริการ ได้แก่ ทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง, ความน่าเชื่อถือ, พนักงานมีจำนวนเพียงพอและเชี่ยวชาญ และชื่อเสียงของแบรนด์

การรักษา : ในส่วนของการรักษา เหล่าทาส 43.3% เลือกที่จะรักษากับ คลินิกเอกชน ตามด้วยโรงพยาบาลสัตว์เอกชน (41.2%) และโรงพยาบาลสัตว์ของรัฐ (9.8%) โดยสาเหตุที่คลินิกเอกชนมาเป็นอันดับ 1 เพราะความเชื่อมั่น ทำเล เวลายืดหยุ่นและชื่อเสียงคลินิก

ยังมีอะไรที่เหล่าทาสมองหา

นอกจากความต้องการพื้นฐานแล้ว ยังมีอีกหลายบริการที่เหล่าทาสมองหา อาทิ Pet Wellness Center บริการตรวจสุขภาพ รักษาโรค อาบน้ำ ตัดขน สปาสัตว์เลี้ยง ฝากสัตว์เลี้ยง จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ และปรึกษาแพทย์ออนไลน์ Pet Training ฝึกนิสัยสุนัขพันธุ์ดุ คลินิกดัดนิสัยสุนัข-แมว หรือการฝึกกีฬาเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน

After Death Service บริการรูปปั้นสัตว์เลี้ยงหลังเสียชีวิต สร้อยล็อกเก็ตแทนใจ หรือตุ๊กตาสุนัขเหมือนจริง นอกจากนี้ อีกสิ่งที่เหล่าทาสสัตว์ Exotic คือ คลินิกเฉพาะทางที่ยังมีจำนวนน้อย ขณะที่ผู้ขายไม่มีคำแนะนำมากพอที่จะแนะนำการเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้

ใช้สัตว์ช่วยขายของอย่างไรให้ได้ใจทาส

สำหรับกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้สัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์ถือเป็นสิ่งที่มีมานาน แต่โฆษณาที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสอนค้าของผู้บริโภคมากที่สุดนั้นการมี สัตว์และสินค้า จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้ดีที่สุด โดย 43.82% ของผู้ทำแบบสำรวจมองว่า สัตว์ช่วยดึงดูด เปรียบเทียบขนาดสินค้าชัดเจน และไม่ดูยัดเยียดเกินไป

ตามมาด้วยโฆษณาที่มี สินค้าอย่างเดียว (37.08%) และสุดท้ายโฆษณาที่มี คน สัตว์ สินค้า (19.10%) แม้จะไม่ช่วยเรื่องปิดการขาย แต่ช่วยเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดูอบอุ่น เห็นความสัมพันธ์ ทั้งนี้ สำหรับสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากเห็นสัตว์เลี้ยงในการสื่อสารการตลาด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สายการบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์

สำหรับแบรนด์ที่กำลังมองหา Pet Influencer หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่โด่งดังบนโซเชียลมาใช้เพื่อโปรโมตสินค้า หรือบริการ ซึ่งคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดคนได้มากที่สุด คือ คอนเทนต์บันเทิง ขำขัน (68%) แต่ถ้าจะใช้วิธีนี้ต้องรีวิวอย่างสร้างสรรค์ ไม่ฮาร์ดเซลล์ อีก 48% มองว่าเขาชอบดูวิดีโอคลิปสั้น ๆ และส่วนใหญ่จะติดตามไปยาว ๆ หาเพจยังรักษาคุณภาพ ไม่ขายของมากเกินไป

สรุปกลยุทธ์มัดใจเหล่าทาสให้เปย์

  • Personalization – ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้าน
  • Easy Access – ความสะดวกและเข้าถึงง่าย คือ หัวใจ
  • Trustworthiness – มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ
  • Social Influence – อิทธิพลจากคนในสังคมสำคัญต่อการตัดสินใจ
  • Uniqueness – สร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ
  • Mental Support – การสื่อสารโดยใช้สัตว์เพื่อคลายเครียด
  • Engagement – สร้างความผูกพันกับลูกค้าจนเกิด Loyalty
  • Rights – ให้ความสำคัญกับสิทธิของสัตว์เลี้ยง
]]>
1415523
AAI เร่งลงทุนทำอาหารสัตว์ครบวงจร รับเมกะเทรนด์สัตว์เลี้ยงเหมือนสมาชิกครอบครัว https://positioningmag.com/1403312 Wed, 05 Oct 2022 07:42:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1403312 ไม่ใช่แค่เทรนด์ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นเมกะเทรนด์ไปแล้ว สำหรับการเป็นทาสสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะทาสหมา ทาสแมว ผู้บริโภคไม่ได้มองน้องๆ เป็นสัตว์ แต่เป็นเหมือนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ทำให้ได้เห็นตลาดอาหารสัตว์เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแบรนด์ใหม่เข้ามาบุกในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ตลาดอาหารสัตว์บูม

บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง แต่เดิมมีทั้งกลุ่มอาหารสัตว์ และอาหารคน ปัจจุบันรายได้ของอาหารสัตว์ได้แซงหน้าอาหารคนไปแล้ว จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งสปีดในการเติบโต

ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันมีศักยภาพการเติบโตสูง อ้างอิงข้อมูลจากบทวิจัย Fortune Business Insights ที่แสดงให้เห็นว่าภาพรวมตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลกในปี 2564 มีมูลค่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 8.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 8% ต่อปี และคาดการณ์ว่าแนวโน้มตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลกในปี 2572 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

AAI คาดการณ์ว่าจะบริษัทเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรม หรือได้ไม่น้อยกว่า 10% โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้คนให้ความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Millennial และ Gen Z เนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนใช้ชีวิต และทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น จึงมีความนิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายความเหงา เกิดเป็นเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว (Pet Humanization)

ส่งผลให้มูลค่าการขายอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงดังกล่าว อีกทั้งยังมีการจับจ่ายซื้ออาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว ให้กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นอีกด้วย

อาหารสัตว์ แซงหน้าอาหารคน

เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) เป็นหนึ่งในบริษัทย่อย และเป็นบริษัทแกนหลัก (Flagship) ของการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของ กลุ่มบมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN

ในประเทศไทยตลาดอาหารสัตว์มีมูค่า 40,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นอาหารสัตว์ 45% และอุปกรณ์เสริม สถานพยาบาลต่างๆ 55% โดยในกลุ่มอาหารแบ่งเป็นอาหารแห้ง 70% และอาหารเปียก 30%

ปัจจุบันแบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) สำหรับสุนัข และแมว ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ด มีทั้งรับจ้างผลิต OEM และแบรนด์ของบริษัทเอง ประกอบด้วย มองชู (monchou) และมาเรีย (Maria) เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดสินค้าพรีเมียม ส่วนมองชู บาลานซ์ (monchou balanced) และฮาจิโกะ (Hajiko) เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดแมส และโปร (Pro) เจาะกลุ่มลูกค้าระดับอีโคโนมี
  2. ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) มีทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าในน้ำปรุงรส และซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุกพร้อมทาน โดยรับจ้างผลิต OEM ทั้งหมด รวมไปถึงยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ (By-product) จากการแปรรูปปลาทูน่า เช่น ผลิตภัณฑ์ปลาป่น ผลิตภัณฑ์น้ำนึ่งปลา และผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา

เอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI เล่าว่า

“AAI ก่อตั้งปี 2551 เป็นบริษัทลูกของเอเชียน แรกเริ่มทำอาหารคนก่อน พวกทูน่ากระป๋องต่างๆ มีอาหารสัตว์บ้าง จนปี 2554 เริ่มทำอาหารสัตว์มากขึ้น ตอนแรกอาหารคนมีสัดส่วน 90% และมีปี 2564 อาหารสัตว์มีสัดส่วนแซงหน้าที่ 80% แล้ว แต่เดิมธุรกิจหลักรับจ้างผลิตให้ลูกค้า หรือ OEM ก่อน และในปี 2561 เริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะมองเห็นเทรนด์การเติบโต และมีความรู้การตลาดมากขึ้น เริ่มทำให้ครอบคลุมทั้งอาหารเปียก และอาหารแห้ง”

AAI ได้ปรับตัวจากการเป็น OEM รับจ้างผลิตตามโจทย์ของลูกค้า มองเห็นว่ามีความได้เปรียบทั้งโรงงาน วิธีการผลิต จึงเปลี่ยนจากผู้ผลิต เป็นเจ้าของแบรนด์แทน อีกทั้งยังมีกำไรที่คงที่ด้วย

“ตอนทำ OEM ลูกค้าก็เอาสเป็กมา ผลิตตามโจทย์ของเขา ได้มีเพิ่มทางเลือกต่างๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผันตัวมาเป็น Co-developer ร่วมกับลูกค้า ทำให้เราได้เรียนรู้เทรนด์ สิ่งที่ลูกค้าต้องการ รู้เรื่องวิธีการผลิต สินค้าตัวไหนตอบโจทย์ เอาแต่ละอย่างมาเป็นประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์ เราได้เปรียบที่มีโรงงาน รู้ว่าอะไรที่ลูกค้าต้องการ”

น้องๆ เป็นสมาชิกครอบครัว

แต่เดิมพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคนไทย จะมองน้องๆ เป็นแค่สัตว์เลี้ยง อาจจะนำวัตถุดิบที่เหลือในครัวมาทำเป็นอาหารให้น้องๆ แต่ปัจจุบันคนเลี้ยงสัตว์ได้ขัยบตัวเป็น “ทาส” กันมากขึ้น มองเห็นน้องๆ เป็นหนึ่งสมาชิกของครอบครัว คำนึงเรื่องของใช้ และโภชนาการมากขึ้น

“เทรนด์ของการเลี้ยงสัตว์มีการปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เห็นทาสหมาทาสแมวเยอะขึ้น แต่ก่อนคนเลี้ยงจะใช้ของเหลือในบ้านมาทำเป็นอาหาร ตอนนี้เขามองว่าสัตว์เลี้ยงไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นคนในครอบครัว เริ่มแคร์เรื่องโภชนาการ เทรนด์นี้มาจากประเทศมีประชากรมากขึ้น สังคมเป็นครอบครัวเดี่ยว คนแต่งงานน้อยลง มีลูกน้อยลง เอาสัตว์เลี้ยงมาเป็นสมาชิกในครอบครัว”

หรืออย่างการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เดี๋ยวนี้เหล่าทาสๆ มักจะพาสัตว์เลี้ยงติดตามไปด้วยแทบทุกที่ แต่ก่อนสถานที่ต่างๆ จะไม่ให้พาสัตว์เลี้ยงเข้า แต่ตอนนี้ทั้งศูนย์การค้า คาเฟ่ สายการบิน เอาใจทาสสัตว์เลี้ยงมากขึ้น สามารถพาเข้าสถานที่ได้

ธุรกิจอาหารสัตว์ กับการเข้า IPO

ล่าสุด AAI เดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ระดมทุนเพื่อการลงทุนในอนาคต ปัจจุบัน AAI มีทุนจดทะเบียนจำนวน 2,125 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,125 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วทั้งสิ้นจำนวน 1,700 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,700 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 637.5 ล้านหุ้น

แบ่งเป็น 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 425 ล้านหุ้น และ 2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น: ASIAN) จำนวนไม่เกิน 212.5 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้

โดยจะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก สร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต โดยมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้

“การพาบริษัทเข้า IPO ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้ AAI เติบโตได้ตัวเอง ตอนนี้มีตลาดรองรับ มีกำลังการผลิตที่ทำได้ ก่อนหน้านี้มีปฏิเสธลูกค้าไปเยอะเพราะเรื่องกำลังการผลิตไม่เพียงพอ งบลงทุนจะนำไปเพิ่มกำลังการผลิต 7,000 ตัน อีกทั้งยังจัดการดูธุรกิจต้นน้ำ มีทุนหมุนเวียน ลงทุนในต่างประเทศ ทำคลังสินค้าอัตโนมัติ”

ปี 2564 มีรายได้ 4,980 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 11% ต่อปี และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 639 ล้านบาทในปี 2564 เติบโตเฉลี่ย (CAGR)108% ต่อปี สัดส่วนของธุรกิจ OEM ยังใหญ่กว่า 93% ส่วนแบรนด์ตัวเอง 7% แต่มีการตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของแบรนด์ตัวเองเป็น 10% ใน 4-5 ปีข้างหน้า

]]>
1403312
เจาะลึกตลาด ‘สัตว์เลี้ยง’ ในยุคที่เหล่าทาสพร้อมเปย์ให้เสมือนคนใน ‘ครอบครัว’ https://positioningmag.com/1368644 Fri, 24 Dec 2021 07:55:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368644 เชื่อว่าหลายคนต้องเคยโดนความน่ารักของเหล่า ‘น้อง’ ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ จนตกเป็นทาสแน่ ๆ แม้บางคนจะไม่ได้เลี้ยงเอง แต่ในแต่ละวันก็คงได้เสพความน่ารักของน้อง ๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียให้อมยิ้มกันไป ด้วยความน่ารักดังกล่าวเลยไม่น่าแปลกใจหาก ‘ตลาดสัตว์เลี้ยง’ จะเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามอง เพราะถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่สามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ตลาด 4 หมื่นล้านยังโตไม่หยุด

มีการคาดการณ์ว่าตลาดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั่วโลกในปี 2026 จะมีมูลค่าถึง 6.9 ล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทยตลาดมีมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี โดยในหมวดอาหารมีสัดส่วนประมาณ 45% ตามด้วยธุรกิจดูแลสัตว์ (โรงพยาบาล, คลินิก) 32% และเสื้อผ้าเครื่องประดับ 23% ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 14,200 บาท/ปี จะเห็นว่าความน่ารักของน้อง ๆ มีมูลค่าไม่น้อยทีเดียว

สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ตลาดยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากไลฟ์สไตล์และไมด์เซตของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น

  • COVID-19 ทำให้คนเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน: ผลพวงการระบาดทำให้คนต้องอยู่แต่บ้าน คนจึงมองหากิจกรรมคลายเครียดเมื่อต้องใช้ชีวิตและหนึ่งในนั้น คือ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง
  • คนโสดและไม่ต้องการมีลูก: หลายประเทศทั่วโลกคนแต่งงานช้าลง และเป็นโสดมากขึ้น อย่างในไทยข้อมูลการจดทะเบียนสมรสของกรมการปกครองพบว่าจากปี 2550 เทียบกับปี 2560 จำนวนการจดทะเบียนสมรสลดลง 5.1% หรือบางคนที่แต่งงานแต่ก็ไม่อยากมีลูก ดังนั้น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนถือเป็นอีกทางเลือก
  • สังคมสูงวัย: ไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 ปัจจุบัน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ และการเลี้ยงสัตว์ไว้คลายเหงาก็เป็นหนึ่งในเทรนด์
  • Pet Humanization: หรือ การมองสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ต่างจากอดีตที่มีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง คือเลี้ยงเพื่อไว้ใช้งานหรือต้องการประโยชน์บางอย่าง เช่น เลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้าน และมีรูปแบบการเลี้ยงเป็นไปแบบง่าย ๆ
  • Social Media: จะเห็นถึงการเติบโตของเพจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่มียอดผู้ติดตามเป็นหลักล้าน ซึ่งความน่ารักของเหล่าสัตว์เลี้ยงเซเลบก็อาจจะตกให้หลายคนหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น

ต่างธุรกิจก็ขอร่วมวงด้วย

จากไมด์เซตต่อสัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้เลี้ยงต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้เหมือนกับการดูแลลูกหรือคนในครอบครัว ดังนั้น จึงเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงให้สุขภาพดี แข็งแรง และมีความสุข ดังนั้น ไม่ใช่แค่ร้าน Pet Shop, คลินิก หรือศูนย์สุขภาพสัตว์เลี้ยงจะเปิดมากขึ้น แต่บริการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่าง แกร็บ ที่จากแค่ส่งคน-อาหาร-สิ่งของ แต่ล่าสุดก็เพิ่มบริการ แกร็บเพ็ท บริการเดินทางสำหรับคนมีสัตว์เลี้ยง เพื่อพาสัตว์เลี้ยงเดินทางไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นไปเที่ยว พักผ่อน ออกกำลังกาย หรือแม้แต่ไปโรงพยาบาล และไม่ใช่แค่บนบก แต่ นกแอร์ ก็เตรียมเปิดเที่ยวบินพิเศษ ‘เที่ยวบินนี้พาน้องเที่ยว’ ที่ให้สัตว์เลี้ยงจะนั่งโดยสารเคียงข้างไปพร้อมกับเจ้าของบนเที่ยวบินได้ด้วย

หรือแม้แต่ ธุรกิจประกัน ก็เริ่มออกประกันสัตว์เลี้ยงเพื่อสร้างความอุ่นใจและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้เลี้ยง โดยในไทยก็มีอย่าง TIP PET LOVER ของทิพยประกันภัย และ เมืองไทย Cats & Dogs Plus ของเมืองไทยประกันภัย และที่น่าสนใจอีกเคสก็คือ RS ของ ‘เฮียฮ้อ’ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ที่เปิดตัวแบรนด์ Lifemate (ไลฟ์เมต)’ พร้อมลุยตลาดอาหารสัตว์เต็มตัว

เปิดใจ ‘เฮียฮ้อ’ จาก ‘ทาสน้องหมา’ สู่การปั้นแบรนด์ ‘Lifemate’ ธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด

ส่งออก โอกาสใหญ่ผู้ประกอบการไทย

จะเห็นว่าตลาดสัตว์เลี้ยงถือเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีปัจจัยบวกจำนวนมาก แต่กลับยังไม่มีผู้นำตลาดชัดเจน โดยหากสังเกตจะเห็นว่าร้านส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นรายย่อยหรือ SME ซึ่งจากช่องว่างดังกล่าวทำให้ แบรนด์ใหญ่อย่าง ‘เซ็นทรัล’ เปิดตัวแบรนด์ใหม่ PET ‘N ME เพื่อรุกตลาดสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติม จากเดิมที่เคยมีแบรนด์อย่าง PETSTER และ Cool Pets ที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงใน Tops และโซนห้างเซ็นทรัล นอกจากนี้ยังเปิดเว็บไซต์ของตัวเองอีกด้วย

เมื่อ ‘สัตว์เลี้ยง’ ตลาดใหญ่ไร้ผู้นำ ‘เซ็นทรัล’ เลยส่ง ‘PET ‘N ME’ เพ็ทช็อปครบวงจรชิงตำแหน่ง

จากโอกาสเติบโตที่สูงแต่สิ่งที่ตามมาก็คือการแข่งขันที่สูงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ SME ที่ต้องเจอกับผู้เล่นรายใหญ่ตบเท้าเข้ามาในตลาด ดังนั้นอาจต้องเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างจุดขายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยง โดย ตลาดส่งออก ถือเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก โดยปีที่ผ่านมาไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากถึง 5.35 แสนตัน มูลค่ากว่า 4.47 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ตลาดส่งออกนับเป็นอีกโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ในอนาคต

]]>
1368644
เมื่อ ‘สัตว์เลี้ยง’ ตลาดใหญ่ไร้ผู้นำ ‘เซ็นทรัล’ เลยส่ง ‘PET ‘N ME’ เพ็ทช็อปครบวงจรชิงตำแหน่ง https://positioningmag.com/1365864 Wed, 08 Dec 2021 11:35:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365864 คงไม่ต้องบอกว่าตอนนี้ ‘ตลาดสัตว์เลี้ยง’ ร้อนแรงแค่ไหน เพราะขนาด ‘เฮียฮ้อ’ แห่ง ‘อาร์เอส’ ยังเอาด้วยโดยเปิดตัวแบรนด์อาหารสัตว์ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’ หรือแม้แต่ 1 ใน 3 ร้านค้าออนไลน์ในลาซาด้าที่โกยยอดขายหลักล้านภายในวันเดียวก็เป็นร้านขายอาหารและอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ล่าสุด ‘เซ็นทรัล’ เองก็ขอขยับเข้ามาสู่ตลาดเต็มตัวโดยเตรียมเปิด ‘PET ‘N ME’ Specialty Store สัตว์เลี้ยงครบวงจร ว่าแต่ทำไมตลาดสัตว์เลี้ยงถึงมาได้รับความนิยมเอาตอนนี้เราจะไปเจาะลึกกัน

ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่เลี้ยงสัตว์แทนลูก

หากคนทั่วไปที่ไม่ใช่ทาสหมาทาสแมวคงจะไม่รู้ว่าเหล่าทาสหมดเงินไปกับสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยเดือนละกว่า 4,000 บาท โดยปัจจุบันตลาดสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาท เติบโตราว 10% ต่อเนื่องตลอด 5 ปี โดยแบ่งเป็น

  • อาหารสัตว์ 70%
  • บริการ และการรักษา 20 – 30%
  • แฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ 5%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตก็เพราะ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น

  • โสดมากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกคนแต่งงานช้าลง และเป็นโสดมากขึ้น อย่างในไทยข้อมูลการจดทะเบียนสมรสของกรมการปกครองพบว่าจากปี 2550 เทียบกับปี 2560 จำนวนการจดทะเบียนสมรสลดลง 5.1%
  • คู่รักไม่มีลูก หากอ้างอิงจากอัตราการเกิดในไทยปี 2564 เกิดต่ำกว่า 6 แสนคนครั้งแรกในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มจะลดลงอีก ซึ่งคนมีคู่หลายคนเลือกจะไม่มีลูก รวมถึงคู่รักกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไม่สามารถมีลูกได้ ดังนั้น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนถือเป็นอีกทางเลือก
  • สังคมสูงวัย ไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 ปัจจุบัน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ และการเลี้ยงสัตว์ไว้คลายเหงา ก็เป็นหนึ่งในเทรนด์
  • อยู่บ้านมากขึ้น เมื่อ COVID-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น หลายคนเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนเพื่อคลายเหงา
  • Social Media จะเห็นถึงการเติบโตของเพจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่มียอดผู้ติดตามเป็นหลักล้าน ซึ่งความน่ารักของเหล่าสัตว์เลี้ยงเซเลบก็อาจจะตกให้หลายคนหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น
  • ความต้องการสินค้าหลากหลายขึ้น เช่น เตียง ชุด เริ่มมีขายเยอะขึ้น การดูแลก็ดีขึ้น มีสปา ต้องให้วิตามิน มีโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มตาม จะเห็นว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้ดูน่าสนใจมาก

ตลาดใหญ่ไร้ผู้นำ

จะเห็นว่าตลาดสัตว์เลี้ยงถือเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีปัจจัยบวกจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือ ยังไม่มีผู้นำตลาดชัดเจน เพราะ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นรายย่อยและร้านแบบครบวงจรก็มีน้อย ส่วนใหญ่มี 1-2 สาขาเท่านั้น ดังนั้น ทาง เซ็นทรัล เลยถือโอกาสเปิดตัวแบรนด์ใหม่ PET ‘N ME เพื่อรุกตลาดสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติม จากเดิมที่เคยมีแบรนด์อย่าง PETSTER และ Cool Pets

สำหรับ PET ‘N ME จะเป็น Specialty Store สัตว์เลี้ยงครบวงจร ของเซ็นทรัล รีเทล ขณะที่ PETSTER จะเป็นโซนจำหน่ายอาหารและของใช้สำหรับสัตว์ในเครือ ท็อปส์ เน้นจับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ส่วน Cool Pets เป็นโซนจำหน่ายอาหาร ของเล่น ของใช้โดยจะเปิดในโซนห้างเซ็นทรัล ปัจจุบันมี 7 สาขา

โดยคอนเซ็ปต์ PET ‘N ME คือ pet lover community โดยจะมีโซนขายอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง, โซนอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง grooming ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นขน รวมกว่า 6,000 รายการ มีโซน other pet ไว้บริการ เช่น บริการตรวจเช็กสุขภาพ อาบน้ำ ตัดขน และสปา มีพื้นที่ pet park สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาวิ่งเล่นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมี cafe จาก Arigato ให้บริการเครื่องดื่มและอาหารทานเล่น

ลูกค้า The one card กว่า 18 ล้านคน มีราว 4 แสนคนที่ซื้อสินค้าเกี่ยวกับสัตว์ แนวโน้มก็เริ่มมาใช้เงินกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เราเห็นเทรนด์ว่ามันเพิ่มขึ้นแน่นอน และเรามองว่าตอนนี้ไม่มีใครให้ประสบการณ์กับลูกค้าได้ครบ” ไท จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการเงิน บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็นทรัล รีเทล กล่าว

ปักเป้า พันล้าน ปีแรก ขยาย 50 สาขาใน 5 ปี

เบื้องต้น PET ‘N ME เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวสต์เกต และจะขยายให้ได้ 50 สาขาภายใน 3-5 ปี เน้นเปิดในศูนย์การค้า หรือติดกับศูนย์การค้า ทั้งของเซ็นทรัลพัฒนา,​ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ และใน Community Mall ที่เซ็นทรัลพัฒนาซื้อกิจการจากสยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์​ (SF) โดยวางไว้ 4 รูปแบบ คือ

  • ร้านขนาดเล็ก 100 – 150 ตารางเมตร จำนวน 25 – 30 สาขา
  • ร้านขนาดกลาง 300 – 400 ตารางเมตร จำนวน 10 – 15 สาขา
  • ร้านขนาดใหญ่ 600 – 700 ตารางเมตร จำนวน 8 สาขา
  • Flagship 1,000 ตารางเมตร จำนวน 2 สาขา

และในปีหน้า PET ‘N ME จะเดินกลยุทธ์แบบ Omnichannel โดยเปิดช้อปออนไลน์ที่มีสินค้ากว่า 10,000 รายการควบคู่กันไป สามารถซื้อออนไลน์, Click and Collect สั่งออนไลน์รับของที่ร้าน หรือส่งด่วนใน 2 ชั่วโมง รวมถึงสามารถคุยกับพนักงานผ่านโทรศัพท์หรือไลน์เพื่อให้ช่วยเลือกสินค้าได้ด้วย โดยภายในปีแรกตั้งเป้ารายได้ที่ 1,000 ล้านบาท

เล็งจับพาร์ตเนอร์ขยายบริการ

PET ‘N ME มีแผนที่จะต่อยอดไปบริการอื่น ๆ เช่น สร้างช่องทางออนไลน์ให้เป็น Community คนรักสัตว์ โดยสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญได้ รวมถึงเพิ่มบริการ ฝึกสัตว์เลี้ยง ซึ่งทาง PET ‘N ME จะเน้น ‘จับมือ’ กับผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการในด้านนั้น ๆ อาทิ โรงพยาบาลสัตว์, สถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยง, Training Center เป็นต้น

หากดูจากแผนแล้วก็ต้องถือว่าเซ็นทรัลรุกหนักตลาดสัตว์เลี้ยง แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่เซ็นทรัลที่เห็นโอกาส เพราะอาร์เอสเองก็ประกาศว่าไม่หยุดแค่อาหารสัตว์แน่นอน ที่น่าห่วงอาจเป็นผู้เล่นรายย่อยที่ต้องเจอคู่แข่งสุดแข็งที่ทุนหนากว่ามาแย่งลูกค้า

]]>
1365864
เปิดใจ ‘เฮียฮ้อ’ จาก ‘ทาสน้องหมา’ สู่การปั้นแบรนด์ ‘Lifemate’ ธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด https://positioningmag.com/1363572 Tue, 23 Nov 2021 12:21:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363572 จากปกติหลายคนมักจะพูดว่า ‘เฮียฮ้อ’ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ นั้น ‘ยิ้มยาก’ แต่ในวันนี้กลับ ‘ยิ้มกว้าง’ เพราะพาเจ้า ‘แบงก์เกอร์’ สุนัขคู่ใจมาร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวแบรนด์ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’ ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่เคยเกริ่นไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปี 63 ว่า RS เตรียมลุยตลาดอาหารสัตว์เต็มตัว พร้อมบอกว่านี่เป็นธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด

เฮีอฮ้อ เล่าถึงที่มาที่ไปว่าเหตุผลที่เข้ามาในตลาดก็เพราะเป็น ทาสน้องหมา นี่แหละ แม้ส่วนตัวจะเป็นคนรักสัตว์ แต่ก็เพิ่งจะได้เริ่มเลี้ยงอย่างจริงจังก็เมื่อตอน 6-7 ปีก่อน เพราะมองว่าเวลากำลังเหมาะสม จนในที่สุดลูกก็ไปหาสุนัขพันธุ์เฟรนซ์บลูด็อกมาให้เลี้ยง หรือก็คือเจ้า แบงก์เกอร์ จากนั้นก็ตามมาอีก 2 ตัว คือ เจ้า ไทเกอร์ (สุนัชพันธุ์อิงลิช บลูด็อก) และ เพลเยอร์ (พันธุ์พุดเดิ้ลผสมมอลทีส)

“ย้อนไปช่วงอายุ 30 กว่า ๆ เราก็เคยเลี้ยงหมา แต่เราทำงานหนักไม่มีเวลาให้เขาเลย แต่ตอนนี้เรามองว่าเป็นช่วงที่เหมาะแล้ว ทุกวันนี้พวกเขาก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เขาจะมานั่งตักเฮียทุกเช้า สาย ๆ ก็จะจูงเดิน เลิกงานก็เล่นกับเขาคลายเครียด มีเวลาก็อาบน้ำให้บ้าง”

เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และแบงก์เกอร์

เฮียฮ้อเล่าต่อว่า พอเรารักเขาเราก็เอาแต่ใจเขา อยากดูแลเขาให้เต็มที่ จากปกติเป็นคนไม่ค่อยเดินห้างฯ ช้อปปิ้ง แต่กลายเป็นว่าเราอยู่ในร้าน Pet Shop ได้เป็นชั่วโมง ๆ สามารถยินดีจ่ายเงินซื้อของให้ บางอย่างใช้แพงกว่าตัวเองด้วยซ้ำ นี่เลยเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดแบรนด์ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’

“เขาก็เป็นจุดตั้งต้นให้เราทำธุรกิจ เราเข้าใจเลยว่าเขาเป็นเพื่อนคู่ชีวิต เป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง แบรนด์เราเลยชื่อไลฟ์เมต และนี่เป็นธุรกิจที่ผมทำแล้วมีความสุขที่สุด”

ไม่ใช่แค่เรื่องของแพชชั่น แต่หากพูดถึงโอกาสทางธุรกิจแล้วต้องบอกว่าไม่น้อย เพราะปัจจุบัน วัฒนธรรมหรือมุมมองต่อสัตว์เลี้ยงของคนที่เปลี่ยนไป คนโสดมากขึ้น หรือแต่งงานแต่ไม่มีลูก รวมไปถึงเพศทางเลือก อีกทั้งสังคมสูงวัย ส่งผลให้คนเริ่มหาน้องหมาน้องแมวมาเลี้ยง ให้ความรักเอาใจใส่

และโดยเฉลี่ยแล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 14,200 บาท/ปี ขณะที่ตลาดสัตว์เลี้ยงตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 10% และในหมวดอาหารสุนัขและอาหารแมวมีสัดส่วนประมาณ 45% หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอีโคโนมี 60% กลุ่มสแตนดาร์ด 30% และกลุ่มพรีเมียม 10%

ดังนั้น แบรนด์ไลฟ์เมตจะเริ่มจาก อาหารแห้งชนิดเม็ด สำหรับเน้องหมาน้องแมวเป็นสินค้าตัวแรก โดยมีจุดเด่นด้านการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบองค์รวม ซึ่งแบรนด์ไลฟ์เมตจะวางราคาไว้ที่จุดบนสุดของราคามาตรฐาน แต่คุณภาพใกล้เคียงกลุ่มพรีเมียม โดยความคาดหวังคือ เปลี่ยนใจคนที่มีกำลังระดับกลางยอมจ่ายเพิ่มอีกนิด หรือกลุ่มพรีเมียมที่หันมาซื้อไลฟ์เมตไม่ต้องไปรอสินค้านำเข้า

“เขาพยายามหาของดีที่สุดในราคาที่จับต้องได้ นี่เป็นจุดที่ทำให้เราเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ตอนนี้กลุ่มพรีเมียมส่วนใหญ่นำเข้า คนอยากได้แต่ราคาเอื้อมไม่ถึง ดังนั้น เราจึงอยากทำสินค้าที่ดีเทียบเท่านำเข้า เราก็น่าจะทำตลาดได้” นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ กล่าวเสริม

นำสัตว์เลี้ยงพนักงานเป็นพรีเซ็นเตอร์

ไม่ใช่แค่เฮียฮ้อที่มีความสุขกับการทำแบรนด์ไลฟ์เมต แต่พนักงาน RS ก็มีส่วนร่วมด้วย โดยเฮียฮ้อเล่าว่า ได้ให้พนักงานนำสัตว์เลี้ยงของตัวเองมาประกวดเพื่อเป็น พรีเซ็นเตอร์ ให้กับแบรนด์ นอกจากนี้ยังได้ เพนตาแกรม บริษัทด้านดีไซน์ระดับโลกเป็นผู้ออกแบบแพ็กเกจจิ้งแบรนด์

ทั้งนี้ แบรนด์ไลฟ์เมตใช้งบการตลาด 30 ล้านบาท โดยจะทำแบบครบวงจร ทั้งสร้างการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ในเครือ RS ไม่ว่าจะทีวี วิทยุ สื่อนอกบ้าน อีเวนต์ พรีเซ็นเตอร์ การให้สิทธิประโยชน์ผ่านเหรียญ Popcoin แคมเปญการแจกสินค้าตัวอย่าง การทำโปรโมชันต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้ อย่าง บอล-จารุลักษณ์ มาเขียนเนื้อร้องและทำนอง และขับร้องโดย นะ-รัตน จากวง Polycat 

เบื้องต้น ไลฟ์เมตจะเริ่มวางจำหน่ายวันที่ 1 ธ.ค. นี้ ผ่านร้านเพ็ทช็อป คลินิก และโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ RS Mall, Shopee และ Lazada

ตั้งเป้ายอดขาย 320 ล้านบาทในปีแรก

ในปีแรก ไลฟ์เมตตั้งเป้าทำรายได้ 320 ล้านบาท และปีหน้าจะเริ่มทำในส่วนของ อาหารเปียก สแน็ค และอาหารเสริมสำหรับน้องหมาน้องแมว และมีโอกาสที่จะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ แชมพู ด้วยแน่นอน และหากแบรนด์ประสบความสำเร็จ เฮียฮ้อก็พร้อมที่จะก้าวไปสู่อีโคซิสเต็มส์ของตลาด ไม่ว่าจะเป็น Pet Shop หรือแม้แต่ทำ โรงพยาบาลสัตว์ ก็มีโอกาสเป็นไปได้

“เราทำธุรกิจเรามีแพชชั่นหมด แต่เราทำแล้วสนุก เรายิ้มได้ และเป็นทิศทางที่มันน่าสนใจ โอกาสทางธุรกิจก็ตามมา ซึ่งเราวางตัวไม่ใช่แค่อาหารสัตว์แต่เป็น Pet Care เราต้องการดูแลสัตว์เลี้ยงในทุกมิติ ดังนั้นเป็นไปได้หมด”

อ่านมาจนถึงตรงนี้ คงจะเชื่อแล้วว่าเฮียฮ้อมีแพชชั่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มเปี่ยมจริง ๆ ไม่แน่ว่า เราอาจได้เห็นแบรนด์ไลฟ์เมตในสถานะอื่น ๆ อีกเร็ว ๆ นี้ก็ได้

]]>
1363572