แพร นาฎนุช วงศ์ศรีรุ่งเรือง Founder, CEO บริษัท เฌอร์คุณฎา จำกัด เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่อยากทำ ผ้าเปียกน้ำเกลือ ต้องย้อนไปเมื่อปี 2014 ที่มีลูกคนแรก ซึ่งตอนนั้นลูกมีปัญหา แพ้ง่าย และคุณหมอแนะนำว่าจากนี้ต้องพกน้ำเกลือและสำลีไว้ทำความสะอาด ซึ่งรู้สึกว่ามันไม่สะดวก เลยคิดว่าน่าจะมีผ้าเปียกสูตรน้ำเกลือที่ตอนนั้นยังไม่มีในไทย
“คือ แค่ต้องพกแพมเพิส, ขวดนม แล้วต้องมาพกขวดน้ำเกลืออีก มันพะรุงพะรังมาก เราเลยคิดว่ามันน่าจะมีสินค้าอะไรที่คุณภาพดี และทำให้สะดวกกว่านี้”
ด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบเรื่องของ สกินแคร์ และเคยทำงานในบริษัทเครื่องสำอาง ประกอบกับเห็นโอกาสว่ายังไม่มีผ้าเปียกน้ำเกลือในตลาดไทย ทำให้ แพร ได้นำ Know how จากการทำงาน ประกอบกับการศึกษาหาความรู้มาพัฒนาผ้าเปียกสูตรน้ำเกลือ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท
“เราเลี้ยงลูกเอง พอลูกใช้อะไรไม่ได้เราก็เสาะหา ศึกษาหาความรู้เอง และพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อลูก และไม่ใช่แค่เราที่คิดแบบนี้ แต่พ่อ-แม่ทุกคนก็คิดเหมือนเรา คือหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก”
ไม่ใช่แค่ตัวโปรดักส์ที่คิดมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ โจ วรวิทย์ วงศ์ศรีรุ่งเรือง Director บริษัท เฌอร์คุณฎา จำกัด หรือก็คือ สามี ของแพรก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ TINY NOSE มี Corporate Identity หรือ ลักษณะเฉพาะตัวของแบรนด์ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการช่วยคิดเรื่องการทำแบรนด์ดิ้ง โลโก้ และแพ็กเกจจิ้ง ทำให้ TINY NOSE จะมีของพรีเมียม มีกิมมิกที่เด็ก ๆ ถูกใจออกทุกไตรมาส ทำยิ่งช่วยให้แบรนด์เล่นกับอีโมชันนอลได้ บางคนซื้อไปยังใช้ไม่หมด ก็ยอมซื้อเพิ่ม
“เราก็มีคุยกับสามีว่าจะทำทิชชูเปียกน้ำเกลือนะ เขาก็ช่วยซัพพอร์ตเรื่องหลังบ้านและการออกแบบ เพราะเขาเรียนจบทางด้าน Product design มาด้วย เขาก็ชอบเรื่องทำแบรนด์ดิ้ง เรื่องออกแบบต่าง”
นอกจากนี้ แพรมองว่า อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์อยู่ในใจพ่อ-แม่ และมีการซื้อซ้ำสูงก็เพราะ ใช้ใจ ทำธุรกิจ “เราใช้ใจทำธุรกิจ อย่างออกอีเวนต์เราก็ไปเอง โดยอยู่ตั้งแต่เปิดจนบูธปิดทุกวัน เราอ่านทุกคอมเมนต์ ทุกข้อความของลูกค้าว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ลูกค้าคนไหนที่มีปัญหา แพรก็ยกหูโทรหาเองเลย คือเราดูแลทุกคน ยินดีที่จะแก้ไข”
ล่าสุด TINY NOSE ได้นำคาแรกเตอร์จากแอนิเมชันเรื่อง Cocomelon มาใช้ โดยถือเป็นแบรนด์ไทยรายแรกที่ได้ลิขสิทธิ์ ซึ่งการได้คาแรกเตอร์ขวัญใจเด็กทั่วโลกมาโลดแล่นบนบรรจุภัณฑ์ ก็จะยิ่งช่วยสร้างการจดจำ การเข้าถึง “เขาเป็นคนติดต่อเรามา ว่าอยากคอลแลบกับเขาไหม ซึ่งเราก็เห็นว่าเป็นโอกาส เพราะ Cocomelon เป็นคาแรกเตอร์ระดับโลก โดยสัญญาอยู่ที่ 1 ปี”
แน่นอนว่าการทำธุรกิจก็ไม่ได้ราบลื่น ต้องมีปัญหาและอุปสรรคเข้ามาบ้าง และปัญหาที่ TINY NOSE เจอ ก็คือช่วงปี 2018-2020 ที่แบรนด์ขยายโปรดักส์จากแค่ทิชชูเปียกไปสู่ ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก เช่น เจลอาบน้ำ, มาสก์โลชั่น และ Magic Water ซึ่งไม่ใช่แค่ตลาดแข่งขันสูง แต่เพราะเจอปัญหา COVID-19 ทำให้ซัพพลายเออร์ที่ประเทศ อิตาลี ไม่สามารถผลิตสินค้าให้ได้ ทำให้แบรนด์เลยต้องยกเลิกทำสินค้ากลุ่มนี้ไป
“ตอนนั้นเราคิดว่าเรามีฐานลูกค้าจากทิชชูเปียกน้ำเกลือแล้ว เลยอยากขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ แม้ว่าตลาดจะแข่งขันสูง แต่พอทางซัพพลายเออร์เจอโควิด เขาก็ผลิตให้เราไม่ได้ ทำให้ต้องชะงักไป และพอหลังโควิด เขาก็คิดค่าขนส่งแพงมาก เราจะขายในราคาเดิมก็ไม่ได้ เราก็เลยยุติการผลิตไป”
แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส เพราะ COVID-19 ได้นำไปสู่การพัฒนา Salinex Mist Baby สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกละอองหมอกสำหรับเด็ก รายแรกและรายเดียวของไทย โดยใช้เวลาพัฒนากว่า 3 ปี ซึ่งจุดเด่นของ Salinex Mist Baby อยู่ที่นวัตกรรม Ultra-Micro Diffuser ที่ทำให้ได้น้ำเกลือละอองละเอียด ช่วยละลายคราบน้ำมูกแห้งกรัง และล้างฝุ่น PM 2.5 ได้ และด้วยหัวสเปรย์ที่ออกแบบสำหรับจมูกของเด็กโดยเฉพาะ ทำให้ไม่สำลัก ไม่ตกใจ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป
แน่นอนว่า การที่ประเทศไทยมี อัตราการเกิดลดลง โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเกิดอยู่ที่ 4.6 แสนคน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่อัตราการเกิดต่ำกว่า 5 แสนคน ทำให้เกิดคำถามถึงผลกระทบต่อสินค้าในกลุ่มแม่และเด็ก ซึ่ง วรวิทย์ มองว่า ไม่กระทบ เพราะพ่อ-แม่ในปัจจุบัน ยอมจ่ายเพื่อลูก ถ้าพิสูจน์แล้วว่าดีกว่า ตอบโจทย์กว่า ทำให้ 4-5 ปีที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายสินค้าเด็กเพิ่มขึ้นถึง 30%
อย่างไรก็ตาม แบรนด์เองก็เห็นโอกาสของ สังคมสูงวัย ดังนั้น หลังจากเปิดตัว สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกสำหรับเด็กแล้ว ทางแบรนด์มีแผนที่จะขยายไปสู่ตลาด ผู้ใหญ่ พร้อมกับวางเป้าหมายของแบรนด์สู่การเป็นผู้นำในกลุ่มสินค้า ENT (Ear, Nose, Throat : หู คอ จมูก) ไม่ใช่แค่ทำสินค้าตอบโจทย์กลุ่มแม่และเด็กอีกต่อไป โดยในปีนี้ แบรนด์จะมีสินค้าใหม่รวมแล้ว 6 SKU โดยจะมี สินค้าใหม่ที่ขยายไปอยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่ด้วย
“ลูกค้าของเราคือกลุ่ม พ่อ-แม่ ที่จะซื้อให้ลูก ซึ่งก็เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ซื้อของให้ปู่-ย่า ดังนั้น คนซื้อคือคนกลุ่มเดียวกัน เราจึงมองสังคมสูงวัยเป็นโอกาส เพราะเราไม่ต้องพัฒนาอะไรใหม่มาก แค่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย สามารถคิกออฟได้ทันที”
ทั้งนี้ มูลค่าตลาดทิชชูเปียกในปัจจุบันยังไม่มีตัวเลข แต่ย้อนไป 4 ปีก่อน มีมูลค่าอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท ซึ่งไม่ค่อยเติบโต เพราะการมาของ ทิชชูเปียกจีน อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะทิชชูเปียกน้ำเกลือคาดว่ามีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของตลาดทิชชูเปียกทั้งหมด และ TINY NOSE ถือเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งตลาด 80%
“ตลาดทิชชูเปียกแข่งขันสูงมาก ยิ่งเจอตามตลาดนัดราคา 10-20 บาท ทำยอดบางแบรนด์หายมากกว่า 20-30% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่เราไม่ได้ไปแข่งตรงนั้น ของเราค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ขณะที่ตลาดสเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกคาดว่ามีมูลค่า 120 ล้านบาท เติบโต 5-7% ต่อปี โดยมีผู้เล่นประมาณ 6-7 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นแบรนด์ต่างชาติ และราคาก็สูงกว่าเราประมาณ 50% ดังนั้น เราจึงมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะสอดแทรกไปได้”
โดยในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ 45 ล้านบาท เติบโตเกิน 100% จากยอดขายสินค้าใหม่อย่าง Salinex Mist Baby และมั่นใจว่า 5 ปีจากนี้ รายได้บริษัทจะเติบโตต่อเนื่อง 7-10% โดยแผนของบริษัทจากนี้คือ การขยายตลาดไปต่างประเทศ และเข้าสู่ตลาด B2B ในกลุ่มคลินิกและโรงพยาบาล
สำหรับ Salinex Mist Baby บรรจุในขวดขนาด 80 มล. ราคาขวดละ 325 บาท โดยวางจำหน่ายทั้งห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านขายยา และช่องทางออนไลน์ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ FB: Tinynosebaby
]]>