ธุรกิจกงสี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 Jul 2024 13:05:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิด 5 ปัจจัยอ่อนไหวที่ทำให้ ‘ธุรกิจกงสี’ อาจล่มสลายเมื่อเปลี่ยนเจน https://positioningmag.com/1483282 Thu, 18 Jul 2024 10:59:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1483282 ย้อนไป 10 ปีก่อน มีคำว่า The Great Wealth Transfer หรือ การส่งต่อความมั่งคั่งระหว่างรุ่นครั้งใหญ่ โดย KBank Private Banking คาดว่าการส่งต่อความมั่งคั่งครั้งใหญ่ทั่วโลกกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 แต่แน่นอนว่าการส่งต่อธุรกิจไปอีกรุ่นนั้น อาจไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น และหลายธุรกิจก็ล่มสลายในเจนถัดมา

ทรัพย์สิน 600 ล้านล้าน จะถูกส่งต่อในอีก 6 ปี

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director – Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายในปี 2573 ผู้มีสินทรัพย์สูงทั่วโลกจะส่งต่อความมั่งคั่งมูลค่าสูงถึง 18.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 662 ล้านล้านบาท

โดยเมื่อเทียบเป็นรายภูมิภาคพบว่า อเมริกาเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีการ ส่งต่อความมั่งคั่งมากสุดในโลก ตามมาด้วยยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา หากเจาะเฉพาะในภูมิภาค เอเชีย พบว่า ผู้มีสินทรัพย์สูงอยู่ที่ 70,000 ราย คาดว่าจะมีการส่งต่อทรัพย์สินรวม 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90 ล้านล้านบาท

ธุรกิจกงสีที่อยู่รอดถึงรุ่น 4 มีไม่ถึง 3%

อย่างไรก็ตาม การส่งต่อธุรกิจครอบครัวเหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะทั่วโลกมีธุรกิจครอบครัวเพียง 30% ที่อยู่รอดในรุ่น 2 และมีเพียง 12% ที่ส่งต่อไปรุ่น 3 ส่วนที่ รอดไปถึงรุ่น 4 มีเพียง 3% และจากการสำรวจยังพบอีกว่า 50% ของคนที่มีธุรกิจส่วนตัว ไม่มีการสื่อสารเรื่องการส่งต่อธุรกิจครอบครัว

“การระบาดของโควิด ทำให้ครอบครัวในเอเชียเริ่มตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการส่งต่อทรัพย์สิน เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แต่แม้จะตระหนักมากขึ้น กลับมีเพียงแค่ 50% ของเจ้าของธุรกิจที่วางแผนคุยกับเจนถัดไป”

5 ปัจจัยอ่อนไหวที่อาจทำธุรกิจล่ม

สำหรับ ความอ่อนไหวของโครงสร้างธุรกิจครอบครัว ที่อาจทำให้ธุรกิจล่มสลายมีอยู่ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • ขาดมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ: หลายบ้านจะกำหนดทิศทางธุรกิจมาจากครอบครัว ซึ่งทำธุรกิจด้วยความเคยชิน ไม่มีมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหรือตลาด ทำให้ธุรกิจกงสีบางบ้านไม่ได้ปรับตัว และตายในที่สุด
  • พึ่งพาผู้บริหารมากกว่าระบบองค์กร: เจ้าของธุรกิจมักจะแทรกแซง แทนที่จะปล่อยให้องค์กรทำงานตามระบบที่ควรเป็น เช่น เจ้าของลงไปดูฝั่งการขายเอง และไม่ได้ทำตามนโยบายบริษัท ทำให้ตัวธุรกิจอ่อนไหว และเมื่อวันที่ลูกหลานมาสานต่อจะถูกคาดหวังว่า เจ้าของบริษัทจะทำได้เหมือนรุ่นก่อนที่มาช่วยไกด์แนวทางทั้งหมด แทนที่จะปล่อยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้เอง
  • ปัญหาความโปร่งใส ระบบการตรวจสอบหละหลวม จนเป็นเหตุให้เกิดการฉ้อโกง: หลายบ้านมองว่าธุรกิจก็คือทรัพย์สินส่วนหนึ่ง จึงมีการโยกเงินมาใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้ไม่ได้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
  • จะให้โอกาสลูกหลานหรือมืออาชีพ: ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างมาก โดยบางครอบครัวให้มืออาชีพมาดูแล บางบ้านให้โอกาสคนในครอบครัว และบางบ้านทำแบบไฮบริด ซึ่งก็จะยิ่งท้าทาย เพราะมีเรื่องของตัวชี้วัด, การเติบโต, ผลตอบแทน เป็นต้น
  • การจัดการบัญชีไม่เป็นระบบ: การจัดการบัญชีรวมถึงแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้ลูกหลานอยากกลับมาสานต่อธุรกิจมากขึ้น

“ปัจจัยที่ทำให้รุ่นถัดไปจะมารับช่วงต่อคือ เขาต้องการรู้ว่าจะต้องรับอะไรจากครอบครัว และอยากเข้ามาก็ต่อเมื่อมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ เขาอยากมีอำนาจในการตัดสินใจไม่ใช่แค่ให้คนที่อาวุโสกว่าตัดสินใจ เพราะทายาทบางส่วนไม่ได้อยากรับช่วงต่อ เพราะเขาก็มีสิ่งที่อยากทำ”

คนไทยยังอยากให้ลูกหลานเป็น CEO

สำหรับแนวคิดของครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่ยัง เชื่อในการส่งต่อธุรกิจให้คนในครอบครัว เมื่อเทียบกับทั่วโลกหรือในเอเชียที่เริ่ม เปลี่ยนความคิดเเล้ว ทำให้ธุรกิจครอบครัวในเอเชียเริ่ม ปล่อยให้มืออาชีพ โดยมองว่า ในเมื่อรวยแล้ว ทำไมไม่ให้โอกาสเขาไปทำอะไรที่อยากทำ

“เขามองแล้วว่าลูกเราเก่งพอจะแข่งกับคนนอกหรือเปล่า ซึ่งในต่างประเทศ เขาอยากให้ลูกหลานเป็น ผู้ที่หุ้นที่ดีพอ และปล่อยให้มืออาชีพทำไป แต่ต้องอ่านงบบัญชีเป็น ดังนั้น ถ้าอยากมานั่งทำธุรกิจก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้ แต่ธุรกิจต้องยังเติบโตได้”

อย่างเช่น ซัมซุง ที่เลือก ลูกที่เก่งที่สุด เอามืออาชีพมานั่งทุกตำแหน่งในบ้าน และเปลี่ยนนโยบายจาก Top Down มาเป็น Bottom Up และสุดท้าย แยกธุรกิจกับครอบครัวอย่างชัดเจน โดยมีการจัดระบบบัญชีและภาษีเทียบเท่าบริษัทในตลาดตั้งแต่แรก และวางบัญชีเป็นมาตรฐานโปร่งใส

Gen 2 ไป 3 จะเริ่มเปลี่ยนผ่านยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลครอบครัวอย่างจริงจังว่ามีกี่ครอบครัวที่ส่งต่อธุรกิจให้ลูกหลาน และไม่สามารถประเมินมูลค่าการส่งต่อได้ เพราะธุรกิจส่วนใหญ่จะนำสินทรัพย์กระจายในหลาย ๆ ธนาคาร แต่ปัจจุบันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของ Gen 1 ไป Gen 2

ซึ่งการส่งต่อจาก Gen 1 ไป 2 จะยังทำได้ง่าย เพราะมีความใกล้ชิดกัน เนื่องจากเป็นรุ่นพ่อสู่ลูก หรือพี่น้อง แต่รุ่น 2-3 ที่เป็นรุ่นลูกพี่ลูกน้องจะยากขึ้น เพราะไม่ได้ใกล้ชิดกันเหมือนก่อน และ ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม เป็นธุรกิจที่ ดูแลยากที่สุด เพราะการบริหารจัดการยังเป็นแบบดั้งเดิม และมีปัญหาด้านการลงบัญชีและภาษี เนื่องจากคู่ค้าไม่ได้อยู่ในระบบ Vat นี่จึงเป็นโจทย์ที่ยากมาก ที่จะช่วยให้เขาก้าวผ่านและเข้ามาอยู่ในระบบ

ปัจจุบัน KBank Private Banking มีบริการ Family Business Transformation ที่จะช่วยกำหนดกติกา, เป้าหมาย, ทิศทาง, การจัดการโครงสร้างและระบบฝั่งธุรกิจครอบครัว โดยปัจจุบันมีลูกค้า KBank Private Banking ที่ใช้บริการประมาณ 12-15% จากลูกค้าทั้งหมด 12,000 บัญชี โดยภายในสิ้นปีคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 17%

]]>
1483282
มุมมอง “ธุรกิจกงสี” ในมือทายาทรุ่นใหม่ สู้เศรษฐกิจซบเซา-โรคระบาด ธุรกิจเล็กเสี่ยงล้ม https://positioningmag.com/1268063 Thu, 12 Mar 2020 12:17:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1268063 ต้องยอมรับว่า “ธุรกิจครอบครัว” หรือที่เรามักเรียกว่า “ธุรกิจกงสี” เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ ด้วยการมีอยู่ถึง 80% ของระบบเศรษฐกิจเเละมีมูลค่ารวมถึง 30 ล้านล้านบาท โดยจำนวนเกินครึ่งของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ SET50 เป็นธุรกิจครอบครัว มีมูลค่าในตลาด รวมกว่า 4.76 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจาก ตลท. ณ วันที่ 28 ก.พ. 63)

เป็นที่น่าจับตามองว่า ธุรกิจครอบครัวไทยราว 90% กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเเละเเนวทาง “เเตกต่าง” จากคนรุ่นพ่อเเม่หรือปู่ย่าตายาย

นักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้มีความคิดเห็นต่อ “การปรับปรุงเเละพัฒนา” องค์กรไปในทิศทางใด ขณะที่ต้องเผชิญความท้าทายทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภัยโรคระบาด ค่าเงินบาทผันผวน การขาดเเคลนเเรงาน เเละการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล

เปิดรายงาน NextGen Survey 2019 ผลสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัว ฉบับแรกของ PwC โดยความท้าทายอันดับที่ 1 ของธุรกิจครอบครัวในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ในปีนี้ คือการเข้ามาของดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Digital disruption) ในอนาคต

NextGen Survey 2019 ได้สำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลกจำนวนกว่า 950 ราย รวมทั้งผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยจำนวน 31 ราย

เปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล ความหวังพาธุรกิจรอด 

“ผู้นำรุ่นใหม่คาดหวังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในกลุ่มนี้กว่า 81% ต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวอย่างเเข็งขัน ส่วนอีก 13% ตั้งใจมีส่วนร่วมในอนาคต เเละอีก 6% คิดว่าจะไม่มีส่วนในกิจการครอบครัวในอนาคต”

ผลสำรวจชี้ว่ากว่า 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ มองว่าการมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่พวกเขาจะให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ และการเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงานที่ 62% เท่ากัน

นอกจากนี้ 79% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทย เห็นว่าการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวและช่วยให้กิจการสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ขณะเดียวกัน มองว่าอุปสรรคที่ทำให้กิจการครอบครัวยังตามหลังคู่เเข่งคือ การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารอย่างมืออาชีพ เเละการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรเเบบผู้ประกอบการ ส่วนข้อได้เปรียบของธุรกิจครอบครัวคือ การมุ่งเน้นให้บริการลูกค้า มีเป้าหมายชัดเจนเเละความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร 

“การเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจในยุคนี้ แต่วิธีการที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความความสำเร็จต่างหาก คือความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจครอบครัวของไทยหลายราย ยังค้นหาหนทางไม่พบ”

นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัวและหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า แม้สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบนี้อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมไปถึงการยกระดับทักษะขององค์กรหลายแห่ง เเต่ผลลัพธ์ของการนิ่งเฉยจะยิ่งส่งผลเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลเพราะในที่สุด ทุกองค์กรไม่เฉพาะธุรกิจครอบครัว จำเป็นที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเป็นผลดีกับองค์กรในระยะยาว

Upskilling เป็นเรื่องที่รอไม่ได้

ผลจากการสำรวจ ได้เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรด้วยการยกระดับทักษะ (Upskilling) ให้กับตัวผู้นำรุ่นใหม่และพนักงาน

โดย 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทย เชื่อว่าการยกระดับทักษะจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวได้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ในเอเชียแปซิฟิก (62%) และทั่วโลก (61%)

โดยองค์กรที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานส่วนต่าง ๆ จะสามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานได้มากขึ้นอีกด้วย

“การยกระดับทักษะแรงงานเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ทำได้หลายวิธี โดยผู้นำรุ่นใหม่หรือแม้กระทั่ง พนักงาน สามารถอัพสกิลตัวเองได้ผ่านการเรียนรู้จากเว็บไซต์ แอปพลิเคชันต่างๆ คอร์สเรียนออนไลน์หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต”

เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจขนาดเล็กเสี่ยงปิดกิจการ 

ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งการระบาดของไวรัสCOVID-19 ได้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในบางกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงตามกำลังซื้อที่หดตัวจากการขาดรายได้จากแรงงานในภาคการขนส่งและท่องเที่ยว

ผู้บริหาร PwC ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อย หรือ SMEs รวมไปถึงบริษัทขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่สูง โดยมองว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 เดือนนี้อาจเห็นธุรกิจขนาดเล็กเริ่มปิดกิจการ

โดยคาดว่าการระบาดของไวรัสนี้ อาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้ ต้องติดตามว่าสถานการณ์จะกินเวลานานแค่ไหน จึงจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ซึ่งหากยืดเยื้อ มองว่าน่าจะเห็นธุรกิจครอบครัวหรือบริษัทขนาดเล็ก จะล้มหายไปจากระบบพอสมควร

“แต่ในมุมกลับกัน นี่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจครอบครัวที่มีความพร้อมด้านเงินทุนในการซื้อกิจการหรือหาพาร์ตเนอร์ เพื่อเป็นพันธมิตรเพราะน่าจะได้ของดี ราคาไม่แพงและต้นทุนทางการเงินไม่สูงนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง”

ผู้บริหาร PwC ฝากถึงผู้นำรุ่นใหม่เเละเจ้าของกิจการว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเลวร้ายแค่ไหน แต่เราไม่สามารถหยุดที่จะพัฒนาตัวเองและองค์กรได้ เพราะการยกระดับทักษะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนเพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในโลกทำงานยุคดิจิทัล

 

]]>
1268063