นายฮ้อย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 Mar 2021 23:35:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 LINE MAN Wongnai: เมื่อยูนิคอร์นเป็นแค่ตัวเลขให้นักลงทุน ขอเป็นแพลตฟอร์มให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น https://positioningmag.com/1324060 Thu, 18 Mar 2021 15:53:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324060 ในปี 2020 ได้มีข่าวใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพของไทยเมื่อ ‘วงใน’ (Wongnai) แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ได้ถูก ‘ไลน์แมน’ (LINE MAN) แพลตฟอร์ม on-demand ส่งอาหารและส่งของของ ‘LINE’ เข้าควบรวมกิจการในมูลค่า 3,300 ล้านบาท โดยได้งบลงทุนจากบริษัท BRV Capital Management (BRV) 5 เดือนผ่านไป ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ที่ได้นั่งแท่นเป็น CEO ก็ได้ออกมาอัปเดตการเติบโตของตลาด ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ รวมถึงทิศทางและกลยุทธ์ของไลน์แมน วงในของปี 2021 และวงการสตาร์ทอัพของไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนจะลงสนามรบ องค์กรต้องเป็นหนึ่งเดียว

จุดเริ่มต้นของ Wongnai นั้นมาปี 2010 จากการเป็นเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารโดยผู้ใช้งาน จากนั้นก็ขยายตัวมายังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับร้านอาหาร อาทิ จัดงานเทศกาล Wongnai Food Festival และ Food Caravan มีระบบ POS สำหรับจัดการร้านอาหาร มีแอปสำหรับรับออเดอร์ทั้งจากเดลิเวอรี่และลูกค้าไปรับเองที่หน้าร้าน มีระบบการขายดีลเพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้ร้านอาหาร จนเมื่อประมาณปี 2016 LINE MAN ได้มาชวนทำธุรกิจเดลิเวอรี่ร่วมกัน และในปี 2020 ก็ควบรวมกันในที่สุด

เมื่อ 2 องค์กรควบรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ปรับวัฒนธรรมองค์กรของทั้งคู่ให้เข้ากันก่อน โดยยอดระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องสร้างความ ‘ไว้เนื้อเชื่อใจ’ ที่ต้องเร่งสร้าง ด้วยความที่เป็น CEO ของ Wongnai มาก่อน จึงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจทีมงานของ LINE MAN ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงแสดงตัวตน แสดงถึงมาตรฐาน แสดงความจริงใจ และแสดงให้เห็นว่า ‘เรามีศัตรูคนเดียวกัน’ ดังนั้น ศัตรูอยู่ข้างนอก ไม่ใช่ภายในองค์กร

“เราโชคดีที่เคยร่วมงานกันมาก่อน ดังนั้น การรวมกันเลยไม่มีปัญหาหรือดราม่า และอีกสิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำให้เห็นว่าเรามีศัตรูคนเดียวกันที่อยู่ข้างนอก”

การแข่งขันเพิ่งมาได้ครึ่งทาง

การระบาดของ COVID-19 ถือเป็นแรงส่งสำคัญให้กับตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยโดยเติบโตเกิน 3 หลัก ซึ่งยอดมองว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมากเพราะตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยเริ่มมีการทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อปี 2018 จนถึงปัจจุบันยังเพิ่งผ่านมาได้ ‘ครึ่งทาง’ เท่านั้น

เพราะหากเทียบกับมูลค่าตลาดอาหารทั้งหมดในไทยแล้วมีสัดส่วนเพียง 5% ของมูลค่า 9 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้ใช้งานก็ยังไม่มาก ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ซึ่งเชื่อว่าตลาดมีโอกาสขยายเป็น 20% ของตลาดอาหารทั้งหมด

Photo : Shutterstock

สำหรับ LINE MAN Wongnai เองยอดออเดอร์ก็มีการเติบโตกว่า 5 เท่า ระบบ POS (Point of sale) หรือจุดชำระเงินหน้าร้าน โตขึ้น 3.5 – 4 เท่า ขณะที่การบริการก็ขยายได้จาก 7 จังหวัดเป็น 36 จังหวัด อย่างไรก็ตาม COVID-19 ก็ส่งผลกระทบกับฝั่งสื่อที่เป็นคอนเทนต์หลักของ Wongnai

“หากพูดจริง ๆ เราเองไม่ได้มีความพร้อมที่จะรับมือการเติบโตขนาดนี้ แต่เราก็ต้องไปให้เร็วที่สุด พร้อมไม่พร้อมก็ต้องวิ่ง นี่คือโลกของเรา”

ชูความหลากหลาย และผู้เล่นโลคอล

หากมองดูในตลาดประเทศไทยปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีคู่แข่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Grab, Gojek, Food Panda หรือแพลตฟอร์มคนไทยอย่าง ‘โรบินฮู้ด’ โดยผู้เล่นแต่ละรายก็มีจุดแข็งต่างกันไป ซึ่งก็ยอมรับว่า ‘กังวล’ เพราะมีการแข่งขันสูง แต่มั่นใจในจุดแข็งมากพอ ทั้งเรื่องของ ‘ทางเลือก’ ในแง่ของฝั่งร้านอาหาร และผู้บริโภค

โดยในฝั่งของร้านอาหาร ทาง LINE MAN Wongnai มีให้เลือกทั้งแบบ GP หรือ Non-GP ก็ได้ แล้วแต่ร้านค้าต้องการ สำหรับร้านที่ต้องการจะทำให้ค่าส่งถูกก็ร่วมแบบเสีย GP หรือถ้าร้านอาหารมีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้วก็สามารถเลือกแบบ Non-GP ได้ ส่วนฝั่งผู้บริโภค แพลตฟอร์มก็มีร้านค้ากว่า 300,000 ร้านให้เลือก ถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

สุดท้าย ความเป็นผู้เล่น ‘โลคอล’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มั่นใจมาก เพราะพนักงาน LINE MAN Wongnai จำนวนเกือบ 800 คน มีพนักงานต่างชาติแค่ 2 คน โดยทีมวิศวกรที่มี 150 คนเป็นคนไทยทั้งหมด ดังนั้น จึงมั่นใจว่าสามารถพัฒนาฟีเจอร์ได้ตรงตามความต้องการ ไม่เหมือนกับคู่แข่งที่อาจจะใช้ทีมจากต่างชาติ ดังนั้น ความเข้าใจในคนไทยอาจจะน้อยกว่า

ปูพรมครบ 77 จังหวัด

กลยุทธ์ของ LINE MAN Wongnai ปีนี้จะเปิดบริการให้ครบ 77 จังหวัด และจะเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น เริ่มจากแคมเปญ ‘LINE MAN Food Hero’ ซึ่งเป็นแคมเปญการตลาดใหญ่สุดที่เคยทำมา

โดยไฮไลต์ของแคมเปญ ก็คือ ‘นายฮ้อย-ล่ามทรง’ ที่จะมาเป็น ‘Food Hero’ หรือ ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรก’ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น มีโปรโมชันส่วนลดต่าง ๆ รวมถึงเอ็กซ์คลูซีฟเมนูกว่า 20 ร้านอาหาร โดยแคมเปญนี้จะยาวตลอด 2 เดือนจากนี้

นอกจากนี้ จะได้เห็นความร่วมมือกับฝั่ง LINE มากขึ้น เช่น Mini-app สั่งผ่านไลน์ได้เลยไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม และใน 2 เดือนจากนี้จะได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ทำร่วมกันออกมาอีก สุดท้าย Restaurant solution (ระบบจัดการสำหรับร้านอาหาร) ก็จะพัฒนาให้ครบทุกแกน

ภาพจาก Facebook Lineman

ยูนิคอร์นไม่ใช่เส้นชัยอีกต่อไป

เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว LINE MAN Wongnai อาจมี ‘ยูนิคอร์น’ เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กร แต่ผ่านมาปัจจุบันที่บริษัทเติบโตขึ้น 5 เท่าตัว ทำให้ยูนิคอร์นไม่ใช่เป้าหมายที่อยู่ไกลอีกต่อไป บริษัทต้อง ‘ขยับเป้า’ ให้ไกลขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป้าหมายจากนี้

คือ ทำให้ร้าน คนขับ และชีวิตคนไทยดีขึ้น และจะเป็น ‘E-Commerce Platform for Services’ ที่รวมบริการหลากหลายไว้รองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งเรื่องอาหาร, การขนส่งคน, การขนส่งสิ่งของ, การให้บริการสปา เป็นต้น

“การเป็นยูนิคอร์นไม่ได้สำคัญขนาดนั้นสำหรับคนในองค์กรและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งพาร์ตเนอร์คนขับ พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร เพราะเขาคิดแค่ทำยังไงให้มีรายได้มากขึ้น ทำยังไงให้ผู้ใช้กลับมาใช้งานซ้ำ ดังนั้น ยูนิคอร์นเป็นแค่ทางผ่าน โดยเราต้องการเป็นผู้เล่นสัญชาติไทยที่ยืนอยู่ในตลาด”

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai

ในส่วนของ ‘จุดคุ้มทุน’ อาจจะยังเปิดเผยไม่ได้ว่าใกล้ถึงจุดนั้นหรือยัง แต่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันรายได้หลักของ LINE MAN Wongnai มาจากฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งทางบริษัทไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงินอื่น ๆ อาทิ บริการปล่อยเงินกู้, ประกัน ซึ่งไม่ปิดโอกาสที่จะทำงานกับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ นอกจาก LINE ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ LINE MAN Wongnai แยกตัวออกมา

“สุดท้าย ผู้ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับ 3 ฝั่ง ได้แก่ ลูกค้า, ร้านอาหาร และคนขับให้ได้พร้อม ๆ กันจะเป็นผู้ชนะในตลาดฟู้ดเดลิเวอร์รี่ ไม่ใช่แค่สร้างประโยชน์ให้ใครฝั่งใดฝั่งหนึ่ง”

สตาร์ทอัพไทยอยากอยู่รอดต้องอึดและฝันไกล

ตลาดสตาร์ทอัพไทยไม่ได้ง่ายขนาดนั้นแล้ว เมื่อมี COVID-19 ที่ทำให้ ‘สตาร์อัพ’ บางแห่งเกิดผิดเวลา และการแข่งขันตอนนี้ยิ่งยาก เพราะเมื่อสตาร์ทก็ลงสู่สนามโลก เพราะเทคโนโลยีไม่มีพรมแดน นอกจากจะเป็น ‘Deep Tech’ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำสตาร์ทอัพต้องมีความเชื่อมั่น มีความดื้อรั้น ไม่ยอมแพ้ง่ายเกินไป แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ‘ไอเดีย’ ที่ดี ซึ่งไอเดียที่ดี จะถูกพิสูจน์โดยพนักงานที่ติดตาม

อีกสิ่งที่สำคัญคือ การมองไปข้างหน้า แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถคาดการณ์ทุกอย่างได้อย่างแม่นยำแม้แต่ตัวเอง เพียงแต่ก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลายให้ได้ อย่างไลน์แมน วงในก็ไม่ถูกจำกัดอยู่กับธุรกิจมีเดีย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมากระทบกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็จะรับมือกับสถานการณ์ได้

]]>
1324060