บัตรกรุงไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 29 Jan 2023 12:52:25 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 KTC จัดทัพองค์กร รับ CEO ใหม่ปี 67 พร้อมเป้าหมายกำไรหมื่นล้านภายใน 3 ปี! https://positioningmag.com/1416828 Sun, 29 Jan 2023 06:59:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416828 KTC หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมจัดทัพองค์กรครั้งใหญ่ กรุยทางเพื่อต้อนรับ CEO คนใหม่ในปี 2567 เตรียมบุคลากรให้มากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมกับเป้าหมายกำไรหมื่นล้านภายใน 3 ปี โดยมี 3 หัวหอก บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล และเคทีซี พี่เบิ้ม

ปีแห่งการจัดทัพใหญ่

KTC เตรียมปรับใหญ่ปี 2566 สู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง “A Transition to the New Foundation” พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเท่าทันความคาดหวังของลูกค้า ตอกย้ำความเป็น Trusted Organization ตั้งเป้าปี 2566 ทำกำไรนิวไฮต่อเนื่องดันพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” โต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,100 ล้านบาท สินเชื่อกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่งเพิ่ม 3,000 ล้านบาท และ NPL อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าปี 2022 พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืนด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาให้ดีขึ้นทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ระเฑียร ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“ในปี 2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเคทีซีทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ กระบวนการ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อขับเคลื่อนเคทีซีไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด “A Transition to the New Foundation” โดยเฉพาะการพัฒนา Mindset ของคนในองค์กรให้มีดีเอ็นเอเดียวกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่เราพยายามดูแลและพัฒนามาตลอดตั้งแต่เข้ามาร่วมงานกับเคทีซี โดยนอกจาก 3 ค่านิยมองค์กรหลัก (Core Value) ที่คนเคทีซียึดถือเป็นแนวทางในการทำงานอันได้แก่ 1.กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง 2.ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน และ 3.ทำสิ่งที่มีความหมาย และเป็นประโยชน์ จากนี้เราจะมุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้วางใจ (Trusted Organization) ภายในองค์กรให้แกร่งยิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อความไว้วางใจนี้ไปสู่สมาชิก องค์กร ผู้ถือหุ้นและสังคม”

ในปี 2566 เคทีซีจะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ (FlatOrganization) และมีหน่วยงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะบูรณาการไอที (Information Technology) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 3 มิติ คือ

  • Enterprise Architecture การจัดการโครงสร้างให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ด้านไอที และระบบปฏิบัติการ
  • Enterprise Skill Assets ส่งเสริมให้คนเคทีซีได้พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ ที่สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและเป็นประโยชน์กับองค์กร
  • Enterprise Data Assets การบริหารจัดการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย ถูกต้องและโปร่งใส เพื่อให้เคทีซีมีฐานข้อมูลคุณภาพ สนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับการดำเนินธุรกิจของเคทีซีจากนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มธุรกิจหลัก (Existing) ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันที่มีพอร์ตสินเชื่อในระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป กลุ่มธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด (New SCurve) ได้แก่ สินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม และสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง และกลุ่มโมเดลธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพาะ (Incubator) เช่น MAAI – Loyalty Platform เป็นต้น

บัตรเครดิต 

ธุรกิจบัตรเครดิตยังเป็นธุรกิจหลักที่เคทีซีให้ความสำคัญมาตลอด โดยสถานการณ์ตอนนี้เกือบทุกหมวดใช้จ่ายมีการเติบโตสูงกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 สำหรับแผนกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตในปี 2566 จะเน้นแนวคิด Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยปรับกระบวนการทำงานในทีมการตลาดให้กระชับคล่องตัวมากขึ้นบน 5 แกนสำคัญ คือ

1) การบริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ด้วยการสร้างสรรค์โปรแกรมการตลาดเพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และการนำระบบออโตเมชั่น (Automation) เข้ามาใช้ในกระบวนการของการบริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร

2) การเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป ด้วยสิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ที่ตรงใจ

3) จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตรเคทีซี เน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ หมวดร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรม (Dining& Hotel Dining) หมวดช้อปปิ้งออนไลน์ และหมวดท่องเที่ยว นอกจากนี้เคทีซียังคงเดินหน้าความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจเดียวกัน ในการทำกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ทุกหมวดใช้จ่ายสำคัญของสมาชิก และเพื่อสร้างการจดจำและผูกพันกับแบรนด์

4) ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในการจัดแคมเปญการตลาด และกิจกรรมการขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด

5) บริหารจัดการการสื่อสารการตลาด (Marketing Communications) ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์เคทีซีให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

โดยในปี 2566 ตั้งเป้ามีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ และคาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% จากปี 2565 หรือประมาณ 264,000 ล้านบาท

สินเชื่อส่วนบุคคล

ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้สินเชื่อได้ครบทุกฟังก์ชัน จนวันนี้บัตรใบเดียวก็สามารถทำได้ทั้งการเบิกใช้วงเงิน รูด โอน กด ผ่อน และแผนกลยุทธ์ในปี 2566 จะพัฒนาไปในทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เริ่มที่การเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบายแอปฯ ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอปฯ KTC Mobile ให้สะดวกขึ้นโดยเพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง และเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วยต้นทุนรับสมัครที่ต่ำแต่ได้ผลดี

รวมทั้งเดินหน้าสร้างความผูกพันระหว่างเคทีซีกับกลุ่มสมาชิก ด้วยการต่อยอดกิจกรรมสัมมนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และการส่งเสริมวินัยในการชำระ ผ่านโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยงซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพราะเป็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า จากการศึกษาลูกค้าผ่านการทำ Empathy เราจึงจัดต่อเนื่องและจะครบ 14 ครั้ง ในปี 2566 และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่เคทีซี พราว 110,000 ราย

เคทีซี พี่เบิ้ม 

สำหรับแผนกลยุทธ์ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในปี 2566 จะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ ทั้งการให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติใน 1 ชั่วโมง รับเงินทันที และเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสารและรายได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร ซึ่งได้ปรับรูปแบบบริการให้เจ้าหน้าที่ธนาคารฯ สามารถทำรายการผ่านแท็บเล็ตในการรับสมัครสินเชื่อให้กับลูกค้า และอนุมัติแบบครบวงจรภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที

รวมทั้งจะเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังแพลตฟอร์มหลักต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด  สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเคทีซี พี่เบิ้ม ตามที่เราวางบทบาทเป็นสินเชื่อทางเลือกคนไม่ท้อ เราจึงเปิดรับทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะคนทำมาหากินที่สู้ชีวิต และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนใหญ่จากสถาบันการเงินอื่น โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมียอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,100 ล้านบาท

เคทีซีจะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโดยจะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4,640 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 เคทีซีจะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) 20:80 และต้นทุนการเงินอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 2.5%-3.0%

]]>
1416828
KTC เปิดกำไรครึ่งปี 2,790 ล้านบาท ปรับโมเดลลุยธุรกิจสินเชื่อหวังเติบโตระยะยาว https://positioningmag.com/1288502 Mon, 20 Jul 2020 04:22:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288502 เคทีซีแจ้งผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2563 กำไรสุทธิครึ่งปีแรกตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 เท่ากับ 2,790 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 8.3% เล็งส่ง “พี่เบิ้ม” กลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน รุกตลาดควบคู่สินเชื่อพิโก้และนาโนไฟแนนซ์ ชิงสร้างโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว

ไวรัสทำคนไทยใช้บัตรเครดิตลดลง

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซีหรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“การดำเนินงานของเคทีซีในไตรมาสที่ 2 และครึ่งแรกของปี 2563 ยังคงความสามารถในการหารายได้ และการสร้างผลกำไร แม้ว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบกับคุณภาพสินทรัพย์และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากเมื่อสถานการณ์โดยทั่วไปดีขึ้นและมีการผ่อนคลายมาตรการลง ผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวกลับมาใช้จ่ายดีขึ้นตามลำดับ

ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง 9.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 90,613 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราที่ดีกว่าอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 5 เดือน ประกอบกับบริษัทให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน และการบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และพอร์ตลูกหนี้ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น”

บริษัทฯ ประเมินว่าหากเหตุการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่ส่งผลถึงระดับที่รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากอีก เชื่อว่าไตรมาสที่สองนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินทรัพย์มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อ COVID-19 อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ความสามารถในการชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

อีกทั้งการประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท. ในระยะที่ 2 ที่ปรับลดเพดานดอกเบี้ย ทั้งธุรกิจบัตรเครดิต 2% และธุรกิจสินเชื่อบุคคล 3% ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรนำผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก มาเป็นฐานในการประมาณการผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง

ลุยธุรกิจสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจัดการจะปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้ตอบสนองต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจ และของอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของสินเชื่อ “พี่เบิ้ม” ในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควบคู่กับการขยายสินเชื่อ “พิโก้ ไฟแนนซ์” และ “นาโน ไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว”

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563

  • กำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก 2,790 ล้านบาท
  • มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 เท่ากับ 1,149 ล้านบาท
  • รายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ครึ่งปีเติบโต 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,247 ล้านบาท
  • สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดเหลือ 31.0% เนื่องจากการลดกิจกรรมการตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว
  • หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 6.6%
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้การค้ารวม) เท่ากับ 83,486 ล้านบาท
  • ฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 3.8%) แบ่งเป็น พอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,605,461 บัตร (เพิ่มขึ้น 8.3%)
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้บัตรเครดิต) 53,242 ล้านบาท
  • ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากั90,613 ล้านบาท ลดลง 9.6%
  • NPL บัตรเครดิตตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 5.6%
  • พอร์ตสมาชิกสินเชื่อส่วนบุคคลเคทีซี (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) เท่ากับ 932,112 บัญชี (ลดลง 7.1%) จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล) 30,244 ล้านบาท  NPL สินเชื่อบุคคลตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 8.5%

เคทีซีได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ได้แก่

1. ปรับลดอัตราผ่อนชำระของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563-2564 ร้อยละ 8 ในปี 2565 และร้อยละ 10 ในปี 2566 เป็นต้นไป ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคล “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว

2. ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น การลดค่างวด เป็นต้น โดยขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยมีกลุ่มลูกหนี้เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เท่ากับ 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ 99 ราย และ

3. ปรับลดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินใหม่ ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป

]]>
1288502