ประกันรถยนต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 11 Feb 2021 11:53:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘AIS’ ผนึก ‘MSIG’ สานต่อเทรนด์ประกัน ‘ออนดีมานด์’ ใช้ AI คำนวณเบี้ย ‘จ่ายเท่าที่ขับ’ https://positioningmag.com/1319003 Thu, 11 Feb 2021 09:12:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319003 ในปี 63 ที่ COVID-19 ระบาดหนัก ๆ จนประเทศไทยต้องล็อกดาวน์ หลายคนคงได้สัมผัสกับประสบการณ์การ Work from Home ไปหลายเดือน (หรืออาจจะนานกว่านั้น) จนเกิดเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคยุค New Normal ไปแล้ว เมื่อไม่ต้องเดินทางไปทำงานเหมือนเดิมหรือเดินทางน้อยลง การใช้รถก็น้อยลงตามไปด้วย

ด้วยเทรนด์ดังกล่าวทำให้ ‘MSIG’ ผนึกกำลังกับ ‘AIS Insurance Service’ ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดทำแผนประกันภัยรถยนต์ที่มีเบี้ยสมเหตุสมผล จ่ายเมื่อขับ ไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย รวมทั้งวัดจากพฤติกรรมการขับขี่ตามคอนเซ็ปต์ “ขับไม่เหมือนกัน ทำไมต้องจ่ายเท่ากัน”

จนเกิดเป็น “ประกันขับดี” ประกันภัยรถยนต์ที่ใช้ InsurTech เต็มรูปแบบซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ให้เข้าร่วมโครงการทดสอบที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox)

ต่างจากประกันปกติอย่างไร

ประกันขับดี เป็นการประกันภัยรถยนต์ที่มีการคำนวณเบี้ยประกันภัยจากพฤติกรรมการขับขี่โดยใช้นวัตกรรมจาก IoT จ่ายเมื่อขับ หากไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย คิดค่าเบี้ยประกันตามพฤติกรรมการใช้งาน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Big Data โดยมีอุปกรณ์ MSIG Car Informatics หรือ OBD II (On-Board Diagnostic) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กใช้ติดรถ สามารถเก็บค่าตัวแปรและค่าพฤติกรรมการขับรถในเชิงลึก และละเอียดกว่า Telematics ที่เก็บเฉพาะค่าระยะทางหรือชั่วโมง โดยจะคำนวณเบี้ยประกันภัยผ่าน 5 ตัวแปร ได้แก่

  • ระยะทาง : คิดตามระยะทางที่ขับจริง ไม่ขับก็จะไม่คิดเบี้ยประกัน
  • ความเร็ว : คิดเป็นหลักกิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ระยะเวลาการขับขี่ : ยิ่งอยู่บนท้องถนนนานก็ยิ่งเสี่ยง
  • ช่วงเวลาการขับขี่ : แต่ละช่วงเวลาในการขับขี่มีความเสี่ยงต่างกัน การคำนวณจึงขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา
  • พื้นที่การขับขี่ : คิดเบี้ยต่างกันตามจังหวัดที่ขับ ซึ่งแบ่งเป็นจังหวัดเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยตามสถิติการเกิดอุบัติเหตุ

“สถิติการขับขี่ในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ผู้ขับขี่รถที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลยมีอยู่ถึง 60% กลายเป็นผู้ขับขี่ที่มีประวัติดี แต่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเท่า ๆ กับคนอื่น ๆ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิด ขับไม่เหมือนกัน ทำไมต้องจ่ายเท่ากัน” รัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าว

เหมาะกับใคร

ประกันขับดี เหมาะสำหรับผู้ขับรถที่ใช้รถน้อย หรือกลุ่มคนที่ใช้รถเป็นช่วงเวลา โดยกับผู้ขับขี่ที่ขับรถดี โดยประกันขับดี จะแบ่งค่าเบี้ยประกันออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นค่าเบี้ยประกันพื้นฐานที่ต้องชำระในขั้นตอนซื้อครั้งแรก โดยจะได้รับอุปกรณ์ (MSIG Car Informatics) จากบริษัทฯ เพื่อนำไปติดตั้งในรถยนต์

ส่วนที่สอง เมื่อติดตั้งอุปกรณ์กับตัวรถและทำการ Activate ในแอปพลิเคชัน “ประกันขับดี” หลังจากเริ่มใช้งาน จะมีการคำนวณเบี้ยประกันจากค่าชี้วัดต่าง ๆ ตามพฤติกรรมการขับขี่เป็นรายวัน โดยค่าเบี้ยจะถูกรวบรวมและตัดบัตรเครดิตที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้โดยอัตโนมัติเป็นรายเดือน โดยจะตัดบัญชีทุกวันที่ 6 ทุกเดือน

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนให้เลือกสองแบบ ได้แก่ ประกันรถยนต์ชั้น 1 เริ่มต้นที่ 6,499 บาท และประกันรถยนต์ 2+ ราคา 3,299 บาท โดยใช้กับทุกทุนประกันภัย และรถทุกรุ่น เบื้องต้น AIS Insurance Service และ MSIG ตั้งเป้ายอดกรมธรรม์ดังกล่าวในปีนี้เอาไว้ที่ 20,000 กรมธรรม์ คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกัน 160 ล้านบาท

ไม่ใช่เรื่องใหม่ เเต่เทรนด์กำลังมา

ย้อนไปปี 2562 เอไอเอส เองก็เคยได้เข้ามาในตลาดประกันภัยรถยนต์เเล้ว โดยได้นำโซลูชัน NB-IoT Motor Tracker เข้ามาเสริมขีดความสามารถให้กับธุรกิจประกันภัยรถยนต์ โดยร่วมกับบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) มาเสริมบริการประกันรถเปิด-ปิด ช่วยให้ลูกค้าจ่ายค่าเบี้ยประกันตามการใช้งานจริง (Pay As You Drive) ทำให้ลดค่าใช้จ่ายค่าเบี้ยประกันได้ถึง 40% นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ทำ ประกันรถเปิด-ปิด อย่าง TQM ก็เป็นหนึ่งในนั้น

จะเห็นว่าที่ประกันเปิด-ปิดหรือประกันที่จ่ายตามการใช้งานจริงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นวงกว้างนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเหมือนตอนที่เกิดการระบาดของ COVID-19 และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ราคาถูกลง จึงทำให้บริษัทประกันเริ่มนำอินชัวร์เทคมาใช้งานเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

อย่างในต่างประเทศนั้นล้ำหน้าไปมาก โดยสามารถเลือกคุ้มครองทรัพย์สินเป็นรายชิ้น และเลือกเปิด-ปิดความคุ้มครองเองได้ผ่านแอปฯ บนมือถือ หรือให้ลูกค้าเลือกจ่ายได้เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็มี ดังนั้นในตลาดอินชัวรันซ์บ้านเราน่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค New Normal มากกว่านี้แน่นอน

และไม่ใช่เเค่ตลาดประกันที่น่าจับตา เเต่เป็น เอไอเอส ที่กำลังรุกคืบในธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากเทเลคอมของตัวเอง โดยที่ผ่านมามีธุรกิจ เกม-อีสปอร์ต เเพลตฟอร์มวิดีโอ รวมถึง เพย์เมนต์ ดังนั้น คงต้องรอดูว่าเอไอเอสจะเหยียบขาไปในธุรกิจไหนอีกบ้าง

]]>
1319003
“อมร ทองธิว” ทายาทเจน 3 “วิริยะประกันภัย” กับความท้าทายพาธุรกิจฝ่าคลื่น COVID-19 https://positioningmag.com/1309719 Thu, 17 Dec 2020 05:00:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309719 อุตสาหกรรมประกันภัยเป็นจิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นของเศรษฐกิจไทย ระบบประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างให้เศรษฐกิจ และสังคมมีความมั่นคงพร้อมรับมือกับความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บริษัทประกันภัยของไทยผ่านบททดสอบครั้งสำคัญๆ เช่น กรณีมหาอุทกภัยปี 2554 การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ทรัพย์สินประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเม็ดเงินกว่า 410,000 ล้านบาท

บทพิสูจน์ทายาทเจน 3

วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งบททดสอบของธุรกิจประกันภัย โดย อมร ทองธิว กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจประกันภัยที่มีอายุถึง 73 ปี ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้วิริยะประกันภัยฝ่าวิกฤตมาได้ทุกครั้ง นั่นคือการปรับตัว และการยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)

อมร กล่าวว่า ระบบบริหารของวิริยะประกันภัยปัจจุบันเกิดจากวิสัยทัศน์ของท่านกรรมการผู้จัดการ สุวพร ทองธิว ที่เน้นการกระจายอำนาจให้แต่ละศูนย์ฯ สาขา บริหารจัดการเพื่อความสะดวก คล่องตัว ซึ่งเป็นระบบที่ตอบโจทย์ในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ

“แทนที่จะเป็น Corporate Centric เราใช้ Customer Centric มาหลายสิบปี และได้ผลตอบรับที่ดีเสมอมา ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมารองรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบ Customer Centric เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด”

ปรับกระบวนการประกันภัย

การยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการครบวงจรด้วยความยืดหยุ่น ในภาวะวิกฤต
COVID-19 คนไทยต้องปรับตัว วิริยะประกันภัยเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยบริษัทได้ปรับตั้งแต่กระบวนธุรกิจทั้งด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อให้สอดรับความเป็นจริงของรายได้ผู้คนที่ลดลง อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป อาทิ คนเริ่มใช้รถน้อยลง วิริยะประกันภัยจึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ตามการใช้งานและความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ในภาวะที่คนไทยเผชิญกับวิกฤตสุขอนามัยจากไวรัส COVID-19 บริษัทได้หาทางแบ่งเบาความเสี่ยงให้กับประชาชน นอกจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ประกันที่มีอยู่ให้มีราคาเหมาะสมยังได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ
“โควิด19 ชิลด์” ซึ่งสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1 ล้านกรมธรรม์ (ตัวเลขเดือน ม.ค. – พ.ค.) อีกทั้งกรมธรรม์ดังกล่าว ยังได้รับรางวัล Product Innovation Awards 2020 ประเภทการเงินการลงทุนจากนิตยสาร Business+ อีกด้วย

อมร กล่าวว่า ในขณะที่ต้นน้ำได้พยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตามปัญหาที่คนไทยกำลังเผชิญ ปลายน้ำคือส่วนบริการหลังการขาย บริษัทได้ใช้เทคโนโลยีมารองรับงานบริการเคลมที่เรียกว่า V Claim On V Call การเคลมนัดหมายผ่านวิดีโอคอลจากที่ไหนก็ได้ทุกที่ โดยไม่ต้องมีการพบปะกันตามหลักการของ Social Distancing ซึ่งบริการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

สำหรับการบริการลูกค้า บริษัทได้ยึดหลัก Customer Centric อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว บริษัทมุ่งเน้นงานบริการให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี พึงพอใจ และไว้ใจ ทั้งการบริการเคลมสินไหมที่บริษัทให้บริการลูกค้า ถือเป็น Touch Point สำคัญของลูกค้าที่บริษัทต้องใส่ใจ พัฒนาเต็มที่ เพิ่มความรวดเร็วแม่นยำ และตรวจสอบคุณภาพได้

ปัจจุบัน บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจประกันวินาศภัยโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 16% หรือ 1 ใน 6 หรือในจำนวนผู้ทำประกันภัย 6 คน เป็นลูกค้าวิริยะประกันภัย 1 คน ส่วนมาร์เก็ตแชร์ตลาดประกันภัยรถยนต์โดยรวมอยู่ที่ 24% หรือ 1 ใน 4 หรือในจำนวนรถยนต์ 4 คัน ต้องมีรถยนต์ที่ทำประกันภัยกับวิริยะประกันภัย 1 คัน

ปัจจุบันบริษัทดูแลลูกค้าอยู่ประมาณ 8 ล้านกรมธรรม์ แยกเป็น

  • ประกันรถยนต์ (Motor) 6.5 ล้านกรมธรรม์
  • การประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) อีก 1.5 ล้านกรมธรรม์

และในจำนวนนี้บริษัทได้มีโอกาสให้บริการเคลมสินไหมทดแทนคิดเป็น 1 ล้านเคลมต่อปี วิริยะประกันภัยเป็นผู้นำธุรกิจประกันภัย และเป็นผู้นำประกันภัยรถยนต์มา 28 ปี และ 33 ปี ตามลำดับ

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า อมร กล่าวว่า บริษัทจะให้ความสำคัญกับสองส่วน คือ

1. รักษาฐานลูกค้าเดิม ด้วยการเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการในด้านต่างๆ ทั้งด้านสินไหมและรับประกัน เช่น ปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป็นธรรม บริการสินไหมที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว โดยการใช้นวัตกรรมด้านไอทีมาต่อยอดพัฒนางานสินไหม เพิ่มจำนวนงานประกันใหม่ ด้วยการพัฒนา การเพิ่มช่องทางการขาย ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง

2. การเพิ่มสัดส่วนงาน Non-Motor ด้วยช่องทางการขายและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รองรับความต้องการของประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ตระหนักถึงประโยชน์ของการประกันภัยมากขึ้น เช่น ประกันสุขภาพหลากหลายแผน เรียกว่าครบทุกความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มประกัน โรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุทั้งรายเดี่ยวและครอบครัวประกันการเดินทางท่องเที่ยว ประกันภัยที่อยู่อาศัย ประกันภัยสำหรับธุรกิจ รวมไปถึงการพัฒนาองค์กรแบบบูรณาการเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ เป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงให้กับประชาชนและสังคมไทย

]]>
1309719
‘รู้ใจ’ มองอนาคตธุรกิจ ‘ประกันรถยนต์’ ในยุค COVID-19 ที่ยอดขายรถใหม่หดตัวกว่า 35% https://positioningmag.com/1294432 Fri, 28 Aug 2020 04:55:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294432 ในช่วง COVID-19 แบบนี้ ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างการจะซื้อสินค้าชิ้นใหญ่อย่าง ‘รถยนต์’ อาจจะต้องพักเบรกไว้ก่อน ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ใหม่ของไทยปีนี้จะหดตัวลึกกว่า 35% เเละแนวโน้มยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจไม่กลับมาแตะหลัก 1 ล้านคันต่อปีได้อีก และเเน่นอนว่าเมื่อรถยนต์ขายยาก อีกอุตสาหกรรมที่ต้องปาดเหงื่อก็คือ ‘ประกันรถยนต์’

จากโต 40% เป็นติดลบ

นิโคลัส ฟาเกต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท รู้ใจดอทคอม จำกัด กล่าวว่า ตลาดประกันรถยนต์ไทยปกติมีอัตราการขยายตัวกว่า 40% ต่อปี แต่เมื่อเจอวิกฤติ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด ‘รถใหม่’ ที่คาดว่าจะหดตัว ดังนั้น ปีนี้คาดว่าภาพรวมจะติดลบประมาณ 1-5% แม้จะไม่มาก แต่ระยาวยังน่าเป็นห่วง เพราะรถที่มีในตลาดจะยิ่งลดลง และอีกสิ่งที่ท้าทายคือ เมื่อกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง การตัดสินใจต่อประกันอาจลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ‘รู้ใจ’ (Roojai.com) ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นช่องทางออนไลน์ 100% ซึ่งในช่วง COVID-19 ก็ทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น อีกทั้งบริษัทยังโฟกัสที่ตลาดต่อประกันไม่ใช่รถใหม่ ส่งผลให้บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 380 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 67% โดยเป็นการเติบโตเฉพาะเดือนเมษายนถึง 45% และเชื่อว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถทำเบี้ยประกันภัยรับได้ถึง 900 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 69% จากปีก่อน

“ในวิกฤติแบบนี้ไม่ว่ารายเล็กหรือใหญ่ต่างก็ได้รับผลกระทบกันหมด ไม่ได้มีใครดีกว่าใคร แต่บริษัทที่พึ่งพาออฟไลน์จะเจ็บหนักหน่อย ส่วนภาพผลกระทบจากยอดขายรถใหม่ที่ลดลงจะเห็นชัดเจนขึ้นในปีหน้า ขณะที่กำลังซื้อที่ลดลง ถือเป็นความท้าทายที่จะทำให้ผู้บริโภคต่อประกัน”

นิโคลัส ฟาเกต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท รู้ใจดอทคอม จำกัด

ครึ่งปีหลังแข่งหนักที่ ราคา

จากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง บริษัทมองว่าจะส่งผลให้การแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรงและลดมาร์จิ้นเริ่มกลับมา โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับลดเบี้ยประกันลงอีก 3.7% และคาดว่าจะปรับลดลงอีกในช่วงปลายปีเพื่อลดแรงกดดันแก่ลูกค้า และล่าสุด บริษัทได้ออกแคมเปญทางการตลาดใหม่ในกรุงเทพฯ ด้วยข้อความ “get more, save more” (รู้ใจกว่า, ประหยัดกว่า)

“ลูกค้าที่ซื้อประกันภัยรถยนต์กับเรามี 7.5 หมื่นคัน และมีอัตราการต่ออายุถึง 78% และที่ผ่านมา ลูกค้ามองว่าเบี้ยของบริษัทกว่า 60% ถูกที่สุดติด 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรม

พับแผนสินเชื่อรถ เปิดตัวประกันสุขภาพ

ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวบริการใหม่ คือ ‘สินเชื่อรถยนต์’ แต่จากสภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้เห็นถึงความเสี่ยงของหนี้เสีย ส่งผลให้บริษัทเตรียมเปิดตัว ‘ประกันสุขภาพ’ โดยจะเน้นที่ประกันโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีเป้าหมายในระยะสั้นที่ชัดเจน เพราะยังใหม่ในตลาด และมองว่าตลาดประกันสุขภาพเป็นเรื่องระยะยาว

“เราคิดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่มองว่าจะเปิดตัวในอีก 2-3 ปี แต่พอมีวิกฤติ COVID-19 ที่เราเห็นว่าประกัน COVID-19 สามารถขายได้ถึง 8 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนหันมาสนใจในประกันสุขภาพมากขึ้น เราจึงถือโอกาสเข้าทำตลาดนี้”

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าตลาดประกันรถยนต์ยังเติบโตได้ เพราะเชื่อว่าแนวโน้มจำนวนรถยนต์จะยิ่งเพิ่มขึ้นในตลาด ขณะที่ราคาเบี้ยประกันก็ยิ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับประกันสุขภาพ ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดประกันสุขภาพมีความท้าทายกว่าประกันรถยนต์ ก็คือ ‘ความซับซ้อน’ ยิ่งการขายบนออนไลน์ที่เน้นความง่ายและต้องสามารถซื้อได้เลยยิ่งเป็นความท้าทาย

]]>
1294432