ป้อม ภาวุธ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 19 Dec 2024 03:12:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จับตา 12 ประเด็นสมรภูมิ ‘อีคอมเมิร์ซ’ 2025 ปีที่ต้องรับมือกับ ‘สินค้าจีนคุณภาพดี’ และ E-Commerce Tax! https://positioningmag.com/1504098 Wed, 18 Dec 2024 10:39:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504098 ปี 2025 จะเป็นอีกปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการอีคอมเมิร์ซ และเหมือนเป็นธรรมเนียมของทุกปีที่ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กูรูผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด จะมาวิเคราะห์ถึงเทรนด์ เพื่อช่วยให้ผู้ค้าออนไลน์เตรียมพร้อม ปรับตัว และไม่พลาดโอกาสในการทำธุรกิจในตลาดออนไลน์ที่ท้าทายนี้

3 ประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการไทยต้องเจอปีหน้า

  • สินค้าจีนคุณภาพดีถูกกฎหมายเตรียมบุกไทย

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สินค้าจากจีนที่ไม่ผ่านมาตรฐานทะลักเข้าสู่ไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2025 คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายของภาครัฐเริ่มเข้มงวดขึ้น และการแข่งขันในประเทศจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สินค้าจีนที่มีคุณภาพหลายรายหันมาขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่สำคัญของจีน ดังนั้นจะเห็นสินค้าจีนที่มีคุณภาพและนำเข้ามาแบบถูกกฎหมาย เข้ามาแข่งขันกับ ผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

  • e-Commerce Tax มาแน่ ผู้ขายเตรียมปรับราคาสินค้า

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ประกาศให้อีมาร์เก็ตเพลสที่มียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี เช่น Lazada, Shopee, TikTok, Grab, Foodpanda, Line Man ต้องส่งรายได้ของร้านค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มให้กับกรมสรรพากร

ในปี 2025 กรมสรรพากรจะเริ่มเห็นตัวเลขยอดขายที่ชัดเจน และจะเริ่มเก็บภาษีจากผู้ค้าเหล่านี้ ซึ่งหมายความว่า    ผู้ค้าในอีมาร์เก็ตเพลสที่เดิมไม่ได้คำนึงถึงภาษี จะต้องปรับโครงสร้างราคาและจัดการภาษีในธุรกิจออนไลน์ของตนเองด้วย

  • Vertical Commerce การค้าเฉพาะกลุ่มมาแรง

Vertical Commerce คือ การขายสินค้าในกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น สินค้าเด็ก สินค้าสัตว์เลี้ยง สินค้าผู้สูงอายุ สินค้าเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า พบได้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Line และ Facebook

การเติบโตของ Vertical Commerce เกิดจากการสร้าง Vertical Community หรือชุมชนกลุ่มเล็กที่มีความสนใจเหมือนกัน ซึ่งการรวมตัวของชุมชนเหล่านี้จะนำไปสู่การซื้อขายที่เฉพาะเจาะจง ช่วยให้ผู้ค้าปิดการขายได้ง่ายขึ้น

ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด

4 เทรนด์การค้าที่ยังมาแรง

  • TikTok Commerce ที่ขยายจากสินค้าสู่บริการ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การขายสินค้าผ่าน TikTok เติบโตขึ้นมาก และ TikTok ก็ยังมุ่งการลงทุนและขยายตลาดในด้าน TikTok Commerce อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ TikTok Shop ซึ่งกำลังพัฒนาไปไกลกว่าการขายสินค้าที่จับต้องได้ โดยกำลังก้าวไปเข้าสู่การขายบริการต่าง ๆ เช่น บัตรกำนัลโรงแรมและร้านอาหาร

ปี 2025 TikTok จะกลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเซอร์วิสที่ครบวงจร โดยผสานคอนเทนต์ คอมมูนิตี้ และคอมเมิร์ซ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับทำการตลาดและขายสินค้า ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซดุเดือดยิ่งขึ้น

  • Video Commerce ดันยอดขายออนไลน์ผ่านวิดีโอ

เมื่อ TikTok แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทรนด์ Video Commerce หรือการขายผ่านวิดีโอ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่ดุเดือด โดยแพลตฟอร์มวิดีโอต่าง ๆ พยายามปรับตัวและผสานระบบการขายเข้าไปในคอนเทนต์ของตนเอง เช่น การจับมือระหว่าง YouTube กับ Shopee เพื่อให้สามารถใส่ลิงก์ร้านค้าและสินค้าในวิดีโอได้โดยตรง และ Facebook กับ Instagram ที่เริ่มรองรับการใส่สินค้าในวิดีโอ ทำให้ผู้ชมสามารถกดซื้อสินค้าได้ทันที

Video Commerce จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานวิดีโอและการขายที่ทำให้เกิดประสบการณ์การช้อปปิ้งที่มีความบันเทิงและดึงดูดใจมากขึ้น เทรนด์นี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายและลูกค้าผ่านคอนเทนต์วิดีโอที่น่าสนใจ

  • Affiliate Marketing ช่องทางการขายที่ไม่ควรมองข้าม

การทำตลาดแบบ Affiliate Marketing จะเป็นเทรนด์ที่มีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกิจออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Shopee, Lazada, TikTok จะเปิดโอกาสให้เจ้าของสินค้านำสินค้าไปฝากไว้ พร้อมตั้งค่าคอมมิชชันให้กับผู้ที่นำสินค้าไปขายต่อ ซึ่งการทำตลาดแบบนี้จะทำให้ KOL และอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีฐานลูกค้าของตัวเอง สามารถนำสินค้าที่เจ้าของสินค้าฝากขายมาโปรโมตให้กับผู้ติดตาม เมื่อเกิดยอดขายก็จะได้รับคอมมิชชัน ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของตลาดออนไลน์ และเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าทำการตลาดหรือโฆษณาแพงๆ เพียงจ่ายแค่ค่า Affiliate หรือค่า marketing fee

 5 แนวทางรับมือการผูกขาดจากมาร์เก็ตเพลส

ปี 2025 ชัดเจนมากว่าอีมาร์เก็ตเพลสในไทยถูก ผูกขาดเบ็ดเสร็จโดยยักษ์ใหญ่ต่างชาติ เพียงไม่กี่ราย ทำให้ขึ้นค่าธรรมเนียมได้อย่างตามอำเภอใจโดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น อีมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ยังยึดข้อมูลลูกค้า ทำให้ผู้ค้าเข้าไม่ถึงชื่อ เบอร์โทร หรือแม้แต่ที่อยู่ของลูกค้า ต้องตกอยู่ในสถานะจำยอม ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้าไปทำการตลาดเอง จะย้ายฐานลูกค้าข้ามไปแพลตฟอร์มอื่นก็ทำไม่ได้

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดอีมาร์เก็ตเพลสจะดุเดือดมากขึ้น หลายแพลตฟอร์มไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นพื้นที่ขายสินค้า แต่กำลังรุกเข้าไปในธุรกิจอื่นที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น บางแพลตฟอร์มสร้างระบบการชำระเงินของตนเอง และมีบริการขนส่งเพื่อรองรับธุรกรรมภายในระบบ อย่างกรณีของ Shopee ได้ขยายไปสู่ฟู้ดเดลิเวอรี่ ขายประกัน และให้บริการสินเชื่อด้วย ส่วน Grab ที่เริ่มจากบริการขนส่งสินค้าและเดลิเวอรี่ก็ได้ขยายมาสู่บริการสินเชื่อสำหรับผู้ค้าบนแพลตฟอร์มและไรเดอร์

  • ช่องทางการค้าของตัวเอง (Owned Channel) ลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส

การผูกขาดและยึดข้อมูลลูกค้าโดยอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ผู้ค้าควรหันมาพัฒนาช่องทางการขายของตนเอง หรือที่เรียกว่า Owned Channel การทำ Owned Channel ก็เหมือนการที่เรา “สร้างบ้าน” เอง ส่วน E-Marketplace คือคอนโดที่เรา “เช่า” เขาอยู่ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ สามารถสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการซื้อซ้ำได้มากขึ้น

ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการที่จะทำให้ Owned Channel เชื่อมต่อระบบชำระเงินและระบบขนส่งได้โดยตรง ซึ่งช่วยให้ธุรกรรมคล่องตัว และลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส เช่น บริการจาก Pay Solutions ที่เชื่อมต่อกับระบบชำระเงินของ Owned Channel ได้ทุกช่องทาง สามารถรองรับการชำระผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บัตรเดบิต บัตรเครดิต Mobile Banking หรือ Alipay WeChat Pay และสามารถชำระที่เคาน์เตอร์ด้วยเครื่องรูดบัตร All-in-one รองรับการผ่อนชำระทุกธนาคาร

  • 3C Commerce สร้างความยั่งยืนผ่านคอนเทนต์และคอมมูนิตี้

การค้าออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งแค่ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่กำลังก้าวสู่เทรนด์ที่เรียกว่า 3C Commerce ซึ่งประกอบด้วย 1.Content การสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ ช่วยสร้างการรับรู้และความสนใจในตัวสินค้า 2.Community เมื่อมีคอนเทนต์ที่ดี ย่อมดึงดูดผู้ติดตาม สร้างฐานแฟนคลับ และสร้างชุมชนที่มีความผูกพันกับแบรนด์ 3.Commerce คอนเทนต์และคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่การซื้อขายสินค้า สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ค้าและลูกค้า

3C Commerce จึงช่วยเพิ่มความผูกพันที่ทำให้ลูกค้าไม่เพียงซื้อสินค้า แต่ยังติดตามและสนับสนุนแบรนด์อย่างต่อเนื่อง การขายออนไลน์จึงไม่เป็นเพียงการทำธุรกรรมอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และเริ่มขยับไปเป็นดิจิทัลเซอร์วิสมากขึ้น

  • AI Commerce ขับเคลื่อนอนาคตอีคอมเมิร์ซ

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผนกลยุทธ์ ออกแบบ ไปจนถึงการทำโฆษณา ทุกขั้นตอนจะมี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน ดังนั้น การผสาน AI เข้ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มความสะดวกสบาย แต่เป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งให้ดียิ่งขึ้น

  • e-Commerce Automation ระบบอัตโนมัติ ยกระดับธุรกิจออนไลน์

E-Commerce Automation หรือระบบอัตโนมัติสำหรับอีคอมเมิร์ซ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่แค่การขายสินค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการธุรกิจทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์ม เช่น การจัดการออเดอร์ การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ระบบบัญชีออนไลน์ การจัดการขนส่ง การบริหารโฆษณา การตอบกลับอัตโนมัติสำหรับลูกค้า ซึ่งการเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ลดความซับซ้อนของงานที่ต้องทำด้วยตนเอง และเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกิจ

  • e-CommerceListening ผู้ช่วยวิเคราะห์ตลาด

ปัจจุบัน ข้อมูลออนไลน์มีอยู่มากมายมหาศาล กระจัดกระจาย เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น E-Commerce Listening จะเข้ามาเป็นเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นในการขายสินค้าออนไลน์ โดยช่วยติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าทุกชิ้นในตลาดไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคา ข้อมูลสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน ยอดขายและกลยุทธ์ของคู่แข่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม วางแผนการตลาดได้แม่นยำ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี

]]>
1504098
ฉายภาพวิกฤต ‘SME’ โดย ‘ป้อม ภาวุธ’ ในวันที่กำลังถูกปล่อยให้ตาย! https://positioningmag.com/1484508 Wed, 31 Jul 2024 15:59:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1484508 ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงแทน SMEs ไทย สำหรับ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด โดย ป้อม จะมาฉายภาพถึงสถานการณ์ปัจจุบันของ SMEs ในวันที่ตลาดอีคอมเมิร์ซถูกยึดครองโดย จีน

SMEs ยิ่งขายยิ่งขาดทุน

นับตั้งแต่ปี 2562 ภาพรวม ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย จนถึงปี 2566 มีการเติบโตถึง 41.5% จำนวนผู้ใช้ก็เพิ่มจาก 30.7 ล้านคน เป็น 41.5 ล้านคน ขณะที่ยอดใช้จ่ายต่อคนก็เพิ่มขึ้นจาก 2,970 บาท เป็น 8,840 บาท และในปีนี่ ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยคาดว่าจะมีมูลค่าเฉียด 7 แสนล้านบาท เลยทีเดียว 

แม้ภาพรวมอีคอมเมิร์ซจะเติบโต แต่ ป้อม ภาวุธ อธิบายว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้โตตาม เพราะมีความน่ากลัวหลายอย่างซ่อนอยู่ โดยเฉพาะการถูก ผูกขาด จากผู้เล่น 3 รายหลัก ได้แก่ Shopee, Lazada และ TikTok ซึ่งร้านค้าที่ต้องพึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ต้องยอมจ่าย ค่าบริการ กลายเป็นว่า ไม่ขายออนไลนก็ไม่ได้ แต่มาขายออนไลน์ยิ่งขาดทุน

“จะเห็นว่าไทยต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติหมดเลย ซึ่งมันทำให้เราเสียเปรียบ เพราะต่างชาติคุมหมดทำให้แพลตฟอร์มสามารถขึ้นราคาค่าบริการแพลตฟอร์ม โดยบางแพลตฟอร์มขึ้นราคาถึง 300% ภายในปีครึ่ง จากที่ไม่เก็บเลย ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 7-10% และเราไม่สามารถไปชะลอได้”

ท้าทายรอบด้าน

เมื่อร้านค้าออฟไลน์ ต้องขึ้นมาแข่งขันบนออนไลน์ ก็ต้องเจอกับการแข่งขันด้าน ราคา ที่รุนแรง เพราะต้องเจอกับ สินค้าจีน ที่ทำราคาได้ดีกว่า และเริ่มส่งเร็วขึ้น นอกจากนี้ อีกจุดที่เสียเปรียบก็คือ ร้านค้าไม่ได้ ข้อมูลลูกค้า เพราะแพลตฟอร์มปิดทั้งหมด เพื่อไม่ให้ร้านค้าไปทำการตลาดทีหลัง ทำให้เป็นการล็อกให้อยู่แต่บนแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ในปีหน้าแพลตฟอร์มทั้งหมดต้องส่งข้อมูลให้ กรมสรรพากร อัตโนมัติ ทำให้ร้านค้าเล็ก ๆ ที่ไม่เคยเสียภาษีต้องเสียภาษี ดังนั้นจะเห็นว่า SMEs ที่เป็นกระดูกสันหลังกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้านและ ย่ำแย่ลง

“เฉพาะตอนนี้ มูลค่าสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในไทยคาดว่ามีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้อาจจะดีหน่อยที่รัฐบาลออกกฎเก็บ Vat สินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท”

อยากรอดต้องเน้นคุณภาพและส่งออก

ภาวุธ มองว่า SMEs ที่เน้นนำเข้าของจากจีนมาขายอาจจะอยู่ยาก เพราะจะสู้ราคาไม่ได้ แต่ต้องแข่งด้วย แบรนด์ และ คุณภาพสินค้า เน้นที่ประสบการณ์ นอกจากนี้ อย่าไปคนเดียว ต้องหาพันธมิตรเพื่อแบ่งทรัพยากรหรือลูกค้า ที่สำคัญต้อง หาตลาดใหม่ ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายใหม่หรือการ ส่งออก รวมไปถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ไม่ใช่อยู่แค่บนแพลตฟอร์ม สุดท้าย ต้อง นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้คน เช่น สามารถให้ลูกค้าผ่อนได้ ใช้ระบบออโตเมชั่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ SMEs ที่เห็นในปัจจุบันคือยัง ไม่ตื่นตัวกับการส่งออก เพราะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาษา ระบบการบริหารจัดการ และ ข้อกำหนดของแต่ละประเทศ ซึ่ง SMEs อาจทำความเข้าใจและดำเนินการได้ยาก ดังนั้น อยากให้ ภาครัฐ ควรสนับสนุนการพา SMEs ไปตลาดต่างประเทศ มีคลังสินค้าในประเทศนั้น ๆ มีคนช่วยโพสต์สินค้าขายในประเทศนั้น ๆ

“ความซวยคือ SMEs เราแทบไม่มีอะไรไปขาย เพราะระบบ SMEs แทบพังหมดแล้ว สู้ต้นทุนจีนไม่ไหว อาจจะมีเรื่องของอาหาร ผลไม้ ที่อาจสู้ได้ แต่รัฐบาลต้องช่วย เพราะเขาเข้มงวดกว่าเรา ไม่เหมือนเราที่เปิดให้เข้ามาง่าย ๆ”

แค่ 3 ข้อ ขอภาครัฐ

ภาวุธ มองว่า มีเพียง 3 ข้อที่อยากให้รัฐบาลทำ ได้แก่

  • บังคับใช้กฎระเบียบเดิมให้เข้มแข็ง เช่น คุมการนำเข้าสินค้าที่เข้มงวด อย่างให้สินค้าที่ไม่มี มอก. หรือ อย. เข้ามาไทย รวมถึงเข้มงวดเรื่องการ จัดตั้งบริษัท
  • ปรับเกณฑ์ให้คุ้มครองผู้ประกอบการ
  • สนับสนุนผู้ประกอบการจริง ๆ ไม่ใช่แค่จัดงานให้ความรู้

“ไม่ต้องกีดกันสินค้าจีนหรอก เราแค่ทำตามกฎระเบียบให้ได้ก่อน เพราะตอนนี้สินค้ามันหลุด มอก. หรือ อย. หมดเลย พอไม่มีอะไรกั้นก็บ่าเข้ามา SMEs ไทยก็สู้ไม่ได้ ก็เลือกจะปิดโรงงานแล้วนำเข้ามาถูกกว่า มันก็กระทบเป็นลูกโซ่หมด ต่างจากบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียที่ไม่ปล่อยให้แพลตฟอร์มหรือสินค้าจีนเข้ามาง่าย ๆ”

ทุกคนแทบปล่อยมือกับ SMEs หมดแล้ว

หากนับเฉพาะบริการ เพย์เมนต์เกตเวย์ ตอนนี้ เพย์ โซลูชั่น (Pay Solution) ถือเป็น ผู้เล่นไทยรายเดียวในตลาด เพราะผู้ให้บริการไทยรายอื่น ๆ ถูกต่างชาติซื้อไปหมดแล้ว และบริการเหล่านั้นจะเน้นจับลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ SMEs ที่คิดเป็น 80% ของประเทศกลับถูก ปล่อยมือทิ้ง SMEs หมด 

อย่างไรก็ตาม เพย์โซลูชั่นจะเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเป็นหลัก โดยจะเข้าไปช่วยระบบ ชำระเงิน เช่น บริการเครื่องรูดบัตร, ระบบตัดเงินอัตโนมัติ, ระบบผ่อนชำระเงิน, รับเงินจากต่างประเทศ และเชื่อมกับระบบ CRM รวมถึงช่วยออก E-Tax และ Invoid

โดยปีนี้ เพย์โซลูชั่นตั้งเป้าเพิ่มทรานแซคชั่นเป็น 7,800 ล้านบาท มีรายได้ 160 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะบุกที่ตลาด ออฟไลน์ มากขึ้น เพราะเป็นตลาดใหญ่ และธุรกิจออนไลน์หลายธุรกิจเริ่มจากออฟไลน์ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าออฟไลน์ของบริษัทมีสัดส่วนเพียง 5% แต่อนาคตต้องการเพิ่มเป็น 50% 

“SMEs มันกระจัดกระจายมาก มันเลยยุ่งยาก ทุกคนเลยคิดจะจับแต่รายใหญ่ ทำให้ตอนนี้ SMEs มันพังมากและกำลังจะตาย คนจีนมีเทคโนโลยีเพียบ แต่ไทยยังใช้กระดาษอยู่เลย เราเลยอยากจะช่วยรายย่อยพวกนี้ แต่เพย์เมนต์มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเรามีพาร์ทเนอร์อื่น ๆ เช่น ระบบบัญชี, ระบบบริหารข้อมูลลูกค้า นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราไปคนเดียวไม่ได้”

ปีหน้าจะพาผู้ประกอบการไทยไปต่างประเทศ

ภาวุธ ทิ้งท้ายว่า ปีนี้จะเป็นการดึงผู้ประกอบการออฟไลน์ขึ้นมาออฟไลน์ เพราะ SMEs ไทยยังไม่ค่อยใช้เทคโนโลยี แต่ปีหน้าตั้งใจจะช่วยพาผู้ประกอบการไทย ส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งไมด์เซ็ทของบริษัทคือ การที่บริษัทจะโตได้ ต้องทำให้ลูกค้าโตก่อน

“SMEs ไทยบางรายอยู่แบบเดิมมานานและไม่อยากเปลี่ยน ดังนั้น ต้องมีโรลโมเดลก่อน ให้คนไทยเห็นว่าดีถึงจะอยากไปใช้ตาม และตอนนี้ระบบไอทีถูกลง ดังนั้น อย่างน้อยเครื่องมือก็ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานเขาดีขึ้น ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องช่วย SME ด้วย”

]]>
1484508
‘ป้อม ภาวุธ’ ฉายภาพ ‘อีคอมเมิร์ซไทย’ ปี 2024 ในวันที่ถูกต่างชาติ ‘ผูกขาด’ โดยสมบูรณ์ https://positioningmag.com/1458915 Tue, 16 Jan 2024 13:30:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1458915 เปิดปีใหม่มาแบบนี้ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานบริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซไทย ก็ออกมาพูดถึง ภาพอีคอมเมิร์ซไทย ในปี 2024 ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ป้อม ภาวุธมองก็คือ อีคอมเมิร์ซไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติอย่างสมบูรณ์แบบ

E-Commerce ไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติโดยสมบูรณ์

ปัจจุบันช่องทางการค้าขายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือ การซื้อขายผ่านทางอีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) รองลงมาคือทางโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce) ซึ่งปีนี้การซื้อขายผ่านทาง แอปพลิเคชันสั่งอาหาร หรือ On-Demand Commerce กลายเป็นช่องทางใหม่ที่คนไทยนิยมซื้อสินค้า ซึ่งแทบทุกช่องทางมาจากผู้ให้บริการจากต่างประเทศทั้งสิ้น

โดยหลังจากที่ขาดทุนติดต่อกันหลายปีเป็นหมื่นล้าน เหล่าผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสต่างเริ่มทำกำไรแบบชัดเจน โดยผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศไม่ได้สร้างระบบตลาดนัดเพื่อการซื้อขายเท่านั้น แต่เน้นให้บริการครบทั้งระบบนิเวศของการค้าออนไลน์ 3 ส่วน ได้แก่

  • ซื้อ (Buy) ผ่านทาง Marketplace (Shopee, Lazada)
  • จ่าย (Pay) ผ่านบริการกระเป๋าชำระเงินของตัวเอง (Shopee Pay, LazPay)
  • ส่ง (Delivery) ผ่านบริการบริษัทส่งของๆ ตัวเอง (Shopee Express, Lazada Express)

ด้วยความที่มีระบบนิเวศครบวงจร ทำให้บริษัทเหล่านี้มีจุดแข็งเหนือกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่มีให้บริการเฉพาะทางเท่านั้น เมื่อสามารถควบคุมตลาดซื้อขายออนไลน์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ฮั้ว’ และขึ้นราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้ชัดจากกรณีการขึ้นราคาค่าบริการของการขายของในอีมาร์เก็ตเพลสอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ ที่ผ่านมา Shopee และ Lazada มีการขึ้นราคาค่าบริการสูงถึง 150% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7 เดือน

ดังนั้น จะเห็นว่าผลประกอบการของบริษัทขนส่งในประเทศไทยที่ขาดทุนเกือบทุกราย อย่างไปรษณีย์ไทยขาดทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท Kerry Express และ Flash Express ขาดทุนนับหมื่นล้านบาทเช่นกัน แต่ผู้ให้บริการขนส่งครบวงจรอย่าง Shopee, Lazada และ J&T มีกำไรมากกว่า เพราะให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองและขนส่งสินค้าด้วยบริษัทขนส่งของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและบริการได้ดีกว่า

สินค้าจีนยังคงเข้ามาขายในไทยอย่างต่อเนื่อง

อีกจุดที่ประเด็นที่ป้อม ภาวุธ เน้นย้ำเสมอก็คือ สินค้าจีนยังคงเข้ามาขายในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบขนส่งจากจีนมาไทยสะดวกขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรขาเข้า โดยนำสินค้าไปวางไว้ในโกดังเขตปลอดอากร (FreeZone) ทำให้สินค้าจีนมีความได้เปรียบกว่าสินค้าในประเทศหรือผู้ที่นำเข้าเสียภาษีอย่างถูกต้อง

แม้ว่าภาครัฐไทยได้ออกมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าที่ไม่มี มอก. อย. และมาตรฐานต่าง ๆ ออกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำให้สินค้าจีนที่ไม่ได้มาตรฐานบางส่วนไม่สามารถขายได้ แต่สินค้าเหล่านี้ก็ยังคงลักลอบขายในช่องทางออนไลน์อื่นที่รัฐควบคุมไม่ถึง

แนะรัฐควรมีมาตรการกำกับดูแล

สำหรับประเด็นที่อีคอมเมิร์ซถูกผูกขาดโดยต่างชาติ ป้อม ภาวุธ แนะนำว่า ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการค้าออนไลน์อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพราะหากปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามามีบทบาทในการค้าออนไลน์โดยไม่มีข้อจำกัด ในอนาคตอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยถูกครอบงำและเสียเปรียบได้

ด้านการทะลักของสินค้าจีน ต่อไปในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ มีมาตรฐาน และถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยอย่างตรงไปตรงมา โดยสินค้าจีนจะมีความได้เปรียบในด้านราคา ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวหรือปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ส่วนธุรกิจไทยไม่ควรแข่งขันด้านราคากับธุรกิจสินค้าจีน เพราะสินค้าจีนมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน ผู้ประกอบการไทยควรปรับธุรกิจให้โดดเด่นในด้านอื่น เช่น บริการหลังการขายที่มีคุณภาพ และการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น บริการซ่อมแซม รับประกัน หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีจุดแข็งในด้านความใกล้ชิดกับลูกค้าและการให้บริการที่ครบวงจร ที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าธุรกิจสินค้าจีนได้

]]>
1458915
‘ป้อม ภาวุธ’ ฟันธงปี 66 สงคราม e-marketplace กำลังจะจบ เลิกเผาเงินเน้นฟันกำไร! https://positioningmag.com/1412193 Tue, 13 Dec 2022 06:28:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1412193 เชื่อว่าผู้บริโภคหลายคนน่าจะรู้สึกได้ถึงความ แผ่ว ของเหล่า อีมาร์เก็ตเพลส ในปีนี้ ที่ไม่เห็นจะสาดโปรโมชันกันหนักหน่วงเหมือนที่ผ่านมา ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กูรูอีคอมเมิร์ซเมืองไทย ก็ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงทิศทางตลาด อีคอมเมิร์ซไทย ในปี 2566 ที่ถือว่าเข้าสู่การขายของออนไลน์เต็มรูปแบบแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป และทำไมเหล่าอีมาร์เก็ตเพลสถึงได้แผ่ว ๆ กันไป

1. มูลค่าการค้าออนไลน์ขยับขึ้นอีกครั้ง

หากพูดถึง e-Commerce ไม่ได้มีแค่การขายของออนไลน์ที่จับต้องได้ แต่เป็นเรื่องบริการ (Service) ด้วย ดังนั้น อีคอมเมิร์ซจะมีมุมมองได้หลากหลายมิติ ทั้ง Food Delivery,  Online Grocery, Travel, On Demand Content นี่คือองค์ประกอบของบริการที่ผู้บริโภคนิยม ดังนั้น มูลค่าการค้าออนไลน์ กำลังดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัว

จากรายงานมูลค่า e-Commerce ในช่วงปี 2563 โดย ETDA ตัวเลขจะ ลดลงประมาณ 6.68% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว การเดินทาง สายการบิน และการผลิตต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด จึงส่งผลต่อภาพรวม e-Commerce ไทยมูลค่าลดลง ฉะนั้นการที่ไทยเริ่มเปิดประเทศก็ทำให้ตัวเลข e-Commerce เริ่มฟื้นตัวกลับมา คาดการณ์ว่าในปี 2566 มูลค่า e-Commerce ของไทยน่าจะกลับเป็นบวกแบบเต็มที่ ประกอบกับโมเมนตัมของธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปเเบบเเล้วในช่วงหลังโควิด จึงส่งผลทำให้ตัวเลข e-Commerce ไทยโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

shopping online ecommerce

2. สงคราม e-marketplace กำลังจะจบ

e-marketplace ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee กำลังเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนโหมดตัวเอง จากเน้นสร้างการเติบโตโดยการใช้เงินลงทุนทำให้ตัวเองเติบโต ก็เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรอย่างชัดเจน เช่น Lazada ในปี 64-65 สามารถทำกำไรได้แล้วเเละมีการใช้เงินในการทำการตลาดน้อยลง แล้วเริ่มโฟกัสที่การสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากที่เริ่มมีการเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าบริการมากขึ้น

หากมองภาพรวมธุรกิจ Lazada คงไม่อาจมองแค่บริการ e-marketplace อย่างเดียว เเต่ต้องมองในฝั่ง Lazada Pay เพื่อการชำระเงิน, Lazada Express หรือบริการด้านดิจิทัลอื่น ๆ จะพบว่ารายได้ทั้งหมดของกลุ่ม Lazada ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 38,000 กว่าล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่ทำกำไรหลัก ๆ คือ Lazada Express บริการขนส่ง

ในด้านของ Shopee ตัวเลขยังมีการขาดทุนอยู่ เฉพาะในปี 2564 Shopee ขาดทุนประมาณ 4,900 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นขาดทุนสะสมติดต่อกันมา 7 ปี แต่เมื่อดูภาพรวมธุรกิจหลักของ Shopee จะมีธุรกิจ Shopee Express ซึ่งจากเดิมในปี 2563 มีการขาดทุนประมาณ 1,800 กว่าล้านบาท ตัวเลขการขาดทุนลดลงมาเหลือ 280 กว่าล้านบาท เมื่อมองภาพรวมธุรกิจของ Shopee การขาดทุนยังสูงอยู่ แต่รายได้ของทั้งกลุ่มมีมูลค่าเกือบ 43,000 ล้านบาทเลยทีเดียว เห็นได้ชัดว่าปีที่แล้ว Shopee มุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจ (Growth) มากกว่าการทำกำไร

ภาพจาก Shutterstock

อย่างไรก็ตาม Shopee ช่วงครึ่งปีมีการปรับโครงสร้างเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย อัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้ Shopee มีปัญหาเรื่องการระดมเงินจากนักลงทุน Shopee จึงเริ่มเน้นกลยุทธ์การทำกำไรมากขึ้น เริ่มจากการลดคน ปิดบริการในแต่ละประเทศที่ไม่ทำกำไรหรือเพิ่งดำเนินการ เพราะไม่อยากเปิดศึกหลายด้าน จึงกลับมาโฟกัสที่การทำกำไรแทน

นอกจากนั้น Shopee ก็ดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อเนื่อง โดยผู้บริการจะไม่มีการรับเงินเดือนจนกว่าสถานการณ์การเงินจะดีขึ้น ซึ่งนี่คือทิศทางที่ชัดเจนว่า Shopee กำลังจะเริ่มทำกำไรแล้ว เเละสิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประเด็น คือ งบประมาณในการทำการตลาดของ Shopee ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 11.11 ที่ผ่านมา

ส่วน JD Central ยังคงเป็นอันดับ 3 มีงบกำไรขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 1,200 กว่าล้านบาท แต่ก็เริ่มมีข่าวไม่เป็นทางการว่ากลุ่มเซ็นทรัลได้มีการถอนตัวออกจาก JD.com และในฟากของ JD ในประเทศไทยก็จะมีการถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซีย เพราะมีการ ขาดทุนสูงถึงประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

สิ่งที่เริ่มสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดคือช่วงมหกรรม 11.11 ที่ผ่านมาสถานการณ์ค่อนข้างซบเซา บรรดา e-marketplace ใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมาก เป็นสัญญาณให้เห็นว่าฝั่งของ e-marketplace ที่เคยเป็นสงครามของการใช้เงินมาถล่มกันก็เริ่มลดน้อยลงอย่างชัดเจนแล้ว และที่สำคัญ e-marketplace ไทย กลายเป็นสมรภูมิการเเข่งขันของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรายังมี e-marketplace ของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในปี 64 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว

3. สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ

ผลต่อเนื่องจากเทรนด์ของ e-marketplace รายใหญ่ สินค้าจีนกำลังบุกไทยเต็มสูบหรือเต็มรูปแบบ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ด้วย Infrastructure ของจีนเริ่มเชื่อมต่อเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ เอื้อต่อผู้ให้บริการสามารถส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยได้ในไม่กี่วัน บางรายใช้เวลาเพียง 2-5 วันก็ได้รับสินค้าเเล้ว บางรายมีบริการ Warehouse ให้ด้วย ซึ่งในตอนนี้ผู้ผลิตผู้นำเข้าสินค้าจีนต่างยกขบวนมาตั้ง Warehouse ในประเทศไทย ในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพฯ และเริ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่จะขายสินค้าตรง จากสินค้าใน Warehouse ในไทยตรงสู่ผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสินค้ามีราคาถูกลงมาก และเราจะได้เห็นกองทัพสินค้าจากจีนถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

ดังนั้น สินค้าจีนที่เข้ามาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษี ผ่านขั้นตอนชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังผิดกฎหมาย นำเข้ามาค้าขายในโลกออนไลน์ โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหรือขออนุญาตตามมาตรฐานของไทย เช่น หลอดไฟฟ้า LED ต่าง ๆ จากจีนที่ไม่มี มอก. อุปกรณ์การพนันต่าง ๆ ที่หาซื้อได้ใน e-marketplace หรือเครื่องสำอางที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่มี อย. สินค้าเหล่านี้ส่งตรงเข้ามาจากจีน เเละจากที่ไม่ผ่านมาตรการต่าง ๆ ก็ทำให้มีต้นทุนถูกลง ทำให้สามารถนำสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากๆ ได้ โดยบางครั้งมีขั้นตอนพิเศษที่ทำให้ไม่เสียภาษีอีกด้วย

แต่ในขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องมีมาตรฐานการผลิตของโรงงาน การควบคุมคุณภาพให้ผ่านมาตรฐาน มอก.หรือ สคบ. มีการจ้างคนเเละขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า เเละกลายเป็นความเสียเปรียบของคนไทย ซึ่งภาครัฐควรต้องควบคุมให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไทยอย่างผิดกฏหมาย

4. On-Demand Commerce สงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่

On demand commerce การแข่งขันการค้าลักษณะ Platform จัดส่งอาหาร หรือ Food Delivery จะต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริการที่มากกว่าอาหาร หรือที่เรียกว่า Beyond Food ปัจจุบันผู้ให้บริการหลายรายมีการแข่งขันมากขึ้นในช่วงปีที่่ผ่านมา จากธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือการเรียกรถ ก็จะมีบริการอื่นเช่น Grab Mart, Grab Home เห็นได้ว่ามีการขยายฐานบริการ e-Commerce ซึ่งในปีหน้าเราคงได้เห็นกันมาก โดยเฉพาะ Grab

ในฝั่ง Lineman มีการควบรวมกิจการบริษัท กับ Wongnai กลายเป็น Lineman x Wongnai ล่าสุดระดมทุนได้ถึง 9,700 ล้านบาท มีการขยายบริการทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ในการทำสงครามครั้งนี้ค่อนข้างน่าสนใจมากเลยทีเดียว

อีกรายคือ Food Panda ซึ่งอยู่ในตลาดมานานเกือบสิบปี ปัจจุบันให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย และเริ่มมีบริการอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แต่หากวิเคราะห์สถานการณ์ของ Food Panda ยังมีความน่ากังวลแม้จะเปิดบริการก่อนเป็นรายแรก ๆ ก็ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ในส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบราว 9,800 ล้านบาท ดังนั้น จึงน่าวิตกสำหรับ Food Panda ว่าสถานการณ์เเละตัวเลขแบบนี้จะระดมเงินทุนอย่างไร

และสุดท้าย Robinhood จากค่าย SCB ตั้งเเต่เริ่มเปิดให้บริการไม่มีการเก็บค่า GP ไม่มีค่าสมัครสมาชิก และมีบริการบางอย่างที่ดีกว่ารายอื่น ทำให้ร้านค้าหลายร้านหันมาขายผ่าน Robinhood เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน  Robinhood ก็เริ่มมีการขยายธุรกิจ จากบริการจัดส่งอาหาร ก็เพิ่มบริการจองโรงแรม บริการซื้อของ และบริการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาเร็วๆ นี้ โดยมีโมเดลการทำกำไรจากการขายโฆษณาและบริการอื่น ๆ

Photo : Shutterstock

5. การบุกของ DFS (Digital Financial Service)

DFS หรือ Digital Financial Services คือ บริการการเงินทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า Non bank เช่น บริการรับชำระเงิน, บริการกู้เงินทางออนไลน์, บริการประกันออนไลน์, บริการดูแลความมั่งคั่ง ดูแลสินทรัพย์ออนไลน์ หรือ การโอนเงินออนไลน์ โอนเงินต่างประเทศ เเละแนวโน้มการใช้บริการ Digital Financing เหล่านี้เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้ e-Commerce ของประเทศไทยเติบโตมากขึ้น

อีกทั้งจะเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการหลายราย อย่าง Grab, Shopee, Food Panda หรือ Lazada เริ่มมีการให้บริการทางการเงินให้กับคู่ค้าของตัวเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่การให้บริการ B2B Payment อย่าง PaySoon ก็เป็นอีกหนึ่งบริการที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้กับเจ้าของธุรกิจ โดยการดึงวงเงินจากบัตรเครดิตมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้ดีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในการเก็บเงินหรือการจ่ายเงิน

Asian woman using credit card with mobile phone for online shopping in department store over the clothes shop store background, technology money wallet and online payment concept, credit card mockup

6. สงคราม Short Video Commerce

ปัจจุบัน สงครามของ Short Video Commerce กำลังดุเดือดมาก ไม่ว่าจะเป็น Tiktok, Youtube, Facebook เเละ Instagram ที่กระโดดลงมาเเข่งขัน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการอย่าง Line ก็ลงมาเเข่งในสนาม Video เช่นกัน ดังนั้น กลยุทธ์จะไม่ได้ทำมาเพื่อให้บริการเฉพาะ Short video เพียงอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นของ e-Commerce เช่นการเปิดร้านค้าเข้ามาเสริมด้วยเช่นเดียวกัน

7. โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้น

ในหลายปีที่ผ่านมา โฆษณาออนไลน์ที่เป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ คือ Facebook ซึ่งปัจจุบันผู้โฆษณาหันไปทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่การโฆษณาผ่าน Facebook ประสบปัญหาของการได้ผลลัพธ์ที่น้อยลง ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Tiktok พัฒนารูปแบบการโฆษณาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี แนวโน้มที่เกิดขึ้น คือ แบรนด์เเละผู้โฆษณาจึงเริ่มเปลี่ยนไปโฆษณาผ่าน Tiktok เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเสริมให้ลูกค้าขายของได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

8. การตลาดผ่านการบอกต่อ

Affiliate Marketing หรือ การตลาดผ่านการบอกต่อ กำลังเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโต เพราะคนเริ่มเป็น Influencer คนเริ่มมีฐานลูกค้าตัวเองมากขึ้น Social Media เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีความสามารถบอกต่อสินค้าไปยังกลุ่มเพื่อน ๆ ของเรา และเราเองสามารถได้ส่วนเเบ่งกำไรจากการที่สินค้าเหล่านั้นมีการขายได้เมื่อเพื่อน ๆ ทำการสั่งซื้อ โดยแพลตฟอร์มอย่าง Tiktok เริ่มมีการผลักดันบริการ Affliate Marketing ที่ใช้การบอกต่อมากขึ้น รวมถึง Shopee และ Lazada เอง ก็เริ่มมีบริการเช่นเดียวกัน ในขณะที่ในประเทศไทยก็มีผู้ให้บริการชื่อ pundai.com ที่เป็น Affliate Marketing ของไทยเอง

9. MarErce การผสมของ MarTech กับ e-Commerce

มาร์เอิร์ซ (Mar-Erce) คือ รูปเเบบการทำธุรกิจดิจิทัลที่อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ผสานเข้ากับมาร์เทค (MarTech) เราจะเรียกว่า มาร์เอิร์ซ จากเมื่อก่อนคนทำการตลาด (Marketing) จะเน้นเรื่องการตลาด และ คนค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) ก็เน้นเรื่องการขาย แต่ปัจจุบันจะไม่ใช่วิธีการเเบบเดิมอีกต่อไป ปัจจุบันนี้ Marketing กับ e-Commerce ถูกผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ตอนนี้ผู้ให้บริการด้านมาร์เทค (MarTech) ก็จะเริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เกิดออเดอร์ เกิดการซื้อขาย เเละเมื่อเกิดการขายแล้ว ทางฝั่งมาร์เทค (MarTech) จะเริ่มนำเทคโนโลยีย้อนกลับไปทำ CRM หรือ Retention เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำต่อไปอีกที ดังนั้น “มาร์เอิร์ซ (MarErce)” จะเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจที่การตลาด (Marketing) กับ การค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) จะถูกผสานรวมเข้าด้วยกัน

ผลิตภัณฑ์บิวตี้เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการแรงกระตุ้นทั้งราคาและรีวิว และรีวิวมีอิทธิพลมากกว่าเล็กน้อย

10. การแข่งขัน e-Commerce ในแพลตฟอร์มโซเชียล

แพลตฟอร์มโซเชียลยักษ์ใหญ่จะเริ่มแข่งขัน e-Commerce อย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Tiktok ทุกคนเริ่มมีแพลตฟอร์มที่รองรับเเละส่งเสริม e-Commerce มากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ากระโดดข้ามไปใช้บริการของคู่แข่ง เช่น Facebook มี Facebook Shop, Facebook Live, Facebook Marketplace, Facebook Messenger, Line มี Line Chat, Line OA, Line Shop, Line Pay ฝั่ง Tiktok มี Tiktok Video, Tiktok Ads, Tiktok Shop ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้เกิด e-Commerce ในแพลตฟอร์มใหญ่เพิ่มมากขึ้น

11. การขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย

กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อ 1 ก.ย. 64 เเละจากข้อมูลล่าสุด มีผู้ให้บริการต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนเเล้วจำนวน 127 ราย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ต.ค.64 – มี.ค.65) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,200 กว่าล้านบาท โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเก็บได้ถึงเกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยอาจจะขึ้นไปสูงถึงเกือบ ๆ สองแสนล้านบาท ซึ่งสองแสนล้านบาทน่าจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการส่งออกข้าวในปี 2564 รวมถึงสูงกว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 เช่นกัน จึงถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรต้องเริ่มเข้ามาดูแลสอดส่องว่าประเทศไทยเรามีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร และควรนำตัวเลขนี้ไปคำนวณ วิเคราะห์เรื่องของการขาดดุลของระบบประเทศไทยด้วยเช่นกัน

12. D2C (Direct to Consumer) จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

ย้ำอีกครั้งว่าในช่วงปีที่แล้วและปีนี้ Direct to Customer หรือการขายตรงไปยังผู้บริโภค การตัดตัวกลางออกไปจากห่วงโซ่ เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิตต่าง ๆ หลายปีที่ผ่านมา โรงงานเริ่มขายของออนไลน์มากขึ้น ขายตรงไปยังผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเริ่มถดถอย เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มซื้อสินค้าจากร้านในท้องถิ่นน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ในแง่ของธุรกิจท้องถิ่นจะมีผู้ที่เป็นตัวกลาง หมดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพราะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

]]>
1412193
เจาะ 10 เทรนด์ E-Commerce ไทยปี 65 โดย ‘ป้อม ภาวุธ’ ถึงเวลา ‘CryptoCommerce’ https://positioningmag.com/1363899 Thu, 25 Nov 2021 09:07:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363899 เหมือนเป็นธรรมเนียมของทุกปีที่ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com และถือเป็น กูรูอีคอมเมิร์ซเมืองไทย จะมา ฟันธงเแนวโน้มของการค้าออนไลน์ปี 2565 ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะปีนี้ออนไลน์เข้ามามีบทบาทสูงมากจริง ๆ 

อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางหลักของธุรกิจ

ปี 2564 อาจจะยังไม่ค่อยชัดมากเท่าไหร่ แต่ปี 2565 จะชัดมากว่าอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางหลักในแง่ของบางธุรกิจยอดขายต่าง ๆ บางกลุ่มอีคอมเมิร์ซอาจจะไม่มาก แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตผมบอกได้เลยว่าน่าจะโตขึ้นอีกมหาศาลเลยทีเดียวในเชิงของการขาย

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

JSL จะเริ่มทำกำไรได้แล้วในปีหน้า

(JD Centra, Shopee, Lazada) จะพยายามเข้าสู่โหมดการทำกำไร อย่างเมื่อกลางปี 2564 Lazada ส่งงบกลางปีต่อกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้รายได้ 1.4 หมื่นกว่าล้านบาท กำไรสูงถึง 226 ล้านบาท แม้สงครามยังคงมีอยู่ แต่บางเจ้าเริ่มหยุดการสาดเงิน เริ่มมาโฟกัสที่รายได้ของธุรกิจมากขึ้น กำไรของพวกมาร์เก็ตเพลสนั้น lazada กับ shopee จะได้มาต่างกัน shopee จะมาจากค่าคอมมิชชั่นและการซื้อโฆษณาภายในเว็บไซต์ แต่ลาซาด้าจะมี 2 โมเดล คือ

1.แบบโฆษณา ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไปขายของจะไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น แต่หากต้องการยอดขายเพิ่มอาจต้องไปซื้อโฆษณาเพิ่ม 2.LazMall ตรงนี้เปิดให้เฉพาะเจ้าของแบรนด์สินค้า ซึ่งต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น 2-10% ซึ่งถือว่าต่ำ การนำไปขายในช่องทางค้าปลีกทั่ว ๆ ไปที่อาจอยู่ที่ 30% ยังไม่รวมค่าเช่าพื้นที่ ค่าพนักงานที่ไปยืนขาย ฯลฯ นอกจากนี้ เมื่อลงโฆษณาออนไลน์จะจ่ายน้อยกว่าและเห็นยอดขายเลยทันที

ดังนั้น รายได้ของผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสโตขึ้น เพราะแบรนด์ต่าง ๆ เบนเข็มเบนเม็ดเงินจากที่ไปจ่ายตามสื่อต่าง ๆ มาลงบนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นว่าผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสเริ่มมีรายได้มากขึ้นและเห็นแววว่าจะมีกำไรแล้ว

สงครามการเป็น SuperApp

ง่าย ๆ คือ เป็นแอปที่ต้องเปิดทุกวัน โดยมีทุกบริการอยู่ภายใน อาทิ Grab ที่สั่งอาหารก็ได้ ส่งสินค้าก็ได้ เดี๋ยวนี้สั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ ยังมีวอลเล็ต มีให้กู้เงิน ฯลฯ เต็มไปหมดเลย หรือ TrueMoney เริ่มเป็น Super App แล้ว เดี๋ยวนี้มีกระเป๋าเงิน จ่ายเงินได้ ซื้อกองทุน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ทำได้หมดทุกอย่าง

ตอนนี้ Super App เริ่มเบ่งบานในไทย รวมถึงธนาคารต่าง ๆ ก็เริ่มพยายามทำตัวเองให้เป็น Super App ทุกคนพยายามช่วงชิงเวลาของลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าอยู่ในแอปของตัวเองให้นานหรือบ่อยที่สุด ในปีนี้มีการบุกครั้งใหญ่ของสายการบินแอร์เอเชีย มีการเข้าซื้อ GET ผู้ให้บริการส่งอาหารให้เข้ามารวมอยู่ในแอร์เอเชีย เพื่อให้บริการส่งสินค้าได้ง่ายมากขึ้น

อีกเจ้าที่น่ากลัวมากคือ Shopee ตอนนี้มีทุกอย่างและรุกหนักมาก และยังไปต่ออีกคือมี Shopee Food, Shopee Travel ดังนั้น จะเห็นว่าทุกเจ้าพยายามจะกระโดดเข้ามาเป็น Super App โดยพยายามจะขายของให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยอาศัยฐานที่ตัวเองมี ทำให้ลูกค้าไม่ต้องออกไปไหนอยู่แต่ในแพลตฟอร์มตัวเองเท่านั้น

หรืออย่าง Flash Express นอกจากทำขนส่ง ที่มีการวางแผนจะไปทำ Flash Pay, Flash Warehouse พยายามกระโดดไปทำทุกอย่างเหมือนกัน พยายามกระโดจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำด้วยเหมือนกัน ในแง่ผู้ประกอบการ คำแนะนำก็คือต้องไปทุกอัน ยิ่งเจ้าไหนมีโปรโมชันช่วยมากเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งเข้าไปเอาผลประโยชน์เข้ามาทำการตลาดให้กับเรา เช่น มีค่าส่งฟรีก็ต้องเข้าไป เป็นงบที่เราสามารถเอาเข้ามากระตุ้นการตลาดของเราได้

LIVECommerce+OEM

การขายของออนไลน์ผ่านการถ่ายทอดสด ในปีหน้าจะเป็นการขายทางออนไลน์แบบซีเรียสมากขึ้น คือจะเริ่มเจอพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพที่ขายไลฟ์จนเป็นอาชีพจริง ๆ เรียกว่าเป็น Professional Live Commerce และขายได้ในระดับหลายร้อยล้าน เช่น พิมรี่พาย หรือ สอ.ดอ Style

และเมื่อก่อนอาจจะเอาของคนอื่นมาขาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เมื่อไลฟ์บ่อย ๆ มีฐานลูกค้ามีคนติดตามแล้ว ก็หันจ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าของตัวเองเลย ดังนั้น จะเริ่มเห็นหลายคนเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะอาจได้กำไรมากกว่าเดิม 100-200% เลย ดังนั้นจึงเป็น LIVECommerce+OEM

Combine And Automated ECommerce

การค้ารูปแบบใหม่ ต่อไปทุกช่องทางการขายจะถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกัน ทุกอันจะรวบรวมเข้ามาอยู่ในช่องทางเดียวกันได้ ยอดขายจากออนไลน์ ยอดขายจากทีวี และจากทุกสื่อทุกช่องทางจะสามารถดึงข้อมูลมารวมไว้ที่เดียวกันเพื่อมาวิเคราะห์ว่าช่องทางไหนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่องทางไหนเวิร์กสุด

เมื่อเรา combine ได้หรือรวมข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวกันได้ สิ่งที่ตามมาคือ automated คือสามารถต่ออัตโนมัติ เอาพวกแชทบอทเข้ามาช่วยได้ ระบบออกบิล ออก invoice การเก็บข้อมูลทุกอย่าง ฯลฯ การขายของในปัจจุบันจะรวดเร็วขึ้นและจะอัตโนมัติมากขึ้นเลยทีเดียว

ล่าสุดผมพัฒนา TARAD U-Commerce 2.0 เป็นระบบที่สามารถรวบรวมยอดขายได้ทุกช่องทางไว้ที่เดียว รวมทั้งการส่งสินค้าจากหลายๆ ขนส่งที่ถูกกว่าปกติผ่าน Shippop และมีระบบชำระเงินทุกช่องทางของ PaySolutions รวมอยู่ที่เดียว ทำให้ใครที่สนใจสามารถสมัครใช้ได้ฟรีเลยครับที่ www.TARAD .com ครับ

และนอกจากนี้แม่ค้าออนไลน์หลายๆ รายเริ่มหันมาใช้ Chat Bot ในการตอบลูกค้า เวลาทักไปหา จะพบว่าแป๊บเดียวเขาจะตอบกลับมาแล้ว นั่นหมายถึงระบบการบริหารจัดการ การขายของออนไลน์เดี๋ยวนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้นและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น จริง ๆ ปีนี้ผมก็เห็นเครื่องไม้เครื่องมือออกมาเยอะแล้วเหมือนกัน

Photo : Shutterstock

Retail Automation เครื่องขายของอัจฉริยะ ตลอด 24 ชม.

การค้าปลีกแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน ปีหน้าจะเริ่มเห็นพวก Vending Machine พวกตู้ขายสินค้าอัตโนมัติต่าง ๆ ที่สามารถขายสินค้าได้ 24 ชั่วโมง มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคาไม่แพง ข้อดีคือมันไม่ต้องจ่ายเงินเดือน ไม่ต้องมีโบนัส สามารถขายได้ 24 ชั่วโมง มีระบบดูแลความปลอดภัยอย่างดี ใครที่ทำธุรกิจขายของอยู่แล้วอยากให้ลองมาวิเคราะห์ดูว่าเราจะสามารถใช้ตู้พวกนี้ขายของได้อย่างไรบ้าง

งบโฆษณาเท่าเดิม แต่ขายของได้น้อยลง

งบประมาณโฆษณาที่ใช้เท่าเดิมยอดขายจะได้น้อยลง เพราะอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อทุกคนกระโดดเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเขาก็ต้องใช้งบประมาณในการกระตุ้นต่าง ๆ เมื่อเริ่มใช้งบมากขึ้น งบเริ่มไม่ค่อยได้ผล การแข่งขันมากขึ้น ฉะนั้น ตลาดการลงโฆษณา ตลาดการแข่งขันขายของออนไลน์จะดุเดือดมากขึ้นเยอะเลย

นี่สิ่งหนึ่งที่เตรียมตัวได้เลย แน่นอนว่าต้องปรับตัวในแง่ทีมเรา ต้องมีคนเก่งมากขึ้น ต้องเติมองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับทีมให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ถ้าไม่พัฒนาให้ทีมเก่งมากขึ้น ก็จะขายได้น้อยลง ถ้ายังทำแบบเดิมอยู่คุณจะขายได้น้อยลง และอีกอย่างที่จะตามมาคือ จากที่เคยเล่าให้ฟังว่าเทคโนโลยีที่จะติดตามลูกค้าเริ่มไม่ได้ผลแล้ว อย่าง Facebook ก็ดี Apple ก็ดี การติดตามคน การเอาคุกกี้หรือข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ต่อ เริ่มใช้ไม่ค่อยได้แล้ว ฉะนั้น ความแม่นยำจะเริ่มน้อยลง

CryptoCommerce

เป็นคำใหม่ที่ผมขอใช้คำว่า Crypto Commerce คือ การใช้สกุลเงินคริปโตมาร่วมกับการค้าจริง ๆ จัง ๆ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการใช้เหรียญคริปโตมาใช้ แต่เป็นการใช้ในแง่ของการลงทุน มาเก็งกำไรมากกว่า ไม่ได้เอามาซื้อของ แต่ในปีหน้าจะเริ่มเจอว่ามีการเอาเงินคริปโตมาซื้อมากขึ้น

ตอนนี้กลุ่มคนพวกคริปโตบอกว่าตอนนี้สามารถเอาคริปโตไปซื้อเสื้อผ้าได้ มีสตาร์ทอัพที่ผมไปลงทุนบอกว่ามีการจ้างนักกฎหมายและจ่ายเงินเป็นคริปโต ฯลฯ ฉะนั้นเราจะเริ่มเห็น Crypto Commerce เริ่มใช้กันมากขึ้น แต่ต้องบอกก่อนว่าในแง่ของนโยบายของแบงก์ชาติยังไม่ได้สนับสนุนในแง่การนำเงินคริปโตมาใช้ในแง่การซื้อขายมากเท่าไหร่ แต่ผมว่าในปีหน้าจะเริ่มเห็นในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังไม่ใช่อะไรที่แพร่หลายมากนัก เป็นเฉพาะกลุ่ม

D2C จะเริ่มเหิมเกริมมากกว่าเดิม (Direct to Consumer)

เพราะทุกแบรนด์สินค้าและโรงงานต่าง ๆ ต่างโดดเข้ามาขายออนไลน์เองกันหมด เริ่มหันมาขายในมาร์เก็ตเพลส ขายผ่าน Social Media เริ่มสร้างทีมของตัวเอง และเปิดร้านขายเอง ส่งเอง ตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้บางครั้งกลายเป็นการ ขายแข่งกับดีลเลอร์ของตัวเองด้วยซ้ำไป

อนาคตของค้าปลีกตัวกลางอย่างดีเลอร์ และร้านค้าต่าง ๆ ที่ผมเคยเตือนไว้ เริ่มชัดแล้วว่าบทบาทความสำคัญจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และปีหน้าจะเริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออีคอมเมิร์ซเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ

การถดถอยของธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น (Local Business Decline)

เมื่อ 1-9 มารวมกันจะเกิดการที่ธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัด ร้านโชห่วย ร้านค้าขนาดเล็ก ฯลฯ จะเริ่มเห็นการหดตัวในปี 2565 เพราะผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น คนต่างจังหวัดจะเริ่มเปลี่ยนมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น จะกระทบกับธุรกิจค้าปลีกทันทีเลย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ต่อไปจะมีผลกระทบมากขึ้นเลยทีเดียว ร้านเหล่านี้จะมีขนาดเล็กลง ยอดขายจะตกลงด้วยเหมือนกัน

]]>
1363899
‘ป้อม ภาวุธ’ ฟัน 10 เทรนด์ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ปี 2021 ยุคของ ‘ออนไลน์’ กลายเป็นช่องทาง ‘หลัก’ https://positioningmag.com/1312830 Mon, 04 Jan 2021 12:11:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312830 ปี 2564 จะเป็นปีที่ออนไลน์จะมีบทบาทอย่างมากกับเศรษฐกิจของไทย เพราะ COVID-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของคนไทยทั้งประเทศไปอย่างสิ้นเชิง และในปี 2564 จะเกิดพฤติกรรมการช้อปรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งกูรูในวงการอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง ‘ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ ได้ฟันธง 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

shopping online

1. ออนไลน์ คือ ‘ช่องทางหลัก’

คนไทยจะซื้อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ด้วยโครงการของรัฐ (เราไม่ทิ้งกัน, คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ) กระตุ้นให้คนไทยกระโดดเข้าสู่ออนไลน์แบบไม่เคยมีมาก่อน และด้วยงบประมาณมหาศาลของกลุ่ม JSL (JD, Shopee, Lazada) ที่กระตุ้นคนไทยทั้งประเทศให้หันมาซื้อออนไลน์ ฐานคนซื้อออนไลน์ กลุ่มใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด มากกว่าคนในเมือง กลุ่มคนรุ่นใหม่จะคุ้นเคยกับการซื้อออนไลน์เป็นหลัก และใช้เป็นประจำ

2. 3 มาร์เก็ตเพลสหลักจะคุมตลาดแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’

JSL (JD, Shopee, Lazada) จะคุมตลาดค้าปลีกออนไลน์ ในหลายกลุ่มสินค้าแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’ และจะคุมกำลังซื้อของคนไทยในช่วงวัน Double Day ได้ เช่น 11.11, 12.12 เม็ดเงินที่เคยสะพัดในท้องถิ่นจะถูกดึงเข้าสู่โลกออนไลน์ ร้านค้าตามชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะคนในชุมชน จะหันมาซื้อออนไลน์มากกว่าซื้อร้านใกล้ ๆ บ้าน เพราะด้วยราคาถูกกว่า และตัวเลือกมากกว่า

3. บริษัทขนส่งจะกระตุ้นให้โตแบบก้าวกระโดด

การแข่งขันของเหล่าบริษัทขนส่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดันให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยิ่งเติบโต โดยที่ผ่านมา ‘Kerry’ ก็เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์, Flash Express ระดมเงินได้หลายหมื่นล้าน ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันการขนส่งแบบดุเดือด ราคาค่าส่งสินค้าจะถูกลง แต่ส่งได้เร็วขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น

4. การชำระเงินค่าสินค้าจะง่ายขึ้น

การชำระเงินจากนี้จะยิ่งง่ายและมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น โอนเงินผ่าน Mobile Banking, บัตรเครดิต, พร้อมเพย์, เงินผ่อนทางออนไลน์, E-Wallet ซึ่งแต่ละช่องทางจะแตกต่างไปตามพฤติกรรมของผู้ซื้อแต่ละกลุ่ม มีช่องทางชำระเงินที่หลากหลายจะช่วยขายได้ง่ายมากขึ้น

5. โรงงานผลิตสินค้าและแบรนด์รุก ‘ขายตรง’

เข้าสู่ยุคที่ผู้ผลิตจะขายของตรงถึงผู้บริโภคผ่านทางออนไลน์ ‘D2C – Direct to Consumer’ ซึ่ง ‘ข้ามหัว’ ค้าปลีกแบบเดิม ๆ การรุกของ JSL ในการบุกตลาดสินค้าแบรนด์ มาสู่ Mall ของตัวเอง (Shopee Mall, Laz Mall) ทำให้หลาย ๆ สินค้าเห็นโอกาสการขายตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น

6. Food Delivery กระจายทั่วประเทศ

การสั่งอาหารออนไลน์ หรือ Food Delivery จะโตแบบก้าวกระโดด และกระจายตัวไปทั่วประเทศ ระบบนิเวศของการขายอาหารออนไลน์ (Cloud Kitchen, Food Platform) จะขยายตัวโตมากขึ้น นำไปสู่การซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

7. Social รุก E-Commerce เต็มสูบ

Facebook, LINE, Google, JSL บุกการค้าออนไลน์เต็มรูปแบบทั้ง การสร้างร้านค้า (Shop), การจ่ายเงิน (Pay), การทำโฆษณา (Ads) แบบครบวงจรในระบบนิเวศของตัวเอง จะช่วยกระตุ้นให้พ่อค้าแม่ค้าหันมาใช้บริการมากขึ้น ดังนั้นการจะขายให้ดีขึ้น จะต้องไปทุก ๆ ช่องทาง การขาย (Multi-Channel Sale & Marketing)

8. โฆษณาออนไลน์เป็นสิ่งสามัญที่ใคร ๆ ก็ทำ

ราคาโฆษณาจะสูงมากขึ้น การแข่งขัน ทำให้การปรับแต่งโฆษณาให้เก่งขึ้น แม่นยำขึ้น ในราคาที่สมเหตุสมผล จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น จะมีเครื่องมือมากมายที่มาช่วยทำให้การทำโฆษณาสะดวกขึ้น แม่นยำขึ้น และการทำ Marketing Automation จะเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น

Computer screen showing the website for social networking site, Facebook (Photo by In Pictures Ltd./Corbis via Getty Images)

9. กลุ่มลูกค้าจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ

จากนี้ไปกลุ่มลูกค้าจะเป็น ‘Fragmented Market’ ตามพฤติกรรมและสินค้า จากนี้แต่ละประเภทการขายสินค้าจะไม่ได้แบ่งตามกลุ่มอายุ เพศ อีกต่อไป (Demographic) แต่จะถูกแบ่งด้วย พฤติกรรมและความชอบ (Behavior & Lifestyle) ไปตามเนื้อหา (Content) สินค้า (Product) ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนที่มีลักษณะและความชอบคล้าย ๆ กันอยู่รวมกัน (Community)

10. Influencer Commerce

จากนี้ผู้มีอิทธิพล หรือ Influencer จะมีผลต่อการซื้อสินค้ามากขึ้นอย่างมาก เจ้าของสินค้าต่าง ๆ จะเริ่มพึ่งพาผู้มีอิทธิพล (Influencer & KOL) มากขึ้น โลกของ Influencer จะแตกออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จนเจ้าของสินค้าต้องหาให้เจอ ว่าคนไหนที่เหมาะกับสินค้าของเรา และจะเกิดเอเจนซี่ที่มาช่วยบริหารจัดการ Influencer มากมาย

“บอกได้เลยว่าปี 2021 จะเป็นปีที่ธุรกิจไทย หากใครไม่ได้เข้าสู่ออนไลน์ คุณจะตกขบวน และพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งที่ลุยออนไลน์อย่างเต็มที่แน่นอน” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กล่าว

]]>
1312830