ป๊อปอัพ สโตร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 11 Oct 2021 04:37:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดแนวคิด “สเวนเซ่นส์ กาดฝรั่ง” โมเดลคอนเซ็ปต์ สโตร์ สไตล์ “มินิมัล ล้านนา” https://positioningmag.com/1355676 Mon, 11 Oct 2021 03:00:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355676

สเวนเซ่นส์ผุดโมเดลใหม่ “คอนเซ็ปต์ สโตร์” ประเดิมสาขาแรกที่ “กาดฝรั่ง” จ.เชียงใหม่ ด้วยดีไซน์สไตล์ “มินิมัล ล้านนา” หวังเป็นจุดเช็กอิน สร้างเอ็นเกจเมนต์กับผู้บริโภคมากขึ้น


เจาะวิธีคิดคอนเซ็ปต์ สโตร์

สเวนเซ่นส์แบรนด์ยักษ์ใหญ่ในตลาดไอศกรีมระดับพรีเมียม ที่ทำตลาดในไทยมาร่วม 35 ปีแล้ว ที่ผ่านมาสเวนเซ่นส์มีกลยุทธ์หลักการขยายสาขาให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น บวกกับการออกเมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างสีสันให้ตลาด แต่ยุคนี้พบว่าการมีร้านแค่ 1 โมเดล ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแล้ว

ในช่วงปีที่ผ่านมาสเวนเซ่นส์ได้นำร่องเปิดสาขาด้วยโมเดลใหม่ๆ ทั้ง Regional Flagship Store เนรมิตสาขารูปแบบสแตนด์อโลน พร้อมกับดีไซน์ที่เบลด์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ ภูเก็ต, ยะลา และน่าน อีกทั้งยังมีโมเดล “ป๊อปอัพ สโตร์” ครั้งแรก ด้วยการแตกแบรนด์ใหม่ Sweet Aholic by Swensen’s คอนเซ็ปต์คาเฟ่ขนมหวาน ในตอนนั้นได้เปิดโลเคชั่นแรกที่สามย่านมิตรทาวน์

ปีนี้สเวนเซ่นส์ได้เปิดโมเดลใหม่แกะกล่องอีกแห่ง กับรูปแบบ “คอนเซ็ปต์ สโตร์” ประเดิมสาขาแรกที่ “กาดฝรั่ง” จ.เชียงใหม่ รูปแบบนี้จะให้ความแตกต่างจากร้านสาขาปกติ มีความพิเศษกว่าที่การตกแต่งร้าน แต่ยังไม่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเป็นรูปแบบ Regional Flagship Store

 อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด เล่าว่า

“ที่สาขากาดฝรั่งจะเรียกเป็นคอนเซ็ปต์ สโตร์ เนื่องจากอยู่ในศูนย์การค้า จะแตกต่างจาก Regional Flagship Store ที่เป็นแบบสแตนด์อโลน และมีเอกลักษณ์ตามวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะ จริงๆ ที่เชียงใหม่เป็นทำเลที่มีศักยภาพ แต่ด้วยที่ในจังหวัดมี 6 สาขาแล้ว สาขานี้เป็นสาขาที่ 7 ถ้าไปลงทุนสาขาใหญ่มาก มันจะดึงกันเอง และเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่แตกเมืองเยอะมากๆ เลยคิดว่าไปเปิดตามมุมต่างๆ จะดีกว่า”

แต่สาขานี้จะไม่มีเมนูเอ็กซ์คลูซีฟเหมือนกับสาขา Regional Flagship Store อย่างที่ยะลาจะมีเมนูกล้วยหินซันเดย์ ส่วนที่กาดน่านจะมีเมนูไอศกรีมกะทิบัวลอย รวมถึงชุดยูนิฟอร์มของพนักงานก็เป็นชุดปกติ ไม่ได้มีชุดพื้นเมือง

อีกหนึ่งความน่าสนใจของการสร้างคอนเซ็ปต์ สโตร์ ก็คือ ต้องการดึงดูดความสนใจจากชาวเชียงใหม่ เป็นที่ทราบกันดีว่าที่เชียงใหม่มีคาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านขนมหวานเยอะมาก สเวนเซ่นส์ไม่ได้เป็นร้านที่หวือหวาเหมือนร้านกาแฟ แต่อยากทำให้ร่วมสมัย และตอบโจทย์คนเชียงใหม่ให้มากที่สุด


สไตล์ มินิมัล ล้านนา

ไอเดียการออกแบบของสาขากาดฝรั่งนั้น จะเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาของเชียงใหม่ ผสมกับคาแร็กเตอร์ของสเวนเซ่นส์ ทำให้สาขานี้ได้เห็นภาพแห่งวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่ที่มีความเรียบง่าย แต่มีกลิ่นแห่งศิลปะ และความสนุกสนานอยู่เสมอ

โดยจะเห็นได้จากการออกแบบที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เห็นสถาปัตยกรรมล้านนาชัดเจน แต่มีการเลือกใช้วัสดุที่เรียบแต่มีความลึกในเชิงนามธรรม การใช้ผนังฉาบปูนแบบไม่ตกแต่งให้เรียบร้อย การดึงแสงธรรมชาติเข้ามาให้บรรยากาศภายในร้านมีความกลมกลืนทั้งของตกแต่งภายใน และภายนอกมีการทาผนังภาพนูนต่ำเป็นกราฟิกเล่าเรื่องความละมุนของชาวเชียงใหม่

รวมถึงการตกแต่งโดยใช้โคมลอยประยุกต์ หรือโคมยี่เป็ง ผสมเข้ากับกับโคมทิฟฟานี่ที่เป็นซิกเนเจอร์ของสเวนเซ่นส์มาช้านาน เป็นการเบลนด์ให้เข้ากันอย่างลงตัว

“สาขานี้ใช้เวลาในการศึกษาออกแบบ 2 เดือน และใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 เดือน เนื่องจากติดช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ล่าช้ากว่าปกติเล็กน้อย โดยดีไซน์จะเน้นโทนขาวๆ คลีนๆ มินิมัล มีความเป็นชาวเหนือ พร้อมกับดึงจุดเด่นของเชียงใหม่อย่างยี่เป็งมาเชื่อมโยงกับทิฟฟานี่ แลมป์ที่เป็นจุดเด่นของสเวนเซ่นส์ จึงได้คอนเซ็ปต์อย่างลงตัว”

พร้อมกับมีบัตรสมาชิกลายพิเศษ กาดฝรั่ง เป็นบัตรสมาชิกที่จัดทำขึ้นสำหรับขายสาขากาดฝรั่งเท่านั้น มีจำนวนจำกัด ราคาเพียง 299 บาท ลายบัตรคือนำ Perspective ของร้านมาจัดทำเป็นภาพสีน้ำ ออกแบบให้ดูละมุน และมีความน่ารัก


สร้างร้านให้มีสตอรี่

เนื่องจากสาขาคอนเซ็ปต์ สโตร์ จะอยู่กึ่งกลางระหว่างร้านปกติทั่วไป กับร้าน Regional Flagship Store การจะเปิดสาขาใหม่นั้น ต้องมีวิธีการเลือกที่แตกต่างจากร้านทั่วไป แต่ไม่ใหญ่เท่า Regional Flagship Store

อนุพนธ์ บอกว่า หลักการเลือกโลเคชั่นในการขยายสาขาคอนเซ็ปต์ สโตร์นั้น สาขาจะต้องอยู่ในศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้ มอลล์ ในจังหวัดนั้น อาจจะมีหลายสาขาอยู่แล้วก็ได้ เพียงแต่สร้างความแตกต่าง ทำให้ร้านมีสตอรี่เชื่อมโยงกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น แต่ร้านจะไม่สเกลใหญ่ จังหวัดเล็กๆ ก็สามารถเปิดได้

ร้านคอนเซ็ปต์ สโตร์จะต้องมีพื้นที่เฉลี่ยขนาด 100-120 ตารางเมตร จะเล็กว่า Regional Flagship Store ที่มีขนาด 150 ตารางเมตรขึ้นไป

โดยที่ทำเลของกาดฝรั่งเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ที่มีศักยภาพสูง อยู่ในเส้นหางดง จับโซนนอกเมืองที่เดลิเวอรี่เข้าไม่ถึง และในละแวกนั้นมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่แถวนั้นเยอะ มีหมู่บ้านเยอะ ชุมชนเยอะอีกด้วย

ในอนาคตมีแผนที่จะขยายสาขา Regional Flagship Store อีก 3-4 สาขา จะเป็นการขยายตามโลเคชั่นที่เจาะเซ็กเมนต์มากขึ้น เช่น ภาคเหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง หรือแม้แต่ภาคใต้ ก็เป็นฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน

ปัจจุบันลูกค้าของสาขากาดฝรั่งแบ่งเป็นลูกค้าในพื้นที่ 90% และนักท่องเที่ยว 10% มีการคาดการณ์ว่า ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ จะมีสัดส่วนลูกค้าในพื้นที่ 70% และนักท่องเที่ยว 30%

ต้องบอกว่าการไม่หยุดพัฒนาโมเดลใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ของสเวนเซ่นส์ ทำให้แบรนด์มีสีสัน และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ที่ปัจจุบันมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้สเวนเซ่นส์เป็นอีกหนึ่งแบรนด์เลิฟที่คนไทยทุกเพศทุกวัยต้องหลงรักอย่างแน่นอน

]]>
1355676
“สเวนเซ่นส์” จับกระแสครัวซองต์ฟีเวอร์ ปั้น Sweet Aholic ป๊อปอัพสโตร์คาเฟ่สุดมินิมัล https://positioningmag.com/1311460 Mon, 21 Dec 2020 14:25:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311460 บิ๊กมูฟครั้งใหญ่ของแบรนด์ “สเวนเซ่นส์” แตกแบรนด์ใหม่เป็นครั้งแรก Sweet Aholic by Swensen’s คอนเซ็ปต์คาเฟ่ขนมหวาน โมเดลป๊อปอัพสโตร์ จับกระแสครัวซองต์ฟีเวอร์ มาเนรมิตเป็นคาเฟ่ขนมหวานสุดชิค ประเดิมโลเคชั่นแรกที่สามย่านมิตรทาวน์ เอาใจสาวกคาเฟ่ฮอปเปอร์

ปั้นแบรนด์ใหม่ หวังขยายฐานสู่กลุ่มวัยรุ่น

ต้องบอกว่าตลาดขนมหวานในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการแข่งขันสูงมาก ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย จากเดิมที่มีแค่ไอศกรีมเป็นที่นิยม แต่ตอนนี้มีขนมหวานหลากหลาย แถมยังมีคาเฟ่เล็กๆ ทั่วเมือง เพื่อเป็นพื้นที่แฮงก์เอาต์ของกลุ่มคาเฟ่ฮอปเปอร์ด้วย

ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ “สเวนเซ่นส์” ต้องปรับตัวยกใหญ่ มีการปรับทัพที่จะมีแค่ไอศกรีมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องครอบจักรวาลขนมหวาน เพื่อที่จะเอาใจผู้บริโภคให้ได้ครบทุกกลุ่ม สามารถมาทานได้ตลอด ไม่ได้จำกัดแค่เมนูไอศกรีม

อีกหนึ่งความท้าทายของสเวนเซ่นส์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การขยายฐานสู่กลุ่มใหม่ๆ ให้มากขึ้น จากปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์ 80% เป็นกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก หลายครอบครัวเลือกมาที่ร้านเพื่อที่จะเป็นพื้นที่สังสรรค์ของครอบครัว

การพัฒนาเมนูเอาใจวัยรุ่นอย่างเดียวคงไม่พอ งานนี้สเวนเซ่นส์งัดคัมภีร์สร้างแบรนด์ลูกอย่าง Sweet Aholic by Swensen’s หวังเจาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เป็นสายคาเฟ่ ชอบเช็กอินร้านกาแฟ ร้านขนมหวาน ตอกย้ำความเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดขนมหวาน

คอนเซ็ปต์ของ Sweet Aholic by Swensen’s เป็นคาเฟ่ขนมหวานในสไตล์มินิมัล เน้นโทนสีเอิร์ทโทนให้ดูละมุน แต่เป็นโมเดล “ป๊อปอัพสโตร์” บนพื้นที่ 60 ตารางเมตร จะอยู่เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพื่อสร้างความตื่นเต้น แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค ประเดิมโลเคชั่นแรกที่สามย่าน มิตรทาวน์ เป็นทำเลเดียวกันกับที่มีร้านสเวนเซ่นส์สาขาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง

อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มเล่าว่า

“ตอนนี้ตลาดขนมหวานมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก มีคาเฟ่เกิดขึ้นมากมาย กลุ่มลูกค้าของสเวนเซ่นส์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว จึงทำแบรนด์ใหม่มาเจาะลูกค้าที่เด็กลงโดยเฉพาะ ร้านสไตล์คาเฟ่มินิมัล เชื่อว่าร้านนี้จะมาเติมพอร์ตให้สเวนเซ่นส์แข็งแรงด้วย”

เบื้องหลังการคิดโปรเจกต์นี้ คิดเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องกล้าทำแบรนด์ใหม่ กล้าตัดสินใจที่จะฉีกจากกรอบ ฉีกเพื่อจะเรียนรู้ และต้อง Move Fast Fail Fast คิดแบบสตาร์ทอัพ ถ้าประสบความสำเร็จก็ขยายต่อ แต่ถ้าผลตอบรับไม่ดี ก็เรียนรู้ปรับปรุงกันไป

ส่วนที่มาของชื่อ Sweet Aholic by Swensen’s มาจากความเชื่อที่ว่าของหวานเป็นอะไรที่สร้างความสุขให้คน จึงอยากทำร้านที่คนมาแล้วมีความสุข เกิดเป็นคำ Sweet Aholic แล้วต่อท้ายด้วย by Swensen’s เพื่อฉีกจากกรอบของแบรนด์สเวนเซ่นส์ไปเลย

จับกระแสครัวซองต์ฟีเวอร์ สู่เมนูคู่ไอศกรีม

อีกหนึ่งคอนเซ็ปต์ที่สำคัญของ Sweet Aholic by Swensen’s ที่น่าสนใจก็คือเมนูภายในร้าน จะแตกต่าง และไม่เหมือนกับของสเวนเซ่นส์โดยสิ้นเชิง เน้นเมนูขนมหวาน ประเดิมด้วยเมนู “ขนมครัวซองต์ฝรั่งเศส” เรียกว่าเป็นเมนูที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในขณะนี้ เป็นการพัฒนาสูตรเอง พร้อมกับมีเมนูที่ทานคู่กับไอศกรีมจากสเวนเซ่นส์ด้วย

เหตุผลที่ทางสเวนเซ่นส์เลือกครัวซองต์มาเป็นเมนูไฮไลต์นั้น ง่ายๆ เลย “ครัวซองต์เป็นเทรนด์อยู่ในขณะนี้” ฮิตถึงขนาดที่ว่าติดเทรนด์ในทวิตเตอร์เลยทีเดียว

ทาง ณพล ศิริมงคลเกษม” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด บอกว่าครัวซองต์เป็นเทรนด์เบเกอรี่ยอดนิยม ตอนนี้หลายคาเฟ่ทำกันเยอะ อีกทั้งยังทานกับไอศกรีมได้ง่าย ต้องการพัฒนาเมนูแบบที่ว่าหาทานที่อื่นไม่ได้

เมนูครัวซองต์ของร้าน Sweet Aholic by Swensen’s จะมีด้วยกัน 3 กลุ่ม ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 69-129 บาท

Simply Serve ครัวซองต์เนยสด ราคา 69 บาท

Colorful (fill) your Happiness ครัวซองต์สอดไส้หลากรสชาติ ได้แก่ ครัวซองต์ครีมคัสตาร์ดอัลมอนด์, ครัวซองต์เรดเวลเวทครีมชีส, ครัวซองต์มัทฉะครีมถั่วแดงญี่ปุ่น และครัวซองต์ครีมช็อกโกแลตฟัดจ์ ราคา 89 บาท

Sweet addiction specially for U ครัวซองต์ท็อปอัพด้วยไอศกรีมสเวนเซ่นส์รสดัง ได้แก่ ครัวซองต์ไอศกรีมสตรอว์เบอร์รี่ครีมสด, ครัวซองต์ไอศกรีม มินิ โอรีโอ คุกกี้ แอนด์ ครีม, ครัวซองต์ไอศกรีม คินเดอร์ช็อกโกแลต และครัวซองต์ไอศกรีมวนิลลาพิทาชิโอ ราคา 129 บาท

นอกจากนี้ยังมีเมนูเครื่องดื่มที่มาในรูปแบบของขวดแก้วสุดชิค สามารถทานคู่กับครัวซองต์ร้อนๆ ได้อย่างลงตัว มีทั้งหมด 5 เมนู ได้แก่ ช็อกโกแลตซิกเนเจอร์, ชีสซี่ สตรอว์เบอร์รี่, ชานมซีลอน, ชาพีชสตรอว์เบอร์รี่ และชาสตรอว์เบอร์รี่ ในราคา 59 บาทเท่านั้น

ต้องเป็นป๊อปอัพสโตร์ สร้างความตื่นเต้น

เมื่อดูการดีไซน์ร้านแบบจัดเต็มขนาดนี้ แต่ต้องบอกว่า Sweet Aholic by Swensen’s เป็นโมเดลแบบ “ป๊อปอัพสโตร์” ที่อยู่แค่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่ร้านแบบถาวร จะตั้งที่สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่วันที่ 18-31 ธันวาคม 63 เท่านั้น เนื่องจากต้องการสร้างความแปลกใหม่

ที่สำคัญโมเดลของร้านนี้จะไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะต้องขายแค่เมนูครัวซองต์อย่างเดียวเท่านั้น ได้เปรียบที่สามย่านมิตรทาวน์เป็นโมเดลต้นแบบ หรือ EP1 เท่ากับว่าใน EP ต่อๆ ไปอาจจะมีเมนูอื่นๆ ที่อยู่ในกระแสตอนนั้นก็ได้

ณพล เสริมว่า “ตอนนี้เราดีไซน์ร้านให้เป็น EP ร้านนี้อยู่ใน EP1 เป็นร้านต้นแบบที่จะประเมินผลตอบรับจากลูกค้า ดูสินค้า เทรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภค ใน EP ต่อไปอาจจะมีเมนูขนมหวานอื่นๆ แต่ละที่อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ไม่ได้ปิดกั้น”

ถ้าถามว่าระยะเวลาในการเปิดเพียงแค่ 14 วัน ตั้งแต่ 18-31 ธันวาคม 63 เป็นระยะเวลาที่น้อยไปหรือไม่ ณพลตอบทันทีว่า มันเป็นเสน่ห์ของป๊อปอัพสโตร์ที่อยู่เพียงแค่ชั่วคราว ตั้งใจเปิดในช่วงเทศกาลปีใหม่พอดี และต้องการให้เป็นกระแสตามหา มาถ่ายรูป เช็กอิน เป็น Rare item ที่จะต้องมาเยือนให้ได้

เท่ากับว่าสิ่งที่จะสะท้อนกลับมาหาแบรนด์สเวนเซ่นส์ก็คือ “การรับรู้” ของแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้น การขยายพอร์ตสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้แบรนด์ดูทันสมัย และมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค

สุดท้ายแล้วนี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ของสเวนเซ่นส์ แม้จะถูก Disrupt จากคู่แข่ง หรือผู้บริโภคในตลาด แต่ก็สามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองให้เท่าทันต่อสถานการณ์ได้ แม้การมาของไวรัส COVID-19 ก็ไม่สามารถหยุดการพัฒนาตัวเอง สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับวงการได้อยู่เสมอ

เชื่อว่า Sweet Aholic by Swensen’s จะสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคได้

แต่สำหรับ EP2 หรือทำเลต่อไปจะเป็นที่ไหน ต้องติดตามตอนต่อไป…

Sweet Aholic by Swensen’s พร้อมเสิร์ฟความหวานละมุนให้กับเหล่าลูกค้า ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคมนี้ เฉพาะที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น G เท่านั้น ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ “สเวนเซ่นส์” โทรศัพท์ 02 365 6934

เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/sweetaholicbyswensens

หรืออินสตาแกรม https://www.instagram.com/sweetaholic.cafe/

]]>
1311460