พี่ไปร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 23 Aug 2024 07:44:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปลี่ยนจุดแข็งเป็นจุดขาย! กลยุทธ์ ‘ไปรษณีย์’ สร้างการเติบโตโดยไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ https://positioningmag.com/1487249 Fri, 23 Aug 2024 05:02:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487249 กลายเป็นว่า ไปรษณีย์ไทย ถือเป็นผู้ให้บริการ โลจิสติกส์รายเดียวในตลาดที่มีกำไรสองปีซ้อน แต่นั่นก็ทำให้ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เอ่ยปากว่า กดดัน จากความคาดหวังที่สูงขึ้นเรื่อย ขณะที่ตลาดกลับมีความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการมาของ อีคอมเมิร์ซรายใหม่

ยืมจมูกคนอื่นหายใจมันเสี่ยง

ในปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย มีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโต +7.40% มี กำไร 78.54 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 ผ่านไปครึ่ง ไปรณีย์ไทยมีรายได้รวม 10,602.30 ล้านบาท มี กำไร 136.60 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตและทำกำไรได้มาจากการบริหารต้นทุน และธุรกิจโลจิสติกส์ที่โตขึ้น เพราะปัจจุบัน รายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์คิดเป็นสัดส่วนถึง 45%

แต่อย่างที่รู้กันว่า ธุรกิจโลจิสติกส์จะเติบโตหรือไม่นั้น ปัจจัยสำคัญ ๆ มาจากธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ในวันที่กำลังซื้อของคนไทยลดลง จำนวนทรานแซ็คชั่นที่เกิดขึ้นก็ลดลงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นใหม่อย่าง Temu เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้เล่นดั้งเดิมซึ่งเป็น พันธมิตร กับไปรษณีย์ไทย ดังนั้น หากคำสั่งซื้อของแพลตฟอร์มเหล่านี้ลดลง ก็แปลว่ายอดของไปรษณีย์ไทยก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ ดร.ดนันท์ ย้ำว่า ไปรษณีย์ไทยต้องไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ

“อ้างอิงจากปริมาณการจัดส่งพัสดุให้กับอีมาร์เก็ตเพลสของไปรษณีย์ไทย เราเห็นเลยว่าจำนวนลดลงตั้งแต่ Temu เข้ามา บางแพลตฟอร์มยอดลดลงถึง 10-20% ต่อวัน ดังนั้น อีมาร์เก็ตเพลสไทยถูกจีนครองตลาดหมด และเขาจะใช้ขนส่งเจ้าไหนก็ได้ นี่เป็นความเสี่ยงมหาศาล เพราะต่อให้คุณภาพดีแค่ไหน เขาไม่ใช้เราก็ได้” ดร.ดนันท์ เล่า

เปลี่ยนจุดแข็งเป็นจุดขาย

กลยุทธ์แรกของไปรษณีย์สำหรับสร้างการเติบโตก็คือ เปลี่ยนจุดแข็งให้เป็นจุดขาย ที่หมายความว่า ขายจริง ๆ เริ่มจากจุดแข็งที่สุดของไปรษณีย์ก็คือ บุรุษไปรษณีย์ หรือ พี่ไปร กว่า 25,000 คน ที่ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ ความเชี่ยวชาญด้านเส้นทาง ทำให้มีความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่

โดยไปรษณีย์จะค่อย ๆ เพิ่ม Job Value เช่น นำเสนอ ขายสินค้า หรือ ทำ Survey บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์ หรือแม้แต่บริการ รับ-ส่ง สิ่งของ แบบ Point to Point ตามความต้องการของลูกค้า/พันธมิตร ซึ่งส่วนนี้ก็จะช่วยสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์โดยที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม ลดการพึ่งพาอีคอมเมิร์ซ และบุรุษไปรษณีย์เองก็มีรายได้เสริม โดย ดร.ดนันท์ วางเป้าจะเพิ่มรายได้ให้บุรุษไปรษณีย์ที่ 20% จากเงินเดือน โดยในปีที่ผ่านมา บุรุษไปรษณีย์มีรายได้จากธุรกิจเสริมกว่า 2.2 ล้านบาท

“เพราะพี่ไปรรู้จักคนพื้นที่ดี สามารถ Matching ดีมานด์-ซัพพลาย รู้ว่าคนแต่ละบ้านอายุเท่าไหร่ สนใจอะไร และเราก็มี Sandbox สำหรับบริษัทที่สนใจทำธุรกิจร่วมกัน”

อีกจุดที่จะสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์ก็คือ ที่ทำการไปรษณีย์ โดยที่ผ่านมา ไปรษณีย์ใช้เป็นจุด กระจายสินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้ชุมชน ขณะที่ไปรษณีย์เองจะได้ ค่าคอมมิชชั่น ซึ่ง ดร.ดนันท์ มองว่า นี่เป็นอีกกลยุทธ์ในการ สร้างทราฟฟิกของไปรษณีย์ โดยไม่ต้องพึ่งอีมาร์เก็ตเพลส ล่าสุด ไปรษณีย์ก็ได้นำร่องปรับโฉมสาขาสามเสนในเป็น โพสต์ คาเฟ่ ซึ่งก็จะเป็นอีกโมเดลในการใช้ประโยชน์จากที่ทำการไปรษณีย์ และใช้เป็นอีกช่องทางช่วยเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟของไทย นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมีเครื่องข่าย ไปรษณีย์อาเซียน ในการแลกเปลี่ยนสินค้า ดังนั้น มีโอกาสที่จะนำสินค้าของเกษตรกรไทยไปขายในตลาดต่างประเทศด้วย ปัจจุบัน รายได้จากการขายสินค้าชุมชนอยู่ที่ 600 ล้านบาท ตั้งเป้าแตะ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี

“เราทำตรงนี้แปลว่าชุมชนขายของได้มากขึ้น และระบบขนส่งเป็นของใครไม่ได้นอกจากเรา อีกสิ่งที่เราได้คือ จากการทำโพสต์ คาเฟ่ คือ พนักงานใกล้ชิดลูกค้าขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจลูกค้า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ และจะช่วยปรับบริการอย่างเข้าใจมากขึ้นกว่าคิดไปเอง”

สู่ยุค Information Logistics 

อีกบริการที่ค่อย ๆ หายไปก็คือ การส่งจดหมาย มีเพียงการส่งจากหน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ ไม่ใช่การส่งจากคนถึงคนอีกต่อไป ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงหันมาทำบริการ บริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร หรือ Prompt Post โดยแบ่งเป็น 4 บริการหลัก ได้แก่

  • Trust Service การรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัลด้วยใบรับรองดิจิทัลและกุญแจส่วนบุคคล 
  • Digital Postbox การจัดเก็บเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ 
  • One-stop service การสนับสนุนการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 
  • Prompt pass บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ยังมีบริการ D/ID (ดีไอดี) ซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคล ในรูปแบบการจ่าหน้าแบบใช้รหัส ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูง และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในไตรมาส 4

“พฤติกรรมคนเปลี่ยน เราทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น เราเลยทำเน็ตเวิร์กอิเล็กทรอนิกส์มาซับพอร์ตส่วนนี้ เพื่อรับกับพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป อย่างน้อยเราก็มีรายได้ดีกว่าหายไป แต่ต้องยอมรับว่าคงไม่ได้ไปชดเชยรายได้ทั้งหมด”

ใช้พลังงานทดแทน ดีต่อโลกและลดต้นทุน

เพราะธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยวางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยภายในปี 2573 จะปรับไปใช้ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ให้ได้ 85% และ ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ 60% ของการใช้พลังงาน นอกจากนี้ ศึกษาพลังงานทางเลือกอื่น และปรับเส้นทางให้มีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยได้ ลดการปล่อยคาร์บอน 400 ตัน ลดค่าใช้จ่ายน้ำมัน 18% โดยในปีนี้จะเริ่มใช้ รถอีวี 250 คัน และ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 200 คัน 

ต่อให้เป็นแค่ผู้รับก็คือ ลูกค้า

ดร.ดนันท์ ทิ้งท้ายว่า อีกความท้าทายของไปรษณีย์ไทยก็คือ รักษาคุณภาพของบริการ โดยไปรษณีย์ไทยพยายามจะบริหารระบบ CRM อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่เคยใช้บริการไปรษณีย์มาใช้บริการ รวมไปถึงผู้รับปลายทางด้วย

“ลูกค้าไปรษณีย์ไม่ใช่แค่คนจ่ายเงิน แต่คนรับปลายทางก็คือลูกค้า และเรากำลังเก็บข้อมูลเพื่อจะเปลี่ยนเขามาเป็นคนส่ง ตอนนี้เราสามารถเปลี่ยนมาได้ 1 ล้านคน ซึ่งทุกการเติบโตไม่ได้ประทานมาจากฟ้า แต่มาจากความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพ”

]]>
1487249
‘ไปรษณีย์ไทย’ ไม่ขอเป็นแค่ Last-Mile ดัน ‘พี่ไปร’ ขายตรง Silver Gen ก่อนเตรียมอัพสกิลให้บริการ ‘Virtual Bank’ สร้างรายได้ใหม่ ๆ https://positioningmag.com/1484425 Tue, 30 Jul 2024 10:22:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1484425 คงไม่ต้องบอกว่าตลาด โลจิสติกส์ แข่งขันกันดุเดือดแค่ไหน ยิ่งผลประกอบการของผู้ให้บริการหลายเจ้าออกมา ขาดทุน ก็ยิ่งย้ำภาพให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีก แต่ท่ามกลางผู้เล่นต่างชาติทุนหนาที่ตบเท้าเข้ามาในไทย ไปรษณีย์ไทย ก็ยังกลับสามารถพลิกกลับมา กำไร ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2567 ก็ยังกำไรอยู่

ไปรษณีย์โตไม่ใช่เพราะตลาดโต

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกไปรณีย์ไทยมีรายได้รวม 10,602.30 ล้านบาท กำไร 136.60 ล้านบาท โดยธุรกิจโลจิสติกส์มีสัดส่วนประมาณ 45% ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตและทำกำไรได้มาจากการบริหารต้นทุน และธุรกิจโลจิสติกส์ที่โตขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ดนันท์ มองว่า ภาพรวมของตลาดโลจิสติกส์ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท อาจ เติบโตได้เล็กน้อย เพราะเนื่องจาก กำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลต่อจำนวนทรานแซ็คชั่นที่เกิดขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าตลาด อีคอมเมิร์ซ ปีนี้จะ เติบโตได้หลักเดียว

“สิ่งที่จะทำให้เราแต่งต่าง ไม่ใช่แค่เรื่องราคา เราต้องทำให้ลูกค้ารู้ว่าแวร์ลูเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ที่เราโตไม่ใช่เพราะตลาดโตขึ้น แต่ที่เราโตเพราะศักยภาพของเราที่ดีขึ้น ทำให้ดึงมาร์เก็ตแชร์จากคู่แข่งได้ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเราเติบโต”

ไม่ขอเป็นแค่ Last Mile

หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตและรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์ไทยก็คือ การเพิ่ม Job Value ให้บุรุษไปรษณีย์ไทย โดย ดร.ดนันท์ มองว่า ไปรษณีย์ไทยไม่ควรเป็นแค่ Last Mile แต่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น First Mile โดยใช้เครือข่ายของพี่ไปรกว่า 25,000 คน ซึ่งมีจุดแข็งที่ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบและต่อยอดได้

โดยล่าสุดได้ทดลองให้พี่ไปร ขายของ เช่น แก้ปวดเมื่อย ช่วยคนที่นอนไม่หลับ เน้นจับกลุ่ม Silver Marketing กับกลุ่ม Gen X และ Baby Boomer ที่ไม่ถนัดใช้งานอีคอมเมิร์ซ เบื้องต้นได้ทดลองในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยพบว่าได้รับการตอบรับที่ดี มียอดคำสั่งซื้อเฉลี่ยถึง 3,000 บาท

“ที่เราเลือกภาคตะวันออกก่อนเพราะเป็นเขตเศรษฐกิจ และต่างจังหวัดก็มักมีความสัมพันธ์อันดีกับพี่ไปร และเราเห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่ชอบใช้อีคอมเมิร์ซ แต่เขาเจอกับพนักงานไปรษณีย์ไทยบ่อย ๆ เราก็จะเอาโบรชัวร์ที่มีตัวหนังสือใหญ่ ๆ ไปให้เขาเลือก”

วางเป้าเพิ่มรายได้พี่ไปร 20%

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังสนใจจะ ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) คาดว่าจะความชัดเจนหลังเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดในเดือน ส.ค. เพราะมองว่าจะเป็นอีกช่องทางในการหารายได้ จากสินทรัพย์ที่มีประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเครือข่ายของบุรุษไปรษณีย์

“เรามั่นใจในเน็ตเวิร์ก กับตัวตนของบริษัทที่จะยิ่งทำให้คนมั่นใจ และเรายังเห็นเคสตัวอย่างจากประเทศอินเดียที่มี India Post International และมี India Post Payments Bank แปลว่าเราไม่ได้มโน มีคนทำแล้ว และไม่ได้ต่างจากที่เราคิด”

ทั้งนี้ ในอนาคตไปรษณีย์ไทยมีแผนจะแบ่งระดับทักษะความสามารถของพนักงานออกเป็น Tier ต่าง ๆ ด้วย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ เพิ่มรายได้บุรุษไปรษณีย์ขึ้น 20%

ดันบริการระหว่างประเทศสู้ธุรกิจสีเทา

สำหรับธุรกิจ บริการระหว่างประเทศ ของไปรษณีย์ไทยมีรายได้ 1,293.31 ล้านบาท คิดเป็น 12.20% ของรายได้รวม โดย ดร.ดนันท์ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ส่วนนี้เป็น 15% หรือ 1,800 ล้านบาท โดยความท้าทายของตลาดนี้ก็คือ ข้อกำหนดระหว่างประเทศในการนำเข้าสินค้า ซึ่งข้อกำหนดที่เปลี่ยนไป ทำให้ลูกค้าหันไปใช้ธุรกิจสีเทา ที่จะลักลอบนำสินค้าส่งไปยังประเทศปลายทาง

“ธุรกิจระหว่างประเทศเคยคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด 20% แต่ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ เพราะเมื่อประเทศปลายทางเปลี่ยนกฎ คนก็หันไปส่งกับผู้ให้บริการเทา เพราะว่าส่งได้เยอะ ได้สเกล และส่งของที่ผิดกฎได้ ดังนั้น ถ้าแต่ละประเทศไม่เปลี่ยนกฎ พวกสีเทาก็จะไม่เกิด ทำให้วอลลุ่มที่มหาศาลหลุดไป และปัจจุบันมีผู้ให้บริการเป็นร้อย ๆ เจ้า”

อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทยมี 5 กลยุทธ์ ที่จะสู้ในตลาดระหว่างประเทศ ได้แก่

  • เพิ่มการขนส่งที่หลากหลาย ทั้งการขนส่งทางอากาศโดยสายการบินพาณิชย์, การขนส่งทางภาคพื้น และการขนส่งทางราง และการขนส่งทางเรือ
  • การเสริมสร้างความร่วมมือกับการไปรษณีย์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพสากลไปรษณีย์ Universal Postal Union – UPU การไปรษณีย์สมาชิกอาเซียน ASEANPOST และ ASEANPOST++ (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) การไปรษณีย์กลุ่ม KPG (Kahala Posts Group) เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น
  • ดึงพันธมิตรร่วมปิดช่องว่างการขนส่งและนำจ่ายปลายทาง โดยร่วมมือกับกลุ่มผู้รับรวบรวม / บริษัทตัวแทนนำเข้าและส่งออก ซึ่งสามารถขนส่งในลักษณะสินค้า cargo พร้อมด้วยการจัดการเอกสาร Airway Bill และดำเนินพิธีการศุลกากรได้ที่ปลายทาง พร้อมด้วยการนำสิ่งของไปฝากส่งกับผู้ให้บริการนำจ่าย ซึ่งอาจเป็นผู้ให้บริการขนส่งเอกชน รวมทั้งผู้ให้บริการไปรษณีย์ด้วยอัตราค่าบริการในประเทศ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนของการนำจ่ายในประเทศปลายทางถูกลง
  • สร้างพันธมิตรในกลุ่มแพลตฟอร์ม ได้แก่ eBay ซึ่งมีความร่วมมือด้านการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับ ผู้ค้าขายในเอเชียแปซิฟิกผ่านอีเบย์ ซีพาส อีกทั้งยังสนับสนุนผู้ขายไทยด้วยการจัดโปรโมชัน eBay Seller ที่เป็นสมาชิก POST Family ให้ได้รับค่าส่งพิเศษในบริการ ePacket และ EMS World สำหรับปลายทางยอดนิยม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี และ Amazon FBA ที่กำลังพัฒนาบริการสำหรับผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ที่ต้องการขนส่งข้ามพรมแดน เพื่อนำส่งสินค้าเข้าคลังในต่างประเทศ โดยจะสามารถฝากส่งผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ไทยที่มีครอบคลุมทั่วประเทศภายในไตรมาส 4 ปี 2567 นี้
  • เปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งได้ประสานงานกับพันธมิตรต่างประเทศ และสายการบินในการสร้างเครือข่ายการขนส่งและให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศไปยังปลายทางต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และหาเส้นทางสำหรับปลายทางที่ยังไม่มีบริการเส้นทางบินไป โดยประสานงานกับการไปรษณีย์ที่เป็นประเทศกลางทางเพื่อขอขนส่งผ่าน ทั้งแบบ closed transit และ open transit

ปัจจุบัน ปลายทางที่ได้รับความนิยมในการส่งระหว่างประเทศ 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สินค้าที่นิยมส่ง คือ เสื้อผ้า ขนมและอาหารแห้ง สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เอกสาร ของสะสม

“เป้าหมายทั้งปีวางไว้ที่ 22,000 ล้านบาท แต่จะ กำไรไหมต้องรอดู ซึ่งเราเชื่อว่าครึ่งปีหลังคิดว่าเป็นอะไรที่สนุก และต้องทำอะไรอีกเยอะ โดยเฉพาะการเพิ่มจุดให้บริการ เพื่อให้บริการอย่างทั่วถึง เพราะเราเข้าใจว่าการเพิ่มความสะดวกเป็นหัวใจของประสบการณ์ โดยตอนนี้ไปรษณีย์ไทยเรามีจุดให้บริการรวมกว่า 5 หมื่นจุด”

]]>
1484425