ยูนิโคล่ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 10 Oct 2023 03:51:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Uniqlo ยอดขายในอินเดียปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 60% บริษัทเตรียมขยายสาขา เพิ่มซัพพลายเออร์ https://positioningmag.com/1447285 Mon, 09 Oct 2023 17:38:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447285 บริษัทแม่ของร้าน Uniqlo อย่าง Fast Retailing ตั้งใจบุกตลาดในประเทศอินเดียอย่างเต็มที่ หลังจากในปีที่ผ่านมา ยอดขายในประเทศอินเดียเติบโตมากถึง 60% แสดงให้เห็นถึงความนิยมของแบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นรายนี้ในอินเดีย

Fast Retailing บริษัทแม่แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง Uniqlo ได้เตรียมที่จะขยายสาขาเพิ่มในประเทศอินเดีย หลังจากในผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ยอดขายในแดนภาระตะของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 60% ไม่เพียงเท่านี้บริษัทยังเตรียมเพิ่มซัพพลายเออร์เพื่อที่จะส่งออกเสื้อผ้าไปยังต่างประเทศด้วย

ผลประกอบการของธุรกิจที่อยู่ในอินเดียในปีที่ผ่านมา (สิ้นสุดเดือนมีนาคมของปีนี้) หลังบริษัทได้ยื่นงบบริษัทให้หน่วยงานพาณิชย์ของอินเดีย Uniqlo นั้นทำรายได้มากถึง 6,240 ล้านรูปี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามากถึง 60% ส่งผลทำให้บริษัทมีกำไรมากถึง 683 ล้านรูปี

ล่าสุดเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง Uniqlo ยังได้เปิดสาขาที่เมืองมุมไบสาขาแรก ซึ่งเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ขณะที่สาขาที่ 2 ในเมืองมุมไบนั้น บริษัทคาดว่าจะเปิดสาขาได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ทำให้ล่าสุดสาขาของ Uniqlo ในประเทศอินเดียมีเพิ่มขึ้นเป็น 11 สาขาแล้ว หลังบริษัทได้เปิดสาขาแรกในปี 2019 ที่กรุงนิวเดลี ซึ่งการเปิดสาขาในเมืองมุมไบ บริษัทส่งสัญญาณว่าพวกเขากำลังเร่งเพิ่มสาขาอย่างจริงจังในอินเดีย

ไม่เพียงเท่านี้ Fast Retailing เองยังได้เตรียมหาซัพพลายเออร์เพิ่มเติมในประเทศอินเดียเพื่อที่จะผลิตเสื้อผ้าหลังจากยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน Fast Retailing กำลังทำงานร่วมกับโรงงานเย็บผ้าและโรงงานมากกว่า 20 แห่งในอินเดีย ซึ่งข้อกำหนดของรัฐบาลอินเดียคือจะต้องมีสินค้าที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 30% ของสัดส่วนสินค้าทั้งหมด

Tomohiko Sei ซึ่งเป็น CEO ของ Uniqlo ในประเทศอินเดียได้กล่าวว่า ด้วยขนาดประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้อินเดียถือเป็นโอกาสสำคัญของบริษัท และไม่ใช่แค่โอกาสสำคัญของแบรนด์เสื้อผ้ารายนี้เท่านั้น แต่เขายังมองว่านี่เป็นโอกาสของบริษัทอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ CEO รายดังกล่าวยังได้มองว่าทำไมแบรนด์เสื้อผ้ารายนี้ถึงมียอดขายที่เติบโต เขาได้กล่าวว่า “นี่ไม่เกี่ยวกับการขายสินค้าหรือกำไร แต่หมายถึงการเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้คนทั่วอินเดีย และเป็นแบรนด์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชาวอินเดีย”

บริษัทจากญี่ปุ่นรายนี้ได้ตั้งเป้าที่จะมียอดขายให้ได้ถึง 5 ล้านล้านเยนภายใน 5 ปีที่จะถึงนี้ให้ได้ และอินเดียเป็นอีก 1 ประเทศที่จะช่วยผลักดันยอดขายของบริษัทให้ถึงฝั่งฝันได้ และบริษัทต้องการที่จะเป็นผู้เล่นระดับโลกในด้านการจำหน่ายเสื้อผ้าด้วย

ที่มา – Money Control, Bloomberg, Business Today

]]>
1447285
‘Uniqlo’ ขึ้นเงินเดือนพนักงานในญี่ปุ่น 40% เพื่อลดช่องว่างค่าตอบแทนกับพนักงานต่างประเทศ https://positioningmag.com/1415178 Wed, 11 Jan 2023 10:57:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1415178 ยูนิโคล่ (Uniqlo) บริษัท Fast Retailing สัญชาติญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ของโลก ได้เปิดเผยว่าจะขึ้นเงินเดือนพนักงานประจำในญี่ปุ่นสูงถึง 40% ในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อพยายามลดช่องว่างของค่าตอบแทนกับพนักงานในต่างประเทศและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของบริษัท

ก่อนหน้านี้ ยูนิโคล่ ในญี่ปุ่นเคยขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงของพนักงานพาร์ทไทม์โดยเฉลี่ยประมาณ 20% เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ล่าสุด บริษัทก็เตรียม ปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุด 40% สำหรับพนักงานประจำซึ่งปัจจุบันมีจำนวนราว 8,400 คน โดยเงินเดือนขั้นต่ำของพนักงานที่จบในระดับมหาวิทยาลัยจะเพิ่มขึ้นจาก 255,000 เยน (ราว 66,300 บาท) เป็น 300,000 เยน (ราว 78,000 บาท) เพิ่มขึ้น 18%

ส่วนเงินเดือนของผู้จัดการร้านใหม่จะอยู่ที่ 390,000 เยน (ราว 101,400 บาท) เพิ่มขึ้น 100,000 เยน (ราว 26,000 บาท) และเพิ่มขึ้นประมาณ 36% ต่อปี ส่วนรายได้ประจำปีของพนักงานคนอื่น ๆ จะเพิ่มขึ้นถึง 40% ตามข้อมูลของบริษัท โดยรวมแล้ว ต้นทุนแรงงานของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15%

นอกจากนี้ โบนัสของพนักงาน Fast Retailing ยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย บริษัทกล่าวว่า จะยกเลิกเบี้ยเลี้ยงผู้บริหาร และนำระบบการให้คะแนนทั่วไปมาใช้ในการตัดสินใจขึ้นเงินเดือนของพนักงาน

ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ขึ้นค่าเงินเดือนเนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น และคาดว่าความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ด้านเสื้อผ้าระดับโลกจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาค่าจ้างประจำปีระหว่างผู้บริหารและแรงงานทั่วญี่ปุ่น

สำหรับยูนิโคล่ มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 273,340 ล้านเยน (ราว 71,000 ล้านบาท) จากยอดขาย 2.3 ล้านล้านเยน สำหรับปีงบประมาณที่ผ่านมา (สิ้นสุดในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว) เพิ่มขึ้น 60.9% จากปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายในต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

Source

]]>
1415178
เจ้าของ ‘ยูนิโคล่’ ขึ้นแท่น ‘มหาเศรษฐีอันดับ 1 ญี่ปุ่น’ แม้ความมั่งคั่งลดลง 40% https://positioningmag.com/1387690 Fri, 03 Jun 2022 08:00:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387690 ทาดาชิ ยานาอิ ผู้ก่อตั้ง ‘ยูนิโคล่’ แบรนด์เสื้อผ้าชั่นสัญชาติญี่ปุ่น ได้ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งเบอร์ 2 มา 2 ปีติด ตามการจัดอันดับของ Forbes Asia นิตยสารธุรกิจระหว่างประเทศชื่อดัง

ทาดาชิ ยานาอิ (Tadashi Yanai) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Fast Retailing Co ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการเชนเสื้อผ้าลำลองชื่อ Uniqlo ที่คนไทยและทั่วโลกคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยจากรายงานของ Forbes Asia ระบุว่า ยานาอิ ขึ้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งของเขาลดลงถึง 44% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของยอดขายในตลาดภายในประเทศและในจีน

มูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงอย่างรวดเร็วของยานาอิถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการหดตัวในวงกว้างของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยสะท้อนจากความมูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีญี่ปุ่น โดยเมื่อนำทรัพย์สินมหาเศรษฐีทั้ง 50 อันดับมารวมกัน จะเห็นว่าความมั่งคั่งลดลงเกือบ 1 ใน 3 เหลือเพียง 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงการหยุดชะงักของซัพพลายเชน

ทั้งนี้ มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ได้แก่ ทาเคมิตสึ ทากิซากิ ผู้ก่อตั้งบริษัทคีย์เอ็นซ์ คอร์ป ผู้ผลิตอุปกรณ์เซ็นเซอร์ออโตเมชั่น โดยมีสินทรัพย์รวม 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลดลงจากปีที่แล้ว 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ SoftBank Group Corp ที่หล่นจากเบอร์ 1 ในปีที่แล้วมาอยู่อันดับ 3 เนื่องจากมูลค่าสุทธิของเขาลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเหลือ 2.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Source

]]>
1387690
‘Uniqlo’ ฟันกำไรไตรมาส 4 ‘2.7 หมื่นล้านบาท’ โต 33% แม้ตลาด ‘จีน’ รายได้หด https://positioningmag.com/1370536 Mon, 17 Jan 2022 05:22:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370536 Fast Retailing บริษัทแม่ของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ Uniqlo (ยูนิโคล่) ได้ออกมาประกาศผลกำไรไตรมาสแรก (ต.ค. – ธ.ค. 64) ว่าทำได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน และยังคงรักษาการคาดการณ์ประจำปีไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าธุรกิจในตลาดหลักของจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดด้านไวรัส

กลุ่มบริษัทเสื้อผ้าลำลองของญี่ปุ่น กล่าวว่า ยอดขายและกำไรที่ออกมาดีเกินคาดในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี โดยปัจจัยที่ส่งผลให้กำไรเติบโตมาจาก “ความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น” ของธุรกิจของบริษัท โดยกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสแรกพุ่งขึ้น 33% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 93.6 พันล้านเยน (2.7 หมื่นล้านบาท) ถือเป็น ไตรมาสแรกที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ทั้งนี้ กำไรสุทธิของ 3 ไตรมาสแรกของ ปีงบประมาณ 2021 ของ Fast Retelling (กันยายน 2020 – สิงหาคม 2021) อยู่ที่ 1.51 แสนล้านเยน หรือ 4.49 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ โอมิครอน (Omicron) ที่แพร่เชื้อได้สูง จนหลายคนกังวลว่าอาจจะทำให้ประสิทธิภาพโดยของบริษัทในปีงบประมาณ 2564-2565 อาจไปไม่ถึงฝัน แต่ Uniqlo ยังคงประมาณการกำไรสุทธิสำหรับปี 2022 จนถึงเดือนสิงหาคมไม่เปลี่ยนแปลงที่ 175 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 3% จากตัวเลขสถิติของปีที่แล้ว

“เราคาดว่าจะบรรลุประมาณการเบื้องต้น แม้ว่าเราจะมีปัญหากับสถานการณ์ในอนาคตอันเนื่องมาจากการแพร่กระจายของ COVID-19 ทั่วโลก” คำแถลงระบุในถ้อยแถลง

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของ Uniqlo ในปัจจุบันมาจากตลาดประเทศ จีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของ Uniqlo ด้วยนโยบาย ‘Zero Covid’ ทำให้ภาครัฐมีการกำหนดมาตรการการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทในจีนลดลง

และไม่ใช่แค่จีน แต่ยอดขายใน ญี่ปุ่น ก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่นในฤดูใบไม้ร่วงกระทบความต้องการเสื้อผ้าฤดูหนาว แต่ยังดีที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งเพิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์

Source

]]>
1370536
ขายแค่เสื้อไม่พอ! ‘ยูนิโคล่’ เปิดร้าน ‘กาแฟ’ พ่วงขาย ‘ดอกไม้’ ที่แฟล็กชิปสโตร์ในกินซ่า https://positioningmag.com/1352505 Sun, 19 Sep 2021 05:53:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352505 เป็นเวลา 10 ปีแล้วที่แฟล็กชิปสโตร์ระดับโลกของ ‘ยูนิโคล่’ (Uniqlo) ที่ตั้งอยู่ในย่านกินซ่า ซึ่งย่านหรูหราของโตเกียวได้ให้บริการ โดยสโตร์ดังกล่าวสูง 12 ชั้น ถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศต้องแวะเยี่ยมชม ล่าสุด ยูนิโคล่ได้รีโนเวตใหม่ พร้อมโซนคาเฟ่ และโซนขายดอกไม้อีกด้วย

หลังจากทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจาก COVID-19 ‘Uniqlo Ginza’ แฟล็กชิปสโตร์ของยูนิโคล่ก็พร้อมต้อนรับลูกค้าอีกครั้ง โดยทั้ง 12 ชั้นได้รับการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด แต่ 1 ในไฮไลต์หลักคือพื้นที่ Uniqlo Coffee ใหม่ล่าสุดที่ชั้นบนสุด โดยถือเป็นร้านกาแฟแห่งแรกของยูนิโคล่ โดยลูกค้าสามารถซื้อกาแฟ Uniqlo Original Blend ใหม่ล่าสุดของแบรนด์ได้ที่นี่ ทั้งแบบร้อนและเย็นในราคา 200 เยน (ราว 60 บาท)

โดย Uniqlo Ginza เป็นที่เดียวในโลกที่ลูกค้าสามารถดื่มกาแฟแบรนด์ยูนิโคล่และยังมีเมนูอื่น ๆ เช่น กาแฟดริปเกอิชาราคา 450 เยน และคุกกี้เนยที่เป็นขนมขึ้นชื่อของท้องถิ่นที่มีมาช้านาน ส่วนไฮไลต์อื่น ๆ ที่น่าจับตามองในคอมเพล็กซ์ที่ปรับปรุงใหม่ ได้แก่ ร้านสูท ที่มีพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นพิเศษเพื่อปรับแต่งเสื้อผ้าของลูกค้า บูธถ่ายภาพใหม่ และ ร้านดอกไม้

นอกจากนี้ ยูนิโคล่ยังออกคอลเลกชั่นพิเศษเป็นเสื้อทีเชิร์ต และกระเป๋าที่มีโลโก้แบรนด์ของร้านค้าในย่านกินซ่าอย่าง Kyukyodo, Cafe Paulista, Ginza Kimuraya และ Ginza Sembikiya ออกมาให้ได้ซื้อหากัน ซึ่งถือเป็นการช่วยส่งเสริมธุรกิจใกล้เคียงด้วย

โซนตัดสูท
คอลเลกชั่นที่ขายเฉพาะยูนิโคล่กินซ่า

Source

]]>
1352505
‘Uniqlo’ กลับมาตามหลัง ‘Zara’ หลังตลาดเอเชียสะดุดเพราะเข้าถึงวัคซีนช้ากว่ายุโรป https://positioningmag.com/1336428 Thu, 10 Jun 2021 10:30:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1336428 หลังจากที่มูลค่าบริษัทของ ‘Fast Retailing’ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ‘Uniqlo’ แซงหน้า ‘Zara’ ไปช่วงสั้น ๆ เมื่อช่วงต้นปี แต่ปัจจุบัน Zara ก็พลิกกลับมาแซง Uniqlo เนื่องจากผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศฝั่งตะวันตกทำให้หน้าร้านกลับมาเปิดได้อีกครั้งหลังจากการล็อกดาวน์

จากที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ Uniqlo เคยแซง Zara เนื่องจากบริษัทได้รับประโยชน์จากจุดแข็งในตลาดเอเชีย ซึ่งทำได้ดีกว่าประเทศตะวันตกในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาด แต่การเปิดตัววัคซีนในตลาดหลักได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ส่งผลให้มูลค่าตลาดของ Fast Retailing บริษัทแม่ของญี่ปุ่นของ Uniqlo มีมูลค่ารวม 8.7 ล้านล้านเยน (7.94 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่ำกว่า Inditex ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในสเปนของ Zara ซึ่งมีมูลค่า 1 แสนล้านยูโร (1.21 แสนล้านดอลลาร์)

ในสหราชอาณาจักรมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อ 100 คนอยู่ที่ 103 โดส ขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตรา 91 โดสต่อ 100 คน ตามการวิเคราะห์โดยนิกเคอิและไฟแนนเชียลไทมส์ ขณะที่ในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ตามหลังด้วยปริมาณยา 20 โดสต่อ 100 คน ตามด้วยญี่ปุ่น 14 โดสต่อ 100 คน และมาเลเซีย 11 โดสต่อ 100 คน

แม้ Fast Retailing ยังคงแข็งแกร่งในตลาดหลักในจีน ซึ่งควบคุมการแพร่ระบาดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังน่าห่วง เพราะในมาเลเซีย Uniqlo ต้องปิดร้านทั้งหมด 49 แห่งชั่วคราวเนื่องจากการระบาด ส่วนเวียดนามต้องปิดหน้าร้านถึง 5 ใน 8 แห่ง

ส่วนในญี่ปุ่นก็ประสบปัญหากับการดำเนินงานเช่นกัน โดยในเดือนพฤษภาคม ยอดขาย Uniqlo สาขาเดิมลดลง 0.6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขติดลบครั้งแรกในรอบ 12 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2019 ก่อนเกิดโรคระบาด ยอดขายสาขาเดิมลดลง 18.6%

Photo : Shutterstock

ท่ามกลางฉากหลังของการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของ COVID-19 ในเอเชียและตลาดในประเทศที่ชะลอตัว หุ้นของ Fast Retailing อยู่ในแนวโน้มขาลง ในวันพุธที่ผ่านมาราคาหุ้นแตะระดับต่ำสุดในรอบปี โดยล่าสุดปิดที่ 82,500 เยน ลดลง 760 เยนจากการปิดครั้งก่อน

Fast Retailing มีความแข็งแกร่งในด้านเสื้อผ้าในร่มและชุดลำลอง แต่การเปลี่ยนแปลงทั่วโลกไปสู่การเปิดเศรษฐกิจใหม่ได้ฟื้นความต้องการเสื้อผ้ากลางแจ้งแฟชั่นชั้นสูงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ Inditex” Dairo Murata จาก JPMorgan Securities Japan กล่าว

Inditex รายงานเมื่อวันพุธว่ามีกำไรสุทธิ 421 ล้านยูโรสำหรับไตรมาสแรกสิ้นสุดในเดือนเมษายน สิ่งนี้แสดงถึงการฟื้นตัวจากรายได้ที่ลดลง 409 ล้านยูโรในปีก่อนหน้า โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณของ Inditex เมื่อปีที่แล้ว บริษัทต้องปิดหน้าร้านกว่า 88% ทั่วโลก แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 16% ขณะที่ ยอดขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น 67% ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนจากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นความเชื่อร่วมกันว่าเอเชียจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตระยะกลางถึงระยะยาว โดยเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว Fast Retailing ได้เปิดร้าน Uniqlo จำนวน 818 แห่งในประเทศจีน แซงหน้าร้านค้าในญี่ปุ่นทั้งหมด 810 แห่ง เป็นครั้งแรก โดย Fast Retailing วางแผนที่จะเปิดร้านค้า 100 แห่งในจีน รวมถึงไต้หวันและฮ่องกง ในช่วงปีงบประมาณปัจจุบันจนถึงเดือนสิงหาคม

Source

]]>
1336428
‘ยูนิโคล่’ งานเข้าหลัง ‘สหรัฐฯ’ เบรกนำเข้าสินค้า เหตุหวั่นใช้แรงงานชาวอุยกูร์ https://positioningmag.com/1333070 Thu, 20 May 2021 05:39:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333070 ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สินค้าของ ‘UNIQLO’ (ยูนิโคล่) ของ Fast Retailing Co. Ltd. ได้ถูกกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ (CBP) ที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสระงับการขนส่งเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าผลิตจาก ‘ฝ้ายซินเจียง’ ซึ่งมีข้อกังวลว่าเป็นการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในซินเจียง

ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคมปี 2020 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา (DHS) ได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับ “คำสั่งระงับ” ฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงโดยระบุว่าคำสั่ง “Withhold Release Order” (WRO) นี้จะกำหนดให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์ฝ้ายทั้งหมดที่ผลิตโดย XPCC (Xinjiang Production and Construction Corps) และผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันที่ XPCC ผลิตขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า XPCC คือพวกเขาเป็นกลุ่มเศรษฐกิจและกึ่งทหารที่ควบคุมธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคซินเจียงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับสินค้าที่ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งระงับไว้นั้น ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องนำสินค้าออกนอกประเทศหรือไม่ก็ถูกทำลาย หากไม่สามารถยืนยันได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้ละเมิดกับกฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและกินเวลานาน เพราะเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้วที่ยังหาข้อสรุปให้กับ Uniqlo ไม่ได้

แม้ตามเอกสารศุลกากรของ Uniqlo ระบุว่า ผ้าฝ้ายดิบที่ใช้ในเสื้อเชิ้ตผลิตในออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกาและบราซิลโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงานชาวอุยกูร์ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของสหรัฐฯ กล่าวว่า Uniqlo ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้ผลิตจากแรงงานชาวอุยกูร์ โดยอ้างว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่เพียงพอ

Tadashi Yanai CEO ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับผ้าฝ้ายในภูมิภาคซินเจียงในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเดือนเมษายน แต่บริษัทได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 ว่า

“ไม่มีผลิตภัณฑ์ Uniqlo ที่ผลิตในภูมิภาคซินเจียง นอกจากนี้ยังไม่มีพันธมิตรด้านการผลิตของ Uniqlo ที่รับเหมาช่วงให้กับโรงงานผลิตผ้าหรือโรงปั่นด้ายในภูมิภาค”

อย่างไรก็ตาม ยอดขายในอเมริกาเหนือคิดเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของยอดรวมของ Fast Retailing ดังนั้น การจัดส่งที่ถูกบล็อกจึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่แม้ว่าผลกระทบกับ Uniqlo อาจไม่ได้มากมาย แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะเมื่อเครื่องแต่งกาย, รองเท้าและเครื่องประดับส่วนใหญ่ยังคงมาจากประเทศจีน

forbes / nikkeiasia

]]>
1333070
‘Uniqlo’ ขอสวนกระแสออนไลน์ เดินหน้า ‘เปิดสาขา’ ในเอเชียเพิ่มเป็น ‘สองเท่า’ https://positioningmag.com/1327414 Fri, 09 Apr 2021 09:09:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327414 ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่อยู่กับโลกเรามากว่า 1 ปี แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงบ้างเพราะ ‘วัคซีน’ แต่ผลกระทบจากไวรัสก็ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวหันไปเน้น ‘ออนไลน์’ มากกว่าที่จะพึ่งพาหน้าร้านที่ไม่รู้ว่าจะถูก ‘ปิด’ เมื่อไหร่ แต่ ‘Uniqlo’ แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นกลับสวนกระแสตั้งเป้าเปิดสาขาในเอเชียเพิ่มอีก 2 เท่า

ตั้งเป้าเปิด 100 สาขาต่อปี

‘Fast Retailing’ เจ้าของ ‘Uniqlo’ ต้องการเร่งการขยายตัวในเอเชีย โดยตั้งเป้า เปิดสาขา 100 แห่งต่อปี จากปกติเปิดปีละ 40-50 สาขาต่อปี เพื่อให้เติบโตในยุคหลังการระบาดของ COVID-19 จบลง

“เอเชียเป็นและจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลก เราจะเร่งขยายตัวในภูมิภาคเพื่อให้เราเป็น บริษัทอันดับ 1 ในเอเชีย เพราะไม่ช้าก็เร็วการระบาดจะสิ้นสุดลง” ทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของ Fast Retailing กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยานาอิ ยอมรับว่าการค้าออนไลน์ยังเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตต่อไป และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอีคอมเมิร์ซ บริษัทกำลังสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติในทั่วโลก

ทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของ Fast Retailing

ครึ่งปีแรกกำไรโต 23%

ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ (ช่วงเดือน ก.ย. 2563 ถึงเดือน ก.พ. 2564) มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 167.9 พันล้านเยน (1.5 พันล้านดอลลาร์) ปรับตัวขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า แม้ยอดขายในภูมิภาคส่วนใหญ่จะลดลง แต่ก็ได้ตลาดญี่ปุ่นและจีนช่วยบริษัทสามารถเอาชนะผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ได้

บริษัทระบุว่า รายได้จาก Uniqlo ในญี่ปุ่นทำได้เกินความคาดหมาย โดยเติบโตขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนปิดที่ 492.5 พันล้านเยน ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 36.6% เป็น 97.8 พันล้านเยน ขณะที่ยอดขายออนไลน์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 40%

ส่วนรายได้จากต่างประเทศของ Uniqlo มียอดขายลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า ปิดที่ 521.8 พันล้านเยน แต่กำไรเพิ่มขึ้น 25.9% เป็น 67 พันล้านเยน เนื่องจากอัตรากำไรที่ดีขึ้นในเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดเดือนส.ค. ที่ 2.55 แสนล้านเยน จากคาดการณ์เดิมที่ 2.45 แสนล้านเยน ส่วนกำไรสุทธิปรับตัวขึ้น 5.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงินปัจจุบัน แตะที่ 1.06 แสนล้านเยน ขณะที่ยอดขายอยู่ที่ 1.20 ล้านล้านเยน ลดลง 0.5%

ปัญหาการเมืองส่งผลต่อการทำธุรกิจ

ทาดาชิ ยานาอิ ยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยากขึ้น แต่ปฏิเสธที่จะพูดถึงเกี่ยวกับการใช้ฝ้ายที่ผลิตในซินเจียง เนื่องจากแบรนด์ต่างประเทศบางแบรนด์เลิกใช้ผ้าฝ้ายจากภูมิภาคที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมของจีน เนื่องจากมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน

“เราต้องการที่จะเป็นกลางทางการเมือง”

ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Fast Retailing เคยออกแถลงการณ์ว่า “ไม่มีผลิตภัณฑ์ Uniqlo ที่ผลิตในภูมิภาคซินเจียง นอกจากนี้ยังไม่มีพันธมิตรด้านการผลิตของ Uniqlo ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตผ้าหรือโรงปั่นด้ายในภูมิภาคนี้”

สรุปประเด็น ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ สู่การแก้แค้นของลูกค้าจีน

ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ฝ่ายซินเจียง แต่บริษัทเพิ่งถูกผลกระทบในเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งโรงงานซัพพลายเออร์ 2 แห่งถูกจุดไฟเผาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยยานาอิมองว่าผลกระทบดังกล่าวส่งผลเพียงเล็กน้อย เนื่องจากบริษัททำธุรกิจกับเมียนมาน้อยมาก

Source

]]>
1327414
UNIQLO แต่งตั้ง “โดราเอมอน” สีเขียวเป็นแอมบาสเดอร์ด้านความยั่งยืน https://positioningmag.com/1324418 Mon, 22 Mar 2021 07:47:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324418 โดราเอมอนในร่างสีเขียว กลายเป็นคาแร็กเตอร์ใหม่ ที่จะเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ด้านความยั่งยืนให้กับแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นแดนปลาดิบ UNIQLO

โดราเอมอนสีเขียว UNIQLO สีเขียว

UNIQLO แบรนด์เครื่องแต่งกายจากญี่ปุ่น ประกาศแต่งตั้ง ให้ “โดราเอมอน” ดำรงตำแหน่งแอมบาสเดอร์ระดับโลกด้านความยั่งยืน ที่แปลงโฉมมาจากตัวการ์ตูนญี่ปุ่นสีฟ้า กลายมาเป็นสีเขียว ในนามว่า “โดราเอมอนโหมดความยั่งยืน” ที่จะอยู่ร่วมกับโลโก้ของ UNIQLO ซึ่งปรับโฉมเป็นสีเขียวเช่นเดียวกัน เพื่อสื่อสารข้อความด้านความยั่งยืนของยูนิโคล่ นั่นคือ “เปลี่ยนอนาคตด้วยพลังของเสื้อผ้า”

โคจิ ยาไน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด กล่าวว่า

“เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับโดราเอมอน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ยูนิโคล่ได้ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนผ่านทางธุรกิจมากมายเพื่อนำไปสู่โลกที่ดีขึ้นและยั่งยืนมากขึ้น เราเชื่อว่าจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวมถึงทัศนคติของผู้บริโภคที่พัฒนาขึ้น จึงทำให้การร่วมมือกับลูกค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวก”

เบื้องหลังความร่วมมือกันกับโดราเอมอน

เนื่องจากตัวตนของโดราเอมอน ซึ่งถือกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น และเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลกจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องนั้น มีส่วนเชื่อมโยงกับ UNIQLO ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเหมือนกัน และมุ่งมั่นที่จะนำเสนอเสื้อผ้าคุณภาพดีให้กับผู้คนทั่วโลกพร้อมกับแนวคิดในการสร้างสรรค์สังคมที่ดี

ในฐานะ UNIQLO แอมบาสเดอร์ระดับโลกด้านความยั่งยืน โดราเอมอน ผู้เดินทางมาจากอนาคตจะมาช่วยเปลี่ยนโลกสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น โดยทำหน้าที่ถ่ายทอดกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนของ UNIQLO ให้เป็นเรื่องสนุก และเข้าใจง่าย

มีการแปลงโฉมโดราเอมอน และโลโก้ UNIQLO ให้เป็นสีเขียว เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยโดราเอมอนโหมดความยั่งยืนนี้จะปรากฏตัวตามร้านสาขาของ UNIQLO ทั่วโลก บนเว็บไซต์ และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ

จากนี้ไป “โดราเอมอน” พร้อมด้วยฮารูกะ อายะเซะ และเหล่าแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกทั้ง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ , เค นิชิโคริ, ชินโกะ คุนิเอะดะ, กอร์ดอน รีด, อายุมุ ฮิระโนะ และอดัม สก็อตต์ จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนของ UNIQLO อย่างต่อเนื่อง

โลโก้สีเขียว

นอกจากการมีเจ้าโดราเอมอนในการช่วยสื่อสารแล้ว UNIQLO ยังปรับโฉมโลโก้เป็นสีเขียว พร้อมกับข้อความ “เปลี่ยนอนาคตด้วยพลังของเสื้อผ้า” คือข้อความหลักในการสื่อสาร เพื่อถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนให้ทั่วโลกรับทราบผ่านทางช่องทางต่างๆ

]]>
1324418
‘Uniqlo’ ผงาดแซง ‘Zara’ ขึ้นแท่นบริษัทฟาสต์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดของโลก https://positioningmag.com/1319840 Wed, 17 Feb 2021 10:45:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319840 เพราะวิกฤต COVID-19 ที่กินเวลายาวนานกว่า 1 ปีมาแล้ว ซึ่งวิกฤตดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายทั่วโลก และทำให้ ‘Fast Retailing’ บริษัทแม่ของ ‘Uniqlo’ ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องแต่งกายของญี่ปุ่นมีมูลค่าตลาด 10.87 ล้านล้านเยน หรือราว 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.08 ล้านล้านบาท) หลังจากปิดทำการเมื่อวันอังคาร ซึ่งแซงหน้าบริษัท แม่ของ ‘Zara’ อย่าง ‘Inditex’ เป็นครั้งแรก และทำให้กลายเป็นบริษัทค้าปลีกเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อปิดการซื้อขายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ผ่านมา Inditex มีมูลค่าตลาดประมาณ 8.14 หมื่นล้านยูโรเทียบเท่ากับประมาณ 9.88 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท โดยราคาหุ้นของ Inditex ลดลงกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 แม้ว่ายอดขายจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมปี 2020 รายได้ของ Uniqlo ลดลง 40% และรายได้ในปีงบประมาณ 2020 ก็ลดลง 12% จากปีก่อนหน้า แต่ทำไมยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องแต่งกายของญี่ปุ่นรายนี้จึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และกลายเป็นร้านค้าปลีกเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

คำตอบคือ Fast Retailing อยู่ในเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 น้อยกว่า และยังสามารถ ฟื้นตัวได้เร็วกว่า ประเทศในยุโรปและอเมริกามาก ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช่องว่างของ Fast Retailing และ Inditex แคบลง

โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2020 Uniqlo มีร้านค้า 2,298 แห่งทั่วโลกโดย 815 แห่งตั้งอยู่ในญี่ปุ่นและ 892 แห่งตั้งอยู่ในประเทศจีน จำนวนร้านค้าในเอเชียนอกประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 1,300 แห่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมากกว่า 90% ของร้านค้าอยู่ในตลาดเอเชีย ในทางตรงกันข้ามร้านค้าของ Zara ประมาณ 70% ตั้งอยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้นจากการแพร่ระบาด ขณะที่ร้านในฝั่งเอเชียคิดเป็นเพียง 20% เท่านั้น

และจากการปิดสาขาชั่วคราวในหลายประเทศฝั่งยุโรปของ Uniqlo ทำให้รายได้จากตลาดต่างประเทศของ Fast Retailing ลดลง แต่กำไรขั้นต้นของ Greater China (จีนฮ่องกงและไต้หวัน) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กำไรขั้นต้นโดยรวมในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 9.5% เป็น 41.4 พันล้านเยนญี่ปุ่น ในปีงบประมาณ 2020 (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2020) อัตรากำไรขั้นต้นของประเทศจีนอยู่ที่ 14.4% ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่นที่ทำได้ 13%

Photo : Shutterstock

ในส่วนของการเร่งการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ Fast Retailing และ Inditex นั้นต่างก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายออนไลน์ของ Fast Retailing คิดเป็นประมาณ 15.6% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ยอดขายออนไลน์ของ Inditex คิดเป็นประมาณ 14% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการประกาศลดขนาดร้านค้าทางกายภาพและการเร่งอีคอมเมิร์ซของแบรนด์ใหญ่ อีคอมเมิร์ซจะยังไม่มาแทนที่ ‘หน้าร้าน’

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าตลาดจะสูงกว่า Inditex เป็นครั้งแรก แต่รายได้ของ Fast Retailing ก็ยังไม่ดีเท่ากับ Inditex หรือ H&M โดยรายได้ประจำปีงบประมาณที่แล้วของ Inditex อยู่ที่ 2.82 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ส่วน H&M อยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.7 แสนล้านบาท) ส่วนรายได้ปัจจุบันของ Fast Retailing อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ Inditex ได้เริ่มเสริมสร้างการลงทุนในตลาดเอเชียเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วได้เปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียในปักกิ่งโดยมีอาคาร 4 ชั้น มีพื้นที่มากกว่า 3,000 ตารางเมตร โดยหลายคนมองว่า ตลาดเอเชียน่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดมูลค่าตลาดของบริษัทเครื่องแต่งกายยักษ์ใหญ่ทั้งสองบริษัทในอนาคต เนื่องจากตลาดเอเชียกำลังกลายเป็นจุดสนใจของแบรนด์เสื้อผ้า

Nikei Asia / bnext.com

]]>
1319840