ลัคกี้ สุกี้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 20 Sep 2022 12:42:07 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รู้จัก ‘ลัคกี้ สุกี้’ น้องใหม่ในตลาดบุฟเฟต์ที่ขอโต “ช้าแต่ชัวร์” เปิดแค่ 4 สาขา/ปี https://positioningmag.com/1401057 Tue, 20 Sep 2022 10:54:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1401057 ตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง ตลาด สุกี้-ชาบู ที่มีมูลค่าถึง 15,000-20,000 ล้านบาท ก็กลับมาคึกคักโดยมีแบรนด์ใหม่ ๆ ทั้งเล็กและใหญ่ตบเท้าเข้ามาในตลาดจำนวนมาก ล่าสุด แบรนด์ ‘ลัคกี้ สุกี้’ (Lucky Suki) น้องใหม่ที่เปิดสาขาแรกไปเมื่อต้นปีก็ขยายสาขาเพิ่ม พร้อมส่งสัญญาณว่า เอาจริง แม้ตลาดจะมีการแข่งขันสูงมากก็ตาม

จุดกำเนิดเริ่มจากชอบกิน

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ ลัคกี้ สุกี้ เกิดจากการร่วมลงทุนของ 4 ผู้บริหารจาก 3 อุตสาหกรรม ที่แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารเลย ได้แก่ นางสาวรสรินทร์ ติยะวราพรรณ, นายวิรัตน์ โรจยารุณ, นางรุ่งทิวา วิพัฒนานันทกุล และ นายอิทธิพล ติยะวราพรรณ จนเกิดเป็น บริษัท มิราเคิล แพลนเนท จำกัด ทุนจดทะเบียน 21 ล้านบาท

โดย รสรินทร์ ได้เป็นตัวแทนผู้บริหาร เล่าถึงแนวคิดที่มาทำแบรนด์ ลัคกี้ สุกี้ ว่า หนึ่งในสมาชิกนั้นมีสูตรน้ำจิ้มสุกี้ บวกกับที่ผ่านมาชอบชวนกันหาร้านอาหารทาน ทำให้ทั้ง 4 มีแนวคิดที่จะเปิดร้านบุฟเฟต์สุกี้ เพราะเห็นว่าผู้บริโภคไทยให้ความนิยมกับบุฟเฟ่ต์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยมูลค่าตลาดหากนับเฉพาะที่เป็นบุฟเฟต์สุกี้คาดว่าอยู่ที่ราว 4-5 พันล้าน

“เรามาจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์, เบเกอรี่ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับบุฟเฟต์สุกี้เลย แต่เราเชื่อว่าอาหารเป็นปัจจัย 4 ดังนั้น ยังไงก็ไปได้ แม้ว่าการแข่งขันจะสูงก็ตาม”

สาขาแรกกำไรถึงเดินหน้าสาขา 2

ลัคกี้ สุกี้เปิดสาขาแรกที่ เดอะพีเพิลคอมมูนิตี้มอลล์ อ่อนนุช เมื่อเดือนมกราคม โดยมีพื้นที่ 500 ตารางเมตร ความจุประมาณ 110 ที่นั่ง 8 เดือนผ่านไปก็ได้โอกาสเปิด สาขา 2 ที่ โลตัส บางนา โดยใช้พื้นที่ 500 ตารางเมตร ความจุประมาณ 170 ที่นั่ง ส่วนสาขาที่ 3 และ 4 จะเปิดภายในปีนี้ โดยแต่ละสาขาใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท รวมปีนี้ใช้งบ 100 ล้านบาท

รสรินทร์ ย้ำว่า การขยายสาขาในแต่ละปีจะพยายามให้อยู่ที่ 4 สาขา เพราะไม่อยากจะเติบโต เร็วเกินไป เนื่องจากกังวลเรื่องการคุมคุณภาพ อีกทั้งต้องหาทำเลที่เหมาะสม มีความขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไป โดยจะเน้นเปิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน รวมถึงจะเปิดในโมเดิร์นเทรดที่สามารถเปิดได้ถึง ตี 2 เป็นหลัก

“สาขาแรกมีรายได้วันละประมาณ 1.82 แสนบาท แน่นอนว่ายังไม่คืนทุนดีที่เพิ่งพ้นตัวแดงมานิดหน่อย ดังนั้น เราเลยเลือกที่จะลุยต่อ ซึ่งธุรกิจบุฟเฟต์ต้องใช้วอลลุ่มเข้าสู้ ยิ่งเปิดสาขาเยอะทำให้ได้กำไรแน่ ๆ แต่เราไม่อยากโตเร็วเกินไป เพราะถ้าคุมคุณภาพไม่ได้มันจะฆ่าตัวเอง เราเลยจะเปิดปีละ 4 สาขา”

สร้างความแตกต่างด้วยเมนูและลอยัลตี้โปรแกรม

สำหรับกลุ่มลูกค้าของลัคกี้ สุกี้ จะเน้นไปที่กลุ่มแมส ที่มาเป็นครอบครัว กลุ่มเพื่อน และกลุ่มคนทำงาน โดยราคาเริ่มต้นที่ 219 บาท บวกเครื่องดื่มและ VAT อีก 7% รวมเป็น 276 บาท/หัว ซึ่งมองว่าเป็นราคากลาง ๆ ในตลาดที่เข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ การที่เปิดถึงตี 2 ยังช่วยให้กลุ่มคนที่ทำงานกลางคืนมาใช้บริการอีกด้วย

ขณะที่จุดแตกต่างที่ลัคกี้ สุกี้พยายามสร้างคือ การตกแต่งร้านด้วยสีแดง และมีเมนูอาหารทานเล่นที่หลากหลาย อาทิ ขนมจีบ, ซาลาเปา, ของทอด และน้ำปั่นสมูทตี้ นอกจากนี้ จะมีการเปลี่ยนน้ำซุปใหม่ ๆ ทุก 3 เดือน อย่างปัจจุบันจะมีน้ำดำและน้ำเย็นตาโฟ และสุดท้ายคือ น้ำจิ้มสูตรกวางตุ้งและไหหลำ ที่เป็นเอกลักษณ์

อีกกลยุทธ์ของ ลัคกี้ สุกี้ ก็คือการทำลอยัลตี้โปรแกรม โดยจะออกเป็น บัตรสมาชิก และจะมีโปรโมชันพิเศษต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะกระตุ้นให้มีการเข้ามาทานถี่ขึ้น ยังช่วยให้เก็บข้อมูลเพื่อทำการตลาดต่อไปในอนาคตอีกด้วย

]]>
1401057